ข้อพิพาทหลีเป๊ะยังมีหวัง กับทางออกมิติเศรษกิจและกฎหมาย

ข้อพิพาทหลีเป๊ะยังมีหวัง กับทางออกมิติเศรษกิจและกฎหมาย

ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เสนอทางออกข้อพิพาทที่ดินหลีเป๊ะ กก.ต้องผนึกชุมชนร่วมออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน เพื่อรักษาจุดขายด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติ – ด้านนักกฎหมาย เสนอ หน่วยงานท้องถิ่นรัฐต้องกัน“พื้นที่สาธารณะ”บนเกาะ ออกจากการจะถูกครอบครองสิทธิ์ในที่ดิน และเร่งตรวจสอบที่มาของเอกสารสิทธิ์ น.ส. 3 เป็นรายแปลง

วงเสวนา ‘ทางออก “หลีเป๊ะ” ปัญหาที่ดินชาวเล’

เป็นช่วงเวลาครบ 1 สัปดาห์แล้ว ที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยจากเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กว่า 10 ชีวิต พร้อมเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-Move), กรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง,มูลนิธิชุมชนไท ต้องเดินสายส่งเสียงเรียกร้องผ่านการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งหาทางออกแก้ไขปัญหา กรณีข้อพิพาทเอกสารสิทธิที่ดินระหว่างชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กับเอกชนที่ถือเอกสารสิทธิที่ดินแล้วอ้างกรรมสิทธิ์เพื่อเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เรื้อรังมานานกว่า 30 ปี 

ล่าสุด กลุ่มชาวเลเดินทางเข้าร่วมเวทีเสวนา ‘ทางออก “หลีเป๊ะ” ปัญหาที่ดินชาวเล’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ที่ร่วมจัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ กับนักวิชาการ, อาจารย์ด้านกฎหมาย, และกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาข้อพิพาทที่ดินฯ ด้วยความหวังว่าจะนำไปสู่การแสวงหาทางออกของปัญหาที่ดินชาวเล

ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย 1. ฉลวย หาญทะเล ชาวเลหลีเป๊ะ 2. เรณู ทะเลมอญ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ 3. ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4. พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ 5.ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ชาวเลคาดหวัง หน่วยงานรัฐจะแก้ปัญหาได้ต้องนำประวัติศาสตร์ในพื้นที่เข้ามาพิจารณาด้วย 

เรณู ทะเลมอญ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ


เรณู ทะเลมอญ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ
ระบุว่า ตนเองต้องยอมสละเวลาโดยลางานกับกับหน่วยงานอุทยานเกาะตะรุเตาที่ตนทำงานอยู่ เพื่อรวมตัวกับชาวบ้านเดินทางมาเรียกร้องความเป็นธรรมที่กรุงเทพฯ การเสียสละครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังเพี่อพี่น้องหลีเป๊ะและพื้นที่โรงเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเอกสารสิทธิ์เอกชนออกทับที่ดิน พร้อมเล่าถึงความหวังหลัก ๆ ว่าไม่อยากให้รัฐดูแค่เรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดิน แต่อยากให้ตรวจสอบเอกสารดูประวัติศาสตร์ด้วยว่าชาวเลก็อยู่มาก่อนที่เอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส. 3 จะออกด้วยซ้ำ 

“ตัวพี่โดนคดีด้วย เพราะเอกชนบอกว่าเขามีเอกสารสิทธิ์ที่เขาซื้อมาจาก น.ส. 3 เลขที่ 11 เขาบอกว่าเขาซื้อมาอย่างถูกต้อง อ้างว่าเป็นเอกสารสิทธิ์อย่างถูกต้อง และก็ฟ้องให้พี่รื้อถอนที่อยู่ในปัจจุบัน พี่ก็ไม่รื้อ ไม่ไปไหน ถ้าจะฟ้องก็ดำเนินคดีเกี่ยวกับกฎหมายไปทางศาลเลย แต่ทางเราก็จะเดินเรื่องให้ถึงที่สุด เพื่อปกป้องที่อยู่อาศัยของชาวเลและโรงเรียน” เรณู กล่าว 

นักวิชาการเสนอทางออก ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนหลีเป๊ะ 

ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยว หรือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอยู่แล้ว โดยเฉพาะชุมชนชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรม มีขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา ที่น่าสนใจ 

ดังนั้น กรณีเกาะหลีเป๊ะก็สามารถพัฒนาได้ แต่ว่าจุดตั้งต้นที่สำคัญ คือ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดก่อนว่าทิศทางการท่องเที่ยว จะเป็นอย่างไร ซึ่งภายในชุมชนมีเรื่องราวประวัติศาสตร์อยู่แล้ว คือ ตามฝาบ้าน ฝาผนังบ้านของบางคนในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ มีการวาดรูปเกี่ยวกับวิถีวัฒนธรรม 

หากชาวบ้านได้มามีโอกาสมารวมตัวกันออกแบบดูว่าเส้นทางการท่องเที่ยวน่าจะมีจุดไหนบ้าง แล้วก็ออกแบบหลาย ๆ เส้นทางว่าชุมชนอยากจะให้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมหรือเปล่า หรือเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ หรือพื้นที่ที่ชายหาด  หรือพื้นที่ชายเลน ออกแบบได้หลายอย่าง แล้วนักท่องเที่ยวก็จะมีทั้งทางเลือกในการจะมาเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ ไม่จำเป็นต้องดำน้ำดูปะการังอย่างเดียว

ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ได้ลองออกแบบเบื้องต้นแล้ว คิดว่าสิ่งที่น่าจะทดลองทำได้เลย คือ เรื่องราวบนฝาบ้าน เรื่องของพื้นที่ที่เป็นพื้นที่จิตวิญญาณเกี่ยวกับสุสาน พื้นที่ที่เป็นบ่อน้ำเก่า หรือพื้นที่ที่เป็นชุมชนเก่า ก็สร้างเป็นเส้นทางออกแบบการเที่ยวที่เน้นวัฒนธรรม 

หรือพื้นที่ริมชายหาด พื้นที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะอย่างโรงเรียนก็บอกเล่าเรื่องราวได้ เพราะประมงในพื้นที่เขามักทำไซดักปลา ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมของประมงพื้นบ้าน หรือเกาะเล็ก ๆ ที่อยู่หน้าหมู่บ้านอย่างเกาะกระ ซึ่งเป็นเกาะที่มีเต่าขึ้นมาวางไข่ เหล่านี้จะสร้างมูลค่าโดยสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ พร้อมสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ แล้วนักท่องเที่ยวก็จะได้รู้จักหลีเป๊ะมากขึ้น ในมุมธรรมชาติที่อยู่ร่วมกับชีวิตผู้คน 

“กรณีหลีเป๊ะ สำหรับทางออก อย่างแรกเลย คือต้องประกันความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำมาหากิน ทำยังไงให้ทะเลยังอุดมสมบูรณ์อยู่ ให้ชาวเลคนเล็กคนน้อยที่เขาอาศัยทะเลชายฝั่งสามารถจะออกไปทำมาหากิน แล้วก็อยู่ได้” ดร.นฤมล กล่าว

ดร.นฤมล ระบุเพิ่มเติมว่า จากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับชาวเลในพื้นที่ประเทศ พบว่า ชาวเลเป็นกลุ่มคนค่อนข้างจะเรียบง่าย แก่นความต้องการคือเขาอยากจะมีพื้นที่อยู่อาศัย มีการออกประมง ไปทำมาหากินบนริมชายฝั่งทะเล ที่สามารถจะทำได้เพื่อเลี้ยงชีวิต ดังนั้น สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะมี แต่ว่าประวัติที่ผ่านมา ชาวเลรุ่นเก่าไม่ได้รู้หนังสือ บางทีเรื่องกฎหมาย เรื่องที่ดินเขาไม่ได้รู้ สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะทำสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้กลับมาให้ชาวเล เพราะว่าความต้องการของชาวเลคืออยากมีครอบครัว มีความมั่นคงทางรายได้ในพื้นที่ เช่น การเก็บหอยปลาก็สามารถอยู่ชายฝั่งได้แล้ว 

นักนิติศาสตร์เสนอ ต้องตรวจสอบที่มาของการครอบครองสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3 เป็นรายแปลง 

บรรเจิด สิงคะเนติ จากคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (ในจอ)

บรรเจิด สิงคะเนติ จากคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เสนอทางออกเป็นกลุ่มว่าว่าควรจะทำ 3 เรื่อง ดังนี้ 

1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องขีดเส้น “พื้นที่สาธารณะ” ออกจากการจะถูกครอบครองสิทธิ์ในที่ดิน 

บรรเจิด ระบุว่าจากรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปี 2549 ที่ตรวจสอบอย่างละเอียดว่า พื้นที่ 1.) ลำรางสาธารณะ 2.)ทางเดินสาธารณะ และ 3)จุดจอดเรือสาธารณะบริเวณหน้าหาด หากใครครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ทำให้บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ ดังนั้น จึงคิดว่าพื้นที่ 3 กรณีนี้ หากมีหลักฐานจากภาพถ่ายทางอากาศ แล้วสามารถชี้จุดแนวเขตแต่ละพื้นที่ได้ ก็ควรจะดำเนินการกันพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ออกมาจากสิทธิ์ที่จะครอบครองได้ เพื่อทำให้ชุมชนสามารถใช้ชีวิตเชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะได้อยู่ 

“จุดลำรางสาธารณะ ทางเดินสาธารณะ และจุดจอดเรือสาธารณะ 3 จุดนี้ เป็นงานของฝ่ายมหาดไทยที่ต้องทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เข้ามาจัดการดูแล การที่ไม่จัดการดูแล ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ จนทำให้เอกชนเข้ามาครอบครองพื้นที่สาธารณะของชุมชน ถือเป็นการละเลยหน้าที่ที่จะปกป้องพื้นที่สาธารณะ” บรรเจิด กล่าว 

2. ราชการต้องตรวจสอบที่ดินที่เป็นพื้นที่สุสานของบรรพบุรุษชาวหลีเป๊ะว่าเอกชนครอบครองโดยชอบธรรมหรือไม่

บรรเจิด ระบุว่ากรณีที่เป็นพื้นที่ สุสานของบรรพบุรุษ แล้วมีการแจ้งครอบครองเป็นของเอกชนไปแล้วนั่น เป็นภาพสะท้อนเลยว่า มันมีเรื่อง(เอกสารออกสิทธิ์)ที่ดินบวมขึ้นมาแน่นอน เพราะถ้าเป็นที่ฝังศพบรรพบุรุษแบบนี้ โดยทั่วไปแล้วตามกฎหมาย ถ้าเป็นชาวพื้นเมือง จะถือว่าไม่เป็นที่ดินของรายใดรายหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาของทางราชการที่ไม่มีการตรวจสอบ

3. สอบสวนการโอนที่ดินรายแปลงจาก ส.ค. 1 มาสู่ น.ส. 3 ได้อย่างไร  

บรรเจิด อธิบายเพิ่มเติมว่า อีกปัญหาใหญ่เกี่ยวกับที่ดินของชาวหลีเป๊ะก็คือ กรณีของที่ดินที่มีการแจ้งสิทธิ์ ส.ค.1 41 แปลง หรือประมาณ 850 ไร่ เพราะถ้าดูจากรายงานการตรวจสอบของกรรมการสิทธิมนุษยชน ในปี 2547 ที่บอกว่า ในปี 2498 มีการไปแจ้งการครอบครองที่ดินทั้งหมด 41 แปลง แต่ละแปลงก็จะมีรายชื่อของบุคคลในพื้นที่แตกต่างออกไป แต่ประเด็นปัญหาใหญ่มาเกิดขึ้นในปี 2510 ที่มีการมอบอำนาจให้บรรจง อังโชติพันธุ์ กำนันในขณะนั้น ดำเนินการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์จาก ส.ค.1 41 เป็น น.ส. 3 

ทำให้ท้ายที่สุดการมอบอำนาจจะถูกหรือไม่ถูกอย่างไรก็ตาม แต่เรื่องที่เป็นความเจ็บปวดของชาวบ้านก็คือ หลังจากที่กำนันบรรจงเสียชีวิต ชาวเลทั้งหลายจึงทราบว่าที่ของตนได้กลายเป็นของนายทุนไปแล้ว และเวลาต่อมาได้มีการถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ว่าชาวบ้านมีการบุกรุกในปี 2547 โดยในที่สุดศาลก็ตัดสินว่าชาวบ้าน 7-8 ราย ร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ ดังนั้น ชาวเลจากผู้ครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ 2498 จึงกลายมาเป็นผู้บุกรุกในปี 2547 

“ผมคิดว่าปัญหาของที่ดินอย่างน้อยใน 41 แปลง น่าจะเป็นปัญหาพื้นฐานที่ไปเชื่อมโยงกับการโอนสิทธิ์การครอบครองที่ดินต่าง ๆ ต่อมา ดังนั้น การแก้ปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน 41 แปลง ส่วนนี้น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่า ในมิติที่อาจจะเอาเรื่องในเชิงประวัติศาสตร์เข้ามาอ้างอิง  

แต่ที่เป็นประเด็นปัญหาที่น่าจะแก้ยากในส่วนของที่ดิน 41 แปลง คือ ถ้าหากชาวเลต่อสู้บนพื้นฐานปัจจุบัน ชาวเลจะชนะยากมาก โดยอาจจะไม่สำเร็จเลยถ้ายังต่อสู้โดยยกเอาเอกสารเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเมื่อเรื่องดำเนินการไปถึงชั้นศาล ศาลก็จะถือเอาเอกสารที่มีเป็นตัวตัดสิน

บรรเจิด กล่าวว่า ทางออกคือ รัฐต้องมีหน่วยงานเข้ามาสอบสวน 41 แปลง เป็นรายแปลงไปเลยว่าแต่ละแปลงนั้นได้พัฒนาการมาอย่างไร แปลงใดที่มีการมอบอำนาจให้นายบรรจงแล้วมีปัญหา ส่วนนี้ก็อาจจะต้องตั้งคำถาม ส่วนแปลงใดที่มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิโดยถูกต้องก็ว่ากันไปตามจริง

“ในส่วน 41 แปลง พื้นที่ 850 ไร่นี่ ผมคิดว่าอาจจะต้องใช้ฐานการสอบสวนสิทธิที่มาของสิทธิในการครอบครองที่ดิน ไล่เรียงไปยังจุดเริ่มต้นในปี 2510 ที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการมอบอำนาจว่าให้รวบรวมที่ดิน 41 แปลง เปลี่ยนเป็น น.ส. 3 เลย เพราะนี้คือเงื่อนปมสำคัญ ที่นำไปสู่การเสียสิทธิประโยชน์ของชาวบ้าน” บรรเจิด กล่าว

พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ

ด้าน พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ยังกล่าวเสริมว่า การแก้ปัญหาเอกสารสิทธิ์ทับทางน้ำ ทางเดินสาธารณะ ไม่ต้องถึงมือรัฐบาลด้วยซ้ำ ไม่ต้องใช้นโยบาย แต่ต้องใช้กฎหมาย และข้อเท็จจริงเท่านั้นก็แก้ได้แล้ว โดยคนที่ใช้กฎหมายนี้จริง ๆ คือนายอำเภอ ถ้านายอำเภอทำงาน แล้วผู้ว่าทำต่อด้วยก็แก้ไขให้จบได้ 

ทั้งนี้ วันที่ 20 ม.ค. 2566 เครือข่าวชาวเลจะนำข้อมูลเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ดินที่รวบรวมมา ไปให้กับ พลเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ บริเวณหน้าตึก คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) และทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ จะมีกำหนดการลงพื้นในวันที่ 22 ม.ค. นี้ 

000

รับชมเสวนาย้อนหลัง :https://web.facebook.com/citizenthaipbs/videos/1350648779022273

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ