วันรวมญาติชาวเลปีที่ 12 เริ่มพื้นที่นำร่องเขตคุ้มครองวัฒนธรรมชาวเลมอแกลนทับตะวัน

วันรวมญาติชาวเลปีที่ 12 เริ่มพื้นที่นำร่องเขตคุ้มครองวัฒนธรรมชาวเลมอแกลนทับตะวัน

รูปวาดกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลน

“อยู่หากินบริเวณทะเลอันดามันมาเป็นเวลานานมากกว่า 300 ปี”

“ปัจจุบันมี 46 ชุมชน กระจายในพื้นที่ 5 จังหวัด (ภูเก็ต พังงา สตูล ระนอง และกระบี่)”

“มีประชากรประมาณ 14,000 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ มอแกน มอแกลนและอูรักลาโว้ย”

จุดเริ่มต้น

การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเลและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ วันนี้ผ่านมากว่า 12 ปี กับชุมชนแรกที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นำร่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม

“เราบันทึกความร่วมมือกับ 2 กระทรวง คือกระทรวงวัฒนธรรม กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะใช้ 14 พื้นที่นำร่อง ตั้งแต่ปี 2563 เรายังเตรียมพร้อมทั้ง 14 พื้นที่ แต่นำร่องพื้นที่แรกที่ชุมชนทับตะวัน”

ไมตรี จงไกรจักร ให้สัมภาษณ์ในรายการคุณเล่า เราขยาย ช่อง Thai PBS

ไมตรี จงไกรจักร จากมูลนิธิชุมชนไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการคุณเล่าเราขยายถึงที่มาที่ไปของการประกาศพื้นที่นำร่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม ที่ชุมชนมอแกลนทับตะวัน เป็นที่แรกโดยเลือกจากความพร้อมของชุมชน ที่เขาอธิบายว่ามีมากกว่าเรื่องของคน

ที่นี่มีคนหลายรุ่น

“ตั้งแต่เยาวชน คนรุ่นกลาง คนรุ่นใหญ่ที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน ที่เข้าใจและร่วมกันทำข้อมูลภูมิปัญญาของชุมชนตัวเองขึ้นมาอย่างชัดเจน เรื่องที่สองคือความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ ในการสร้างพื้นที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดการรับรองและความยั่งยืนเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องที่สามคือเราเริ่มมีความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรที่นำไปสู่พื้นที่ทำมาหากิน และนำไปสู่การทำแผนที่เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน”

ปราชญ์ชุมชน สาธิตการร่อนแร่ให้กับนักท่องเที่ยว

“ส่วนอีกประเด็นคือพื้นที่ทางจิตวิญญาณ เกิดความร่วมมือในการกันพื้นที่ศาลพ่อตาสามพัน พื้นที่ประกอบพิธีกรรม สุสานของชาวเล ทำให้มีองค์ประกอบที่ครอบคลุม ครบถ้วย และมีคน มีข้อมูล ยกระดับไปถึงการสร้างความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากร”

ไมตรี จงไกรจักร

แนวคิดเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม

แนวคิดเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมหรือเขตวัฒนธรรมพิเศษ ครอบคลุม พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยหรือพื้นที่ตั้งของชุมชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นกลุ่มชุมชน พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยนั้นมีความหมายมากกว่า “บ้าน” และ “ครอบครัว” แต่ครอบคลุมไปถึงความเป็น “ชุมชน” ซึ่งมีภาษา ขนบประเพณี คุณค่าและกติการ่วมกัน

รวมถึงพื้นที่ทำมาหากิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ และเป็นรากฐานของกติกาเพื่อความเคารพในธรรมชาติ และเคารพในสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ศาลพ่อตาสามพัน พื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวมอแกลนทับตะวัน

“การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่นพื้นที่จับปลา และยกระดับทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่หากิน จากอาชีพดั้งเดิมพัฒนาสู่การเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิปัญญา ที่เราสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่รองรับผู้สนใจจากทั่วโลก เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ที่มีจุดการเรียนรู้อยู่ 8 จุด”

ไมตรี จงไกรจักร

จากศูนย์การเรียนรู้สู่มอแกลนพาเที่ยว

“บริเวณหน้าชุมชนของพวกเราเป็นหาดทรายที่ทอดยาว มีพื้นที่สำหรับดูพระอาทิตย์ตกตอนเย็น ขยับจากชายหาดมาด้านในจะเป็นที่จอดเรือ เป็นป่าชายเลน ส่วนด้านบนก็จะเป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าวไร่ ปลูกยาง ปลูกผลไม้ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างอาหารทะเล กับชาวสวน”

อรวรรณ หาญทะเล ชาวมอแกลนทับตะวัน เล่าให้ฟังถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในชุมชนของพวกเขา ที่วันนี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนไปพร้อม ๆ กับการรักษาวิถีดั้งเดิมไว้ไม่ให้สูญหาย

อรวรรณ หาญทะเล ชาวมอแกลน ชุมชนทับตะวัน จ.พังงา

“จะมีคนที่ทำหน้าที่ขายโปรแกรมท่องเที่ยว เราก็โพสต์ไปว่าถ้ามาช่วงนี้จะเจออะไร แล้วเราก็จะบอกกับคณะทำงานของเราว่าวันไหนบ้างที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ชาวบ้านก็จะมานั่งวางแผนกันว่าตรงกับช่วน้ำขึ้น-ลงกี่ค่ำ จะพานักท่องเที่ยวไปจุดไหนได้บ้าง ดูว่าทรัพยากรของพวกเราในช่วงนั้นจะมีกุ้ง หอย ปู ปลา และพืชผักตามฤดูกาล แล้วจัดทีมแบ่งหน้าที่กัน มีทีมดูแลความสะอาด มีปราชญ์ชุมชน ซึ่งแต่ละจุดจะเป็นการทำงานร่วมกันของคนสองวัย”

อรวรรณ หาญทะเล

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน มองว่าชาวเลยังคงต้องการการหนุนเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในรเองการพัฒนาศักยภาพทั้งในระดับบุคคล และชุมชน

“ที่ผ่านมาสังคม และประเทศไทยอาจจะรับรู้ว่าชาวเลเป็นกลุ่มเปราะบาง และมีปัญหา ทำให้ถูกมองเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีค่า ทางสังคม ทั้งที่ชาวเลเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอันดามัน และเป็นกลุ่มคนที่มีองค์ความรู้จากภูมิปัญญาของชุมชน แต่เราก็ต้องพัฒนาศักยภาพในด้านการจัดการท่องเที่ยว เนื่องจากเราทำมอแกลนพาเที่ยว และมีกลุ่มคนที่สนใจรูปแบบการท่องเที่ยวแบบที่เราทำจริง ๆ”

ด้านพงศ์เทพ เเก้วเสถียร อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่ทำงานวิจัยกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล มองว่าจุดแข็งของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลคือวิถี และวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มที่สืบทอดต่อกันมา ซึ่งสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าได้พร้อม ๆ กัน

“ชาวเลมีศักยภาพเรื่องการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ซึ่งมองว่านี่เป็นวิถีดั้งเดิมของพี่น้องชาวเล ดังนั้นทุกอย่างที่พี่น้องชาวเลถือปฏิบัติกันมา ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณีลอยเรือ หรืองานประเพณีต่าง ๆ และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ตรงนี้เราสามารถยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนได้”

พงศ์เทพ เเก้วเสถียร
เครื่องดนตรีประกอบการแสดงร็องเง็ง

กลุ่มชาติพันธุ์กับความยั่งยืนในการพัฒนา (SDGs)

“การหยิบทรัพยากรที่มีในทะเล มาแปรรูปขาย ทำให้คุณภาพชีวิตคนรุ่นใหม่ คนในชุมชน ได้สร้างมูลค่าจากคุณค่าของทรัพยากรที่ชุมชนทับตะวันมีอยู่ องค์ประกอบเหล่านี้จึงครบ และครอบคลุม ที่จะนำไปสู่การประกาศเป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเล ในฐานะพื้นที่นำร่อง เพื่อให้หน่วยงานราชการได้เข้าใจบทบาทให้การหนุนให้เกิดพื้นที่เหล่านี้ หัวใจสำคัญคือเราต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้เห็นคุณค่าเหล่านี้ได้ดำรงอยู่” ไมตรี จงไกรจักร เล่าถึงเป้าหมายการพัฒนาชุมชนชาวเลเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในโลกปัจจุบัน

“เรามีแผนจัดการในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับหลายหน่วยงาน เป็นการตอบโจทย์ตัวชี้วัดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งหมดอย่างน้อย 10 ข้อ เราคิดว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกันชุมชนได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และตอบโจทย์ตัวชี้วัดของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย”

ไมตรี จงไกรจักร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ