เครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการด้านภัยพิบัติภาคอีสานและเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จัดเวที “สัมมนาเครือข่ายภัยพิบัติกรณีอุทกภัยภาคอีสาน” แลกเปลี่ยนบทเรียน แนวทางการป้องกัน และการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบ พร้อมแถลงข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติอีสานต่อพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เครือข่ายภัยพิบัติภาคอีสานลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำพอง และลุ่มน้ำมูล ประกอบด้วย เครือข่ายภาคประชาสังคมและสลัมสี่ภาค เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จ.อุบลราชธานี (อช.ปภ) เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำเซบก เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จ.อุบลราชธานี เครือข่ายนักวิชาการด้านภัยพิบัติภาคอีสาน สมาคมประมงน้ำจืดภาคอีสาน จ.ศรีษะเกษ เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า เครือข่ายฮักน้ำของ คณะกรรมการจัดการน้ำโดยชุมชนลุ่มน้ำพอง เครือข่ายชาวบ้าน ชีวิตชุมชน ลุ่มน้ำมูน สมัชชาคนจน เครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง จ.อุบลราชธานี และมูลนิธิชุมชนไท จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนบทเรียนและรวบรวมข้อเสนอเพื่อส่งต่อไปยังพรรคการเมือง ถึงว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566
กิจกรรมในครั้งนี้ มีการรวบรวมข้อเสนอรูปธรรมในระดับนโยบายเพื่อออกแบบการจัดการภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วม โดยเน้นย้ำถึงการจัดการในระดับชุมชน ซึ่งมีการเสวนาออนไลน์ และถ่ายทอดสดผ่านเฟชบุ๊กแฟนเพจเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ไทอีสาน PBS Ubon connect เพื่อน Thai PBS อีสาน และอยู่ดีมีแฮง ดำเนินรายการโดย สุชัย เจริญมุขยนันท และพจนีย์ ใสกระจ่าง Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคอีสาน
กลไกชุมชนจัดการตนเอง
“แต่ก่อนน้ำมาไม่นานก็ไป แต่ปัจจุบันท่วมนาน เลยคิดว่าจะทำยังไงไห้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้” บุญทัน เพ็งธรรม เครือข่ายอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จ.อุบลราชธานี บอกเล่าถึงโจทย์ตั้งต้นในการรวมกลุ่มเป็นอาสาสมัครฯ เพราะอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำมูลซึ่งต้องเผชิญน้ำท่วมซ้ำซากมาอย่างต่อเนื่องทุกปี จนนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้ประสบภัยให้กลายเป็นอาสาสมัครที่สามารถรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงน้ำท่วมด้วยการจัดตั้งศูนย์พักพิง ครัวกลาง นายเรือชุมชน และช่วยเหลือกันเองในชุมชนได้
“สิ่งที่สำคัญพี่น้องต้องออกแบบตัวเอง สร้างกลไกลภายในชุมชนจัดการกับปัญหาให้ได้ ทรัพย์สินสำคัญต้องเอาให้ทัน ซึ่งปีที่ผ่านมา 2566 ช่วงฝนไม่ยาวนาน เราคิดว่ามันจะท่วม หรือท่วมแต่ไม่น่าจะท่วมนาน เราก็พยายามสื่อสารว่าพี่น้องเดือดร้อนเรื่องอะไร แม้มีหน่วยงานค่อนข้างเยอะ แต่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพทำให้พี่น้องต้องช่วยเหลือตัวเอง ส่วนสิ่งที่ต้องการ คือ การได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและเป็นความต้องการของคนในชุมชนจริง ๆ เรื่องพวกนี้ควรให้คนในชุมชนเป็นคนออกแบบ และต้องแก้ไขนโยบายให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม เรื่องค่าเยียวยา ก็ควรได้รับอย่างสมจริงและเพียงพอต่อการพื้นฟู และที่สำคัญคือระเบียบข้อกฎหมาย เพราะตอนนี้ถนนหนทางบางที่ยังไม่ซ่อม กฎหมายหลายตัวที่เกี่ยวกับภัยพิบัติควรแก้ไขอย่างโดยด่วน” บุญทัน เพ็งธรรม เครือข่ายอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จ.อุบลราชธานี ย้ำถึงโจทย์เรื่องข้อกฎหมายที่ยังมีข้อจำกัดและส่งผลต่อการจัดการภัยพิบัติในระดับพื้นที่
“เขื่อน” ปัจจัยที่ทำให้เกิดภัยพิบัติในภาคอีสาน
“วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปก็เพราะเขื่อน ชาวบ้านต้องทนมากว่า 30 ปี เพราะไม่มีส่วนร่วมกับรัฐบาล หรือมีก็มีน้อยมาก มาทำให้น้ำท่วม พอน้ำท่วมชาวบ้านก็โดนว่าอยากได้ของแจกอยากได้เงิน” สมปอง เวียงจันทน์ เครือข่ายสมัชชาคนจน เริ่มต้นเสวนาด้วยมุมมองต่อเขื่อนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อวิถีชุมชนลุ่มน้ำมูล เนื่องจากเป็นการกักเก็บและบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่
“อยากให้เปิดเขื่อนตลอด การจัดการทรัพยากรน้ำและอื่น ๆ ควรแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะชาวบ้านต้องอาศัยปลาในการทำมาหากิน อยากให้เปิดเขื่อน เพราะจะทำให้น้ำข้างบนลดลง เมืองอุบลก็อาจจะไม่ท่วม คือถ้าไม่มีอะไรขวางทางน้ำ น้ำก็จะไปได้เร็วจึงไม่ควรมีเขื่อน หลายคนมองกว่ามันเป็นกับธรรมชาติแต่จริง ๆ แล้ว มันไม่ใช่
ถ้าปิดเขื่อนก็คือความทุกข์ยาก ปลาไม่มีกิน ทางแก้ไขคือควรทำเป็นคลองย่อย คลองไส้ไก่ เพื่อขังน้ำไว้หน้าแล้งซึ่งถ้ารัฐสนใจจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ใช้งบ 10,000 ล้าน ก็ทำได้แล้ว แต่อยากให้มาฟังชาวบ้านว่าเขาต้องการอะไรอยากให้คำนึงถึงวิถีชีวิตชุมชนด้วย ขอเสนอต่อรัฐบาลใหม่ว่าควรแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เคยเสนอทุกพรรค แต่ก็ไม่มีใครฟังชาวบ้าน”
เช่นเดียวกับ สวาท อุปฮาด ชาวบ้านโนนหนองลาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น แกนนำสมัชชาคนจน ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพราะมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ใต้เขื่อนอุบลรัตน์ ลุ่มน้ำพอง จ.ขอนแก่น
“ปัญหาหลัก ๆ เลย คือ ลำน้ำพองตอนปล่อยน้ำจะปล่อยเท่าไหร่ชาวบ้านไม่รู้ มีปัญหาการสื่อสารไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ชาวบ้านรับมือไม่ทัน การที่ปล่อยน้ำเยอะมันมาปริมาณคราวละมาก ๆ ทำให้น้ำหนุนสูงเกิดการระบายช้า น้ำก็ท่วมในพื้นที่ ชาวบ้านใน อ.น้ำพอง อ.อุบลรัตน์ และ อ.เมืองขอนแก่น ซึ่งหลาย ๆ คนชาวบ้านไม่มีเครื่องมือ ไม่มีเรือ ไม่มีความพร้อม ชาวบ้านก็ต้องหากันเอง ความช่วยเหลือจากหน่วยงานไม่ตอบสนองต่อคนในพื้นที่ อย่างที่ชุมชนมีน้ำท่วม 3 ปีซ้อน ซึ่งควรต้องรู้ก่อนว่าในชุมชนจะเอาอะไรก่อน และน้ำท่วมปี 2565 มีความเสียหายมาก การช่วยเหลือก็แค่ถุงยังชีพในแต่ละวัน”
นอกจากภัยพิบัติใหญ่ในปี 2565 และ ปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งหลายจังหวัดในภาคอีสานโดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี พื้นที่ปลายน้ำที่รองรับน้ำจากลุ่มน้ำในอีสานก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง การจัดการน้ำท่วม และน้ำแล้ง ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของชาวอีสานทั่วทั้งภูมิภาค
สิ่งแวดล้อมกับการจัดการภัยพิบัติ
“ภัยพิบัติที่คนอีสานเจอก็คือน้ำท่วมและน้ำแล้ง ปัญหาทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากคน ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาโครงสร้างและนโยบาย หลังเลือกตั้งต้องมาดูอีกที” นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานมูลนิธิประชาสังคม จ.อุบลราชธานี ย้ำชัดถึงสาเหตุของภัยพิบัติที่เป็นผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์
“ทั้งหมดนี้ คือ นโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อม หน่วยงานรัฐไม่ได้บอกว่าน้ำเป็นชีวิต แต่เขามองเป็นวัตถุ เพราะไม่ได้คิดแบบชาวบ้าน นักการเมืองไม่เคยมาสัมผัสกับชาวบ้าน ทำให้ไม่รับรู้ถึงปัญหาอันแท้จริง ความเหลื่อมล้ำเรื่องวิธีคิดระบบโครงสร้างและนโยบาย วิธีคิดที่ไม่ใช่ของเรา เราไม่ควรรับไว้ อย่าให้ประชาชนโดนดูถูก ว่ารอคอยเพียงแต่ของช่วยเหลือ เรามีสิทธิ์ที่จะต้องมีชีวิตอยู่และมีสิทธิ์ที่จะกำหนดการนโยบายการจัดการน้ำ
ปัญหาน้ำท่วมในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ทางเหนือ ทางใต้ ก็แตกต่างกันออกไป การแก้ปัญหาจะต้องแตกต่างกัน ต้องทำนโยบายสาธารณะที่พูดถึงนโยบายการจัดการน้ำเพื่อพูดถึงและโยบายการจัดการน้ำ จะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนออกมาพูดได้และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
ตอนนี้ต้องปลูกป่าให้เยอะขึ้นและต้องทำแหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนให้เยอะขึ้น ไม่มองเพียงโครงการใหญ่ ๆ แต่ควรมองโครงการเล็ก ๆ ด้วย อยากให้ทุกคนมารวมหัวกันและให้รัฐมารับฟัง อยากให้เกิดเวทีแบบนี้ทั่วประเทศ เพราะว่ารัฐเป็นหน่วยงานที่ต้องรับใช้เรา การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แก้ส่วนเดียวไม่สำเร็จ ปีหน้าอาจจะมีอากาศร้อนมากขึ้นถึง 2 – 3 องศาเซลเซียส”
ภัยพิบัติแก้ได้ด้วยการเมืองแบบใหม่
ผศ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจำเป็นต้องใช้การเมืองแบบใหม่ และแบ่งการจัดการปัญหาของเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
“มีประเด็นสำคัญคือ เราได้มีความเห็นร่วมกันว่า โดยเฉพาะน้ำท่วม มันมีผลมาจากการกระทของมนุษย์ ในปีที่ผ่านมา 2562 และ 2565 ปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้น คือ ผังเมือง เรื่องของป่าบุ่งป่าทาม ถูกรุกล้ำ ถูกขุด ถูกลอก เรื่องของเขื่อนที่บริหารจัดการผิดพลาด และการจัดการภัยพิบัติของรัฐล้มเหลว
รัฐล้มเหลว คือ ไม่สามารถเตือนภัยและการฟื้นฟูเยียวยาไม่เป็นธรรม ภัยพิบัติก็จ่อมาแล้ว ในขณะเดียวกันการแก้ปัญหาเรื่องภัยพิบัติ เราพบว่า ข้อเสนอของหน่วยงานรัฐคือไม่แก้ที่ต้นเหตุ แต่จะเป็นการซ้ำเติมประชาชน เช่น โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล และโครงการผันน้ำเลี้ยงเมืองอุบลราชธานี
การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ระยะสั้น จำเป็นที่จะต้องมีแผนเผชิญเหตุที่ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งต้องมีการฝึกซ้อม ประการที่สองคือการแก้ปัญหาระยะกลาง ด้วยการแก้ที่ต้นเหตุ คือ การแก้ไขผังเมือง ซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องมีการปรับผัง รวมไปถึงพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่รองรับน้ำ และในระยะยาวเสนอให้มีการทบทวนแผนพัฒนาอีสาน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เน้นไปที่แผนพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งโรงงานน้ำตาล 29 แห่ง ซึ่งจะเป็นตัวเร่งในการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งในอีสาน
การพัฒนาอีสานควรมุ่งไปที่การพัฒนาที่ยั่งยืน เราจึงจะอยู่รอดได้ เพราะที่เราพูดถึงไม่ใช่แค่เรื่องอุทกภัย มีทั้งเรื่องอากาศร้อน เรื่อง PM 2.5 เพราะ ภัยพิบัติรุนแรงขึ้นทุกวัน ผมคิดว่าพรรคการเมืองยุคใหม่ ควรมีฝ่ายที่ทำงานเรื่องภัยพิบัติ ถ้าพรรคการเมืองยังเล่นการเมืองแบบเก่าที่ฉวยเอาความทุกข์ของชาวบ้านเพื่อหาคะแนน ถือเป็นการเมืองแบบเก่า”
“ภาคอีสาน” เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ประสบปัญหาจากภัยพิบัติและมีความรุนแรงขึ้นทุกปี ประชาชนทั้งภาคเมืองและภาคชนบทต่างได้รับผลกระทบความเดือดร้อนในทุกมิติ โจทย์การแก้ไขปัญหา ทั้ง การเตรียมพร้อมรับมือ การเผชิญเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยาที่เป็นธรรม ผ่านการรวบรวมข้อคิดเห็นจากเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเป็นอีกความคาดหวังที่จะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย โดยเฉพาะในโอกาสที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ 14 พฤษภาคมนี้ “เสียงประชาชน เลือกอนาคตภาคอีสาน เลือกอนาคตประเทศไทย”