เมื่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ต.ขุนน่าน และ ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ จากวิกฤตมลพิษข้ามพรมแดน การเพาะปลูกเพื่อหารายได้กลับมีผลผลิตน้อยลงเรื่อย ๆ แม้กระทั่งการหาอยู่หากินในลำห้วยก็ดูเป็นเรื่องยากลำบาก ด้วยความสงสัยและต้องการหาคำตอบ ทำให้ชาวบ้านมีการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์พลเมือง จากการเก็บข้อมูล บันทึกข้อมูล และสื่อสารข้อมูลที่เกิดขึ้น ทำให้เสียงพวกเขาไม่เงียบอีกต่อไป
คำโปรยสารคดีเรื่อง “Voice of Borderland ชายแดนไม่เงียบ” ถูกโพสต์ประชาสัมพันธ์พร้อมโปสเตอร์หนังในเฟซบุกแฟนเพจ เรื่องนี้ฉายเถอะคนหาดใหญ่อยากดู ที่ปกติจะฉายหนังและสารคดีนอกกระแสอยู่แล้ว และเป็นชุมชนคนดูหนังในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการฉายอย่างเป็นทางการครั้งแรกของสารคดี ที่ร่วมผลิตระหว่างภาคีเครือข่ายโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส และผู้กำกับ และ ธีรยุทธ์ วีระคำ ผู้กำกับสารคดี
“Voice of Borderland ชายแดนไม่เงียบ ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวของเสียงเล็ก ๆ ของชุมชนลัวะ (อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน) ซึ่งอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านคือ สปป.ลาว และกำลังมีข้อกังวลใจในการได้รับผลกระทบจากกรณีโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแล้วในฝั่งลาว พวกเขากำลังตั้งข้อสงสัย ตั้งข้อสังเกตกับสิ่งที่พวกเขาเผชิญอยู่ แต่ความน่าสนใจของสารคดีเรื่องนี้ ในฐานะคนที่ได้ลงพื้นที่ไปเจอ คือเมื่อชุมชนเห็นสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของบ้านตัวเอง แทนที่จะตั้งข้อสังเกต หรือพูดคุยกันในวงเล็ก ๆ แต่เป็นการสร้างเครือข่ายนักวิจัย มหาวิทยาลัย มาชวนกันสร้างเครื่องมือแล้วเก็บข้อมูลเหล่านั้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการนำไปพูดคุย แลกเปลี่ยน สร้างความเข้าใจร่วมกันต่อไป”
ธีรยุทธ์ วีระคำ ผู้กำกับสารคดี Voice of Borderland ชายแดนไม่เงียบ
ธีรยุทธ์ เล่าถึงเรื่องย่อของสารคดีเรื่องนี้ในฐานะผู้กำกับ และลงไปคลุกคลีกับชุมชน และจุดต่าง ๆ ที่ปรากฏในสารคดี กับเวลากว่า 1 เดือนในการเดินทางบันทึกเรื่องราว และมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสารคดีนั้นเกี่ยวข้องกับตัวเขาเองและคนในพื้นที่อื่น ๆ เช่นกัน
ธีรยุทธ์ เล่าต่อว่า “บาดแผลหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจุดไหน ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีส่วนร่วมหรือเราอยู่ห่างไกลจากมัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงเรื่องทางกายภาพเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควัน ทิศทางลม กระแสน้ำ ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน แม้ประเด็นที่เกิดขึ้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ที่อยู่ชายแดนฝั่งหนึ่งของประเทศ ถึง อ.จะนะ จ.สงขลา ที่อยู่ภาคใต้เกือบสุดชายแดนเช่นกัน ผมมองว่ามันมีความเกาะเกี่ยวกันในบางอย่าง”
สารคดี Voice of Borderland ชายแดนไม่เงียบ เลือกฉายเปิดตัวครั้งแรกกับคนดูหนังกลุ่มเล็ก ๆ ในหาดใหญ่ และชาวบ้านที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ด้วยความหวังที่จะให้สารคดีเรื่องนี้ทำหน้าที่ของตัวเองผ่านงานสื่อสารที่ค่อย ๆ สร้างการพูดคุย แลกเปลี่ยนในจุดร่วม และบางประเด็นของหนังกับคนในสังคม หรือชุมชนนั้น
“นี่จะเป็นการทำหน้าที่ของหนังเรื่องนี้ เพราะความคาดหวังคือการได้ฉายในชุมชน แล้วมีคนในชุมชนดู และนำไปสู่กระบวนการพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองกันหลังจากดูหนังเสร็จ ผมว่านี่จะทำให้สารคดีเรื่องทำหน้าที่ของตัวเองได้สมบูรณ์มากขึ้น” ธีรยุทธ์ วีระคำ ทิ้งท้ายถึงความคาดหวังจากสารคดีชิ้นนี้
การที่มีสื่ออย่างหนัง หรือสารคดี เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะสื่อให้คนทั่วไปได้รู้และเข้าใจง่าย คือสามารถดูแล้วนำกลับมาคิดถึงชีวิตของพวกเขาเอง ผมเคยไป อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน พื้นที่ชุมชนของพวกเขาจะเป็นลักษณะแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะมีบางฤดูกาลที่ลมพัดมาถึงพี่น้องในพื้นที่ตรงนั้นด้วย ทำให้ตะกอนของมลพิษตกลงในชุมชน ผมว่านี่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ ชุมชนต้องเจอผลกระทบอย่างมาก ผมไปอยู่ 5 คืน ก็มีความรู้สึกแน่นหน้าอก
รุ่งเรือง ระหมันยะ ชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา
รุ่งเรือง ระหมันยะ หรือบังนี ชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา เล่าถึงครั้งที่เขาเคยเดินทางไป อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชุมชน ทำให้เขายังคิดถึงความรู้สึก และภาพจำครั้งที่ได้เดินทางไปสัมผัสพื้นที่ด้วยตัวเองกลับมาหาเขาอีกครั้งหลังได้รับชมสารคดีเรื่องนี้
เมื่อมองถึงการเผชิญหน้าของชุมชนกับโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้น ชุมชนลัวะ ใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน คงไม่ต่างอะไรมากกับบ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา ที่บังนีอยู่อาศัย เพราะจุดนี้ก็เป็นพื้นที่เป้าหมายโครงการพัฒนาระดับภูมิภาคในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อประเมินข้อมูลอย่างรอบด้าน ขณะเดียวกันชุมชนก็กำลังเดินหน้าทำงานฐานข้อมูลชุมชนอยู่เช่นกัน
“จริง ๆ หลายพื้นที่ในบ้านเรามีปัญหา และพยายามดิ้นรนไปสู่ทางออกด้วยหลาย ๆ วิธีด้วยกัน แต่วิธีที่น่าจะเป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุดคือการทำให้เกิดการรับรู้ร่วมกัน การทำให้เกิดฐานข้อมูลที่สามารถตรวจทานทางวิชาการ แบบที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ด้วยความรู้สึก เป็นข้อมูลจริง ๆ ซึ่งชุมชนอาจจะไม่มีองค์ความรู้ แต่ก็สามารถขอความร่วมมือกับองค์กรที่มีความรู้อย่างสถาบันการศึกษา ที่อาจจะเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่จะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ ถ้าเราสามารถสร้างส่วนนี้ได้ และสร้างให้เกิดการรับรู้ร่วมกันได้ ผมเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดนี่จะเป็นฐานที่จะทำให้เกิดการต่อรองเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”
บัญชร วิเชียรศรี
บัญชร วิเชียรศรี นักจัดรายการวิทยุสถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่ หนึ่งในผู้ชมสารคดีรอบแรก มองว่างานข้อมูลของชุมชน มีความสำคัญต่อการกำหนดอนาคตของชุมชนได้ เพราะหากชุมชนรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของบ้านพวกเขาอยู่ตลอดและเก็บบันทึกทุกความเปลี่ยนแปลงไว้ ข้อมูลเหล่านี้จะมีนัยสำคัญในการต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนจากโครงการพัฒนาที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตและทรัพยากรในพื้นที่
“เราไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาในชุมชนเราก่อน ทุก ๆ ชุมชน ทุก ๆ ท้องถิ่นควรจะเก็บข้อมูลเป็นของชุมชนเอง เพื่อประโยชน์ของชุมชนเอง ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบ(ต่อชุมชน) เพราะถ้าเรานับหนึ่งก่อน เมื่อเรานับถึงสิบแล้ว กลุ่มทุนหรือโครงการพัฒนาฯ อาจจะเพิ่งเริ่มต้นนับหนึ่ง แล้วถ้าเราสามารถเทียบเคียงความเปลี่ยนแปลงที่เลวร้ายลงได้ มันจะยิ่งส่งผลต่อการต่อสู้ของชุมชนมากขึ้น”
“ถ้าข้อมูลเหล่านี้ถูกทำอย่างถูกต้องและมีฝ่ายวิชาการสามารถมายืนยันข้อมูลเหล่านี้ได้ เมื่อข้อมูลถูกส่งออกไปจะต้องเกิดผลอะไรสักอย่างขึ้นแน่นอน แต่ว่าพลังนั้นจะมากเพียงพอหรือเปล่าที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะกรณีที่เกิดกับชุมชนที่นี่เป็นเรื่องของโรงไฟฟ้า ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และไม่ได้อยู่บ้านเราด้วย(ตั้งอยู่ต่างประเทศ) แต่คนบ้านเราได้รับผลกระทบเพราะอยู่ในรัศมีที่ได้รับผลกระทบ ทำอย่างไรให้เรื่องที่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อของรัฐ จะมีการพูดคุยกันระหว่างรัฐ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่มองแค่ผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่อยากได้อย่างเดียว” บัญชร ทิ้งท้ายถึงการทำให้งานข้อมูลชุมชนมีความหมาย และสามารถแก้ปัญหาให้กับพื้นที่ได้
“รู้สึกดีใจอยู่เรื่องหนึ่งสำหรับสารคดีเรื่องนี้ คือตอนนี้ชุมชนเริ่มรู้ตัว แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือชุมชนพยายามช่วยกันทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น คือการที่ชุมชนให้ความร่วมมือและรับรู้ว่ามีปัญหานี้อยู่ แล้วจะทำอย่างไรให้คนในโลกรับรู้ถึงปัญหานี้ แม้เราจะยังไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าชุมชนพยายามเก็บข้อมูล สิ่งหนึ่งที่เราพยายามพูดตลอดเวลาคือ ถ้าชุมชนรู้แล้ว ให้ความร่วมมือและเก็บข้อมูล จะทำให้ต่อไปมีการขยาย(ข้อมูล)ในสิ่งที่ดี”
กัมปนาท วงษ์ชนะ
กัมปนาท วงษ์ชนะ ผู้ชมชาวหาดใหญ่ อีกรายที่มองว่าสารคดีเรื่องนี้มีความน่าสนใจในการเล่าวิธีการค้นหาคำตอบของชุมชน เมื่อพวกเขาสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดของพวกเขา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันของคนทั้งประเทศ
“เริ่มจากคนของตัวเองก่อน เริ่มจากชุมชนก่อน ซึ่งเห็นแล้วว่าตอนนี้คนในชุมชนเริ่มแล้ว ทำอย่างไรให้มันขยาย(การรับรู้) โจทย์ถัดไปจากตรงนี้คือทำอย่างไรให้ไม่ใช่แค่อาสาสมัคร 2 คน แต่กลายเป็นคนทั้งหมู่บ้าน ทั้งชุมชน แล้วทำให้ขยายการรับรู้กว้างขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดการถกเถียง จัดการแก้ปัญหาร่วมกัน” กัมปนาท เล่าต่อ
“ด้วยระบบของประเทศนี้ที่เป็นการทำงานด้วยระบบจากข้างบนลงล่างอยู่แล้ว (top down) อย่างบ้านเราเองก็มีหลาย ๆ พื้นที่ ที่กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว เราไม่มีทางที่จะรู้ว่าสภาพความเป็นจริงของตรงนั้นเป็นอย่างไร เรารับทราบได้เพียงจากข่าว เหมือนกันกับการพูดถึงสามจังหวัดชายแดนใต้ ถ้าคุณเป็นคนกรุงเทพฯ คนภาคเหนือ หรือพื้นที่อื่น ๆ ก็จะพูดถึงแค่เรื่องความรุนแรง ความก้าวร้าว ซึ่งสารคดีเรื่องนี้ทำให้เรารับรู้มากขึ้นว่า จริง ๆ แล้วพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างไร”
กัมปนาท วงษ์ชนะ
กัมปนาท มองว่าสารคดีช่วยให้เขาเห็นและเข้าใจคนในพื้นที่ตรงนั้น (อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน) มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันเขาก็มองว่าสารคดีก็เป็นส่วนหนึ่งให้เขาต้องไปหาข้อมูลของเรื่องนี้เพิ่มเติมในอีกหลาย ๆ ด้าน ที่สารคดียังไม่ได้พูดถึง
“สารคดีอาจจะทำให้คนรับรู้มากขึ้น แต่ข้อด้อยอย่างหนึ่งของสารคดีมันคือการสื่อสารจากมุมมองของคนคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเราดูเสร็จแล้ว เราจะไม่ตัดสินเรื่องราวนั้น เราแค่รับรู้ว่านี่คือข้อมูลอีกด้านหนึ่ง แล้วถ้าเราสนใจเรื่องนี้เพิ่ม เราก็จะไปหาข้อมูลด้านอื่น ๆ อีก แล้วเราก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาดูอีกทีว่าเรื่องนั้นเป็นอย่างไร เรามองว่าหนังทุกเรื่องคือมุมมองแค่มุมหนึ่ง มีความรอบด้านแค่ไหน” กัมปนาท กล่าวทิ้งท้าย
ตัวอย่างสารคดี Voice of Borderland ชายแดนไม่เงียบ
บรรยากาศการพูดคุยหลับชมสารคดีจบ