สัมผัสชีวิตใจกลางโควิด สมุทรสาคร

สัมผัสชีวิตใจกลางโควิด สมุทรสาคร

“… ถามว่ากลัวไหม ตอบเลย กลัว !!

แล้วทำไมถึงอาสาจะเข้าไป  ในเมื่อที่นั่นมีแต่คนอยากออก.. ?

แล้วทำไมถึงจะเข้าไปไม่ได้ล่ะ ในเมื่อที่นั่นยังมีเด็ก คนแก่  ชาวบ้าน  หมอและแรงงานเพื่อนบ้านอยู่อีกตั้งมากมาย

แล้วถ้าไป… “สื่ออย่างเรา”จะทำอะไรได้บ้าง ?

คงพอจะได้บ้างล่ะน่า !

สำคัญคือ ทำอย่างไร ? เราจะไม่กลายเป็นหนึ่งในยอดผู้ป่วยโควิดที่สมุทรสาคร”

แม่น้ำท่าจีน@ท่าเรือข้ามฟากมหาชัย-ท่าจีน

ตามติดภารกิจมหาชัย บันทึกแง่มุมสื่อสาร  31 คืนวันของ “เอ็ม” และ “แมน” ทีมสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอสในพื้นที่สีแดง ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร  ใจกลางของการระบาดใหญ่ของโควิด 19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย

“ภารกิจสินสมุทร” @สมุทรสาคร

ผม เอ็ม สุรพงษ์ พรรณ์วงษ์  ทีมสื่อพลเมืองภาคเหนือ  กับพี่แมน มานิตย์ หวันชิตนาย ทีมสื่อพลเมืองภาคใต้ มุ่งหน้าสู่ใจกลางตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ด้วยความรู้สึกกลัวๆ กล้าๆ แน่นอนว่าภารกิจนี้แม้จะเสี่ยง แต่พวกเราก็คิดว่ากันว่า นี่คือประสบการณ์ที่ล้ำค่า และเป็นโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตคนอีกจำนวนมาก   ไม่ว่าจะเป็นประชาชนคนธรรมดา แรงงานเพื่อนบ้าน  อาสาสมัคร นักพัฒนา  หมอ หรือบุคลากร สาธารณสุข ที่ต่างยังทำหน้าที่ของตัวเองในพื้นที่เสี่ยงแห่งนี้ด้วยกัน

 พวกเราอาสาที่จะเข้าไปเชื่อมโยงคนทำงานในพื้นที่สีแดง และช่วยกันนำเรื่องราวหลังรั้วลวดหนามท่ามกลางโรคระบาดที่มองไม่เห็น ให้ปรากฏสู่สาธารณะ     

เราเรียกปฏิบัติการครั้งนี้เล่นๆ ว่า “ภารกิจสินสมุทร”ฟังขำๆ แต่ก็เติมใจให้ฮึกเหิม  ทีมทำงานด่านหน้ามาจาก 2 พื้นที่เหนือ – ใต้ คือผมและพี่แมน  แต่เบื้องหลังเรายังมีทีมสนับสนุนที่เชื่อมงานกันผ่านออนไลน์ คือพี่อ้อม พี่อ้อ พี่เปี๊ยกและทีมของสำนักฯ ที่คุยประเมินสถานการณ์วางแนวทางการทำงานร่วมกันทุกวัน

แน่ล่ะ ผมกันพี่แมน  ทำสื่อได้ ทำข่าวเป็น แต่งานของพวกเรามีมากกว่านั้น ถ้าในภาวะปกติแล้ว งานของผมกับพี่แมน ก็คือทำหน้าที่หนุนเสริมการสื่อสารของประชาชน    พวกเราจะฝึกอบรมพัฒนาทักษะการผลิตสื่อให้ประชาชนที่ต้องการสื่อสาร  หรือพยายามครีเอทรูปแบบและวิธีการที่จะขยายประเด็นที่ประชาชนรายงานมาให้รับรู้ในวงกว้างขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะออนแอร์หน้าจอทีวี ออนไลน์ในเว็บไซด์ แอพพลิเคชั่น หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ของไทยพีบีเอส  

ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์พิเศษโรคระบาดในกลุ่มก้อนของแรงงานเพื่อนบ้านที่ถูกรั้วปิดกั้นการเข้าถึงเช่นนั้น   จะทำอย่างไรให้แง่มุมจากพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นความตายของคนอีกจำนวนมาก  ได้ถูกสื่อสารจากข้อมูลและมุมมองของพวกเขา  และมุมมองของพวกเราในฐานะสื่อ ได้ปรากฏสู่สาธารณะให้เท่าทันสถานการณ์ของการแก้ไขปัญหา  ผมกับพี่แมนและเพื่อนสื่อมวลชนที่ลงพื้นที่กันไปไม่เพียงพอแน่ที่จะเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม

พวกเราจึงต้องมุ่งสู่ใจกลางของแหล่งข้อมูล ยื่นเครื่องมือการสื่อสารอย่างง่ายให้เขาได้สื่อสารออกมา  นั่นคือตัวของแรงงานเพื่อนบ้าน หรือคนที่ทำงานกับแรงงานเพื่อนบ้านนั่นเองเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ชีวิต ความเป็นอยู่  สถานการณ์ที่ต้องเผชิญ สิ่งที่ต้องแก้ไข  เพิ่มข้อมูลให้สังคมนอกเหนือจากข้อมูลตัวเลขการตรวจเชิงรุกและพบผู้ติดเชื้อรายวันที่หน่วยราชการและสื่อหลักทำหน้าที่นำเสนออยู่แล้ว

เราทำอะไรบ้าง ?

สมุทสาคร เป็นพื้นที่ใหม่เอี่ยม สำหรับพวกเราที่มาจากเชียงใหม่และหาดใหญ่  แต่ความไม่รู้จักพื้นที่ และบริบทกันซับซ้อนด้านแรงงานที่นี่คือประเด็น   แน่นอนว่า Google ช่วยเราได้ในระดับหนึ่งทั้งโลเคชั่น และข่าวเก่าๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่  แต่ที่แน่นอนกว่า คือการเจอและพูดคุยกับคนที่คลุกวงใน และอยู่ในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่เราทำทันทีเมื่อไปถึงมหาชัย

 โจทย์ที่ได้รับและแผนที่ “ภารกิจสินสมุทร” วางไว้แบบหลวมๆ คือ “สร้างเครือข่ายประเด็นและเครือข่ายสื่อพลเมืองให้ได้  จากนั้นหนุนให้พลเมืองในพื้นที่ได้สื่อสารออกมา  ขณะเดียวกันเราก็ต้องสื่อสารออกมาด้วยในแง่มุมที่เราไปสัมผัสพื้นที่จริง” ….หลวม …..กว้าง และกดดัน  แต่ก็ยืดหยุ่นพอที่จะให้เราออกแบบการทำงานไปตามสถานการณ์ที่จะเผชิญ 

ข้อแรกที่ทำ  ผมกับพี่แมนพยายามสวมหัวใจกลุ่มแรงงาน และทำความเข้าใจสถานการณ์ว่า  อะไรคือสิ่งที่ในพื้นที่ต้องการสื่อสารออกไปมากที่สุด   กลุ่มคนทำงานในพื้นที่ทั้งนักพัฒนา อาสาสมัครที่อยู่มาก่อนหน้าที่พยายามแก้โจทย์อะไรของแรงงานเพื่อนบ้านเหล่านี้  และเมื่อโควิดเข้ามา ทำให้ชีวิตของคนในนี้เป็นอย่างไร นอกเหนือจากเสี่ยงรับเชื้อระบาด

จากนั้นเราทยอยนัดหมาย ผูกมิตร ขอเข้าพูดคุยกับคนทำงานด้านแรงงานเพื่อนบ้านในพื้นที่  เช่น เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ,มูลนิธิรักษ์ไทย,มูลนิธิพราว,มูลนิธิLPN พอได้ข้อมูลเนื้อหา ความต้องการที่เป็นประเด็นสำคัญที่คนในพื้นที่เห็นว่าจำเป็นจะต้องสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบการควบคุมโรค  ชีวิตความเป็นอยู่ ผลกระทบของคนในนั้น  ข้อต่อมาคือเราก็ชวนคิดและเติมเต็มกันถึงวิธีคิดของการสื่อสารด้วยตัวของแรงงานและพี่พี่เพื่อนๆ  อาสาสมัครคนทำงานเอง เพราะเป็นเจ้าของเรื่อง  และเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างคลุกวงใน สิ่งที่คือหัวใจสำคัญของการสื่อสาร  โชคดีที่พี่พี่เพื่อนๆ เห็นความสำคัญที่จะลุกขึ้นมาสื่อสารด้วยตัวเอง ทำให้สิ่งที่เราจะทำในข้อต่อมาง่ายขึ้น  นั้นคือ  แนะนำเครื่องมือทำงานร่วมระหว่างกัน นั่นคือติดตั้ง แอพพลิเคชั่น C-Site ในสมาร์ทโฟน เพื่อให้คนทำงานด้านในพื้นที่สีแดงใช้สื่อสารร่วมกันกับเราได้

ภายใต้พื้นที่สีแดงที่ถูกควบคุมการระบาดอย่างเข้มข้นในใจกลางตลาดกลางกุ้ง  และพื้นที่โดยรอบของ จ.สมุทรสาคร ที่ต้องจำกัดการเข้าถึงของผู้คนและสื่อมวลชนทั้งด้วยเหตุผลของความปลอดภัยและการต้องปฏิบัติงานควบคุมโรคระบาดในกลุ่มคนจำนวนมหาศาล   แน่นอนว่ามีแง่มุมและเรื่องราวเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและมากมายการเติมเครื่องมือหรือทักษะการสื่อสารอย่างง่าย คือการถ่ายภาพ เล่าเรื่องด้วยสมาร์ทโฟน และโพสต์ลงไปใน แพลทฟอร์ม C-Site ของ ไทยพีบีเอส และ Social Media อื่นที่มี  และจากเรื่องเล่าในพื้นที่สีแดงของพวกเขา   เราจะได้เห็นมุมมองและร่วมขยายผลในมิติแวดล้อมประเด็นนั้นให้เพิ่มขึ้น  

การติดตั้งเครื่องมือสื่อสารให้คนทำงานในสถานการณ์แบบนี้  เราทำหลายรูปแบบ  ทั้งการสอนผ่านออนไลน์  หรือเข้าไปคลุกทำงานกับรายกลุ่มที่กำลังจะลงพื้นที่  ซึ่งเราต้องแนะนำการถ่ายภาพ ตัดต่ออย่างง่าย และใช้แอพพลิเคชั่น C-Site อย่างรวดเร็ว และลดการสัมผัสใกล้ชิดที่เป็นความเสี่ยงกับเราและเขา  เช่น ทีมน้องๆอาสาที่เป็นลูกหลายแรงงานกับสมาคมพราว น้องกลุ่มนี้น่าสนใจที่เขาใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นประจำและถ่ายทำคลิปเล่นๆ กันอยู่เเล้ว เราแนะนำหลักการเล่าเรื่องให้ น้องก็ถ่ายเล่าทันที หรือ อย่างกลุ่มครูชาวมอญ ที่ศูนย์การเรียนมอญแสงเทียน ครูอยากทำคลิปอยู่พอดี เราให้หลักการกับครู สั้นๆ น่าจะครึ่งชั่วโมง แล้วให้ครูลองเซลฟี่ถ่ายเล่าเรื่อง ว่ากำลังอยู่ที่ไหนแล้ว กำลังทำอะไร ครูก็ทำคลิปง่ายๆ แบบไม่ต้องตัดต่อได้เลย ทั้งหมดอัพขึ้นแอพพลิเคชั่น C-Site

ทันทีที่หมุดเรื่องราวจากคนทำงาน ทะยอยอัพโหลดสื่อสารออกมาทีละหมุดๆ  เราตื่นเต้นกับพลังเหล่านี้มาก ทีมสนับสนุน ช่วยกันหยิบเรื่องราวจากหมุด เผยแพร่ในช่วง C-Site Focus พิกัดข่าว ในข่าวเช้าวันใหม่ไทยพีบีเอสทุกวันจันทร์ – ศุกร์   และเรายังได้ช่วยกันดูเนื้อหาเหล่านั้นอย่างศึกษาแง่มุม ผนวกกับการลงพื้นที่พูดคุยของเราเองกับแรงงานเพื่อนบ้านโดยรอบบริเวณ  เราพบว่า  โจทย์ใหญ่สำหรับพวกเขาคือผลกระทบจากการต้องหยุดงาน หรือถูกลดชั่วโมงการทำงานลง รายได้ที่หายไปมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่  และโจทย์ที่กำลังจะตามมาคือการต่ออายุบัตรทำงานและการขึ้นทะเบียนแรงงาน ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้พวกเขายากที่จะเข้าถึงข้อมูล และทำอย่างไรที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้บ้าง

แง่มุมจากหมุด C-Site และข้อมูลเหล่านี้คือ ประเด็นตั้งต้น  ที่พวกเราขยายผลสู่การตั้งวงสร้างพื้นที่กลางเพื่อการพูดคุย เพื่อสะท้อนเสียง  ฟังข้อมูลจากตัวแทนแรงงานเพื่อนบ้าน คนทำงานด้านแรงงาน ที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งจัดหางานจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หารือแนวทางในการผ่อนปรน หรือแก้ไขสิ่งใดได้บ้าง เพื่อนำไปสู่การลงทะเบียนและขึ้นทะเบียนรายงานสำหรับกรณีรายงานที่ผิดกฎหมาย และจากวงข้อเสนอในระดับพื้นที่ที่มีการพูดคุยกับคนทำงานแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สู่การจัดตั้งวง เสวนาออนไลน์อีกครั้ง  โดยร่วมกับพันธมิตรสื่อออนไลน์ อย่าง The Reporters และทีมข่าวไทยพีบีเอสที่ลงพื้นที่และฝังตัวอยู่ที่สมุทรสาครก่อนเรา ช่วยดำเนินวงคุย เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอในเชิงนโยบายที่พูดคุยในระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับกระทรวงทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข และกรมการจัดหางาน  

จากเนื้อหาของการพูดคุย ผลที่ตามมาคือเกิดการสื่อสารกับกลุ่มแรงงานในตลาดกลางกุ้งให้เข้าใจถึงขั้นตอนการลงทะเบียน ก่อนที่จะนำมาสู่การเข้ามารับขึ้นทะเบียนโดยความร่วมมือจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาครที่ทำงานเชิงรุกกับเครือข่ายคนทำงานด้านแรงงานในพื้นที่ที่รับลงทะเบียนในพื้นที่ที่มีแรงงานอาศัยอยู่ค่อนข้างแออัด

สู่พื้นที่หน้าจอ และบันทึกงานเขียน

ที่ตลาดกลางกุ้ง  เรายังได้ไปติดตามชีวิตแรงงานเพื่อนบ้านกับกลุ่มเครือข่ายคนทำงานด้านแรงงานที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบในช่วงภาวะวิกฤต โดยเข้าไปในบ้านพักของหลายๆ คน เราเห็นแง่มุมชีวิตของในหลายมิติ ทั้งในมุมการให้ความช่วยเหลือให้ถุงยังชีพ  ให้ข้อมูลจากทีมทำงานกับกลุ่มแรงงาน และในมุมการช่วยเหลือกันเองของตัวแรงงานเอง ลูกหลานแรงงาน  ซึ่งเราได้สะท้อนเรื่องราวเหล่านั้นผ่านงานเขียนและคลิปวิดีโอออนไลน์ เสียงจากพื้นที่ ในเว็บไซด์ The Citizen.plus  รวมถึงสกู๊ปข่าว “วันนี้ที่มหาชัย” ในรายการพิเศษ  สู้อยู่รู้รอด ช่วง นักข่าวพลเมือง C-Site  อีกด้วย   และกล้องของเรา ยังได้บันทึกชีวิตและความฝันของกลุ่มคนที่เรียกว่าแรงงานเพื่อนบ้าน  และอยู่ระหว่างเรียบเรียนเรียบเรียงเป็นชุดสารคดีสั้นออกเผยแพร่เร็วๆ นี้

ทุกชีวิตและเรื่องราวที่เราไปสัมผัส มีทั้งแง่มุมใหม่ที่เราไม่เคยรับรู้ และบางเรื่องราวที่คล้ายที่เราคุ้นเคยในที่เราอยู่ทั้งเหนือและใต้  แต่จุดตัดที่พลิกผันชีวิตของคนที่นี่ คือการระบาดใหญ่ของโควิด 19  ที่ทำให้เราเห็นมุมที่หยิบมาเล่า คือการบันทึกสิ่งที่ได้พบเจอและได้สัมผัสเพื่อสื่อสารมายังกลุ่มคนภายนอกไปได้เข้าใจแง่มุมของชีวิตที่น้อยคนจะได้เห็นหรือสัมผัส จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน

และนี่คือส่วนหนึ่งที่เรา  เอ็ม และพี่แมน  และนักสื่อสารทุกคนที่เผยแพร่แง่มุมเหล่านี้ร่วมกัน 

ชวนอ่านและชมคลิป กันครับ

-บรรยากาศตรวจเชิงรุกใหญ่ รอบสุดท้ายที่ตลาดกลางกุ้ง

-จับชีพจรตลาด ชีวิตและลมหายใจของผู้คนที่ยังต้องเดินต่อ

-องค์กรพัฒนาเอกชน บรรเทาทุกข์ เเรงงานกลุ่มเปาะบาง

-โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่สีแดง

-บันไดขั้นแรกลงทะเบียนเพื่อการขึ้นทะเบียนแรงงาน

-จัดระเบียบตลาดก่อนคลายล็อค

คลิปสั้น CL

-ฟังเสียงคนค้าขาย กับมาตรการควบคุมโรค

-เรื่องเล่าเบื้องหลังคนทำงานควบคุมโรคตลาดกลางกุ้ง

ชวนอ่านผ่านชีวิตเเรงงานในสมุทรสาคร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ