วาระเชียงใหม่ : เปิดข้อเสนอให้คนเชียงใหม่กำหนดทิศทางของตนเอง

วาระเชียงใหม่ : เปิดข้อเสนอให้คนเชียงใหม่กำหนดทิศทางของตนเอง

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 กลุ่มคนรักเชียงใหม่ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และประชาชนชาวเชียงใหม่ ต่างรวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเสนอและประกาศเจตจำนงของตนเองในเวที “ประกาศวาระเชียงใหม่ (Chiangmai Agenda)”  ขึ้น สถานที่จัดกิจกรรมคือ ลานด้านหน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (ศาลแขวงเดิม) ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

ภายในงานเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 15.00 – 21.00 น. ประกอบไปด้วยเวทีวาระเชียงใหม่ การแสดงจากหลากหลายกลุ่ม อาทิ Shan Youth คณะเชิญยู๊ด ดนตรีจาก ครูเบลล่า และ Cha Harmo และ Performance Art จากกลุ่ม ศิลปินในจังหวัดเชียงใหม่ การออกบูธของภาคประชาชนกว่า 20 บูธ การพิมพ์ลายเสื้อวาระเชียงใหม่ที่ทุกคนสามารถออกแบบลายของตนเองได้ และไฮไลต์สำคัญคือกำแพงเชียงใหม่  (Chiang Mai Wall) ที่ทำจากผ้าสีขาวที่ให้ทุกคนมาแสดงความคิดเห็น เขียนทัศนคติของตนเอง โดยกำแพงเชียงใหม่ดังกล่าวจะเดินทางไปให้กับทุกคนในเชียงใหม่เขียนให้ครอบคลุมและมากที่สุดทั่วทั้งจังหวัดเชียงใหม่ 

ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่เวทีทั้ง 7 ประเด็น ตัวแทนจากคณะทำงานประกาศวาระเชียงใหม่ได้ร่วมกันชี้แจงถึงความสำคัญที่มาที่ไปของการเกิดขึ้นในวาระครั้งนี้ โดยสรุป คือ

เชียงใหม่คือพื้นที่รวมตัวของศิลปิน ภาคประชาสังคม พลเมือง แต่ไม่มีเวทีที่จะรวบรวบเสียงหรือข้อเสนอแนะของคนกลุ่มเหล่านี้ได้จึงเกิดเป็นเวทีวาระเชียงใหม่ขึ้นมา เพื่อให้เวทีครั้งนี้คือการจุดประกายให้กับปัญหาหรือประเด็นต่าง ๆ ที่แต่ละกลุ่มได้มายื่นข้อเสนอและให้เป็นเวทีวาระเชียงใหม่ที่ยาวนานตลอดทั้งปี และนี่คือการขับเคลื่อนและการรวมตัวให้ข้อเสนอของทุกคนในการพัฒนาเชียงใหม่ และหวังว่านี่คือเวที Kick Off ใน 7 วาระเชียงใหม่และจะเกิดเวทีแบบนี้ทั้งปีในหลายพื้นที่ทั่วทั้งเชียงใหม่  

วาระที่ 1  สิ่งแวดล้อม และทรัพยากร (ป่าไม้, เกษตร, สิ่งแวดล้อม ถึง ฝุ่น PM2.5 ฯลฯ) 

ประกอบไปด้วย 1.สภาลมหายใจเชียงใหม่ 2.สิ่งแวดล้อมเมือง (เขียวสวยหอม) 3.เกษตรกรรุ่นใหม่ 4.พลเมืองสันกำแพง 5.โตมากับฝุ่น 6.เรื่องหลังเขา และ 7.สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ 

ภายในเวทีมีการพูดถึงข้อเสนอแนะ คือ การแก้ไขปัญหาระยะยาวเชิงนโยบายและการแก้ไขเฉพาะหน้าในสถานการณ์ที่ฝุ่น PM2.5 ของเชียงใหม่ติดอันดับ 1 ของโลก ที่ต้องทำให้ประชาชนเชียงใหม่มีสิทธิในการเข้าถึงอากาศที่สะอาด สำหรับการแก้ไขเฉพาะหน้าตอนนี้ทางกลุ่มได้เสนอว่ารัฐควรเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายหรือตรึงราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับฝุ่น PM2.5 ไม่ว่าจะเป็นทั้งหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ หรือในระยะยาวประชาชนที่มีความเสี่ยงควรเข้าถึงการสาธารณสุขที่ฟรีในการตรวจสุขภาพปอด

สำหรับข้อเสนอในเชิงนโยบายรัฐต้องกระจายอำนาจจากการปกครองส่วนกลางมายังส่วนภูมิภาค โดยที่ให้เจ้าของจังหวัดนั้นมีสิทธิ มีอำนาจในการร่วมกันตัดสินใจและกำหนดวาระของจังหวัดตนเองได้ เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีมาอย่างอย่างนานตั้งแต่เรื่อง คนกับป่า ความซับซ้อนของเจ้าหน้าที่อุทยานและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่า เรื่องไฟป่า การถูกผลิตซ้ำจากส่วนกลางและการรับรู้ของคนตรงกลางว่าชาวบ้านคือผูกระทำผิด เพื่อไม่นำไปสู่การสร้างความเกลียดชังระหว่างคนอยู่กับป่าและคนในเมือง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถูกเสริมทับจากข้อเสนอเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังทิ้งท้ายวาระสำคัญคือ ประเด็นเรื่องคาร์บอนเครดิตหรือการฟอกเขียวของภาคธุรกิจ ที่เราจะต้องจับตาดูและทำงานในเรื่องนี้ต่อไป 

วาระที่ 2 คุณภาพชีวิต (การศึกษา, เด็กและเยาวชน, สังคมผู้สูงอายุ, สวัสดิการสุขภาพ ฯลฯ) มีตัวแทนมาด้วยกันทั้งหมด 9 กลุ่มจากหลากหลายพื้นที่และประเด็น ประกอบไปด้วย 1.เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) 2.เครือข่ายเพื่อผู้หญิง 3.ประธานชมรมผู้สูงอายุ 4.ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุ 5.เครือข่ายผู้พิการ 6.Shan Youth 7.CMEP CMU ศูนย์วิจัยพหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 8.สถาองค์กรชุมชนเชียงใหม่ และ 9.มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) 

ข้อเสนอของกลุ่มนี้ คือ การเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่สร้างสรรค์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาจินตนาการของเด็กและเยาวชนที่ต้องเติบโตมาเป็นพลเมืองของประเทศ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเด็กจากครอบครัวของแรงงานที่เข้ามาทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับเชียงใหม่ด้วย เพราะเด็กทุกคนควรได้รับสวัสดิการการศึกษาและไม่ถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องของสัญชาติ เพราะการที่เราสร้างต้นทุนให้กับเด็กและเยาวชนทุกคนนั้นจะเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเขาไม่ว่าจะเป็นทั้งปัญหาอาชยากรรมหรือปัญหายาเสพติด นอกจากนี้ยังได้รับการเสริมเรื่องระบบการศึกษาที่รัฐจะต้องมีการทบทวนหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ใช่หลักสูตรแกนกลางและเสนอให้มีโรงเรียนชุมชนเพิ่มลดการเกิดเด็กออกนอกระบบ ทั้งนี้ข้อเสนอในเรื่องของการบริการสุขภาวะของของประชาชนในเชียงใหม่ต่อผู้หญิงและทุกคนนั้นสำคัญมาก โดยเสนอให้เชียงใหม่มีบริการงานสาธารณสุขที่รอบด้านมองผู้หญิงแบบองค์รวมและจะต้องครอบคลุมความหลากหลายทั้งคนไทย คนชรา ชาติพันธุ์ หรือคนที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ สำหรับประเด็นเรื่องผู้สูงอายุ และผู้พิการ จุดเน้นคือเรื่องของการให้มีโรงเรียนสำหรับผู้สูอายุทุกพื้นที่และการที่มห้ผู้พิการได้เข้าถึงกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้พิการได้ และปิดท้ายด้วยข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจและรัฐสวัสดิการที่ประชาชนทุกคนควรมีเงินบำนาญไม่ใช่เงินผู้สูงอายุ 

วาระที่ 3 แรงงาน แรงงานสวัสดิภาพ, แรงงานข้ามชาติ, แรงงานนอกระบบแรงงานสร้างสรรค์ ทุกคนที่มาในวงนี้ล้วนคือคนที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเมืองที่สวยงามนี้ แต่ไม่ได้ถูกรับรองว่าเป็นแรงงานหรือการมีสวัสดิการที่รองรับ ประกอบไปด้วย 1.เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ 2. Empower Foundation 3.กลุ่มตี่ตาง-Titang 4.SYNC SPACE 5.ChiangMai OriginalLive 6.สมาคมไรเดอร์ภาคเหนือ

ข้อเสนอของกลุ่มนี้ คือ เราทุกคนล้วนคือแรงงาน เพราะฉะนั้นแรงงานทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในขอบข่ายใด สัญชาติใดรัฐจะต้องทำการรับร้องและอำนวยให้เกิดสวัสดิการที่ปกป้องคุ้มครองชีวิตของแรงงานและเอื้อให้แรงงานสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพได้ เหมือนที่ทุกเวทีได้กล่าวไว้เชียงใหม่คือเมืองพหุวัฒนธรรม แรงงานที่ขับเคลื่อนเชียงใหม่ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์และเมืองท่องเที่ยวได้นอกจากแรงงานคนไทยแล้ว แรงงานเพื่อนบ้านต่างเป็นฟันเฟืองที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คนไร้สัญชาติหรือแรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย ซึ่งรัฐจะต้องทำเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติให้จริงจัง นอกจากนี้ในฐานะที่เชียงใหม่คือเมืองท่องเที่ยวและเป็นพื้นที่ของนักสร้างสรรค์ผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของความทันสมัย นิทรรศการ และบทเพลง ข้อเสนอคือจะต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริงและทุกคน ไม่ใช่เลือกว่าให้พื้นที่กับนักสร้างสรรค์บางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งสัมพันธ์กับประเด็นของการผลิตคนทำงานสร้างสรรค์ที่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อไม่มีสวัสดิการรองรับและค่าแรงที่ถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมากเพราะค่าแรงเชียงใหม่ต่ำและน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพซึ่งนั่นได้นำไปสู่การคิดค่าแรงที่ไม่ชอบธรรม ดังนั้นคนทำงานสร้างสรรค์และนักดนตรีจึงจำเป็นต้องออกไปทำงานในกรุงเทพมหานคร ซึ่งนั่นเป็นการตัดโอกาสของการพัฒนาในจังหวัดเชียงใหม่ที่ล้วนแต่มีศัพยภาพทั้งผู้คนและทรัพยากรต่าง ๆ 

วาระที่ 4 เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว เมืองเทศกาล ขยับมาที่เรื่องของการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นหนึ่งในวาระที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 กลุ่มภาคส่วน ได้แก่ 1.ตัวแทนจากกลุ่ม SME เชียงใหม่ 2.ศูนย์วัฒนธรรม Old Chiang Mai 3.Tomorrow.lab 4.IChiang Mai 5. Event Pass เชียงใหม่และ 6. กลุ่ม Greater Chiang Mai

ข้อเสนอแนะของกลุ่มนี้ คือ ความชัดเจนในเรื่องของการที่เชียงใหม่มีทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม คนรุ่นใหม่ หรือปราชญ์ชาวบ้าน ที่ล้วนแต่เป็นหัวใจหลักในเรื่องทิศทางของการทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์และไม่ละทิ้งรากเหง้าเดิม แต่นโยบายต่าง ๆ ของรัฐที่พยายามจะเข้ามาพัฒนาคนเมืองเชียงใหม่ หรือกระทั่งกลุ่มคนเชียงใหม่ ด้วยกันเองที่อาจจะต่างคนต่างทำ รัฐก็ไม่ได้จริงจังกับการพัฒนาเชียงใหม่ เหมือนกับว่าที่ผ่านเชียงใหม่ไม่มีทิศทางที่ชัดเจนของการเติบโต ทุกคนจึงเสนอร่วมกันในจุดหลักคือ การเติบโตจะต้องมีทิศทาง จริงจัง และการสร้างระบบพื้นฐานต่าง ๆ นั้นสำคัญต่อคนเชียงใหม่มาก ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ อากาศที่ดี 

วาระที่ 5 พลเมือง เสียงคนเชียงใหม่ ชาติพันธุ์ ความเหลื่อมล้ำ ความหลากหลายทางเพศ คนจนเมือง คนไร้บ้าน ประกอบไปด้วย 1.กลุ่ม Sapphic 2.Chiang Mai Pride 3.บ้านเตื่อมฝัน 4.คนแป๋งเมืองเชียงใหม่ 5.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 6.ชาติพันธุ์ปลดแอก (Free Indeginous people) 

ข้อเสนอแนะของกลุ่มนี้ คือ การทำให้เห็นถึงความหลากหลายของพลเมืองในเชียงใหม่ สิทธิทางพลเมืองที่ถูกพรากไปจากรัฐ และรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญหรือการเคารพในสิทธิพลเมืองที่หลากหลายนี้ สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นสิทธิหนึ่งที่สำคัญและควรมีการจัดการและการบริการด้านต่าง ๆ ให้ไม่ว่าจะเป็นประเด็นหลักของสังคมคือเรื่องสมรสเท่าเทียมที่ควรจะเกิดขึ้นจริงและใช้ได้จริง หรือการเข้ามาจัดการดูแลเรื่องของผู้หญิงให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการเข้าถึงสิทธิทางอนามัยของผู้หญิง เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น หรือความเหลื่อมล้ำที่มีมาอย่างนานในเมืองเชียงใหม่ ที่นำมาสู่การไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ทั้งเรื่องปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในเมืองเชียงใหม่ คุณภาพชีวิตที่ดี และเรื่องสวัสดิการที่ต้องมีอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐจะต้องทำและผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ในเชียงใหม่ประเด็นเรื่องคนไร้บ้าน ที่เรามองว่าพื้นที่ของเมืองควรโอบรับกลุ่มคนเหล่านี้และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกับทุกคน และสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่ควรจะได้รับเช่นกัน นั่นคือความหลากหลายของเมืองเชียงใหม่ และการผลักดัน พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง รวมไปถึงการที่กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง เหมือนกับคนทั่วไป สำหรับวาระนี้ จุดเด่นและความสำคัญคือความหลากหลายของผู้คนเชียงใหม่ และการที่เมืองเชียงใหม่จะโอบรับทุกคนโดยที่ไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นเมืองที่เป็นมิตรและน่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง 

วาระที่ 6 ทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ขนส่งสาธารณะ, มรดกทางวัฒนธรรม,พื้นที่สาธารณะ, เมืองน่าอยู่ ฯลฯ  ประกอบไปด้วย 1.สมาคม Greening up public space 2.Anywheels 3.ดวงใจสเก็ตบอร์ด 4.MAE KHA CITY LAB 5.สภาองค์กรผู้บริโภค 6.Somdul Chiangmai 7.มูลนิธิสืบสานล้านนา 

ข้อเสนอแนะของกลุ่มนี้ คือ การออกแบบและพัฒนาเมือง ที่รัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนควรออกมาช่วยกันสนับสนุนให้การพัฒนาเมืองเหล่านี้นั้นเกิดขึ้นได้จริง และเกิดขึ้นเพื่อคนเชียงใหม่ เชียงใหม่ควรกำหนดทิศทางและมีแผนพัฒนาของตนเอง และต้องมีทิศทางในการพัฒนาที่ไปในแนวเดียวกันหรือมีความสอดคล้องกัน และการทำงานที่ไม่แยกส่วน ประเด็นเรื่องขนส่งสาธารณะที่ต้องเกิดขึ้นได้จริงมีมาตรฐานและเป็นธรรม หรือการส่งเสริมในเรื่องของจักรยานเช่าสาธารณะที่ลดปริมาณคาร์บอนได้จริง หรือยกพื้นที่การทำงานพื้นที่แม่ข่าที่เป็นพื้นที่สำคัญในเมือง เพื่อให้เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันและอนาคต ประเด็นเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะของกลุ่มสเก็ตบอร์ด การสร้างพื้นที่รองรับกิจกรรมเหล่านี้และการทำงานร่วมกันระหว่างคนทำงานต่าง ๆ เพื่อวางผังเมืองให้เกิดพื้นที่การทำกิจกรรมให้กับคนกลุ่มนี้ได้และสามารถยกระดับเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่แค่กเก็ตบอร์ดมาใช้เท่านั้น ตบท้ายด้วยข้อเสนอการพัฒนาเมืองที่ทันสมัยแต่ยังคงสืบทอดความเป็นล้านนาไว้ได้ และเมืองเชียงใหม่ที่มีมิติอำเภออื่น ๆ คนอื่น ๆ ทั้งชุมชนเมือง ชุมชนนอกเมือง และชุมชนเขตป่า และการเสนอให้มีการพิสูจน์สิทธิของชาวบ้านที่อยู่ในป่าเพื่อที่จะได้ลดปัญหาความขัดแย้งและการถูกตีตราว่าชาวบ้านคือผู้บุกรุกป่า รวมไปถึงการมี พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เพื่อให้คนเชียงใหม่ได้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง 

วาระที่ 7 การเมืองของประชาชน  ผลักดันรัฐธรรมนูญ,สว.สสร.กระจายอำนาจ, ท้องถิ่น, เสรีภาพสื่อ และการแสดงออก ประกอบไปด้วย 1.กป.อพช.ภาคเหนือ 2.ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ 3.คณะก่อการล้านนาใหม่ 4.RDJS  5.LANNER 6.เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่

ข้อเสนอของกลุ่มนี้ คือ การพูดถึงการเมืองภาพใหญ่ รัฐธรรมนูญ และการกระจายอำนาจ ซึ่งวาระเชียงใหม่ที่มาจากคนเชียงใหม่ที่ไม่ได้หมายรวมแค่คนที่เกิดในเชียงใหม่เท่านั้น การมีข้อเสนอเรื่องข้อตกลงในชุมชนที่มาจากคนในพื้นที่ในการจัดการทรัพยากร และผลักดันให้เกิดเวทีในชุมชน ทุกชุมชนมีข้อตกลงร่วมกัน นำไปสู่เรื่องเทศบัญญัติ เพื่อการลดอำนาจส่วนภูมิภาค และเพิ่มอำนาจท้องถิ่น ภาพใหญ่คือแต่ละจังหวัดควรมีการจัดการตนเองได้ และมองไปในส่วนย่อยในแต่ละชุมชน ซึ่งต้องเริ่มจากการแก้ไขกฏหมาย สำหรับการทำงานกับนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ มองไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้างภาพใหญ่ที่มีส่วนโดยตรงกับเรื่องการกระจายอำนาจในชุมชน การเชื่อมให้เห็นถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง อยากให้ทุกคนออกมาเรียกร้องในประเด็นที่เจอปัญหาเหมือนกัน นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่มีภาวะการเจ็บป่วยทางจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพสังคมที่ย่ำแย่ ปิดท้ายด้วยสื่อท้องถิ่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงของสื่อที่แม้จะมีรัฐบาบที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงต้องจับตามองในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก และอยากให้คนทั่วไปหยิบเรื่องหรือปัญหาของตนเองมาทำให้เป็นสาธารณะ เพื่อให้สื่อได้นำประเด็นไปทำงานและนำไปสู่การเขย่าทางสังคมและนำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกันได้ 

นี่คือ วาระเชียงใหม่ทั้ง 7 ประเด็น และในเดือนเมษายน 2567 นี้กลุ่มสมัชชาสุขภาพตำบลเชียงใหม่จะประกาศเรื่องวาระระบบประกันสุขภาพของชาวเชียงใหม่ว่าคนเชียงใหม่ต้องการอะไร อยากให้ระบบสุขภาวะสุขภาพเป็นแบบไหน เมษายนนี้อยากให้ทุกคนมาติดตามกัน สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในวาระเชียงใหม่ตลอดปี 2567 นี้ อยากให้ทุกคนมาร่วมติดตามกันว่าเราจะมีเวทีที่ไหนบ้าง นอกจากนี้ได้เชิญชวนทุกคนที่อยากจะจัดเวทีในประเด็นที่ชุมชนหรือกลุ่มของตนเองได้สนใจและอยากจะนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างวาระเชียงใหม่ สามารถติดต่อและรับข้อมูลข้าวสารได้ที่เพจ วาระเชียงใหม่ Chiang Mai Agenda https://web.facebook.com/profile.php?id=61556678381070

เรียบเรียงและภาพ ทีมงานวาระเชียงใหม่

ภาพ Portrait จากบูธในงาน โดย ลำลอง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ