ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตชาวเลกับการท่องเที่ยวอันดามัน

ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตชาวเลกับการท่องเที่ยวอันดามัน

ชุดการเเสดงพื้นบ้านชาวเล รองเเง็ง ของเยาวชนชาวอูรักลาโว้ย ในชุมชนโต๊ะบาหลิว ต.ศาลาด่าน  อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เปิดต้อนรับกลางศาลาเล็กๆหมู่บ้านให้ได้ชื่นชมความงดงาม สุดประทับใจ  เดี่ยว ทะเลลึก ชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่า การแสดงศิลปวัฒนธรรมรองแง็งเป็นการแสดงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีลักษณะเฉพาะพื้นที่ชาวเล ใน 3 จว.สตูล ภูเก็ต และ กระบี่ โดยใช้ภาษามลายูขับร้องส่วนใหญ่การแสดงรองแง็งจะแสดงเฉพาะงานประเพณีลอยเรือเป็นการแสดงความเคารพต่อท้องทะเล งานแก้บน เเละงานสำคัญๆ ซึ่งการเเสดงเเบบนี้เเทบจะหาดูได้ยาก ต้องตั้งใจมาเที่ยวมาสัมผัส

หมู่บ้านโต๊ะบาหลิวแห่งนี้ยังคงหลงเหลือรูปแบบของบ้านชาวเลดั้งเดิมเส้นทางเดินเข้าไปในหมู่บ้าน จะเป็นทางเดินเล็กๆ มีนิเวศป่าชายเลนโอบล้อมสองเส้นทาง เดินเข้าไปประมาณ 200 เมตร ก็เจอหมู่บ้านชาวเลบ้านโต๊ะบาหลิวที่อาศัยอยู่ติดชายทะเลของเกาะลันตา มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายรักสงบเสน่ห์อีกอย่างของการมาเที่ยวชมชุมชนบ้านโต๊ะบาหลิวนั้นจะเจอกับศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว เป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเลอุรักลาโว้ย เป็นศูนย์กลางของชุมชน ในการขอพรและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ไกลจากหมู่บ้านก็จะเป็นย่านชุมชนการค้าของนักท่องเที่ยวมีการขยายตัวเข้ามาใกล้หมู่บ้านมากขึ้น ทุกวันนี้ชาวบ้านประกอบอาชีพประมงบ้างเเละบางส่วนทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ก่อสร้างและลูกจ้างร้านอาหาร

การมาเยือนของรายการฟังเสียงประเทศไทยวันนี้ก็มาพร้อมกับตัวแทนของพี่น้องชาวเลใน 5 พื้นที่ ภูเก็ต พังงา สตูล ระนอง และกระบี่ ถือโอกาสนี้กลับมาเยื่อมพี่น้องชาวเลในพื้นที่เกาะลันตา ปกติเเล้วจะเจอกันในวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลที่จัดขึ้นปีละครั้งเท่านั้น การเจอกันครั้งนี้นอกจากจะทำให้มีความสุขไม่น้อยเเล้ว พวกเขายังได้ร่วมกันล้อมวงคุย มองอนาคตชาวเลกับการท่องเที่ยวไปพร้อมๆกันด้วย

“เราเป็นบุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก” ทุกวันนี้เราทำมาหากินในทะเลแคบลงเรื่อยๆ เป็นคำพูดของพี่สนิท เเช่ซั่ว ชาวเลชุมชนหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต เล่าว่า เราเป็นชาวเล มีวิถีหากินกับทะเล ส่วนหนึ่งเราก็ทำเรื่องอนุรักษ์ทะเล ใน 2 ฤดูกาล ช่วง ลมมรสุมฤดูตะวันตก เราหยุดออกทะเล เรามีการปรับเปลี่ยนวิถี ในการทำงาน หลังเรามีมติครม.ใน ปี 53 เป็นการรองรับอีกแบบที่ไม่ใช่กฎหมาย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สุดได้ ที่ผ่านมาเราเริ่มที่จะรู้ว่าเราจะทำอะไรบ้าง  เลยเป็นการรวมกลุ่มของชาวเลทั้งอันดามัน เป็นการเสนอปัญหาให้รัฐบาลช่วยกันแก้ไขปัญหา ให้รู้จักชาวเลมากขึ้น วิถีการทำมาหากินของเรา เราเป็นบุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก กฎหมายออกมาทำให้พี่น้องชาวเลถูกควบคุม โดนจับ จากการออกไปทำมาหากินในทะเล และที่สำคัญแหล่งทำมาหากินของเราแคบลง เชื่อไหมว่าตอนนี้ 80 % พี่น้องชาวเลทำอาชีพรับจ้าง อีก20 % มีเรือทำประมง ทำสวนเเละเปิดร้านขายของ เพราะการไปทำอาชีพรับจ้างทำให้พี่น้องไม่โดนจับแน่  

ถ้ามีการผ่อนปรน อนาคตข้างหน้าทำให้เราทำงานใช้ชีวิตแบบสงบสุข ไม่มีใครรุกรานเรา มองว่าตรงนี้เราต้องร่วมมือ ในการคุย การเจรจา ออกแบบ เพื่อให้พี่น้องที่ประมงชาวเลมีวิถีวิตอยู่ได้และอุทยานก็อยู่ได้  อย่างการสร้างบาฆัดพื้นที่อ่าวโล๊ะลาน่า ของพี่น้องเกาะจำ มีการไล่รื้อ โดยที่เขาไม่รู้ว่าวิถีชีวิตของพี่น้องอยู่กันแบบไหน เราอยากผลักดันนโยบายต่าง ๆที่เกี่ยวกับชาวเล เพื่อให้ชาวเลของเราอยู่ได้ อย่างตอนนี้เราผลักดัน กฎหมายพรบ. ของชาติพันธุ์ชาวเล เพื่อให้มีการแก้ไข มีการดูแล ผ่อนปรน หาทางออกด้วยกันอย่างเข้าใจกัน

“การให้ความสำคัญในการรับรองสิทธิ ทำให้เขามีหลังพิงที่แข็งแรงและเขาก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดเรื่องอื่นๆได้ เป็นคำพูดของ อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มนุษย์วิทยาสิรินธรเล่าว่า การรับรองสิทธิพี่น้องชาวเลในพื้นที่อนุรักษ์ เป็นการวางฐานให้เขามั่นคงในชีวิต เมื่อเขามีความมั่นคงในชีวิตเขาก็จะมีศักยภาพอื่นๆที่จะกำหนดอนาคตต่อไปได้ เช่นเรื่องการจัดการท่องเที่ยว การยกระดับเยาวชนเข้ามาสมีส่วนร่วม หลังพิงเขาไม่แข็งแรงพอเขาจะทำอะไรก็ลำบาก จะทำการท่องเที่ยวก็ไม่มั่นใจว่าจะทำได้จริงไหม จะเอาเยาวชนมาทำเยาวชนก็ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ยืนยาวมากน้อยแค่ไหน แต่การรับรองสิทธิเขาให้เขาอยู่ได้ เป็นการการรันตีให้ว่ามันมีความมั่นคง  อยากให้รัฐปรับทัศนะคติ  มุมมองของรัฐการอนุรักษ์ของรัฐไม่ใช่การสงวนรักษา แต่มันควรที่จะอนุรักษ์แบบเข้าใจ ว่ามันสอดคล้องกับวิถีคนอย่างไร

  • การอนุรักษ์ไม่ใช่แค่พื้นที่ แต่พื้นที่มันมีวิถี วัฒนธรรม ควรที่จะทำควบคู่กันไปส่วนสำคัญเมื่อเกิดการคุ้มครองของทั้งพื้นที่ ทั้งวิถีชีวิต คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ก็จะใช้ของที่มีมาพัฒนาพื้นที่เกิดความยั่งยืน

เราทำเรื่องนี้มา12ปี สิ่งที่ชาวเลเจอเรื่องที่ทำกิน ปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาเดิม และจะมีปัญหาอื่นๆตามมา จริงๆแล้วเขามีศักยภาพมากๆ ชาวเลมีความสามารถที่จะวิเคราะห์ได้แล้วว่าเขามีทุนอะไรบ้างในชุมชน และที่สำคัญเขาสามารถออกแบบได้แล้วว่าเขาจะทำงานอะไรในชุมชนได้บ้าง เราไม่เคยเปิดโอกาสให้เสียงของเขามันดังขึ้น  หัวใจสำคัญของการทำงานเรื่องนี้คือการยอมรับฟังเสียงของเขา เชื่อมั่นศักยภาพของเขาให้เขาเลือกใช้ชีวิตได้เอง รัฐทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงภาระของรัฐก็จะน้อยลง

ศิริทิพย์ แป้นคง เจ้าหน้าที่ชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ เล่าเสริมพี่สนิทว่า วิถีวัตนธรรมของพี่น้องชาวเลต้องไม่ปลี่ยนแปลง การประกอบอาชีพ การอนุรักษ์ฟื้นฟู เป็นวิถีของเขาในการดูแลรักษาทรัพยากรชาวเลมีวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่เข้มแข็ง วิถี วัฒนธรรมประพณี สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับ การท่องเที่ยว พี่น้องชาวเล ไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานข้างนอก การได้ประกอบอาชีพที่เรารัก การมีพื้นที่ทำกินมีความภาคภูมิใจในวิถีการอยู่การกิน เราต้องประกาศความเข้มเข็งให้โลกรู้ เรามีชาติพันธุ์ของเรา ที่สามารถสร้างมูลค่าทางวัฒนธรรม  

“มองว่าวิถีความเป็นชาวเล มันจะไปสอดคล้องกับการท่องเที่ยวสร้างสรรค์” เป็นคำพูดของ คุณพงศ์เทพ เเก้วเสถียร อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานีและเป็นนักวิจัยที่มีประสบการณ์ร่วมในการทำงานกับเครือข่ายชาวเลในอันดามันกล่าวว่า ชาวเลมีศักยภาพ ส่วนตัวแล้วเคยออกทะเลกับชาวเล และมีโอกาสไปร่วมพิธีลอยเรือ มีโอกาสไปสัมผัสวิถีชุมชน ที่พังงา ภูเก็ต บอกได้เลยว่าถ้ารัฐจริงใจในเรื่องนี้ การท่องเที่ยวชาวเลดีกว่าการท่องเที่ยวกระแสหลัก มองว่าวิถีความเป็นชาวเลมันไปสอดคล้องกับการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เราไปเที่ยวแล้วเราได้สัมผัสเราได้เรียนรู้ ทำกิจกรรมร่วมกันกับพี่น้องชาวเลออกไปวางไซหมึก นักท่องเที่ยวก็ไปวางไซหมึกด้วย พี่น้องชาวเลจัดงานลอยเรือ เปิดให้นักท่องเที่ยวไปร่วมตั้งแต่ 12 ค่ำ  ไปจัดเตรียมอุปกรณ์ แห่เรือ อันนี้ผมเห็นว่าเป็นการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์  กิจกรรมการท่องเที่ยวกระแสหลักหลักในภาคใต้ตอนนี้รัฐมองแค่รายได้  แต่รัฐไม่ได้มองว่าชุมชนจะได้อะไร การที่รัฐเข้ามาสนับสนุนนการท่องเที่ยวนอกจากได้รายได้แล้วยังการยกระดับพี่น้องชาวเลมันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก

การให้คุณค่ากับความเป็นท้องถิ่นดั้งเดิมผมมองว่า มันจะเป็นการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวได้ดีที่สุด

เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนควรจะหนุนเรื่องของ ทำยังไงให้ความเป็นวิถี ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชูขึ้นมา จาการทำวิจัยในพื้นที่ของพี่น้องชาวเล พบว่าประเด็นสำคัญที่ผลักดันเรื่องนี้ได้ จะต้องมีองค์กรที่เข้ามาผลักดัน ต้องมีหน่วยงานหลักที่มารับผิดชอบพี่น้องชาวเลโดยตรง ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวหรือโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องดูแลในภาพรวมของชาวเล

การกระจายอำนาจที่กำลังทำ ถ้าเปิดโอกาสให้กับท้องถิ่น โดยเฉพาะอบต. หรืออบจ. ได้มีบทบาท ในการดูแลพี่น้องชาวเล ผมเชื่อว่ากระแสของการท่องเที่ยวของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมจะถูกจุดประกายขึ้นมาและยั่งยืน

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า ตอนนี้เราอยากบอกว่าโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงเสื่อมสภาพ คนทั้งโลกให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติแบบยั่งยืน เกิดปฏิญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยวิถีชนเฝ่าพื้นเมือง ยอมรับว่าวิถีชนเผ่าพื้นเมือง เป็นวิถีที่สอดคล้อง และชาวเลก็เป็นชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นมอแกน มอแกลน และอุลักราโว้ย วิถีชาวเลจึงเป็นวิถีที่ทำให้โลกยั่งยืน เราจะเห็นว่าSDG ที่ออกมาทำให้คนอยู่ได้ยั่งยืนและมีความสุข หัวใจของทุกปัญหาของพี่น้องชาวเล อยู่ที่เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวบนการคุ้มครองทางวัฒนธรรมเราน่าสนใจ มีคนจากต่างประเทศเข้ามาเที่ยว นักเที่ยวที่มาไม่ได้ต้องการมาเที่ยวแบบที่ประเทศนี้จัดสรรค์ให้ ยังมีอีกหลายแบบที่เราต้องเสนอนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นทางเลือก การท่องเที่ยวของเราคือท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ไม่ใช่การอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยว

จะเห็นว่ามีกลุ่มนักวิชาการลงมาทำข้อมูล เห็นความเป็นไปได้ เห็นศักยภาพของชาวเล ที่จะทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน แต่ที่เรายังเห็นไม่ชัด คือแผนของหน่วยงานรัฐที่จะยกเป็นนโยบายหนุนเสริมเรื่องของชาวเล การจัดการพื้นที่

ถ้าเราทำถามว่ามีโอกาสไหม ตอบเลยว่ามีโอกาส เรามีภาพฝันว่าบ้านและระบบนิเวศชุมชน คงอัตลักษณ์โดดเด่นตามวัฒนธรรม จัดออกมาส่วนผสม ป่าธรรมชาติ ทะเลยั่งยืน อาหารสมบูรณ์มาเที่ยวกับชาวเล ชาวเลเป็นสังคมสงบสุข เพราะฉะนั้นการมาเที่ยวกับชาวเล จะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย

สุดท้ายชาวเลต้องได้รับการเติมศักยภาพ หลายพื้นที่เริ่มขยับ อย่างทับตะวันก็ทำเรื่องมอแกลนพาเที่ยว ทำเรื่องการแปรรูปอาหารทะเล เกาะจำ เริ่มทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชนเเล้ว

ไมตรี จงไกรจักร์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวเลกล่าว่า  มันเป็นภาพมายาคติของสังคมไทย ประเทศเราทำไมสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐสามารถลงทุนเป็นแสนล้านได้ มันดูจะเกิดประโยชน์กับคนทั้งประเทศ เเต่ก็เกิดประโยชน์แค่คนบางกลุ่ม เเล้วเราจะทำเขตคุ้มครองและส่งเสริมวัฒนธรรมชาติพันธ์ทำไมดูยากจัง แค่ต้องการสิทธิเดิมของเขาคืนมาจากวันนั้นถึงวันนี้ เราอยากบรรจุให้อยู่ในนโยบายของรัฐบาล เรามีแผนปฎิรูปประเทศระยะเร่งด่วน ที่บอกว่าจะมีพ.ร.บ.ส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ภายในปี 2565 เรามีมติ ครม.2553 เรามีรัฐธรรมนูญมาตรา70 พอจะออกกฎหมายก็ยังมีข้อจำกัดตรงที่คนหรือหน่วยงานที่มีทัศนคติ ต้องคุ้มครองอะไรเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน 

อันนี้คิดว่าจุดตั้งต้นที่ทำให้พี่น้องเชื่อมโยงเครือข่ายและผลักดันมาถึงทุกวันนี้ กฎหมายฉบับนี้เราคาดหวังสูงมากเหมือนการกระจายอำนาจ การจัดการทรัพยากรให้ชุมชน ได้ใช้ทรัพยากร วิถีชีวิตในพื้นที่นั้นให้เหมาะสมสอดคล้อง 

  • สิ่งแรกเราต้องสร้างคน ให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในทุกระดับ ทุกช่วงวัย ให้เกิดการเรียนรู้ และภาคภูมิใจในวิถีอัตลักษณ์ของตนเอง
  • เราจะใช้ทรัพยากรสร้างคุณค่า เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับคนในพื้นที่นั้นได้มีประโยชน์จากการใช้ทรัพยากร
  • เราต้องเปิดให้คนเข้ามาเรียนรู้ ไม่ใช่เปิดเพื่อมาดูปัจจุบันหน่วยงานบางหน่วยงานเปิดพื้นที่ชุมชนชาวเลให้คนมาดู ไม่ใช่มาเรียนรู้ เราต้องทำให้มาเรียนรู้ เกิดการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน

และสุดท้ายชุมชนต้องเป็นผู้กำหนดจัดการในระบบฐานจัดการทรัพยากร นำไปสู่การสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยว นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ชุมชนต้องยกระดับ ถามว่าไปถึงไหม  ตอนนี้เรากำลังเตรียมตัวเพื่อไปถึงภาพนี้ ตอนนี้คนรุ่นใหม่ กำลังลุกขึ้นมาจัดการ และอีก 5 ปีข้างหน้า จะไม่เหมือนเดิม ระบบโซเชียลมีเดีย ระบบการสื่อสารจะไปเร็ว การเปลี่ยนแปลงในทุกช่วงคนรุ่นใหม่ต้องเข้ามาสู่การจัดการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยการใช้โซเชียลมีเดียในอนาคต

เช่นเดียวกับคุณอำนาจ จันทร์ช่วง มูลนิธิชุมชนไท มองว่าเรื่องของคน เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะไปต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่ทำกินพื้นที่อนุรักษ์ เรื่องศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะมีสิทธิได้เข้าถึง และมีส่วนร่วมในการออกแบบของตัวเองร่วมกับทางพี่ ๆ พ่อแม่  เป็นจุดคลิ๊กสำคัญที่จะไปต่อ ของการเสริมพลังทั้ง 5 จังหวัด คนรุ่นใหม่มีความพร้อมมีศักยภาพ มีช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็ว  มีวิถีชีวิต มีความคิดใหม่ๆ ที่จะเสนอสู่สังคมสาธารณะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น  การเชื่อมโยงคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องวิวัฒนาการของคน เช่น ประวัติความเป็นมา ที่อยู่อาศัย สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่มีอยู่ รวมถึงวิถีวัฒนธรรมที่ต้องสืบทอดอย่างจริงจัง ถือเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  

วันนี้ยอมรับว่า ช่องทางการสื่อสารทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย ถ้าเรามีการรวมกลุ่ม พัฒนาศักยภาพ มีการสืบทอดจากคนรุ่นเก่าไปยังคนรุ่นใหม่ ที่ทำต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และที่สำคัญกลุ่มเยาวชนจะเป็นกำลังสำคัญ ในการถ่ายทอด เราอาจจะพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว คุณภาพชีวิต พัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยที่ดี แต่เรื่องวิถีชีวิต เรื่องจิตใจ เรื่องการสืบทอด จิตวิญญาณของพี่น้องชาติพันธุ์ชาวเลสำคัญที่สุด ประสบการณ์จากที่ทำงานมาหลายสิบปี การหนุนเสริมศักยภาพ

ผมมองว่า ณ ตอนนี้ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด ทั้งอันดามัน มีความพร้อมพอสมควร ที่จะไปต่อ ถ้าเราส่งเสริมสนับสนุนได้ตรงจุด

หากย้อนกลับไป หลังคลื่นยักษ์สึนามิ ชื่อของชาวเลอันดามันเป็นที่รู้จักมากขึ้นพร้อม ๆ กับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงในระดับโลก

จากบันทึกชาวเลชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม มีวิถีชีวิตผูกพันกับทะเลมาประมาณ 300 ปี ตามเกาะน้อยใหญ่ในแถบอันดามัน และมีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะของตนเอง

ภาพรวมข้อมูล “ชนเผ่าพื้นเมือง” มากกว่า 70 กลุ่มชาติพันธุ์ หรือประมาณ 6.1 ล้านคนในประเทศไทย หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลกว่า 41 ชุมชน กระจายในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ อย่าง ภูเก็ต พังงา สตูล ระนอง และกระบี่  มีประชากรราว ๆ14,000 คน  แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ

  • มอแกน เป็นกลุ่มชาวเลที่มีวิถีการหากินกับทะเลมากกว่าบนฝั่ง ส่วนใหญ่ยังพูดภาษามอแกน  เช่น เกาะเหลา เกาะสินไห เกาะช้าง กาะพยาม จังหวัดระนอง และหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา
  • มอแกลน เป็นกลุ่มชาวเลที่มีวิถีผสมผสานกับสมัยใหม่ ตั้งบ้านเรือนอยู่ชายฝั่งทะเล
  • อูรักลาโว้ย เป็นชาวเลที่มีภาษาพูดเฉพาะแตกต่างจากมอแกน และมอแกลน  อาศัยอยู่บนเกาะต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่

ก่อนหน้านี้ชาวเล เดินทางอพยพไปตามที่ต่าง ๆ ได้บ่อยครั้ง พบปะปฎิสัมพันธ์กับกลุ่มชาวเลด้วยกัน พ่อค้าคนกลางคนในท้องถิ่นใช้วิถีชีวิตแบบโยกย้าย เดินทางไปมาตามเกาะต่าง ๆ  ฤดูฝนก็จะตั้งเพิงพักชั่วคราว “บากั๊ด”

ปัจจุบัน ชาวเลส่วนใหญ่ยังคงตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งหรือบนเกาะ  กว่าร้อยละ 15 ที่มีเรือเป็นของตนเองและทำอาชีพประมง  หารายได้รายวัน รองลงมา บางส่วนหันมาทำงานรับจ้าง  ขับเรือท่องเที่ยว ลูกจ้างตามร้านค้าหรือรีสอร์ท และค้าขาย

ไทม์ไลน์การเปลี่ยนแปลงสำคัญของวิถี “ชาวเล” 

  • พ.ศ.2530  รัฐบาลเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว กำหนดพื้นที่อนุรักษ์คุ้มครอง  เช่น อุทยานแห่งชาติหลายแห่งอ่าวไทยและอันดามัน ไม่สามารถเข้าไปทำกินได้ทำให้วิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยน
  • พ.ศ. 2547 หลังเกิดสึนามิ มีแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยวอันดามันอย่างเร่งด่วน  การท่องเที่ยวขยายตัวอย่างรวดเร็ว เข้าใกล้พื้นที่ศักดิ์สิทธิและพื้นที่ประมงของชาวเล  หลายคนต้องเปลี่ยนวิถีจากประมงไปเป็นแรงงานรับจ้าง เกิดความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย
  • 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล การแก้ปัญหาเรื่องสิทธิ การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนพื้นเมือง 
  • ปี 2559 นโยบายการท่องเที่ยวอันดามัน  มุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ สร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ ไม่มุ่งเน้นจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ในทางปฎิบัติยังคงสวนทาง
  • ล่าสุด มีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ฉบับประชาชน คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิต สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร สอดคล้องกับการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แต่โจทย์ที่ชาวเลกำลังเผชิญ

  • นโยบายการท่องเที่ยวอันดามัน  เร่งฟื้นฟูปรับปรุงพื้นที่ท่องเที่ยวระดับโลก  ทำให้ที่ดินเป็นที่ต้องการมากขึ้น พื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนต้องลดลง ไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและไม่สามารถเข้าถึงสิทธิบริการขั้นพื้นฐาน
  • การประกาศเขตอุทยานทางทะเล  กฎระเบียบและข้อจำกัดในการใช้ทรัพยากรทางทะเล ชาวเลต้องเปลี่ยนวิถีจากประมงไปเป็นแรงงานรับจ้าง ซึ่งไม่มีโอกาสใช้ความรู้และทักษะทางทะเล และมีความเสี่ยงที่ต่อสุขภาพที่จะต้องออกทะเลไปไกลขึ้น 
  • โควิด-19 กระทบจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันที่พึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยว กระทบกับชาวเลที่เป็นลูกจ้างในภาคบริการและโอกาสในการทำกินด้านอื่น ๆ

“อนาคตชาวเล” กับโจทย์ที่ท้าทาย

  • ทั่วโลกมีแนวคิดการพัฒนา โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) สอดคล้องกับแผนพัฒนาปัจจุบัน
  • นโยบายการท่องเที่ยวอันดามัน การนำด้านวัฒนและการอนุรักษ์วิถีชาวเล  ออกแบบการท่องให้กับภาพการท่องเที่ยวอันดามัน
  • ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ของที่ระลึก  จากเครือข่ายชาวเลสามารถพัฒนาและยกระดับ ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขยายตลาดและสร้างเศรษฐกิจชุมชน
  • ปัจจุบันพบว่าชาวเลรุ่นใหม่กำลังเข้าสูตลาดแรงงาน สามารถพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงโลกสมัยใหม่

ดูข้อมูลข้อเท็จจริง

หลังจากเราอ่านข้อมูลนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงได้ข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น พร้อมทั้งข้อมูลของผู้ที่มีประสบการณ์จากคนที่ทำงานและทำข้อมูลกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทั้งอันดามัน แต่โจทย์เรื่องยังมีปัญหามีเงื่อนไขและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวเลในแต่ละพื้นที่ ที่พยายามจัดการยกระดับศักยภาพไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจของผู้คนเท่านั้นเพราะพื้นที่ที่พวกเขาอยู่ เต็มไปด้วยทั้งข้อจำกัดและโอกาสของชีวิตเพราะมีกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับและตอนนี้กำลังมีกฏหมายอีกฉบับคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการของรัฐสภา ที่อนาคตจะช่วยส่งเสริมและคุมครองวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์

อ่านมาถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านคิดอย่างไร ทีมงานมีการสังเคราะห์ ภาพความน่าจะเป็นหรือฉากทัศน์ เพื่อจำลองว่าแบบไหนที่ อยากจะเห็น หรืออยากจะให้เป็น ซึ่งคุณผู้ชมสามารถร่วมเเสดงความคิดเห็น ด้วยการเลือกจากภาพตั้งต้น 3 ภาพ

3 ฉากทัศน์ ร่วมผลักดันอนาคตชาวเล กับอนาคตท่องเที่ยว จ.กระบี่

ฉากทัศน์ที่ 1 รับรองสถานะ ชาวเล ทำมากินในพื้นที่อนุรักษ์

หน่วยงานรัฐรับรองสถานะของชาวเล ให้สามารถดำรงชีวิตและทำกินได้ในพื้นที่อนุรักษ์ตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม ตลอดจนประกอบอาชีพเสริมด้านการท่องเที่ยวตามที่รัฐเปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ตามแต่ศักยภาพของพื้นที่อาทิ รับจ้างขับเรือ ดำน้ำ ไกด์ คณะรำ ขายอาหารทะเลและของที่ระลึก ชาวเลยังต้องพึ่งพาให้รัฐและท้องถิ่นเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิต โครงสร้างขั้นพื้นฐาน

ฉากทัศน์ที่ 2 ผลักดันท่องเที่ยวชาวเล เติมศักยภาพให้ชุมชน

กฎหมายใหม่รับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ เปิดช่องให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเล โดยการส่งเสริมของรัฐประสานเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ ผลักดันให้การท่องเที่ยวชาวเลถูกบรรจุอยู่ในแผนการท่องเที่ยวหลักของประเทศ ทั้งนี้รัฐต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงเติมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 3 ยกระดับชาวเลรุ่นใหม่ ออกแบบจัดการชุมชน

การยอมรับในสิทธิและความเป็นชาติพันธุ์ชาวเลของรัฐ เสริมพลังให้เครือข่ายชาวเลยกระดับการมีส่วนร่วมออกแบบและร่วมกำหนดทิศทางการดำรงชีวิตของชุมชนของตนเอง โดยมีจุดเน้นอยู่ที่การเสริมสร้างพลังชาวเลโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะชีวิตในยุคดิจิทัลคือ สามารถใช้ความรู้และเทคโนโลยีพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนที่ได้มาตรฐาน ทั้งยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ อาหารทะเลแปรรูป สินค้าที่ระลึก ให้มีคุณภาพสามารถต่อรองกับตลาดภายได้

คุณผู้อ่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและเลือกภาพอนาคตนี้ได้ ร่วมกับกลุ่มชาติพันธ์ุชาวเล ที่ลิงก์ด้านล่าง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ