ฟังเสียงประเทศไทย: “สาครบุรี” วิถีสู่อนาคต ธุรกิจประมงเพื่อเราทุกคน

ฟังเสียงประเทศไทย: “สาครบุรี” วิถีสู่อนาคต ธุรกิจประมงเพื่อเราทุกคน

จังหวัดสมุทรสาคร เมืองแห่งอาหารทะเลที่หลายคนรู้จัก อีกทั้งยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกับทำประมงแบบครบวงจร ตั้งแต่การจับสัตว์น้ำ แปรรูป ส่งออก จนเสิร์ฟเป็นเมนูอาหารให้ทุกคนให้ลิ้มรสกัน แต่วันนี้ธุรกิจประมงที่นี่กำลังเผชิญกับวิกฤต จากห่วงโซ่การผลิตที่ต้องหยุดชะงัก

นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เมื่อปลายปี 63 เศรษฐกิจซบเซา ราคาน้ำมันแพง แรงงานหดหาย และมาตราการทางกฎหมายที่ควบคุมอย่างเข้มข้น จนทำให้คนต้นน้ำอย่างชาวประมงแบกรับต้นทุนไม่ไหว ยอมทิ้งเรือและเครื่องมือทำมาหากินกันกว่า 50%

เมื่อต้นน้ำเริ่มสะดุด สิ่งที่ตามมาคือ คนกลางน้ำ และคนปลายน้ำต่างได้รับผลกระทบตามกันมาเป็นทอด ๆ ตั้งแต่ธุรกิจแพปลาไม่มีปลาขาย โรงงานอุตสาหกรรมต้องขวนขวายนำเข้าปลาจากที่อื่นมาแปรรูป ส่วนผู้บริโภคอย่างเราอาจจะหาปลาคุณภาพดีในราคาที่จ่ายไหวไม่ได้อีกต่อไป

นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้รายการฟังเสียงประเทศไทย เดินทางไปรับเสียงสะท้อนและชวนทุกคนมองภาพอนาคตธุรกิจประมงของคนสมุทรสาครไปพร้อม ๆ กัน

เสียงจากคนในห่วงโซ่ธุรกิจประมงสมุทรสาคร

“พูดในฐานะทำธุรกิจแพปลา ค่อนข้างได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างเจ้าของเรือทางฝั่งบางหญ้าแพรก และฝั่งท่าฉลอม ได้รับผลกระทบกันหมด ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทุกอย่างมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ได้รับผลกระทบมานานหลายปี พูดในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ทำมาประมาณ 10 ปี ไม่มีดีขึ้นเลย มีแต่ทรุดลง”

“ผมเป็นแพปลา เรือก็ไม่เอาปลามาให้ขาย ก็ไม่มีขาย คนกินก็ไม่มีกิน ถ้าเรือถูกควบคุมเยอะ น้ำมันแพง ของก็แพง เศรษฐกิจก็แย่ คนกินก็ไม่มีกำลังในการซื้อ สุดท้ายผมว่าต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง อะไรที่ถูกควบคุมอยู่ ถ้าสามารถลดหย่อน หรือผ่อนปรนอะไรกันได้ ก็ควรจะช่วยกัน” เจ้าของธุรกิจแพปลา ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร

“เรามีอาชีพเสริมค้าขายอยู่ในชุมชนบางหญ้าแพรก แต่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ เพราะลูกค้าของเราเป็นชาวประมง แต่พอเศรษฐกิจไม่ดีก็ทำให้เราค้าขายยากขึ้น” แม่ค้าในชุมชนบางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร

“ผลกระทบมีเยอะ สมัยก่อนเรือประมงพาณิชย์ออกหาปลากว่า 100 ลำ แต่ตอนนี้เหลือประมาณ 30 ลำ เพราะน้ำมันแพง กฎระเบียบเยอะ อย่างของผม ออกเรือที 400-500 บาท บางทีออกไปไม่ได้วางอวนเลย ขาดทุน ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา ต้องจอดเรือ”

“รายได้ที่ได้ตอนนี้ก็จะมาจากการรับจ้างซ่อมอวนให้กับเรือประมงพาณิชย์ วันละ 200-300 บาท ถ้าเรือไม่ออกก็ไม่ได้เงินเลย” ชาวประมงชายฝั่งเรือเล็ก จ.สมุทรสาคร

นี่คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่เท่านั้นที่กำลังวิตกกังวล เพราะคนบนโลกออนไลน์เองก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

ได้เห็นเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่และโลกออนไลน์กันไปแล้ว คุณคิดว่าอะไรคือวิกฤตที่เกิดขึ้นกับธุรกิจประมงของ จ.สมุทรสาคร สามารถส่งคำตอบมาที่ได้ล่างนี้ได้เลย

3 ฉากทัศน์ประมงสมุทรสาคร

จากสถานการณ์ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น รายการฟังเสียงประเทศไทยเราได้รวบรวมข้อมูลและทำภาพฉากทัศน์ อนาคต “สาครบุรี” เมืองประมงของคนสมุทรสาคร ขึ้นมาด้วยกันทั้งหมด 3 ฉากทัศน์ เพื่อให้ทุกคนมองถึงโอกาสและความท้าทายที่ธุรกิจประมงของที่นี่จะเดินหน้าต่อไปร่วมกัน

ฉากทัศน์ที่ 1 เมืองประมงคุณภาพ มาตรฐานสู้ตลาดโลก


การทำประมงอยู่ภายใต้กฎระเบียบ ธุรกิจในห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงพัฒนาทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพ ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต รักษาตำแหน่งผู้นำการส่งออกอาหารทะเลในตลาดโลก

รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบทำผิดกฎหมาย แรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิ และเกิดการใช้ทรัพยากรจากท้องทะเลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืน

ยกระดับสินค้าประมงไทย สู่การยอมรับในระดับสากล ส่งเสริมกลไกราคาที่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งแรงงาน เรือประมง แพปลา ผู้ประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรม

มีนโยบายสนับสนุนทางการเงิน ให้กลุ่มเรือประมงได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรองรับความผันผวนของราคาน้ำมัน และการต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด เพื่อรักษาสถานภาพการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำระดับต้นๆของโลก

แต่มาตรการที่เน้นการป้องปรามเป็นหลัก อาจส่งผลกระทบให้ธุรกิจประมงและประมงพื้นบ้านสายป่านสั้นต้องเลิกกิจการ

ฉากทัศน์ที่ 2 เมืองประมงครบวงจร ฮับอาหารทะเลพร้อมส่ง


อุตสาหกรรมประมงสมุทรสาครคงจุดแข็งประมงครบวงจร การจับสัตว์น้ำยังอยู่ในรูปแบบที่เป็นมา ระหว่างที่รอท้องทะเลฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์

เอกชนเข้ามามีบทบาทนำ ใช้ทรัพยากรจากทะเลให้เกิดมูลค่าสูงสุด ผ่านการเพิ่มศักยภาพทั้งการแปรรูป การบริหารจัดการ และการขนส่ง โดยนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการดีมานด์และซัพพลายให้มีประสิทธิภาพ

เดินหน้าธุรกิจสู่การเป็นตลาดกลาง รับสินค้าจากจังหวัดชายทะเลอื่น ๆ มาบริหารจัดการ เพื่อกระจายต่อ ขายอาหารทะเลทั้งสดและผลิตภัณฑ์ที่แปรสภาพ มุ่งเป็นผู้นำการค้าขายและศูนย์กลางกระจายสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ

รัฐส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยการสนับสนุนความรู้ ส่งเสริมตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ และพัฒนาระบบโลจิสติกส์

ความเสี่ยง คือต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงทั้งในด้านราคา และคุณภาพจากสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งและธุรกิจห้องเย็นจากต่างประเทศ ที่เข้ามาตีตลาดโดยเฉพาะร้านอาหารทะเล หรือแหล่งจำหน่ายรายย่อย

ฉากทัศน์ที่ 3 เมืองประมงคู่วิถี อาหารทะเลดี สิ่งแวดล้อมดี

ผู้ประกอบการและกลุ่มประมงในสมุทรสาคร ผนึกกำลัง ยกระดับทั้งมูลค่าและ คุณค่าของสินค้าประมง ดูแลคุณภาพชีวิตแรงงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่สอดคล้องกับศักยภาพสัตว์น้ำในอ่าวไทย

ร่วมกันดูแลรักษาระบบนิเวศ ปรับเปลี่ยนวิถีเพื่อร่วมกันฟื้นฟูทะเล ดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำประมง รัฐส่งเสริมการเพิ่มรายได้ อาทิ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและการผลิตที่เกี่ยวเนื่อง

ชาวประมงที่สมัครใจเปลี่ยนผ่านการผลิต จากการจับสัตว์น้ำไปสู่การเพาะเลี้ยง ได้รับการสนับสนุนความรู้และเงินทุนจากภาครัฐและเอกชนในพื้นที่

มีรัฐและเอกชนร่วมกันเปลี่ยนผ่าน พัฒนาอุตสาหกรรมประมงต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยอาศัยทุนทางสังคม วัฒนธรรม สร้างนวัตกรรมในธุรกิจประมงและธุรกิจอาหารทะเลที่คนทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ร่วมกัน

อาจต้องใช้เวลาและงบประมาณเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน และจำเป็นต้องผลักดันในเชิงนโยบายสาธารณะ โดยจับมือร่วมกับภาคประชาชน ภาคธุรกิจของจังหวัดในพื้นที่อ่าวตัว ก

ชุดข้อมูลศักยภาพเมืองประมง จ.สมุทรสาคร

“สาครบุรี” คือชื่อเดิมของ “เมืองสมุทรสาคร” ก่อนเปลี่ยนสถานะเป็นจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งชูคำขวัญ “เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์” และได้ชื่อว่าเป็นตลาดซื้อขายอาหารทะเลแหล่งใหญ่ราคาไม่แพง ที่ห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 30 กิโลเมตร ตามระยะทางบนหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2)

ศักยภาพ “เมืองประมง” สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศที่มีทิศใต้ติดกับทะเลอ่าวไทย พื้นที่ชายฝั่งทะเลยาว 41.8 กิโลเมตร และมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านตอนกลาง อีกทั้งยังมีคลองกว่า 170 สาย ทั้งที่เป็นคลองธรรมชาติและคลองที่ขุดขึ้น เพื่อนำน้ำจืดมาใช้ในการเพาะปลูกและการชลประทาน ช่วยในการระบายน้ำ และใช้ในการคมนาคมขนส่งเชื่อมหมู่บ้านต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน

ทำให้ผู้คนที่นี่มีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับการทำประมงทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และประมงทะเลมายาวนาน รวมถึงเกิดธุรกิจต่อเนื่องจากการทำประมงทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

จังหวัดสมุทรสาครมีพื้นที่แหล่งน้ำกร่อยและน้ำเค็ม ระยะ 12 ไมล์ทะเล รวม 548,625 ไร่ มีชาวประมงพื้นบ้านประมาณ 500 ราย ส่วนใหญ่ทำประมงอวนลอย เรือช้อนเคย เรือจับหอย เป็นต้น

มีเรือประมงพาณิชย์ที่จดทะเบียนกับจังหวัดสมุทรสาครปี พ.ศ.2559 จำนวน 487 ลำ
ผลผลิตจากการทำประมงประมาณ 210,667 ต้น/ปี
ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประมาณ 10,490 ตัน/ปี
ส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสินค้าประมงจังหวัดสมุทรสาคร 12,354.73 ล้านบาท

ผลผลิตจากการประมงทะเลส่วนใหญ่ได้รับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งอ่าวไทย ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งทะเลด้านประเทศเวียดนาม ส่งผลให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นแหล่งธุรกิจการประมงขนาดใหญ่ครบวงจร มีทั้งแพปลา โดยเป็น 1 ใน 4 สะพานปลาของประเทศไทย ที่มีปริมาณการขายอาหารทะเลมากที่สุด และมีห้องเย็น

อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยมีตลาดขนาดใหญ่ ได้แก่ ตลาดทะเลไทย ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายและศูนย์กระจายสินค้าสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลาดกลางค้ากุ้งจังหวัดสมุทรสาคร และตลาดมหาชัย แหล่งรวมการค้าส่งค้าปลีกอาหารทะเลสดและแปรรูปนานาชนิด

ในส่วนของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ข้อมูลปี 2564 สมุทรสาครมีธุรกิจประมงและแปรรูปอาหารทะเล มากที่สุด จำนวน 161 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจห้องเย็น 74 ราย ธุรกิจอาหารทะเลกระป๋อง 29 ราย และอื่น ๆ 58 ราย รองลงมาคือ สงขลาและปัตตานี ตามลำดับ

สัตว์น้ำทั้งหมดที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปจำนวน 2.2 ล้านตัน ราว 50% ถูกนำมาแปรรูปที่สมุทรสาคร โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ๆ เช่น กุ้งกระป๋อง และทูน่ากระป๋องซึ่งเป็นสินค้าไทยที่สามารถตีตลาดไปทั่วโลก

ส่วนการส่งออกสินค้าในห่วงโซ่ประมงที่สำคัญของไทย มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ สินค้าประมง ร้อยละ 29 ส่วนอีกร้อยละ 71 คืออาหารทะเลแปรรูป

วิกฤตที่ธุรกิจประมงสมุทรสาครต้องเจอ

หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในช่วงปลายปี 2563 ที่มีจุดเริ่มต้นจากสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของไทย ทำให้การค้าขายและการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างอยากจะหลีกเลี่ยง จนวันนี้ประมงสมุทรสาคร ต้องเจอกับสถานการณ์ “เรือจอดตาย”

จากตัวเลขเรือประมงพาณิชย์ 434 ลำ ในปี 2564 ของสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ล่าสุด นายกสมาคมประมงสมุทรสาคร ให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนว่า ปีนี้ 2565 มีเรือเหลืออยู่ 400 ลำ หยุดวิ่งไปแล้วประมาณ 50% เนื่องจากสู้กับต้นทุนไม่ไหว และมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ

ปัญหาที่ประมงต้องรับมือ

1.เรือต้องพักเพราะน้ำมันแพง ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่รัฐบาลปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัว กลายเป็นต้นทุนที่ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงต้องแบกรับภาระ ขณะที่ราคาขายเท่าเดิม จนบางรายจ่ายต่อไม่ไหว ต้องล้มเลิกกิจการและจอดเรือประมงทิ้ง

2.แรงงานหายาก จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานข้ามชาติ มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ โดยมาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านมาการทำประมงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องมีมาตรการเข้มข้นในคุ้มครองการใช้แรงงานในเรือประมง การป้องกันปราบปรามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานทยอยกลับบ้านเกิด และพบว่าบางส่วนเปลี่ยนจากทำงานบนเรือประมงหันไปทำงานในโรงงานแทน

3.กฎหมายควบคุมหนัก นับตั้งแต่ปี 2558 ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากคณะกรรมาธิการยุโรป เนื่องจากธุรกิจประมงไทยเข้าข่ายการทำผิด IUU Fishing ทุกประเด็น คือ ไทยมีการจับสัตว์ทะเลในน่านน้ำประเทศอื่น ไม่มีการรายงานจำนวนสัตว์ทะเลที่จับได้หรือรายงานข้อมูลเท็จ ใช้เรือที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนทำประมง ใช้เครื่องมือจับสัตว์ทะเลที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นอวนรุน อวนลาก ส่งผลให้ไทยต้องมีการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายเรื่อยมา

การขึ้นทะเบียน คือการเริ่มควบคุมครั้งแรก ซึ่งส่งผลให้ภาคประมงในไทยเริ่มมีการหดตัวลง บางเจ้าขายเรือทิ้งและเลิกทำอาชีพประมง กระทบต่อการส่งออกสินค้าประมง จากมูลค่าการส่งออก ปี 2557 ที่มีประมาณ 2.2 แสนล้านบาทต่อปี ลดลงเรื่อย ๆ จนมาในปี 2563 เหลือ 1.9 แสนล้านบาทต่อปี ยอดการส่งออกหายไปราว 3 หมื่นล้านบาท

แม้ปี 2562 ไทยจะได้รับการปลดล็อคจากใบเหลืองมาเป็นใบเขียว แต่ภาครัฐยังคงบังคับใช้กฎหมายและระเบียบอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมดูแลการทำประมงทั้งประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน

4.ทรัพยากรหดหาย ข้อมูลจากกลุ่มสถิติการประมง กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง ระบุว่าการทำการประมงของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะแหล่งประมงมีความเสื่อมโทรมและมีการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ (Overfishing) จึงต้องฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ

รวมทั้งมีการบังคับใช้มาตรการด้านการบริหารจัดการประมงอย่างเคร่งครัด เช่น มาตรการปิดอ่าว การแก้ปัญหา IUU Fishing และการกำหนดปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมงในน่านน้ำไทย (MSY) เพื่อป้องกันการทำการประมงเกินศักยภาพการผลิต และให้มีความสมดุลกับการผลิตสัตว์น้ำตามธรรมชาติ

5.ปลานำเข้ามาเข้าตีตลาด มีการนำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศเพื่อน บ้านมาขายในราคาถูกกว่าที่ผลิตในประเทศ ข้อมูลจากกรมประมง พบว่า จังหวัดสมุทรสาครนำเข้าสัตว์น้ำประเภท ปลาทูน่าท้องแถบ ปลาทูน่าครีบเหลือง และปลาโอลาย มาขายในไทย

ส่วนแนวโน้มของธุรกิจในระยะข้างหน้า สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญมากขึ้นคือ มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นด้านแรงงานและความปลอดภัยด้านอาหาร เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกหยิบยกมาใช้เพื่อกีดกันทางการค้ามากขึ้น ทั้งขั้นตอนการตรวจสอบและกระบวนการต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ มาตรการทางการค้านี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตให้กับสินค้าในห่วงโซ่ประมงของไทยในระยะยาว

4 มุมมอง จากวิกฤต สู่อนาคต ก้าวต่อไปของธุรกิจประมงสมุทรสาคร

หลังจากที่ได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจประมงสมุทรสาครกันไปแล้ว ชวนทุกคนมาฟังมุมมองจากวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ที่มีประสบการณ์และข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อมองถึงโอกาสและความท้าทายของธุรกิจนี้ ในการเดินหน้าต่อไปสู่ความยั่งยืน

กัลปังหา จันทวงษ์โส อดีตไต๋เรือ จ.สมุทรสาคร
สำหรับอนาคตเรือประมง หรือชาวประมงเราอาจจะไม่มี ทุกวันนี้ที่ทำประมงกันอยู่มันไม่คุ้มกับต้นทุนที่จะทำ ปัจจุบันมีเรือที่จอดไปมากกว่าครึ่งแล้ว คนที่ทำอยู่ก็พยายามจะต่อสู้ เพื่อรักษาอาชีพของเราไว้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะต่อสู้กันอีกนานแค่ไหน เพราะมีเดือดร้อนจากกฎหมายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และต้นทุนน้ำมันราคาสูงมาก รวมถึงค่าแรงในปัจจุบันเราก็จ่ายในราคาที่สูงมากเช่นกัน การทำเอกสารคนงานก็ค่อนข้างมีปัญหามาก

เมื่อปี 2558 ที่มีการใช้กฎหมายเข้ม มีเรือที่จอดไปกว่า 3,835 ลำ เป็นข้อมูลจากกรมประมง เพราะเรือส่วนมากขาดแรงงาน แรงงานหนึ่งคนกว่าจะทำถูกกฎหมายและออกเรือได้ ค่าใช้จ่ายสูงมาก ปัญหาใหญ่ คือ ราคาน้ำมัน เรือที่ใช้น้ำมันมาก ทำให้เรือประมงส่วนมากตอนนี้ขาดทุน

คนส่วนใหญ่มองว่า รายได้ประมงเยอะ ประมงรวย แต่จริง ๆ เจ้าของเรือมากกว่า 90% เป็นหนี้ ตอนนี้รัฐไปชดเชยน้ำมันบนฝั่ง น้ำมันทะเลกับน้ำมันบนฝั่งก็เลยใกล้เคียงกัน ทีนี้เรือน้ำมันเขาออกไปแล้วมันไม่คุ้มทุน ก็เลยไม่ออก เรือบางลำสนิทกับแพปลา ก็ยืมตังแพปลามาจ่ายไปก่อน ซึ่งออกเรือเที่ยวหนึ่งใช้ 8,000 ลิตร ตกประมาณ 300,000 บาท/เที่ยว

แต่ทำไมยังต้องทำกันอยู่ เพราะถ้าเรือเราหยุด คนงานเราจะไปไหน ถ้าเราจอดเขาต้องไปทำอาชีพอื่น พอเราหยุดแล้วจะกลับมาทำประมงอีก ไม่มีโอกาสแล้ว เราจะหาคนงานมาลงเรือไม่ได้แล้ว ต้องเลี้ยงคนงานเอาไว้ และทนกับสภาวะขาดทุนให้ได้จนกว่าน้ำมันจะลง เพราะถ้าเราจอดเรือไปแล้ว เราก็ต้องเลิกอาชีพนี้ไปเลย

เรื่องของทรัพยากร กรมประมงบอกว่า มันน้อยลงเพราะเราจับกันมากเกินไป แต่คุณไม่ได้คิดเลยว่า ทรัพยากรมันน้อยลง เพราะมลพิษมันเยอะ เดือน ก.ค – ต.ค. มาปิดตรงอ่าวตัว ก และพอถึงเดือน ต.ค. – พ.ย. เป็นช่วงที่น้ำเสียลงพอดี คุณปิดเพื่ออนุรักษ์ แต่พอน้ำเสียมามันค่าทั้งหมด

สำหรับอนาคตถ้าจะเดินหน้าต่อ ต้องมีความหวังและความฝันเสมอ ถ้ารัฐเห็นใจแล้วแก้กฎหมายบางอย่างที่เก่าแล้ว เรามีกฎหมายลูกออกมา ไม่มีปัญหาควบคุมใด ๆ ก็จะทำให้ประมงเดินหน้าต่อไปได้

จุมพล ฆนวารี ประธานชมรมผู้ขายปลา จ.สมุทรสาคร
ถ้าเรือประมงลดน้อยลง สินค้าที่มาขายที่ตลาดทะเลไทยเราก็จะน้อยลง เมื่อก่อนเรามีรถตู้เข้ามาวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 120 คัน สถานที่ไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันรถเหลือประมาณ 60 คัน มีจำนวนน้อยลง คนที่เป็นคนกลางอย่างแพปลาก็มีปลาขายน้อยลง รายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม ทั้งเรื่องของค่าแรงที่จะต้องจ่ายตามกฎหมาย และการที่ต้องมีเครดิตให้กับลูกค้า ซึ่งแพปลาต้องแบกรับไว้

ย้อนกลับไปประมาณปี 2559 มีกฎหมายออกมา เรือที่ออกน่านน้ำหยุดไป แทบเหลือ 0 สินค้าก็จะหายไปเยอะ พอมาถึงปี 2563 เรื่องโควิด-19 ปลายทางเละเลย ขายไม่ได้ กระทบมาถึงเรา พอโควิด-19 เริ่มนิ่ง น้ำมันเริ่มแพง ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เรือหยุดนิ่ง คือ น้ำมันแพง ทำไปก็ขาดทุน

และเมื่อก่อนเวลาเรือลงน้ำมันจะติดต่อกับทางปั๊มเอง ชำระเอง ก็จะมีเครดิตกับทางปั๊ม แต่ปัจจุบันน้ำมันเขียวไม่มีแล้ว ตอนนี้เวลาเรือจะลงน้ำมันที ก็จะให้แพปลารับผิดชอบ ปั้มน้ำมันจะโทรมาหาแพปลาว่า เรือลำนี้จะลงน้ำมัน ราคาประมาณนี้ ทั้งหมดกี่บาท เราต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน

ซึ่งอนาคนถ้าจะเดินหน้าต่อ ตอนนี้ต้องดูกันที่เรื่องของน้ำมันกันอย่างเดียว ถ้าน้ำมันราคาลง คิดว่ายังไปได้อยู่ ทางแพปลาและผู้ประกอบการยังพยายามดิ้นรนเพื่อเอาตัวเองรอด ในอนาคตถ้ารัฐบาลสนับสนุนเรื่องกฎหมาย บังคับน้อยลง น้ำมันถูกลง ผมคิดว่าเรายังไปกันได้

นิรันดร์ แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการ บริษัท ศิริคุณ ซีฟูดส์ จำกัด
ส่วนธุรกิจแปรรูป และร้านอาหาร ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากคนอื่น กระทบตั้งแต่การหาวัตถุดิบที่ยากขึ้น การหาคุณภาพที่ตรงตามที่เราจะนำไปใช้ ใช้เวลานาน

สมัยก่อนเรามีให้เลือกเยอะในเวลาเท่ากัน สมมติเราไปแพปลา กดกริ่งภายใน 10-20 นาที เราสามารถเลือกปลาหลาย ๆ แพได้ แต่พอมาวันนี้ใช้เวลาเป็นชั่วโมง เรายังหาปลาดี ๆ ไม่ได้ จะใช้เวลาสั้น ๆ ก็ไม่ได้ เพราะคนแย่งซื้อกันมากขึ้น และปลาก็น้อยลง นี่แค่ระดับกระบวนการของร้านอาหาร ถ้าเป็นระดับกระบวนการของโรงงานเลย ยิ่งเป็นไปได้ยาก

ล่าสุดผลกระทบ IUU คือ เราทำโรงงานแกะกุ้ง แล้วต้องทุบทิ้ง ทิ้งธุรกิจหลายอย่างที่เคยทำมาเป็น 10 ปี เปลี่ยนรูป ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้อยู่ได้ในสภาวะที่เกิดวิกฤต

วันนี้ต้นทุนของปลาไทยตกต่ำลงมาก ๆ บ้านเราจับแบบเน้นเป็นปริมาณ ไม่ได้จับเชิงคุณภาพ ผมต้องการซื้อในต้นทุนที่สูงแต่ได้คุณค่าที่มีความแตกต่างกัน ถ้ามีเรือที่มีคุณภาพจับและคัดแยกดี ๆ แบ่งว่า ปลาแบบนี้จะไปขายให้กับกลุ่มไหน กลุ่มโรงแรม กลุ่มร้านอาหาร และกลุ่มโรงงานได้ ผู้ประกอบการแบบเรา ก็กล้าซื้อในราคาสูง

อนาคตถ้าจะเดินหน้าต่อ คิดว่าทิศทางค่อนข้างลำบาก การที่ใช้ชีวิตแบบเดิม ใช้การออกหาปลา และได้แบบที่เคยจับมันเป็นไปได้ยาก เราคงขับเคลื่อนจังหวัดสมุทรสาครไปในทางท่องเที่ยว เอาปลาที่มีอยู่มาทำอาหาร และเล่าเรื่องราวในอดีต

ผมเชื่อว่าประมงไทยเราเก่งมาก มีฝีไม้รายมือ ขอแค่มีผลประโยชน์ตอบแทนคุ้มค่า ผมว่าเขาปรับทัน

พงศ์พัทธ์ ศิลาสุวรรณ รองประธานหอการค้า จ.สมุทรสาคร
ตอนนี้ก็กระทบทั้งหมด ซึ่งหอการค้าเราดูแลในส่วนของผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ซึ่งสมุทรสาคร ไม่น่าเชื่อว่า เรามีโรงงานแปรรูปกว่า 10,000 โรงงาน ส่วนที่จดทะเบียนถูกต้องมีอยู่ประมาณ 7,000 โรงงาน ในจำนวนนี้ 5,000 โรงงานทำเกี่ยวกับอาหารทะเล ถ้าเรือประมงไม่จับปลา มันก็ทำให้วัตถุดิบหายไป ขาดแคลนวัตถุดิบ

อันดับแรกรัฐต้องมองก่อนว่า ถึงอย่างไรชาวประมงก็ต้องอยู่คู่กับประเทศไทย อยู่คู่กับรัฐ และรัฐจะมีวิธีการยังไงให้พวกเขาอยู่ได้ ไม่ขาดทุน ยกตัวอย่าง สินค้าที่เขาจับ บางอย่างจับมาแล้วพรีเมียร์ จับมาแบบเป็น ๆ แต่เราจะทำยังไงให้เขาเอากลับมาสู่ผู้บริโภคได้แบบเป็น ๆ ถ้ามองในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากเลย เรามีเทคโนโลยี มีโดรน สปีทโบ๊ท สามารถวิ่งออกไปรับปลาจากเรือมาได้ ปลา ปู ปลาหมึก ก็จะได้มาแบบเป็น ๆ กิโลกรัมละ 600-700 บาท อันนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเรือประมง เขาก็จะอยู่ได้

หลังจากอ่านข้อมูลและมุมมองความคิดเห็นจากวิทยาทั้ง 4 ท่านแล้ว คุณอยากให้ธุรกิจประมงของคนสมุทรสาครเดินหน้าต่อไปแบบไหน สามารถร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลย

ดูเสวนาเต็ม ฟังเสียงประเทศไทย : “สาครบุรี” วิถีสู่อนาคต ธุรกิจประมงเพื่อเราทุกคน เด็ม ๆ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ