กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายภาคประชาชนราว 300 คน รวมตัวร่วมจับตาเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ เวทีสุดท้าย ภาคกลาง จัดเวทีคู่ขนานปราศรัยหน้าห้องประชาพิจารณ์ค้านการแก้กฎหมายบัตรทอง ย้ำคำเดิม “แก้กม.บัตรทอง แก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า”
18 มิ.ย. 2560 หลังจากเครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาชนกว่า 76 องค์กรในภาคอีสาน เข้ายึดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกัน สุขภาพ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย. 2560) เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย จนไม่สามารถจัดประชุมต่อได้ ขณะที่การจัดเวทีก่อนหน้านี้ในภาคใต้ที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. และภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 11 มิ.ย. ภาคประชาชนได้แสดงจุดยืนต่อร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยการวอล์คเอาท์
วันนี้ (18 มิ.ย. 2560) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายภาคประชาชนราว 300 คน รวมตัวร่วมจับตาเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สุดท้ายที่ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา แจ้งวัฒนะ โดยถูกตรวจตราจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่วางกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และมีการตรวจยึดป้ายกระดาษและป้ายผ้าที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวทีเริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าตั้งแต่เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น.และดำเนินไปตามกำหนดการ ขณะที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายรวมตัวกันและปราศรัยถึงปัญหาของร่างกฎหมายและข้อเรียกร้องอยู่บริเวณหน้าห้องประชุม พร้อมยืนยันไม่เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นในห้องเนื่องจากกระบวนการไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น
เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. เกิดความชุลมุนขึ้นเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เข้าประชิดเพื่อจะควบคุมตัวผู้ประสานงานของกลุ่มผุ้ชุมนุม ทำให้เกิดการกรูกันเข้าช่วยเหลือ ทำให้ไม่สามารถคุมตัวใครได้ และหลังจากนั้นตำรวจพยายามใช้กำลังเข้ายึดไมโครโฟนจากผู้ปราศรัย จนมีการเจรจาตกลงให้รวมตัวกันอย่างสงบ ไม่ใช้เครื่องขยายเสียงและไม่ให้ชูป้ายข้อความใด ๆ ผู้ชุมนุมจึงใช้โทรโขงขนาดเล็กในการปราศรัยกันอยู่ที่หน้าห้องประชุม โดยมีการสื่อสารข้อมูลอย่างต่อเนื่องผ่านเฟซบุ๊กกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่าย
เวลาประมาณ 10.20 น. ตำรวจได้ขอให้แกนนำไปที่สถานีตำรวจเพื่อคุยกับผู้กำกับ โดยสารี อ๋องสมหวัง เป็นตัวแทนเดินทางไปกับตำรวจ ต่อมามีรายงานว่า ตำรวจยังไม่ตั้งข้อหาดำเนินคดีในวันนี้
11.00 น. แถลงข่าวภาคประชาชนกับสถานการณ์แก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ระบุถึงเหตุผลที่คัดค้าน วอล์คเอาท์ ไม่สนับสนุนเวทีการรับฟังความคิดเห็นที่กระบวนการขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น พร้อมขอให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มต้นใหม่ให้สมดุล
https://www.facebook.com/mondoik/videos/1457272687644592/
แถลงการณ์กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม.
เหตุผลที่คัดค้าน วอล์คเอาท์ ไม่สนับสนุนเวทีการรับฟังความคิดเห็น
พร้อมขอให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มต้นใหม่ให้สมดุล
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. ประกาศยืนยันการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพิ่มสิทธิประชาชน มีแนวโน้มการร่วมจ่าย ทั้งมองบุคคลแค่เลข 13 หลัก และเขี่ยการมีส่วนร่วมของประชาชนทิ้ง
นอกจากนี้ กระบวนการแก้กฎหมายยังไม่สมดุล ประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ที่สำคัญไม่มีคำตอบว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายได้ดีขึ้นอย่างไร จึงเรียกร้องให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มกระบวนการแก้กฎหมายใหม่ที่สมดุล และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย
ไม่เพียงเท่านั้น จากการศึกษาร่างกฎหมายที่แก้ไข ไม่มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ดังนี้
1. การแก้ไขกฎหมายต้องยึดหลักการ “ประชาชนได้ประโยชน์” เป็นที่ตั้ง เช่น ต้องแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อให้มีบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ รวมถึงเป็นสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน
2. “ยกเลิกการร่วมจ่าย” เพราะการแก้ไขกฎหมายไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ส่งผลให้ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันฯ คัดค้านการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ แต่สนับสนุนให้จัดเก็บภาษีเพิ่มเติม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จากกำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน ไม่ว่าคนชนชั้นใดก็มีสิทธิล้มละลายได้ ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง
3. “ให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์” ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based) เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้ สปสช.จัดซื้อยาและอุปกรณ์เองได้ รัฐบาลต้องเพิ่มงบอีกปีละ 5,000 ล้านบาท แล้วรัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ? หรือนี่คือหลุมพรางในการให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย ทั้งที่ในปัจจุบัน สปสช. ใช้งบประมาณจัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้ประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปี ได้เกือบ 50,000 ล้านบาท
4. “เกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรม” ต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล จากการแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ที่ดูเหมือนจะดีและทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ต้องกังวล
5. การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันควร “เพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้น” และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขควรมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ป่วย ตัวแทนหน่วยรับเรื่องเรียนตามมาตรา 50(5) ทั้งในหน่วยบริการและนอกหน่วยบริการที่ดำเนินการโดยประชาชน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ทั้งสองคณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มอำนาจของประชาชนในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
แก้กม.บัตรทอง แก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ18 มิถุนายน 2560
บรรยากาศเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ส่วนกลาง ที่ โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
https://www.facebook.com/mondoik/videos/1457128797658981/
ประชาพิจารณ์แก้กฎหมายบัตรทองที่ขอนแก่น ล่ม! ‘ซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง’ ยึดเวที
17 มิ.ย. เวทีรับฟังความคิด เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในระดับภูมิภาคพื้นที่ภาคอีสาน ที่ห้องประชุมโรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น ปรากฏว่า มีประชาชนที่ใช้ชื่อว่า ‘เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง’ กว่า 200 คน ที่ไม่เห็นด้วยต่อการแก้กฎหมายได้รวมตัวกันประท้วงยึดเวทีดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเช้า ส่งผลให้ไม่สามารถจัดประชุมต่อได้
นอกจากนั้นกลุ่มประชาชนยังมีการแสดงจุดยืนว่าถ้ายังมีการแก้กฎหมายจะทำการล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อคัดค้าน และถ้ายังยืนยันจะแก้อีกอาจมีการไปยืนยันจุดยืนถึงที่ทำเนียบรัฐบาล
ด่วน! พี่น้องอีสานยึดเวทีประชาพิจารณ์กรณีแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ (กฎหมายบัตรทอง)
โพสต์โดย บัตรทองของเรา เมื่อ วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2017
เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง อ่านแถลงการณ์ “แก้กฎหมายบัตรทอง บิดเบือนเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชาชน” ระบุว่า คำสั่ง มาตรา 44 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2559 ระบุให้มีการ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 10/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
ทางคณะกรรมพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้จัดตั้งอนุกรรมการจัดทำประชาพิจารณ์ 4 ภูมิภาค และจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จำนวน 3 ช่องทาง โดยได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ถูกคัดค้านจากประชาชนที่เห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กระบวนการ ไม่มีความเป็นธรรมและละเมิดหลักการการมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ การจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของ คณะทำงานฯ เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อสร้างภาพให้สาธารณะชนเห็นว่าประชาชน มีส่วนร่วม แต่ในความเป็นจริงนั้น ในเนื้อหาการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีการตั้งธงไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้น โดยคนในกระทรวงสาธารณสุขที่มีอคติต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แม้ว่าประชาชนที่รักความเป็นธรรมจะแสดงความคิดเห็นในเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ก็จะไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงธงหรือเนื้อหาที่คณะกรรมการร่างไว้ได้ โดยเฉพาะกระบวนการออกแบบเวทีรับฟังความคิดเห็นทำให้ไม่เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเท่าเทียม
ดังนั้น เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง เห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงมีความเห็นต่อการจัดเวทีประชาพิจารณ์ แก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ดังนี้
1. ให้ยุติกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน
2. กระบวนจัดทำประชาพิจารณ์ ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และในเนื้อหาการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ทำลายเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนไม่อาจจะรับได้
3. องค์ประกอบของคณะทำงานแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งขึ้นมานั้นไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อประชาชน โดยโน้มเอียงไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากสัดส่วนของคณะทำงาน 26 คน มีตัวแทนของภาคประชาชนเพียง 2 คน
4. การแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยังขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน การเลือกปฏิบัติกับเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยและเป็นการกีดกันกลุ่มคนที่กำลังรอพิสูจน์สัญชาติในประเทศซึ่งมีมากกว่าสี่แสนคน
เครือข่ายฯ ยังยืนยันในหลักการที่ว่า “ประชาชนต้องมีสิทธิรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องถือปฏิบัติและรัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่ต้องร้องขอ”
แถลงการณ์ดังกล่าวร่วมลงชื่อโดยเครือข่ายผู้สนับสนุนแถลงการณ์กว่า 76 องค์กร ประกอบด้วย
1) ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน 2) ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) 3) ศูนย์ข้อมูลสิทธิเพื่อผู้บริโภค 4) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล – ดูนสาด 6) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดงมูล 7) กลุ่มตนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย 8) กลุ่มตนบ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ 9) กลุ่มฮักบ้านฮั่นแนว 10) ขบวนการอีสานใหม่ 11) ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม 12) เครือสตรีจังหวัดสุรินทร์ 13) เครือข่ายคนพิการจังหวัดนครราชสีมา 14)มูลนิธิน้ำเพื่อชีวิต 15) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุรินทร์ 16) เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา 17) กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส 18) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแววล้อมโคกหินขาว 19) กลุ่มปุกฮัก 20) ชมรมคนสร้างฝัน
21) เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ 22) กลุ่มเด็กฮักถิ่นใหม่ ม.ราชภัฏสกลนคร 23) เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า 24) กลุ่มกวีเถื่อน ม.ราชภัฏมหาสารคาม 25) เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย 26) ศูนย์พิทักษ์จัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชีตอนบน 27) กลุ่มชาวบ้านฟื้นฟูระบบนิเวศลำน้ำชีตอนล่าง 28) เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน 29) กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง 30)ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมลุ่มน้ำโขง(ศพส.) 31)คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.อีสาน) 32)กลุ่มสมุนไพรเพื่อสันติภาพ (Herb for Peace) 33)กลุ่มเถียงนาประชาคม 34)กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) 35)สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ 36.)สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ 37)กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน 38)คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)ภาคอีสาน 39)เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน 40)สถาบันชุมชนอีสาน
41)สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม 42)ศูนย์ข้อมูลสิทธิเพื่อผู้บริโภค 43)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดขอนแก่น 44)เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น 45)สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น 45)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจังหวัดขอนแก่น 46)เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น 47)เครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น 48)เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น 49)เครือข่ายเกษตร จังหวัดขอนแก่น 50)เครือข่ายคนพิการจังหวัดขอนแก่น 51)ชมรมเพื่อนโรคไตจังหวัดขอนแก่น 52)สื่ออาสาปันใจจังหวัดขอนแก่น 53)กลุ่ม M-CAN ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายจังหวัดขอนแก่น 54)มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น 55)เครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดมหาสารคาม 56)มูลนิธิไทยอาทร จังหวัดขอนแก่น 57)โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น (LDP) จังหวัดชัยภูมิ 58)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน 59)ชมรมต้นกล้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และครอบครัว จังหวัดมุกดาหาร 60)สมาคมวิถีธรรมชาติ จังหวัดอุบลราชธานี
61)มูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมเอชไอวี จังหวัดอุบลราชธานี 62)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดอุบลราชธานี 63)สมาคมศิษย์เก่านักเรียนทุน ไอ เอฟ พี ประเทศไทย 64)สถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา (กลุ่มก่อการดีเลย) จังหวัดเลย 65)สมาคมไทบ้าน จ.มหาสารคาม 66)ตลาดเขียวขอนแก่น 67)สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน 68)ศูนย์ส่งเสริมสิทธิศักยภาพประชาชนนครราชสีมา 69)สภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน 70)เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน 71)คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน 72)เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดมหาสารคาม 73)กลุ่มพิราบขาว จ.ขอนแก่น 74)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด 75)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์(ข่ายผู้หญิง) 76)มูลนิธิน้ำเพื่อชีวิต