“ธุรกิจเพื่อสังคม” จุดร่วมกลุ่มอาชีพชุมชน เดินต่อหลังจบโครงการ

“ธุรกิจเพื่อสังคม” จุดร่วมกลุ่มอาชีพชุมชน เดินต่อหลังจบโครงการ

มรภ.สกลนคร ร่วมกับอำเภออากาศอำนวยหน่วยงานภาคี และผู้ประกอบการกลุ่มอาชีพในชุมชน คุยจุดร่วมขับเคลื่อนงานหลังจบโครงการ จัดเวทีคึดนำกัน Forum : ผสานความคิด สร้างความเข้าใจการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม เตรียมพร้อม “คน ของ ตลาด” ในวันที่ 14 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภออากาศอำนวย จ.สกลนคร

“นักวิจัยทำสิ่งที่เรายังไม่เคยเรื่องรู้ คือการบริหารงานด้วยข้อมูล วางแผนเชิงกลยุทธ์ตามบริบทพื้นที่และกลุ่มคน เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ แต่เป็นจุดแข็งกระทบคนส่วนมากเช่นข้าวและเห็ด ทุกกิจกรรมร้อยเรียงเชื่อมงานเข้ากันได้ สร้างผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจเพื่อสังคม” นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย กล่าวถึงกระบวนการวิจัยโมเดลแก้จน ที่ต่างจากหน่วยงานในอำเภอ

พร้อมย้ำถึงบริบทอาชีพที่ชาวบ้านทำผ่านมา “อาชีพที่ชาวบ้านทำอยู่เราคิดว่าดีแล้ว แต่ความจริงยังมองไม่เห็นรูปธรรมความยั่งยืน มีลักษณะต่างคนต่างทำ ใครทำได้อยู่รอดเพื่อนก็จะทำตาม ไม่มีข้อมูลตัดสินใจเลยว่าทำแล้วได้เท่าไหร่ จะมีศักยภาพและทรัพยากรพอไหม ซึ่งบางครัวเรือนรอนานไม่ได้ สุดท้ายก็ทิ้งไปทำอย่างอื่นที่ได้เงินเร็ว”

“ก่อนนักวิจัยจะปล่อยมือ ยังเป็นห่วงว่าเราจะยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งผมมองว่ายั่งยืนแล้ว มีทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรมและองค์ความรู้ ผมได้ร่วมติดตามกับทีมนักวิจัย กลุ่มอาชีพสามารถปั่นจักรยานปล่อยมือได้แล้ว และนักวิจัยจะมอบจักรยานให้เราปั่นเอง พร้อมกับบอกวิธีปั่นไปสู่เป้าหมายที่มีภาพชัดเจน เหมือนที่ดอนพุดโมเดล จ.สระบุรี นายอำเภอท่านตั้งบริษัทเพื่อสังคมรับซื้อผลผลิตชุมชน แล้วเปิดร้านอาหารกระจายวัตถุดิบ และเปิดรับนักท่องเที่ยวอยู่ได้ทั้งวัน” นายอำเภออากาศอำนวย พูดถึงระบบและกลไกที่ยั่งยืนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับอำเภอต่อเนื่อง ไม่ย้ายตามคนหรือจบตามโครงการ ในช่วงแรกของเวที “คึดนำกัน Forum”

นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย

ผสานความคิด สร้างธุรกิจเพื่อสังคม (SIE)

อ.สายฝน ปุนหาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยย่อย ม.ราชภัฏสกลนคร ทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ชี้แจงการจัดเวที “คึดนำกัน Forum” ซึ่งเป็นครั้งที่สอง ในครั้งแรกได้คุยเรื่องการมองภาพอนาคตการแก้จนอำเภอ (Poverty Foresight) มีข้อเสนอด้านการสร้างงานสร้างอาชีพ วันนี้เรามาสานความคิดกันอีกรอบ กับผู้ประกอบการกลุ่มอาชีพเห็ดและข้าวที่ได้ร่วมปฏิบัติการ เพื่อหาจุดร่วมในการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม เป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับอำเภอ โดยได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ประเด็นคุยในวง Forum มีทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจและข้อค้นพบ สร้างความเข้าใจการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมและประเมิน “คน ของ ตลาด” และการบริหารกิจการต้องให้ความสำคัญกับอะไร สิ่งที่อยากได้จากเวทีวันนี้คือคำตอบ จากคำถามที่ว่า “ถ้าไม่มีโครงการสนับสนุนแล้ว กิจการจะมีระบบและกลไกขับเคลื่อนงานแบบไหน” อ.สายฝน โยนคำถามสำคัญในวง Forum

การพัฒนาโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจและข้อค้นพบ

ทีมนักวิจัยเปิดเผยข้อมูลโมเดลธุรกิจ สาเหตุไม่มีผู้เปิดดอกเห็ดเพราะได้กำไร 4-5 % แต่ผู้ผลิตก้อนและเปิดดอกจะมีกำไร 50 % (ยังไม่รวมค่าแรง) ในพื้นที่จึงมีแค่วิสาหกิจชุมชนที่เพาะเห็ดจำหน่าย จากปฏิบัติการโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ ค้นพบว่า ระบบพี่เลี้ยงมีความสำคัญมาก เกิดผลลัพธ์ต่อกลุ่มเป้าหมายด้านทุนมนุษย์ ทุนสังคม และทุนเศรษฐกิจ

ผลลัพธ์ด้านทุนมนุษย์และทุนสังคม เกิดรูปแบบสวัสดิการการเรียนรู้ มีทักษะการเพาะเห็ดผ่านการทำงานจริง ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ผลผลิตและไม่ได้เงิน ทุกคนเห็นความสำคัญของการแสวงหาความรู้และอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ (CiL.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ผลลัพธ์ด้านทุนเศรษฐกิจ สามารถขยายกลุ่มผู้เปิดดอกเพิ่มขึ้นโดยที่กำไร 50 % มีโอกาสเกิดผู้แปรรูปในอนาคต

ข้อเสนอแนะ คือ วิเคราะห์วัตถุดิบลดต้นทุนให้ผู้ผลิตก้อนเพื่อส่งให้ผู้เปิดดอกได้ราคาเดิม หรือกลุ่มผู้เปิดดอกเพิ่มการผลิตก้อน แต่ต้องลงทุนเทคโนโลยีและรับความเสี่ยง หรือเลือกทำข้อตกลงราคาการซื้อขายใหม่

อ.สายฝน ปุนหาวงศ์

สร้างความเข้าใจการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม “คน ของ ตลาด”

โมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ มีแผนการลงทุนรู้ต้นทุน/ราคาขาย/กำไร กลุ่มจะสร้างกลยุทธ์บริหารให้บรรลุเป้าหมายตามแผนลงทุน ปัจจุบันเทรนผู้บริโภคซื้อสินค้าจากคุณค่า (Value) ได้แล้วชีวิตมีความสุข กลยุทธ์การสร้างคุณค่าทำได้ทั้งด้านราคาขาย คือ ลูกค้าเต็มใจที่จะซื้อในราคาเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น และด้านต้นทุน คือ พนักงาน คู่ค้า พันธมิตร เต็มใจที่จะขายในราคาถูกลงหรือมีข้อเสนอสินเชื่อการเงิน

การประชุมกลุ่มย่อย เพื่อฝึกทักษะการหากลยุทธ์สร้างคุณค่าให้ลูกค้าเต็มใจที่จะซื้อ สิ่งแรกต้องวิเคราะห์ “เห็นหน้าลูกค้า” (Persona) ทุกคนกลุ่มกิจการต้องรู้และเข้าใจ 4 เรื่องของลูกค้าคือ บริบท พฤติกรรม ทัศนคติ และการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ต่อมาต้องรู้ว่าสินค้าเรามี “จุดเหมือน จุดต่าง จุดขาย” อะไร ที่สำคัญต้องเหมือนคู่แข่งในจุดที่จำเป็น และแตกต่างในจุดที่ลูกค้าชอบเพื่อสร้างคุณค่าจุดขาย

ทักษะการหากลยุทธ์สร้างคุณค่าให้กับ พนักงาน คู่ค้า พันธมิตร เต็มใจที่จะขายในราคาถูกลง กลุ่มกิจการต้องตั้งทำถามกับตัวเองว่า เราเป็นผู้นำที่ลูกทีมพร้อมจะเดินตามและเชื่อใจหรือไม่ และตัวคุณเองเชื่อใจทีมงานมากน้อยแค่ไหน การรวมกลุ่มอาชีพในพื้นที่ ยังไม่มีการคิดแรงงานหรือจ้างงานประจำ เป็นระบบผลิตแบบครอบครัว

ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ด้านการจ้างงานในพื้นที่ การสร้างกลไกเศรษฐกิจชุมชน จัดสวัสดิการการเรียนรู้ การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ใช้ทรัพยากรในพื้นที่

นายประพงค์ ผายทอง

การบริหารกิจการต้องให้ความสำคัญกับอะไร

นายประพงค์ ผายทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนเพราะเห็ดบ้านกลาง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า กลุ่มดำเดินกิจกรรมการผลิตมาได้ต่อเนื่องประมาณ 10 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก 23 คน สมาชิกออมเงินหุ้นละ 20 บาทไม่เกิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน รวมมูลค่า 160,000 บาท เป็นทุนให้สมาชิกกู้ยืมมาลงทุนเพาะเห็ด ดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาทต่อปี ให้ความสำคัญในการดำเนินการ ดังนี้

  • สิ่งแรกต้องทำคือสร้างกฎระเบียบร่วมกัน สมาชิกทุกคนต้องมีส่วนในการออมเงินหุ้นทุกเดือน การวางแผนการผลิต จ่ายค่าบำรุงรักษาการเสื่อมสภาพ
  • ใส่ใจในทุกระบบการผลิต ใช้เทคโนโลยีช่วยลดการสูญเสีย สร้างผู้ผลิตให้มีทักษะเชี่ยวชาญอย่างน้อย 3-5 คน เพื่อดำเนินการเปิดระบบผลิตได้ต่อเนื่องเมื่อประธานติดภารกิจ
  • ผู้นำต้องมีความเสียสละ รับผิดชอบ ดูแลผลประโยชน์ในกลุ่มให้สมาชิกมีส่วนร่วม แสวงหาความรู้ใหม่เพื่อยกระดับการผลิตเห็ดและถ่ายทอดทักษะให้สมาชิก ควรระวังการเพาะเห็ดชนิดที่นำไปแปรรูปเป็นยาได้
  • ด้านการบริหารกลุ่ม การผลิตแต่ละรอบสมาชิกจะรวมเงินลงทุน ซื้อวัตถุดิบมาผลิตก้อนที่วิสาหกิจชุมชน แล้วนำไปเปิดดอกที่บ้าน ยังมิได้บริหารการเงินและงานแบบกิจการ ยังเป็นแบบครัวเรือนอยู่

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. พูดถึงการสร้างธุรกิจหรือฟื้นฟูกิจการว่า หัวใจสำคัญคือการสร้างความไว้ (Trust) การจะสร้าง Trust ทำได้ในทุกระดับ มีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่

  1. ค่านิยมร่วม (Logic) ผู้นำมีตรรกะ ตัดสินใจจากข้อมูลมากกว่าความรู้สึก เปิดเผยข้อมูลรู้เท่าไหร่กัน
  2. ความประพฤติ (Empathy) เอาใส่ใจ รู้พฤติกรรมความชอบของพนักงานและลูกค้า
  3. ความเก่ง (Authenticity) คือการเป็นตัวตน จริงใจ เรียนรู้ตลอดเวลา หากมีทั้งหมดนี้ก็จะช่วยเป็นแรงส่งให้ธุรกิจความสำเร็จ

(ที่มาในงานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM ค้นหาวันที่ 12มี.ค.67)

ภาพจาก ระบบสารสนเทศวิสาหกิจชุมชน (SMCE (doae.go.th) ค้นหา 17 มี.ค.67

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมการธิการ คนที่สาม กล่าวย้ำในงานสัมมนาการแก้ปัญหาความยากจน : วิถีสู่ความสําเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี 20พ.ย.2566ว่า โครงการด้านรายได้ หากจะถือว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ควรต้องมีการบูรณาการระหว่าง มหาวิทยาลัย/รัฐ ชุมชน ภาคเอกชน และได้ดำเนินการช่วยเหลือให้ครบถึงบันใด 3 ขั้น ได้แก่

  1. ระดับบุคคลหรือครัวเรือน เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน
  2. รวมกลุ่ม เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ขั้นที่ 1และ2 คือ โอทอป วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เอสเอ็มอี
  3. เครือข่าย เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวกระโดด คือ วิสาหกิจเพื่อสังคม SE

นายอภิชาติ กล่าวข้อค้นพบว่า “กรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มารายงานข้อมูลวิสาหกิจชุมชน ทั้งประเทศมี 80,000 แห่ง หรือเกือบทุกหมู่บ้าน แต่มีกิจกรรมรองรับ 30,000 แห่ง ที่ขับเคลื่อนได้ดีเป็นนิติบุคคล 520 แห่ง”

ข้อมูลการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนออนไลน์ รายงานสถิติข้อมูลของวิสาหกิจชุมชนปัจจุบัน มีกลุ่มอาชีพที่ยื่นจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน 83,457 กลุ่มอาชีพ และ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 619 เครือข่าย

จากงาน Forum เวทีนี้ เห็นความร่วมมือและการบูรณาการจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการดิ้นรนอยากยกระดับของกลุ่มอาชีพในชุมชนให้เข้มแข็ง วิจัยโมเดลแก้จนได้ศึกษาข้อมูลแผนการเงินในการเริ่มทำธุรกิจไว้อย่างดี เหลือแค่นโยบายภาครัฐและการเข้าถึงเงินลงทุน ซึ่งเป็นสายป่านสำคัญที่ยาวพอจะรับความเสี่ยงต่าง ๆ ในระหว่างเดินไปสู่เป้าหมายได้คือ “ธุรกิจเพื่อสังคม

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty  และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ