รวมนโยบายเลือกตั้ง 66 กระจายอำนาจอย่างไร ให้ประเทศไทยไปต่อ

รวมนโยบายเลือกตั้ง 66 กระจายอำนาจอย่างไร ให้ประเทศไทยไปต่อ

อีก 3 วัน ก็จะถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พฤษภาแห่งความหวังของประชาชนชาวไทย วันเลือกตั้งใหญ่ครั้งสำคัญประจำปี 2566 บทความนี้จึงอยากเชิญชวนทุกท่านรับฟังข้อเสนอของภาคประชาชนที่ทางไทยพีบีเอสได้จัดเวทีรับฟังกว่า 5 ภูมิภาค 8 เวทีในพื้นที่สำคัญ ร่วมกับพิจารณานโยบายประเด็นการกระจายอำนาจของพรรคการเมืองกว่า 10 พรรคที่กำลังจะเป็นรัฐบาลไทยในอีก 4 ปีข้างหน้านี้

จากผลสำรวจความต้องการเชิงพื้นที่บนเวทีเลือกตั้ง 66 : Post Election ของไทยพีบีเอสใน 8 พื้นที่สำคัญ ซึ่งแบ่งเป็น พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคอีสานตอนกลาง ภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พบว่าในจำนวนผู้เข้าร่วม 1,086 คนกว่า 24% เลือก ประเด็นการกระจายอำนาจเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญ รองมาจากประเด็นการศึกษา

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการสำนักวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การกระจายอำนาจ หมายถึงระบบการบริหารประเทศที่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นต่างๆ มีอำนาจในการจัดการดูแลกิจการหลายๆด้านของตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐบาลกลางรวมศูนย์อำนาจในการจัดการการกิจการแทบทุกอย่างของท้องถิ่น

ในบทความนี้ จึงขอนำเสนอข้อเสนอนโยบายบนนิยามของการกระจายระบบบริหารที่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง ออกแบบนโยบาย และมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณได้ด้วยตนเอง โดยได้มีการรวบรวม 10 พรรคการเมืองที่มีการกำหนดนโยบายตามนิยามการกระจายอำนาจดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อในไปสู่การพิจารณาร่วมกันกับภาคประชาชน

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กุญแจดอกแรกของการกระจายอำนาจ

หนึ่งในนโยบายกระจายอำนาจ ที่น่าจับตามองและถูกชูเป็นนโยบายสำคัญในประเด็นกระจายอำนาจของพรรคการเมืองกว่า 4 พรรคใน 10 พรรค คือ ยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง และเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคเป็นธรรม พรรคแนวทางใหม่ ตามลำดับ

ในปี 2565 ที่ผ่านมา กระแสการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสะท้อนให้ประชาชนในภูมิภาคอื่นเห็นแล้วว่า ก้าวแรกของการแก้ปมปัญหาที่พันกันเป็นสายไฟฟ้า คือการที่ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้บริหารสูงสุดของท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดถูกมองเป็นกุญแจดอกแรกในการเปิดประตูไปสู่การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น เพราะผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งจะยึดโยงกับประชาชนและเป็นคนที่รู้จักท้องถิ่นได้ดีกว่าผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้งและโยกย้ายมาจากรัฐราชการส่วนกลาง

พรรคก้าวไกลได้ให้รายละเอียดข้อเสนอนโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไว้ดังนี้

“…จัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบให้มีการยกเลิกผู้ว่าฯแต่งตั้งหรือไม่ เพื่อให้ทุกจังหวัดมีผู้บริหารสูงสุดที่มาจากการเลือกตั้ง หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะปูทางไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารจังหวัด จากเดิมที่มีผู้บริหารจังหวัด 2 คน ได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง และนายกฯ อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งไปสู่รูปแบบใหม่ที่มีผู้บริหารจังหวัด 1 คน นั่นคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเพียงตำแหน่งเดียว…”

พรรคก้าวไกล

แม้นว่าจะมีโอกาสเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด หากยังมี ”ราชการส่วนภูมิภาค” อยู่ก็จะยิ่งเละหรือยุ่งไปมากกว่าเดิม

ภาพประกอบจาก Thaipbs News

ก่อนที่จะว่ากันเรื่องการยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เราอาจจะต้องมาทำความเข้าใจบริบทของคำนี้กันเสียก่อน

การบริหารราชการส่วนภูมิภาค หมายถึงจังหวัดและอำเภอ ซึ่งเป็นการแบ่งอำนาจของราชการส่วนกลางบางส่วนลงไปในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในจังหวัดและมีนายอำเภอซึ่งสังกัดกรมการปกครองเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในอำเภอ โดยทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ มีอำนาจเฉพาะเพียงที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลางและตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 และที่สำคัญทั้งจังหวัดและอำเภอไม่มีงบประมาณเป็นของตนเองแต่อย่างใด ต้องอาศัยการจัดสรรจากราชการส่วนกลางลงไปในพื้นที่

ในปี 2554 คณะกรรมการปฏิรูป จำนวน 19 คน ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ได้ ให้เหตุผลสำคัญโดยย่อว่า 

“…เนื่องจากราชการส่วนภูมิภาคเป็นสายอำนาจบัญชาการที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งสามารถเข้าไปแทรกแซงหรือทับซ้อนกับอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่น ดังนั้น จึงเสนอให้ยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค…”

อานันท์ ปันยารชุน

การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นจึงไม่ใช่แค่การถ่ายโอนอำนาจจากองค์กรปกครองใหญ่สู่องค์กรปกครองเล็ก หรือเป็นเพียงการสร้างระบบรวมศูนย์อำนาจขึ้นมาในท้องถิ่นต่างๆ แทนการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง แต่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชนโดยรวมด้วยเช่นกัน

จากการรวบรวมนโยบายพบว่า 2 พรรคการเมืองที่เห็นพ้องต้องกันในการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคนั้น ได้แก่ พรรคก้าวไกล และพรรคเป็นธรรม

โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญ คือการเปลี่ยนสังกัดของข้าราชการส่วนภูมิภาคและฝ่ายท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) โดยไม่มีตำแหน่งใดที่หาย และไม่มีใครตกงานหรือสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับ ที่เดิมทีทำแยกกันภายใต้ผู้ว่าฯแต่งตั้ง-อธิบดีกรม-ปลัดกระทรวง เป็นการทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ยังนโยบายอื่นที่มีเนื้อหาใจความเล็งเห็นความสำคัญของการลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจของประชาชนในการเป็นผู้จัดสรรทรัพยากรและบริหารจัดการท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง

พรรคก้าวไกล

  • ประชุมสภาพลเมือง ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกท้องถิ่น ทุกไตรมาส จัดประชุม “สภาพลเมือง” ทุกท้องถิ่น ทุก 3 เดือน ให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่ สามารถเข้ามาสอบถาม ร้องเรียน หรือ เสนอแนะ ผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงเกี่ยวกับการทำงานของท้องถิ่น
  • ประชาชนเข้าชื่อออนไลน์ เสนอโครงการ-ข้อบัญญัติ ถอดถอนท้องถิ่นได้ โดยประชาชนร่วมเสนอโครงการได้ว่าต้องการให้ท้องถิ่นใช้งบประมาณไปทำอะไร หรือที่เรียกว่า “งบประมาณแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Budgeting) โดยมีการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้ประชาชนใช้งาน เสนอโครงการ และโหวตสนับสนุนได้สะดวก
  • ประชาชนเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนออกกติกากันเองเพื่อบังคับใช้ในพื้นที่
  • ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ โดยมีการกำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับเงื่อนไขการถอดถอน จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาลงคะแนนเสียง และจำนวนผู้ลงคะแนนเห็นชอบให้มีการถอดถอน

พรรคครูไทยเพื่อประชาชน

กระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นอย่างมีระบบ

  • การกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นอย่างมีระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และการกระจายความเจริญสู่ชนบทอย่างแท้จริง

พรรคเสมอภาค

กระจายอำนาจให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสและร่วมพัฒนาประเทศ

  • กระจายอำนาจให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสและร่วมพัฒนาประเทศบนหลักการสิทธิมนุษยชน ครอบคลุม พลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายระดับโครงสร้าง

นอกจากนโยบายที่พยายามลดอำนาจรัฐราชการส่วนกลางแล้ว เราต้องยอมรับว่า ปัญหาด้านการปิดโอกาสให้ท้องถิ่นต่างๆ มีอำนาจในการจัดการดูแลกิจการหลายๆด้านของตนเองนั้น เกี่ยวพันกันกับประเด็นเชิงพื้นที่ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจทั่วถึงและเป็นธรรม การจัดสรรรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การศึกษา ระบบสุขภาพ หรือแม้แต่การเข้าสู่สังคมสูงวัย เรามาร่วมพิจารณานโยบายกระจายอำนาจที่เจาะลึกถึงแก่นของปัญหาและโจทย์สำคัญในระดับพื้นที่ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นโยบายกระจายอำนาจเพื่อสิ่งแวดล้อม

ภาคอีสาน ภูมิภาคหนึ่งที่ประสบปัญหาจากภัยพิบัติและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ถึงแม้ประชาชนชาวอีสานจะประสบปัญหาเช่นนี้เป็นประจำ แต่การรับมือกับภัยพิบัติโดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ และการฟิ้นฟูเยียวยาหลังเผชิญเหตุ ยังคงเป็นโจทย์ที่ยากจะแก้ไขและเป็นดั่ง “โรคเรื้อรัง” ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกจุด

“…สิ่งที่ต้องการ คือ การได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและเป็นความต้องการของคนในชุมชนจริง ๆ เรื่องพวกนี้ควรให้คนในชุมชนเป็นคนออกแบบ และต้องแก้ไขนโยบายให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม เรื่องค่าเยียวยา ก็ควรได้รับอย่างสมจริงและเพียงพอต่อการพื้นฟู และที่สำคัญคือระเบียบข้อกฎหมายหลายตัวที่เกี่ยวกับภัยพิบัติควรแก้ไขอย่างโดยด่วน…”

บุญทัน เพ็งธรรม เครือข่ายอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จ.อุบลราชธานี

“…จากการวิจัยลงพื้นที่ภาคเหนือ พบจุดเจ็บปวดของคนเหนือที่หนักหนาสาหัส เรื่องแรกคือฝุ่นควัน ที่เป็นมานานและยังไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรดี เศรษฐกิจไม่เป็นธรรม เป็นการผูกขาดจากกลุ่มทุน มีปัญหาหนี้สิน ปัญหาการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ และ เรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นสาเหตุสำคัญคือการบริหารจัดการที่ไม่ได้เรื่องได้ราว  บริหารโดยผู้ที่ไม่เข้าใจ ผู้กุมขบวนเป็นคนจรเข้ามา ไม่ใช่คนพื้นที่ ทำให้ไม่เข้าใจ ไม่ต่อเนื่อง ทำไปเช่นนั้นแหละ  ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องระบบการจัดการบ้านเมืองซึ่งสำคัญมาก…”

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าทีมวิจัยภาคเหนือ สกสว.

โจทย์ใหญ่ที่เป็นเสมือนกำแพงกั้นชุมชนกับทรัพยากรคือ การขาดสิทธิในการจัดการดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ป่า มีการออกกฎหมายการกันคนออกจากป่า รวมถึงการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่องโดยขาดการศึกษาภูมิสังคมในพื้นที่ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน

เวทีฟังเสียงประเทศไทย Post Election ภาพอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง ณ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

พรรคก้าวไกล

  • การถ่ายโอนอำนาจในการบริหารจัดการถนน คูคลองแหล่งน้ำและชลประทาน เพื่อให้ทุกจังหวัดออกแบบวางแผนเมืองและแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ตรงจุดมากขึ้น
  • ท้องถิ่นต้องสามารถประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติได้เอง เพื่อให้ อปท. มีอำนาจหน้าที่และงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที
  • ยกเลิกคำสั่ง คสช. ด้านขยะอุตสาหกรรม ให้อำนาจท้องถิ่นปิดโรงงานชั่วคราว และการอนุญาตให้ตั้งโรงงานโดยไม่ต้องทำตามกฎหมายผังเมือง ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินการตั้งโรงงานขยะอุตสาหกรรม ให้อำนาจท้องถิ่นปิดโรงงานหากตั้งนอกพื้นที่ผังเมืองอนุญาต ให้ EPA (หรือกรมควบคุมมลพิษ) สั่งปิดโรงงานขยะที่เปิดดำเนินการไม่ถูกต้อง

พรรคสามัญชน

  • กระจายอำนาจท้องถิ่นจัดการสิ่งแวดล้อม โดยท้องถิ่นต้องสามารถจัดการได้ภายในชุมชนและตัวเมือง เพื่อป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
  • กระจายอำนาจสู่ชุมชนจัดการพลังงานสะอาดสนับสนุนการจัดการพลังงานที่กระจายการจัดการสู่ชุมชนท้องถิ่นและให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือกเป็นอันดับแรก

นโยบายกระจายอำนาจเพื่อการศึกษา

ในบริบทของการศึกษา ถึงแม้จะมีความสำคัญเพราะเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ ฐานะทางสังคม  และเป็นสิทธิตั้งแต่เกิดจนตาย แต่การศึกษายังถูกมองว่าไม่ใช่สวัสดิการขึ้นพื้นฐานที่แท้จริงและถูกออกแบบมาก้อนเดียวจากส่วนกลาง ไม่หลากหลาย ไม่สอดคล้องกับวิถีและบริบทของท้องถิ่นชุมชน ในขณะที่ทุกพื้นที่ต่างมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและภาษา

“…หนึ่ง คืนครูเข้าสู่ห้องเรียน สอง คืนเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาที่หลากหลาย ซึ่งไม่ใช่ในระบบอย่างเดียวแต่เราพูดถึงระบบการศึกษาที่เขาสามารถออกแบบได้เอง…”

ภัคพงศ์ แสนชาติ ท็อปวัน เครือข่ายเสียงเยาวชนขอนเเก่น (KK-VoY) 

“…การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นให้กับโรงเรียนจริงๆ กระจายอำนาจแล้ว กระจายให้เขาบริหารจัดการเลย ถ้าจะเป็นเรื่องงบประมาณก็ให้โรงเรียนได้ดูแลจริงๆไม่ต้องมาตรวจสอบอะไรที่จุกจิกมากมาย…”

ชุตินธร หัตถพนม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู

ข้อเสนอสำคัญในด้านการปฏิรูปศึกษาที่ภาาคประชาชนนำเสนอมานั้น คือ การคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้กับท้องถิ่น โดยรัฐทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนด้านงบประมาณ และการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการออกแบบหลักสูตรผู้เรียน แก้กฎหมายให้เกิดการศึกษาที่เท่าเทียมทุกระดับทั้งในชนบทและในเมือง และต้องควบคู่ไปกับการปรับนิยามการศึกษาใหม่ให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยเน้นการจัดการศึกษาที่เอาวิถีชีวิตเป็นตัวตั้งและให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบจัดการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิต

พรรคก้าวไกล

กระจายอำนาจให้โรงเรียน เติบโตได้ภายใต้ท้องถิ่น

พรรคก้าวไกลมีความต้องการในการกระจายอำนาจให้โรงเรียนในด้านต่างๆดังนี้

  • กระจายอำนาจด้านงบประมาณ โดยการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์
  • กระจายอำนาจด้านบุคลากร โดยการสร้างกลไกให้โรงเรียนมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์และคัดเลือกครู
  • กระจายอำนาจด้านวิชาการ โดยการออกแบบหลักสูตรของโรงเรียนที่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้เรียน และลดการควบคุมจากส่วนกลาง
  • กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการบริหารจัดการ ตลอดจนดูแลโรงเรียนในพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เอื้อต่อการศึกษาของประชาชนในพื้นที่

บอร์ดโรงเรียน ต้องมีตัวแทนนักเรียน

  • กำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษาต้องมีตัวแทนนักเรียน โดยเพิ่มกลไกให้มีการจัดเลือกตั้งกรรมการสถานศึกษาในบางตำแหน่ง เช่น ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนผู้ปกครอง
  • เพิ่มความเป็นมืออาชีพ โดยการจัดอบรมให้กรรมการที่ไม่ใช่บุคลากรทางการศึกษา

งบที่สภานักเรียนเลือกใช้เองได้

  • เพิ่มงบประมาณให้โรงเรียนในส่วนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แต่ให้เฉพาะโรงเรียนที่มีสภานักเรียนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณ โดยสภานักเรียนจะนำงบส่วนนี้ไปทำกิจกรรมภายในโรงเรียนตามที่ได้หาเสียงไว้

สภาเยาวชนมาจากการเลือกตั้ง เสนอกฎหมายไปที่รัฐสภาได้

  • จัดให้มีการเลือกตั้งสภาเยาวชน โดยให้สภานี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจและส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนี้
  • เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาได้ เทียบเท่ากับการที่ประชาชนลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย 10,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญ
  • เสนอตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง
  • ตั้งกระทู้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้มาตอบในสภาได้ปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง
  • เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะโดยตรงไปที่คณะรัฐมนตรี

พรรคชาติไทยพัฒนา

กระจายอำนาจเพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนในการจัดการศึกษา

  • สนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน องค์กรทางศาสนา และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทุกระดับ และจะมุ่งส่งเสริมการจัดให่มีสถานศึกษาขึ้นในทั่วทุกภูมิภาคอย่างเพียงพอ

พรรคสามัญชน

กระจายอำนาจในการออกแบบหลักสูตรการศึกษา

  • กระจายอำนาจในการออกแบบหลักสูตรให้กับกรรมการศึกษาท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนตามบริบทพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่กำหนดเป้าหมายและคุณภาพร่วมกับครูทั้งประเทศ

นโยบายกระจายอำนาจเพื่อเศรษฐกิจทั่วถึงและเป็นธรรม

พรรคก้าวไกล

  • กระจายอำนาจการประมงให้ท้องถิ่น-ชาวประมง เพิ่มอำนาจคณะกรรมการประมงจังหวัดในการกำหนดกติกาทำการประมง (เช่น เครื่องมือ / พื้นที่ / ฤดู / ประมงไหนทำได้-ไม่ได้) ภายในเขต 12 ไมล์ทะเล เพิ่มสัดส่วน ท้องถิ่น และ ชาวประมง ในคณะกรรมการประมงจังหวัด และให้ นายก อบจ. (หรือผู้ว่าฯเลือกตั้ง เมื่อมีการควบรวมภูมิภาคกับท้องถิ่นภายใต้ผู้บริหาร 1 คน) เป็นประธานคณะกรรมการประมงจังหวัด

พรรคสามัญชน

  • กระจายอำนาจเพื่อการค้าเป็นธรรม ปรับปรุงระบบโควต้า และการกระจายการจัดการสู่ผู้ค้ารายย่อยโดยรัฐรับผิดชอบความเสี่ยง เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล คลื่นความถี่ การขนส่ง เป็นต้น
  • ยกเลิกการผูกค้าเพื่อการค้าเป็นธรรม ยกเลิกการผูกชาดในการจัดการทรัพยากรของเอกชนรายเดียว สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเพิ่มสัดส่วนระหว่างรัฐส่วนกลาง รัฐท้องถิ่น เอกชน

กระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ กระจายความมั่นคง

พรรคก้าวไกล

ท้องถิ่นโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลงบทุกบาท-จัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน

  • เปิดเผยข้อมูลในการดำเนินงานของท้องถิ่นในรูปแบบที่ประชาชนเข้าถึงและวิเคราะห์ต่อได้ง่าย (machine readable) ซึ่งรวมถึง ข้อมูลการการใช้งบประมาณ และข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง
  • พัฒนาระบบแจ้งเตือน Red Flag ที่วิเคราะห์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติถึงโครงการที่มีแนวโน้มจะเกิดการทุจริตหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้บริหารท้องถิ่น (เช่น ล็อกสเปก ฮั้วประมูล จัดซื้อแบบพิเศษ คนที่ได้งานเป็นญาตินักการเมือง)

ท้องถิ่นมีช่องทางหารายได้ใหม่ กู้เงิน-ออกพันธบัตร

  • ปลดล็อกให้ท้องถิ่นมีอำนาจหารายได้ผ่านช่องทางใหม่ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากส่วนกลาง (เช่น กู้เงิน ออกพันธบัตร ร่วมทุนเอกชน ตั้งสหการ สร้างวิสาหกิจท้องถิ่นเอง)

ปรับสูตรกระจายงบให้เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่

  • ปรับสูตรในการคำนวณเงินอุดหนุนท้องถิ่นแต่ละแห่งให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ โดยคำนึงถึงภารกิจพื้นฐานที่ต้องจัดหาให้ประชาชนอย่างมีคุณภาพ และศักยภาพในการหารายได้ของแต่ละพื้นที่

กระจายงบซ่อมถนนอย่างเป็นธรรม

  • พัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพถนน ว่าถนนไหนควรซ่อมก่อนหรือหลัง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องการเมือง ใครมีอำนาจก็ดึงงบลงไปซ่อมในจังหวัดที่เป็นเขตอิทธิพลของตนเอง

พรรครวมพลัง

กระจายอำนาจการบริหารงาน การจัดสรรงบประมาณและกำลังคนของตำรวจลงสู่จังหวัด

  • กระจายอำนาจการบริหารงาน การจัดสรรงบประมาณและกำลังคนของตำรวจลงสู่จังหวัด ให้แต่ละจังหวัดมีสำนักงานตำรวจที่ขึ้นกับจังหวัดและประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะให้มีตำรวจที่มีหน้าที่จัดการแก้ปัญหายาเสพติดระดับจังหวัดขึ้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งมีขีดความสามารถในการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด กำกับ ควบคุมโดยประชาชนในจังหวัด

ทั้งนี้ข้อเสนอนโยบายเป็นข้อมูลที่ปรากฎเป็นรูปธรรมและ Open Data ส่วนถ้าหากใครมีข้อเสนอและทางออกของแต่ละปัญหาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ก็สามารถเข้าไปเติมต่อได้ที่ เว็บไซต์ Yourpriorities.yrpri.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

เปิดประตูสู่การพัฒนา กระจายอำนาจให้ชาวเหนือ

ฟังเสียงประเทศไทย : คนเหนือมองอนาคตประเทศไทย หลังเลือกตั้ง

เลือกตั้ง 66 : คืนครูสู่ห้องเรียน คืนเด็กสู่ระบบการศึกษา

เลือกตั้ง 66 : กระจายอำนาจสู่ชุมชน ทางออกจัดการภัยพิบัติ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ