“เปลว” บ้านที่แท้จริง กับการปกป้องพื้นที่จิตวิญญาณท่ามกลางกระแสท่องเที่ยว

“เปลว” บ้านที่แท้จริง กับการปกป้องพื้นที่จิตวิญญาณท่ามกลางกระแสท่องเที่ยว

ภาพโดย กรรณิการ์ แพแก้ว

“บ้านเรือนอาศัย คือบ้านชั่วคราว หลุมฝังศพ คือบ้านที่แท้จริง ในวันที่ต้องต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวมอแกลน”

ชาวเลมอแกลน บ้านทับตะวัน ต.บางสัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กับการต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่บรรพชน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ จากการรุกรานของกลุ่มทุนที่เข้ามายึดครองที่ดินริมทะเลซึ่งเป็นพื้นที่ “เปลว” หรือ สุสานฝังศพของชาวมอแกลน ที่ฝังร่างผู้วายชนม์มาแล้วถึง 13 รุ่น

ร่างของยายฉา หาญทะเล บรรจุภายในโลงศพแบบพิธีพุทธ เคลื่อนย้ายมายังหลุมฝังของชาวมอแกลนบริเวณหาดมอแกลนปากวีป ต.คึกคัก นำขบวนศพโดย “หมอดอย” หรือ สัปเหร่อ ผู้นำในการทำพิธีฝังศพแบบวิถีมอแกลน การฝังศพผสมผสานความเชื่อของชาวมอแกลนและศาสนาพุทธโดยมีญาติพี่น้องลูกหลานมาร่วมฝังดินกลบปากหลุม และปักธูปเทียนทำความเคารพครั้งสุดท้าย

ภาพโดย กรรณิการ์ แพแก้ว

ยายฉา คือครูภูมิปัญญาในการสร้างเสาพ่อตา เสาที่แสดงถึงบรรพชนผู้ล่วงลับ ได้แก่ พ่อตาสามพัน ครูหอ และตาหมอ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ  โดยในอดีตพิธีฝังศพ จะมีการแห่ร่างจากหมู่บ้านเดินเลียบชายหาดมายังเปลว หากในปัจจุบันไม่สามารถเดินผ่านได้เพราะมีการกั้นแนวเขตของเอกชน

ย้อนไปช่วงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 กวาดบ้านเรือนอาศัยและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่อันดามันหลายจังหวัด จนเกิดเป็นมหากาพย์ของการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิชุมชน และสิทธิในที่ทำกินถิ่นอาศัยของชาติพันธุ์ชาวเลจากกลุ่มทุน แม้จะผ่านมากว่า 15 ปี แต่การต่อสู้เพื่อพิทักษ์รักษาพื้นที่ยังไม่จบสิ้น

การต่อสู้เพื่อพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม คือการเรียกร้องเพื่อรักษาพื้นที่ทางจิตวิญญาณ “บ้านที่แท้จริง” ของชาวมอแกลน จากที่เคยมีพื้นที่กว่า 90 ไร่ ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์อื่นใดด้วยความเคารพและไม่รุกล้ำดวงวิญญาณ ปัจจุบันเหลือเพียง 8 ไร่ ทั้งจากการกัดเซาะชายฝั่ง และถูกรุกประชิดด้วยโรงแรมรีสอร์ทหรูหรา การขยายตัวของการท่องเที่ยวส่งผลให้ที่ดินมีราคาไร่ละกว่า 60 ล้านบาท เป็นโจทย์ยากและท้าทายในการพิทักษ์พื้นที่ทางจิตวิญญาณท่ามกลางกระแสการพัฒนา

ภาพโดย กรรณิการ์ แพแก้ว

เขตวัฒนธรรมพิเศษ ทางออกชาวเลรักษาพื้นที่ทางจิตวิญญาณ

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเลและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ซึ่งปีที่ผ่านมา (2565) ชุมชนมอแกลนทับตะวัน ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นำร่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเลเป็นที่แรก ในงานวันรวมญาติชาเลครั้งที่ 12

โดยแนวคิดเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมหรือเขตวัฒนธรรมพิเศษ ครอบคลุมพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยหรือพื้นที่ตั้งของชุมชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นกลุ่มชุมชน พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยนั้นมีความหมายมากกว่า “บ้าน” และ “ครอบครัว” แต่ครอบคลุมไปถึงความเป็น “ชุมชน” ซึ่งมีภาษา ขนบประเพณี คุณค่าและกติการ่วมกัน

รวมถึงพื้นที่ทำมาหากิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ และเป็นรากฐานของกติกาเพื่อความเคารพในธรรมชาติ และเคารพในสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องและภาพ : กรรณิการ์ แพแก้ว
เรียบเรียงเนื้อหา : กองบรรณาธิการแลต๊ะแลใต้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ