“เกษตรมูลค่าสูง” กับโมเดลแก้จนชาวสกลนคร

“เกษตรมูลค่าสูง” กับโมเดลแก้จนชาวสกลนคร

การทำเกษตรมูลค่าสูงกับครัวเรือนยากจน ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการเพิ่มมูลค่า ด้านราคาที่สูงขึ้นเท่านั้น ยังหมายความรวมถึง การเกษตรที่ก่อให้เกิดผลในเชิงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นการผลิตที่ต้นทุนต่ำ และไม่จำเป็นต้องผูกขาดกับนายทุน

อ.สายฝน ปุนหาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง
อ.สายฝน ปุนหาวงศ์

โมเดลแก้จน “เกษตรมูลค่าสูง” เป็นโครงการปฏิบัติการแก้จนระดับพื้นที่ ช่วยเหลือคนจนหรือครัวเรือนยากจน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร โดยทีมนักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร

เป้าหมายสร้างอาชีพ มีผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโมเดล ทั้งด้านเศรษฐกิจ รายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม ในระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูง

อ.สายฝน ปุนหาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย และทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 – 2566 (สิ้นสุด31มี.ค.2567) ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ขับเคลื่อนงานในโครงการ “การพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” ร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ และบูรณาการกับนโยบาย “อำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุข” อำเภออากาศอำนวย ตามโครงการ “การพัฒนาความเป็นอยู่ สู่ความสุขอย่างยั่งยืน ด้วยวิถีพอเพียง”

มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นำนักศึกษา “วิศวกรสังคม” ร่วมพัฒนาโจทย์การวิจัยแก้จนแบบมีส่วนร่วม และปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูงในพื้นที่ จำนวน 3 โมเดล ประกอบด้วย โมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ (สร้างธุรกิจชุมชนเป็นอาชีพระยะสั้น) โมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว (แก้ปัญหาอาชีพทำนาในระยะยาว) โมเดลสมุนไพรทุนวัฒนธรรมไทบรู (สร้างโอกาสในการพัฒนาอาชีพจากสมุนไพร)

ออกแบบโมเดลให้สอดคล้องกับความต้องการคนจนและบริบทพื้นที่ (คน งาน เงิน) มีกลุ่มเป้าหมายครัวเรือนยากจนได้รับผลประโยชน์จำนวน 385 ครัวเรือน รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตจำนวน 11 ชิ้นงาน

วิศวกรสังคม ม.ราชภัฏสกลนคร ร่วมปฏิบัติการแก้จน

นิยามความหมาย “เกษตรมูลค่าสูง” 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทีมนักวิจัยจาก บพท. จัดเวทีวิชาการสังเคราะห์บทเรียนสู่การสร้างองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนการเกษตรสร้างมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน สรุปการนิยามความหมาย “เกษตรมูลค่าสูง” ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ 

เกษตรมูลค่าสูง เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเดิมมักจะขายในรูปแบบวัตถุดิบทำให้ได้รับราคาที่ต่ำ เป็นการนำผลิตผลทางการเกษตรมาแปรสภาพจากลักษณะเดิม ด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน โดยอาจเกิดจากการแปรสภาพตามธรรมชาติให้ต่างจากเดิมเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค มีทั้งสินค้าเกษตรด้านที่ไม่ใช่อาหารและด้านอาหาร หรืออีกนัยยะหนึ่ง เป็นการทำให้สินค้าจากภาคการเกษตรมีราคาที่สูงหรือ “ทำน้อย ได้ราคาที่มากขึ้น” นั่นเอง 

เกษตรมูลค่าสูง มีแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตร มุ่งเน้นในการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ เพื่อการเพิ่มมูลค่าผลผลิตต่อหน่วย ผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ระดับกลางน้ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรม ที่มีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมการผลิตนั้น ๆ ส่วนในระดับปลายน้ำ มีการใช้แนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ ในการแปรรูปที่หลากหลายและการสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น รวมทั้งการหาตลาดหลายระดับเพื่อให้เข้าถึง ผู้บริโภคได้อย่างหลากหลายและครอบคลุม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเกษตรกรในที่สุด

(ที่มา : https://p2pnews-snru.blogspot.com/2023/04/om2.html สืบค้นวันที่ 3 มี.ค.2567)

ภาพจาก FB ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

การพัฒนาโมเดลแก้จนตามบริบทพื้นที่

ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและประชากรอำเภออากาศอำนวย แผนพัฒนาอำเภออากาศอำนวย (ปี 2566) มีรายงานจำนวนประชากรทั้งหมด 72,033 คน สนง.สถิติจังหวัดสกลนคร สรุปข้อมูลอำเภออากาศอำนวยผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ปี 2566) มีจำนวน 18,856 คน ในระบบข้อมูล TPMAP (ปี 2566) มีคนจนเป้าหมายจำนวน 24 คน ข้อมูล จปฐ. (ปี 2565) ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 63,650 บาท/คน/ปี หรือ 5,304 บาท/คน/เดือน คิดเป็นวันละ 176 บาทต่อคน

ข้อมูลฐานทุนการดำรงชีพครัวเรือนยากจน ตามแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (SLF) 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนการเงิน ทุนธรรมชาติ และทุนสังคม จากระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ อำเภออากาศอำนวย (กำลังอยู่ระหว่างสอบทานในพื้นที่ พ.ย.2566) มีข้อมูลในเบื้องต้น จำนวน 347 ครัวเรือน มีสมาชิกอาศัยอยู่ 1,222 คน แบ่งตามช่วงอายุ วัยเด็ก ร้อยละ 12.90 วัยแรงงาน ร้อยละ 64.52 วัยสูงอายุ ร้อยละ 22.58 ข้อมูลการทำงาน มีคนไม่ได้ทำงาน ร้อยละ 37.52 คนว่างงาน ร้อยละ 11 คนมีงานทำ ร้อยละ 51.48 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 64.59 รับจ้างรายวันนอกภาคการเกษตร ร้อยละ 15.69 ลูกจ้างโรงงาน/บริษัท ต่างจังหวัด ร้อยละ 11.68 และมีอาชีพอื่น ๆ ร้อยละ 6.58

เรามีวัฒนธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกกิจกรรมอาชีพผู้คนมีฝีมือมีทักษะ ทั้งด้านเกษตรกรรมและหัตถกรรม แต่มีจุดด้อยตรงที่เราขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยความรู้ความร่วมมือกับ ม.ราชภัฏสกลนคร ที่ช่วยต่อยอดหนุนเสริมการผลิต การแปรรูปและช่องทางจำหน่าย ถ้าบริหารจัดการได้เองทั้งระบบ เกษตรกรเราจะลืมตาอ้าปากได้อย่างสง่างาม

นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย ในงาน Poverty Foresight 18ม.ค.67
นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย

ข้อมูลเศรษฐกิจและความหนาแน่นปัญหา ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ อำเภออากาศอำนวย สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจัดกลุ่มครัวเรือนตามเส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) เพื่อดูความหนาแน่นของปัญหา พบว่า ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 3,094.20 บาท/คน/เดือน หรือวันละ 103 บาท ครัวเรือนมีหนี้สินคงค้าง ร้อยละ 51.76 จำแนกครัวเรือนตามเส้นแบ่งความยากจน 4 ระดับ ประกอบด้วย 

  • ระดับ 1 กลุ่มมีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจน (<2,762 บาท/คน/เดือน) มีสัดส่วนครัวเรือนหนาแน่น ร้อยละ 60.49 
  • ระดับ 2 กลุ่มมีรายได้มากกว่าเส้นความยากจนน้อยกว่า 40% ที่จนที่สุด (2,763 – 5,346 บาท/คน/เดือน) มีสัดส่วนครัวเรือนหนาแน่น ร้อยละ 23.71 
  • ระดับ 3 กลุ่มมีรายได้มากกว่า 40 % ที่จนที่สุดน้อยกว่าเส้นมัธยฐาน (5,347 – 6,531 บาท/คน/เดือน) มีสัดส่วนครัวเรือนหนาแน่น ร้อยละ 3.95 
  • ระดับ 4 กลุ่มที่มีรายได้มากกว่าเส้นมัธยฐาน (>=6,532 บาท/คน/เดือน) มีสัดส่วนครัวเรือนหนาแน่น ร้อยละ 11.25 

ข้อมูลด้านศักยภาพแรงงาน บพท. นิยาม “คนจน” คือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 2,802 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 33,624 บาทต่อคนต่อปี ตามกระทรวงการคลัง (ปี2565) นอกจากนี้ยังได้นิยามรวมถึง “ชีวิตความเป็นอยู่ที่ขาดแคลน” ทุนพื้นฐานในการดำรงชีพ ที่ส่งผลให้ครัวเรือนมีโอกาสในการสร้างทางเลือก หรือกลยุทธ์ในการดำรงชีวิตอย่างจำกัด โดยแบ่งคุณลักษณะออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ อยู่ลำบาก อยู่ยาก อยู่พอได้ และอยู่ดี จากนั้นทีมปฏิบัติการโมเดลได้วิเคราะห์ศักยภาพแรงงานตามลักษณะครัวเรือน 4 กลุ่ม

ภาพวิเคราะห์ทุนดำรงชีพครัวเรือนเพื่อพัฒนาโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง (ธ.ค.2566)

สถานการณ์การมีอาชีพการมีงานทำ จากเสียงสะท้อนในพื้นที่ปฏิบัติการอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ชาวบ้านประกอบอาชีพ ทำนาข้าว มันสำปะหลัง สวนยางพารา ส่วนใหญ่เป็นการเกษตรในระยะยาว ใช้แรงงานหนัก ลงทุนสูง ได้กำไรน้อยหรือเสี่ยงขาดทุน กิจกรรมการผลิตจึงเน้นเพื่อบริโภคสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน

ช่วงที่ไม่ได้ทำงานในอาชีพหลัก มีวิธีหาเงินจากการรับจ้างรายวันหมุนเวียนไปแต่ละเดือน อาจมองว่ามีงานทำตลอด แต่รายได้มีมูลค่าลดลง เพราะค่าครองชีพแพงต้องจ่ายมากขึ้น เงินออมที่มีอยู่คือกองทุนฌาปนกิจและการสัตว์เลี้ยง (วัว-ควาย) มีความเสี่ยงสูงเมื่อสัตว์เลี้ยงตาย

ไม่มีเงินเก็บให้ใช้ในยามหมดแรงทำงานหรือในตอนฉุกเฉิน เงินหมุนเวียนมีอย่างน้อยนิด จึงไม่กล้าเสี่ยงลงทุนทำอาชีพเพิ่ม แต่เมื่อมีโอกาสสนใจเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ส่วนมากจะกู้เงินนอกระบบจากเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้การไม่มีงานในพื้นที่ทำให้ออกไปรับจ้างต่างถิ่น เป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดปัญหาครัวเรือนในอนาคต เช่น ถ้าสามีหรือภรรยาไปคนเดียวอาจเกิดปัญหาหย่าร้าง  หรือถ้าไปทั้งคู่นำลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูอาจเกิดสภาวะครัวเรือนแหว่งกลาง เป็นปัจจัยเกิดปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ตามมา

คนจนมีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่สำคัญคือการขาดแคลนเงินหมุนเวียนประจำวัน จำเป็นต้องทำอาชีพที่สร้างรายได้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาให้ชุมชนเป็นผู้ประกอบการแล้วนำคนเข้าสู่ระบบผลิต เป็นแนวทางหนึ่งที่ในการส่งเสริมอาชีพเพื่อแก้ปัญหาความยากจน สำหรับกลุ่มที่จะเป็นผู้ประกอบการในแต่ละชุมชน เช่น กลุ่มบทบาทสตรี คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มอาชีพที่สนใจ

คุณเบญจภรณ์ อ่อนสุระทุม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สนง.เกษตรอำเภออากาศอำนวย (29ก.ย.66)
คุณเบญจภรณ์ อ่อนสุระทุม

จากข้อมูลครัวเรือนยากจนและการแบ่งกลุ่มคนจนตามเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นข้อมูลชี้เป้าหมายเพื่อจัดสรรโครงการช่วยเหลือกลุ่มที่ขัดสนก่อนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับที่ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าในด้านสงเคราะห์ควรแก้ไขปัญหาครัวเรือนขัดสน แต่ด้านพัฒนาอาชีพหรือโครงการยกระดับเศรษฐกิจ ชาวบ้านกลับมองว่าคนจนถูกจำแนกว่าไม่มีศักยภาพ ส่วนใหญ่แล้วจะได้รับสนับสนุนอาชีพเพื่อการลดค่าใช้จ่าย

ตามวิถีชุมชน ยังเป็นแบบเครือญาติวงศ์ตระกูล มีการช่วยเหลือดูแลเกื้อกูลกัน จึงบ่งชี้ถึงทุนสังคมว่ามีความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยกัน กล่าวคือ การปฏิบัติการโมเดลแก้จน เห็นควรส่งเสริมช่วยเหลืออาชีพอย่างถ้วนทั่ว ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนไม่แตกต่างกันมาก เพราะเครือญาติมีผลต่อกระเป๋าเงินครัวเรือนยากจน

อีกทั้งจะทำให้ครัวเรือนเครือญาติ ไม่รู้สึกว่ารัฐสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพด้วย ไม่มีการบ่นกล่าวโทษโครงการด้านยกระดับอาชีพเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไปพร้อมด้วย ปฏิบัติการโมเดลครั้งนี้ ได้แก้ไขโครงสร้างการช่วยเหลือด้านส่งเสริมอาชีพ ให้ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง

เกษตรมูลค่าสูงกับโมเดลแก้จน

นักวิจัยได้นิยามศัพท์ปฏิบัติการคำว่า เกษตรมูลค่าสูง คือ ระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย มีมาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด มีคุณค่าทางโภชนาการ ตั้งแต่กระบวนการต้นทาง กลางทาง ปลายทาง (การผลิต แปรรูป การตลาด) โดยมิได้เพียงมุ่งเน้นมูลค่าในด้านราคาที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่เกษตรมูลค่าสูง ยังหมายความรวมถึง การเกษตรที่ก่อให้เกิดผลในเชิงคุณค่าไม่ว่าจะเป็นการผลิตที่ต้นทุนต่ำและไม่จำเป็นต้องผูกขาด การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม (Profit Sharing) ให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงสุขภาพของเกษตรกรในการผลิตด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจ สุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เศรษฐกิจ BCG) ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยกันเพื่อให้เกิดความสมดุล และนำไปสู่เป้าหมาย ดังนี้  

  1. เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม 
  2. เพื่อมุ่งให้เกิดความกินดีอยู่ดี คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขด้วยวิถีชีวิตวัฒนธรรม 
  3. เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร 
  4. เพื่อสร้างความั่นคงทางรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิต 
  5. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการกระจายรายได้ด้วยการผู้มีรายได้น้อยเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าการผลิต

ปฏิบัติการโมเดลเกษตรมูลค่าสูง พัฒนาอาชีพสอดคล้องกับการดำรงชีพและสร้างรายได้ในครัวเรือน 3 ระยะ คือ ระยะสั้นอาชีพเพาะเห็ด ระยะกลางอาชีพด้านสมุนไพร ระยะยาวอาชีพทำนา

การทำเรื่องแก้จนไม่ใช่การมาทำแค่โครงการให้มีรายได้อย่างเดียว สิ่งที่กำลังทำกลุ่มเห็ดเกิดจากแรงบันดาลใจอยากช่วยให้ชุมชนมีรายได้ กลุ่มนาปรังมีอัตลักษณ์ชุมชนดงสารมีเสน่ห์และโรแมนติก ควรจะได้รับการเปิดเผยผลงานวิชาการในวงกว้าง

ดร.แมน ปุโรทกานนท์ หัวหน้านักวิจัยทีมกลาง บพท. (13ต.ค.66)
ดร.แมน ปุโรทกานนท์

โมเดล “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” 

คือการพัฒนาและยกระดับชุมชนเป็นอุตสาหกรรมการผลิต (Local Business) ส่งเสริมกลุ่มผลิตเห็ดโดยชุมชนเป็นเจ้าของกิจการ สร้างกลไกความร่วมมือบนระบบนิเวศน์ห่วงโซ่อุปทานเห็ดให้มีเสถียรภาพ เชื่อมโยงกับครัวเรือนเป้าหมาย ชุมชน กลุ่ม/กิจการ และผู้ประกอบการ บริหารจัดการกลุ่มด้วยตัวแบบงานบุญประเพณีวัฒนธรรมในชุมชน มีผู้นำกลุ่มที่เข้มแข็งเป็นนักปราชญ์บริหารงานเป็นที่ยอมรับ

โดยมีวิสาหกิจชุมชน “เป็นพี่เลี้ยง” หรือ Node ถ่ายทอดองค์ความรู้ทักษะการเพาะเห็ด พร้อมทั้งใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต ส่งมอบคุณค่าก้อนเชื้อเห็ดไป “เปิดดอกเห็ด” ยังกลุ่มชุมชน และติดตามดูแล

พัฒนาและยกระดับห่วงโซ่การผลิตเห็ด “ผู้เปิดดอก” โดยรวมกลุ่มหมู่บ้านละ 30 ครัวเรือน เป็นอย่างน้อย เข้าร่วมเป็นแรงงานในกิจการกลุ่มชุมชน สร้างเศรษฐกิจชุมชนและสวัสดิการชุมชนเกื้อกูลคนฐานราก เพื่อบรรเทาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ สู่การยกระดับฐานะทุนเศรษฐกิจและเข้าถึงโอกาสทางสังคม

จำนวนผู้ได้รับประโยชน์ 280 ครัวเรือน (ข้อมูล ธ.ค.2566) พื้นที่ดำเนินการ ตำบลโพนงาม ตำบลโพนแพง ตำบลบะหว้า อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

วิสาหกิจชุมชนฯ มีสมาชิกที่ชำนาญในการผลิตเห็ด ผมเห็นว่าเป็นโครงการสร้างอาชีพให้กับผู้ที่ตกงานในชุมชน อยากช่วยเหลือชุมชนสังคมให้มีอาชีพ จึงตอบรับข้อตกลงผลิตในราคาต้นทุนก้อนละ 5 บาท พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กลุ่มเพาะเห็ดใหม่ และอุปกรณ์เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ โดยการระดมแรงงานแต่ละกลุ่ม เข้ามาอัดก้อนเห็ดนำไปเปิดดอก

นายประพงค์ ผายทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านกลาง (6ต.ค.66)
นายประพงค์ ผายทอง

การเพาะเห็ดเป็นอาชีพที่ทำให้มีรายได้ทุกวัน ได้วันละ 5-10 โล ขายในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน และมีแม่ค้าซื้อไปทำอาหารขายอีกที ได้จัดทำบริหารบัญชีกลุ่มตามที่นักวิจัยแนะนำ มีเงินทุนเหลือในการผลิตครั้งต่อไปประมาณ 15,000 บาท ซึ่งวางแผนจะเริ่มอัดก้อนรอบใหม่ กับวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดไร้สาร บ้านเสาวัด ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ มีชาวบ้านสนใจอยากเข้าร่วมการเพาะเห็ด และในอนาคตอยากขยายเป็นผู้อัดก้อนเอง

แม่ประภา แดนนาบัว ตัวแทนกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดบ้านโพนงาม (13ต.ค.66)
แม่ประภา แดนนาบัว

เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มีรายได้เร็วภายในหนึ่งเดือนมีเงินหมุนเวียนทุกวัน แก้ปัญหาไม่มีงานทำและลดรายจ่าย เกิดกลุ่มธุรกิจในชุมชนบริหารจัดการรูปแบบอุตสาหกรรมในชุมชน (Local Business) ลดต้นทุนลง 50 % จากซื้อก้อนละ 10 บาทเหลือ 5 บาท มีกำลังผลิตรวมมากกว่า 100,000 ก้อนต่อรอบผลิต 4 เดือน จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในอำเภออากาศอำนวย มูลค่า 1,814,000 บาท ดำเนินงานด้วยโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมมีแผนการลงทุน เกิดการบริหารความคาดหวังและการบริหารความเสี่ยง สอดคล้องกับโมเดล BCG เพาะเห็ดจากฟางข้าวเสริมธาตุสิลิเนียนสามารถนำก้อนเชื้อเห็ดเก่าไปทำสารปรับปรุงดิน ร่วมมือกับชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดสกลนคร ส่งเสริมทักษะอาชีพ เพื่อฟื้นฟูศักยภาพ พัฒนาร่างกายและจิตใจ 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ ได้แก่ เทคโนโลยีหม้อนึ่งแรงดันไอน้ำอุณหภูมิคงที่ 100 องศาฯ ช่วยลดการสูญเสียในก้อนเห็ดร้อยละ 99, เทคโนโลยีตู้เขี่ยเชื้อเห็ดบริสุทธิ์, เทคโนโลยีโรงเรือนเพาะเห็ดระบบน้ำพ่นฝอย, เทคโนโลยีการเพาะเห็ดจากฟางข้าวเสริมธาตุสิลิเนียน ช่วยการเกิดดอกได้เร็ว 20 วันได้จำหน่าย และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สร้างภูมิคุ้มกัน, Web Application “ตามปลูก ตามเก็บ”, นวัตกรรมการเรียนรู้ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ

(ที่มา : https://p2pnews-snru.blogspot.com/2024/03/om2.html สืบค้นวันที่ 3มี.ค.67)

โมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว

คือการพัฒนาอาชีพทำนาปรังเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ช่วยลดต้นทุนการผลิตซื้อเมล็ดพันธุ์ และมีโอกาสใหม่แปรรูปข้าวเม่า พร้อมทั้งเตรียมพัฒนาสู่ท่องเที่ยวชุมชน “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” ร่วมกับ Local Alike (กิจการเพื่อสังคม) มีจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ 75 ครัวเรือน พื้นที่ดำเนินงาน ตำบลโพนงาม ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

ม.ราชภัฏสกลนคร เข้ามาศึกษาวิจัยหารือกับชาวบ้าน จึงเสนอให้แก้ปัญหาเรื่องคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้เสี่ยวแนะนำเทคโนโลยีตะแกรงร่อนคัดคุณภาพเมล็ดข้าวก่อนนำไปหว่าน ตอนแรกผมอยู่ห่าง ๆ นั่งฟังแล้วเข้าหูเลยสนใจ จึงตกลงเป็นเสี่ยวกันแลกเทคโนโลยี หลังจากนำไปทดลองใช้ประโยชน์ เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ต้นข้าวแตกกอมากขึ้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น นึ่งทานได้หอมนุ่มเหมือนข้าวนาปี จึงชวนชาวบ้านมาคัดเมล็ดข้าวก่อนนำไปหว่านนาปรัง

นายณัฐฏพล นิพันธ์ กลุ่มเป้าหมายทำนาปรัง (1ก.พ.67)
นายณัฐฏพล นิพันธ์

การทำนาปรังเป็นทางรอด ช่วยครัวเรือนลดรายจ่ายการซื้อข้าวได้ครึ่งหนึ่ง พื้นที่ชนบทบ้านดงสารไม่มีทางเลือกมาก อาชีพเสริมต่าง ๆ ทำได้แค่เหมาะสมกับกำลังซื้อของชาวบ้าน จึงเกิดแนวคิดอยากพัฒนาทุ่งพันขันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ น่าจะมีผู้คนเข้ามาซื้อสินค้าและบริการในชุมชน

ครูสุวรรณ บงศ์บุตร ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนาปรังมูลค่าสูง (18ส.ค.66)
ครูสุวรรณ บงศ์บุตร

ที่นี่สมบัติของประเทศไทยเราจริงๆนะครับ ดงสาร สกลนคร ผมว่าเขาคือ “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” พื้นที่ชุ่มน้ำ ผืนเกษตรกรรมและประมงท้องถิ่นที่ใหญ่หลายพันไร่ ตรงนี้คือแหล่งเรียนรู้เรื่องเกษตร และแหล่งศึกษาธรรมชาติชั้นดีเลยครับ ทำใมที่นี่น่าค้นหาจังนะ..? ที่ยังคงเป็นแบบนี้ได้ แน่นอนครับคนในชุมชนนี้ต้องมีดีแน่ๆ ต้องรักและรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ของเขามากแน่ๆ แล้วใครกันนะ..? และบ้านดงสารมีคำตอบให้ผมหมดเลยครับ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโอกาสที่จะพัฒนาและส่งเสริมผมว่าที่นี่คือคำตอบครับ อยากชวนทุกคนให้ช่วยกันครับ สำหรับผม การมาเยือนดงสาร คงไม่ใช่แค่ครั้งแรกและครั้งเดียวแน่ ๆ ครับ

คุณไผ สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike (FB นักพัฒนาพาเที่ยว 9ก.ย.66)
คุณไผ สมศักดิ์ บุญคำ ภาพจาก FB นักพัฒนาพาเที่ยว

เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ช่วยลดต้นทุน มีเป้าหมายผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้ในพื้นที่ 4,000 ไร่ ด้วยทรัพยากรที่สมบูรณ์เชื่อมโยงโอกาสใหม่เตรียมพัฒนาเป็นท่องเที่ยวชุมชน “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” ร่วมกับ Local Alike (กิจการท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชนอย่างยั่งยืน) 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ ได้แก่ เทคโนโลยีตะแกรงร่อนคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ, เทคโนโลยีการแปรรูปข้าวเม่า, นวัตกรรมการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครนำนักศึกษาวิศวกรสังคม ร่วมปฏิบัติการ นำเครื่องมือฟ้าประทานสู่การช่วยเหลือราษฎร

(ที่มา : https://p2pnews-snru.blogspot.com/p/om.html สืบค้นวันที่ 3 มี.ค.67)

โมเดลสมุนไพรบรู (ทุนวัฒนธรรม)

คือการยกระดับรายได้ครัวเรือนด้วยการพัฒนาอาชีพแปรรูปสบู่จากสมุนไพรในชุมชน เพื่อสร้างโอกาสทางสังคมชาติพันธุ์ “ไทบรู” โดยใช้ทุนวัฒนธรรม เริ่มจากความต้องการเป็นอัตลักษณ์นั้นคือ “สมุนไพร” ที่ชาวบรูทุกคนยอมรับ ให้รู้คุณค่ากับสิ่งที่มีอยู่คือการนำสมุนไพรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีกลไกสำคัญ คือ โรงเรียนบ้านคำแหว ในการขับเคลื่อนทั้งองค์ความรู้และการบริหารจัดการ มีจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ 30 ครัวเรือน พื้นที่ดำเนินงาน ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

การสืบทอดสมุนไพรถึงปัจจุบัน จากการล่าสัตว์หรือนายพราน จะมีผู้นำพรานที่รู้สูตรยาให้สัตว์อ่อนแรง เตรียมสำรองใส่กับลูกศรมีขนาดต่างกัน เจอสัตว์ใหญ่ต้องใช้ยามากขึ้นหรือยิงซ้ำ การเดินป่าจะปวดกล้ามเนื้อระหว่างทางใช้สมุนไพรสดๆ หาริมทางได้เลย

นายปาว วาริคิด ปราชญ์ชุมชนด้านสมุนไพร บ้านคำแหว (3พ.ย.66)
นายปาว วาริคิด

เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ไทบรูเข้าถึงโอกาสทางสังคมด้วยความภาคภูมิอย่างมีศักดิ์ศรี

ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ เทคโนโลยีการแปรรูปสบู่สมุนไพรบรู นวัตกรรมการสร้างโอกาสไทบรูด้วยทุนวัฒนธรรม

(ที่มา : https://p2pnews-snru.blogspot.com/2023/11/bu.html สืบค้นวันที่ 3 มี.ค.67)

นโยบาย “เกษตรมูลค่าสูง” ในประเทศไทย

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580 ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาประชากร เพื่อให้ได้รับ ผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน สร้างความเจริญทางรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่าง ต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตร ไปสู่สินค้าเกษตรและ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ได้กำหนดประเด็นสำคัญในด้านการสร้างเกษตรมูลค่าสูง 8 ประเด็น ดังนี้  

  1. ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตร มูลค่าต่ำและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ไปสู่การปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์และประมงที่มีมูลค่าสูง  
  2. สนับสนุนการทำ การเกษตรแบบร่วมผลิตและร่วมจำหน่าย (เกษตรแปลงใหญ่ หรือสหกรณ์)  
  3. ขยายพื้นที่ชลประทานให้เกษตรกรมีน้ำ ใช้สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรอย่างเหมาะสม เพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม  
  4. พัฒนาคลัสเตอร์พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และส่งเสริมให้มีความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร (Agricultural Biodiversity)  
  5. พัฒนาสหกรณ์การเกษตร ให้มีความเข้มแข็งและส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการด้านการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (Service Provider) อย่างครบวงจร  
  6. สร้างผู้ประกอบการเกษตร (Smart Farmer)  
  7. ส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงข้อมูล Big Data ด้านการเกษตร และใช้ประโยชน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์ม  
  8. เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร และเศรษฐกิจชีวภาพ ตามแนวทาง BCG

(ที่มา : https://www.opsmoac.go.th/km-km_article-files-441291791793 สืบค้นวันที่ 3 มี.ค.67)

อากาศอำนวยโมเดล
ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ
คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว
สมุนไพรบรู ทุนวัฒนธรรม

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blog และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ