มรภ.สกลนคร ร่วมกับชาวบ้านดงสาร จับมือ Local Alike ยกระดับงานวิจัยเชื่อมโยงนวัตกรรมแก้จน จัดสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศน์ “ทุ่งพันขัน” 16 – 18 สิงหาคม 2566 ประเมินเป็น “ชุมชนดาวดวงน้อย” เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” สู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน แก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
“เป็นโอกาสสำหรับ Local Alike มากกว่า ได้มาเจอชุมชนบ้านดงสารที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก ยังคงวิถีชีวิตการดำรงชีพและการเกษตรตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ เป็น พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต …ก่อนหน้านี้แอบกังวลว่าชุมชนดงสารจะคาดหวังกับ Local Alike แต่จากการสำรวจทุนด้านต่างๆ ของดงสารสองวันที่ผ่านมานี้ Local Alike จะนำพาความหวังและความฝันมาสู่ชุมชนดงสารเอง”
คุณสมศักดิ์ บุญคำ CEO Local Alike
“ทุ่งพันขัน” บ้านดงสารทรัพยากรอันล้ำค่าแห่งลุ่มน้ำสงคราม
บ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร มีที่ตั้งชุมชนติดกับแม่น้ำสงคราม (ตอนล่าง) ริมฝั่งห่างจากหมู่บ้านเพียง 3-5 กิโลเมตร มีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามหรือชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งพันขัน” เนื้อที่ตามทะเบียนที่สาธารณะประโยชน์ (นสล.) รวมทั้งสิ้น 4,625 ไร่ เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากกว่า 100 ปี มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของ “ป่าบุ่งป่าทาม”
เมื่อถึงฤดูฝนทุกปี น้ำจากลำน้ำสงครามจะไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มดังกล่าวเป็นบริเวณกว้าง จากการขึ้นลงของน้ำในลำน้ำสงครามนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการอพยพย้ายถิ่นของปลาตามธรรมชาติ เมื่อเวลาน้ำหลากท่วมป่าบุ่งป่าทาม ปลาจากแม่น้ำโขงจะว่ายมาตามลำน้ำสงครามเข้ามาหาอาหารและวางไข่ในป่าบุ่งป่าทามริมแม่น้ำ และเมื่อหมดฤดูน้ำ พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ในป่าบุ่งป่าทามก็จะเจริญงอกงาม ชาวบ้านก็จะได้อาหารจากป่าทาม ได้แก่ หน่อไม้ เห็ด และพืชสมุนไพร
ป่าบุ่งป่าทาม จึงเป็นต้นกำเนิดของแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำสงคราม การตั้งถิ่นฐานของชุมชนจึงมักตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มบนที่ดอน และอยู่ใกล้กับป่าทามที่อุดมสมบูรณ์
อ่านเพิ่มเติม https://www.blockdit.com/posts/657854d338c548a4d0494c8d
โมเดลแก้จน “คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว” สอดคล้องกับบริบทพื้นที่บ้านดงสาร
ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่จังหวัดสกลนคร (P2P Application) โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร รายงานงานวิจัยการพัฒนากระบวนการเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูงฯ ปี 2565 รายงานว่า กลุ่มเป้าหมายมีทุนดำรงชีพในการทำนาปรัง สอดคล้องกับบริบทชุมชนชาวบ้านมีความจำเป็นต้องปลูกข้าวเพื่อบริโภค ได้ออกแบบโมเดลแก้จน (Operating Model) เพื่อแก้ปัญหาเมล็ดข้าวแข็งบริโภคไม่ได้และลดรายจ่ายซื้อเมล็ดพันธุ์ มีแปลงทดลอง 40 ไร่ ในพื้นที่ทุ่งพันขัน เกิดการจัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว 1,000 กิโลกรัมหรือ 1 ตัน
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า พื้นที่ทุ่งพันขันบ้านดงสารมีศักยภาพด้านทรัพยากรมาก มีวิถีการดำรงชีพทำมาหากินการเกษตรกรหมุนเวียนทั้งปี ได้แก่ ทำนา ประมง เลี้ยงควาย และอาหารป่า แต่ละฤดูกาลจะมีกลยุทธ์หรือวิถีการดำรงชีพที่แตกต่างกัน เป็นโอกาสในการยกระดับและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนตามความต้องการของชาวบ้าน โดยได้เชิญคุณไผ สมศักดิ์ บุญคำ CEO และผู้ก่อตั้ง Local Alike กิจการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน (Social Enterprise) ได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน มากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ
“ด้วยปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจ Local Alike จึงเป็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงความร่วมมือเพื่อเตรียมส่งต่องานพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวนาปรังให้เป็น Local Rice”
อ.สายฝน ปุนหาวงศ์
อ่านเพิ่มเติม https://www.1poverty.com
อนาคตดงสารกับการท่องเที่ยว “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต”
เมื่อวันที่ 16-18 สิงหาคม 2566 โครงการวิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูงฯ จัดกิจกรรมการเชื่อมโยงนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ “การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศน์เห็ด ปลา ป่า ข้าว” ได้เชิญ คุณไผ สมศักดิ์ บุญคำ (ผู้ก่อตั้ง Local Alike) และคุณณนภ ม่วงเกลี้ยง (Project manager บริษัท Local Alike) มาเป็นวิทยากรในการสำรวจเส้นทางรวมถึงโอกาสพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน
การท่องเที่ยวโดยชุมชน Local Alike มีกระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ยกระดับเป็นธุรกิจชุมชน โดยคำนึงถึง “ความยั่งยืน” ของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม กำหนดทิศทางและจัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชน ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของมีสิทธิในการจัดการดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน การตัดสินใจและการมีส่วนร่วมของชุมชนคือหัวใจสำคัญ Local Alike จึงให้บริการกลุ่มนักท่องเที่ยวทางเลือกหรือ Alternative Tourism เป็นสำคัญ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย 40 ล้านคนต่อปี รายได้จากการท่องเที่ยว 1.9 ล้านบาทต่อปี
“การทำนาปรังจึงเป็นทางเลือกเพื่อลดค่าใช้จ่ายซื้อข้าวในครัวเรือนได้ครึ่งหนึ่ง พื้นที่ชนบทไม่มีทางเลือกมากนักอาชีพเสริมต่าง ๆ ทำได้แค่เหมาะสมกับกำลังซื้อของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงเกิดแนวคิดอยากพัฒนาทุ่งพันขันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ น่าจะมีผู้คนเข้ามาซื้อสินค้าและบริการในชุมชน”
คุณครูสุวรรณ บงศ์บุตร
ตลอดระยะเวลา 3 วัน ได้รับการต้อนรับจากชุมชนเป็นอย่างดี ทั้งการเป็นมิตรภาพ การอำนวยความสะดวกลงพื้นที่ศึกษาสถานที่ต่าง ๆ การเล่าเรื่อง อาหาร และอีกหลายๆ อย่าง ที่ได้รับคำชมจาก Local Alike พร้อมทั้งได้สรุปต้นทุนบ้านดงสารว่ามีศักยภาพมาก ประกอบด้วย
- ทุนมนุษย์ มีกลุ่มผู้นำชุมชนเข้มแข็ง อบต.ให้ความร่วมมือ มีปราชญ์ชาวบ้าน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบการ
- ทุนสังคม มีการอยู่แบบเครือญาติ มีความสามัคคี อบอุ่น มีการทำงานกันในรูปแบบเครือข่ายและกลุ่ม ชมรม
- ทุนกายภาพ มีพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่บึงแห่งความรัก คาเฟ่กลางท้องนา สะพานดอนหลวงพัฒนา จุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตก
- ทุนธรรมชาติ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทั้งสัตว์และพันธุ์พืช เช่น นกกาบบัว แม่น้ำสงคราม ทุ่งพันขัน หนองหมากแซว กุดสิ้ว ดอนเล้าข้าว ต้นไม้ใหญ่ เห็ดใหญ่ ยุงใหญ่
- ทุนการเงิน มีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนอยู่สม่ำเสมอ
- ทุนวัฒนธรรม วัฒนธรรมด้านอาหารการกินมีเอกลักษณ์สูง ภาษาพื้นถิ่นมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นในภาคอีสาน วิถีชีวิตเกษตรกร ชาวประมง ดำรงวิถีชีวิตอย่างเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการอยู่รอดในชุมชน
ทั้งนี้ Local Alike ได้ให้ชุมชนวาดภาพอนาคต (Future Casting) ด้วยการพาดหัวข่าวจากอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า อยากเห็นชุมชนหน้าตาเป็นอย่างไร เพื่อกำหนดเป้าหมายและสร้างความสมดุลระหว่างภาพฝันและการเตรียมตัวรับมือกับความไม่แน่นอนที่เราควบคุมไม่ได้ อีกทั้งจะนำไปวิเคราะห์หา Keyword ในการสื่อสารสำหรับการท่องเที่ยวในอนาคต สำหรับบ้านดงสารประเมินระดับการท่องเที่ยวจัดเป็น “ชุมชนดาวดวงน้อย” ที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้และเริ่มขยับการพัฒนาร่วมกันไปสู่ชุมชนท่องเที่ยว
พร้อมทั้งให้แนวทางการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (SUSTAINABLE TOURISM) ร่วมกับ Local Alike 5 ขั้นตอน ได้แก่ พัฒนาคน พัฒนาธุรกิจ พัฒนาการตลาดและเทคโนโลยี พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาภูมิทัศน์ การทำท่องเที่ยวโดยชุมชนทุกที่เริ่มต้นที่พัฒนาคนเป็นหัวใจสำคัญ ใช้เวลาสร้างความเข้าใจนานกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี หลังจากนี้ Local Alike จะนำข้อมูลต้นทุนบ้านดงสารไปเสนอแหล่งทุนกับภาคีเครือข่าย เพื่อนำมาพัฒนาชุมชนตามกระบวนการขับเคลื่อนงานให้ครบองค์ประกอบการท่องเที่ยวต่อไป
เป็นช่วงที่เหมาะสมพร้อมทุกด้าน พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรพร้อมให้ความรู้เหมาะสำหรับผู้คนที่อยากเข้ามาศึกษาวิถีการอยู่รอดในชุมชน งานวิจัยเดินหน้าแก้ไขปัญหาระบบผลิตที่สำคัญจัดการให้มีมูลค่าสูงร่วมกับหน่วยงานกลไกพัฒนาในพื้นที่ พร้อมทั้งเตรียมส่งต่อการพัฒนาร่วมกับ Local Alike จิ๊กซอว์ภาคีสำคัญที่มีเครือข่ายอีกมากมาย มีเป้าหมายเดียวกัน คือ แก้ปัญหาความยากจนให้ครัวเรือนเลื่อนระดับฐานะทางสังคมได้ เป็นนวัตกรรมแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ซึ่งในอนาคตไม่เกิน 10 ปี อาจได้เห็นพาดหัวข่าวว่า เที่ยวเมืองไทย “ไปไส…ไปดงสาร (Pai Sai Pai Dongsarn)”
ที่มา : www.1poverty.com
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ