ชาวเลจับมือ 6 องค์กร ชง 4 ข้อเสนอ สู่สมัชชาสุขภาพ หวังลดความเหลื่อมล้ำ

ชาวเลจับมือ 6 องค์กร ชง 4 ข้อเสนอ สู่สมัชชาสุขภาพ หวังลดความเหลื่อมล้ำ

วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ของทุกปีได้ถูกกำหนดเป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก” International Day Of the World’s Indigenous People เพื่อเตือนใจประชาคมโลกว่า ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากทั่วโลกราว 370 ล้านคน กระจายอยู่ใน 90 ประเทศ พูดภาษาที่แตกต่างกันราว 7,000 ภาษา และมีวีถีชีวิต วัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่ที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้มักจะถูกผลักออกให้เป็นคนชายขอบของสังคม อยู่ในสภาวะด้อยสิทธิขาดโอกาสมากกว่ากลุ่มคนอื่นในสังคม

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ร่วมงานภาคใต้แห่งความสุข 2566

ปัจจุบันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยมีประมาณ 60 กลุ่ม ประชากรกว่า 4.2 ล้านคน หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลกว่า 41 ชุมช รวมแล้ว 43 ชุมชน กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้เเก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล มีประชากรราว ๆ14,000 คน  แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ มอเเกน มอเเกลนเเละอุรักลาโว้ย

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความเดือดร้อนของชาวเลในชุมชนต่างๆยังคงหนักหน่วงโดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังต่างๆมีการฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินเดิมของบรรพบุรุษ ได้รับผลกระทบทั้งด้านที่อยู่อาศัยเเหล่งทำมาหากิน ทั้งที่ชาวเลอยู่อาศัยและทำกินมานานหลายชั่วอายุคน อีกทั้งหน่วยงานรัฐออกประกาศเขตอุทยานทางทะเล ทำให้ชาวเลไม่สามารถเข้าไปทำการประมงได้ และยังได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรมหลายเรื่อง เช่น ป่าไม้และทรัพยากร การศึกษา สถานะบุคคลและสัญชาติ ชาวเลจึงได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อผลักดันและเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา

โดยในปีนี้ “วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก” ซึ่งตรงกับงานภาคใต้แห่งความสุขเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคต สุข สู่ สุขภาวะ ครั้งที่ 13 (วันที่ 9-10​ สิงหาคม 2566) ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา มีการประชุมใน 6 ประเด็น พร้อมการนำเสนอผลงานทางวิชาการ โดยเฉพาะประเด็น “สุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน : สิทธิด้านสุขภาพและความมั่นคงในที่อยู่อาศัย” โดยมีผู้แทนจาก 6 องค์กร มีฉันทามติร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสุขภาวะ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน’

ความทุกข์ของชาวเล มีปัญหาที่ทำมาหากิน ปัญหาบัตรหมายเลข 0 ที่จะใช้ในการรักษาพยาบาล

ลาภ หาญทะเล
ชาวมอแกลน บ้านบางสัก จ.พังงา

อยากให้เจ้าหน้าที่หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน

มัด ประมงกิจ
ชาวอูรักลาโว้ย บ้านแหลมตง เกาะพีพี จ.กระบี่

ชูสิทธิสถานะและสิทธิสุขภาพ-สิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน

อรรวรรณ หาญทะเล ชาวเลมอแกลน จ.พังงา กล่าวว่า “หลังจากเหตุการณ์ซึนามิ พวกเราถูกขับไล่ออกจากที่ดินที่เราเคยอยู่อาศัย ถูกดำเนินคดีเพราะอยู่ในบ้านของตัวเอง ถูกข่มขู่คุกคาม ไม่สามารถกำหนดชีวิตได้ เเละถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย เป็นคนล้าหลัง นับถือผี ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มองดูวิถีความเป็นอยู่ที่ความสวยงามของชาวเล ที่ทำหน้าที่คอยดูเเลรักษาทะเล

พวกเรามีคุณค่า เรามีภาษา วัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์ มีการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน”

พร้อมกล่าวขอบคุณหลายองค์กรที่เข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพ ร่วมขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และเสนอกฎหมายเพื่อคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ นำเสนอเรื่องราวของชาวเลให้สังคมได้รับรู้

ทางด้านสายใจ หาญทะเล ชาวเลอุรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่า เกาะหลีเป๊ะไม่ใช่สวรรค์ของชาวเล แต่เป็นสวรรค์ของผู้ประกอบการ บรรพบุรุษของเราอยู่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ก่อนปักปันเขตแดนสยาม แต่ลูกหลานถูกเอกชนอ้างสิทธิและฟ้องขับไล่ จำนวน 54 คน รอบแรก 41 คน มาเพิ่มอีก 13 คน ตนก็ถูกดำเนินคดีด้วย ชาวเลไปหากินในทะเลก็ไม่ได้ ตกปลาก็ถูกอุทยานฯ ห้าม

เช่นเดียวกับหมัด ประมงกิจ ชาวเลอุรักลาโว้ย เกาะพีพี จ.กระบี่ เล่าสะท้อนต่อว่า ชาวเลเกาะพีพีสูญเสียที่ดินของบรรพบุรุษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 เหลือที่ดิน 2 ไร่ 30 ตารางวา อาศัยอยู่ 35 หลังคาเรือน 45 ครอบครัว รวมร้อยกว่าคน เพราะที่ดินมีน้อย ครอบครัวที่แต่งงานแล้วจะอยู่กันหลังละ 2-4 ครอบครัว มีบ่อน้ำอยู่แห่งเดียว ชุมชนถูกล้อมด้วยกำแพงทั้งสามด้าน สามารถเดินลงชายหาดตอนน้ำลงเท่านั้น เนื่องจากตอนน้ำขึ้นไม่สามารถเดินได้ เเละพื้นที่ทำประมงในพื้นที่เกาะต่าง ๆ ถูกอุทยานห้ามไม่ให้เข้าไปทำประมง ต้องหากินแค่หน้าหาดกับหลังเกาะ เท่านั้น”

จากข้อมูลเอกสารประกอบการประชุม ระบุถึงปัญหาหลักของกลุ่มชาวเล ดังนี้

  • ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย มี 25 ชุมชน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง ทั้งที่อาศัยมายาวนาน แต่กลายเป็นที่ดินรัฐหลายประเภท ทั้งป่าชายเลน กรมเจ้าท่า ป่าไม้ เขตอุทยาน กรมธนารักษ์
  • สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน จากการสำรวจพบว่ากำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง มีทั้งการออกเอกสารสิทธิมิชอบทับที่ดิน ถูกรุกล้ำแนวเขต ถูกห้ามฝังศพ ถูกฟ้องขับไล่โดยธุรกิจเอกชนออกเอกสารสิทธิ์มิชอบทับชุมชน มีชาวเลเดือดร้อนมากกว่า 3,500 คน
  • ปัญหาที่ทำกินในทะเล แต่เดิมชาวเลหากินตามเกาะแก่งต่าง ๆ มีชาวเลถูกเจ้าหน้าที่จับกุม พร้อมยึดเรือเพิ่มขึ้น พื้นที่หน้าชายหาดซึ่งทุกคนควรใช้ร่วมกัน ผู้หญิงชาวเลใช้หาหอย หาปู วางเครื่องมือประมง และที่จอดเรือกลายเป็นสิทธิของโรงแรมและนักท่องเที่ยว บริษัทเอกชนพยายามปิดทางเข้า-ออกชายหาด และชาวเลถูกบีบบังคับกดดันไม่ให้จอดเรือ
  • ปัญหาเรื่องการศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม กลุ่มชาวเลส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ขาดความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม ทำให้ภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมกำลังจะสูญหาย
  • ปัญหาเรื่องสุขภาวะ ด้วยปัญหารอบด้านทำให้ขาวเลเกิดความเครียด บางส่วนติดเหล้า มีปัญหาเรื่องสุขภาพต่าง ๆ ตามมา และขาดเรื่องความรู้ในการดูแลสุขภาพและการบริการสาธารณะสุขที่ไม่เพียงพอ

โดยภายในงานภาคใต้แห่งความสุขเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคต สุข สู่ สุขภาวะ ครั้งที่ 13 ตัวแทนชาวเลได้เสนอเชิงนโยบายสมัชชาสุขภาพ ในประเด็นสุขภาวะกลุ่มชาติติพันธ์ชาวเลอันดามัน โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการผลักดันพระราชบัญญัติกลุ่มชาติติพันธ์เพื่อคุ้มครองเขตสังคมวัฒนธรรมชาวเล และชนเผ่าพื้นเมือง จำนวน 4 ด้าน ได้แก่

  1. ข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยการพัฒนาด้านสิทธิสถานะทางทะเบียนและสิทธิในระบบบริการสุขภาพ โดยมีเป้าหมาย คือ ชาติพันธุ์ชาวเลต้องมีสิทธิสถานะทางทะเบียนทุกคน ด้วยการเพิ่มชื่อตาม พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร และกลุ่มชาวเลมีสิทธิในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานและถ้วนหน้า ตลอดจนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองด้วยการทำธรรมนูญสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิม
  2. ข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยมีเป้าหมายเชิงนโยบาย คือ ชุมชนชาวเลมีสิทธิในการปกป้องรักษา ฟื้นฟู ไว้ซึ่งสิทธิชุมชนของตนเอง ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน วีถีชีวิต ภูมิปัญญา
  3. ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะว่าด้วยการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยมีเป้าหมาย คือ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ต้องมีบทบาท หน้าที่ ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ วิถีชีวิตดั้งเดิม วัฒนธรรมและความเชื่อ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านเศรษฐกิจชุมชนชาวเล การศึกษา สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ
  4. ข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยเขตคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีเป้าหมาย คือเพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งสิทธิชุมชนและอัตลักษณ์เฉพาะ จึงให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ดำรงชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี

เจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ประสานงานสมัชชาเชิงประเด็น กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 4 ข้อ ได้ครอบคลุมหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงบประมาณ สปสช. สสส. สช. สธ. พอช. และ สภาพัฒน์ฯ ซึ่งทางคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะประเด็นสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการตอบรับและนำไปสู่การจัดทำแผนงานปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้นี้ และเกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

ข้อเสนอเชิงนโยบายคุ้มครองและส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ในงานภาคใต้แห่งความสุข 2566

ถ้าหากข้อเสนอดังกล่าวนั้นได้รับการตอบรับอย่างเป็นรูปธรรมแล้วนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจะมีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสามารถตอบคำถามต่อประชาคมโลกได้ว่า ประเทศไทยมีแนวนโยบายการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งเป็นการลดช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำ และตอบโจทย์การลงนามความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่

  • การขจัดความยากจน
  • การรับรองการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนทุกช่วงอายุ
  • รับรองการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน
  • บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ พัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง
  • ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
  • ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

อ่านสถานการณ์ชาวเล

เรื่องและภาพโดย : บัณฑิตา อย่างดี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ