พื้นที่รับน้ำภาคกลาง พายเรือเดินทาง จักสานหัวเวียง เมรุลอยอยุธยา ฯลฯ หลากหลายกับความเป็นชุมชนของคนหัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา อดีตราชธานีที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นเมืองมรดกโลก
แต่วันนี้ นอกจากน้ำเหนือที่ไหลมา สิ่งที่ชุมชนคนหัวเวียงต้องรับมือคือการถาโถมของการพัฒนาและความเจริญ เมื่อทิศทางการพัฒนาเมืองเดินหน้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ผู้คนหันหลังให้การทำเกษตรไปสู่โรงงานและบริษัท เด็ก ๆ เข้าไปเรียนหนังสือในเมือง ในชุมชนมีผู้สูงวัยเป็นคนส่วนใหญ่
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้นำชุมชน และคนหัวเวียง ต้องมาร่วมพูดคุยกันถึงความมุ่งหวังและอนาคตของคนในชุมชน โดยนำเอาอัตลักษณ์ วิถีชุมชนเดิมที่มีอยู่ ทั้งบ้านริมน้ำน้อย วัดเก่าแก่ งานจักสาน รวมไปถึงธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนมาปรับปรุง เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดีขึ้น นี่ถือเป็นโจทย์สำคัญของชุมชน และเป็นโจทย์สำคัญของรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน เศรษฐกิจเชื่อมวิถีชุมชน คนหัวเวียง จ.พระนครศรีอยุธยา
00000
มองปัจจุบัน “หัวเวียง”
00000
“เมื่อก่อนทำงานอยู่โรงงานมาเป็นสิบปี แล้วกลับมาอยู่บ้าน”
“ถ้าเรามาอยู่บ้านแล้วสถานที่เรามันเงียบไป มันก็อยู่ยากเหมือนกัน ถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมามันก็ต้องยอมรับเพื่อให้ความเจริญเข้ามา”
“ของดีบ้านหัวเวียงก็เป็นจักรสาน การประมงเราพื้นที่ติดน้ำ”
“ตำบลหัวเวียงถือว่ามีความสวยงามเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว และมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ เหมาะกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว”
“ความคิดของเราจะทำพื้นที่ที่ไรประโยชน์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ได้ความสามัคคีของคนในชุมชนช่วยกัน ถ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ชาวบ้านก็จะมีอาชีพ มีรายได้”
“แพรักษ์น้ำ ต.หัวเวียงมีอะไรที่น่าค้นหา วิถีชีวิตที่เขาอยู่สองฝั่งริมแม่น้ำน้อยเขาอยู่กันแบบไหน มันมีอัตลักษณ์ มีของดี”
“เมรุลอยไปต่อได้ไหม อันนี้เราก็วิตก อันนี้เป็นรุ่นที่ 3 เป็นรุ่นล่าสุดที่สืบทอดมา รุ่นหลังจากผมนี้ไม่ค่อยแน่ใจจะมาสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษ”
เสียงสะท้อนจากคนหัวเวียงถึงสิ่งที่พวกเขามองเห็นในปัจจุบัน
เมื่อนึกถึงบ้านหัวเวียง เราจะนึกถึงอะไร? แล้วอะไรจะเป็นอนาคตของชุมชนหัวเวียง? รายการฟังเสียงประเทศไทย ชวนคนในโลกออนไลน์ร่วมให้ความเห็นระดมศักยภาพชุมชน เพื่อร่วมมองอนาคตคนหัวเวียง ชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทภายใต้ความเปลี่ยนแปลง ผ่านการคลิกลิงก์ https://wordcloud.csitereport.com/ชวนระดมศักยภาพชุมชน มองอนาคตคนหัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
ส่วนนี่คือเสียงสะท้อนจากผู้คนในโลกออนไลน์
00000
ทำความรู้จัก “หัวเวียง”
00000
พระนครศรีอยุธยา มีอดีตที่ยาวนานทั้งความรุ่งโรจน์ในฐานะราชธานีของอาณาจักรอยุธยา และเมืองร้างเมื่อครั้งเสียกรุง ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งของภาคกลาง ที่อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
จากตัว อ.พระนครศรีอยุธยา มุ่งหน้าทางตะวันออก ราว 22 กิโลเมตร สู่ ต.หัวเวียง 1 ใน 17 ตำบล ของ อ.เสนา ต.หัวเวียง แบ่งเขตการปกครอง เป็น 15 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ อยู่ภายใต้เทศบาลตำบลหัวเวียง ซึ่งดูแลพื้นที่ 22.25 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 2 ตำบล 23 หมู่บ้าน คือ ต.หัวเวียง หมู่ที่ 1-13 และต.บ้านกระทุ่ม หมู่ที่ 1-10 อีก 2 หมู่บ้านอยู่ในการดูแลของ อบต.ลาดงา
ผู้คนที่นี่มีแม่น้ำน้อย ลำน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่าน 4 จังหวัด คือ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงและเชื่อมโยงวิถีชีวิต มีการเดินทางสัญจรทางน้ำ และการปลูกสร้างบ้านเรือนริมแม่น้ำ บ้านทรงไทยใต้ถุนสูงริมสองฝั่งคลองคือเอกลักษณ์หนึ่งของชุมชน
ส่วนการเพาะปลูก คนส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำนามายาวนาน ด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมทุกปี ในช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค. และมีอาชีพเสริมคือหัตถกรรม
ภายใต้แผนการพัฒนาต่าง ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่หัวเวียง
พ.ศ. 2500 กรมชลประทานสร้างเขื่อนเจ้าพระยาเสร็จ และเริ่มโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ เพื่อส่งนํ้าให้ จ.ชัยนาท ไปจนถึง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นการเริ่มต้นการบริหารจัดการน้ำภายใต้ระบบชลประธานสมัยใหม่
พ.ศ. 2504 รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ที่กำหนดให้มีการก่อสร้างคันและคูนํ้าเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้นํ้าจากโครงการชลประทาน
พ.ศ. 2505 กรมชลประทานเริ่มขุดคลองชลประทานเจ้าเจ็ด-ผักไห่ เพื่อจัดสรรน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อยเพื่อทำการเกษตรกรรม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเกษตรภายในพื้นที่ มีการส่งเสริมให้ทำนาปรังแทนการทำนาปี
พ.ศ. 2506 เริ่มก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3454 ส่งผลให้แม่นํ้าและลำคลองในพื้นที่ถูกตัดขาดออกจากกัน และทำให้การคมนาคมทางบกมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น จนลดบทบาทของโครงข่ายคมนาคมทางนํ้าในเวลาต่อมา
พ.ศ.2510 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 ผลักดันการสร้างโครงข่ายถนนทางหลวงและถนนชนบทให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้ร่องน้ำภายในหมู่บ้านหัวเวียงบางแห่งถูกถมและปรับสภาพให้กลายเป็นถนนหรือทางเดิน เรือนแพลดลง
พ.ศ.2530 แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 6 มีการกำหนดให้ พื้นที่ อ.เสนา เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ส่วนภูมิภาค ส่งผลให้เกิดการเปิดโรงงานในพื้นที่ และผลักดันคนจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชุมชนหัวเวียงเผชิญกับความท้าทายจากการพัฒนาทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน เด็กนักเรียนนิยมออกไปเรียนในตัวจังหวัดอยุธยา มากกว่าจะเรียนในพื้นที่ และคนย้ายถิ่นออกไปทำงานในเมือง
จากข้อมูลตัวเลขประชากรในเทศบาลตำบลหัวเวียง พบ จำนวนประชากรลงเรื่อย ๆ จากปี 2561 มีประชากรรวม 6,170 คน ล่าสุดในปี 2564 มีประชากรรวม 5,889 คน
ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่อาศัยหลักในชุมชน
ส่วนอาชีพทางการเกษตร เกษตรกรประสบภาวะที่ดินหลุดมือ มีการกว้านซื้อที่ดินของนายทุน ทำให้เกษตรกรเจ้าของที่ดินเดิม กลายมาเป็นผู้เช่าทำนาแปลงใหญ่
ข้อมูลจากเว็บไซต์ เทศบาลตำบลหัวเวียง ระบุ อาชีพประชากร ส่วนใหญ่ร้อยละ 50 รับจ้างในภาคอุตสาหกรรม ส่วนเกษตรกรรมร้อยละ 30 รับจ้างทั่วไปร้อยละ 10 และอื่น ๆ อีกร้อยละ10
ในด้านงบประมาณท้องถิ่น จากแผนพัฒนาท้องถิ่นประจำปี 2561-2565 งบประมาณปี 2565ทั้งหมด 68,565,700 บาท จำนวน 76 โครงการ งบส่วนใหญ่ถูกใช้ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและโยธา กว่า 66,000,000 บาท
ขณะที่มีงบด้านสวัสดิการสังคมและงานส่งเสริมพัฒนาอาชีพ แผนงานสร้างความเข้มแข็งของชุมชน มีงบ 350,000 บาท และงบด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น มี 130,000 บาท
ชุมชนหัวเวียง มีต้นทุนทางทรัพยากร วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่โดดเด่น ที่ผ่านมาจึงมีการส่งเสริมในระดับชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของคนในชุมชน อาทิ
- ท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มรักษ์นะวัดหัวเวียง เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์รวมตัวทำกิจกรรมของชุมชน และเป็นสถานที่ให้คนมาท่องเที่ยว เพื่อเกิดการตลาดชุมชน สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน
- กลุ่มจักสาน อัตลักษณ์ของงานหัตถกรรมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันมีการพัฒนาจนเป็นที่นิยม สร้างรายได้ให้กับชุมชน ที่สำคัญมีลายหัวเวียง ซึ่งเป็นลวดลายประจำของชุมชนโดยเฉพาะ ที่ยังคงความละเอียดอ่อน และประณีตแบบดั้งเดิมไว้อยู่
- เมรุลอย อยุธยา สถาปัตยกรรมไม้ชั่วคราวสร้างขึ้นเพื่อใช้เผาศพ สามารถเคลื่อนย้ายได้ มี 3 ชั้น 4 ชั้น 5 ชั้น แบบ 1 ยอด 5 ยอด 9 ยอด เป็นต้น เป็นธุรกิจหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ทั้งที่เป็นช่างฝีมือและแรงงาน
- ดอกไม้จันทน์ เกิดจากการร่วมตัวกันของเหล่า อสม.บ้านหัวเวียงที่ใช้เวลาว่างเพื่อร่วมกลุ่มสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในชุมชน ที่สำคัญคือความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง การมีส่วนร่วมจากผู้นำชุมชน ท้องถิ่น และประชาชนคนหัวเวียงที่ได้พยายามรวมตัวกัน นำเอาอัตลักษณ์ วิถีชุมชนเดิมที่มีมาปรับปรุง จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชน ที่เป็นอนาคตของคนในชุมชนได้
00000
3 ฉากทัศน์ เศรษฐกิจเชื่อมวิถีชุมชน เพื่ออนาคต “หัวเวียง”
00000
เพื่อให้เรามองภาพอนาคตของคนหัวเวียงไปพร้อมกัน รายการมี 3 ฉากทัศน์ เศรษฐกิจเชื่อมวิถีชุมชนคนหัวเวียง
ฉากทัศน์ที่ 1 ชุมชนท่องเที่ยววิถีคนริมแม่น้ำน้อย
การท่องเที่ยววิถีชุมชน ติดกระแสในช่วงก่อนโควิด-19 และคาดว่าจะเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นในอนาคต คนหัวเวียงมีต้นทุน วิถีชีวิตของที่ยังคงผูกพันกับแม่น้ำน้อย มีบ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง บ้านเรือนแพ มีวัดและแหล่งโบราณสถาน ที่สามารถเชื่อมการสัญจรด้วยเรือ แต่หลายพื้นที่ของ จ.พระนครศรีอยุธยาและใกล้เคียงจะพัฒนาศักยภาพชุมชนในด้านนี้ด้วยเช่นกัน และเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมหลากในช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค. จึงต้องมีการวางแผนการจัดการ การท่องเที่ยวตามฤดูกาลที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
การจัดการท่องเที่ยวชุมชน ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการวางแผนบริหารจัดการ เตรียมความพร้อมพื้นที่ และเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง รวมทั้งการจัดการผลกระทบอื่น ๆ ที่มาพร้อมการท่องเที่ยว อาทิ การคมนาคม ปัญหาขยะ ไปจนถึงการดูแลให้เกิดความปลอดภัยจากโรคติดต่อ และความเสี่ยงต่าง ๆ
ขณะเดียวกันต้องดึงภาครัฐ และภาควิชาการที่มีความชำนาญในการจัดการท่องเที่ยวชุมชน เข้ามาเตรียมความพร้อมให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ได้เห็นโอกาส เพื่อเป็นทางเลือกการพัฒนาอาชีพในชุมชน
ฉากทัศน์ที่ 2 ชุมชนหัตถกรรมเชิดชูภูมิปัญญา
บ้านหัวเวียงมีภูมิปัญญาท้องถิ่น งานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อระดับติดดาวสินค้าโอทอป (OTOP) เป็นที่ชื่นชอบของคนรักงานฝีมือ สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะงานเครื่องหวาย งานจักสานยังคงเป็นที่นิยม ในยุคที่มีการรณรงค์ใช้วัสดุธรรมชาติ เพื่อลดขยะและลดโลกร้อน หากได้รับการส่งเสริม ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมช่องทางการตลาด จะเป็นสินค้าทำเงินของชุมชนได้มากยิ่งขึ้น
จักสานหัวเวียงมีทั้งงานพรีเมียม และขายส่งลอตใหญ่ตามออเดอร์ ผ่านการรวมกลุ่มในชุมชน เชื่อมต่อช่องทางการค้าขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เป็นสินค้าส่งออกสู่ต่างประเทศ แต่สถานการณ์โควิดทำให้การค้าขายหยุดชะงัก ทั้งจากอุปสรรคเรื่องการขนส่ง และตัวผลิตภัณฑ์เองที่นับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
การต่อยอดด้านรูปทรงและประโยชน์ใช้สอยที่ทันยุคสมัย การสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่า และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการตลาด คงเป็นโจทย์ที่ต้องมีการหนุนเสริม จำเป็นต้องดึงภาครัฐ ภาควิชาการที่มีความรู้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายฐานผู้บริโภค และการจัดการความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เนื่องจากงานฝีมือส่วนใหญ่ยังอยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน
ฉากทัศน์ที่ 3 ชุมชนเศรษฐกิจรวมบริการงานศพครบวงจร
อีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของ ต.หัวเวียง ซึ่งต่อยอดเป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้คนในชุมชน คือการทำ “เมรุลอย” สถาปัตยกรรมไม้ชั่วคราวใช้ในพิธีการเผาศพ เป็นแบบถอดประกอบ ซึ่ง “เมรุลอย” ของหัวเวียง มีผู้ประกอบกิจการเป็นเจ้าของ ราคาก่อสร้างหลักล้าน สามารถตระเวนให้บริการทั่งในประเทศ และต่างประเทศ แล้วแต่การว่าจ้าง ซึ่งต้องอาศัยทั้งกำลังแรงงานและช่างฝีมือในการประกอบสร้างเมรุลอยแต่ละหลัง
การทำเมรุลอยทำให้เกิดการจ้างงาน และมีอาชีพเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ตามมา ทั้งการแทงหยวก ตอกลาย การทำดอกไม้จันทน์ และการทำประทัด ซึ่งสามารถต่อยอดทำเป็นธุรกิจบริการครบวงจรได้ โดยอาศัยความร่วมมือกันของผู้ประกอบการเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจของชุมชน
ปัจจุบันเมรุลอยในชุมชนที่มีทั้งหมด 11 เจ้า ยังขาดคนรับช่วงสานต่อ ขณะที่การใช้เงินจำนวนมากกับการประกอบพิธีกรรม อาจไม่เป็นที่นิยมในอนาคต
00000
4 มุมมองต่ออนาคต “หัวเวียง”
00000
ชวนมาร่วมรับฟังกันด้วยหัวใจที่เปิดรับ และส่ง “เสียง” แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างรอบด้าน กับหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ กับการพูดคุยว่าด้วยเรื่อง เศรษฐกิจเชื่อมวิถีชุมชน คนหัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับคนในชุมชน และแขกรับเชิญ 4 ท่าน
- บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธาน อ.ก.พ.ร. ส่งเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม สำนักงาน ก.พ.ร.
- ธเนศ สนธิ นายกเทศมนตรีตำบลหัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
- ปทุมพร สัญญะชิต ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
- จันทิรา สุทธิประเสริฐ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานบ้านหัวเวียง
ดูคลิปเต็ม : เสวนาฟังเสียงประเทศไทย: ศักยภาพชุมชน หนุนเศรษฐกิจหัวเวียง https://www.facebook.com/citizenthaipbs/videos/309896347988576
00000
ชวนโหวต
00000
หลังจากเพิ่มเติมข้อมูลกันไปแล้ว เราทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกับคนหัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เลือกฉากทัศน์เศรษฐกิจเชื่อมวิถีชุมชน เพื่ออนาคต “หัวเวียง” ผ่านแบบสอบถามด้านล่างนี้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- น้ำท่วมซ้ำซากฉบับคนหัวเวียง เป็นอยู่อย่างไร หัวไม่เหวี่ยง / คลิกลิงก์ https://thecitizen.plus/node/60981
- หัวเวียงมีอะไรดี วัยรุ่นจากพื้นที่จะเล่าให้ฟัง / คลิกลิงก์ https://thecitizen.plus/node/60689
- ดอกไม้จันทน์ จากกิจกรรมสู่กิจการของความตาย ที่หัวเวียง จ.อยุธยา / คลิกลิงก์ https://thecitizen.plus/node/59572