ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในประเทศไทย กับ ข้อเสนอแนะเชิงกฎหมายนโยบาย

ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในประเทศไทย กับ ข้อเสนอแนะเชิงกฎหมายนโยบาย

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “โครงสร้าง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กับทางเลือกและทางรอดของผู้คนในพื้นที่ชายแดน” เมื่อวันที่ 8-9 กันยายน 2565

มีการปักหมุดสื่อสารโดยนักข่าวพลเมืองคุณปลาย ออมสิน https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000026635…

วงปาฐกถา “ชายแดน ทรัพยากร และความมั่งคั่ง” โดยศาสตราจารย์ยศ สันตสมบัติ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเปิดงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านชายแดนศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศครั้งที่ 5 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศาสตราจารย์ยศ ชวนมองลึกลงไปยัง “ชายแดน” ลุ่มน้ำโขง พื้นที่ของผู้คนที่เต็มไปด้วยทรัพยากรและการสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งนำมาสู่ “คำสาปของทรัพยากร” จากการแย่งชิงของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน

ขอบคุณ : ประชาไท

เวทีเสวนาที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งคือ “ผู้ลี้ภัยกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทยและข้อเสนอแนะเชิงกฎหมายนโยบาย” นักข่าวพลเมืองลงพื้นที่เก็บบทสนทนาจากวงทั้งเรื่อง

  • เหตุการณ์ทางการเมืองในเมียนมาและภาพรวมปัญหาผู้ลี้ภัยในไทย โดย รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล
  • ผู้ลี้ภัย/ผูั้หนีภัยสงคราม/แรงงานผิดกฎหมายตามแนวชายแดนรอบใหม่หลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา โดย คุณสันติพงษ์ มูลฟอง
  • ผู้ลี้ภัยในเมือง/ผู้หนีภัยจากความไม่สงบจากเมียนมา โดย คุณกรกนก วัฒนภูมิ
  • ผู้ลี้ภัย/ผู้หนีภัยสงครามในศูนย์พักผิงชั่วคราวกลุ่มเดิมในค่าย 9 แห่ง โดย ผศ.ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร
  • และการเมืองข้ามชาติกับผลกระทบต่อผู้ลี้ภัยระหว่างไทยและเมียนมา โดย ดร.ศิรดา เขมานิฎฐาไท
คุณอดิศร เกิดมงคล จาก Migrant Working Group

อดิศร เกิดมงคล Migrant Working Group

สภาวะที่ต้องถูกบังคับให้โยกย้ายเกิดจากมนุษย์ทั้งนั้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าที่สุด ที่พูดถึงคนที่อพยพโยกย้าย ก็เพราะว่าเหตุผลที่ไม่สามารถอยู่ในประเทศของตนเองได้ ทางการเมือง ศาสนา เป็นต้น คำว่าผู้ลี้ภัยปรากฏตัวอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย 1951 ในภาวะสงครามโลกที่คนถูกบังคับให้โยกย้าย เพราะเหตุผลทางการเมือง เหตุผลความไม่ปลอดภัยในชีวิต ประชาคมโลกจึงสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องคนที่รัฐของตัวเองดูแลไม่ได้ กลายเป็นกรอบวิธีการดูแลผู้ลี้ภัยของประชาคมโลก ประเทศไทยก็คงคล้าย ๆ กัน มีการจัดการผู้ลี้ภัยมาได้สักพักใหญ่ ทั้งนี้ การจัดการผู้ลี้ภัยในประเทศไทย แต่เราไม่เรียกเขาว่าผู้ลี้ภัย เราเรียกเขาในชื่ออื่น ๆ มีผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนจังหวัดเชียงราย เป็นกลุ่มจีนอพยพต่าง ๆ กลุ่มผู้ลี้ภัยจากอินโดจีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม นอกจากนั้นก็มีชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เช่น พม่า เนปาล ทั้งหมดนี้เป็นผู้ลี้ภัย แต่ในไทยไม่เรียก ผู้ลี้ภัย สาเหตุของการลี้ภัยคืออันตรายต่อชีวิต

 ดร. ศิรดา เขมานิฏฐาไท คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สาเหตุที่สำคัญของคลื่นของผู้คนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งปรากฏขึ้น ไม่ใช่ปรากฎการณ์ใหม่ แต่เรื่องราวการเมืองทางพม่าที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ได้ส่งผลมายาวนานมาหลายสิบปี การเมืองของพม่าที่เป็นเผด็จการ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้รับผู้ลี้ภัย

การเมืองพม่าในอดีต สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนหลบหนี คือ รูปแบบการเมืองที่เป็นเผด็จการโดยกองทัพพม่า (Military regime) เหตุการณ์สำคัญที่สุดจากฝั่งที่เรียกร้องประชาธิปไตย คือ การประท้วง 1988 เป็นการประท้วงครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในพม่า อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นคลื่นอพยพของคนที่จะมาพักพิงในประเทศไทย คือ ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ การต่อสู้ของกลุ่มติดอาวุธที่เกิดจากการขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ซึ่งมีมาก่อนการได้รับเอกราชของพม่าด้วยซ้ำ ตัวละครที่สำคัญ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 1960 เพราะรัฐบาลพม่าต้องการสร้างเอกภาพในการปกครอง และต้องการรวบรวมอำนาจ ทำให้เกิดนโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการต่อสู้กัน พื้นที่สงครามเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้คนต้องหลบหนีจากพื้นที่ภัยสงคราม รวมทั้ง พื้นที่ที่ไม่มีภัยสงคราม แต่เป็นพื้นที่ที่กองทัพพม่าเข้าไปดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน โดยเฉพาะพื้นที่เขตชนกลุ่มน้อย ประชาชนต้องหนีภัยสงครามจากพื้นที่ความขัดแย้งกองกำลังติดอาวุธ เพราะคนไม่สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ คนจำนวนไม่น้อยพยายามหนีออกจากบ้านเกิดของตัวเองเพื่อความอยู่รอด ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง คนที่ไม่สามารถเข้ามาเป็นผู้ลี้ภัยได้ ก็เข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติ สามารถพิจารณาว่าเป็นผู้ต้องถูกบังคับให้เป็นผู้ลี้ภัยรูปแบบหนึ่ง

ลักษณะการเมืองของพม่าที่เป็นเด็จการมาหลายสิบปี ทำให้พม่าเป็นประเทศที่ผลิตผู้ลี้ภัย (Refugee producing state) และประเทศที่เป็นผู้รับอันดับหนึ่งคือประเทศไทย ผู้ลี้ภัยมาเป็นชนกลุ่มน้อยเป็นหลัก และเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ที่ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีช่วงที่พม่ามีการปฏิรูปทางการเมืองให้เป็นรัฐบาลกึ่งพลเรือน (quasi-civilian government) แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มร้อย มีความหวังว่าพม่าจะเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย ทำให้ประเด็นเรื่องของผู้ลี้ภัยเดิมเรื่องความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เริ่มถูกประชาคมโลกลืม ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้ว ส่งผลต่อประเทศผู้รับเริ่มไม่ให้สถานะผู้ลี้ภัย เริ่มส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับ โดยเหตุผลว่าพม่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว

รัฐบาลพม่าในยุค เตง เส่ง และ NLD พยายามที่จะมีนโยบายที่เรียกผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ดูมีความหวัง ไม่น่าจะเป็น refugee producing state อีกต่อไป ถ้ามองในเชิงของ migration studies อาจจะเห็นว่าเทรนด์ของพม่าเปลี่ยนจาก refugee producing state มาเป็น migrant producing state มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การส่งออกของแรงงานเป็นเรื่องปกติ มากกว่าผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ในความเป็นจริง ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาก็ยังมีความขัดแย้งในเชิงสงครามอยู่บ้างในบางพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย แต่ก็ถูกกลบด้วยการพัฒนาประชาธิปไตย

แต่มีจุดเปลี่ยนก็คือ การรัฐประหารครั้งล่าสุดในพม่า 2021 ไทยยังจำเป็นต้องติดตาม เพราะประเทศไทยไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ทางการเมืองในพม่า สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็คือ มีการแข่งขันเพื่อทำให้เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมโดยสมบูรณ์ ตอนนี้เราไม่สามารถกล่าวได้ว่าไทยเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมโดยสมบูรณ์

มีฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าจำนวนมาก บ่งบอกว่ากองทัพพม่าไม่ได้เป็นตัวแสดงทางการเมืองที่เข้มแข็งเพียงตัวเดียว มีการต่อสู้หลายฝ่าย และไม่ใช่การต่อสู่ของกองทัพพม่ากับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า NLD อย่างเดียว ยังมีตัวแสดงทางการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลคู่ขนาน (National Unity Government: NUG) อย่างเดียว

การเมืองพม่าไม่น่าจะจบลงง่ายๆ ผลทางการเมืองของพม่าที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ส่งผลต่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองเข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ยังเป็นตัวแสดงที่สำคัญ กองทัพพม่าก็ต้องการความชอบธรรมด้วยการเจรจากับบางกลุ่ม แต่ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธมีหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็มีจุดยืนแตกต่างกันออกไป

ตัวแสดงที่น่าสนใจมาก และเกี่ยวข้องกับการลี้ภัยทางการเมืองเข้ามาในประเทศไทยก็คือ (Civil Disobedient Movements: CDM) เป็นกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองจากหลายอาชีพ เช่น หมอ ครู อาจารย์ ข้าราชการที่ออกมาหยุดงานประท้วงเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลพม่าอย่างเข้มแข็ง กลุ่มนี้ตกเป็นเป้าหมายจับกุม และเสี่ยงต่อชีวิต ของรัฐบาลพม่า

นโยบายผู้ลี้ภัยของประเทศไทย เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและพม่าอย่างไร ในอดีต รัฐบาลไทยช่วงปี 1980-1990 ถูกกองทัพพม่ามองว่าเป็นเพื่อบ้านที่ไม่ดี (Bad neighbor) เพราะไทยมีการตั้งค่ายผู้ลี้ภัย ให้ความช่วยเหลือชนกลุ่มน้อย ดำเนินนโยบายรัฐกันชน (Buffer state) ประเด็นผู้ลี้ภัยถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง พม่ามองว่าไทยใช้ประโยชน์ในประเด็นผู้ลี้ภัยเพื่อเป็นคานงัด เป็นอำนาจต่อรองทางการทูตที่เหนือกว่า

ในช่วงที่มีการปฏิรูปทางการเมืองของพม่า ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพพม่า โยเมื่อไทยมีรัฐประหาร ความสัมพันธ์ไทย-พม่า อยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์กองทัพ เมื่อก่อนอำนาจคานงัดทางการทูตของไทยมีมากกว่านี้ แต่ตอนนี้รัฐบาลไทยเกรงใจรัฐบาลกองทัพพม่าอย่างเห็นได้ชัด

ผู้ลี้ภัยทางการเมือง CDMers เช่น นักกิจกรรม นักศึกษา คนรุ่นใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้มีทักษะสูง เป็นคนที่มีการศึกษา เป็นกลุ่มที่มีความพร้อม มีความรู้ พร้อมที่จะพัฒนา ประเทศไทยควรจะทำอย่างไรกับจุดนี้ นอกจากนี้ อาจจะมีผู้ลงที่ย้ายการลงทุนเข้ามาในไทย ไม่ใช่แค่ตัวคนแต่เงินด้วยที่เข้ามา ดังนั้นประเทศไทยจะทำเรื่อง การทูตสาธารณะ (public diplomacy) กับกลุ่มคนเหล่านี้หรือเปล่า เพราะคนกลุ่มนี้อาจจะมีอานาจทางการเมืองในพม่าก็ได้  

นอกจากนี้ ความมั่นคงทางสาธารณสุข โดยเฉพาะ โควิด-19 ต้องมีการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ของเราเองด้วยหรือไม่

ผศ. ดร. มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ผศ. ดร. มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

เรื่องผู้ลี้ภัย โดยทั่วไปคนในสังคมไทยไม่ค่อยมีความเข้าใจ และมองว่าทำไมรัฐไทยจะต้องสูญเสียเงินงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะดูแลผู้ลี้ภัย ในความจริงสำหรับผู้ลี้ภัย รัฐไทยเพียงแต่เอื้ออำนวยเรื่องที่ดิน ให้ที่อยู่อาศัยเท่านั้น พบว่าทั้ง 9 ค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งตั้งอยู่ไกลจากพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่มาก ยกเว้น ค่ายบ้านแม่หละ กับค่ายบ้านอุ้มเปี้ยม ส่วนใหญ่แล้วค่ายเหล่านี้อยู่ประชิดชายแดน

มองในบริบทชายแดน คนมักจะมองเรื่องชายแดนเป็นเรื่องความมั่นคง หรือรัฐอาจจะมองว่าเป็นพื้นที่ในแง่โอกาสทางเศรษฐกิจ ภาพในแผนที่ พื้นที่ที่เห็นเป็นจุดๆ เป็นฐานทหารทั้งสิ้น ก่อนหน้านี้ชายแดนเป็นพื้นที่กันชน (Buffer zone) เป็นพื้นที่ชนกลุ่มน้อย สิ่งที่เรามักจะมองข้ามไปก็คือความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ หรือ ความสัมพันธ์แบบเพื่อบ้านระหว่างที่อยู่ฝั่งเมียนมากับฝั่งไทย ทุกครั้งที่มีการต่อสู่ จู่โจมของทหารเมียนมาที่มีต่อรัฐกะหั่ยง หรือ รัฐกะเรนนี พบว่าชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งมีการอพยพเข้ามาอยู่กับญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้เคียงกับ หรือคนที่อยู่ฝั่งไทยที่เคยมีประสบการณ์ใกล้เคียงกันนี้ เมื่อประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ที่มีการจู่โจมครั้งใหญ่ ปรากฏว่ามีการบริจาคอย่างมากของหมู่บ้านชายแดนไทยให้กับฝั่งพม่า แต่รัฐไทยกลับไม่อนุญาตให้นำสิ่งของเหล่านี้ข้ามฟากไปได้

พื้นที่ชายแดนยังเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธ และเป็นทั้งตลาดมืดและตลาดเปิด

ศ. ดร. มาลี สิทธิเกรียงไกร

ค่ายผู้ลี้ภัยอยู่มาก่อน 9 ค่าย ในปี 1984 ตอนนั้นมีไม่มาก แต่พอปี 1997 เป็นปีหลังจากที่ค่ายมาเนอปลอว์แตก ก็มีการอพยพครั้งใหญ่ของชาวกะเหรี่ยง มีการตั้งค่ายผู้ลี้ภัยในฝั่งไทยเป็นหย่อมๆ เป็นค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่เท่ากับในปัจจุบันนี้

ค่ายผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน เช่น เวียงแหง ไม่ถูกนับอยู่ใน 9 ค่าย ค่ายหลายแห่งติดกับรัฐกะเหรี่ยง คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในค่ายเป็นคนกะเหรี่ยง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีแต่ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอย่างเดียว ในค่ายเหล่านี้ มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ด้วย ค่ายเหล่านี้รัฐไทยเรียกว่าพื้นที่พักพิงชั่วคราว ไม่ใช่ค่ายผู้อพยพ ทั้งนี้ รัฐไทยไม่ยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย 1951 แม้ว่าคนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจะเรียกตนเองว่าผู้ลี้ภัย ตอนทำงานวิจัยพบว่า รัฐไทยเรียกพวกเขาผู้หนีภัยสงคราม แม้ว่าเด็กหลายคนเกิดในค่าย ไม่ได้มีประสบการณ์หนีภัยสงคราม แต่ก็ถูกนิยามว่าเป็นผู้หนีภัยสงคราม

พื้นที่[ค่ายผู้ลี้ภัย]เหล่านี้ ไม่สามารถจะเดินทางเข้า-ออกด้อย่างอิสระ ผู้ลี้ภัยต้องอยู่ในพื้นที่ที่รัฐไทยจัดให้เท่านั้น ไม่สามารถเดินทางออกมาได้ ขณะเดียวกัน องค์กรพัฒนาเอกชนที่จะเข้าไปทำงานก็ไม่สามารถค้างคืนได้ ต้องขออนุญาตเป็นครั้งคราว

ความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้มาจากองค์กรระหว่างประเทศ พบว่ามีการตัดการช่วยเหลือ ซึ่งมีผลต่อสถานภาพของผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัย ขณะเดียวกัน ในค่ายผู้ลี้ภัยมีการฝึกอบรมให้กับผู้ลี้ภัยในค่าย เช่น คอมพิวเตอร์ ช่างซ่อมรถ แต่คำถามคือ ฝึกแล้วเอาไปทำอะไรได้ เพราะเขาออกไปข้างนอกไม่ได้ และคนที่จะไปประเทศที่สามต้องมีบัตร UN ถึงจะไปได้

พฤ ดีดี เป็นนามสมมุติ ตอนนี้เสียชีวิตแล้ว เขาเล่าให้ฟังถึงชีวิตที่ทำไมเขาถึงต้องหนีจากบ้านของเขาพร้อมทั้งครอบครัว เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ เขาบอกว่า “ผมเป็นคนต่างด้าว ไม่มีบัตร ไม่มีหนังสือรับรองใด ขับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์อะไรก็ผิด เพราะไม่มีใบขับขี่ ตัดต้นไม้หนึ่งต้นก็ผิด จับปลาหนึ่งตัวก็ผิด ผิดไปหมดเลย แต่ผมยอมผิด”

ผู้ลี้ภัยจะได้กลับบ้านมั๊ย? หลังจากการเลือกตั้งปี 2011 มีความหวังว่าจะได้กลับประเทศ แต่สถานการณ์ตอนนี้ ความฝันคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนคงเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ การกลับประเทศต้นทางต้องเป็นไปตามหลักความสมัครใจขององค์การสหประชาชาติ

ที่น่าตกใจ ตัวเลขถึงเดือนกรกฎาคม 2022 มีจำนวนผู้ลี้ภัยประมาณ 90,000 กว่าคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2021

มีการลดเงินงบประมาณที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เป็นการจำแนกคนและให้การช่วยเหลือเป็นรายเดือน แต่ก่อนมีการให้ข้าว 1 เดือน 15 กิโลกรัม แล้วลดเหลือ 8 กิโลกรัม ตอนนี้มีการให้เป็นบัตรอาหาร ใน 1 เดือน คนที่ได้มากที่สุดประมาณ 353 บาท คนที่ได้น้อยที่สุดประมาณ 160 บาท เป็นค่าครองชีพที่ได้ในปัจจุบัน เพื่อแลกอาหารที่มีจำกัด

สถานการณ์แบบนี้ ผู้ลี้ภัยจะกลับบ้านก็ไม่ได้ จะไปประเทศที่สามก็มีความเป็นไปได้น้อยมาก

จากการลงพื้นที่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ลี้ภัยบอกเรื่องการให้ขอให้ช่วยคิดถึงอนาคตของผู้ลี้ภัยว่าจะไปในทิศทางใด โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา  

รัฐไทยตรึงผู้ลี้ภัยไว้กับที่ เด็กที่เกิดใหม่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่า เราจะให้โอกาสหรือพัฒนาเด็กเหล่านี้อย่างไร เด็กเหล่านี้ไม่มีสิทธิเรียนหนังสือในโรงเรียนไทย ทั้งที่นโยบายของรัฐไทยบอกว่าเด็กทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทยจะได้เรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐไทย และไม่สามารถไปทำงานได้

ทางออก คือ ควรจะมีการหารือกับองค์กรผู้ลี้ภัย องค์กรระหว่างประเทศ และควรมีกระบวนการรับฟังเสียงผู้ลี้ภัย ที่ผ่านมามีการเข้าไปสำรวจผู้ลี้ภัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีการตรวจ biometric ของผู้ลี้ภัย ตรวจรูม่านตา โดยที่เขาไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไร ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

สิ่งที่อยากผลักดันคือ ให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือในรัฐไทย ให้คนได้ออกมาทำงานตามศักยภาพของเขา  

อ.ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ.ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในฐานะผู้ติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย้ายถิ่นฐาน ภาพสะท้อนและข้อสังเกตจากปรากฎการณ์ขึ้นผ่านสื่อต่าง ๆ และการลงพื้นที่ชายแดน กรณีผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ต้องพิจารณาสถานการณ์ไปพร้อมกับความมั่นคง เพราะมีนัยยะโดยตรงต่อการโยกย้ายถิ่นฐาน กล่าวคือ การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ในพม่าในตอนนี้ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นสงครามกลางเมือง (Civil war) กองทัพเมียนมาไม่สามารถกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในหลายพื้นที่ มีการใช้เครื่องมือรบในการทำสงคราม เพราะนั่นหมายถึง การส่งกองกำลังทางราบเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ แนวโน้มการสั่งอาวุธจึงมากขึ้นโดยทางอากาศยานเป็นหลัก

ฉากทัศน์ 3 แบบ ที่เป็นไปได้ คือ หนึ่ง ต่างฝ่ายจับมือกัน พูดคุยกัน จัดสรรผลประโยชน์ลงตัว มองว่าเป็นไปไม่ได้ในตอนนี้ สอง บางกลุ่มที่อ่อนแอลงและเข้าไปอยู่กับฝั่งที่แข็งแกร่งมากขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง เช่น กรณีของฉานใต้ที่อาจจะดูมีความอ่อนแอลงและมีการไปเยือนเนปิดอว์ สาม เป็นฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นสูงสุด คือ รัฐล้มเหลว (Failed state) การต่อสู้ที่ยาวนานของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ น่าจะก่อให้เกิดฉากทัศน์ที่สามมากที่สุด คือ มีการใช้ความรุนแรงจากกลุ่มที่ไม่ใช่ฝ่ายของกองทัพเมียนมาเท่านั้น มีการใช้ความรุนแรงในประเทศลักษณะตอบโต้กลับเช่นเดียวกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ คือ การที่ประเทศไม่สามารถ function ได้ ไม่สามารถที่จะรวมกลุ่มได้ มีความแตกแยกมากกว่าเดิม ผลที่ตามมาคือวัฏจักรการใช้ความรุนแรงมากขึ้น เป็นเรื่องปกติรายวัน การไล่เผาที่เพาะปลูก ผลที่ตามมาอีกส่วนหนึ่งก็คือ ประชากรในประเทศไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร นำไปสู่การเกิดภาวทุพโภชนาการ คนต้องหนีเอาตัวรอด หนีไปยังที่ปลอดภัยเพื่อให้เขามีการใช้ชีวิตได้

ภายในเมียนมามี Push factor ไม่ว่าจะมี Push factor หรือ Pull factor ในไทยหรือไม่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าจะทำให้คนต้องออกไปจากประเทศเรื่อยๆ รัฐไทยพูดมาตลอดเรื่องการย้ายถิ่น คือ เป็นเรื่องของ Pull factor แต่เราไม่ได้เชื่อมโยงจริงๆ ว่าเกี่ยวอย่างไรกับ Push factor กล่าวคือ พูดเรื่อง Pull factor ที่เป็นการให้ความสำคัญกับประเทศเรามากเกินไป ผมไม่แน่ใจว่าพม่าจะไปสู่การเป็น failed state เมื่อไหร่ แต่แนวโน้มเป็นไปในลักษณะนั้น

ความหลากหลายของกลุ่มที่เข้ามาตอนนี้แบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ตามแนวชายแดน ซึ่งมีลักษณะของการเป็น circular refugee กลุ่มเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ และเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว หลังจากการผลักดันกลับบางส่วน คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถอยู่ที่ไทยได้ ก็ไปอยู่ในป่าบางส่วนตามแนวชายแดน

กลุ่มที่ 2 มีลักษณะผสมของการย้ายถิ่น (Mixed migration) ถ้าหากมีการพิสูจน์ก็จะมีความท้าทายมากว่าผู้ที่เข้ามา เข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือต้องการประหัตประหาร ทั้งนี้ เป้าหมายของคนเหล่านี้ คือ แสวงหาความอยู่รอด (Survival migrant) กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลาย รวมถึง CDMers กลุ่มนักกิจกรรม กลุ่มนี้อาจจะมีความชัดเจนเรื่องการประหัตประหารที่เกิดขึ้น หากแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มเหล่านี้มีการเดินทางมาเป็นระลอก กลุ่มเหล่านี้อาศัยอยู่พื้นที่ชายแดนและเขตเมือง

หากพิจารณาสถานการณ์ในพม่าตอนนี้ มีกระทบกับไทย สภาวะที่เกิดขึ้น คือ ช่องว่างในทางอำนาจ ไม่มีใครมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จชัดเจน เราเริ่มเห็นบทบาทของตัวแดงบางอย่าง เช่น มหาอำนาจ จีน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ที่พยายามเข้ามามีบทบาทในพม่ามากขึ้น เห็นการสร้างคาสิโนเพิ่มขึ้น สร้างเขื่อน เป็นความพยายามกัดกร่อนความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะปกป้องชาติตนเองเอาไว้ ฉะนั้นโจทย์ความมั่นคงของไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในช่วงเวลาที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

สองสิ่งที่อยากจะย้ำ คือ 1) มีแนวโน้มที่จะเกิด buffer zone ที่เราบอกว่ามันหายไป แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้หายไปไหน และหน่วยความมั่นคงยังเชื่อในสิ่งนี้อยู่ กำลังถูกกักร่อนจากความพยายามของจีน โดยเฉพาะนโยบาย One Belt One Road Initiative 2) เกมส์ที่เราเล่นอยู่ในขณะนี้ เป็นการถูกกำหนดโดยมหาอำนาจโดยเฉพาะจีน รวมถึงตัวแสดงอื่นๆ ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทำให้ไทยต้องตกไปตามผลประโยชน์แห่งชาติของพื้นที่เหล่านั้น

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

  • หนึ่ง ไทยจะอยู่ตรงไหนในการเมืองระหว่างประเทศ ที่หลายประเทศอบากจะเข้ามามีผลประโยชน์ในสถานการณ์เมียนมา เราจะวางนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร ข้อเสนอชวนคิดคือ เราต้องเริ่มวางนโยบายใหม่โดยใช้สถานการณ์ในเมียนมาให้เป็นเหตุในการประเมินนโยบายต่างแระเทศต่อประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องถามตัวเองว่าพื้นที่กันชนยังสำคัญอยู่หรือไม่ในนโยบายต่อเพื่อนบ้าน ถ้าเรายังต้องการอยู่เราจะปรับตัวอย่างไรกับนโยบายกันชนนี้
  • สอง ผลประโยชน์แห่งชาติของไทยคืออะไร เราจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไร โดยยึดคำว่า ปลอดภัย กับ ใช้ชีวิต ตอนนี้รัฐไทยคิดถึงความปลอดภัยของรัฐไทย แต่เรากลับไม่คิดถึงความปลอดภัยของรัฐไทยในระยะยาว รวมถึงคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศ เราพยายามใช้ภาษามนุษยธรรม เราใช้เหตุผล หรือ ข้ออ้างเรื่องมนุษยธรรม ให้น้ำ ให้อาหารอย่างเดียวไม่พอ มีโจทย์ที่ต้องคิดต่อว่าเราจะทำยังไงกับกลุ่มคนที่เข้ามา และให้เขาใช้ชีวิตได้ เราจะมีบทบาทอย่างไร เพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของเขา และปกป้องผลประโยชน์ของรัฐไทยอย่างไร ถ้าปล่อยให้เมียนมาเป็นรัฐล้มเหลว สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ จะมีคนส่วนหนึ่งของประเทศนี้หายไป หมายความว่าเขาไม่มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา การสาธารณสุข และการทำงาน คนรุ่นนี้โดยเฉพาะที่เพิ่งหลุดออกจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน เขามีต้นทุนบางอย่างอยู่แต่เดิม เราจะปล่อยให้คนเหล่านี้เป็น lost generation แล้วสร้างผลกระทบในระยะยาวต่อไทยจริงหรือ

คำถาม คือ อะไรกันแน่คือสิ่งที่ทำให้ไทยมีความมั่นคง

ถ้าคิดแบบเดิม

คือ ซื้ออาวุธ พัฒนากองทัพให้เข้มแข็ง ในระยะสั้นเราแข็งแกร่ง แต่ถ้าความขัดแย้งเกิดขึ้น อาวุธเหล่านี้ถูกทำลายหายไป หรือ อาวุธต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมันต้องมีการจ่ายใหม่ตลอดเวลา คำถามคือ อาวุธเหล่านี้มั่นช่วยแค่การป้องปรามเท่านั้น สิ่งที่เราต้องคิดเรื่องความมั่นคงคืออะไรที่จะทำให้เราและเพื่อนบ้านมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน สิ่งนั้น ไม่ใช่การพัฒนาอาวุธ แต่คือการส่งเสริมให้มีความซับซ้อนมากขึ้นมนมิติของมนุษย์ เศรษฐกิจ ดังนั้น โจทย์เรื่องความมั่นคงที่เราต้องพิจารณามากขึ้น คือ โจทย์ผู้ลี้ภัย ที่ไม่ใช่เรื่องมนุษยธรรมอย่างเดียว แต่เป็นความมั่นคงทางการศึกษา การสาธารณสุข หรือ หากจะใช้แนวคิดกันชนแบบใหม่ ต้องเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ที่ผูกอยู่กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งความมั่นคงของมนุษย์อยู่ในทุกส่วนงาน คนที่จะดูแลเรื่องนี้ คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ

  • สาม ทำไมการให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ และการลงทุนในมนุษย์มีความสำคัญ คือ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาวของไทยเอง จำเป็นต้องมองเกมส์ระยะยาว ซึ่งจะมีรุนคนอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน เป็นคนหนุ่มสาว ที่วันหนึ่งเขาจะกลับไปเปลี่ยนแปลงประเทศต้นทาง นำชุดคุณค่า ชุดความคิด ไปปรับใช้พัฒนาประเทศของตนเอง นี่คือเหตุผลที่หลายพัฒนาประเทศและอิทธพลขึ้นมาได้ ก็ผ่านบุคคลที่เขาให้ความช่วยเหลือและเกมส์ระยะยาว

การลงทุนด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะสถานการณ์ในรัฐล้มเหลวในเมียนมาพร้อมที่จะทำให้เกิดภัยคุกคามด้านสุขภาพต่อไทยไม่ใช่เฉพาะโควิด-19 และโรคระบาดอื่นๆ เช่น มาลาเรีย ดังนั้น เราต้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ตามแนวชายแดน โครงการที่มีอยู่แล้ว คือ โครงการบ้านคู่ขนานควรดำเนินการต่อเพราะคนในชายแดนรู้จักกันอยู่แล้ว  

เรื่องการทดแทนของแรงงานไทยที่หมดไปของแรงงานไทยและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าในอนาคตอันใกล้เราต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น คนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมีศักยภาพเป็นจำนวนมาก เราให้ความสำคัญกับศักยภาพเหล่านี้มากพอแล้วหรือยัง เพื่อตอบโจทย์ด้านประชากร และเศรษฐกิจของไทยมากพอหรือยัง เขาสามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย และในการสร้างเศรษฐกิจไทย

ความกังวลของหน่วยงานความมั่นคงที่พูดมาตลอด ที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยมีสองเรื่องหลัก หนึ่ง การแบกรับภาระโดยรัฐ สอง ทัศนคติของคนในสังคม การที่กังวลนั้นดีแล้ว แต่อย่าใช้ความกังวลนั้นมาเป็นข้อจำกัดในการเลือกปฏิบัติกับคน ทั้งนี้ การแบกรับภาระโดยรัฐเป็นมายาคติ ไทยให้ที่ดิน ที่อยู่อาศัย มีการจ่ายในส่วนของเจ้าหน้าทีที่ดูแล แค่นั้น แต่การดูแลที่เหลือทั้งหมดมาจากภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ คำถามสำคัญคือ เราเคยประเมินหรือไม่ว่าสิ่งที่เราได้ตอบแทนมาจากผู้ลี้ภัย มีมากน้อยแค่ไหน เช่น การจับจ่ายใช้สอยของผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ตั้งอยู่มีขนาดไหน ภาษีที่เสียทางอ้อม มีมากน้อยแค่ไหน มูลค่าเศรษฐกิจเหล่านี้ช่วยชุมชนในไทยขนาดไหน

ถ้าหากผู้ลี้ภัยมีโอกาสในการยังชีพด้วยตัวเอง มีสิทธิในการทำงาน สิ่งสำคัญที่สุดคือ เขาจะสามารถแบกรับภาระในการดูแลตนเองได้

การยอมรับในสังคม ต้องคิดเรื่องผู้ลี้ภัยระยะยาว ต้องมองข้ามรุ่นของผู้ลี้ภัย เพราะฉะนั้นผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในช่วงแรกอาจจะลำบากหน่อยในการ integrate มีประเด็นพลวัตรความขัดแย้งในสังคมอยู่แล้ว ถ้าเรามองข้ามรุ่นคน เราอาจจะเห็นว่าความกังวลนี้เป็นไปเกินกว่าเหตุ

เพียรพร ดีเทศน์ ผอ.ฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ 

เพียรพร ดีเทศน์ ผอ.ฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ 

จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่และชุมชน สองปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า มีคนกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาในไทยมีหลายกลุ่ม มีหลายที่มา สำหรับผู้ลี้ภัยในชายแดนฝั่งตะวันตกที่แม่น้ำเมยกับสาละวิน คนที่เข้ามามีทั้งผู้ลี้ภัยทางการเมือง CDM แรงงานที่เข้ามาแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือ อื่นๆ สิ่งสำคัญที่สุดที่เห็นในครั้งนี้ก็คือ ไม่ใช่แค่ชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มอญ แต่มีพม่าจริงๆ ด้วย และเป็นคนที่มีความรู้ เป็นชนชั้นกลางในสังคมของเขา หลายกลุ่มหนีออกมาทั้งที่เป็นเด็กและเยาวชน หนีเข้ามาบวชเณร บวชพระ เพื่อที่จะหนีการเกณฑ์ทหารของกองกำลังบางกลุ่ม ถ้าเราเป็นเขาเราก็ต้องหนีเหมือนกัน เพราะอยู่ไม่ได้ พ่อแม่ขายอะไรต่างๆ เพื่อให้ลูกข้ามมาประเทศไทยเพื่อที่จะมีชีวิตรอดไปก่อน กลุ่มที่หลากหลายและมีที่มาต่างกัน มีวัตถุประสงค์ต่างกัน แต่พบว่าหน่วยงานความมั่นคงของไทยที่กำหนดนโยบายกลับไม่สามารถแยกกลุ่มเหล่านี้ออกจากกัน มองรวมๆ ว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า ทำให้แก้ปัญหาได้ยากมาก ถ้ามองยาวๆ ปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะต้องมีปัญหาเด็กไร้สัญชาติ มีผู้ประสบปัญหาอีกเยอะ หากเราไม่จัดกรอบผู้ที่เข้ามาจากพม่าในวันนี้ก่อน ปัญหานี้จะไม่มีวันสิ้นสุด

สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ รัฐบาลไทยจับมือกลมเกลียวกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า สิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดคือการมอบ เปิดพื้นที่ข้ามพรมแดนให้ข้าวสาร ให้อาหารกับชาวบ้านที่หนีมา พบว่าทหารพรานส่งคนเข้าไปกดดันแล้วก็ส่งกลับ ดังนั้น สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดเราก็ยังเห็นว่าหน่วยงานความมั่นคงไทยยังไม่สามารถที่จะทำหน้าที่เป็น host เป็นเพื่อบ้านที่ดีได้

มีความพยายามมากในการกดตัวเลขผู้ลี้ภัย ผู้หนีภัยสงครามเข้ามาในแม่สอด พบพระ สาละวิน ที่แม่ฮ่องสอน ให้ต่ำมาก บางครั้งเราพบว่ามีผู้ข้ามแม่น้ำสาละวินมาหลังจากมีเครืองบินทิ้งระเบิด มีไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ตามที่เราเห็นในรูป ในคลิปวิดีโอที่ชาวบ้านส่งมา แต่รายงานของกระทรวงการต่างประเทศบอกว่ามีผู้หนีภัยสงครามเข้ามา 83 คน ส่งกลับไปโดยสมัครใจแล้วเหลือ 25 คน ในฐานะประชาชนไทย เราก็ติดตาม เราก็สงสัยว่า ถ้านโยบายหรือการตัดสินใจใหญ่ๆ อยู่บนข้อมูลที่เป็นเท็จแบบนี้ ประเทศชาติเราจะมุ่งไปทางไหนกันแน่ จะมีนโยบายในระดับปฏิบัติการในพื้นที่ได้อย่างไร การใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลคาดเคลื่อนแต่เป็นข้อมูลเท็จ ทำให้การแก้ปัญหาเหล่านี้ผิดเพี้ยนไปหมด

พรมแดนที่อยู่ในภาคเหนือ อย่างน้อยมีชุมชนที่คอยช่วยเหลือกันค่อนข้างมาก บางคนเรียกว่าชุมชนคู่ขนานเป็นเครือญาติกัน เมื่อเกิดเหตุก็มีการรับเข้ามาก่อนแล้วก็ส่งกลับ หรือว่าส่งข้าว ส่งน้ำ กลไกเหล่านี้มีอยู่ในประเทศไทยและในประเทศพม่าทั้งในรัฐฉานและรัฐกะเรนนี จะทำอย่างไรที่จะให้กลไกการช่วยเหลือในชุมชนนี้เป็นไปได้ และได้รับการสนับสนุน มีคนจำนวนมากขับรถขนของเพื่อจะเอาไปบริจาคให้พี่น้องที่หนีเครื่องบินรบ แต่ว่าไม่สามารถเอาไปส่งได้เพราะว่าหน่วยงานความมั่นคงตั้งด่าน ห้ามส่ง ให้กลับไป สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นเพราะเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดแล้ว

กรกนก วัฒนภูมิ สมาชิกคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน

กรกนก วัฒนภูมิ สมาชิกคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน

รัฐไทยมีการจัดการกับกลุ่มผู้ลี้ภัยต่างๆ มามากมาย สำหรับกลุ่มที่มาจากพม่า ก็ใช้คำว่าผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ผู้หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ความจริงเป็นกลุ่มเดียวกัน และพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยซึ่งรัฐบาลไม่เคยใช้คำนี้ การจัดการของรัฐไทยก็คือ อนุญาตให้อยู่ชั่วคราวและทำบัตรประจำตัวให้

สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในเมืองเป็นอย่างไร เราก็มองว่าสถานการณ์ทางกฎหมายของผู้ลี้ภัยจากเมียนมา แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย มีวีซ่านักท่องเที่ยว นักเรียน นักวิจัย ทำงาน กลุ่มนี้มองเผินๆ อาจจะไม่มีปัญหา แต่ความจริงก็ต้องลุ้นต่อว่าเขาจะต่อวีซ่าได้หรือไม่ จะเปลี่ยนประเภทวีซ่าได้หรือไม่ เพื่อให้อยู่อย่างถูกกฎหมายต่อไป

กลุ่มที่สองซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ก็คือ เข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมาย และอยู่แบบผิดกฎหมาย ปัญหาของคนกลุ่มนี้คือเสี่ยงต่อการถูกจับ ถูกกัก รอการผลักกลับเมื่อเปิดพรมแดน ถ้าเรามองว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่ผลักดันเขากลับออกไป และเป็นความผูกพันของรัฐไทยในฐานะที่หลักการนี้เป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

เมื่อเขาอยู่แบบผิดกฎหมาย และเสี่ยงต่อการถูกจับ ก็มีกระบวนการใต้ดินเกิดขึ้น ช่วงประมาณเมษายน มีข่าวออกมาว่ามีการจ่ายเงินรายเดือนเพื่อซื้อบัตรที่จะให้เขาสามารถอยู่รอด ปลอดภัย ไม่ถูกจับ ไม่ถูกกัก แต่ก็มีการออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว สิ่งนี้สะท้อนว่าคนพยายามที่จะอยู่ในประเทศไทยอย่างปลอดภัยต่อไปในระหว่างที่ไม่มีกลไกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่เขาก็ต้องอยากจะอยู่อย่างถูกกฎหมาย

ตามกฎหมาย หรือ นโยบาย ATD MOU จะต้องไม่กักเด็ก ซึ่งเด็กคือคนต่างชาติที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ หมายความว่าใช้กับคนต่างชาติทุกกลุ่ม รวมทั้งผู้ลี้ภัยจากพม่าด้วย

กฎหมายที่มีเรื่องการจัดการผู้ลี้ภัย ในการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหลักของกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ

กลไกการรับรองระดับชาติเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เหมือนมีกฎหมายแต่ไม่บังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย ทำไมรัฐไม่เอากฎหมายที่มีอยู่ กลไกที่มีอยู่มาบังคับใช้ให้มีประสิทธิผลเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย

การจัดการผู้ลี้ภัยของรัฐไทยต้องไม่คำนึงถึงแค่ pull factor อย่างเดียว แต่ต้องดู push factor ด้วย ต้องยืนยันการเข้าถึงการช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย เข้าถึงสิทธิการประกันตัว หรือการยื่นคำร้องได้ตามระเบียบของสำนักนายก นอกจากนี้ ไม่ให้เกิดสภาวะ mixed migration ทั้งนี้ ต้องแยกผู้ลี้ภัยออกจากคนไร้สัญชาติ แรงงานให้ได้

ข้อท้าทายและข้อเสนอแนะคือ การจัดการระบบกฎหมายที่มีอยู่นั้นเพียงพอแล้ว เพียงแต่ว่าจะเลือกใช้กลไกใดเท่านั้นเอง ที่จะเอามาจัดการ หรือใช้กลไกผสมกันก็ได้ แต่รัฐไทยก็ต้องคำนึงว่าจะหยิบยกกลไกใดมาใช้

เขียนและเรียบเรียงโดย : Burma Concern

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ