วันนี้ที่มหาชัย : บับเบิล&ซีล ระยะห่างระหว่าง ‘เรา’

วันนี้ที่มหาชัย : บับเบิล&ซีล ระยะห่างระหว่าง ‘เรา’

ภาพคนเดินหิ้วตระกร้า หรือถุงกับข้าว ผ่านหน้าร้านค้า คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะเขาเหล่านั้นอาจจะซื้อของมาจากร้านก่อนหน้า หรือร้านข้าง ๆ ก็เป็นได้ แต่สำหรับร้านค้าบริเวณโรงงานในพื้นที่ ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร​ นั้น ถือเป็นเรื่องราวความทุกข์​ร้อนจากการเสียโอกาสขายสินค้า

“จะตายอยู่แล้ว ไม่มีเงินซื้อข้าวกินเพราะขายของไม่ได้ ห้ามพนักงานซื้อของได้อย่างไร แล้วคนที่เป็นแม่ค้าจะอยู่ได้อย่างไร”

เสียงแม่ค้าตอบเราสั้น ๆ เมื่อเราถามถึงการค้าขาย หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกแบบกลยุทธ์เฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ใช้หลักการจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก เน้นในโรงงานขนาดใหญ่ (มีพนักงานมากกว่า 500 คน) เป้าหมายลดความเสี่ยงในที่ทำงานและที่อยู่อาศัยและลดความเสี่ยงของกลุ่มพนักงาน เพื่อควบคุมโรคให้ได้ตามแผนที่วางไว้



มาตรการ​ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบรรดาร้านค้า และรถจักรยานยนต์​รับจ้าง เนื่องจากพนักงานโรงงานที่ถือเป็นลูกค้าหลักของพวกเขา ไม่สามารถแวะซื้อของหรือใช้บริการได้เหมือนแต่ก่อน เนื่องจากมาตรการ “Bubble” ใช้กับโรงงานที่พนักงานพักอยู่นอกโรงงาน จะมีการควบคุมโรคที่ยากกว่า ขอความร่วมมือเจ้าของโรงงานนำพนักงานมาอยู่ในโรงงานให้มากขึ้น หรือจัดหาที่พักพนักงานให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด ควบคุมได้ เช่น หอพัก พร้อมให้โรงงานเข้มมาตรการป้องกันโรค นอกจากนี้ ได้ประสานฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมควบคุมพื้นที่ตามแผน


อสม.-ตำรวจ-ทหาร ทำหน้าที่​เดินนำทาง และควบคุม​การเดินของพนักงาน​ให้ไปตามเส้นทางที่กำหนด และคอยเตือนไม่ให้แวะซื้อของข้างทาง ทำให้ภาพที่เราเห็นส่วนใหญ่จึงเป็นภาพของหนุ่ม-สาวโรงงาน เดินต่อแถวกันในมือถือถุงกับข้าว แล้วก็เดินผ่านร้านค้าทั้งหลายไป

“ตอนปลายเดือนธันวา​คม ( พ.ศ.2563)​ เราก็โดนไปรอบหนึ่งแล้ว จากมาตรการปิดโรงงาน แต่เดือนนี้ถ้าเราไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่ พวกเราก็น่าจะอยู่กันไม่ได้” เสียงสะท้อนของแม่ค้าอีกคน

ไม่ต่างจากกลุ่มผู้ขับรถจักรยานยนต์​รับจ้าง ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ค่อยมีผู้โดยสาร รายได้ลดลงจากเดิมหลายเท่า บางคนเคยขับวินได้วันละ 400-500 บาท ตอนนี้เหลือวันละ 100 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ต้องนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว


ด้านที่ประชุมร่วมระหว่าง อบต.ท่าทราย กับตัวแทนโรงงาน ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นคือ ให้ทาง อบต.ท่าทราย เก็บรวบรวมความคิดเห็นและสำรวจร้านค้าบริเวณรอบโรงงาน ส่งไปเป็นข้อมูลตั้งต้นให้โรงงานพิจารณา ก่อนจะประชุมอีกครั้ง (วันพฤหัสบ​ดี​ที่​ 11 ก.พ. 2564)

ขณะที่ร้านค้าบางแห่งต่างบอกว่ายินดีที่จะทำตามเงื่อนไขเพื่อให้ได้เข้าไปขายในโรงงาน หรือบางร้านก็บอกว่ายังดีที่ได้ขายของ แม้จะรายได้ลดลง แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ขายของเลย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ