ผู้ลี้ภัย : In-Between | ชีวิตติดกับ | မြေဇာပင်များ

ผู้ลี้ภัย : In-Between | ชีวิตติดกับ | မြေဇာပင်များ

วิชัย จันทวาโร ผู้จัดการโครงการจากเสมสิกขาลัย-เอเชีย 

ในงาน “ชีวิตติดกับ” เวทีรับฟังเสียงและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเมียนมา I 25 มิ.ย. 2566

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 นำมาสู่การใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างโดยกำลังทหาร มีการโจมตีด้วยอาวุธหนัก การโจมตีทางอากาศ การเผาบ้านเรือน ชุมชน ไร่นา เป็นภาพที่คนทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนเห็นอยู่แทบทุกวัน แม้ว่าในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ของประเทศเพื่อนบ้านจะพูดถึงความขัดแย้งที่ไกลออกไปเป็นหลายพันกิโลเมตรมากกว่า ความรุนแรงตามแนวชายแดนก็ตาม

การโจมตีกระจายอยู่ทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ดังเช่นเมื่อก่อน ไม่ละเว้นแม้ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นโบสถ์ วัด โรงเรียน รวมถึงพื้นที่ชุมชน

มีตัวเลขอ้างอิงจากข้อมูลของสหประชาชาติ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประเมินว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา ประมาณ 1 ล้าน 8 แสน คน ในจำนวนนั้น เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภา จำนวน มากกว่า 1 ล้าน 4 แสนคน

ในขณะที่ตัวเลขนักโทษการเมืองจากข้อมูลขององค์กรสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง หรือ AAPP ก็พุ่งสูงขึ้น โดยระบุว่า ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองที่ถูกจองจำในคุกของทหาร มากกว่า 18,000 คน

นอกจากนี้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ ระบุอีกว่า มีผู้คน จำนวนมากกว่า 3,500 คน เสียชีวิต ในจำนวนนั้น เป็นเด็ก ถึง 367 คน และเรารู้ดีว่า ข้อมูลที่ยังไม่ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการ จะทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงขึ้นไปกว่านี้อีกมาก

  • ในเชิงเศรษฐกิจ การเข้าถึงปัจจัยชั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตนั้นยากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนไม่สามารถประกอบอาชีพ ทำงานอย่างที่เคย เนื่องด้วยสภาพการณ์ที่อันตราย เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูง การซื้อขายถูกจำกัด เศรษฐกิจฝืดเคืองเนื่องจากสงคราม คนอายุน้อยจำนวนมากไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ระบบธนาคารล่ม ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดทุน พื้นที่เกษตรกรรมถูกทำลาย
  • ระบบสาธารณสุข ความช่วยเหลือด้านสุขภาพไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ผู้คนที่เจ็บป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ โรงพยาบาลหลายแห่งปิดตัวลง หรือถูกทำลาย
  • ปัญหาด้านการศึกษาที่สะสมมาหลายปีนับตั้งแต่การเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด19 จนถึงปัจจุบัน ผนวกกับความมรุนแรงหลังรัฐประหารบีบให้เด็ก นักเรียน เยาวชนถูกผลักให้ออกจากระบบการศึกษาหลายรูปแบบ โรงเรียนจำนวนมากถูกโจมตีทางอากาศ มีรายงานนักเรียนเสียชีวิต

หลายปัจจัยที่ซ้อนทับกันทำให้การเลือกหนีมายังประเทศไทย และประเทศอื่น กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางการเอาชีวิตรอด

พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 9 แห่ง สำหรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในไทย

เมื่อพูดถึงการหนีภัยพลัดถิ่นมายังพื้นที่ประเทศไทยแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ ขบวนการค้ามนุษย์ ที่กำลังเฟื่องฟู เริ่มต้นตั้งแต่การในหนีในฝั่งเมียนมา มาถึงเมืองชายแดน จนเข้ามาอาศัยในประเทศไทย ผู้คนซึ่งไม่มีทางเลือกมากนัก จึงยิ่งถูกเอารัดเอาเปรียบจากขบวนค้ามนุษย์และคอรัปชั่น

ในเมื่อการหนีเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่จะเอาชีวิตรอดได้ ชาวเมียนมาจำนวนมาก ข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหนีมาทางช่องทางธรรมชาติบริเวณชายแดน ใช้ชีวิตอยู่ในป่า โดยไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเลยว่า เมื่อมาถึงเขตแดนไทยแล้วจะได้รับความช่วยเหลือหรือมีชีวิตอย่างปลอดภัย

ผู้ลี้ภัยบางกลุ่มหนีภัยมาจากใจกลางประเทศจนถึงขอบเส้นเขตแดนของเมียนมา และความรุนแรงที่ตามติดมา บังคับให้เขาต้องข้ามมาในฝั่งไทย เมื่อพูดมาถึงประเด็นนี้ เราจะเห็นว่าการรับมือของรัฐบาลไทยยังไม่เอื้อให้คนที่หนีจากบ้านตัวเองมาได้รับความช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น

ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือไม่ความช่วยเหลือเหล่านั้นก็จำกัดมาก และในเวลาไม่นาน พวกเขาเหล่านั้นก็ถูกผลักดันกลับไปเผชิญกับอันตราย ที่พวกเขาเสี่ยงชีวิตหนีมา อีกครั้ง วนเวียนซ้ำภาพเก่าครั้งแล้วครั้งเล่า

ที่จริงแล้วก่อนเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อปี 2021 ตามขอบชายแดนประเทศไทยและเมียนมา ก็มีค่ายที่เรียกกันว่า “ที่พักพิงชั่วคราว” หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ 9 แห่ง ถึงแม้ว่าชื่อเต็มของค่ายผู้ลี้ภัยจะถูกเรียกว่าที่พักพิงชั่วคราว แต่เป็นความชั่วคราวที่ยาวนาน บางแห่งมีอายุเกือบ 40 ปี และชะตากรรมของประชากรในพื้นที่ควบคุมนั้นตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้และไม่สามารถไปต่อประเทศอื่นได้เช่นกัน ถมทับด้วยด้วยสถานการณ์ความรุนแรงที่แย่ลงทุกวัน

นอกจากผู้ที่เข้ามาลี้ภัยตามชายแดน หรือในค่ายแล้ว ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ฝ่าฟันความเสี่ยง หลบหนีเข้ามาลี้ภัย เข้ามาอาศัยในเขตเมือง โดยผู้ลี้ภัยในเขตเมืองที่ว่าหมายถึงผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในจังหวัดที่ติดชายแดน แต่ไม่ได้อยู่ในบริเวณชายแดนหรือค่ายผู้ลี้ภัย และในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ แต่ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ

ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาอยู่ในเขตเมืองนั้นเผชิญกับความท้าทายมากมาย ความท้าทายที่พูดได้เลยว่ายังไม่มีทางออก เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีมาตรการให้สิทธิทางกฎหมายที่เอื้อให้เขาเหล่านั้นดำรงชีวิตได้อย่างมีเสรีภาพ โดยกฎหมายหลักคืออนุสัญญาปี ค.ศ. 1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย และพิธีสารปี ค.ศ. 1967 ซึ่งกำหนดหลักการเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยไว้ และหลายประเทศทั่วโลกบังคับใช้เป็นมาตรฐานสากล แต่ประเทศไทยไม่ได้ลงนามหรือให้สัตยาบันต่อกฎหมายเหล่านี้

อธิบายอย่างเข้าใจได้ง่ายคือ ประเทศไทยไม่มีคำว่า “ผู้ลี้ภัย” ในกฎหมาย และตามสถิติอย่างเป็นทางการ เรามีผู้ลี้ภัย เท่ากับ 0 คน

รัฐบาลของเรา เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเรา จึงรู้จัก และเหมารวมว่าคนผู้เสี่ยงชีวิต และพาตัวเองมาหาที่ปลอดภัยกว่าเหล่านั้น เป็น “ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย” เมื่อผิดกฎหมาย ก็แปลว่าต้องรับโทษ แม้พวกเขาเหล่านั้นจะไม่มีทางเลือกอื่นแล้วก็ตาม

จากข้อมูลข้างต้น พอช่วยให้เห็นภาพแล้วว่าผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่หนีมาที่ประเทศไทยต้องเจอกับอะไรบ้าง

ไร้สถานะ ไร้ตัวตน ไร้การดูแล

ประเด็นด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในประเทศไทย และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นประเด็นสำคัญที่เราจะต้องระดมความคิด หาแนวทางการจัดการปัญหาในทุกระดับ

เริ่มจากระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่รัฐไทยให้ชื่อว่า “คนต่างด้าว” ที่เข้ามาในประเทศไทยและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาได้ หรือที่เรียกกันว่า National Screening Mechanism หรือ NSM ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562

ไทยได้ออกระเบียบการคัดครองนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการคัดกรองผู้ได้รับความคุ้มครอง ตามหลักการ เมื่อ 5 ตุลาคม 2565 โดยตอนนี้ อยู่ในขั้นตอนการวางกรอบการปฏิบัติ โดยผู้ที่จะได้รับความคุ้มครอง คือ คนต่างด้าว หรือคนเข้ามาอยู่ในอาณาจักรและไม่สามารถ หรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังประเทศอันเป็นภูมิลำเนาของตน เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหารตามที่คณะกรรมการกำหนด

ในหลักการ เหมือนจะเป็นระเบียบที่ดี แต่… ระเบียบคัดกรองนี้ ไม่รวมการคัดกรองผู้ที่ถือบัตรแรงงานข้ามชาติ จากประเทศเมียนมา กัมพูชา ลาว ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องใช้ชีวิตและดิ้นรนทางเศรษฐกิจ จึงพาตัวเองเข้ามาเป็นแรงงาน และระเบียบคัดกรองนี้ ไม่ได้ให้สิทธิในการทำงาน แม้จะเพียงชั่วคราวก็ตาม

ขณะที่บุคคลที่ถูกจำแนกว่า เป็นบุคคลในความห่วงใยเรื่องความมั่นคงของชาติ เช่น ชาว อุยกูร์ หรือ โรฮิงยา อาจไม่ถูกนับรวมในการคัดครองนี้ และแน่นอนความความมั่นคงของชาติที่ว่า คืออะไร ยังเป็นคำถามที่รอความชัดเจน

สายลมที่เงียบงันในสังคมอาเซียน

แล้วกลุ่มประเทศในภูมิภาค และนานาชาติทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา

นับตั้งแต่วันที่เกิดวิกฤตการณ์เมียนมา…

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนในเมียนมาต้องการความช่วยเหลือ ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในภูมิภาค กลุ่มประเทศอาเซียน และนานาชาติ แต่เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้วที่ยังไม่มีเค้าลางของทางออกของวิกฤตการณ์นี้

กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเองเคยพยายามตั้งข้อกำหนดบางอย่างต่อกลุ่มคณะรัฐประหารพม่า แต่หลักการต่าง ๆ เหล่านั้นก็ถูกปัดตกไปเฉย ๆ โดยมาตรการแรกที่อาเซียนเสนอคือหลักการที่ชื่อว่า “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงในฐานะข้อตกลงกับทหารพม่า

สำหรับฉันทามติ 5 ข้อ มีเนื้อหาดังนี้

  1. จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่
  2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
  3. ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน
  4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)
  5. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

จนถึงปัจจุบัน เรายังไม่เห็นบทบาทเชิงบวกของอาเซียนที่จะนำไปสู่การหาข้อยุติของสงครามในเมียนมาได้ เช่นเดียวกันกับความล้มเหลวของสมาคมโลก ที่แม้จะพยายามใช้กลไกระหว่างประเทศในการเจรจาหาทางออก ก็ยังต้องเผชิญกับทางตันในตอนท้าย เมื่อเสียงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ไม่เป็นเอกฉันท์

ความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านมนุษยธรรมยังติดกับอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกลุ่มทหาร ซึ่งหมายความว่า ความช่วยเหลือเหล่านั้นอาจไปไม่ถึงมือคนที่เดือดร้อน ไม่ถึงพื้นที่ที่ถูกทิ้งไว้ และถูกจัดสรรจัดแจงโดยกลุ่มเผด็จการทหารอย่างไม่รู้ที่มาที่ไป

ในช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งของประเทศไทย คือจังหวะสำคัญที่จะต้องรวบรวมความคิดเห็นและเสียงของบุคคลมากมายหลายกลุ่มมาพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อส่งให้กลไกทางการเมืองที่ชอบธรรมร่วมกันหาทางออก สร้างจุดยืนใหม่และดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด

000

รับชมงาน “In-Between | ชีวิตติดกับ | မြေဇာပင်များ” เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 2566 หรือ คลิกอ่าน

“Fled Talk” หลากเสียงที่อยากสะท้อนถึงรัฐบาลใหม่ จาก หลายชีวิตของผู้ลี้ภัยเมียนมาและคนทำงานที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางกับดักระหว่างที่ต้องอยู่อาศัยในประเทศไทย

  • จ่อ จ่อ เตงน์ – ผู้ลี้ภัยเมียนมาในสหรัฐอเมริกา
  • พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ – นายก อบต.แม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน
  • ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ – คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ดร.ซินเธีย หม่อง – ผู้อำนวยการ แม่ตาวคลีนิก อ.แม่สอด จ.ตาก
  • วริศรา รุ่งทอง – โครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย
  • ฐปณีย์ เอียดศรีไชย – The Reporters

000

“วงแลกเปลี่ยน” ข้อท้าทายและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของนโยบายไทยที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองผู้ลี้ภัยเมียนมา

  • พล.อ นิพัทธ์ ทองเล็ก – อดีตเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร
  • พิศาล มาณวพัฒน์ – อดีตเอกอัครราชทูตและปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา
  • กัณวีร์ สืบแสง – พรรคเป็นธรรม 
  • ศยามล ไกยูรวงศ์ – กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  • ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี – คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

000

ติดตาม งานเปิดนิทรรศการศิลปะ “ชีวิตติดกับ: กลับไม่ได้ ไปต่อไม่ถึง” ที่จัดแสดงผลงานของทั้งศิลปินเมียนมาและไทยเพื่อระดมทุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ผู้พลัดถิ่นในเมียนมา ในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม ตั้งแต่ 15:30-17:30 น.ณ ผนังโค้งชั้น 5 หอศิลปกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ นิทรรศการ In-Between | ชีวิตติดกับ จัดแสดง ตั้งแต่วันนี้ ถึง 23 กรกฎาคม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ