อีก 23 วันก็จะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสได้จัดกิจกรรม Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง 66 โดยเชิญชวนประชาชนทั้งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง ร่วมระดมข้อคิดเห็นและความต้องการของคนภาคเหนือ ซึ่งส่วนหนึ่งของกิจกรรมได้มีการสำรวจความคิดเห็น โดยกิจกรรมได้จำลองให้ผู้เข้าร่วมนำลูกบอลซึ่งแทนด้วยภาษีนั้นควรจะนำไปใช้กับประเด็นไหนมากที่สุด
My Tax My Future เรียบเรียงความต้องการสำคัญที่คนเหนือต้องการ
กิจกรรม My Tax My Future ได้แบ่งผู้เข้าร่วมตามช่วงวัย ได้แก่ วัย Gen Z, Gen Y, Gen X และวัย Baby Boomer
สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ว่ากลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะมีความแตกต่างกันทั้งช่วงวัยและที่มา แต่สิ่งที่คนเหนือเห็นพ้องต้องกันคือ ภาคเหนือต้องการการกระจายอำนาจมากที่สุด
กระจายอำนาจประตูแรกสู่การพัฒนาภาคเหนือ
ร่วมฟังบทสรุปข้อคิดเห็น โดยตัวแทนประชาชนซึ่งเป็นทั้งผู้นำชุมชน นักธุรกิจ ตัวแทนส่วนราชการ นักศึกษา หลากอาชีพหลากวัย จาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 50 ท่านมาร่วมกันมองภาพอนาคตภาคเหนือ
ความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ภาคเหนือถูกมองว่าเกิดจากการที่รัฐบาลส่วนกลางไม่มีความเป็นประชาธิปไตย การรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นกำเนิดที่ทำให้การกระจายอำนาจในอดีตหยุดชะงัก เกิดระเบียบคำสั่งที่กำกับท้องถิ่นจนขยับตัวไม่ได้ เพราะรัฐไม่ไว้วางใจท้องถิ่นมากพอที่จะให้จัดการตนเอง ซึ่งการไม่กระจายอำนาจทำให้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือที่ทำให้เกิดการกดทับในทุกมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม
กระจายอำนาจเพื่อสุขภาพยั่งยืน
ภาคเหนือมีจำนวนโรงพยาบาล 195 แห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2,227 แห่ง โดยในปี 2562 มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ1,843 คน จึงถือได้ว่าภาคเหนือมีช่องว่างของความเหลื่อมด้านการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลขนาดใหญ่อีกภูมิภาคหนึ่ง
รายงานโรคมะเร็งในประเทศไทยปี 2559-2561 วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งจากโรงพยาบาลใน 14 จังหวัดทั่วประเทศไทย พบว่าในภาคเหนือ ‘มะเร็งปอด’ มีอุบัติการณ์สูงที่สุด ในประชากรชายเท่ากับ 33.1 รายต่อแสนคนและในประชากรหนญิงเท่ากับ 19.9 รายต่อแสนคน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งในผู้สูงอายุใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบว่า โรคมะเร็งปอด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และถึงแม้การเกิดโรคมะเร็งปอดนี้จะเกิดมาจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ แต่กรณีหมอกควันฝุ่นควันขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นพิษ pm 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นเกินค่ามาตรฐานทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ซึ่งเกิดจากการเผาป่าและเผาพื้นที่ทางการเกษตร
ทำให้สภาพแวดล้อมและมลภาวะทางอากาศ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่คนเหนือไม่อาจควบคุมได้ บวกกับฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่พัดเข้ามามากขึ้นจากการขยายพื้นที่เกษตรข้ามพรมแดน อีกทั้งสภาพของพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีเศษใบไม้ร่วงสะสมก่อให้เกิดไฟป่าได้ง่าย และลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบบดบังทิศทางลมทำให้ฝุ่นควันไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้โดยง่าย
การแก้ไขปัญหาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถจัดการได้โดยเฉพาะการจัดการเชิงระบบในพื้นที่ แม้จะมีความพยายามของหลายหน่วยงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ในการดูแลและจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยกันก็ตาม
ในฐานะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ความหวังที่จะให้รัฐแก้ปัญหา คงสำเร็จได้ยากหากไม่มองภาพรวม ยอมจำนนกับกลุ่มทุนที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ที่เป็นต้นต่อของการเผา คงเป็นอีกครั้งที่กำไรในตลาดหลักทรัพย์ แลกมาด้วยสุขภาพ ของในพื้นที่ภาคเหนือ
กลุ่มเชียงรายไม่ทนฝุ่น วันที่ 10 เมษายน 2566
กระจายอำนาจเพื่อการศึกษา
ภาคเหนือมีสถาบันอุดมศึกษา 29 แห่ง เกือบครบทุกจังหวัด ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ยกเว้นพื้นที่ห่างไกลยังมีปัญหาในการเข้าถึงการศึกษา โดยพบว่าระบบการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ไม่ตอบสนองท้องถิ่น และไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง
ถึงแม้การศึกษาจะมีความสำคัญเพราะเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ ฐานะทางสังคม และเป็นสิทธิตั้งแต่เกิดจนตาย แต่การศึกษาในภาคเหนือยังถูกมองว่าไม่ใช่สวัสดิการขึ้นพื้นฐานที่แท้จริง มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด 19 ครอบครัวที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทำให้เด็กต้องออกจากการเรียนกลางทางโอกาสทางการศึกษาของผู้เรียนไม่เท่ากัน
นอกจากนี้การศึกษาปัจจุบันถูกออกแบบมาก้อนเดียวจากส่วนกลาง ไม่หลากหลาย ไม่สอดคล้องกับวิถีและบริบทของท้องถิ่นชุมชน ในขณะที่ภาคเหนือที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและภาษา นอกจากนี้การจัดการศึกษายังเป็นการจัดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เน้นเรื่องการผลิตคนมากกว่าการตอบสนองการใช้ชีวิตของคน ไม่รวมถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษากลางคัน ทำให้เกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการจัดการศึกษาอีกด้วย
ข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจด้านการศึกษาคือ การคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้กับท้องถิ่น โดยรัฐทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนด้านงบประมาณ โดยการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการออกแบบหลักสูตรผู้เรียน .รัฐแก้กฎหมาย จะก่อให้เกิดการศึกษาที่เท่าเทียมทุกระดับทั้งในชนบทและในเมือง รวมทั้งการปรับนิยามการศึกษาใหม่ให้สอดคล้องกับพื้นที่ เน้นการจัดการศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้งและให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบจัดการศึกษาที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับวิถีชีวิต ตามบริบทของชุมชนท้องถิ่น เน้นการเรียนรู้ที่รอบด้าน
กระจายอำนาจเพื่อสิ่งแวดล้อม
ภาคเหนือผลิตพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง โดยภาคเหนือตอนล่างมีศักยภาพด้านการผลิตข้าว และภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่สำคัญในผลิตพืชผัก ผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ แต่มีโจทย์ใหญ่คือสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรโดยเฉพาะเรื่องที่ดินเนื่องจากเป็นพื้นที่ป่า
สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของทุกคนในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจปากท้อง ความอยู่รอดและการมีสุขภาพที่ดีและยั่งยืน สุขภาพ
แต่โจทย์ใหญ่ที่เป็นเสมือนกำแพงกั้นชุมชนกับทรัพยากรคือ การขาดสิทธิในการจัดการดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ป่า มีการออกกฎหมายการกันคนออกจากป่า รวมถึงการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่องโดยขาดการศึกษาภูมิสังคมในพื้นที่ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน
กระจายอำนาจเพื่อสังคมสูงวัย
โครงสร้างประชากรของภาคเหนือเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ข้อมูลเมื่อปี 2562 มีสัดส่วนผู้สูงอายุ กว่าร้อยละ 21.79 ซึ่งทำให้วัยแรงงานต้องดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น จากประชากรวัยแรงงาน 2.6 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และด้วยครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ส่งผลให้ลูกหลานไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้หรือแบ่งเบาภาระได้ เมื่อเจ็บป่วยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่ม ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งเรื่องเศรษฐกิจเองก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงวัยในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้การพัฒนาสภาพแวดล้อมสถานที่สาธารณะและชุมชนยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ พลัดตกหกล้ม
กระจายอำนาจเพื่อเศรษฐกิจทั่วถึง เป็นธรรม
เศรษฐกิจของภาคเหนือยังมีขนาดเล็กที่สุดในประเทศ และขยายตัวช้า เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยังกระจายสู่ภาคเหนือไม่มากนัก ทำให้ภาคบริการมีบทบาทสำคัญโดยมีสัดส่วนกว่าครึ่งในโครงสร้างเศรษฐกิจของภาค รองลงมาเป็นภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
ถึงแม้ภาคเหนือมีความพร้อมต่อการพัฒนาเชื่อมโยงด้านการค้าและบริการกับนานาชาติ และกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและมีเมืองสำคัญที่เป็น ฐานการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับนานาชาติ อย่างเช่น เชียงใหม่ เชียงราย และตาก และการเส้นทางคมนาคม แต่ก็ยังไม่สามารถดึงดูดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเป็นเพียงทางผ่านของสินค้าเท่านั้น
นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภาคเหนือที่มีฐานทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งท่องเที่ยวเชิง ประวัติศาสตร์ เชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน แต่รายได้ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก อีกทั้งปัญหาฝุ่นควันในช่วงหลายปีมานี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกด้วย
ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งทุนต่าง ๆ ที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรวย/ทุนขนาดใหญ่ ด้านการเกษตรรัฐยังขาดการสนับสนุนและส่งเสริมการตลาด เทคโนโลยี ความรู้ เฉพาะด้านให้กับเกษตรกร รวมถึงการประกันความเสี่ยงจากผลผลิตที่เสียหายจากภัยต่าง ๆ และผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ประกอบกับนโยบายของรัฐแบบเสื้อโหลไม่ตอบโจทย์ความต้องการชุมชนคนในพื้นที่ ทำให้การกะจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นได้จัดสรรทรัพยากร และออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่เป็นข้อเสนอที่เชื่อว่า จะทำให้ภาคเหนือสามารถพัฒนาตนเองได้ตรงจุด เต็มศักยภาพ และมีความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นเป็นเพียงมุมมองและข้อเสนอที่น่าสนใจจากตัวแทนประชาชนหลากอาชีพหลากวัย จาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 50 ท่านมาร่วมกันสะท้อนและมองภาพอนาคตภาคเหนือเพียงเท่านั้น
ร่วมฟังเสียงคนในภูมิภาคถัดไปได้ที่แอปพลิเคชัน C-Site หรือเข้ามาร่วมเสนอไอเดียและร่วมสนุกไปกับ My Politician ออนไลน์ได้ตาม QR Code ด้านล่าง
ขอบคุณภาพประกอบจากเพจ The North องศาเหนือ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
คนเหนือมองอนาคตประเทศไทย หลังเลือกตั้ง
ความจริงภาคเหนือในกระแสความเปลี่ยนแปลง
เลือกตั้ง66 : แก้โจทย์ PM 2.5 จากประชาชน เสนอนโยบายฝุ่นให้ตรงจุด