เปิดแนวทาง “กระจายอำนาจท้องถิ่น” เบิกจ่ายงบเพื่อความปลอดภัยของ “คน-ช้างป่า”

เปิดแนวทาง “กระจายอำนาจท้องถิ่น” เบิกจ่ายงบเพื่อความปลอดภัยของ “คน-ช้างป่า”

ภาคประชาชนเสนอทำได้ทันที กระจายอำนาจ ทั้งการจัดการและงบประมาณ สร้างความปลอดภัยทั้งคนและช้าง ลดความรุนแรง และความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนในพื้นที่ป่าภาคตะวันออก

ปัญหาคน ปัญหาช้างป่าในแถบตะวันออกของไทย ยังคงเจอปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ และนับวันกลับยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ความสูญเสียไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร รวมทั้ง ‘ชีวิต’ ของประชาชน ที่ต้องบาดเจ็บและสูญเสียไปกว่า 77 ราย ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 

แม้ภาครัฐอย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะมียุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาช้างป่า  โดยมีวิสัยทัศน์ว่า ภายในปี 2570 ชุมชนกับช้างป่าและสัตว์ป่าในภาคตะวันออก สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย โดยมีการกำหนดแนวทางในการจัดการช้างป่าทั้งใน และนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 แนวทาง 15 กิจกรรม 30 โครงการ 

แต่เครือข่ายภาคประชาชนยังมองว่า การจัดการปัญหาช้างป่านอกพื้นอนุรักษ์ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และยังมีช่องว่างในเรื่องความเข้าใจต่อบทบาท นโยบาย และข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการบริหารจัดการช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากยังเป็นการกำหนดนโยบายที่เน้นการออกแบบและตัดสินใจจากส่วนกลางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า ยังขาดการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย ติดตามผล และร่วมตัดสินใจในการบริหารจัดการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากพื้นที่ รวมถึงขาดการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าอย่างทันท้วงที

การ ‘กระจายอำนาจ’ ทั้งการจัดการ และการใช้เงินงบประมาณ รวมทั้งสร้างกระบวนการที่มีส่วนร่วม จึงกลายเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาและยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์ป่าโดยสวัสดิภาพ

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาคมนิเวศยั่งยืน (Ecoexist Society) สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) เครือข่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำประแสร์-ระยอง องค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดวงเสวนา กระจายอำนาจการจัดการปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก การใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อการจัดการช้างป่าและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าในพื้นที่ชุมชนที่ท้องถิ่นสามารถทำได้ 

ร่วมพูดคุยโดย 

  • สุรศักดิ์ แป้นงาม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงบประมาณท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 
  • ธนพร ศรียากูล คณะกรรมการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
  • ศศิมา ราชานนท์ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง
  • พิชยะกิตติ์ พิณแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดิน จังหวัดฉะเชิงเทรา 
  • เผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ

แนวทางการเบิกจ่ายงบประมาณ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ที่ท้องถิ่นสามารถจัดการได้ 

สุรศักดิ์ แป้นงาม กล่าวว่า กรณีที่ท้องถิ่นต้องมีการจ่ายเงิน กฎหมายของท้องถิ่น เวลาใช้จ่ายเงิน จะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย  ถ้าทำตามกฎหมาย ไม่ต้องกังวลว่า สำนักการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. จะทักท้วง 

“การใช้จ่ายเงินกรณีช้าง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เราทราบปัญหานี้มาโดยตลอด และได้ออกหนังสือเรียนให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติว่า กรณีช้างเราจะทำอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาแต่ละท้องถิ่นมีการดำเนินการไปกันคนละทิศคนละทาง เมื่อมีหนังสือออกมา นั่นหมายความว่าเราจะมีกรอบการใช้จ่ายเงินพอสมควร”

หลักการของการจ่ายเงิน เราวางกรอบไว้ 3 ระดับ 

1. ก่อนเกิดภัย ท้องถิ่นเราสามารถที่จะจ่ายเงินเรื่องของการทำป้ายรณรงค์ หรือการให้ความรู้ด้วยการอบรมกับประชาชน และการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้กับคนที่มาป้องกันก่อนเกิดภัย อย่างเช่น เจ้าพนักงานของท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และประชาชนทั่วไป ซึ่งนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกคำสั่งได้ภายใต้ระเบียบ

2.กรณีเมื่อเกิดภัย ช้างป่ามาทำร้ายประชาชนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต รวมไปถึงทำลายพื้นที่เกษตร หรือพังบ้านเรือนประชาชนให้ได้รับความเสียหาย ท้องถิ่นสามารถใช้เงินของท้องถิ่นเองได้ จะเป็นกรณีที่ผู้ว่าประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือหรือไม่ก็ได้  ท้องถิ่นสามารถใช้เงินได้ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง 

  • บ้านเรือนเสียหายช่วยเหลือได้ไม่เกิน 49,500 บาท 
  • เสียชีวิต ไม่เกิน 29,700 บาท (กรณีเป็นหัวหน้าครอบครัว ช่วยเหลืออีก 29,700 บาท)

3. หลังเกิดภัย จะมีการเยียวยา ท้องถิ่นเราสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชน กรณีบ้านเรือนเสียหาย ชีวิต หรือบาดเจ็บ แต่จะต้องไปอิงกับระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการ

หลายคนบอกว่า กรณีเสีบชีวิตได้น้อย อยากให้เพิ่ม ตามระเบียบช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงมหาดไทย เราไม่สามารถให้เพิ่มได้ ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง 

แต่เนื่องจากมีการไปประชุมกับกรรมาธิการหลายคณะ มีการช่วยเหลืออีกส่วน คือ กองทุนช้าง ของกรมอุทยานฯ ก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้ อย่างที่ จ.อุทัยธานี ก็มีการเสนอไปทางกองทุนช้าง ก็ได้มา ไร่ละ 100,000 บาท  วงเงินสูงสุดอยู่ที่ 500,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนแล้ว ท้องถิ่นจะไม่สามารถจ่ายเพิ่มให้ได้อีก หรือถ้าได้จากท้องถิ่นแล้วก็จะไม่ได้จากกองทุน เพราะหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ ไม่สามารถให้ซ้ำซ้อนได้ 

นี่เป็นสิ่งที่ท้องถิ่นหลายแห่งกังวลเรื่องของการเบิกจ่าย แต่ถ้าทำตามระเบียบอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา 

ส่วน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สามารถใช้หลักเกณฑ์เดียวกันได้ แต่ถ้าเอา อบจ. เป็นพี่ใหญ่ แล้วไปช่วยเหลือน้องที่เป็น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีระเบียบของกระทรวงมหาดไทยก็คือ เงินอุดหนุน หมายความว่า อบจ. สามารถอุดหนุนเงินไปให้ อบต. ที่ฐานะการเงินไม่ได้ดี หรืออุดหนุนไปที่เทศบาล ที่มีฐานะการเงินไม่ดี อันนี้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยเงินอุดหนุน ไม่มีเพดานวงเงินแต่อยู่ที่โครงการที่นำเสนอ 

หากมีความประสงค์จะใช้จ่ายเงินในเรื่องอะไร ก็ทำโครงการแจกแจงรายละเอียด ทางอบจ. ก็จะพิจารณาว่าสิ่งที่ทางอบต. ขอเงินจากอบจ. นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของเงินอุดหนุนหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ อบจ. ก็สามารถอุดหนุนได้

Image Name

“เงินทดรองราชการ” ไม่ใช่การเยียวยา แต่เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ได้

ศศิมา ราชานนท์ ในฐานะตัวแทนกรมบัญชีกลาง รับผิดชอบดูแลเรื่องการใช้จ่ายเงินทดรองราชการ กล่าวในเด็นนี้ว่า การจ่ายเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ที่แจ้งว่าหลักเกณฑ์การจ่ายเงินของท้องถิ่น ปกติใช้หลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย แต่อัตราการจ่ายจะอิงระเบียบเงินทดรองราชการ ทำให้รู้สึกว่าไม่น่าจะได้ เพราะว่าเงินมีน้อย ไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น 

ต้องเข้าใจว่าหลักการของเงินทดรองราชการ เป็นการใช้เงินจากงบกลาง เป็นเงินที่สำนักงบประมาณจะจัดสรรเงินมาให้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น  จำเป็นเร่งด่วน และเป็นกรณีฉุกเฉิน หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ ไม่มีเงินงบประมาณที่จะใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางจังหวัด หรือส่วนกลางอย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยจะมีเงินตรงนี้ไปช่วยเหลือประชาชน 

หลักของเงินทดรองราชการ เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่ใช่การเยียวยาความเสียหาย ช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ได้ อาจเล็กน้อย แต่เป็นหลักคิดของการใช้เงินทดรองราชการ และต้องเกิดภัยด้วย 

การจะดำเนินการก่อนเกิดภัย ต้องเป็นเรื่องของการป้องกันในกรณีที่คาดว่า ภัยจะเกิดแน่ ๆ เลยทำให้การใช้จ่ายเงินทดรองราชการค่อนข้างที่จะมีข้อจำกัด เพราะภัยของประเทศไทย จะมีเกิดขึ้นอยู่เสมอ และต้องใช้เงินทดรองราชการตลอดเวลา ทำให้เงินของสำนักงบประมาณที่จะเอามาช่วยเหลือประชาชน ปีละไม่ต่ำกว่า 4,000 – 6,000 ล้านบาท  ซึ่งกรณีช้างป่าอาจจะเป็นซับเซ็ตย่อยของการช่วยเหลือในภาพรวม  

ในส่วนของกรมบัญชีกลางเอง ถึงแม้จะดูเรื่องของการจ่ายเงิน แต่ยังคิดว่าจะทำอย่างไรให้การดำเนินการโดยวิธีป้องกันแบบถาวร ทำให้เงินที่จ่ายไปปีละ 4,000 – 6,000 ล้านบาท และภัยจากช้างป่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรที่ให้เงินพวกนี้ลงทุนครั้งเดียวแล้วจบ อันนี้เป็นสิ่งที่กรมบัญชีกลางอยากให้เกิดในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง  

กรมบัญชีกลางทำหน้าที่ดูภาพรวม แต่มีหลักเกณฑ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ตามระเบียบเงินทดรองราชการพูดถึง อย่างหลักเกณฑ์ปลีกย่อย อย่างเช่น กรณีเสียชีวิต จะลงนามโดยกระทรวงการคลัง แต่ที่มาของเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้จะมีการคุยกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยที่อยู่หน้างาน จะทราบว่าแต่ละครั้งที่มีภัยต่าง ๆ เกิดขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่จะเดือดร้อนเรื่องอะไรบ้าง และควรช่วยเหลือในเรื่องอะไรบ้าง 

แต่ในส่วนของเกษตร อย่างเช่นพืชผลจะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เขาจะรู้ว่า ประชาชนที่มีอาชีพเกษตรกร เมื่อมีภัยต่าง ๆ ควรจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร ทั้งพืชและสัตว์ 

ส่วนสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ไม่ได้เข้ามาอยู่ในหน่วยงานที่ออกหลักเกณฑ์ปลีกย่อย อาจจะต้องมีการคุยกันว่า  ถ้าแยกภัยที่มาจากสัตว์ป่าโดยเฉพาะ อาจจะมีการคุยกันว่า หลักเกณฑ์ที่เป็นเรื่องของการช่วยเหลือกรณีสัตว์ป่าเข้ามาทำลายทรัพย์สิน จะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยหรือไม่ 

ถ้าภัยต่าง ๆ มีวิวัฒนาการเรื่องของการเกิดภัยมากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีสิ่งที่กำหนดว่าจะเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินอะไรไม่ได้อันนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจะต้องหารือร่วมกันว่าใคร ตอนนี้มีวิวัฒนาการอะไรมากขึ้น จะได้มีการปรับปรุงหรือมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมในสิ่งที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนให้มากขึ้น 

หลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ เป็นหลักเกณฑ์ใช้มาตั้งแต่ปี 2563 หากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รับเรื่องว่า ควรจะต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถมาคุยกับกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางในฐานะที่ดูแลในภาพรวมใหญ่ได้ 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องคุยกัน กรมบัญชีกลาง เหมือนเป็นหน่วยสุดท้ายที่จะดำเนินการเมื่อเกิดภัยแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจ่ายเงินไปแล้ว และมาขอที่กรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางจะต้องพิจารณาว่าสิ่งที่เขาจ่ายเงินทดรองไปโดยจ่ายคืน เติมเงินทดรองให้เต็มวงเงินให้กับหน่วยงาน  

สตง. ไม่ปิดกั้น แจงตรวจสอบการใช้เงินของท้องถิ่น ตามหลักอัตราและหลักเกณฑ์เท่านั้น

พิชยะกิตติ์ พิณแพทย์ กล่าวว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับช้างอยู่ 2 อำเภอ ก็คืออำเภอท่าตะเกียบ และอำเภอสนามชัยเขตที่เป็นรอยต่อ กรณีภัยพิบัติมีการใช้จ่ายจากงบประมาณอยู่ 2 ระเบียบหลัก คือระเบียบของกระทรวงการคลัง และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่จะสามารถจ่ายได้ 

ระเบียบของกระทรวงการคลัง ดั้งเดิมสามารถจ่ายได้เกือบจะครอบคลุมทุกกรณีในเรื่องของภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ส่วนระเบียบของกระทรวงมหาดไทยมีการปรับปรุงตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2560 เปรียบฉบับเก่าของกระทรวงมหาดไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการจ่ายว่าจ่ายได้ในกรณีใดบ้าง อย่างที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นบอกว่า มีทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ แต่มีบางกรณีที่จ่ายไม่ได้ มีข้อจำกัดอยู่ อย่างเช่น ความเสียหายจากพืชไร่ และเรื่องของการเยียวยาก่อนปี 2565  

ถ้า อปท.ไปจ่าย ของเก่ามีลักษณะที่เป็นข้อจำกัด ถ้าเป็นข้อจำกัดของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องมาใช้ระเบียบของกระทรวงการคลังจ่าย ไม่ใช่ว่าใช้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยจ่ายไม่ได้ แล้วประชาชนจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ต้องมาใช้ระเบียบของกระทรวงการคลัง ซึ่งครอบคลุมทุกกรณี  อันนี้เป็นของเดิม 

หลังจากนั้นทราบว่ามีการปรับปรุงระเบียบโดยลำดับ โดยเฉพาะปี 2565 ตอนนั้นสามารถที่จะขยายเรื่องการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยได้ ซึ่งผมยืนยันว่าทำได้ แต่อย่างไรก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตราตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ซึ่งระเบียบที่แก้ไขล่าสุดในปี 2566 ครอบคลุมทุกกรณีแล้ว อันนี้คือกรณีสำหรับการเบิกจ่ายในส่วนของเงินงบประมาณ ส่วนกองทุน ถือเป็นเงินที่นอกเหนือจากเงินงบประมาณทั้งสิ้น 

ถ้าจะใช้เงินก้อนที่เป็นระเบียบของกระทรวงการคลัง ต้องมีการประกาศภัยพิบัติในเขตพื้นที่นั้น ๆ เพราะถ้าไม่มี จะไม่สามารถใช้ได้ ถามว่าใครต้องประกาศ ก็คือ อปท. จะต้องเป็นผู้ชงเรื่องขึ้นมายังอำเภอ และจังหวัด จากนั้น ปภ.จังหวัดจะรับเรื่องและชงไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อลงนามประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย 

แต่ถ้าเป็นท้องถิ่น ปัจจุบันสามารถทำได้ จะประกาศหรือไม่ประกาศก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องรอ แต่การที่เราจะแยกแยะว่าเราจะใช้เงินก้อนไหนจากเงินงบประมาณ ต้องดูว่าภัยนั้นใหญ่แค่ไหน ซึ่ง อปท.จะต้องสำรวจ และรู้ศักยภาพของตัวเอง ดูว่ามีความเสียหายขนาดไหน

ถ้าเป็นการใช้จ่ายจากระเบียบของกระทรวงการคลังต้องใช้จากงบกลาง เงินงบกลางระดับประเทศมีการเติมมาให้ในจังหวัดเมื่อใช้หมด แต่ถ้าเป็นเงินของ อปท. จะไปเติมจากไหน ทาง อปท.จะต้องทราบศักยภาพและความเสียหายของตัวเอง และประเมินว่าจะต้องใช้อะไร 

กรณีช้างป่า เป็นเรื่องของเฉพาะราย ไม่เหมือนภัยธรรมชาติหรือศัตรูพืช ดังนั้นถ้าคิดว่าทำได้แล้วทำได้เร็วกว่า ก็ใช้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย แต่ถ้าเมื่อไหร่คิดว่าเกินฐานะการคลังของตัวเอง อาจจะเปลี่ยนไปใช้ระเบียบของกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจจะช้า เพราะมีการรายงานขึ้นไป และประกาศเขตพื้นที่ โดยจะมีคณะกรรมการของอำเภอและจังหวัดทำการพิจารณาจ่ายเงิน 

ถ้าใช้ระเบียบของกระทรวงการคลังไม่ค่อยมีปัญหาของอัตราแล้วก็หลักเกณฑ์ เพราะคณะกรรมการคุ้นชินและทำอยู่เป็นประจำ เพียงแต่คณะกรรมการช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยจะต้องศึกษาการใช้จ่ายเรื่องของหลักเกณฑ์ว่าอยู่ในอัตราที่เท่าไหร่เพื่อจะได้ถูกต้อง ซึ่งสตง. ตรวจตามหลักอัตราและหลักเกณฑ์ 

ตอบปัญหาคาใจ ท้องถิ่นใช้เงินเพื่อป้องกัน “ซ่อมหรือสร้างคูกันช้าง” ได้หรือไม่ 

สุรศักดิ์ แป้นงาม กล่าวว่า ในเรื่องของการสร้างคูกันช้าง ท้องถิ่นต้องดูเรื่องของพื้นที่ว่าเป็นของหน่วยงานราชการ อย่างเช่น อุทยานสัตว์ป่าหรือไม่  การสร้างสิ่งก่อสร้าง ตามเงื่อนไข ถ้าเป็นพื้นที่ส่วนราชการเราไม่สามารถเข้าไปทำได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ทั่วไปของเราเองสามารถทำได้ไม่มีปัญหา 

แต่ส่วนของท้องถิ่นเราอิงอัตราตามกระทรวงการคลัง ถ้าบอกว่าน้อยไป ต้องทำข้อมูลเสนอว่าเกณฑ์นี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขอให้ปรับใหม่ ตั้งคณะกรรมการหารือกันอีกครั้ง

“กระจายอำนาจท้องถิ่น” คือคำตอบของการแก้ไขปัญหา?

ด้านธนพร ศรียากูล กล่าวเสริมว่า สัตว์ป่ามี 2 มิติ คือตัวสัตว์กับพื้นที่ ทั้ง 2 อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่เจ้าของ เพราะมีกฎหมายพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นกฎหมายแม่ในการควบคุมเรื่องนี้ทั้งหมด เจ้าของภารกิจทั้งหมดคือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  

ตัวสัตว์ กฎหมายคุ้มครอง พื้นที่ถ้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขตอุทยานแห่งชาติก็ต้องมีใบขออนุญาตหรือร่วมทำโครงการกับเขา ในแง่ของภารกิจและบทบาท ประเทศไทยยังไม่ให้อำนาจองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปจัดการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ในพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจอาจจะไม่ได้ดีนักแต่เป็นทางออกหนึ่งที่พอใช้การได้ 

ในพระราชบัญญัติแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ มาตรา 12 (4) (15) และมาตรา 16  (31) มาตรา 17 (29) ท้องถิ่นมีกฎหมายอยู่ 2 ตัว คือ กฎหมายจัดตั้งที่จะบอกว่าอำนาจท่านมีอะไรบ้าง และกฎหมายกระจายอำนาจ อะไรที่คณะกรรมการกระจายอำนาจประกาศเป็นภารกิจเพิ่มเติมให้ หรือว่าได้รับรองตามกฎหมาย นั่นถือว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องของท่านตามกฎหมายแต่คนไม่ค่อยเอามาใช้ อย่างเช่น เรื่องการดูแลคนไร้ที่พึ่ง หรือคนไร้บ้าน เนื่องจากช่วงโควิด-19 คนไร้บ้านเยอะ หลายท้องถิ่นอยากเข้าไปดูแล ก็โดนตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น ปปช. หรือ สตง. หลายที่ทักท้วง แม้แต่ กทม. จะจัดสถานที่พักให้ ยังต้องดูอำนาจของตัวเอง จนคณะกรรมการกระจายอำนาจออกประกาศแล้ว กทม. ถึงจะเดินหน้าเรื่องบ้านให้คนไร้บ้านเข้าไปอาศัยได้ เพราะคนไร้บ้าน กฎหมายบอกว่า ให้กระทรวงพัฒนาสังคมเป็นคนมีอำนาจตาม พ.ร.บ.คนไร้ที่พึ่ง   

หรืออย่างเรื่องของไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือมาถึงคณะกรรมการกระจายอำนาจ เรื่องของการสนับสนุนบริหารจัดการไฟป่าร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช  โดยจังหวัดเชียงใหม่ขอให้คณะกรรมการกระจายอำนาจออกประกาศให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจบริหารจัดการไฟป่าในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งปกติ อปท. สามารถเข้าไปช่วยดับไฟป่าได้ เมื่ออยู่นอกเขตอุทยานแห่ชาติ แต่ถ้าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติจะเข้าไป เจ้าของที่ต้องเป็นคนอนุญาตพาเข้าไป ถ้าไปจ่ายเงิน ก็อาจจะเจอ ปปช. กับ สตง. ตรวจสอบ ด้วยเหตุนี้ทางจังหวัดจึงต้องให้คณะกรรมการกระจายอำนาจ ทำการประกาศ  เพื่อให้อำนาจในการจัดการไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ นี่คือการใช้ประโยชน์จากกฎหมายกระจายอำนาจ 

ในเดือนกุมภาพันธ์ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ ก.ก.ถ. จะพิจารณาร่างประกาศ ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริหารจัดการ ส่งเสริม ป้องกัน ควบคุมไฟป่า ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ อปท. โดยดำเนินการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า  เวลาเกิดไฟป่า ไม่ได้ไหม้แค่ต้นไม้ แต่สัตว์ป่าเดือดร้อนเช่นกัน 

นอกจากนี้ยังให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่แนบท้ายมาเป็นเจ้าหน้าที่ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการควบคุมไฟฟ้าในพื้นที่ของ อปท. นั่นหมายความว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจเท่ากับส่วนของราชการในภารกิจนั้น และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย  แต่เนื่องจากเขตพื้นที่อนุรักษ์ มีรายละเอียดในทางวิชาการบางประการ เลยออกแบบให้การดับไฟป่า สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการของกรมอุทยานแห่งชาติกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 

ตอนนี้กระทรวงทรัพยากรฯ ให้อำนาจอะไรกับท้องถิ่นบ้าง  เรื่องไฟป่า กระทรวงทรัพยากรจะออกประกาศแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ถ้าจะให้ อปท. เข้าไปจัดการไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้เหมือนกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เขาต้องไปออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่งตั้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายด้วย   

ดังนั้นเรื่องการสร้างรั้วกันช้าง ก็จะเดินตามแผนนี้  ตอนนี้ต่อให้มีเงิน ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่มีอำนาจ นี่จึงเป็นช่องทางที่คิดว่าง่ายที่สุด สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 

ภาพโดย ตาล วรรณกูล

“กระจายอำนาจท้องถิ่น”  วันนี้อยู่ตรงจุดไหน 

เผด็จ ลายทอง ระบุว่า ทางอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พยายามจะออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อจะให้ท้องถิ่นมีอำนาจในหน้าที่ ถือเป็นเจ้าพนักงาน แต่เดิมเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา 70 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ในแง่ของการป้องกัน แต่ถ้าจะปฏิบัติงานอื่น ๆ ในฐานะพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ทั่ว ๆ ไป ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ตามมาตรา 72 สามารถทำงานได้เหมือนเจ้าหน้าที่ 

ซึ่งตอนนี้ร่างประกาศฯ รอเสนอไปที่กระทรวงฯ อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 วรรค 1 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และเมืองพัทยา ซึ่งดำรงตำแหน่งตามข้อ 12 ส่วนใหญ่จะเป็นนายกกับปลัด โดยจะต้องมอบต่อ เพื่อให้ทำงานได้ และเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะดำรงตำแหน่งตามข้อ 13 มีหน้าที่และอำนาจเพิ่มเติม ในส่วนของการป้องกันและควบคุมไฟป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อีกข้อคือการปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าคุ้มครองที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 

ภาพโดย ตาล วรรณกูล

เปิดที่มา เกณฑ์เยียวยากรณีเสียชีวิตจากช้างป่า 100,000 บาท ของกรมอุทยานฯ 

ด้านเผด็จ ลายทอง กล่าวว่า  ทางกรมอุทยานฯ เข้าไปคุยกับทาง ปภ.และกรมบัญชีกลาง ต้องบอกว่า เงินราชการไม่สามารถจ่ายซ้ำซ้อนได้ เราเขียนหลักเกณฑ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่กฎหมายเปิดช่องให้เอาเงินในส่วนของการอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่จัดเก็บเป็นหลายได้จากการเข้าไปในพื้นที่ ถ่ายทำโฆษณาต่าง ๆ  นอกงบประมาณ ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้เอาเงินก้อนนี้มาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าได้ ทางกรมอุทยานฯ ออกระเบียบ โดยผ่านความเห็นชอบจากกรมบัญชีกลาง ใช้คำว่าช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งเป็นคำที่ไม่ซ้ำกับของคนอื่น ได้จากเราไปแล้วก็สามารถไปรับจากส่วนอื่นได้

100,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ เราให้ได้เท่านี้ เพราะเม็ดเงินของเรามีแค่นี้ เราไม่สามารถให้ได้มากกว่านี้ แม้แต่จะไปจ่ายความเสียหายทางพืชผลการเกษตร เราประเมินตัวเองแล้วว่าเราไม่สามารถจ่ายได้ ในหนึ่งปี ทางอุทยานฯ เก็บเงินในส่วนของการอนุรักษ์ได้ 70-80 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เงินที่เอามาช่วยเหลือเยียวยาทั้งหมด เพราะหลักเกณฑ์ระบุว่า จะต้องเอาเงินไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เอาไปที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อไปดูแลเรื่องสาธารณูปโภค และการปรับปรุงการบริการทั่วประเทศ 160 แห่ง เหลือเม็ดเงินเพียงนิดเดียวที่จะนำมาใช้ได้ เราพยายามเขียนหลักเกณฑ์ขึ้นมา ปภ. บอกว่าเหมือนประมง ซึ่งก็จะไม่เหมือนกับพืชผลเกษตรที่เสียหาย จึงต้องมีการเขียนเฉพาะเจาะจง 

ตอนนี้เรายึดหลักเกณฑ์อิงตามเงินช่วยเหลือชดเชยเยียวยาของกองทุนพลังงาน ซึ่งพลังงานก็จะมีโจทย์ของเขาเองที่จ่าย ไม่ต่างจากชลประทานที่จ่ายเวนคืน ตอนนี้อยู่ระหว่างกรอกรายละเอียดตัวบุคคล ก่อนที่จะไปคุยกับ ปภ. กระทรวงมหาดไทย และกรมบัญชีกลาง ตอนนี้ใกล้เสร็จแล้ว เหลือเอาเข้าคณะกรรมการอนุรักษ์จัดการช้าง ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับประเทศ เพื่อผลักดันเรื่องนี้ออกมา 

อีกเรื่องคือเรื่องเงินประกันชีวิต เราออกหลักเกณฑ์ของเราเหมือนกัน กรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่ หรือผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่  อาสาที่ปฏิบัติงานร่วมกับเรา โดยมีคำสั่งรองรับจากเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานอยู่ด้วยกัน หากถูกสัตว์ป่าหรือช้างทำร้ายจนเสียชีวิต เอาใช้เกณฑ์ช้างป่าและกระทิงเป็นหลัก เพราะเป็นสัตว์ที่ทำให้คนสามารถเสียชีวิตได้ ซึ่งกรณีถูกทำร้ายจนเสียชีวิต จ่าย 500,000 บาท ตอนนี้เราประกาศใช้ไปแล้ว 


ติดตามชมเสวนาแบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ