วันนี้ที่มหาชัย : ดันแก้โจทย์ขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้านช่วงโควิด

วันนี้ที่มหาชัย : ดันแก้โจทย์ขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้านช่วงโควิด

ถกแก้โจทย์ขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้านช่วงโควิด แจงข้อมูลจริงภาระค่าใช้จ่ายเทที่แรงงาน เสนอรับผิดชอบร่วมนายจ้างและรัฐ ปรับลดค่าใช้จ่ายและชี้แจงแนวทางการตรวจโรคและโควิดให้ชัด กรมการจัดหางานระบุขึ้นทะเบียนคือยกเว้นโทษ และอยู่ระหว่างปรับลดค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขแต่ละหน่วยงาน ด้านสาธารณสุขเผยอยู่ระหว่างหารือใช้ผลตรวจเชิงรุกโควิดขึ้นทะเบียนและปรับค่าใช้จ่ายการตรวจหาเชื้อ ยันหากตรวจพบกันงบไว้ดูแลการรักษาฟรี นักพัฒนา แนะโอกาสจากโควิดให้หน่วยงานบูรณาการกัน และดันข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

วงแชร์ “จากโควิดสู่การจัดการสุขภาพแรงงานเพื่อนบ้าน โอกาสและอุปสรรคที่ต้องฝ่า” ซึ่งไทยพีบีเอส โดยสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ส.ส.ท. ร่วมกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564  เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสถานการณ์และหาทางออกที่สมจริงของผู้เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้านพอทำให้เห็นความคืบหน้าและทางออกของปัญหา

หลังจากที่วงครั้งแรกได้ฟังเสียงแรงงานเพื่อนบ้านพบข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ต้องการการคลี่คลายแก้ไข การจัดวงแชร์ครั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้องเป็นระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือรองอธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพมาร่วมรับฟังข้อมูลและชี้แจงข้อสงสัย ผู้ดำเนินรายการ โดยคุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย The reporters  และคุณวิภาพร วัฒนวิทย์ ThaiPBS มีการแลกเปลี่ยน

แจงปัญหาแรงงานเพื่อนบ้านเผชิญ อาจทำให้นโยบายไม่ถึงเป้า

คุณวัชระพล บูรณะเนตร ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย จ.สมุทรสาคร  กล่าวว่า มาตรการล่าสุดที่เปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้านทั่วประเทศ ที่มีอยู่ประมาณ 250,000 คน รวมถึงจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยประมาณ 12,000 คน ถือเป็นแนวทางที่ดีของรัฐที่ต้องการให้แรงงานที่ผิดกฎหมายขึ้นมาถูกกฎหมาย แต่จากการลงไปทำงานในพื้นที่เหมือนเป็นการซ้ำเติมแรงงานในสถานการณ์โควิด แม้ว่าขณะนี้จังหวัดสมุทรสาคร หรือตลาดกลางกุ้งจะไม่ล็อกดาวน์พื้นที่แล้ว ปล่อยให้นายจ้าง หรือผู้ประกอบการค้ากุ้ง สามารถเข้าไปจัดการพื้นที่เพื่อเตรียมจะเปิดการค้าขาย ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

แต่สิ่งที่เจอคือเสียงสะท้อนจากแรงงานเพื่อนบ้าน เขายังได้รับผลกระทบอยู่ เรื่องของค่าใช้จ่าย เนื่องจากแรงงานตลาดกุ้งเป็นสถานที่ทำงาน สถานประกอบการ และที่พักอาศัยของแรงงานเพื่อนบ้าน ถึงแม้พื้นที่ตลาดกุ้งจะปลดล็อก คนนอกเข้า – ออกได้เพื่อเตรียมการ แต่สถานที่ทำงานยังไม่เปิด แรงงานหยุดงานมาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 ส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้ อาจจะไม่มีความสามารถในการที่จะนำเงินมาขึ้นทะเบียนเพราะค่าใช้จ่ายที่ยังสูง และการลงทะเบียนไม่ได้เอื้อในกับกลุ่มแรงงานที่อยู่ภายในตลาดกุ้ง หรือกลุ่มที่ไม่มีนายจ้าง บริเวณรอบนอกสามารถขึ้นทะเบียนได้เอง อันนี้มันต้องผ่านกลไกของนายหน้า หรือคนที่ไปรับขึ้นทะเบียนให้กับแรงงาน

โดยเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 64 ที่จัดหางานจังหวัดไปช่วยลงทะเบียนแรงงานที่ตลาดกุ้ง มีคนมาขึ้นทะเบียนประมาณ 100 กว่าคน  แรงงานบางกลุ่มอาจจะอยู่ในช่วงตัดสินใจที่จะกลับบ้าน เพราะค่าใช้จ่ายที่รัฐกำหนดมาเป็นก้อน เช่น จ่าย 2 ปี ซึ่งเขาอาจจะตัดสินใจกลับในช่วงปีแรกก็ได้ เขาอาจจะรู้สึกเสียดายว่า ถ้าจ่ายไปแล้วเงินส่วนที่เหลือจะทำอย่างไร อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนมาขึ้นทะเบียนได้น้อย

ส่วนที่ 2 คือค่าใช้จ่ายของผู้ติดตาม เพราะไม่ได้มีเฉพาะของตัวแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย มีเด็กเป็นผู้ติดตามอยู่ด้วย กลุ่มนี้จะลำบากใจที่จะตัดสินใจว่า ถ้าเขามีเงินอยู่ก้อนเดียวเขาจะให้ใครมาขึ้นทะเบียน หรือจะยอมผิดกฎหมายทั้งครอบครัว เหล่านี้เป็นสิ่งที่แรงงานกำลังตัดสินใจ สุดท้ายแล้วทางออก หรือทางเลือกของแรงงานที่เราต้องการให้เขามาขึ้นทะเบียน  มันเป็นทางออกหรือบีบบังคับให้แรงงานต้องเลือกที่จะหลบซ่อน

คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่ามีความเหลื่อมล้ำตั้งแต่การประกาศนโยบายออกมา เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ แต่เงื่อนไขเยอะและราคาสูงเกินสำหรับคนที่ไม่มีงานทำ และหานายจ้างไม่เจอ ยกตัวอย่าง ตอนนี้ที่หน่วยงาน MWRN มีเคสอยู่ตลอด คือ ในช่วงที่โควิดซาลงช่วงแรก ก็มีปัญหาของคนงานหญิง กับลูกอีก 3 คน เลี้ยงหมูอยุ่ที่จ.ราชบุรี ไม่ได้รับเงินเดือนมา 5 เดือน และถูกทำร้ายร่างกาย และขอความช่วยเหลือมากับเรา เราก็รับมาถึงตอนนี้ยังหานายจ้างไม่ได้ จนถึงสถานการณ์โควิดรอบ 2 เราก็เริ่มลำบากใจ สอบถามแรงงานว่ามีเอกสารอะไรบ้าง จะหานายจ้างได้ไหม และถ้าหาเจอแล้วจะเอาเงินที่ไหนอีก เราเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน มีคนสนับสนุนก็จริง แต่ไม่ได้มีองค์กรไหนมีเงินเอาไว้ในเคสแรงงานต่างๆ ขึ้นทะเบียนมากพอ อันนี้คือความหนักใจขององค์กรเราเหมือนกันว่าเราจะดูแลเขาให้ถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างไรในขณะที่ค่าใช้จ่ายสูง

คุณบัณฑิต แป้นวิเศษ จากมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่าถ้าพูดถึงเชิงนโยบาย นายกรัฐมนตรีพยายามที่จะออกนโยบายที่จะทำอย่างไรไม่ให้เชื้อโควิดแพร่กระจายไปสู่คนไทย ซึ่งต้นตอรอบ 2 เหมือนจะมาจากกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน จึงเกิดตัวนโยบายการนิรโทษกรรม ตัวของลูกจ้าง นายจ้าง  แต่ปัญหาคือตัวนโยบายเชิญชวนขึ้นทะเบียนครั้งนี้ คือเรื่องค่าใช้จ่าย  ทำอย่างไรที่กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุขจะจับมือกันปรับนโยบายที่เกิดการปฎิบัติที่เป็นจริงให้ตัวนายจ้าง ตัวลูกจ้าง อยากจะมาขึ้นทะเบียน เช่น  ต้องมาดูว่าค่าใช้จ่ายจะลดได้ไหม จากตรวจโควิด 3,000 บาท จะสามารถลดลงสัก 50 % ได้ไหม หรือค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะโยงใยไปในส่วนของประกันสังคม หรือตัวของกระทรวงสาธารณสุขเองที่บอกว่าเป็นค่าตรวจสุขภาพ 2 ปี และเวลาที่ตัวแรงงานเขาขึ้นทะเบียนแรงงาน เข้ามาสู่มาตรา 33 ระหว่างเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 33 ก่อนจะถึง 90 วัน คุ้มครองแต่ยังใช้สิทธิ์ไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุข จึงมีเงื่อนไขให้ตัวแรงงานต้องซื้อระบบประกันสุขภาพด้วย คือในส่วนนี้ไม่ซื้อได้ไหม แต่ว่าสามารถที่จะใช้สิทธิ์ในการรักษาหรือว่าใช้สิทธิ์ในประกันสังคมได้เลย คือตรงนี้ต้องคุยกันแบบบูรณาการ เพราะไม่อย่างนั้นตัวแรงงานต้องเสียเงินสองต่อ”

“ผมลองคิดคำนวน เรื่องการขึ้นทะเบียน และเรื่องของการไปตรวจโควิด รวมถึงเรื่องการประกันสุขภาพสองปี, เรื่องการลงทะเบียน, การต่อใบอนุญาตทำงาน, ค่าทำบัตรสีชมพู, ค่าทำหนังสือ ต่างๆ เหล่านี้ มีนายจ้างไม่มีนายจ้างราคาก็ต่างกัน  ถ้าไม่มีนายจ้างแต่มีผู้ติดตามด้วยประมาณ 9,180 บาท ถ้ารวมกับแรงงานที่มีผู้ติดตามอายุประมาณ 0 -7 ปี ต้องเสียถึง 3,810 บาท ถ้ารวมตัวเลขสองยอดทั้งสิ้น 12,990 บาท หรือถ้ากรณีแรงงานที่มีผู้ติดตาม 1 คน อายุ 7-18 ปี ต้องเสียเพิ่มอีก 7,280 บาท อย่าลืมว่าตัวแรงงานเพื่อนบ้านไม่ได้มีผู้ติดตามคนเดียว” 

คุณบัณฑิต กล่าวต่อว่า ในเชิงนโยบายสภาอุตสาหกรรม หรือหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือหอการค้าสมุครสาครอาจจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการลดค่าใช้จ่ายกับตัวแรงงานมากกว่านี้ เพราะตัวแรงงานถูกผลักภาระค่าใช้จ่ายเต็มๆ แม้บางพื้นที่มีลักษณะนายจ้างออกเงินไปให้ก่อนแต่แรงงานก็ต้องไปผ่อนใช้ทั้งหมดทีหลัง ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้ตัวนายจ้างมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ เพราะปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากตัวนายจ้างบางกลุ่มก็นำแรงงานเพื่อนบ้านผิดกฎหมายเข้ามา

อีกส่วนคือ เรื่องนโยบายของท้องถิ่นจะชวนกระทรวงมหาดไทย ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต. ลงคุยเจรจากับเจ้าของห้องพัก ห้องเช่า หรือตัวนายจ้างเองที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่และมีหอพักให้เช่าในสถานประกอบการนั้นๆ ด้วย ให้ลดค่าใช้จ่ายกับแรงงาน ค่าเช่าบ้าน หอพัก สถานการณ์นี้มีความจำเป็นที่ต้องอาศัย ภาคส่วนท้องถิ่น ใช้การเจรจา หรือทำ MOU ได้ไหม ในระหว่างที่วิกฤตโควิดนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแรงงาน

เผยแนวทางปรับลดค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่างหารือ

คุณเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงจากการขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้านรอบนี้ที่บอกว่ามาถึงครึ่งทางแล้วในความหมายนี้ คือครึ่งทางของขั้นตอนแรกเท่านั้นเอง คือขั้นตอนของการแจ้งบัญชีรายชื่อ ซึ่งข้อมูลวันที่ 3 ก.พ.64 เวลา 15.00 น.มีนายจ้างที่ขอขึ้นบัญชีแล้ว 81,560 ราย จำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 339,400 ราย และกลุ่มที่ยื่นด้วยตนเองยังไม่มีนายจ้างจำนวน 28,300 ราย เป็นแรงงานชาวเมียนมาสูงสุดประมาณเกือบ 2 แสนราย  นอกจากนั้น ในจังหวัดต่างๆ ที่มีการอนุมัติบัญชีรายชื่อ เช่น กรุงเทพฯ ประมาณ 65,000 ราย ชลบุรี 23,000 ราย ปทุมธานี 20,000 ราย เชียงใหม่ 18,000 ราย สมุทรปราการ 17,000 ราย

โดยขั้นตอนที่พิจารณากำหนดมาตรการนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ก็มีส่วนร่วมอยู่เป็นคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวด้วย 

ตัวเลขที่ประเมินว่า การจดทะเบียนรอบนี้จะมีแรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 500,000 คน ฉะนั้นตัวเลขที่มีขณะนี้ 339,400 ราย ก็คาดว่าหลังจากวันที่ 13 ก.พ.64 ก็น่าจะถึงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย

ในส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เป็นประเด็นเดิมที่เข้าใจว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ได้นำไปพิจารณาอยู่แล้ว ค่าธรรมเนียมอนุญาตทำงานเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บมาก็เป็นกองทุนนำไปใช้ในการบริหารจัดการให้บริการกับแรงงานเพื่อนบ้าน เช่นไว้สนับสนุนการทำงานที่เกี่ยวข้องก็ใช้กับกองทุนนี้

ในประเด็นนี้นายจ้างสถานประกอบการก็พอใจและเข้าใจประเด็นนี้ดี เพียงแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นมา สองรายการ คือการตรวจคัดกรองโควิด กับซื้อประกันสุขภาพ 2 ปี เท่านั้นเอง

“ก็ต้องดูกันว่าเมื่อทุกฝ่ายได้รับทราบข้อปัญหาและจะได้มีข้อยุติกันอย่างไร คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอนนี้ก็ได้รับทราบปัญหาแล้วพยามพูดคุยกันในทุกเวที ในทุกการประชุมที่มีการหารือในเรื่องนี้ และพยายามหาทางช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ทางเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและเห็นใจ เพียงแต่ว่าขั้นตอนในการปรับแก้หรือการดำเนินการทางกฎหมายให้ค่าบริการต่างๆ น้อยลงก็อยู่ที่ข้อกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งตอนนี้ก็โฟกัสไปที่ค่าตรวจโควิด และการซื้อประกันสุขภาพ”   

ส่วนเรื่องของนายจ้างจะเข้ามาช่วยเหลือได้หรือไม่ ในกรณีถ้านายจ้างมีกำลังพอที่จะเข้ามาช่วยเหลือ สำรองค่าใช้จ่ายให้กับลูกจ้างก็ดี ก็เป็นเรื่องที่ดี เท่าที่ทราบจากจังหวัดที่ดำเนินการ ปรากฏว่าก็มีนายจ้างไม่น้อยที่เข้ามาเสียสละเรื่องนี้ให้กับแรงงานเพื่อนบ้านอยู่แต่เราไม่ได้สื่อสารออกไป

แจงวิธีการตรวจและราคา

นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ อธิบายว่า ผลการตรวจคัดกรองเชิงรุกคือผล ณ เวลานั้น อีก 2 วันต่อมา เขาอาจจะติดโรคไม่ติดโรคก็ได้ สิ่งที่เคยแนะนำไว้คือ สามารถใช้ผลได้ประมาณ 7 วัน ทีนี้อีก 7 วันต่อมา จะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่ไปติดโรคมา เพราะฉะนั้นในส่วนของการตรวจโควิด ตนกำลังทำข้อเสนอเชิงวิชาการกับกรมควบคุมโรคว่าเราจะใช้กี่วันหลังจากที่เคยตรวจคัดกรองมาแล้วผลเป็นลบ หลังจากนั้นเราสามารถใช้ผลตรวจยืนยันได้ ซึ่งกำลังปรึกษากันอยู่ว่าจะใช้กี่วันดี

ในส่วนของวิธีการตรวจที่มีค่าใช้จ่าย 3,000 บาท เดิมเรารับรองเฉพาะ RT-PCR คือการตรวจหาเชื้อในร่างกาย ด้วยวิธีการใช้สารคัดหลั่งจากโพรงจมูก เป็นราคา ณ เวลานั้น แต่ ณ วันนี้ กำลังร่างประกาศ คาดว่าจะออกเร็วๆ นี้ น่าจะใช้ราคาประมาณไม่เกิน 2,300 – 2,500 บาท ซึ่งก็จะลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไป เป็นการตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์รับรอง

ต่อเรื่องนี้คุณวัชระพล บูรณะเนตร ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย จ.สมุทรสาคร ระบุว่าอัตราค่าตรวจใหม่น่าจะไปรวมกับบัตรตรวจสุขภาพ 500 บาท  เพราะว่ามีช่วงนึงที่การตรวจเชิงรุกที่สมุทรสาครใช้การตรวจโดย Swab  เป็นการตรวจฟรีสำหรับแรงงานและคนในชุมชนด้วย

ทั้งนี้หากต้องการทำเรื่องของการขึ้นทะเบียนการป้องกันโรคตามมติรัฐมนตรี ควรจะสร้างแรงจูงใจให้คนที่ผิดกฎหมายขึ้นมาตรวจได้เยอะที่สุด โดย

1.สิทธิ์สุขภาพ กับสถานะทางกฎหมาย ควรจะแยกออกจากกันไปเลยก่อนในช่วงนี้ เนื่องจากว่าเราต้องการควบคุมโรคด้วยส่วนหนึ่ง แต่มันตามมาด้วยเรื่องของกฎหมาย เราจะรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน ควบคุมได้ง่าย อย่างไรก็ต้องพิจารณาถึงเรื่องของค่าใช้จ่าย เพราะแม้ค่าตรวจโควิดอยู่ที่ 2,300 บาท แต่แรงงานไม่ได้ทำงานด้วยส่วนหนึ่ง ถ้ารวมกับผู้ติดตามแล้วก็เกือบ 10,000 บาทอยู่ดี

2.ในส่วนการมีส่วนร่วมของนายจ้างหรือผู้ประกอบการในการดูแลแรงงานข้ามชาติด้านคุณภาพ สวัสดิการในการดูแล ควรจะต้องประกาศชัดเจนเลย ว่าใครเป็นคนจ่าย ถ้ากรณีที่นายจ้างใช้แรงงานอยู่แต่ผิดกฎหมายแล้วนำมาขึ้นทะเบียน นายจ้างน่าจะต้องรับผิดชอบคล้ายๆ MOU ค่าใช้จ่ายด้วยไหม

3.การมีส่วนร่วมของชุมชน หรือหอพัก ถ้าให้เขามีส่วนร่วมในการที่จะควบคุมโควิดด้วย  เช่น เจ้าของห้องเช่า สามารถช่วยลดภาษี หย่อนภาษีได้ เป็นไปได้ไหม

“สิ่งที่เห็นได้ชัดในส่วนสมุทรสาครเลยคือ อาสาสมัครที่อยู่ในชุมชน อย่างตลาดกุ้งจะมีกลุ่ม อสต. ที่เข้ารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือ รวมถึงกลุ่มเครือข่ายที่สมุทรสาครมี 15 กลุ่มเราจะทำอย่างไรที่จะให้กลุ่มนี้ เขามามีส่วนร่วม อันแรกคือ สื่อสารกับเพื่อนของเขา ว่ามีความสำคัญอย่างไรกับการขึ้นทะเบียน สิทธิสวัสดิการที่จะได้ นอกจากการจ่ายเงินที่เขาเสียไป สิ่งที่เขาต้องได้หรือแรงจูงใจคือออะไรบ้าง และอีกสิ่งหนึ่งคือการมีส่วนร่วมของ อสต. สร้างให้ถูกยอมรับเหมือน อสม.ไทย เป็นกลไกที่ภาครัฐหรือเอ็นจีโอ ไม่สามารถสื่อสารกับแรงงานได้ทั้งหมด รวมถึงความเชื่อใจในคนชาติเดียวกันด้วย”

แจงวิธีตรวจโควิด และโอกาสของการแบ่งจ่ายค่าตรวจสุขภาพ

นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าขอแยกเป็น 2 ส่วนคือการตรวจโควิด กับตรวจสุขภาพ  การตรวจโควิดคือภายใน 16 เมษายน 2564 ต้องยอมรับว่าภาระของกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างมากในช่วงนี้ เลยมีการประกาศให้เอกชนมาช่วยตรวจได้ ในประกันสุขภาพจะต้องประกันกับภาครัฐ ในเบื้องต้นอยู่ ซึ่งเมื่อตรวจโควิดแล้ว ได้เตรียมงบประมาณไว้ส่วนหนึ่ง ใครป่วยด้วยโควิดสามารถได้รับการรักษาได้ ส่วนการตรวจสุขภาพทั่วไป สามารถทยอยตรวจได้ถึงกลางเดือนกันยายน 2564 มีเวลาอีก 6 เดือน

สำหรับกลุ่มที่ตรวจตามโรงงานสามารถใช้ผลตรวจมายื่นลงทะเบียนได้ไหมนั้น จากการพูดคุยกับกรมควบคุมโรคไว้ ได้ข้อมูลมาประมาณ 7 วันเท่านั้น ยังตกผลึก ซึ่งเรื่องนี้ขออนุญาตรับไว้กับพิจารณากับคณะกรรมการว่าจะมีความเป็นไปได้อย่างไร และจะใช้ในช่วงระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งตามที่เสนอมาก็ น่าจะเป็นประโยชน์กับแรงงาน

ส่วนตรวจสุขภาพไม่ต้องซื้อเพิ่มได้ไหม ในส่วนนี้ตามกฎหมายประกันสังคม เขาต้องมีการส่งเงินสมบทประกันสังคมส่วนหนึ่ง แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวแต่ละปีที่ดูแลกองทุนอยู่ พบว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับที่เก็บไป ยังไม่สอดคล้องกัน บางช่วงไม่พอด้วยซ้ำ อย่างปีที่แล้วติดลบอยู่ที่ 120 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ในส่วนของค่าใช้จ่ายประกันสุขภาพ ถ้าเป็นสปสช. จะได้อยู่ประมาณ 3,000 กว่าบาท ต่อหัวประชากร เพราะเราดูแล 45 ล้านคน หรือ กองทุนไร้รัฐจะได้ประมาณ 2,400 บาท (อันนี้ไม่เข้าใจหมายถึงกองทุนประกันสุขภาพที่เขาดูแลอยู่เหรอ)

ที่นี้เราเก็บประกันสุขภาพ 1,600 บาท มาตั้งแต่ปี 58 ไม่ได้ปรับเพิ่มเลย ซึ่งตรงนี้ในส่วนที่ทางผู้บริหาร ก็เห็นด้วยว่าเป็นไปได้ที่เราจะสามารถเก็บทีละปี ไม่ว่าค่าตรวจสุขภาพ หรือประกันสุขภาพ 2 ปีเหมือนเดิม แต่แบ่งจ่ายเป็นปีละครั้ง ซึ่งเราจะลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ในเชิงเทคนิคพอจะทำได้

ต่อเรื่องนี้คุณบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง สอบถามเหตุผลที่มีการปรับการเก็บค่าประกันสุขภาพเป็น 2 ปีทั้งที่เป็นช่วงโควิด ซึ่งเมื่อก่อนเป็นแบบ 1 ปี เพราะที่จริวควรจะหาช่องทางไม่ปรับเพิ่ม แต่ลดลงซึ่งเห็นมาว่าการลดลงที่ 2,500 หรือ 2,300 บาท แต่จะครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น หรือมีเงินกองทุนอื่น ๆ รายหัวที่จะเอามาช่วยเหลือเยียวยาได้ก่อนหรือไม่ อาจจะเป็นแรงจูงใจในการไปปรับเปลี่ยนนโยบาย เพราะว่าถ้าดูจากเวลาจะเห็นว่า 15 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์  64 เป็นการขึ้นทะเบียนออนไลน์ ภายใน 16 เมษายน 64 กระทรวงสาธารณสุขต้องตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพให้ได้ แล้วพอ  16 มิถุนายน 64 กระทรวงมหาดไทยต้องทำ ทร.48/1 วิธีการคือกระทรวงแรงงานต้องยื่นคำขอทำงานผ่านระบบออนไลน์ คือ กว่าจะได้ คือ. 12 พฤศจิกายน 2564 คือ ปลายปี จึงจะได้เอกสารใบอนุญาตทำงาน ซึ่งกว่าจะได้ก็ปลายปี อันนี้เป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร ซึ่งมองว่าค่าตรวจโควิดและค่าตรวจสุขภาพประจำปี จะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ไหมอย่างน้อยก็ลดไปตั้ง 3,000 บาท ส่วนค่าเอกสารอื่น ๆ มันเป็นค่าธรรมเนียมที่ไม่มาก คิดว่าแนวทางนี้จะช่วยแรงงานได้มากกว่า 

คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ส่วนใหญ่คนที่ไม่มีเอกสารจะอยู่กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงที่สถานประกอบการ ผู้ประกอบการต้องการกำลังแรงงานอย่างมาก นายจ้างก็อาจจะบอกลูกจ้างว่า จะพาไปขึ้นทะเบียนเอง จะออกค่าใช้จ่ายให้ แต่เมื่อเขาลงทุนไปแล้ว เขาอาจจะเก็บยึดเอกสารของคนงาน ก็อาจจะทำให้คนงานนำไปสู่การค้ามนุษย์ในอนาคต อันนี้ คือข้อกังวลซึ่งที่ผ่านมาในเงื่อนไขที่จ่าย ตรวจสุขภาพ 500 บาท สูงสุดอยู่ที่ 1,900 บาท รวมเบ็ดเสร็จแล้ว หรือประมาณ 2,000 บาท  

ขึ้นทะเบียนคือยกเว้นโทษ และอยู่ระหว่างปรับลดค่าใช้จ่าย

รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าการลงทะเบียนเป็นแค่ขั้นแรก แต่อยากให้มามากที่สุด การลงทะเบียนออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ขั้นตอนที่มีปัญหาต่อไป คือการตรวจโรค ซึ่งคุณหมอก็บอกว่ามีการปรับอาจจะอยู่ที่ 2,000 – 3,000  กว่าบาท ตามเรื่องที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศ นอกนั้นเป็นเรื่องของการประกันที่อาจจะเหลือแค่ 1 ปี เพราะฉะนั้นก็อยากให้มาขึ้นทะเบียนเพื่อแสดงว่าเราได้ใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็มีการยกเว้นโทษอยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราไม่อาจละเลยได้เลย หากไม่มีการยกเว้นโดยประกาศกระทรวงแรงงานออกมา ซึ่งมีค่าปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท แต่ในส่วนนี้ก็ได้ยกเว้นโทษทั้งหมดโดยไม่เสียค่าปรับ ทางสาธารณสุขก็จะลดค่าใช้จ่าย ซึ่งตรงนี้จะดีขึ้น ณ ขณะนี้ก็มีช่องทางที่สามารถปรับลดอะไรต่าง ๆ กับนายจ้างและแรงงานได้มาก เป็นทิศทางที่ดี ช่วงนี้ก็เป็นแนวทางที่ดี

หากมีปัญหาหลังจากนั้นที่ทำให้นายจ้าง หรือ แรงงานไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งอาจมีกลุ่มที่มีความจำเป็น หรือ บางกลุ่มเป็นข้ออ้าง ซึ่งก็มี 2 ส่วน กลุ่มที่น่าเห็นใจคือ ไม่มีเงินก็ต้องติดตามต่อไป ขณะนี้แรงงานต่างด้าวที่มีเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม. วันที่ 29 ธันวาคม 63 เป็นกลุ่มที่ตกหล่น การประกาศรอบนี้ก็เพื่อให้เข้าสู่ระบบเท่านั้น

จากนั้นต้องมีการตรวจโรค มีการขออนุญาตทำงาน เราจึงมีการยืดระยะเวลาในกระบวนการที่เป็นปัญหา เช่นขณะนี้สถานการณ์โควิด การตรวจโรค การประทับตราวีซ่า รวมถึงที่หนังสือเดินทางที่จะหมดอายุลงแล้วประเทศต้นทางก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการเสนอ ครม.เมื่อวันที่ 26 มกราคม 64 เพื่อขยายระยะเวลา ในเรื่องของการตรวจร่างกาย หรือ การอยู่ในราชอาณาจักรไปอีก 6 เดือน และจะให้ประเทศต้นทางเข้ามาดำเนินการ

ในส่วนของการหานายจ้างมารับรอง ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจก็ไม่ดี แรงงานอาจหานายจ้างไม่ได้นั้น รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า ในจังหวัดใหญ่ ๆ กรณีที่แรงงานลงทะเบียนเองที่ไม่มีนายจ้าง เจ้าหน้าที่จัดหางานก็จะประสานนายจ้างที่ต้องการจ้างงานอยู่แล้ว ก็คงต้องดูอีกระยะหนึ่ง ทางรัฐเองก็อยากให้เกิดเป็นผลในทางบวก คงไม่ปล่อยปละละเลยให้ลงทะเบียนแล้วปล่อยไว้ ขณะนี้สำนักงานจัดหางานแต่ละจังหวัดก็คงมองเรื่องนี้อยู่ ความจริงแรงงานไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่เดียว  กำลังให้จัดหางานจังหวัดดูแลส่วนนี้อยู่

โอกาสของโควิดกับการจัดระบบและบูรณาการกัน

คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล กล่าวอีกว่า โควิดก็มีทั้งข้อดี และไม่ดี ถือว่าเป็นทิศทางที่ดีที่รัฐทำให้แรงงานเข้าสู่ระบบ และพยายามที่จะปราบปรามนายหน้าเถื่อน แรงงานอยากจะขึ้นมาบนดินอยู่แล้ว ดังนั้น โอกาสดีอยู่แล้ว แต่จะใช้โอกาสนี้อย่างจริงจังได้อย่างไร โดยที่ไม่เป็นโอกาสที่จะทำลาย  

คุณวัชระพล กล่าวว่า การตรวจโควิดจะนำไปสู่การป้องกันโรค และการรับวัคซีนได้อย่างไรถ้ามีเพียงพอ  เราเห็นแต่ละโรงงานเริ่มจัดการโรงงานของตัวเอง แต่ยังไม่เห็นการจัดการร่วม น่าจะใช้โอกาสนี้จัดการร่วมกัน เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่แรงงานจะเข้าไปคุยกับเวทีระดับจังหวัดเพื่อเสนอสิ่งที่จะเป็นการป้องกันโรคไปสู่แรงงาน  ระบบการเชื่อมโยงของรัฐควรจะเป็นระบบเดียวกัน จะทำอย่างไรให้ข้อมูลนี้มีความเชื่อมโยง รวมถึงการรื้อระบบนำเข้าแรงงาน  เช่น ถ้าปีนี้ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย แต่ปีหน้าผิดกฎหมาย เขาไม่อยากผิดกฎหมาย แต่อาจจะมีระบบที่ซับซ้อน  ส่วนเรื่องของการตรวจโควิด หากมีวัคซีนที่เพียงพอ น่าจะเป็นข้อหนึ่งที่ทำให้แรงงานลุกขึ้นมาแสดงตัวมากขึ้น และที่สำคัญ การแยกผู้ติดตามกับแรงงานที่ต้องขึ้นทะเบียนออกมา จะเห็นว่ากลุ่มหนึ่งมีรายได้จากการทำงาน แต่อีกกลุ่มไม่มีรายได้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะแยกเด็กออกมาจากกลุ่มที่จะลงทะเบียนแรงงาน

คุณบัณฑิต กล่าวว่าในสถานการณ์โควิด เป็นโอกาสที่ดี ทั้ง กระทรวงแรงงานที่มี กรมการจัดหางาน ประกันสังคม และมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 3 หน่วยนี้ในกระทรวงแรงงาน ซึ่งน่าจะเป็นหลักในการถือประกาศที่น่าจะช่วยกันทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ  น่าจะช่วยกันในการสมทบอะไรตรงนี้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขมองในมุมสุขภาพ แต่เราจะใช้โอกาสตรงนี้ปรับนโยบายหรือปรับกลไกที่ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายซ้ำซ้อน จะลดภาระค่าใช้จ่ายอย่างไร เราจะปรับในเรื่องของกระบวนการขึ้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานง่ายขึ้น และลดกระบวนการนายหน้าเถื่อนที่อาจจะไปแสวงหาประโยชน์ และปรับเรื่องการป้องกันการค้ามนุษย์  กระทรวงมหาดไทยด้วยนะ ที่ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่บูรณาการเอาภาคสังคม พัฒนาเอกชน เข้ามาบูรณาการร่วมกันสำคัญมาก จะทำอย่างไรให้ข้อเสนอ หรือประเด็นวันนี้ เข้าไปสู่คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และนำไปสู่การเสนอเป็นมติ ครม. ซึ่งเวทีนี้มีข้อเสนอมากมายเลยจะหยิบไปใช้อย่างไร  

คุณเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าวิกฤตโควิดเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาส การจัดการด้านสาธารณสุขมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะได้เป็นมาตรฐานต่อไป นอกจากนั้นก็จะเป็นการตรวจสอบการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพื่อปราบปราม แล้วจะทำอย่างไรให้ระบบรวดเร็ว ช่วงนี้ก็เป็นการใช้ระบบออนไลน์ ซึ่งถ้าเราไม่ใช้ก็จะแออัดยุ่งเหยิงในการทำงาน ขณะนี้นายจ้างไม่ต้องมาพบเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้ก็เป็นผลดีมากกว่าผลลบ การใช้ระบบออนไลน์ยังป้องกันการดำเนินการที่โปร่งใสร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะนายจ้างต้องไปจ่ายที่ธนาคารกรุงไทยที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส อีกส่วนเรื่องการที่จะมีผู้แทนแรงงานเข้าไปในเวทีต่าง ๆ สมุทรสาครก็มีอาสาสาธารณสุขที่มีอาสาเข้ามาทำงานการออกไปตรวจในเชิงรุก ตรงนี้ก็เป็นเครดิตของทางสมุทรสาครด้วย

นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ กล่าวว่าเรื่องสำคัญที่สุด คือเตรียมมาตรการรองรับ คือคนที่ไม่มีสิทธิ์สามารถรักษาโควิดได้เลย อาจจะไปประชาสัมพันธ์ได้เลยว่าใครที่มาขึ้นทะเบียน ภายใน 16 เมษายน 64 สามารถรักษาโควิดได้เลย สาธารณสุขได้กันงบประมาณส่วนนี้ไว้ ส่วนที่เป็นข้อดีของสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความมั่นคงในเรื่องสุขภาพมากขึ้น เกิดนวัตกรรมเรื่องดูแลสุขภาพ เช่น อสต. จะต่อยอดในการดูแลสุขภาพคนต่างด้าวในระยาวได้เพิ่มขึ้นอย่างถาวร และเรื่องของความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ ในส่วนอีก 500 บาท ที่เก็บไปจะมีส่วนของการตรวจโรคติดต่ออันตราย เช่น วัณโรคระยะอันตราย ซิฟิลิสระยะที่ 3 ซึ่งในประเทศเราค่อนข้างน้อยแล้ว โรคเท้าช้าง ซึ่งเราไม่อยากให้มันเกิดในประเทศ การที่มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 63 ทำให้กลุ่มแรงงานสามารถเข้ามาตรวจและจัดการได้ง่ายขึ้น  ในขณะเดียวกันมีโรคพิษสุราเรื้อรังและเรื่องยาเสพในการตรวจสุขภาพทั่วไปจะให้แล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนกันยายน คือ ก็ต้องเร่งตรวจให้เร็วที่สุด รัฐก็ต้องขอความร่วมมือจากเอกชนเข้ามาช่วยตรวจ ไม่ใช่เฉพาะแรงงานเพื่อนบ้านเท่านั้น  แต่หมายถึงการดูแลสุขภาพของไทยได้ดี แต่ถ้าเราดูแลกันได้ดี มันจะทำให้โครงสร้างสังคมเราแข็งแรงขึ้นในเรื่องสุขภาพด้วย

รับชมเสวนาย้อนหลัง : https://www.facebook.com/citizenthaipbs/videos/1208740066211148

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ