ก้าวต่อไปของธุรกิจประมงสมุทรสาคร เพื่อความยั่งยืน

ก้าวต่อไปของธุรกิจประมงสมุทรสาคร เพื่อความยั่งยืน

รู้หรือไม่ จังหวัดสมุทรสาคร คือ จังหวัดที่เล็กเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย แต่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provinicial Product หรือ GPP ) สูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศ โดยที่ GPP หลักของที่นั้นมาจากอุตสาหกรรมมากถึง 70%  

เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครนับเป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และอุตสาหกรรมที่โดดเด่น สร้างงาน สร้างเม็ดเงินให้กับที่นั้นก็คือ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปที่มีอยู่มากกว่า 5,000 โรงงาน ดั่งคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์”

แต่ปัจจุบันธุรกิจที่สร้างงาน สร้างเงินให้กับคนที่นั้นกำลังเผชิญกับวิกฤต จากปัญหาเรื่องของกฎหมายที่เข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวด ทรัพยากรที่ลดน้อยลง แรงงานที่ทะยอยหายไปสู่การทำงานรูปแบบอื่น และยิ่งซ้ำร้ายไปกว่านั้น พิษของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ของแพง ราคาน้ำมันพุ่ง เข้ามาซ้ำเติมจนกระทบไปทั้งห่วงโซ่ของธุรกิจประมง ทั้งเรือเล็ก เรือใหญ่ พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการร้านอาหาร รวมไปถึงเจ้าของอุตสาหกรรม และแม้แต่ผู้บริโภคอย่างเรา ก็ล้วนได้รับผลกระทบนั้นด้วยเช่นเดียวกัน 

จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น รายการฟังเสียงประเทศไทย เราเดินทางไปกันที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อฟังเสียงสะท้อนและร่วมกันมองภาพอนาคตก้าวต่อไปของธุรกิจประมงของทุกคน

โดยมีตัวแทนชาวประมง ไต๋เรือ ผู้ประกอบการแพปลา เจ้าของธุรกิจ ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจนี้จำนวน 30 คน และมีวิทยากรผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจประมงมาร่วมฉายภาพสถานการณ์ปัญหา โอกาส และความท้าทายก้าวต่อไปของที่นี้ด้วยกันทั้งหมด 4 คน คือ นายจุมพล ฆนวารี ประธานชมรมผู้ขายปลา จ.สมุทรสาคร นายพงศ์พัทธ์ ศิลาสุวรรณ รองประธานหอการค้า จ.สมุทรสาคร นายกัลปังหา จันทวงษ์โส อดีตไต๋เรือ จ.สมุทรสาคร และนายนิรันดร์ แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการ บริษัท ศิริคุณ ซีฟูดส์ จำกัด โดยมีบทสนทนาทั้งหมดดังต่อไปนี้

สถานการณ์ของเมืองประมงในวันนี้

นายกัลปังหา – ทุกวันนี้ที่ทำประมงกันอยู่มันไม่คุ้มกับต้นทุนที่จะทำ แต่เรามีเรือประมงอยู่ก็ต้องสู้ต่อไป เพราะกว่าจะสร้างเรือประมงมาได้ ต้องใช้จิตวิญญาณและการลงทุนที่สูงมาก และถ้าเราจอดเมื่อไหร่ก็ต้องซ่อมบำรุงแพง 

แต่ตอนนี้มีเรือที่จอดไปมากกว่าครึ่งแล้ว คนที่ทำอยู่ก็พยายามจะต่อสู้ เพื่อรักษาอาชีพของเราไว้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะต่อสู้กันอีกนานแค่ไหน เพราะเราเดือดร้อนจากกฎหมายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม บวกกับต้นทุนน้ำมันราคาสูงมาก รวมถึงค่าแรงในปัจจุบันเราก็จ่ายในราคาที่สูงมากเช่นกัน การทำเอกสารคนงานก็ค่อนข้างมีปัญหาเยอะมาก 

แรงงานในเรือประมงปัจจุบันถูกกฎหมาย 100% เพราะไม่ใช่อยู่ดี ๆ เราจะเอาเรือออกไปทำประมงได้ เรือต้องติดระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) อย่างถูกกฎหมาย ทุกอย่างต้องลงระบบ

นายกัลปังหา จันทวงษ์โส อดีตไต๋เรือ จ.สมุทรสาคร

นายจุมพล – ถ้าเรือประมงลากน้อยลง สินค้าที่มาขายที่ตลาดทะเลไทยเราก็จะน้อยลง เมื่อก่อนเรามีรถตู้เข้ามาวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 120 คัน สถานที่ไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันรถเหลือประมาณ 60 คัน มีจำนวนน้อยลง คนที่เป็นคนกลางอย่างแพปลาก็มีปลาขายน้อยลง รายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายยังเหมือนเดิม  

ทั้งเรื่องของค่าแรงที่จะต้องจ่ายตามกฎหมาย และการที่ต้องมีเครดิตให้กับลูกค้า ซึ่งแพปลาต้องแบกรับไว้

นายจุมพล ฆนวารี ประธานชมรมผู้ขายปลา จ.สมุทรสาคร

นายนิรันดร์ – ส่วนธุรกิจแปรรูปและร้านอาหาร ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากคนอื่น กระทบตั้งแต่การหาวัตถุดิบที่ยากขึ้น การจะหาวัตถุดิบคุณภาพที่ตรงตามที่เราจะนำไปใช้ ค่อนข้างใช้เวลานาน 

สมัยก่อนเรามีให้เลือกเยอะ ในเวลาเท่ากัน สมมติเราไปแพปลา กดกริ่ง ภายใน 10-20 นาที เราสามารถเลือกปลาหลาย ๆ แพได้ แต่พอมาวันนี้ใช้เวลาเป็นชั่วโมง เรายังหาปลาดี ๆ ไม่ได้ จะใช้เวลาสั้น ๆ ก็ไม่ได้ เพราะคนแย่งซื้อกันมากขึ้น และปลาก็น้อยลง การจะหาได้แบบที่ตรงสเปกเลยยากมาก นี่แค่ระดับกระบวนการของร้านอาหาร ถ้าเป็นระดับกระบวนการของโรงงานเลย เป็นไปได้ยาก กว่าจะทำให้ครบลูป มันกระทบเยอะมาก 

เราอยู่กับประมงมานานจนผมเป็นรุ่นใหม่ที่ทำประมงอวนลากและมาทำโป๊ะ ทำปลาเค็ม จับกุ้ง แกะกุ้งส่งโรงงานต่าง ๆ ล่าสุดผลกระทบ IUU คือ เราทำโรงงานแกะกุ้ง แล้วต้องทุบทิ้ง ทิ้งธุรกิจหลายอย่างที่เคยทำมาเป็น 10 ปี เปลี่ยนรูป ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้อยู่ได้ในสภาวะที่เกิดวิกฤต IUU 

ล้งกุ้ง 6,000 โรง พยายามปรับปรุงตัวเองให้มีมาตรฐาน เพราะเราเองยังมีมาตรการที่ต้องปรับ ต้องยุบตัวเองลงเป็นโรงงานอาหารทะเล เจาะหาตลาดกลุ่มใหม่

นายนิรันดร์ แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการ บริษัท ศิริคุณ ซีฟูดส์ จำกัด

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก IUU Fishing ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน

นายกัลปังหา – ก่อนปี 2558 เรือประมงหนึ่งลำ เราจะออกไปทำประมงได้ เรือประมงต้องมีทะเบียนเรือ ต้องมีใบอนุญาตใช้เรือ และต้องมีอาชญาบัตร เราใช้กันอยู่แค่นี้ ซึ่งออกโดยเสรี

หลังจากปี 2558 หลังมี พรก. ประมง รัฐตั้งศูนย์แจ้งการเข้า-ออกของเรือประมง เปิดเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2558 เรือต้องลงระบบทุกอย่าง คนงานทุกคนต้องถูกกฎหมาย ต้องผ่านระบบทั้งหมด ดั้งเดิมเลยเราจะไปแจ้งศูนย์ควบคุมเรือเข้าออกปีโป้ ต้องเขียนกันเอง พอปี 2560 ถึงเริ่มมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ เขาจะตรวจสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประมงก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมา จากที่ทำอะไรไม่เป็นเลย วันนี้เรือประมงเราต้องถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 

และเมื่อวันที่ 1 ก.ค. พ.ศ. 2558 เขามีการประกาศใช้กฎหมายเข้ม ทำให้มีเรือจอดไปกว่า 3,835 ลำ อันนี้เป็นข้อมูลจากกรมประมง ซึ่งเรือที่จอดไม่ใช่เรือเถื่อน แต่สังคมประณามเขาไปแล้วว่าเป็นเรือเถื่อน 

และมีเรืออยู่จำนวน 2,658 ลำ ที่มีทะเบียนเรือ มีใบอนุญาตใช้เรือ มีใบอาชญาบัตร แต่เขาใช้ไม่ถูกต้อง ปกติเรือที่จะออกใบอาชญาบัตร ทางประมงอำเภอจะเป็นคนออกให้ และผ่านการตรวจทุกปี 

ถ้าบอกว่าประมงเป็นโจร กรมประมงก็ต้องเป็นหัวหน้าโจร เพราะเขาออกใบได้ แต่ตอนหลังมาบอกว่า เขามีใบอาชญาบัตรผิดประเภท วันนั้นเรือก็ต้องจอดเลย 

มีเรือกว่า 980 ลำ ที่มีใบทะเบียนเรือ มีใบอนุญาตใช้เรือ แต่ไม่มีอาชญาบัตร เขาผิดที่ไม่มี แต่ 2,658 ลำ เมื่อกี้ที่บอก เอามีอาชญาบัตร แต่ตอนหลังมาบอกว่าไม่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่เขาต่อมาได้ทุกปี 

ปีนั้นเรามีเรือที่มีใบอาชญาบัตรอยู่ 11,200 ลำ พอปี 2559 เราเปลี่ยนเป็นใบประมงพานิชย์ 2 ปีออกครั้ง ตอนปีนั้นเรามีเรือประมงอยู่ 10,600 ลำ ปัจจุบันนี้ไม่มีตัวเลขในมือที่แน่นอน 

ซึ่งนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เขาให้สัมภาษณ์บอกว่า เรามีเรือประมงพานิชย์อยู่ 9,600 ลำ แต่ผมคิดว่าเรือที่ออกทำประมงจริง ๆ ไม่น่าจะเกิน 6,000 ลำ เพราะเรือส่วนมากขาดแรงงาน แรงงานคนหนึ่งกว่าจะทำถูกกฎหมายและออกเรือได้ ค่าใช้จ่ายสูงมาก 

ปัญหาใหญ่ คือ ราคาน้ำมัน เรือที่ใช้น้ำมันมาก คือ เรือที่ใช้อาชีพอวนลาก เรืออาชีพอื่นเขาใช้น้อยกว่า ทำให้เรือประมงส่วนมากตอนนี้ขาดทุน แต่ทำไมยังต้องทำกันอยู่ เพราะถ้าเรือเราหยุด คนงานเราจะไปไหน ถ้าเราจอดเขาต้องไปทำอาชีพอื่น พอเราหยุดแล้วจะกลับมาทำประมงอีก ไม่มีโอกาสแล้ว เราจะหาคนงานมาลงเรือไม่ได้แล้ว ต้องเลี้ยงคนงานเอาไว้ และทนกับสภาวะขาดทุนให้ได้จนกว่าน้ำมันจะลง เพราะถ้าเราจอดเรือไปแล้ว เราก็ต้องเลิกอาชีพนี้ไปเลย

แรงงานที่ธุรกิจประมงต้องแบกรับ

นายกัลปังหา – เรือมีหลายอาชีพ อย่าง เรือลากคันถ่าง จะใช้คนประมาณ 10 คนทั้งลำ ถ้าเป็นเรือลากคู่ก็ 15-18 คน แต่ถ้าเป็นเรืออวนล้อมจับ จะใช้แรงงานประมาณ 25-40 คน 

นายนิรันดร์ – ถ้าเป็นร้านอาหารในเครือ มีคนงานประมาณ 250 คน

นายจุมพล – ส่วนของตลาดทะเลไทย จะแบ่งเป็นแพปลาประมาณ 50 แพ 1 แพปลาจะมีคนงาน 30-40 คน 

วิกฤตที่เกิดขึ้น ทางจังหวัดสมุทรสาครมองเรื่องนี้อย่างไร

นายพงศ์พัทธ์ – ตอนนี้ก็กระทบทั้งหมด ซึ่งหอการค้าเราดูแลในส่วนของผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ เรามีโรงงานแปรรูปกว่า 10,000 โรงงาน ส่วนที่จดทะเบียนถูกต้องมีอยู่ประมาณ 7,000 โรงงาน ในจำนวนนี้ 5,000 โรงงานทำเกี่ยวกับอาหารทะเล 

ถ้าเรือประมงไม่จับปลา มันก็ทำให้วัตถุดิบหายไป ทุกโรงงานจะเจอปัญหาเหมือนกันหมด ขาดแคลนวัตถุดิบ ไม่แปลกใจเลยว่า สินค้าอาหารทะเลที่นำเข้ามา ก็เข้ามาทดแทนส่วนหนึ่งของเรือประมงที่เลิกไป หรือจับปลาไม่ได้ อันนี้เหมือนวิถีทาง ต่างคนก็ต่อชีวิตไป 

อย่างผมเองก็มีธุรกิจแพปลา ปัจจุบันนำเข้าเกือบ 100% ประมงในประเทศก็เหลือน้อย ส่วนหนึ่งก็เห็นใจ แต่เราเองก็มีลูกน้องที่ต้องดูแล ซึ่งมีทางออกในการแก้ไขอะไรเราก็นำเข้ามาแก้ไขเฉพาะหน้ากันไปก่อน 

ส่วนเรื่องการนำเข้าสินค้า จริง ๆ ไม่มีใครอยากนำเข้ามา ถ้าเรือประมงเรายังจับได้อยู่ ไม่มีใครอยากนำสินค้าที่ไม่ใช่จากคนไทยเข้ามา แต่ด้วยความจำเป็น กระบวนการต่าง ๆ เรามีหมด ขาดแต่วัตถุดิบ

ผลกระทบเกิดขึ้น เริ่มชัดเจนตั้งแต่เมื่อไหร่

นายจุมพล- ประมาณปี 2559 ตั้งแต่กฎหมายออกมา เรือที่ออกน่านน้ำหยุดไป แทบเหลือ 0 สินค้าก็หายไปเยอะ พอมาถึงปี 2563 เรื่องโควิด-19 ปลายทางเละเลย ขายไม่ได้ กระทบมาถึงเรา พอโควิด-19 เริ่มนิ่ง น้ำมันเริ่มแพง ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เรือหยุดนิ่ง คือ น้ำมันแพง ทำไปก็ขาดทุน อันนั้นคือจุดตัดเลย 

นายนิรันดร์ – ของผมก็ไม่ต่างกัน แต่ด้วยภาคของธุรกิจแปรรูป เราพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองตามทุกธุรกิจ ปรับตามกระแสค่านิยม ถ้าเราพูดถึงต้นทุน ปลายน้ำเราซื้อต้นทุนที่สูงตลอดเวลา ขายเท่าไหร่ไม่มีปัญหา ขอแค่ได้ปลาที่มีคุณภาพ 

ในกลุ่มร้านอาหารที่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่น เรารู้ว่าเราจ่ายต่อหัวเท่าไหร่ เรายอมจ่าย เรามีสินค้านำเข้ามา เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เรายอมจ่าย ทำให้วันนี้ต้นทุนของปลาไทยตกต่ำลงมาก ๆ ถามว่าเราอยากจะซื้อปลาในราคาที่นำเข้าไหม ก็ไม่ เราอยากซื้อในราคาที่จับต้องได้ ในแบบสินค้าของต่างประเทศ

ซึ่งตั้งแต่อดีตเลยเราจับต้องไม่ได้ เพราะประมงส่วนใหญ่ที่เป็นภาคธุรกิจ เป็นปลาที่เราจับเป็นคลังวอลลุ่มเน้นเป็นปริมาณ ไม่ได้จับเชิงคุณภาพ สินค้าที่เราจะใช้มีการคัดแยก มีช่วงเวลา ดังนั้นวิกฤตเราเกิดตลอดเวลากับการเปลี่ยนแปลงที่มีความผันผวน 

ในเรื่องของค่านิยม อาจจะต้องมีการรับรู้มากขึ้น ถึงเหตุผลที่ปลานำเข้า ซึ่งอดีตมันก็มีการนำเข้าอยู่แล้ว แต่ในแง่ของผู้ประกอบการเอง การนำเข้านำมาซึ่งต้นทุนที่ต่ำ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการ แต่ผมต้องการซื้อในต้นทุนที่สูงแต่ได้คุณค่าที่มีความแตกต่างกัน ถ้ามีเรือที่มีคุณภาพจับและคัดแยกดี ๆ แบ่งว่า ปลาแบบนี้จะไปขายให้กับกลุ่มไหน กลุ่มโรงแรม กลุ่มร้านอาหาร  และกลุ่มโรงงานได้ ผู้ประกอบการแบบเรา ก็กล้าซื้อในราคาสูง ซึ่งเมื่อเทียบแล้วก็ต่ำกว่าการนำเข้า

อาหารทะเลมันมีความซับซ้อนเยอะ พูดคำว่าต้นทุนต่ำ มันไม่ได้ต่ำอย่างที่คิด มันอยู่ที่ผู้เลือก ว่านำมาแล้วปลายทางเราจะขายใคร เพราะว่าวิกฤตมันเกิดแล้ว จะบอกให้มันเกิดแล้วเป็นเหมือนเดิม ความคุ้นเคยเดิม เป็นไปไม่ได้ ต้องดิ้นให้อยู่ได้ในสภาวะนี้

นายกัลปังหา – มันมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายอยู่ กฎหมาย พรก. ประมง มาตรา 87 เขาห้ามเรือประมงถ่ายปลากัน แต่เดิมมีการถ่ายปลากันกลางทะเล ทำให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ในเรือประมง และรัฐก็แก้กฎหมายนี้ ทำให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ 

ผมเคยเสนอหน่วยงานภาครัฐหลายครั้งแล้วว่าควรให้เรือประมงถ่ายปลากันได้ โดยมีการควบคุม ผมไม่ได้บ่นอย่างเดียว ทางออกคือควบคุมไปด้วย 

การถ่ายปลา ยกตัวอย่าง ผมมีเรือลากคันถ่างอยู่ 2 ลำ ก่อนจะถ่ายปลาผมต้องไปลงทะเบียนกับศูนย์ควบคุมเรือเข้าออกปีโป้ และเรือที่จะถ่ายปลาต้องมี VMS กรมประมงสามารถควบคุมได้ และก่อนจะถ่ายปลาก็ให้ผมไปแจ้งตำแหน่งก่อนว่าจะทำวันไหน เมื่อไหร่  อย่างเรือผมเป็นเรือลากคันถ่าง สัตว์น้ำที่จับเป็นปูม้า กุ้งแช่บ๊วย กุ้งโอคัก ปลาลิ้นหมา หมึกกระดอง ผมออกเรือได้ 4-5 วัน เรืออีกลำหนึ่งเข้าฝั่งเราก็ถ่ายปลาฝากกันมาขาย  สัตว์น้ำจะได้สด ได้น้ำหนักมากขึ้น 

แต่เมื่อกฎหมายไม่เอื้อ ผมต้องลากเที่ยวหนึ่ง 10 วัน เพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องออกเรือ ผมไม่ได้แค่บ่นอย่างเดียว แต่ผมเสนอหลายครั้ง ทั้ง ๆ ที่เป็นกฎหมายง่าย ๆ แต่รัฐไม่ฟัง และไม่แก้ไขอะไรเลย    

อย่างวันนี้ผมลากปูม้าได้ ผมพยายามเอาปูม้าที่มีไข่ปล่อยลงไป ผมเลี้ยงไว้หลายตัว และก็ส่งในกลุ่ม ก็มีชาวประมงหลายคนที่เห็นและก็ทำตาม โดยที่ไม่ต้องไปบังคับ เมื่อก่อนต้องเลี้ยงไว้และค่อยเอามาใส่ฟาร์ม ซึ่งพอมาปล่อยชายฝั่ง บางทีน้ำมันเสีย มันก็ตาย ผมไม่ต้องการสร้างภาพ แต่ผมต้องการปฏิบัติจริง ขยะที่ไปกับเรือเราก็เก็บเข้ามาทิ้งชายฝั่ง เราทำมา 3-4 ปีแล้ว

ถ้าในทะเลไม่มีทรัพยากร ไม่มีปลา ชาวประมงจะอยู่อย่างไร ทุกวันนี้มันน้อยลงจริง แต่ที่เขาบอกว่า มันน้อยลง เพราะเราจับมากเกินไป อันนี้เป็นสิ่งที่กรมประมงและภาครัฐคิด แต่คุณไม่ได้คิดเลยว่า ทรัพยากรมันน้อยลง เพราะมลพิษมันเยอะ 

ยกตัวอย่าง ปากแม่น้ำท่าจีน ตอนผมเด็ก ๆ กลับมาจากโรงเรียนก็ช้อนกุ้ง ช้อนปลา ที่บริเวณปากอ่าวเคยมีปลาทูเข้ามาด้วย  พอมาวันนี้แม่น้ำท่าจีนไม่มีการทำประมงเลย ผมพยายามบอกว่า น้ำเสียที่ลงทะเล ควรจะดูว่าเป็นอย่างไร เคยแนะนำให้กรมประมงลงมาวัดค่าน้ำ และจดสถิติทุกวันที่ 1 กับ 15 จะได้มีข้อมูลชัดเจน ว่า ค่าน้ำเท่าไหร่ ค่าดินเท่าไหร่ และมีของเสียอะไรบ้าง ผมเคยเอาเรือมาลากตรงบริเวณแม่น้ำท่าจีน ในวันสิ่งแวดล้อมโลก พลาสติกเต็มแม่น้ำเลย 

วันนี้ทรัพยากรมันน้อยลง เพราะน้ำเสียมันมาก เราไม่มีปลาทูมา 4-5 ปีแล้ว แต่พอมีโควิด-19 อุตสาหกรรมหยุด การท่องเที่ยวหยุด มลพิษต่าง ๆ น้อยลง ทำให้ปีที่แล้ว เราเริ่มมีปลาทูกลับเข้ามาบ้างแล้ว และเราก็พยายามปล่อยลูกปูม้า ถ้าเราไม่มีทรัพยากร ชาวประมงก็อยู่ไม่ได้ แต่สิ่งที่เสนอภาครัฐ เขาไม่ฟัง เขาตั้งธงแล้วว่า การปิดอ่าวอนุรักษ์ คือสิ่งที่ช่วยอนุรักษ์ได้ แต่ในทางปฏิบัติ บางอย่างใช้ไม่ได้

ปีนี้ปิดตั้งแต่ 15 ก.พ. 65 – 15 พ.ค. 65 ปิดจากประจวบคีรีขันธ์ลงไปนครศรีธรรมราช หลังจาก 15 พ.ค. 65 ปิดขึ้นมาถึงหัวหิน เดือน ก.ค – ต.ค. มาปิดตรงอ่าวตัว ก และพอถึงเดือน ต.ค. – พ.ย. เป็นช่วงที่น้ำเสียลงพอดี คุณปิดเพื่ออนุรักษ์ แต่พอน้ำเสียมามันฆ่าทั้งหมด

นายนิรันดร์ – ต้องบอกว่า ตอนนี้การจับปลาน้อยลงไปกว่าเดิมถึง 70% ซึ่งจริง ๆ เรามีความเชื่อว่า การลดจำนวนเรือที่ออกไปจับปลาลง จะทำให้ปลาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันตอนนี้เรือที่ออกไปจับปลา 30% ก็ไม่ได้ปลาเพิ่มขึ้น อย่างที่บอกมันคงไม่ได้แก้กฎหมาย หรือแก้ที่ใครบางคน มันต้องแก้โดยรวมทั้งหมด ทั้งเรื่องของน้ำเสีย สิ่งแวดล้อม เรื่องของค่านิยม เรื่องการกินปลา จะบอกว่าปลาน้อยลง เราเจอสภาพน้อยลงตลอดเวลา  เพราะเราหาปลาที่มีคุณภาพอย่างเดียว มันก็ยาก

นายจุมพล – สำหรับตลาดทะเลไทย เดิมทีก็น้อยอยู่แล้ว ยิ่งปิดอ่าวยิ่งน้อยลงกว่าเดิม เพราะเรือไปลากตรงนั้นไม่ได้ ปลาก็จะลดน้อยลงไป

น้ำมันแพง เรือจอดทิ้ง แก้ปัญหาอย่างไร

นายจุมพล – เดิมทีเวลาเรือลงน้ำมันจะติดต่อกับทางปั๊มเอง ชำระเอง ก็จะมีเครดิตกับทางปั๊ม แต่ปัจจุบันน้ำมันเขียวไม่มีแล้ว ตอนนี้เวลาเรือจะลงน้ำมันที ก็จะให้แพปลารับผิดชอบ ปั้มน้ำมันจะโทรมาหาแพปลาว่า เรือลำนี้จะลงน้ำมัน ราคาประมาณนี้ ทั้งหมดกี่บาท เราต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน

นายกัลปังหา – คนส่วนใหญ่มองว่า รายได้ประมงเยอะ ประมงรวย แต่จริง ๆ เจ้าของเรือมากกว่า 90% เป็นหนี้ อย่างเรื่องน้ำมัน เมื่อก่อนเรามีน้ำมันเขียวลง สมมติราคา 30 บาท พอเราไปลง เราก็จะมีเครดิตกับบริษัทน้ำมัน เขาจะให้เครดิตเรา 10 วัน และบวกเราไป 0.20 บาท จาก 30 บาท ก็จะเป็น 30.20 บาท ถ้าติดนาน 20 วัน ก็จะบวกไป 0.30 บาท 

แต่ปัจจุบันเรือน้ำมันเขียวออกไม่ได้ เนื่องจากราคาหน้าปั๊มกับราคาที่เขาคุมกันอยู่มีความใกล้เคียงกัน และก็มีปัญหาการเอาน้ำมันทะเลไปขึ้นฝั่ง ซึ่งน้ำมันเขียวไม่ใช่น้ำมันที่รัฐชดเชย แต่เป็นน้ำมันที่รัฐไม่เก็บภาษี รัฐได้จากเรือน้ำมัน น้ำมันพวกนี้เป็นน้ำมันที่เขากลั่นใช้บนฝั่งแล้วเหลือ คลังน้ำมันต้องบรรทุกไปส่งที่สิงคโปร เมื่อไปส่งที่สิงค์โปร รัฐจะไม่ได้ภาษีอะไรเลย แต่พอบริษัทที่ขายแทงเกอร์รับน้ำมันตรงนี้ไปขายให้ชาวประมง บริษัทเรานี้จะมีรายได้ และเสียภาษีให้กับรัฐ  ซึ่งรัฐไม่ได้เสียอะไร และไม่ได้จ่ายเงินชดเชย แต่คนไปโจมตีว่า น้ำมันเขียวเป็นเงินที่รัฐชดเชย ซึ่งจริง ๆ รัฐไม่ได้เสียอะไรเลย แต่ได้เงินตรงนี้มา

น้ำมันนี้เป็นน้ำมันที่กำมะถันสูง ค่าการกลั่นจะถูกกว่าปกติ ตอนนี้มีปัญหา กรมสรรพสามิตจะให้ติดอุปกรณ์แสดงตนอัตโนมัติ หรือ Automatic Identification System (AIS) ในเรือประมง พวกเราไม่อยากจะเป็นภาระ รัฐสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว กรมสรรพสามิตก็สามารถไปทำงานร่วมกับกรมประมงได้ โดยที่ไม่ต้องติด AIS เพิ่ม มันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐ เพราะอุปกรณ์พวกนี้เสียได้ พอเสียภาระก็ตกที่ชาวประมง ซึ่งเราไปฟ้องศาลปกครองกันมา ตอนนี้ก็ยังสู้คดีกันอยู่ 

เรือน้ำมันที่เขาออกไม่ได้ ตอนนี้รัฐเข้าไปชดเชยน้ำมันบนฝั่ง น้ำมันทะเลกับน้ำมันบนฝั่งก็เลยใกล้เคียงกัน ทีนี้เรือน้ำมันเขาออกไปแล้วมันไม่คุ้มทุน ก็เลยไม่ออก มีปัญหายุ่งยากในแง่กฎหมายที่ยังเคลียร์ไม่จบ ต้องรอระยะเวลาหนึ่ง ตอนนี้พอเรือมาก็ต้องลงน้ำมันเลย ของยังไม่ได้ขาย เรือบางลำสนิทกับแพปลา ก็ยืมตังแพปลามาจ่ายไปก่อน 

เรือแต่ละลำใช้น้ำมันไม่เท่ากัน อย่างเรือคันถ่างของผม ออกเที่ยวหนึ่งใช้ 8,000 ลิตร ตกประมาณ 300,000 บาท/เที่ยว ถ้าเป็นเรือลากคู่ก็ประมาณ 12,000 ลิตร ออกประมาณ 10 วัน ก็จ่ายมากขึ้น ทุกวันนี้ที่ทำพยายามต่อสู้ เพราะถ้าหยุดแรงงานก็หาย หยุดอยู่ฝั่งก็ต้องจ่ายค่าแรงเหมือนกัน เพราะถ้าไม่จ่ายแรงงานก็ไป และถ้าเขาเลิกไปแล้ว หาแรงงานมาเติมยากมาก

สถานการณ์การออกเรือในน่านน้ำกับนอกน่านน้ำ

นายกัลปังหา – เรือประมงไทยที่ออกไปทำประมงนอกน่านน้ำ ต้องกลับเข้ามาจอด ตอนปลายปี 2558 รัฐเรียกกลับเขามาเลย มันมีประกาศกรมประมงกว่า 300 ฉบับที่บังคับชาวประมง เมื่อกี้ที่คุย ผมคุยเฉพาะในประเทศ ซึ่งก็เดือดร้อนมาก แต่เรายังอยู่ได้ แต่ที่น่าสงสารมากคือประมงนอกน่านน้ำ ไม่สามารถทำได้เลย มีกฎระเบียบเยอะ 

ตอนปี 2558 เราประกาศเรียกเรือกลับเข้าฝั่ง ถ้าไม่เข้ามาภายใน 1 เดือน คุณมีความผิด บางลำอยู่ไกล 1 เดือนเข้ามาไม่ทัน พอเข้ามาก็โดนคดีเป็นหางเว้า ตอนนั้นเรามีเรือประมงนอกน่านน้ำกว่า 1,000 ลำ กว่าจะสร้างเรือแต่ละลำขึ้นมา ใช้เงิน 50-150 ล้านบาท กว่าธุรกิจจะเติบโตและแข็งแกร็งขึ้นมาได้ 

นอกน่านน้ำส่วนใหญ่มาจากประมงเล็ก ๆ และค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยรัฐก็สนับสนุนให้เขาทำ แต่วันหนึ่งพอมี IUU รัฐออกประกาศ เรือพวกนี้กลายเป็นเรือผิดกฎหมาย อย่างเรือที่ไปอินโดเป็น เรือที่ทำประมงร่วมกัน ทางอินโดลงทุนทำห้องเย็น ท่าเรือ คนไทยเอาเรือไป เอาคนไป ผลประโยชน์แบ่งปันกัน เรือเราก็ไปถ่ายมา เอามาขึ้นที่ตลาดทะเลไทย และก็มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงออกไป แต่วันหนึ่งรัฐมาบอกว่า ผิด ก็พังหมด ซึ่งชาวประมงก็เหมือนคนทำอาชีพอื่น มีทั้งคนทำดีและคนทำไม่ดี แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ถ้าถามกรมประมงวันนี้ อธิบดีกรมประมงกล้ารับผิดชอบไหม เจ้าหน้าที่ในกรมประมงถูกกฎหมายทุกคน ถ้ามีใครผิดผมจะลาออก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะองค์กรไหนก็มี แต่ประมงได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะเขาบอกให้ IUU มา

ผู้มีอำนาจเราบอกว่า จะต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ภายใน 6 เดือน เราร่าง พรก. ประมง แต่เดิมเรามีมาตั้งแต่ 2490 ใช้มาไม่เคยแก้เลย และก็ร่าง พรบ. การประมง 2558 บังคับใช้เมื่อ 28 เมษายน 2558 พอประกาศบังคับใช้ บอกใช้ไม่ได้ ระบบเฝ้าติดตามยังไม่ดีพอ กรมประมงเขาให้นักวิชาการประมาณ 10 คน ไปร่าง พรบ. การประมง 2558 ผ่าน ครม. เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2558 และบังคับใช้กับพวกเรา พร้อมกับออกระเบียบ และเรียกเรือเข้ามา โดนคดีกันเต็มไปหมด จาก 1,000 ลำ เรือแค่ 1 ลำที่ออกได้

นายพงศ์พัทธ์ – ประมงนอกน่านน้ำ ส่วนหนึ่งในฐานะผมคลุกคลีอยู่ ไม่เกี่ยวอะไรกับการไปแก้ IUU อันนี้เราไปจับปลาจากต่างประเทศ เราไปเอาทรัพยากรที่เขาเหลือ นำเข้ามาก็มาแบบถูกต้อง ไม่ว่าจะเสียภาษี มีใบยืนยันแหล่งที่มา แต่รัฐไปห้ามไม่ให้เขาจับ ซึ่งในนามหอการค้าก็ไม่เห็นด้วยมานานแล้ว ไม่รู้จะเอายังไง ได้แต่เอาใจช่วย 

ส่วนใหญ่เรือที่ออกไปจากประเทศ ถ้าเป็นเรือเล็กต่ำกว่า 100-200 ตัน ไปไม่ได้เลย เพราะมันไกลมาก อย่างอินโดนีเซีย ทางภาคใต้ใช้เวลาเดินทางกว่า 20 วัน ไป-กลับใช้เวลา 1 เดือนกว่าแล้ว ดังนั้นเวลาไป เขาจะมีกองเรือไป  มีเรือแม่ แต่ที่บอกเมื่อกี้ เรือแม่ออกไปถ่ายปลากลับมาผิดอีก ถ้าผมพูดได้ก็อยากจะบอกให้เปลี่ยนคนออกระเบียบเป็นชาวประมงดีกว่า

นายกัลปังหา – ผมเห็นด้วยกับการทำประมงโดยมีการควบคุม ปี 2558 กฎหมายเราล้าหลังเกินไป ก็มีส่วนหนึ่งที่ชาวประมงทำไม่ถูก แต่การที่เรามีรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัตรเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขาออกกฎโดยไม่รับฟังใครเลย การที่เราควบคุมแล้วเรามีข้อมูลที่ถูกต้องและดีเพียงพอก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การควบคุมมันก็มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ รัฐควรหาเงินมาเยียวยาส่วนหนึ่ง 

กรมประมงเขียนแผนชัดเจน นักวิชาการเขียนไว้ บอกว่า เรือประมงประเทศเรามีมากเกินไป เราควรมีเรือประมง 8,000 ลำ นักวิชาการบอกว่า เราควรไปซื้อเรือที่ถูกกฎหมายออกจากระบบในราคาครึ่งหนึ่ง เขาประเมินไว้ตันกรอสละประมาณ 90,000 บาท ครึ่งหนึ่งประมาณ 45,000 บาท และถ้าเรือที่ไม่มีอาชญาบัตรให้ซื้อในอัตรา 1 ส่วน 4 ตกประมาณ 22,500 บาท แต่บังเอิญมีผู้ใหญ่บางคนให้ลดเรือโดยไม่ต้องใช้เงิน ก็เลยเดือนร้อนกันมาก

ความจริงถ้าเราซื้อเรือส่วนนี้ใช้เงินนิดเดียว เราไปช่วยเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ปีละเป็นแสนล้าน แต่เรือประมงเราซื้อเรือออกจากระบบแล้วหายไปเลย พอหายไปค่า MSY ก็จะหายไป การจัดสรรทรัพยากรก็จะง่าย แต่พอลดเรือด้วยการออกกฎหมายบังคับ ให้หายไปเลย โหดร้ายมาก ทุกวันนี้มีเรือที่อยู่ไม่ได้ เขายื่นขายรัฐบาลประมาณ 2,700 ลำ แต่พอรัฐบาลขยับจะซื้อเรือ ก็มี NGO บอกว่า เรือพวกนี้เป็นเรือไม่ถูกกฎหมาย เป็นเรือผิดกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่เขามีใบอนุญาตใช้เรือ มีใบประมงพาณิชย์ ผิดกฎหมายตรงไหน และรัฐก็ฟังคนกลุ่มนี้จนไม่ทำอะไรเลย 

ถ้าเราซื้อเรือประมงออกไป ก็จะลดแรงเสียดทานได้เยอะ ใบอนุญาตประมง 1 ใบ อนุญาตให้ทำประมง 240 วัน หรือประมาณ 8 เดือน แต่เราต้องดูแลคนงานทั้งปี มีอาชีพไหนที่ทำงานและให้เงินเดือน 8 เดือนบ้าง

ปัจจุบัน จ.สมุทรสาคร ยังมีธุรกิจประมงแบบครบวงจรอยู่ไหม

นายกัลปังหา – วันนี้ยังมี แต่ก็ลดลงไปเยอะ เรือลำหนึ่ง สมมติมีคนงานอยู่ 10 คน เราจ่ายเงินลูกน้อง ลูกน้องไปซื้อของ ร้านค้าได้ประโยชน์ เวลาเราออกเรือประมง เราต้องซื้อผัก ร้านค้าได้ประโยชน์ เราเอาสัตว์น้ำไปขายแพปลา ก็มีผู้ได้รับผลประโยชน์ 

เรือถึงกำหนดต้องซ่อม ก็ต้องมีช่างต่อเรือ อย่างปี 2558 มีเรือที่ปัตตานี จำเป็นต้องเลือกสัญชาติ เพราะถ้าอยู่ประเทศไทยก็ต้องเจอกฎหมายแบบนี้ เขาเลือกไปถือสัญชาติมาเลเซีย ประมาณ 120 ลำ ไปอยู่ที่บาหลี  มาเลเซียทำท่าเรือให้ใหญ่โตให้อยู่อย่างเสรี แล้วปัจจุบันคนไทยอยากไปที่มาเลเซีย เพราะน้ำมันถูก อุตสาหกรรมเขาโต เรือที่ไปต่อก็เป็นช่างไทย คนงานไทยไปมาเลเซีย ไปต่อพาสปอร์ต ทำหนังสือคนประจำเรือ ไปถึงโน้นออกทะเลได้เลย  ที่ประเทศไทย ทำพาสปอร์ตมา ต้องมาทำบัตรแรงงาน ทำหนังสือคนประจำเรือแล้วถึงจะออกเรือได้ 

ที่บาหลีเศรษฐกิจเขาบูมมาก กลับมาดูบ้านเรา เมื่อก่อนที่สมุทรสาคร มีเรืออวนดำ 120 ลำ ปัจจุบันที่ออกเรือ มีอยู่ 30 ลำ เรือที่มีใบประมงพาณิชย์ 70-80 ลำ ถ้าเรือไม่มีใบจะถูกทาสีขาวส้มทันที นั่นหมายถึงว่าเป็นเรือเถื่อน โดนประจาร เลยต้องขอใบประมงพาณิชย์ไว้ แต่ไม่ได้ออก ที่ออกจริง ๆ มีแค่ 30 ลำ

วันนี้ธุรกิจประมงของ จ.สมุทรสาคร ยังมีโอกาสเดินต่อบ้างไหม

นายจุมพล – ตอนนี้ดูกันที่เรื่องของน้ำมันกันอย่างเดียว ถ้าน้ำมันราคาลง คิดว่ายังไปได้อยู่ ทางแพปลาและผู้ประกอบการยังพยายามดิ้นรนเพื่อเอาตัวเองรอด ในอนาคตถ้ารัฐบาลสนับสนุนเรื่องกฎหมาย บังคับน้อยลง น้ำมันถูกลง ผมคิดว่าเรายังไปกันได้

นายนิรันดร์ – โอกาสในเรื่องประมง คิดว่าทิศทางค่อนข้างลำบาก การที่ใช้ชีวิตแบบเดิม ใช้การออกหาปลา และได้แบบที่เคยจับมันเป็นไปได้ยาก โอกาสน้อย และแทบจะไม่เกิดขึ้น ผมพยายามหาว่า ในภาคของตัวเอง ในฐานะร้านอาหารกับทรัพยากรที่หลงเหลืออยู่ ยังคงมีอดีตที่สวยงามอยู่ เราคงขับเคลื่อนจังหวัดสมุทรสาครไปในทางท่องเที่ยว การประมงอนุรักษ์ การไปดูปลาวาฬ ไปดูสัตว์น้ำ หรือแม้แต่เปลี่ยนเมืองประมงที่เป็นเมืองท่าออกจับปลา ให้กลายเป็นแค่ตกปลาเล็ก ๆ น้อย ที่อยู่ปากอ่าว และเอาปลามาทำอาหาร เล่าเรื่องราวที่เป็นอดีต ว่า ปลาของคนสมุทรสาครเป็นอยู่อย่างไร 

แม้วันนี้มันไม่ดีขึ้นแบบเดิม แต่เราก็มีคุณค่าในอดีตที่ยังคงไว้ ดังนั้นถ้าปลาดี ๆ จะมีอีก ทุกฝ่ายต้องกลับมาร่วมมือในสิ่งที่อยากให้สมุทรมาครกลับมาเป็นแบบไหน ถ้าจะทำอย่างนั้นได้

นายกัลปังหา – คนเราต้องมีความหวังและความฝันเสมอ ผมยังเป็นคนที่ต่อสู้ทุกเรื่อง เพราะปัญหาประมงมาจากเอกสาร ผมเป็นชาวประมงคนหนึ่งที่ออกเรือตั้งแต่อายุ 12 ตอนเด็ก ๆ บ้านผมมีเรือ ผมเป็นไต๋ตั้งแต่อายุ 16 ตอนอายุ 24 เรือจม ผมไปเป็นลูกจ้างประมาณ 10 ปี จนเก็บเงินและมาทำเรือลำเล็ก ๆ ปัจจุบันผมมีเรืออยู่ 2 ลำ แต่ตอนปี 2558 ปัญหากฎหมายเยอะ ทำหยุดเรือเพื่อมาทำเอกสาร และผมไปเรียนต่อการศึกษานอกระบบ จบ ม.6 เป็นนิติศาสตร์ต่อปัจจุบันอยู่ปี 3 คนเราต้องพัฒนาเพื่อต่อสู้กับชีวิต

ปัญหาใหญ่ของประมงคือ ราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันที่ประมงอยู่ได้ คือ ราคาประมาณ 20 บาท แต่ปัจจุบันราคาแพงก็จำเป็นต้องใช้ ปัญหาใหญ่เลยกฎหมาย มาตรา 87 รัฐช่วยได้ เพราะทุกวันนี้ยังมีคนที่แอบถ่ายปลาอยู่ ปัญหากฎหมายมากกว่า 300 ข้อ ที่ประกาศบังคับใช้มันมีความผิดแล้ว แต่บางครั้งรัฐบังคับใช้ไม่ได้เต็มร้อย ผมมองว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเราทำผิดกฎหมาย โทษของมันคือ ผิดแล้วตายเลย สิ่งที่สร้างมาทั้งชีวิต ถ้าคุณโดนจับครั้งเดียวคุณก็ต้องเลิกจากอาชีพนี้ไปเลย ไม่มีทางกลับมาทำได้อีก

สิ่งที่ต้องแก้ตอนนี้คือกฎหมาย มาตรา 87 ต้องอนุญาตให้มีการถ่ายโอนปลาได้ โดยมีการควบคุม และมีประกาศมาตรา 71 ที่ออกโดยรัฐมนตรีเกษตร มีในพรก.ประมง บอกว่า กฎระเบียบต่าง ๆ ก่อนที่จะมี พรก. นี้ บังคับใช้ ให้มีผลบังคับใช้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง และก็มีประกาศอื่น ๆ ตามมา ซึ่งมีประกาศที่ไม่เป็นธรรมกับพวกผมออกมา เช่น ประกาศของจังหวัดชลบุรี ห้ามอวนลากคันถ่าง ประกาศของจังหวัดพังงา ห้ามอวนลากทุกชนิด  ประกาศเหล่านี้ควรจะยกเลิกได้แล้ว ถ้ารัฐเห็นใจแล้วแก้กฎหมายบางอย่างที่เก่าแล้ว เรามีกฎหมายลูกออกมา ไม่มีปัญหาควบคุมใด ๆ ก็จะทำให้ประมงเดินหน้าต่อไปได้

นายพงศ์พัทธ์ – ในวิกฤตทุกวิกฤตต้องมีโอกาส แต่อันดับแรกรัฐต้องมองก่อนว่า ยังไงชาวประมงก็ต้องอยู่คู่กับประเทศไทย อยู่คู่กับรัฐ และรัฐจะมีวิธีการยังไงให้พวกเขาอยู่ได้ ไม่ขาดทุน ยกตัวอย่าง สินค้าที่เขาจับ บางอย่างจับมาแล้วพรีเมียร์ จับมาแบบเป็น ๆ แต่เราจะทำยังไงให้เขาเอากลับมาสู่ผู้บริโภคได้แบบเป็น ๆ ถ้ามองในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากเลย เรามีเทคโนโลยี มีโดรน สปีทโบ๊ท สามารถวิ่งออกไปรับปลาจากเรือมาได้ ปลา ปู ปลาหมึก ก็จะได้มาแบบเป็น ๆ กิโลกรัมละ 600-700 บาท อันนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเรือประมง เขาก็จะอยู่ได้

การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ถือเป็นโอกาสในการขับเคลื่อน

ธุรกิจประมงให้เดินต่อหรือไม่

นายจุมพล – ถือว่าดีเลย เพราะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการของพรีเมียร์ยังมีอยู่เยอะ และกล้าสู้ราคา ถ้าของสด อาจจะจัดไว้น้อยหน่อย แต่ขายในราคาที่เท่ากับของเยอะ ประเทศไทยมีอาหารทะเลที่สด ต่างชาติชอบมาก

นายกัลปังหา – ผมเห็นด้วยนะ ยกตัวอย่าง ผมมีเรืออวนลากคันถ่าง ในหมู่บ้านผมมีเรืออยู่อีกหลายลำ แล้วถ้าเราบอกว่า ปูเราขายเฉลี่ยเลยกิโลละ 200-300 บาท แต่ถ้าดีลกับร้านค้าได้ เอาปูเป็นมาขายจะได้กิโลละ 500 บาท พอผมลากเสร็จผมเอาเข้ามาขายก่อน โดยการฝากเขากลับมา ซึ่งไม่ได้มีแค่ปู มีกุ้งด้วย 

คนกินอาหารทะเลมีอยู่สองเกรด มีพวกเกรดพรีเมียร์ คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทย ซึ่งตอนนี้บูมแล้ว ร้านอาหารก็พอจะซื้อไหว แต่วัตถุดิบไม่มี แล้วเราจะทำอย่างนี้ได้อย่างไรในเมื่อกำหมายไม่ได้เอื้อ ถ้าไม่แก้กฎหมายให้เปลี่ยนถ่ายได้กลางทะเล

นายจุมพล – มีกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มเขานิยม จ่ายแพงหน่อยแต่ก็โอเค คนไทยก็มี ต่างชาติก็เยอะ อย่างคนจีนมาถามเยอะว่า มีกุ้งเป็น ๆ หรือกั๊งแก้วที่ยังเดินได้ไหม ซึ่งเรามีไม่ถึงตรงนั้น แต่ถ้าเราสามารถที่เลี้ยงเขา และสามารถนำเข้ามาแบบที่ยังมีชีวิตอยู่ รับรองว่าอัพเกรดราคาขึ้นได้แน่นอน

นายนิรันดร์ – ถ้าผู้ถึงตลาดพรีเมียร์ ผมว่าเราจะต้องมีตัวเปรียบ อย่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ถามว่า ทำไมผมถึงชอบยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ถ้าพูดถึง เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าไปด้วยกัน ซึ่งถ้าประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ขับเคลื่อนแบบสากล ซามูไรก็คงยังอยู่ แต่วันนี้ซามูไรหายไปหมดแล้ว แต่ถ้าวันนี้ประเทศญี่ปุ่นยังคงมีซามูไรอยู่ ก็คงไม่เจริญ ตำนานเขาถูกเปลี่ยน ซามูไรกลายเป็นคนตัดเนื้อ แร่ปลา ใช้ศิลปะมีดให้โดดเด่น 

ประเทศไทยเองต้องปรับเปลี่ยน เรายังมีความภาคภูมิเหมือนเดิม ใส่จิตวิญญาณเหมือนเดิม แต่ทำแบบมีคุณค่า ทุกวันนี้ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม แต่ผู้ประกอบการใช้ต้นทุนไม่เหมือนเดิม และถ้าผู้ประกอบยังใช้ต้นทุนที่มากกว่าประเทศอื่นเขาทำ เราสู้เขาไม่ได้แน่ ดังนั้นเราต้องใช้จุดแข็งที่เราอยู่ในพื้นที่ เช่น การจับด้วยโลจิสติกส์แบบสั้น แต่สั้นแบบคุณภาพ เราเคยซื้อปูทาราบะกิโลละ 3,000-7,000 แต่วันนี้เราซื้อปูม้ากิโลละ 700 อร่อยกว่า ลูกค้าชาวต่างชาติไม่ต้องกินปูทาราบะแล้ว มากินปูม้าแทน ซึ่งมันมีช่องว่างอยู่ แต่เราต้องปรับตัว ถ้าวันนี้ หอการค้า สะพานปลาแยกว่า ลูกค้ากลุ่มไหนมาซื้อ มาซื้อช่วงไหน แบ่งกันชัด รวมไปถึงคนจับปลา ที่จับแยกในทะเล แยกว่าจะจับส่วนไหนไปขายใคร ในเวลาไหน ก็จะทำได้แบบประเทศญี่ปุ่น 

ถ้าวันนี้เราบูรณาการกัน ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เราจะคุยแต่ปัญหาของแต่ละฝั่งกันแบบไม่รู้จบ ไม่มีทางออก ดังนั้นถ้าจะมีทางออก ทุกคนต้องมองไปที่ส่วนรวมก่อน เราต้องสู้ วันนี้เครดิตมันเสียแต่เรามีความซื่อสัตย์วันหนึ่งมันต้องกลับมาได้

ข้อเสนอฟื้นฟูทรัพยากร เพื่อธุรกิจประมงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

นายนิรันดร์ – ถ้าพูดถึงทรัพยากรที่สร้างมูลค่าเพิ่ม การจับระยะสั้น หรือระยะไกล ถ้าในมุมของผู้เอาไปใช้ เราไม่ได้สนใจ แต่จะมีวิธีการจัดการในเรืออย่างไร บางทีเราเลี้ยงไว้ในบ่อ 10 วัน ยังทำได้ แต่สำหรับเรืออาจจะต้องหาวิธีทำ ว่าทำอย่างไร ผมเชื่อว่าประมงไทยเราเก่งมาก มีฝีไม้รายมือ ขอแค่มีผลประโยชน์ตอบแทนคุ้มค่า ผมว่าเขาปรับทัน   

นายจุมพล – สำหรับร้านอาหาร วัตถุดิบเกรดพรีเมียร์จำเป็น แต่สำหรับโรงงานปลาอย่างอื่นเราก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องเก็บเอาไว้ ต้องมีการส่งออกไปต่างประเทศ และโรงงานก็เป็นตัวขับเคลื่อน และเป็นรายได้ของคนในประเทศ 

สิ่งที่น่ากลัว อย่างที่ไต๋บอก คือเรื่องของน้ำเสียที่ปล่อยออกมา ซึ่งถ้ามาเยอะก็ทำให้สัตว์น้ำตาย ต้องหาวิธีป้องกัน 

นายกัลปังหา – ผมมองปัญหาเรื่องน้ำเสียเป็นอันดับหนึ่ง น้ำที่ลงอ่าวตัว ก ขั้นแรกเลย กรมประมงต้องเอานักวิชาการมาสำรวจเก็บสถิติก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน รับรองโดยรัฐ จากนั้นส่งไปยังอุตสาหกรรม ตรวจบ่อโรงงาน ตามกฎหมาย 

ซึ่งเราต้องรู้และมีหลักฐานที่ชัดเจนก่อน และเราจะบริหารจัดการน้ำที่จะลงทะเลได้ ซึ่งทางออกก็จะต้องเป็นนโยบายของภาครัฐ 

อย่างที่บอกว่า ผมเห็นด้วยกับการทำประมงโดยมีการควบคุม ชาวประมงส่วนหนึ่งต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือ แต่ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะเริ่มใช้เมื่อไหร่ เพื่อให้เขาปรับตัวได้ 

และฝากถึงภาครัฐว่า เรือประมงพาณิชย์ เราควรจะเอาเข้าระบบทั้งหมด คุณไปเว้นอาชีพบางอาชีพ พอมีข้อควรหาก็มีการไปโจมตีกัน แรงงานผิดกฎหมาย แต่ทำไมรัฐไม่เอาเข้าระบบทั้งหมด ซึ่งวันนี้เรามีแรงงานไทยในระบบทั้งหมด 26,000 คน แรงงานต่างด้าว 34,000 คน ถ้าเราเอาเข้าระบบ ก็สามารถตรวจสอบได้

นายพงศ์พัทธ์ – ผมมองว่า ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมหรือว่าโรงงานมันอยู่มานาน จริง ๆ มันจะคู่กันไม่ได้ ระหว่างประมงกับโรงงาน เพราะอุตสาหกรรมจะปล่อยน้ำเสีย ประมงส่วนหนึ่งก็จะจับปลาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถ้าจะแก้จริง ๆ ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ถ้าดีก็ย้ายไปเลย จัดที่ให้เขา

ส่วนประมงผมมองคล้ายกับคุณนิรันดร์ ที่ประเทศเกาหลีทำแล้วได้ผล แต่เรือประมงเขาจะเป็นเฉพาะตัว ของใครจับแล้ว เขาจะแยกปลาออกมา ของใครดีหน่อย ก็จะมีสถานที่จัดขายให้นักท่องเที่ยวเลย จะมีเวลาในการขาย นอกจากนี้ยังมีปลาที่ราคาแพงที่เขาส่งเฮลิคอปเตอร์ไปรับเลย ซึ่งในทะเลเราไม่มีอยู่แล้ว แต่เราอาจจะทำได้ในอนาคตต่อไป 

ส่วนเมืองต้องบอกว่า โรงงานในสมุทรสาครมันเยอะมาก ในพื้นที่ไม่กี่ตารางกิโลเมตรกับโรงงานที่มันแออัด ต้องจัดระบบผังเมืองใหม่ ซึ่งมันเป็นพื้นที่ที่เหมาะ แต่ต้องหาวิธีการจัดการ เพื่อให้อยู่ด้วยกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ