วันนี้ที่มหาชัย : เปิดประตูชีวิตในซอกตึก แรงงานเพื่อนบ้านเมียนมา

วันนี้ที่มหาชัย : เปิดประตูชีวิตในซอกตึก แรงงานเพื่อนบ้านเมียนมา

“หนูอยู่มานาน รู้จักที่นี่ดี ว่าง ๆ ก็เดินไปเคาะห้องถาม ว่าขาดเหลืออะไรไหมมีอะไรให้ช่วยเหลือไหม บางคนรายได้ลดลง บางคนก็มีปัญหาการกินอยู่ อย่างน้อยเราช่วยบรรเทา”

วันนี้เป็นวันหยุดจากหน้าที่การงานในโรงงาน “อาซู” หญิงชาวเมียนมาวัย 30 ปี เธอจึงพอมีเวลาที่จะให้เราได้เข้ามาพูดคุยที่ห้อง อาซูบอกว่า เธอจากบ้านเกิดประเทศเมียนมามาทางด่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่อยู่ที่สมุทรสาคร และโชคดีที่ได้ทำงานกับนายจ้างฝรั่งที่ใจดีกับเธอมาก

นี่คือบรรยากาศภายในห้อง ที่อาซูอยู่กับเพื่อน ราคาค่าเช่าเดือนละ 3,500 บาท บนตึก 5 ชั้นแห่งนี้ มีจำนวนห้องกว่า 200 ห้อง ที่อาซูเดินเคาะประตูทุกห้อง รวมทั้งตึกด้านข้างซ้ายขวาเกือบทุกห้องแล้ว

หากยังจำได้ในช่วงการระบาดของไวรัส โควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 บริเวณพื้นที่ที่เธออยู่เป็นพื้นที่ของการพบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 เป็นรายแรก และเธอ เป็นผู้หญิงที่มีจิตใจอาสา และยังสามารถสื่อสารเข้าภาษาไทยและเมียนมาได้ชัดเจน เธอเลยได้รับเลือกเป็นอาสาด่านหน้าเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด ในชุมชนหอพักย่านนี้

พอถึงการระบาดรอบนี้ แม้ว่าภายในหอพักไม่มีกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อ แต่เธอก็ได้รับหน้าที่เฝ้าระวัง ให้ความรู้ในการป้องกันโควิด-19 กับเพื่อนแรงงานที่อยู่ที่นี่ รวมทั้งไปแจกจ่ายสิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์ป้องกันที่ได้รับจากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานในสมุทรสาครที่เข้ามาช่วยเหลือ นอกจากจะเคาะห้องเอาของให้ เธอยังถามไถ่ถึงสุขภาพ และแนะนำให้แต่ละคนสังเกตอาการของตนเอง เช่น บางคนมีไข้ก็ให้สังเกตว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาหรือเสี่ยงที่จะต้องไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้แน่ชัด

วันนี้ อาซู พาเราเดินภายในตึกเข้าห้องโน้นออกห้องนี้ เธอหิ้วสิ่งของจำเป็นติดมือไปแจกด้วย วันนี้เธอไปหากลุ่มเพื่อน ๆ ที่พักงานเลี้ยงลูกที่ห้อง

แรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทย ถ้าเป็นครอบครัวแล้ว ทั้งสามีภรรยาจะทำงานกันทั้งคู่ แต่เมื่อเกิดตั้งครรภ์ใกล้คลอด สามีจะเป็นคนออกไปทำงานคนเดียว ภรรยาจะอยู่ที่ห้อง บางคนต้องอยู่เลี้ยงลูกจนโตพอดูแลตัวเองได้ก่อน ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานหาเงิน รายได้ มีทางเดียวเท่านั้น ทำให้หลายครอบครัวที่อยู่ในหอพัก ตัดสินใจส่งลูกกลับไปให้พ่อและแม่ที่อยู่ที่บ้านช่วยเลี้ยง ไม่ต่างจาก ชีวิตคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่เดินทางจากภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้เข้ามาขายแรง ประกอบอาชีพทำงานที่กรุงเทพหรือปริมณฑล ตามนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อที่จะทำงานหาเงินส่งกลับไปให้ลูก หรือพ่อแม่ที่บ้าน และหวังจะมีอาชีพที่สดใสสร้างเงินและมั่นคง

แต่ก็ใช่ว่าความหวังของหลายชีวิตจะเป็นดังหวังและที่ฝันเอาไว้ อย่างเพื่อนแรงงานที่ อาซู พาเราไปพูดคุยที่ห้องนี้

“วาสุ” คือเธอคนนั้น วันนี้เธออยู่ที่ห้องกับลูก 2 คน คนหนึ่งวัย 6 ขวบ ยังไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะ วาสุ บอกว่าค่าใช้จ่ายสูง แม้ก่อนหน้านี้เธอคิดว่าจะส่งลูกกลับไปเรียนที่เมียนมา แต่ก็ยังไม่ได้ส่งกลับจนถึงวันนี้ เธอเลี้ยงลูกอยู่ที่ห้องมาโดยตลอด และตอนนี้ยังต้องดูแลลูกอีกคนอายุ 9 ขวบ สามีของวาสุออกไปรับจ้างทำงานคนเดียว ตอนนี้รายได้ลดลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โรงงานที่สามีเธอทำไม่มีโอที ทำให้สามีเธอรับเเค่ค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 331 บาท จากปกติจะได้ สัปดาห์ละ 6,000-6,400บาท ตอนนี้เธอกำลังชั่งใจ หากสถานการณ์ผ่อนคลายจะขอสามีเดินทางกลับบ้านพร้อมลูกไปหางานทำที่ประเทศเมียนมา เพราะยังมีพ่อและแม่ พี่ จะคอยดูแลลูกให้ระหว่างที่เธอทำงาน

“อาซู” พาเราเดินต่อไปแจกของอีกห้องหนึ่ง เธอบอกว่าห้องนี้น่าจะมีคนอยู่ เราเลยถามเธอว่าสังเกตจากอะไร เธอบอกว่า ปกติห้องที่จะมีลูกเล็กอยู่ด้านในจะแขวนถุงไว้ที่หน้าประตู ในถุงมีมะนาวอยู่ 2-3 ลูก เป็นสัญลักษณ์ความเชื่อในพม่าว่าจะคอยปัดเป่าสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้าไปภายในห้อง รบกวนเด็กเล็กที่อยู่ภายใน เราเลยสังเกตว่าแต่ละห้องก็จะมีมะนาวแขวนอยู่จริง ๆ เมื่อเคาะห้อง ก็จะมีผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นแม่ เลี้ยงลูกอยู่ในห้องจริง ๆ เช่นห้องนี้

“มามิกา” เดินทางมาจากเมืองทวายผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ทำงานที่สมุทรสาคร 10 ปีแล้ว เธอเล่าว่าไม่ได้กลับบ้านมา 2 ปีแล้วปกติจะกลับปีละครั้งหรือ 2 ปีครั้ง ระหว่างที่ไม่ได้เดินทางกลับ เธอก็จะโอนเงินกลับไปบ้าน ทุกเดือน เดือนละ5,000บาท หรือ ประมาณ 200,000 จ๊าด แต่ตอนหลังเมื่อมีลูกแล้วก็ไม่ค่อยได้ส่งเงินกลับบ้าน จะส่งสองเดือนครั้ง ตอนนี้อยากกลับบ้านไปหางานทำที่ทวาย เพราะว่า ตั้งแต่มีการระบาดรอบนี้ รายได้ของครอบครัวลดลง เพราะสามีเธอทำงานเพียงคนเดียวและไม่มีโอที และตอนนี้พ่อของเธอก็ป่วย ต้องฝากญาติคอยดูแล แต่เพราะยังอยู่ในช่วงปิดประเทศทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับไปดูแลพ่อได้ หากมีการผ่อนคลาย เธอยืนยันว่าจะเดินทางกลับบ้านทันที

นี่เป็นเพียง 2 ห้องที่เรามีโอกาสได้เดินไปคุยด้วย ทุกห้องที่ “อาซู” พาไปล้วนมีเรื่องเล่าและความในใจกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความกังวลที่ช่วงนี้ไม่กล้าออกไปไหนไกล เพราะเกรงติดเชื้อ หรือบางห้องกำลังทุกข์ใจเรื่องการป่วยไข้ของลูกเล็ก แต่ไม่กล้าไปหาหมอเพราะค่าใช้จ่ายสูงและไม่รู้ว่าสามารถใช้สิทธิ์บัตรประกันสุขภาพที่ทำไว้ได้หรือไม่ การเดินเข้าไปหา ของ “อาซู” ก็จะเก็บข้อมูลไว้แล้วส่งต่อให้เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิรักษ์ไทย ไปให้คำแนะนำและแก้ไขเยียวยาเพื่อนแรงงานของเธอ

พรุ่งนี้ … อาซูจะยังเดินเคาะประตูบ้านเพื่อนแรงงานของเธอต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ