ชายแดนเหนือ หลังหนุ่มสาวเมียนมาขอออกประเทศเลี่ยงเกณฑ์ทหาร

ชายแดนเหนือ หลังหนุ่มสาวเมียนมาขอออกประเทศเลี่ยงเกณฑ์ทหาร

ท่วมกลางสถานการณ์ความรุนแรงและการรัฐประหารในเมียนมากว่า 3 ปี ทำให้มีคนเมียนมาจำนวนมากต้องอพยพออกนอกประเทศเพื่อหนีภัยจากสงคราม หนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักในการออกนอกประเทศก็คือประเทศไทย โดยเฉพาะที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาที่ผ่านมา ทำให้มีคนเมียนมาอพยพข้ามเข้ามาอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งยังมีตัวเลขที่ไม่ชัดเจนแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้พบว่า

“จำนวนคนอพยพเข้ามาจากฝั่งพม่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นกลุ่มที่หนีภัยสงคราม แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้อพยพนั้นเพิ่มมากขึ้นหลังจากการประกาศบังคับใช้ กฎหมายรับราชการทหาร”

ซึ่งสอดคล้องภาพของหนุ่มสาวเมียนมาจำนวนมากที่ต่อคิวหน้าสถานทูตไทยเพื่อขอลี้ภัยในช่วงสองสัปดาห์ที่นี้ สืบเนื่องจากความรุนแรงในเมียนมายังไม่จบ คนจำนวนมากต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจาก 2 สัปดาห์แล้วที่รัฐบาลทหารเมียนมา นำโดย มิน อ่อง หล่าย ประกาศบังคับใช้ “กฎหมายรับราชการทหารของประชาชน” ที่ออกมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารชุดที่แล้วในปี 2010 นี่จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี ที่มีการเกณฑ์หนุ่มสาวชาวเมียนมาเข้ารับราชการทหาร ท่ามกลางสถานการณ์ที่กองกำลังกบฏกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม จับมือกันบุกโจมตีและสามารถยึดพื้นที่ทหารหลายแห่งทั่วประเทศตั้งแต่ปลายปี 2566 ระเบียบเกณฑ์ทหารดังกล่าว ครอบคลุมพลเมืองเมียนมาทุกคน 

โดยมีตั้งเป้าหมายเกณฑ์ทหารใหม่จำนวน 14 ล้านคน แบ่งเป็นชาย 6.3 ล้านคน และหญิงอีก 7.7 ล้านคน ซึ่งผู้ชายทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี และผู้หญิงอายุระหว่าง 18-27 ปี จะต้องเข้ารับราชการทหารเป็นระยะเวลาสูงสุด 2 ปีหากถูกเรียกตัว และสามารถขยายระยะเวลาประจำการได้สูงสุดถึง 5ปี ภายใต้คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉิน

หากใครฝ่าฝืนคำสั่งอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ซึ่งกระทรวงกลาโหมเมียนมาเตรียมประกาศรายละเอียดเพิ่มเติม แต่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ผู้ที่ถูกเรียกตัวจะต้องไปทำหน้าที่อะไรบ้าง โดยโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ชี้ว่า การเรียกทุกคนเข้าเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ และพลเมืองทุกคนมีหน้าที่ต้องปกป้องประเทศชาติ

จุดหมายปลายทางในการออกนอกประเทศ

นักวิเคราะห์หลายคนต่างมองว่าการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีของรัฐบาลทหารเมียนมา จะทำให้มีหนุ่มสาวชาวเมียนมาที่ต่อต้านรัฐบาลมิน อ่อง หล่าย หนีออกจากประเทศกันมากขึ้น และจุดหมายปลายทางที่หลักในการออกนอกประเทศนั้นก็คือประเทศไทย เกิดอะไรบริเวณพื้นที่ชายแดนไทยเมียนมาวันนี้ 

สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) กล่าวว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันใน จะเห็นว่าพอมีนโยบายเรื่องการเกณฑ์ทหารของประเทศเมียนมาร์ เพิ่มขึ้นมาซึ่งก่อนหน้านี้สถานการณ์การรัฐประหารการต่อต้าน ก็ทำให้มีคนเมียนมาจำนวนมากอพยพเข้ามาในไทยมากพอสมควร โดยเฉพาะที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร กับอีกส่วนหนึ่งคือออกมาเพราะสถานการณ์การสู้รบในพื้นที่ เนื่องจากส่งผลต่อความไม่ปลอดภัย เศรษฐกิจ การทำงาน รายได้ แน่นอนเขาก็อพยพข้ามพม่าที่แม่สอดจำนวนที่มากขึ้นในช่วงที่มีรัฐประหาร แต่ล่าสุดมีปรากฏการณ์หลังการประกาศนโยบายการ “เกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้น” ทำให้เรารู้สึกว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง จากภาพรวมที่เราเห็น และจากการได้มีการคุยกันกับคนในพื้นที่ ทำให้เห็นสถานการณ์ที่มีคนอพยพมาหนาแน่น มากกว่าตอนที่เกิดเหตุการณ์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารแล้วก็มีฝ่ายต่อต้านเข้ามาในไทย ตอนนี้กลายเป็นบวกเพิ่มขึ้นเยอะเลย เพราะว่าคนที่คิดว่าสงครามไม่ได้มีผลกระทบมากมายนักยังพออยู่ได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นอยู่ไม่ได้หากอยู่ก็มีโอกาสสูงมากที่จะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร อาจจะเข้าไปเป็นลูกหาบ ขนสิ่งของ หรือแม้กระทั่งถูกให้ไปรบด้วย ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกว่า มันไม่มั่นคงและมันไม่ปลอดภัย เราคุยกับพี่น้องชาวเมียนมากลุ่มหนึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า ญาติพี่น้อง เพื่อนและคนรู้จัก ได้อพยพเข้ามาหมดแล้ว หลังจากที่มีนโยบายตัวนี้ออกมา ก็อพยพมาอยู่ที่แม่สอด จ.ตาก แต่เขาไม่ได้บอกเราว่าไปอยู่ตรงไหน บอกแต่ว่าอยู่ที่แม่สอดแน่ ๆ ซึ่งเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ มีทั้งมาเอง มีทั้งคนรู้จักที่พาเข้ามา แล้วก็มีบางส่วนที่ต้องจ่ายเงินให้กับกองกำลังต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการเดินทาง เพื่อที่จะให้ตัวเองเดินทางเข้ามาในพื้นที่แม่สอดได้

จับตาพื้นที่ชายแดน ไทย เมียนมา

สถานการณ์ของผู้อพยพคนหนุ่มสาวชาวเมียนมาเข้ามาในไทยนั้นอาจมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่แนวชายแดน ซึ่งไทยเรามีอาณาเขตติดกับประเทศเมียนมาถึง 10 จังหวัด รวมระยะทางกว่า 2,400 กิโลเมตร มีจุดผ่านชายแดนกระจายตามจังหวัดต่าง ๆ ทั้งหมด 17 จุด แบ่งออกเป็นจุดผ่านแดนถาวร 4 จุด และจุดผ่อนปรน 13 จุด ไล่ลงมาตั้งแต่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง 

แต่จุดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีพื้นที่ติดกับ รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา ซึ่งมีเส้นทางธรรมชาติสามารถข้ามมายังฝั่งไทยได้หลายจุด และเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เขตการปะทะกันของกองกำลังทหารเมียนมา ซึ่งอาจส่งผลให้มีชาวเมียนหนีเข้ามาผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น การเข้ามาแบบผิดกฎหมายนั้นจะส่งผลกระทบต่อการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ของผู้อพยพจากเมียนมาที่ทวีความรุนแรงตามไปด้วย

นอกจากหนุ่มสาวชาวเมียนมา ที่จะไหลเข้ามาใหม่ซึ่งมีบางส่วนอพยพลี้ภัยมาตามเส้นทางธรรมชาติ อีกคำถามคือ รัฐบาลไทยจะต้องบริหารจัดการกลุ่มแรงงานที่อยู่ในไทยอยู่แล้วอย่างไร ซึ่งอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)ระบุว่าจะมีอยู่ 3 กลุ่มหลัก ๆ ที่เข้ามาในไทย คือ

1.กลุ่มแรงงานที่จะเข้ามาใหม่ แน่นอนว่าเรามีความต้องการแรงงานเพียงแต่ว่ายังไม่ชัดเจนนักว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และควรจะมีกระบวนการที่จะเปิดช่องให้เขาเข้ามาในการจดทะเบียนในระดับหนึ่ง

2.กลุ่มแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว และต้องกลับไปทำเอกสารหรือหนังสือเดินทางในการทำงาน แรงงานกลุ่มนี้ยังมีความไม่มั่นใจว่าหากกลับไปจะถูกจับกุมหรือถูกจับไปเกณฑ์ทหารหรือไม่

3.กลุ่มที่เป็น MOU นำเข้า ที่มีสัญญา 2 ปี ต่ออีก 2 ปี พอ 4 ปีกลับบ้านภายใน 30 วัน ซึ่งคนกลุ่มคนเหล่านี้เมื่อกลับบ้านแล้วหายไปเลยไม่สามารถติดต่อได้    

สำหรับปัญหาหลัก ๆ ของกลุ่มแรงงานกลุ่มนี้ที่อยู่ในประเทศไทยคือการกลับไปยังประเทศต้นทางเพื่อทำเอกสารหรือหนังสือเดินทางสำหรับใช้ทำงานในไทยต่อ ซึ่งหากแรงงานกลุ่มนี้ไม่สามารถยื่นเอกสารต่าง ๆ ได้ทันเวลา ก็จะทำให้แรงงานในระบบ กลายเป็นแรงงานนอกระบบที่ผิดกฎหมายทันที นี่เป็นอีกปัญหาที่ 

สืบสกุล กิจนุกร  อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ก็ประเทศไทยเป็นปลายทางของคนเมียนมา ตั้งแต่มีการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า สถานการณ์ที่เราเจอในตอนนี้เรียกว่า Mix Migrant หรือการเคลื่อนย้ายผู้คนข้ามพรมแดนแบบผสมผสาน ซึ่งแต่เดิมเราจะคุ้นเคยแต่สิ่งที่เราเรียกว่า Forced Migration คือการถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานข้ามแดน หรือหนีภัยสงคราม และอีกแบบที่เราเจอก็คือ Voluntary Migration หรือการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนแบบสมัครใจ แต่หลังรัฐประหารเราเจอสิ่งที่เรียกว่า Mix Migrant หมายความว่ายากต่อการจำแนกแยกแยะ ว่าคนแต่ละคนแต่ละกลุ่มเข้ามาด้วยเงื่อนไขอะไร อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร  ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจัดการเรื่องนี้อย่างไรท่าทีของนายกรัฐมนตรีพูดมาว่า “ถ้าเข้ามาถูกกฎหมายก็ยินดีตอนรับ แต่ถ้าเข้ามาแบบผิดกฎหมายก็ต้องทำตามกระบวนการกฎหมาย”ซึ่งผมว่าเป็นการตอบแบบปกติ ตอบตามกลไกกฎหมายปกติ ซึ่งไม่ได้ช่วยสถานการณ์ดีขึ้น

อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร เสนอว่ารัฐบาลไทยจะต้องจัดการกับสถานการณ์กับผู้อพยพใหม่และเก่าอย่างเป็น ดังนี้

  • ระเบียงมนุษยธรรม (humanitarian corridor) รัฐต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดว่าคืออะไร สามารถรองรับผู้หนีภัยสงครามการสู้รบตามแนวชายแดนได้จริงหรือไม่ รัฐบาลต้องระบุให้ชัดเจน ทั้งขอบเขตที่ตั้งต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรองรับคนที่หนีภัยสงครามจากการสู้รบ
  • กรณีการเข้าเมืองมาแบบถูกต้องตามกฎหมาย ในระยะยาวหากคนกลุ่มนี้ไม่กลับ เราจะรับเขาเข้ามาเป็นแรงงาน และหางานในประเทศไทยอย่างไร เพื่อใช้ศักยภาพของพวกเขาให้ได้มากที่สุด เนื่องจากคนที่อยู่ในเกณฑ์ ในการเกณฑ์ทหารเป็นคนหนุ่มสาวที่ครอบคลุมหลากหลายอาชีพ คนกลุ่มนี้จะเดินทางออกมาจากประเทศ ไทยเองเรามีความต้องการแรงงานจำนวนมาก ดังนั้นเราต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายให้เร็วที่สุด
  • รัฐบาลไทยจะต้องเปิดกลไกของอาเซียน เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในอาเซียนเปิดรับชาวเมียนมาที่เดินทางออกนอกประเทศหลังการเกณฑ์ทหาร ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่ต้องเปิดรับประเทศอื่น ๆ ก็ต้องเปิดประเทศรับคนเหล่านี้เข้าไปด้วยเช่นกัน 
  • กลไกของอาเซียน ต้องเร่งเจรจาและกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา แก้ไขปัญหาในประเทศและกับสู้ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด

ไทยในฐานะประเทศที่มีพรมแดนหลายพันกิโลเมตรติดกับเมียนมา ต้องคิดเรื่อง หลักสิทธิมนุษยชน และ  กำแพงมนุษยธรรมให้รอบด้าน เพราะยังไงเราคือประเทศทางผ่าน คือ ความหวังของชาวเมียนมาไม่น้อยที่อยากลี้ภัยจากความรุนแรงในประเทศ  บนความจริงอีกส่วนคือ  วันนี้ประเทศไทยเราก็ยังมีความต้องการแรงงานจากประเทศข้ามชาติในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม  ภาคเกษตร การประมง งานบริการต่าง ๆ รวมไปถึงแรงงานที่มีคุณภาพสูง อย่าง ครู หมอ วิศวกร และนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในไทย ข้อมูลจากกรมแรงงาน มกราคม ปี 67 ระบุว่า  ตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบของไทยตอนนี้มีมากถึง 3.4 ล้านคน แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานจากประเทศเมียนมา 

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม…

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ