นายอำเภออากาศอำนวย ชูโมเดลเห็ด-ข้าว “ภาพอนาคตแก้จน” ด้านเศรษฐกิจ โดย ม.ราชภัฏสกลนคร

นายอำเภออากาศอำนวย ชูโมเดลเห็ด-ข้าว “ภาพอนาคตแก้จน” ด้านเศรษฐกิจ โดย ม.ราชภัฏสกลนคร

มีข้าวกิน มีดินอยู่ มีคู่นอนนำ มีเงินคำเต็มไถ่ มีเฮือนใหญ่มุงแป้นกระดาน มีลูกหลานนั่งเฝ้า ยามแก่เฒ่าเข้าวัดฟังธรรม

คำผญา : ปรัชญาความสุขชีวิตวัฒนธรรมของคนอีสาน

อ่านคำผญาแล้วรู้สึกว่า “นี่คือความปรารถนาในชีวิต เป็นภาพอนาคตของตนเอง” แต่มากกว่าความหมายนั้นคือปรัชญาเตือนใจคอยทบทวนเป้าหมายของชีวิต ความสุขที่แท้จริงไม่มีสิ่งใดเกินนี้ ทว่านำผญามาเป็นตัวชี้วัดแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ จะเป็นจุดร่วมจุดเชื่อมและสร้างการยอมรับของชุมชนได้อย่างมาก ลองอ่านอีกรอบแล้วคิดความหมายตามทีละประโยค คุณจะเห็นการเรียงลำดับตามความต้องการของมนุษย์ หรือปัจจัย4 ถ้ามุนวิชาการคือตัวชี้วัดเลือนระดับ ความซาบซึ้งเหล่านี้อยู่ในวิถีวัฒนธรรมคนอีสาน สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเพื่อจะบอกย้ำว่า “มองอะไรก็ไม่เท่ามองเห็นตนเอง”

ทำความรู้จัก อ.อากาศอำนวย เบื้องต้น

ปัจจุบันอายุเมืองอากาศมากกว่า 170 ปี (ตามหลักฐาน) มีขนาดเนื้อที่รวม 365,625 ไร่ ส่วนมากเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 202,698 ไร่ แบ่งเขตการปกครอง 8 ตำบล 94 หมู่บ้าน ชนเผ่าชาติพันธุ์ดั้งเดิม 3 เผ่า คือ ไทโย้ย ไทญ้อ และไทลาว ประชากรทั้งหมดจำนวน 72,033 คน ข้อมูล จปฐ.2565 มีรายได้เฉลี่ย 63,650 บาท/คน/ปี หรือ 5,304 บาท/คน/เดือน ส่วน TPMAP2566 มีคนจนเป้าหมายจำนวน 24 คน คลังจังหวัดรายงานข้อมูล อ.อากาศอำนวยมีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 18,856 คน

แอบไปดูแผนพัฒนาอำเภออากาศอำนวย 5 ปี พ.ศ.2566 – 2570 กำหนดตำแหน่งการพัฒนาของอำเภอคือ ส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ พัฒนาด้านหัตถกรรมสิ่งทอ เครื่องจักรสาน และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ พร้อมกับระบุตัวชี้วัดความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนา ดังนี้

  • มีการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร และการปลูกสมุนไพร
  • พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมนิเวศน์
  • ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาครัวเรือนและชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • จัดการทรัพยากรธรรมชาติตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • บริหารกิจการบ้านเมืองตามหลักธรรมาภิบาล
ภาพจากปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง

การพัฒนาพื้นที่ อ.อากาศอำนวย และบูรณาการความร่วมมือ

เรามีวัฒนธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกกิจกรรมอาชีพผู้คนมีฝีมือมีทักษะทั้งด้านเกษตรกรรมและหัตถกรรม แต่มีจุดด้อยตรงที่เราขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งในส่วนนี้อาศัยความรู้ความร่วมมือกับ ม.ราชภัฏสกลนคร มาช่วยต่อยอดหนุนเสริมการผลิต การแปรรูปและช่องทางจำหน่าย ถ้าบริหารจัดการเองได้ทั้งระบบเกษตรกรเราจะลืมตาอ้าปากได้อย่างสง่างาม

นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย

ขยายความวัฒนธรรมมีการขับเคลื่อนยังไง นายอำเภอตอบว่า ผมมองเห็นว่าเรามีโอกาสส่งเสริมและส่งต่องานบุญประเพณีไหลเรือไฟ ไหว้พระแก้วคู่บ้านของอำเภออากาศอำนวยได้ เรือไฟที่นี่ไม่เหมือนกับนครพนมที่ลำใหญ่ แต่ของเราคนเข้าไปอยู่ในเรือไฟแล้วสนุกสนาน จะใช้ “ก้านจุ่ม” ในการจุดไฟบนเรือสืบทอดมาเป็น 100 ปี จัดให้มีการท่องเที่ยวประเพณีที่ประยุกต์ และคงประเพณีดั้งเดิมทำให้เด่นขึ้น ขอสื่อต่าง ๆ ลงมาขับเคลื่อนในพื้นที่รวมถึงประชาชนช่วยกันสื่อสารออกไป ว่าอากาศอำนวยมีการอนุรักษ์ประเพณีไหลเรือไฟ เราจัดร่วมกันทุกคนมีส่วนร่วมและมีความภาคภูมิใจร่วมกัน อาจเป็น Soft Power อีกอย่างหนึ่ง

นอกจากกิจกรรมวันนี้มีความร่วมมืออะไรกับ ม.ราชภัฏสกลนครบ้าง นายอำเภอตอบว่า ม.ราชภัฏ เข้ามาขับเคลื่อนร่วมกับอำเภออากาศอำนวยเป็นปีที่ 2 ในการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้ข้อมูลในการบริหารโครงการ นักวิจัยดำเนินงานสามารถตอบโจทย์ครัวเรือนได้ตามความถนัด เป็นความต้องการที่จะรวมกลุ่มพัฒนาในชุมชน มีโมเดลและวิธีการแตกต่างกันตามความเชี่ยวชาญในทักษะฝีมือ เกิดผลในเชิงประจักษ์เหมือนการตัดเสื้อให้พอดีตัว หมายถึงทุกคนเพาะเห็ดได้แต่อาจรวมกลุ่มกันเป็นกิจการไม่ได้ ทุกบ้านทำข้าวเม่าได้แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ตรงกับประเด็นเกษตรมูลค่าสูง ทางอำเภอให้ความสำคัญทั้งเห็ดและข้าว สามารถต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ ถ้าแก้ไขปัญหาปากท้องได้มีเศรษฐกิจดีขึ้นด้านอื่น ๆ ก็จะดีขึ้นตาม

SDG Move นำชาวอากาศอำนวยทุกภาคส่วน มองภาพอนาคตการแก้จน

มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมกับอำเภออากาศอำนวย และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) จัดเวที “คึดนำกัน” : Poverty Foresight ระดับอำเภอ ในวันที่ 18 ม.ค 67 ณ หอประชุมอำเภออากาศอำนวย จ.สกลนคร โดยมีหน่วยงานเข้าร่วม ภาครัฐท้องถิ่น ท้องที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเป้าหมาย และนักวิจัย

จากสถานการณ์ปัญหาความยากจนของจังหวัดสกลนคร 5 ปี ที่ผ่านมา พ.ศ.2561 – 2565 ที่นักวิจัยร่วมกับ SDG Move ได้วิเคราะห์ข้อมูลและประเมินจัดลำดับความสำคัญของปัญหา แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 มีประเด็นสาเหตุปัญหาลำดับแรก ดังนี้

  1. ความหลากหลายของอาชีพต่ำ/อุตสาหกรรมในพื้นที่น้อย ผลกระทบเกิดวงจรหนี้สิน
  2. การติดยาเสพติด ผลกระทบภาวะจนข้ามรุ่น
  3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลต่อรายจ่ายและหนี้สินเพิ่มเมื่อได้รับผลกระทบ
  4. คนจนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ผลกระทบทุจริตเชิงนโยบาย

จากนั้นเป็นการประชุมกลุ่มย่อย เปิดให้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมประเด็นปัญหาด้านอื่น ๆ ที่ตกหล่น จากนั้นช่วยกันเสนอเป้าหมาย (Goals) การแก้ปัญหาความยากจนพร้อมจัดลำดับ ตามด้วยคิดแนวทางการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ของการแก้ไขปัญหาความยากจน เลือกเป้าหมาย 3 ลำดับแรกก่อน และสุดท้ายวิเคราะห์ปัจจัยสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยใช้กรอบแนวคิด FAIR Canvas

“อยากให้สถาบันการศึกษาโรงเรียนทำหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับอาชีพชุมชน เช่นการทำนาโดยเฉพาะการเลือกเมล็ดพันธุ์ วิธีการทำนาปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เมล็ดพันธุ์มีหลายตละกูลเกิดศัตรูพืชขึ้นมาใหม่มากมาย ผมอายุมากแล้วตามไม่ทันถ้าเด็กเขาเรียนรู้จะช่วยแนะนำพ่อแม่ได้เยอะ” พ่อเด่น กลุ่มทำนาปรัง บ.ดงสาร เสนอในกลุ่มย่อย

“เสนอขอชุดระบบน้ำเพื่อการเกษตรมีปั๊มน้ำโซ่ล่าเซลล์ ถังพักน้ำ จะช่วยให้ประหยัดค่าน้ำ สามารถเพิ่มการผลิตพืชเกษตรได้หลากหลายมากขึ้น” กลุ่มชุมชนเห็ด เสนอในกลุ่มย่อย

“ถ้าให้พูดคุยแสดงความคิดเห็นได้ตรง ๆ ตามจริงแบบนี้ยายพูดได้ทั้งวัน หัวหน้าแปลภาษากันเอาเองนะ” กลุ่มชุมชนเห็ด เสนอในกลุ่มย่อย

ผมได้สรุปประเด็นทั้ง 5 กลุ่มจากการสังเกตส่วนตัว พบว่า ชาวอากาศอำนวยมีข้อเสนอเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนในภาพรวมคือ เรื่องสังคมยาเสพติดการพนัน เรื่องการสร้างผลิตภัณฑ์เป็นอัตลักษณ์ของอำเภอที่มีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) กระทบคนส่วนมาก ใช้ทรัพยากรในพื้นที่และเป็นความต้องการของตลาด เรื่องการสร้างอาชีพให้มีงานทำในพื้นที่ อยากให้โครงการพัฒนาต่อเนื่องจนกลุ่มมีรายได้สม่ำเสมออาชีพถึงจะมั่นคงและยั่งยืน

ส่วนใหญ่แล้วมีความต้องการในมิติด้านเศรษฐกิจ สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของนายอำเภอข้างต้น ที่ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากปฏิบัติการโมเดลแก้จน

ผู้รับผลประโยชน์และแนวทางการพัฒนาโมเดลแก้จน

อาจารย์สายฝน ปุนหาวงศ์ นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร และหัวหน้าโครงการวิจัยปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง แจ้งว่ามีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ ในพื้นที่ อ.อากาศอำนวย เข้าร่วมปฏิบัติการโมเดลรวม 355 ครัวเรือน ผ่านกระบวนการรับรองจากผู้นำ แบ่งเป็น 2 อาชีพได้แก่ ทำนาปรังและเพาะเห็ด นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ทั้งหมด 11 ชิ้น สามารถยกระดับรายได้ครัวเรือนสู่การแก้จนทั้งอำเภออย่างเป็นรูปธรรม

นาปรัง” บ.ดงสาร อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติใช้เทคโนโลยีคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์อย่างง่าย ข้าวแตกกอมากขึ้นมีผลผลิตเพิ่มจากเดิม 1 ตัน ลดต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ เกิดแปลงปลูกข้าวพันธุ์ 110 ไร่ ชาวบ้านรวมกลุ่มตั้ง “วิสาหกิจชุมชนนาปรังมูลค่าสูง” เริ่มจัดระบบสวัสดิการกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว ไว้บริการรองรับสมาชิกทำนาปรังมากกว่า 4,000 ไร่ แต่ละปีใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีมูลค่าหลายล้าน จึงเรียกโมเดลนี้ว่า “คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว” และขอบคุณท่านนายอำเภอ ได้เชื่อมภาคีกลุ่มแปรรูปข้าวเม่าบ้านนายอ วิธีการดูแลแปลงปลูกคล้ายกับการปลูกเมล็ดพันธุ์ พร้อมกับโอกาสใหม่ของทุ่งพันขันที่อยากพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” ร่วมกับบริษัท Local Alike กิจการเพื่อสังคม

ส่วนอาชีพ “การเพาะเห็ด” ถือว่าเป็นอาชีพระยะสั้นในหนึ่งเดือนสามารถสร้างรายได้ให้ครัวเรือน กลุ่มเพาะเห็ด 10,000 ก้อน จะมีมูลค่าถึง 140,000 บาท (4 เดือนต่อรอบการผลิต) นำมาบริโภคลดค่าใช้จ่ายซื้ออาหาร ปัจจุบันมีกลุ่มดำเนินการ 9 ชุมชน กระจายอยู่ 4 ตำบลได้แก่ โพนงาม โพนแพง บะหว้า และท่าก้อน มีกำลังผลิต 80,000 ก้อน กระทบด้านเศรษฐกิจมีเงินหมุนเวียนในอำเภอ 1,814,000 บาทต่อรวบการผลิต หรือปีละ 5 ล้านกว่า จึงเรียกโมเดลนี้ว่า “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ”

ซึ่งการรวมผลผลิตของกลุ่มในพื้นที่มีความท้าทายมาก กำลังบริโภคภายในชุมชนสูง ทำให้ไม่มีวัตถุดิบแปรรูปเป็นสินค้าอื่น ช่องว่างคือชาวบ้านขายเองได้เงินมากกว่าขายส่งให้ผู้รวบรวม จึงยังไม่แทรกแทรงระบบตลาดในชุมชนด้วยการเพิ่มกำลังผลิต ใช้โอกาสนี้เป็นการเพิ่มทักษะผู้ประกอบการให้กับกลุ่มเป้าหมาย

ขอใช้เวลาโอกาสอันดีนี้ ได้ส่งก้อนเชื้อเห็ดนางรมเทาจากโมเดล”ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจบะหว้า” ให้อำเภออากาศอำนวยโดยมีนายอำเภอรับมอบ

บทสรุปจากผู้เขียน แตงโม สกลนคร

การดำเนินงานในปัจจุบันยังขาดมุมมองภาคเอกชนนักธุรกิจ ถ้าเข้ามาร่วมมือกันหรือบอกกล่าวสิ่งที่จะผลักดันสินค้าเช่น ข้าวเม่า เห็ด ขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันประเมินข้อจำกัดความเป็นไปได้ เนื่องด้วย อ.อากาศอำนวย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำจึงปลูกข้าวได้ทั้งนาปีและนาปรัง หมายความว่าจะมีวัตถุดิบส่งให้กลุ่มผู้ผลิตข้าวเม่าตลอดทั้งปี เกษตรกรจะขายได้ราคาสูงขึ้น และชาวบ้านนิยมปลูกข้าวเหนียวซึ่งเป็นวัตถุดิบเดียวที่ทำข้าวเม่าได้

การทำกิจกรรมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ จำเป็นต้องมีแนวคิดทางธุรกิจ ถึงคุณจะไม่แข่งขันแต่คุณก็จะโดนเอาเปรียบจนได้ อย่างน้อยควรเริ่มต้นจากการแยกกระเป๋าเงินระหว่างครัวเรือนกับกิจการ

ภาพอนาคตแก้จนชาวอำเภออากาศอำนวย มีเป้าหมายการแก้ไขด้านเศรษฐกิจ ตรงกับภาพปัจจุบันการพัฒนาอำเภออากาศอำนวย ที่มีแนวทางยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยทุนวัฒนธรรมประเพณีไหลเรือไฟ ใช้ข้อมูลอาชีพหรือโมเดลจากนักวิจัยในการขับเคลื่อนงาน

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blog และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ