วิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร จ.สกลนคร ต่อยอดนวัตกรรมเพาะเห็ดจากฟางข้าวเสริมแร่ธาตุซีลีเนียม ตระกูลเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า ช่วยลดต้นทุนเพิ่มปริมาณการเกิดดอกสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน มีประโยชน์เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ชูรสชาติเห็ดให้โดดเด่นหอมจากฟางข้าว อนาคตอยากพัฒนาเทคโนโลยีช่วยสับฟางข้าว
คุณณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา ประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร บ.เสาวัด ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เล่าความเป็นมาว่า เมื่อปี 2565 ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทีมนักวิจัยนำโดย อ.สายฝน ปุนหาวงค์ รวมชาวบ้านเสาวัด 30 ครัวเรือน ตั้งกลุ่มเพาะเห็ดขึ้น และนำร่อง “โมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ”
ตอนแรกเริ่มจากเพาะเห็ดโดยใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราก่อน แต่พบว่ามีต้นทุนแพงและบางช่วงขี้เลื่อยหายาก ทีมนักวิจัยได้บูรณาการความร่วมมือกับศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ดร.ธนภักษ์ อินยอด เพิ่มทักษะการเพาะเห็ดจากฟางข้าว จึงนำมาทดลองเพาะปลูก ซึ่งมีผลตอบรับจากผู้บริโภคว่ามีรสชาติอร่อย
คุณณรงค์ฤทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา หลังจากชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ทีมนักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ นำโดย ดร.ธนภักษ์ อินยอด ได้ลงพื้นที่มาต่อยอดนวัตกรรมเพาะเห็ดจากฟางข้าวเสริมแร่ธาตุซีลีเนียม ตระกูลเห็ดนางรมเห็ดนางฟ้า ให้กับทางกลุ่มอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 2 วัน
เริ่มจากวันที่ 24 พ.ย.2566 จับมือเรียนรู้การหมักฟางข้าวเริ่มตั้งแต่การสับฟาง การแช่น้ำ1คือ และการหมักให้ฟางทิ้งไว้ 5 วันให้คายปริมาณแก๊ส ต่อมาวันที่ 30พ.ย.2566 จับมือเรียนรู้การบรรจุก้อน เสริมซีลีเนียม การนึ่งฆ่าเชื้อ
หลังจากนี้ทางสมาชิกวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร จะต่อยอดองค์ความรู้โดยการเพาะเห็ดจากฟางข้าวทั้งหมด 4 โรงเรือน โรงเรือนละ 200 ก้อน คาดการณ์จะมีเห็ดบางส่วนเกิดดอกให้บริโภคในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ และจะเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนจากการเพาะเห็ดนางฟ้านางรมเสริมซีลีเนียมครั้งนี้ประมาณ 112,000 บาท
ประโยชน์จากการเพาะเห็ดนางฟ้านางรม จากฟางข้าวเสริมแร่ธาตุซีลีเนียมในครั้งนี้
- ช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยใช้วัสดุจากฟางข้าวหาได้ในชุมชน
- ลดระยะเวลาการบ่มเชื้อเห็ดลง 10 วัน จากเดิมเพาะจากขี้เลื่อยบ่ม 30-35 วัน เหลือ 20-25 วัน
- ปริมาณการเกิดดอกเพิ่มขึ้นก้อนละ 2 กิโลกรัมต่อรอบการผลิต 45-50 วัน
- ชูรสชาติเห็ดให้โดดเด่นหอมจากฟางข้าว หวาน กรอบ
- มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคช่วยบำรุงร่างกายเสริมภูมิคุ้มกัน
ด้าน กรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการ ได้เผยแพร่ข้อมูล “ซีลีเนียมเสริมระบบภูมิคุ้มกันต้านทาน COCID-19” เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สร้างภูมิคุ้มกัน ร่ายกายต้องการซีลีเชียมทุกวันในปริมาณน้อย ๆ แต่ขาดไม่ได้ถ้าขาดซีลีเนียม จะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
ภาพจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย อ่านเพิ่มเติม
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แก้ปัญหาโดยใช้วัสดุในชุมชน หลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ทางผมตัวแทนวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สารหรือโค้งคำนับฟาร์ม พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะเห็ดจากฟาร์มข้าวให้กับผู้ที่สนใจ ถ้ามีนวัตกรรมมาช่วยสับฟางข้าว จะทำให้ผลิตได้มากขึ้นปัจจุบันยังใช้แรงงานจากสมาชิก และมีการทดลองทำเครื่องสับฟางข้าวจากอุปกรณ์ที่มี แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเป็นที่พอใจ
คุณณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา ประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร จ.สกลนคร
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร เป็นหนึ่งในปฏิบัติการแก้จนเกษตรมูลค่าสูงโมเดล “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” บนแพลตฟอร์มแก้จน “อากาศอำนวยโมเดล” ด้วยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยโครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี 2566 ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร สนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
บทความที่เกี่ยวข้อง
1 เสริมธุรกิจใหม่แก้จนให้ชุมชน “เพาะเห็ดจากฟางข้าว” – THECITIZEN.PLUS
2 “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” โมเดลแก้จนเพาะเห็ดเกื้อกูลคนฐานราก จ.สกลนคร – THECITIZEN.PLUS
3 นำร่องเครือข่ายกลุ่มเพาะเห็ด ขยายผลโมเดลแก้จน “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” – THECITIZEN.PLUS
ที่มา : www.1poverty.com
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ