เลือกตั้ง 66 : คืนครูสู่ห้องเรียน คืนเด็กสู่ระบบการศึกษา

เลือกตั้ง 66 : คืนครูสู่ห้องเรียน คืนเด็กสู่ระบบการศึกษา

รายการออนไลน์ “อีสานชวนคิด เสียงประชาชน เลือกอนาคตภาคอีสาน” ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น ไทอีสานPBS และกองบรรณาธิการเครือข่ายสื่อพลเมือง อยู่ดีมีแฮง ชวนโสเหล่เว้าจาถึงข้อเสนอของเครือข่ายคนทำงานด้านการศึกษาและผู้เรียน เมื่อวันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2566  เพื่อสะท้อนเสียงความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายหลังการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ซึ่งร่วมสนทนาโดย คุณชุตินธร หัตถพนม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู คุณพีรชัย วงศ์เลิศ อดีตข้าราชการครู จ.ศรีสะเกษ  และคุณภัคพงศ์ แสนชาติ  เครือข่ายคนรุ่นใหม่ KKVOY ดำเนินรายการโดย คุณสุมาลี สุวรรณกร กอง บก.ไทอีสานพีบีเอส

คืนครูสู่ห้องเรียน

“หนึ่ง คืนครูเข้าสู่ห้องเรียน สอง คืนเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาที่หลากหลาย ซึ่งไม่ใช่ในระบบอย่างเดียวแต่เราพูดถึงระบบการศึกษาที่เขาสามารถออกแบบได้เอง” ภัคพงศ์ แสนชาติ ท็อปวัน เครือข่ายเสียงเยาวชนขอนเเก่น (KK-VoY) ย้ำถึงความต้องการในการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้ของเยาวชนที่เขามองว่ายังคงมีอุปสรรคจากระบบการศึกษา

“เรามองย้อนขึ้นไปอีกว่า ทำไมตัวผู้สอนกับตัวผู้เรียนถึงมีปฏิสัมพันธ์ที่น้อย เราพบว่าตัวระบบเองกดดันให้ตัวผู้สอนเองไม่มีเวลามากพอสำหรับที่จะมาพูดคุยกับนักเรียน หรือว่ามาศึกษาตัวว่านักเรียนหรือตัวนักศึกษาเองต้องการอะไร ต้องใช้วิธีแบบไหน กลายเป็นว่าตัวผู้สอนเองได้รับแรงกดดันจากส่วนอื่น ๆ เช่น โรงเรียนไม่ให้พื้นที่กับอาจารย์หรือคุณครูจริง ๆ ให้ได้สอนนักเรียน แต่กลับเอาเวลาไปทำเอกสารเอาเวลาไปทำตรงส่วนอื่น เช่น การประเมินผลงานซึ่งเรามองว่าบ้างครั้งมันไม่มีความจำเป็นสำหรับการศึกษาจริงๆ

เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ส่วนที่ได้รับผลกระทบจริงจะเป็นตัวนักเรียนเอง เราจึงออกมาพูด แต่บางครั้งผู้สอนเองอาจจะมีบทบาทหน้าที่มีตำแหน่งที่เขาอาจจะไม่ส่งเสียงหรือออกมาพูดเองได้ ตัวนักเรียนหรือว่าเยาวชนเองก็อยากที่จะเป็นกระบอกเสียงให้บุคคลเหล่านี้ ให้เขาปฏิบัติที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี แต่ว่าบางทีอำนาจรัฐหรือตัวระบบกลไกต่าง ๆ มากดเขาไว้”

ภาระงานของครูผู้สอนที่มากกว่าการสอน ดูเหมือนจะเป็นโจทย์เดียวกันที่มีส่วนสำคัญในการดึงครูออกจากห้องเรียน ซึ่งสอดคล้องกับข้อคิดเห็นจาก ชุตินธร หัตถพนม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู

“ปัญหานี้ตรงมาก เรื่องที่ภาระงานครูที่มันมากกว่าภาระการสอนในห้องเรียนอย่างเช่น การบริหารงานจะแบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายแผนงบประมาณ ฝ่ายบุคลากร และฝ่ายบริหารทั่วไป ฉะนั้น 4 ฝ่ายนี้เขาก็จะมีภาระงานที่ชัดเจนมาก เช่น วิชาการต้องทำหลักสูตร ต้องจัดระบบนิเทศ ต้องเตรียมเอกสารการประเมิน ฯลฯ  อย่างฝ่ายแบบงบประมาณ สตง.เอง ก็จะมีหลายกลุ่ม อย่างเช่นของโรงเรียนท้องถิ่นก็จะมี สตง.เล็กเทศบาล สตง.ในส่วนสำนักที่ดูแลพวกเรา สามกลุ่มที่จะเข้ามาตรวจสอบ

แค่นี้ทำงานแค่ 2-3 วันก็จริงแต่เราเตรียมตัวที เราเตรียมทั้งเทอมทั้งปี ซึ่งเอาตัวนี้เข้ามาการบริหารงานในโรงเรียนคนที่จะทำงานต้องรองรับการตรวจซึ่งก็คือครู อันนี้คือปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัด ว่าภาระงานพวกนี้เป็นภาระงานที่นอกเหนือจากครูที่จะสอนเด็กจริงๆ

พ.ร.บ.การศึกษา พูดถึงเรื่องการพัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สมบูรณ์ทางด้านกาย ใจ สติ ปัญญา เขาพูดถึงประเด็นภาพใหญ่ ๆ แบบนี้ แต่แนวทางการปฏิบัติผ่านกระทรวง ผ่านกรม ผ่านแต่ละระดับมากว่าจะมาถึงโรงเรียนมันถูกกลั่นกรองมาผิดเพี้ยนไปมาก”

คืนเด็กสู่ระบบการศึกษาที่หลากหลาย

ผมเห็นว่าในเรื่องของการจัดการการศึกษา ให้มองเด็กว่าเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตที่จะเติบโตมาพัฒนาบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เรียนเก่ง เรียนอ่อน เรียนปานกลาง ไม่ใช่เพียงว่าลูกหลานของใคร พวกเขาก็คือคนสำคัญทั้งหมด”  พีรชัย วงศ์เลิศ อดีตข้าราชการครู จ.ศรีสะเกษ ย้ำถึงผู้เรียนซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในระบบการศึกษา

“ประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา คือการเข้าใจเด็กในฐานะที่เคยเป็นครูมาก่อน ในตอนที่จัดการเรียนการสอน ผมกลับมองว่า ไม่ว่าเด็กจะเรียนได้ประมาณไหน แต่อยากให้เรียนอย่างมีความสุขมากกว่า ผมจะอาศัยสิ่งแวดล้อม โดยใช้ธรรมชาติ ใช้ป่าที่มีอยู่ภายในหมู่บ้านเป็นห้องเรียน  การที่จะทำให้เด็กมีความสุขก็คือทำให้เขาได้สัมผัสกับวิถีที่เขาอาศัยอยู่อย่างแท้จริง ก็เอาเรื่องราวในชุมชนมาเชื่อมโยงกับบทเรียนที่อยู่ในตำรา ที่ทางรัฐหรือกระทรวงได้ทำให้ ซึ่งสิ่งที่ผมค้นพบได้แล้วก็พิสูจน์ได้ว่า ความสามารถและความถนัดของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ชอบในสิ่งที่ต่างกันเหมือนการจัดการเรียน ทำให้เขามีความสุขทำให้เขาอยากมาเรียน 

ปฏิรูปการศึกษาทุกวันนี้ไม่ว่าจะปฏิรูปครูหรือปฏิรูปรูปแบบการศึกษา แต่ก็ยังไม่สำเร็จได้เท่าที่ควร เราไม่ได้เอาตัวตนของเด็กเป็นที่ตั้ง อันนี้เป็นประเด็นแรก ในฐานะที่เป็นครูมาก่อน ประเด็นตรงนี้มันเหมือนกับว่าฉันต้องพัฒนาการศึกษาให้ได้ด้วยประเด็นนี้ แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่เลย เพราะว่ามันไม่ได้ตอบสนองกับตัวเด็กอย่างแท้จริง บางอย่างเรื่องเทคโนโลยีก็เป็นภาระกับครู เป็นภาระกับพัสดุ เป็นภาระการตรวจสอบ เรื่องราวต่าง ๆ มากมาย แต่ที่นำมาใช้มันใช้น้อย หนึ่งคือต้องเรียนรู้กับมันสองคือต้องเรียนรู้การบำรุงรักษา ประโยชน์มันได้น้อยกับการที่จะต้องมาเรียนรู้กับเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งมันมีผลมาแล้วว่ามันได้ประโยชน์น้อย มันไม่ตรงตามที่รัฐได้สร้างเงื่อนไขและได้ผูกไว้”

กระจายอำนาจทางออกแก้โจทย์การศึกษา

“การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นให้กับโรงเรียนจริงๆ กระจายอำนาจแล้ว กระจายให้เขาบริหารจัดการเลย ถ้าจะเป็นเรื่องงบประมาณก็ให้โรงเรียนได้ดูแลจริงๆไม่ต้องมาตรวจสอบอะไรที่จุกจิกมากมาย”  ชุตินธร หัตถพนม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู แสดงทัศนะและเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อแก้โจทย์การศึกษาในระดับท้องถิ่น

“ให้เป็นการตรวจสอบในภาพกว้าง ๆ ว่าโรงเรียนเอาไปใช้จ่ายแบบไหน ยังไงบ้าง ถ้าไม่อย่างนั้นโรงเรียนก็จะเป็นอะไรที่มันรุงรังที่จะมารายงานมาติดตาม การกระจายอำนาจสำคัญมากในเชิงท้องถิ่นเองที่ให้ท้องถิ่นออกแบบเรื่องการบริหารจัดการ ออกแบบเรื่องของการเรียนรู้ที่หลากหลาย อย่างที่บอกว่าคืนเด็กไปสู่ห้องเรียนที่หลากหลายไม่ใช่แค่โรงเรียนอย่างเดียว เด็กเองควรที่จะได้เลือกว่าเขาจะต้องเลือกว่าถนัดอะไร ชอบอะไร

การเรียนไม่ได้ขึ้นในห้องเรียนบางอย่างเขาชอบที่อยากจะซ่อมรถ ฉะนั้นห้องเรียนของเขาควรเป็นการซ่อมรถ เขาอยากจะเป็นเชฟเป็นเชฟระดับโรงแรม ในห้องเรียนของเขาก็ควรเป็นเรียนกับเชฟ มันควรที่จะมีการนับหน่วยกิตให้กันได้ การกระจายอำนาจที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ ของค่านิยมปัจจุบันที่โรงเรียนดังผู้ปกครองที่มีฐานะดีก็จะมีงบประมาณหรืออะไรบ้างอย่างก็จะลงไปอยู่ในนั้น ซึ่งตรงนั้นก็ควรจะลดค่านิยมนี้ให้โรงเรียนทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ดีเสมอกัน โรงเรียนที่ดีคือโรงเรียนใกล้บ้านเด็กให้เดินทางได้สะดวกเท่ากัน”

ทางออกโจทย์การศึกษา แม้จะมีความพยายามและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แต่ด้านหนึ่งอาจมองได้ว่าเหมือน “ลิงแก้แห” ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง นั่นอาจเพราะยังต้องตามหาต้นตอของปัญหาและไล่เรียงไปทีละเปราะ ทีละข้อ ซึ่งอย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมและเห็นภาพตรงกันเป็นฉันทามติภายใต้ความร่วมมือเดียวกัน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น อาจจะเป็นคานงัดที่สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญระหว่างรอความหวังจากรัฐบาลใหม่ให้เอาจริงเอาจังกับโจทย์ใหญ่ “การศึกษาไทย” ด้วยการ “คืนครูสู่ห้องเรียน คืนเด็กสู่ระบบการศึกษาที่หลากหลาย”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ