ปิดเทอมใหญ่ที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนหลายคนเข้าบวชสามเณรภาคฤดูร้อน บางคนเดินทางไปหา พ่อ-แม่ ที่ต่างจังหวัด แต่น้องนักเรียนชั้นประถมและมัธยมตอนต้น 30 คน ผู้อำนวยการและคณะคุณครูโรงเรียนบ้านดงสาร พร้อมด้วยผู้ปกครอง เข้าค่ายห้องเรียนสัมมาชีพเพาะเห็ดแก้จน 3 วัน 2 คืน ตามสัญญาใจ
ก่อนจะเพาะเห็ดเราทำนาปรัง
เรื่องมีอยู่ว่าชาวบ้านดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร นำโดย “พ่อเด่น” พี่เลี้ยงในปฏิบัติการแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ ด้วยแนวคิดโมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว เห็นกระบวนการงานวิจัย จาก ม.ราชภัฏสกลนคร ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อกลุ่มเป้าหมายในชุมชนได้หลายด้าน
- ด้านพัฒนาคน ชาวบ้านตระหนักใช้ประโยชน์เทคโนโลยีคัดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ก่อนลงทำนา
- ด้านสังคม ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนาปรังมูลค่าสูง มีเงินกองทุนหมุนเวียน 55,000 บาท
- ด้านสิ่งแวดล้อม มีแผนจัดการทรัพยากรเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” โดย Local Alike
- แต่ยังขาด ด้านเด็กและเยาวชน อยากมีผู้สืบทอดปณิธานบ้านดงสาร
“แรงงานในปัจจุบันแต่ละคนแก่แล้ว ไม่รู้จะสานต่อสิ่งที่ช่วยกันพัฒนาได้นานอีกกี่ปี อยากให้กิจกรรมเชื่อมกับเด็กนักเรียนให้เข้ามามีส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ประวัติสาสตร์บ้านดงสาร (ทุ่งพันขัน) ปลูกฝังการสำนึกรักษ์บ้านเกิด” พ่อเด่น กล่าวอย่างเสียดาย นี่เป็นความฝันของชาวบ้านรุ่นบุกเบิก
ในหนังสือเศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economics) รางวัลโนเบล มีบทความโดนใจผมตอนหนึ่งว่า “การมีหวังและความช่วยเหลือคนจนแบบเจาะจง เช่น ให้ข้อมูลหรือสร้างแรงจูงใจ บางครั้งอาจส่งผลกระทบสำคัญอย่างเหลือเชื่อ ในทางกลับกัน ความคาดหวังผิด ๆ การไร้ซึ่งศรัทธายามจำเป็น และอุปสรรคที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยอาจนำมาซึ่งหายนะได้ แรงผลักดันในทิศทางที่ถูกต้องสามารถสร้างความแตกต่างครั้งใหญ่ แต่โดยมากแล้วยากที่จะรู้ว่าทิศทางที่ถูกต้องคืออะไร สิ่งที่พึงตระหนักที่สุดคือปัญหาทุกอย่างไม่อาจแก้ไขได้ด้วยทางออกแบบเดียวกัน“
สัญญาใจคืนนั้นสร้างความหวังเกิดการเปลี่ยนแปลง
ทีมนักวิจัยนำมาเป็นกลยุทธ์สร้างแรงจูงใจในปฏิบัติการโมเดลแก้จน หรือเราเรียกกันว่าสัญญาใจ ส่งผลให้ชาวบ้านมีแรงบันดาลใจรวมพลังสามัคคีกัน ร่วมขับเคลื่อนงานเพื่อไปสู่เป้าหมาย ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 นักวิจัยนำนักศึกษาวิศวกรสังคมเป็นจิตอาสาดำนากล้า 2 วัน ในยามค่ำคืนหลังจากทานข้าวเย็น เวลา 20:00 น. ได้พูดคุยกับทีมผู้นำชุมชนและพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตกับบทบาทนักวิจัยที่ได้ไปค้างแรมในพื้นที่
บรรยากาศเป็นการรับฟังความเห็น และเปิดใจบอกวงเงินดำเนินการพร้อมกับ KPI ที่ชาวบ้านต้องร่วมกันทำให้เกิดผลลัพธ์ เราพูดคุยวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนงาน พร้อมกับเลือกกลยุทธ์ต่าง ๆ กระทั่งถึงเวลา 23:30 น. จึงได้กระบวนการวิธีการทำงานใน ปี 2566 และแบบแผนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แต่มีคำถามสำคัญว่าสมาชิกจะตระหนักและพร้อมเดินไปด้วยกันอย่างไร จึงตั้งเป้าหมายเป็นรางวัลของความสำเร็จเมื่อผ่านการประเมิน ดังนี้
- ระดมทุนตั้งกองทุนบุญกองข้าว(นาปรัง) ได้ดำเนินการไปแล้ว
- การเพาะเห็ด และการแปรรูปสบู่สมุนไพร จะดำเนินการร่วมกับโรงเรียนบ้านดงสาร
รูปธรรมเชิงประจักษ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เกิดจากการได้รับทุนต่อเนื่องขอขอบคุณ หน่วย บพท. ที่เข้าใจทีมปฏิบัติการในภาคสนาม ทำให้คณะนักวิจัยออกแบบพัฒนาโมเดล และวางแผนกิจกรรมอาชีพให้สอดคล้องกันกับบริบทพื้นที่มากที่สุด ได้แก่ ข้าว เห็ด และสมุนไพร โดยบูรณาการทำงานร่วมกับที่ทำการอำเภออากาศอำนวย เพื่อขับเคลื่อนงานแก้จนระดับอำเภอมิติด้านเศรษฐกิจ และการมองอนาคตแก้จนคนอากาศอำนวย
เราจะทำตามสัญญา เพาะเห็ดเพาะเมล็ดพันธุ์ดงสาร
โจทย์มีอยู่ว่าเราจะบูรณาการความคาดหวังกันอย่างไร ด้านชาวบ้านอยากให้เด็กนักเรียนมีทักษะอาชีพโดยปฏิบัติการจริง ด้านโรงเรียนอยากสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้สัมมาชีพ โครงงานอาชีพที่มีชีวิต ด้านนักวิจัยอยากขยายผลแนวคิดโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ ระบบพี่เลี้ยง และการจัดสวัสดิการการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ CIL. คือนักวิจัยและนักศึกษาร่วมเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาท้องถิ่น
จึงเกิดค่ายเพาะเห็ดเพาะเมล็ดพันธุ์ดงสารขึ้น ซึ่งได้ความอนุเคราะห์จาก โค้งคำนับฟาร์ม ดอกผลงานวิจัย เมื่อปี 2565 ขนวัสดุอุปกรณ์การอัดบรรจุก้อนเห็ดมาโรงเรียนบ้านดงสาร เสมือนว่าย้ายฟาร์มมาเพื่อถ่ายถอดองค์ความรู้และปฏิบัติการจริง มีเป้าหมายบรรจุก้อนจบที่ 4,000 ก้อน นับว่าเป็นมิติใหม่ของงานวิจัยในการใช้เทคโนโลยีร่วมกัน (Co- Share Technology) กล่าวคือ สร้างแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ กลุ่มที่ผ่านการประเมินจึงขยายฐานการผลิตติดตั้งเทคโนโลยี (Technology Approach) เป็นการสร้างโอกาสทางสังคม “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”
ก่อนดำเนินงาน ต้องยอมรับทีมนักวิจัยกังวลว่าจะขาดแรงงาน เนื่องจากการบรรจุก้อนเห็ดใช้เวลาทั้งวันเกรงว่าเด็กจะเบื่อเอาซะก่อน แต่พอถึงวันจริง ๆ ทั้งผู้ปกครองและคณะครูมีความคิดเดียวกับนักวิจัยจึงระดมแรงงานมาช่วยกัน มีขั้นตอนการผลิต คือ การผสมสูตร การบรรจุก้อน การนึ่งฆ่าเชื้อ และการหยอดเชื้อ ผลปรากฏว่าเป็นเรื่องสนุกของเด็ก ๆ ไปเลย โดยเฉพาะการกรอกขี้เลื่อยใส่ถุงคงคิดว่ากำลังเล่นทราย ซึ่ง ประธานต่อ ได้ถ่ายทอดทักษะและแบ่งหน้าที่การทำงานได้อย่างมืออาชีพ
เมล็ดพันธุ์ดงสารกับความหวังในคืนที่สว่าง
เราเริ่มการนึ่งฆ่าเชื้อเห็ด เวลา 20:00 น. ปิดเตาหยุดที่เวลา 01:00 น. หรือประมาณ 5 ชั่วโมง ในค่ำคืนนี้มีน้องนักเรียนที่ผ่านกระบวนการเพิ่มทักษะเพาะเห็ด มีความสนิทคุ้นเคยกันจึงอาสามาเฝ้าเป็นเพื่อน ในระหว่างรอจึงชวนถอดบทเรียนดีกว่ากดโทรศัพท์เล่นและใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ สิ่งที่พวกเขาคาดหวังและสิ่งที่เขาได้มี ดังนี้
- ความคาดหวังก่อน เข้าใจกิจกรรมคงเป็นรูปแบบการทดลองคงไม่ได้ปฏิบัติจริง, คิดว่านั่งอบรมแล้วมีก้อนเห็ดมามอบให้, ผู้ปกครองให้มาเพราะว่าคิดว่าจะได้ก้อนเห็ดกลับบ้าน
- ระหว่างดำเนินการ รู้สึกว่าคึกคักได้ปฏิบัติการจริง เป็นการเรียนรู้นอกห้องที่สนุกและจำขั้นตอนต่าง ๆ ได้ เช่น สูตรอาหารเห็ดมีอะไรบ้าง การแบ่งหน้าที่กันคนผสมอาหาร คนบรรจุก้อน, ได้ความรู้การเพาะเห็ดสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดได้
- หลังดำเนินการ อยากนำก้อนเห็ดไปเพาะที่บ้านแม่เคยซื้อมาเปิดดอกขาย, สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้นำมาใช้ในอนาคต ถ้ามีเครื่องมือและวัตถุดิบเหมือนกับกิจกรรมครั้งนี้
การอัดและบรรจุก้อนเห็ดครั้งนี้เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แบบ แม้จะเจอกับอุปสรรคคือพายุฤดูร้อนเข้าในวันที่สองของงาน ส่งผลให้ไฟฟ้าดับ ระบบน้ำไม่ไหล เตาอบเห็ดน้ำขังรักษาอุณหภูมิไม่คงที่ ทีมงานนักวิจัยและโค้งคำนับฟาร์มสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ ในระหว่างนี้คือการบ่มให้เชื้อเห็ดเดินเต็มก้อน โดยใช้เวลาประมาณ 30 – 45 วัน ตามปฏิทินคงได้กินและจำหน่ายช่วงเปิดเทอมในเดือนมิถุนายนนี้
พอได้นั่งบรรจุก้อนเห็ดนาน ๆ ขี้เลื่อยไม้ยางพาราทำให้คันตามผิวหนังเหมือนกันนะ แต่สำหรับลูกเกษตรกรแล้วอาการคันแค่นี้คงไม่เท่ากับการทำนา จึงเป็นเหตุให้ผู้เข้าค่ายเรียกร้องอยากอยากเพิ่มทักษะทำสบู่สมุนไพร เนื่องจากสนใจกลุ่มสบู่สมุนไพรชุมชนบ้านคำแหว อ.สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย จึงขนอุปกรณ์เนรมิตห้องเรียนแปรรูปสบู่เพียงข้ามคืน ขั้นตอนการทำง่าย ๆ ใช้วัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน
นวัตกรชุมชนสู่นวัตกรรมสังคม
สิ่งที่พ่อเด่น ยิ้มแล้วยิ้มอีก ขอบคุณแล้วขอบคุณอีก คิดไม่ถึงว่าทีม ม.ราชภัฏสกลนคร จะเข้ามาพัฒนาทำให้ภาพอนาคตที่อยากเห็นเกิดขึ้นในวันนี้ มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ติดตามและให้คำปรึกษากับทีมนักวิจัยมาโดยตลอด กล่าวว่า การสร้างเยาวชนที่ดงสารทำให้นึกถึงคำว่า “ชุมชนนวัตกร สังคมนวัตกรรม” ความหมาย คือ เมื่อไรที่เราสร้างให้คนในชุมชนเป็น นวัตกร ดั่งเช่นพ่อเด่น ถือว่ามีความเป็นนักคิดสร้างสรรค์ มียุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน ถ้ามีนวัตกรในชุมชนมาก ๆ สังคมนั้นก็จะมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง
สวัสดิการการเรียนรู้ที่งานวิจัยมอบให้จึงมีความสำคัญมาก คนเราเมื่อได้รับโอกาส ความหวังและจิตวิญญาณต่อการดำรงชีพจึงเกิดขึ้น การปฏิบัติการจริงได้รับประสบการณ์ตรง ทำให้เขาเข้าใจจึงอินกับการเพาะเห็ด มากกว่าการได้รับแจกก้อน เหมือนมีอารมณ์ร่วม
นี่คือเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต เป็นค่ำคืนที่สว่าง ดวงดาวแห่งความหวังได้จุดประกายส่องแสงขึ้น มีคำถามว่า ? เราจะต่อยอดหรือปล่อยไป ? แล้วมองดูพวกเขาหมดแสงลง สำหรับทีมนักวิจัยเมื่อเจอ “เพรชน้ำเอก” คงไม่ปล่อยให้หลุดมือหรือทำเฉยเหมือนกับลิงได้แหวนแน่
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ