ด่านบ้านฮวกกับทิศทางการพัฒนาสู่สากลความฝันใกล้ความจริง???

ด่านบ้านฮวกกับทิศทางการพัฒนาสู่สากลความฝันใกล้ความจริง???

” การพัฒนาที่ติดขัดกับข้อกฎหมาย ทำให้จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวกติดกับดักหยุดโต “

            ด่านผ่านแดนถาวรบ้านฮวก   เดิมมีฐานะเป็น ด่านวัฒนธรรม รู้จักกันในชื่อ “จุดผ่อนปรนบ้านฮวก” ตั้งอยู่ที่บ้าน

ฮวก-กิ่วหก อ.ภูซาง จ.พะเยา มีอาณาเขตติดกับแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ได้มีการทำข้อตกลงระหว่างจังหวัดพะเยากับแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ณ จุดผ่อนปรนชายแดนไทย–สปป.ลาว โดยกำหนดให้ด่านบ้านฮวก ให้เป็น “ด่านผ่อนปรน” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2536 ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์หลักทางด้านมนุษยธรรม และเพื่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่นระหว่างชาวภูซางและแขวงไชยะบุรี โดยอนุญาตให้ประชาชนทั้งสองประเทศสัญจรไปมาเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคระหว่างกัน 

            มีความพยามผลักดันจากภาครัฐ เอกชนและประชาชาชน เพื่อให้ด่านผ่อนปรนบ้านฮวกให้เป็น “ด่านถาวร” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โดยความพยายามของคนในพื้นที่และนักธุรกิจทั้งสองฝ่าย ทำให้มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ได้ประกาศให้จุดผ่อนปรนบ้านฮวกเป็น “จุดผ่านด่านถาวร” สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-ลาว ครั้งที่ 21 ที่แขวงจำปาสัก เมื่อต้นปี 2561 และจากการประชุมครม.สัญจรกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 โดยยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวรมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การขนส่ง การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเข้าด้วยกัน

            วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าบ้านฮวก อำเภอภูชาง จังหวัดพะเยา เป็นจุดผ่านแดนถาวร ในขณะที่สปป.ลาว ได้เห็นชอบยกระดับด่านประเพณีบ้านปางมอน เมืองคอบ แขวงไชยะบุรี ตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นด่านสากล เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563

            แม้ว่าจะมีการยกระดับให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรแล้ว  แต่ก็ยังปรากฏว่าไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ทั้งเรื่องถนน อาคารที่ทำการ อาคารประกอบของหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติงานที่ด่านฯ  คือ ด่านศุลกากรเชียงของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพะเยา  ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศบ้านฮวก และ ด่านกักกันสัตว์พะเยา ให้เป็นไปตามมาตรฐาน  เนื่องจากพื้นพัฒนาที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากทั้ง 2 หน่วยงาน เนื่องจากติดข้อกฎหมาย และ เส้นทางคมนาคมคับแคบ ไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย ในการเดินทางและการขนส่งสินค้า

            แต่อย่างไรก็ตาม ทางด้านจังหวัดพะเยา ได้พยายามผลักดันและเร่งรัดการทำให้จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวกได้พัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ในทุกมิติทั้งของฝั่งประเทศไทยและสปป.ลาว   ด้วยการเร่งรัดให้กรมป่าไม้พิจารณาอนุญาตคำขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของจังหวัดพะเยา   เร่งรัดให้กรมทางหลวงดำเนินการสำรวจและออกแบบถนนขนาด 4 ช่องทางจราจร ระยะทาง 2 กิโลเมตร ตั้งแต่สามแยกอนามัยบ้านฮวก- เส้นแนวเขตพรมแดนไทย เชื่อมโยงจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก – สปป.ลาว (เมืองคอบ แขวงไชยะบุรี) และดำเนินการยื่นคำขอผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในการขอใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูซาง เพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมโยงด่านชายแดนดังกล่าว

            ขอผ่อนผันยกเว้น มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 เรื่อง แนวทางการพิจารณาการก่อสร้างถนนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 เรื่อง ขอผ่อนผันใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 A และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 เรื่อง มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำตะวันตก ภาคกลาง และ ลุ่มน้ำป่าสัก และการกำหนดคุณภาพลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนอื่น ๆ (ลุ่มน้ำชายแดน)เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงชายแดนไทย – สปป.ลาว และเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาด่านชายแดน จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อำเภอภูชาง จังหวัดพะเยา

            ปัญหาเดียวของการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก คือการขอให้พื้นที่จากกรมอุทยานและกรมป่าไม้ เพื่อถนน สร้างอาคารที่ทำการ และอาคารประกอบ ซึ่งติดข้อกฎหมายหลายประการ แม้จะมีการยกเว้นด้วยมติคณะรัฐมนตรีแต่ก็ยังคงติดเรื่องข้อกฏหมายอยู่ดี จึงไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้

            หากสามารถผลักดันให้สามารถมีการสร้างถนน สร้างอาคารที่ทำการและอาคารประกอบ ให้ได้ตามมาตรฐาน จุดผ่านแดนถวรกบ้านฮวกก็จะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และจะเกิดงาน ธุรกิจการการค้าการท่องเที่ยวและจะสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับอำเภอภูซาง และจังหวัดพะเยาเป็นอย่างมาก

                        เมื่อมองจากสภาพที่ตั้งและเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาว ตรงจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก จะพบว่ามีศักยภาพในหลายมิติ ซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุนและยอมแลกกับทรัพยากรป่าไม้ที่ต้องเสียไป เช่น ด้านการค้า การลงทุน จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวกมีศักยภาพเป็น Hub ด้านการกระจายสินค้าที่สำคัญของไทยไปสู่ สปป.ลาว และประเทศในกลุ่มสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยสามารถเชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ เมืองเชียงรุ้ง และคุนหมิง ผ่านทางจุดผ่านแดนบ่อเต็น – โมฮัน โดยใช้เส้นทาง R3A และสามารถยกระดับการเชื่อมโยงฝั่งตะวันออกกับเมืองเดียนเบียนฟู และฮานอย ของประเทศเวียดนาม ผ่านจุดผ่านแดนเมืองขัว (ขวา) – เดียนเบียนฟู โดยใช้เส้นทาง R2 และมุ่งสู่เมืองฮานอย ซึ่งสถิติมูลค่าการค้าชายแดน ปี พ.ศ. 2566 พบว่า มีมูลค่ารวม 825,537,253 บาท แบ่งเป็นมูลค่านำเข้า 104,580,145 บาท มูลค่าส่งออก 720,957,108 บาท สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน เครื่องอุปโภคบริโภค และวัสดุก่อสร้าง สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ หินปูนบด มันสันปะหลัง และลูกเดือย

            ด้านการท่องเที่ยวและบริการ มีศักยภาพในการเชื่อมโยงธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว ทั้งทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยสามารถเชื่อมโยงจาก สปป.ลาว ไปสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศในกลุ่มสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง   ด้านการเป็นโครงข่ายเส้นทางโลจิสติกส์ทางราง เชื่อมโยงโครงการรถไฟทางคู่ (เด่นชัย – พะเยา – เชียงของ) เชื่อมโยงกับโครงการรถไฟ สปป.ลาว – จีน (ช่วงบ่อเต็น – เวียงจันทน์) โดยผ่านเส้นทางจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา และผ่านด่านสากลปางมอญ เมืองคอบ แขวงไชยะบุลี สปป.ลาว ไปยังสถานีเมืองไซ แขวงอุดมไซ และสถานีอื่น ๆ ของ สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน และ ศักยภาพด่านปางมอญ เมืองคอบ แขวงไชยะบุรี ถือเป็นที่ตั้งยุทธศาสตร์ทางด้านบริการโลจิสติกส์ และการค้าในระดับอนุภูมิภาค เป็นประตูเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจระหว่าง 8 แขวงในภาคเหนือของ สปป.ลาว และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ของไทย เป็นเส้นทางท่องเที่ยวล้านนา สู่ ล้านช้าง จากจังหวัดในภาคเหนือสู่เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 จังหวัดพะเยาโดยนายบำรุง สังข์ขาว รอง ผวจ.ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายรัฐพล นราดิศร ผวจ.พะเยา ให้ดูแลเรื่องจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก ได้เรียกประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวกและภาคเอกชน  เพื่อให้แต่ละส่วนราชการที่รับผิดชอบได้แจ้งปัญหา อุปสรรคและวิธีการแก้ไขปัญหา ความล่าช้าของการก่อสร้างอาคารที่ทำการ อาคารประกอบและการก่อสร้างถนน ซึ่งต้องผ่านพื้นทีอุทยานแห่งชาติภูซาง และ เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว นำเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาหารือแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีการขอใช้พื้นที่เขตอุทยานฯและเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ก่อนที่จะวินิจฉัย เสนอแนะและแนบเอกสารทั้งหมดให้ ครม.พิจารณาสั่งการต่อไป

นายบำรุง สังข์ขาว รอง ผวจ.พะเยา กล่าวว่า จากปัญหาความล่าช้าของการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อดำเนินการขอใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารด่าน พื้นที่ส่วนสนับสนุนสำหรับการปฏิบัติงานด้าน CIQ และส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น 1A และ1B รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ทางสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เข้ามาเสนอปัญหาอุปสรรค เพื่อให้คณะทำงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยและข้อเสนอแนะ ก่อนนำเสนอแนบเพื่อเข้า ครม.เพื่อสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาจะนำข้อมูลเอกสารปัญหา อุปสรรค นำเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 23 ธันวาคม 2567 นี้

ปัญหาของการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก ที่มีปัญหาเรื้อรังมานาน สาเหตุหลักคือ พื้นที่พัฒนาไปอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และ ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งขึ้นกับกรมอุทยานแห่งชาติ และกรมป่าไม้ จึงติดข้อปัญหาทางกฎหมามากมาย ไม่สามารถพัฒนาไปทางไหนได้ การนำปัญหาทั้งหมดนำเสนอต่อ ครม.เพื่อให้ ครม.พิจารณาสั่งการจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดและสามารถพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวกได้อย่างเต็มศักยภาพ

            ท้าวแสง  แซ่โซ่ง อายุ 32 ปี ชาวบ้านเซียงฮ่อน  สปป.ลาว ซึ่งกำลังเดินทางนำญาติผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบ เปิดเผยว่า  ทางฝั่ง สปป.ลาว ตอนนี้ถนนและอาคารที่ทำการด่านสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้การเดินทางมาโรงพยาบาล ตลาด ในพื้นที่อ.ภูซาง และ อ.เเชียงคำ สะดวกสบายกว่าเดิมมาก  แต่ในส่วนของประเทศไทยอาคารที่ทำการยังไม่สมบูรณ์ ถนนยังคงแคบ ถ้าถนนดี อาคารที่ทำการดีกว่านี้ ทันสมัยกว่านี้น่าจะเป็นผลดีต่อการเดินทางและการค้าขายของทั้ง 2 ประเทศ อย่างแน่นอน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ