ริมน้ำบางสะแกกับความท้าทายครั้งใหญ่จากปลาหมอคางดำ

ริมน้ำบางสะแกกับความท้าทายครั้งใหญ่จากปลาหมอคางดำ

24 กันยายน วันแม่น้ำสากล ในวันนี้นักอนุรักษ์ทั่วโลกจะมีกิจกรรมที่พิเศษคือการสำรวจแม่น้ำสายต่าง ๆ และในประเทศไทยเอง กลุ่มชุมชนบางสะแกและภาคีก็ได้ทำการสำรวจคลองบางสะแกใน ต.บางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว

คลองแควอ้อม บริเวณหน้าวัดบางสะแก จ.สมุทรสงคราม

ทำไมต้องสมุทรสงคราม

สมุทรสงครามหรืออีกชื่อติดปากว่า “เมืองสามน้ำ” เป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงในทางนิเวศวิทยา จากหนังสือนิเวศสามน้ำสามารถมองได้จาก 3 องค์ประกอบ หนึ่ง เป็นพื้นที่มีตะกอนดินสูงที่ได้มาจากการพัดพาจากแม่น้ำตอนบนในช่วงฤดูฝน ทำให้มีสารอาหารและแร่ธาตุจำนวนมากเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตทั้งพืชและสัตว์

สอง ภายในพื้นที่ได้รับผลจากกระแสน้ำขึ้นน้ำลง เกิดความซับซ้อนของระบบนิเวศที่มีมากกว่าในพื้นที่ทั่วไปและ สาม ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็มทำให้เกิดความหลากหลายของพืชพรรณและสัตว์ในแต่ละประเภทของน้ำ

ทำให้มีความหลากหลายทางเกษตรกรรม เช่น ปลูกพืชสวนในเขตน้ำจืด ทำประมงในเขตน้ำกร่อย ทำนาเกลือในเขตน้ำเค็ม เป็นต้น

ทีมสำรวจกำลังค้นหาสัตว์น้ำและพืชในลำคลอง

ชีววิทยาตะลุมบอน

ห้องเรียนสุดขอบฟ้าพร้อมเครือข่ายร่วมกับชุมชนบางสะแกได้ลงสำรวจพืชพรรณและสัตว์น้ำแบบตะลุมบอน ในการสำรวจนี้เป็นการสำรวจสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ทั้งหมดโดยไม่ระบุเฉพาะเจาะจง 

หนึ่งในความคาดหวังของทีมสำรวจในรอบนี้ ต้องการพบกับปลาหมอคางดำที่มีการระบาดอย่างหนักแถบสมุทรปราการ สมุทรสาครและสมุทรสงคราม ว่าการสำรวจครั้งนี้จะพบกับปลาหมอคางดำอีกหรือไม่ เนื่องจากมีการสำรวจก่อนหน้านี้พบปลาหมอคางดำจำนวนมากใน จ.สมุทรสาคร

มนัส บุญพยุงกำนันต.บางสะแก อ.บางคนที จ.สมุทรสงครามบอกว่า จากการสำรวจพบกับสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้พบเจอมานานตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่และสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยเจดมาก่อน แต่สิ่งสำคัญที่ค้นพบคือปลาหมอคางดำจาก 2 ใน 5 พื้นที่ลงสำรวจ

ความหลากหลายทางชีวภาพบอกอะไร

จากการสำรวจแหล่งน้ำทั้ง 5 พื้นที่พบถึงความอุดมสมบูรณ์ยังอยู่ในระดับที่ดีมาก ตัวชี้วัดที่สำคัญจากการค้นพบได้แก่ หนึ่ง ทากเปลือย มีลักษณะตัวแบนยาวและมีตางอกออกมาสองข้าง

ทีมสำรวจให้ข้อมูลว่า การพบทางเปลือยในพื้นที่นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทากเปลือยจะสามารถพบได้ในพื้นที่มีการใช้สารเคมีน้อยมาก 

นอกจากนั้นในแหล่งน้ำเองก็ได้พบกับ หนอนปล้อง มีลักษณะลำตัวยาวสีเหลือง สามารถพบได้ในบริเวณน้ำสะอาดเท่านั้น ในพื้นที่ต่าง ๆ ยังพบทั้งพืชและสัตว์อีกมากมาย เช่น สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายฉัตร ชีปะขาว ตัวอ่อนแมลงปอ เป็นต้น

ด้านพิภพ พานิชภักดิ์ จากห้องเรียนสุดขอบฟ้าชี้ให้เห็นว่า ความหลากหลายทางชีวภาพทำให้เกิดระบบที่มีการจัดการตนเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเข้ามาคอยช่วย ยกตัวอย่างการผสมเกสรซึ่งไม่ได้มีแค่ผึ้งอย่างเดียวเท่านั้น หากจะให้มีแมลงช่วยผสมเกสรต้องไม่ทำลายท้องร่องสวนซึ่งเป็นที่อาศัยของแมลงเหล่านั้น และการปลูกพืชต่างถิ่นอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของแมลง ทำให้เกิดผลต่อระบบความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายในพื้นที่ด้วย

พิภพ พานิชภักดิ์

พบปลาหมอคางดำนักรบผู้ล้มระบบนิเวศในพื้นที่

พิภพ เล่าว่าจากสถานการณ์ของปลาหมอคางดำในพื้นที่บางสะแกจากการสำรวจชีววิทยาตะลุมบอนในช่วงเดียวกันในปีที่แล้วพบว่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีการลงพื้นที่สำรวจละเอียดกว่าในปีนี้พบลูกปลาหมอคางดำเพียงหนึ่งตัวเท่านั้น แต่ในปีนี้พบปลาหมอคางดำถึงสองตัวและทั้งสองตัวอยู่ในสถานะที่พร้อมจะขยายพันธุ์ออกไป

ปลาหมอคางดำ เพศเมีย ตัวเต็มวัย ถูกจับจากคลองที่ร่วมสำรวจ

รายงานของกรมประมงแจ้งว่า อันตรายของปลาหมอคางดำจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศในธรรมชาติเพราะเป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ ลูกปลา ลูกหอยรวมไปถึงซากพืช ระบบย่อยอาหารสามารถย่อยได้ภายใน 30 นาทีเท่านั้น ทำให้ปลาหมอคางดำมีความอยากอาหารอยู่ตลอดเวลาแถมยังมีนิสัยดุร้ายอีกด้วยพร้อมที่จะจู่โจมทำร้ายสัตว์น้ำรอบข้าง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะผู้เลี้ยงปลาในกระชัง

ในพื้นที่ตำบลบางสะแก กลุ่มสำรวจพบปลาหมอคางดำจำนวน 2 ตัว ใน 2 จุด โดยทั้ง 2 ที่ที่พบสิ่งที่มีร่วมกันคือพบในระแวกใกล้ที่อยู่อาศัยและมีพุ่มไม้หรือรากไม้ไว้ให้หลบจากแสงแดด เมื่อเปิดท้องเพื่อทำการสำรวจการกินยังไม่พบการกินสัตว์อื่นเข้าไปมีเพียงแต่เศษหน้าดินในลำคลองเท่านั้น แต่เมื่อสำรวจรังไข่พบว่าพร้อมจะขยายพันธุ์ เห็นได้ชัดว่าพื้นที่ของบางสะแกเป็นลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพสูง เอื้อต่อการเจริญเติบโตของปลาหมอคางดำได้เป็นอย่างดี

ปลาหมอคางดำตัวที่สองที่เจอ

ฉะนั้นบางสะแกถือได้ว่าเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงในการระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งมองภาพใหญ่ออกไปในพื้นที่ปากอ่าวตัว ก ตอนบนก็เกิดการระบาดอย่างหนักมากในพื้นที่น้ำกร่อยและพบการรายงานแล้วในพื้นที่น้ำจืดภายใน จ.นครปฐม

ทีมวิจัยผ่าท้องสำรวจภายในตัวปลาหมอคางดำ พบไข่ที่พร้อมสำหรับการขยายพันธุ์

ชุดข้อมูล คือจุดตั้งต้นจัดการปลาหมอคางดำ

มนัส บุญพยุง

มนัส กล่าวว่าก้าวต่อไปในการรับมือกับสถานการณ์ปลาหมอคางดำ ขั้นแรกต้องยอมรับว่าปลาหมอคางดำเข้ามาในพื้นที่แล้ว สิ่งที่ต้องรู้เบื้องต้นภายในพื้นที่ของบางสะแกว่ามีสัตว์น้ำและพันธุ์พืชอะไรบางในลุ่มน้ำนี้และตรวจสอบว่าอะไรโดนทำลายจากปลาหมอคางดำแล้วบ้างและอะไรที่จะเสี่ยงต่อการโดนทำลาย ขั้นที่สองจากข้อมูลที่ได้จะทำอย่างไรที่จะสามารถจัดการกับปัญหาปลาหมอคางดำได้ นี่คือแนวทางในการรับมือพร้อมแก้ปัญหา

สำหรับแง่ของการพัฒนา มนัสมองว่าต้องพัฒนาองค์ความรู้ที่ควรมีเช่นชนิดสัตว์น้ำและพืชพรรณในคลองบางสะแก เป็นต้น ให้ยังคงอยู่ในพื้นที่และการสำรวจพื้นที่ทางน้ำยังต้องมีอยู่เพื่อให้ได้รู้ว่าอะไรเพิ่มขึ้นหรือลดลงบ้าง ถ้าระบบนิเวศชุมชนสามารถร่วมกันรักษาให้ดีความหลากหลายทางชีวภาพก็จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความหลากหลายของระบบนิเวศ โดยทั้งหมดนี้จุดเริ่มต้นที่ชุมชนต้องการและสำคัญมากคือชุดข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่เพื่อรับมือกับปลาหมอคางดำต่อไป

ติดตามแบบวิดีโอบรรยากาศเพิ่มได้ตรงนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ