เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ที่ทุ่งพันขันมากกว่า 4,000 ไร่ เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้อมเตรียมพัฒนาสินค้าจากภูมิปัญญา พบผู้ประกอบการด้านแปรรูปข้าวเม่า บ.นายอ จ.สกลนคร
การทำข้าวนาปรังคือทางรอด
ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ชาวบ้านบ้านดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ทยอยต่อคิวจ้างรถเกี่ยวข้าว เพื่อนำข้าวไปขายให้โรงรับซื้อในตัวอำเภอ ซึ่งปีนี้ราคารับซื้อข้าวเปลือกสูง ตันละ 10,000 บาทขึ้นไป
ชาวบ้านดงสาร เปิดเผยว่า ข้าวนาปรังปีนี้อุดมสมบูรณ์ต้นโตเต็มวัย แต่ละรวงออกผล 170 – 250 เมล็ด ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้นเป็นที่น่าพอใจ แต่ขายไม่ได้ราคาเต็มต้องหักความชื้น สาเหตุที่ขายทันทีเพราะไม่มีพื้นที่ตากผลผลิต และคุณภาพข้าวนาปรังแข็ง ต้องขายข้าวเปลือกไปซื้อข้าวสารมากินแทน
สาเหตุที่ชาวบ้านทำนาปรังหลายไร่ เพราะทำนาปีไม่ได้ เนื่องจากทุ่งพันขันอยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วม ฤดูฝนน้ำจากแม่น้ำสงคราม จะเข้ามาท่วมพื้นที่ทั้งหมดมองเห็นแค่ปลายต้นไม้ยูคาลิปตัส จึงขุดลอกหนองไว้รับน้ำสำหรับทำนาปรัง
การทำนาปรังคือทางรอดของชาวบ้าน ลดค่าใช้จ่ายซื้อข้าวในครัวเรือนได้ครึ่งปี หลังจากนั้นชาวบ้านจะไปรับจ้างต่างถิ่น หรือหาปลาในป่าปุ่งป่าทามมาขาย แต่ขายได้ตามกำลังซื้อในหมู่บ้าน จึงคิดอยากพัฒนาสินค้าและบริการ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้มีผู้คนเข้ามาซื้อของ
อ.สุวรรณ บงศ์บุตร หรือครูแดง พี่เลี้ยงโมเดลแก้จนทำนาปรัง
วิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง
บ้านดงสาร ระยะทางจากตัวอำเภอเมืองสกลนคร ประมาณ 80 กิโลเมตร ไกลพอสมควรและไม่ใช่เส้นทางผ่านระหว่างอำเภอ ถ้าไม่มีธุระคงไม่มีใครเข้ามา ปัจจุบันมีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เข้าพื้นที่ศึกษาวิจัยเป็นเวลา 2 ปี เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาความยากจน
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย ทีมโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เข้ามาวิเคราะห์ศักยภาพและอุปสรรคพื้นที่บ้านดงสาร พร้อมออกแบบปฏิบัติการโมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมความรู้เข้ามาแก้ไข ได้แก่ การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว การแปรรูปข้าวเม่า รวมไปถึงสร้างโอกาสใหม่คือการท่องเที่ยวชุมชน มีบริษัท Local Alike ตั้งใจจะพัฒนาให้เป็น “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต“
ทางเลือกใหม่แปรรูปข้าวเม่า
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ทีมนักวิจัย นำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปข้าวเม่า ที่ขึ้นชื่อในจังหวัดสกลนคร และอุดรธานี โดยกลุ่มวิสากิจชุมชนข้าวเม่าหวาน บ้านนายอ ไม่ใช่คนอื่นไกลเป็นชาวบ้านในอำเภออากาศอำนวย นักวิจัยได้นำชาวบ้านไปศึกษาเรียนรู้ที่กลุ่ม และทาบทามให้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกข้าวเม่าในครั้งนี้
กิจกรรมครั้งนี้เป็นการพบผู้ประกอบการ ที่จะมารับซื้อข้าวนาปรังนำไปแปรรูปเป็นข้าวเม่า แต่ก่อนซื้อขายกันต้องรู้รายละเอียดการปลูกข้าวและข้อตกลง สามารถสอบถามคำแนะนำได้ทุกประเด็น ทั้งการวางแผนผลิต สายพันธุ์ข้าวเม่า และข้อตกลงในการรับซื้อ หลังจากนั้นลงไปดูพื้นที่แปลงข้าวนาปรัง
อ.สายฝน ปุนหาวงศ์
คุณเกษรา เจินยุหะ พร้อมวิทยากร 4 ท่าน เปิดเผยว่า ชาวบ้านนายอแปรรูปข้าวเม่าเป็นทุกคน ในวิสาหกิจชุมชนข้าวเม่าหวาน มีสมาชิกมากกว่า 100 ครัวเรือน มีกำลังผลิตได้สูงสุด 100 กิโลกรัมต่อครัวเรือน ข้าวที่นำมาใช้คือข้าวเหนียวทุกสายพันธุ์ ใช้ได้ทั้งนาปีและนาปรัง ปัจจุบันช่วงนาปรังข้าวเม่าขาดตลาด พร้อมย้ำหัวใจสำคัญการแปรรูปข้าวเม่าคือ การคัดสายพันธุ์ การวางแผนการปลูก และการแปรรูป
การคัดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม
ชุมชนต้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้อย่างดี ใช้สับเปลี่ยนหมุนเวียนในแต่ละแปลงทุก ๆ ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวปนทำให้อายุข้าวเม่าพร้อมกัน ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว การเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ได้แก่ นาดอนใช้พันธุ์อายุ 60 – 100 วัน นาลุ่มใช้พันธุ์ 100 – 150 วัน
วางแผนการปลูกให้ได้ข้าวเม่าต่อเนื่อง
ตัวอย่างพื้นที่ 10 ไร่ ให้แบ่งปลูก 5 รอบแต่ละรอบห่างกัน 10 – 15 วัน ดังนั้นจะต้องเตรียมสายพันธุ์ให้เพียงพอกับการปลูก ส่วนใหญ่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพียง 5 – 10 กิโลกรัม ถ้าเป็นนาปีเดือนพฤษภาคม ช่วงวันที่ 15 ควรปลูกรอบแรกได้แล้ว
การแปรรูปข้าวเม่า
ต้องไปเก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่เวลา 02:00 น. กลับมาเตรียมการแปรรูปช่วง 07:00 น. เพื่อเสร็จทันขายให้ลูกค้าเวลา 12:00 น. เป็นต้นไป ข้าวเม่าบ้านนายอจึงใหม่สดทุกวัน ลูกค้าไว้ใจและมีความต้องการมาก นอกจากนี้กลุ่มมีวิธีการเก็บรักษาแบบสูญญากาศ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากข้าวเม่า เริ่มตั้งแต่จ้างคนเกี่ยวข้าวเม่ากำมือละ 1 บาท ซื้อไม้แห้งมานึ่งข้าวเม่ารถละ 30,000 – 50,000 บาท บางวันจ้างแรงงานช่วยวันละ 500 บาท นอกจากนี้ยังนำฟางข้าวไปเลี้ยงสัตว์ได้ (วัว-ควาย) ราคาขายข้าวเม่ากิโลกรัมละ 150 – 250 บาท สร้างรายได้ให้ครัวเรือนปีละ 1,000,000 บาท
ข้อตกลงการส่งแปรรูปข้าวเม่า ทางกลุ่มข้าวเม่าหวานบ้านนายอ มีข้อตกลงให้ผู้ปลูกข้าวเลือกหลายรูปแบบ ได้แก่ แบบเหมาแปลงประมาณไร่ละ 10,000 บาท แบบชั่งกิโลหมื่นละ 150 – 200 บาท (คัดข้าวรีบออกแล้ว) หรือแบ่งผลผลิตข้าวเม่าคนละครึ่ง หลักสำคัญคือต้องไว้ใจกัน ทั่งนี้ทางกลุ่มยินดีให้คำแนะนำการแปรรูปข้าว ถ้าสนใจอยากเป็นผู้ประกอบการเอง
ข้าวเม่าคือภูมิปัญญาชาวบ้านนายอ ถ่ายทอดผ่านทางวัฒนธรรม บ้านนายอจะทำบุญข้าวเม่าทุกปี ข้าวเม่ายังสร้างเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ Soft Power เป็นสินค้าของชาวนาอำเภออากาศอำนวย ด้วยความภาคภูมิ
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ