ฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชนเลือกอนาคตภาคกลาง-ตะวันตก

ฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชนเลือกอนาคตภาคกลาง-ตะวันตก

ภาคกลาง ดินแดน ‘อู่ข้าว อู่น้ำ’ จากความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทำให้มีศักยภาพในภาคการผลิตและการพัฒนาหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การส่งออก การเมือง การปกครอง และการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยปีละหลายล้านบาท

แต่สิ่งที่ตามมาพร้อม ๆ กับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในพื้นที่ภาคกลาง คือข้อท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไขในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เพียงในบางพื้นที่ กลายเป็นความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งภาคแรงงานที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนา แต่กลับพบว่ายังขาดทักษะทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นทักษะสำคัญของเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่

รายการฟังเสียงประเทศไทย จึงชวนตัวแทนคนภาคกลางและภาคตะวันตก ทั้งนักวิชาการ ข้าราชการ ภาคประชาสังคม เกษตรกร ผู้ประกอบกิจการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และสาธารณสุขชุมชน กว่า 50 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความฝันและความหวัง จากชุดประสบการณ์ของแต่ละคน เพื่อร่วมกันมองภาพอนาคตของประเทศไทยและชุมชนที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้น

จากคำถามถึง “อนาคตภาคกลางที่อยากให้เป็น ในอีก 10 ปีข้างหน้า” ที่ผู้เข้าร่วมได้แสดงความเห็น

นี่คือสารตั้งต้น ที่จะถูกหยิบยกมาพูดคุยขยายประเด็นไปพร้อม ๆ กับชุดข้อมูลการพัฒนาพื้นที่ภาคกลางที่ชวนทุกคนทำความรู้จัก “ภาคกลางของประเทศไทย” ไปพร้อม ๆ กัน

00 ภาคกลางมีดีอย่างไร 00

พื้นที่ภาคกลาง ครอบคลุมที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด ไม่รวมกรุงเทพฯ มีพื้นที่รวม 41.15 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 12.8 ของประเทศ ถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ รองจากกรุงเทพมหานคร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาค ปี 2560 มากกว่า 3.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 22.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ

เศรษฐกิจระดับครัวเรือน ปี 2560 หนี้สินเฉลี่ยครัวเรือน ของภาคกลางต่ำกว่าระดับประเทศ แต่รายได้เฉลี่ยครัวเรือนสูงกว่าระดับประเทศ คือ ครัวเรือนละ 30,660 บาทต่อเดือน โดยจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนสูงสุด คือ ปทุมธานี

ข้อมูลจากแผนพัฒนาภาคกลางและพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2560 – 2565 ระบุว่า ภาคกลาง อุดมไปด้วยทรัพยากร และภูมิศาสตร์ที่ดี ทำให้ภาคกลางมีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาเกือบทุกด้าน

นอกจากจะเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ภาคกลางยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติหลายแห่ง มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

อีกทั้งยังมีสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติที่เหมาะต่อการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยว และบริการเชิงสุขภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การบริการที่พักแบบ Long Stay Home Stay การดูแลผู้สูงอายุ และการบริการสุขภาพ เป็นต้น

00 ด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และการส่งออก 00

ภาคกลางถือเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการ เป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาทุกระดับ มีสถานพยาบาลที่ดีที่สุดและมากที่สุดของประเทศ รวมทั้งเป็นฐานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมส่งออก และแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ

อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของประเทศและภูมิภาคอาเซียน เป็นพื้นที่ในแนวเส้นทาง แนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ที่เชื่อมโยงระหว่างเมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม นับเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง

เป็นแหล่งรวมของแม่น้ำสายสำคัญ และมีพื้นที่ลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ชลประทานมากที่สุด จนสามารถเรียกได้ว่า เป็น “อู่ข้าว อู่น้้า” ของประเทศ

นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรของประเทศ มีตลาดค้าส่ง ค้าปลีก สินค้าเกษตรที่สำคัญ เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ผลิต โคนม-โคเนื้อ สุกร และไก่ มีพื้นที่ชายฝั่งทะเล ที่เหมาะแก่การทำประมงน้ำลึก และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลที่สำคัญ

ขณะที่ภาคกลางตอนบน มีอ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาคตะวันตก เป็นแหล่งผลิต สับปะรด มะพร้าว และไม้ผลต่าง ๆ

มีโอกาสเปิดเสรีการค้า และการลงทุน กับประเทศกลุ่ม CLMV ขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหาร และอุตสาหกรรมมากขึ้น ชักจูงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภาคกลางเพิ่มขึ้น เพราะมีความพร้อมทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสังคม

มีการพัฒนาความเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย-ภาคกลาง-ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ หรือ Southern Economic Corridor เป็น โอกาสในการเพิ่มการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

นอกจากนี้ โครงสร้างประชากร ที่กำลังเปลี่ยนแปลง เป็นสังคมผู้สูงอายุ บวกกับกระแสความตระหนักในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น จะเปิดโอกาสให้กับสินค้าและบริการใหม่ ที่สอดคล้องกับความต้องการ เช่น การขยายตัวของตลาดอาหารสุขภาพ สมุนไพร และการแพทย์พื้นบ้าน รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยว และการพักผ่อนระยะยาวของผู้สูงอายุ

00 จุดอ่อนของภาคกลางที่ต้องเร่งพัฒนา00

อย่างไรก็ตาม ภาคกลางมีจุดอ่อน ที่เป็นปัญหาและประเด็นท้าทายในหลายด้าน ได้แก่ ปัญหาจราจรที่แออัด ปัญหาฝุ่นละออง ทั้งจากการจราจร และจากเขตอุตสาหกรรมก่อสร้าง ปัญหาน้ำเสีย ขยะ และน้ำท่วม ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความเสี่ยงภัยการก่อการร้าย

ภาคกลางมีพื้นที่เกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ลดลง เนื่องจากการขยายตัวของเมือง และอุตสาหกรรม มีการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ ที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายถนนกับระบบการขนส่งอื่น ๆ

ส่วนทักษะกำลังแรงงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำ มีแนวโน้มที่จะขาดแคลนแรงงาน ที่มีความรู้ ความสามารถ อีกทั้งมีการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และชุมชนเมือง โดยไม่มีการควบคุม

การท่องเที่ยว ก็กระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร และบางจังหวัดเท่านั้น นอกจากนี้ พบว่า ประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรวัยเด็ก และวัยแรงงาน มีแนวโน้มลดลง

สอดคล้องกับ ข้อมูลจาก Area need ที่ศึกษาในประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วนโดยรวม ของภาคกลาง มิติทางสังคม พบปัญหาในพื้นที่ ดังนี้ ปัญหาการก่ออาชญากรรมและยาเสพติด โรคอุบัติใหม่ ความยากจน ธรรมาภิบาลในการบริหารราชการ ความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น

ส่วน มิติเศรษฐกิจ พบความถดถอย หรือหดตัวของภาคการท่องเที่ยว ภาระหนี้สินของครัวเรือน เศรษฐกิจชะลอตัว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเข้า (ไม่) ถึงเทคโนโลยีของเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น

ขณะที่ มิติสิ่งแวดล้อม พบว่า มีปัญหามลพิษทางอากาศ การใช้สารเคมีและเผาในแปลงเกษตร ขาดการมีส่วนร่วมจัดทำผังเมือง ทรัพยากรชายฝั่งและคุณภาพน้ำทะเล และปัญหาคุณภาพน้ำจืด

00 มองไปข้างหน้า หาอนาคต 00

จากการวิจัย ดังกล่าว จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพื้นที่ภาคกลาง ว่า ควรมีการพัฒนาระบบ big data เพื่อใช้วิเคราะห์พฤติกรรม และการตัดสินใจของเกษตรกร หรือประชาชนให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงควรมีการวิจัยปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน และเกษตรกร ให้เข้าใจถึงประสิทธิผลทางเลือกที่เหมาะสม ตามโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน สร้างหรือปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมให้เหมาะสม เพื่อลดอาชญากรรมและยาเสพติด

เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์วิกฤติของชุมชน จากภัยพิบัติ และการระบาดของโรคติดต่อ พัฒนาห่วงโซ่อุปทาน การนำเศษของเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศ

บริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ในเชิงพื้นที่ แบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมืองอย่างทั่วถึง และควรมีการสร้างเครือข่ายเชิงประเด็น เช่น เน้นการ “สร้างเสริมระบบเศรษฐกิจฐานราก” เพื่อทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้ที่ต้องการในการแก้ไขปัญหา และการพัฒนา รวมถึงประสานงานให้เกิดการสร้างหรือจัดการองค์ความรู้

00 โอกาสและข้อท้าทายของภาคกลาง 00

เสียงจากคนในพื้นที่ คืออีกมุมหนึ่งของข้อมูลที่เราอยากชวนฟังเสียงไปด้วยกัน

นาวิน โสภาภูมิ นักวิจัยโครงการ Area needs กล่าวว่า ภาคกลางเป็นศูนย์รวมสำคัญของประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องของอุตสาหกรรม ภาคบริการ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ถ้าเรามองในเชิงภาพรวมประเทศ จุดศูนย์กลางการพัฒนา ความเป็นประเทศไทย สะท้อนอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง เป็นพื้นที่ที่รวมผู้คนหลากหลาย มีชาติพันธุ์หลายกลุ่ม หลายวัฒนธรรม ถูกหลอมรวมเป็นคนไทย ซึ่งถึอเป็นจุดเด่นที่น่าสุดใจ

ด้วยความที่ประเทศไทยมีความหลากหลายแบบนี้ ทำให้เราสามารถสร้างเศรษฐกิจที่หลากหลาย ในแง่อุตสาหกรรม ภาคกลางเป็นจุดรวมที่สำคัญ แต่ยังมีจุดอ่อนตรงที่อุตสาหกรรมในภาคกลางถ้ามีมูลค่าสูงและเป็นเรื่องของเทคโนโลยีมูลค่าสูง มักจะต้องพึ่งการลงทุนจากต่างชาติ แต่ที่เป็นความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าสูงและหลากหลาย เพราะว่าคนภาคกลางที่มีความหลากหลาย สามารถสร้างเศรษฐกิจการเกษตร ผลิตอาหารที่แตกต่างกันในเชิงพื้นที่ จากข้อมูลจะเห็นว่า มีตั้งแต่ผัก ข้าว สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ซึ่งจะโยงเข้ามาสู่อุตสาหกรรมอาหาร ทำให้สามารถสร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมอาหารได้เป็นจำนวนมาก

อีกทั้งความแตกต่างของพื้นที่ภาคกลาง ไล่ไปตามจังหวัดตั้งแต่ จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร จะมีความหลากหลายในทางการผลิต อย่างกลุ่มไม้ผล เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน เชื้อสายจีน ที่สามารถทำสวนยกล่องในพื้นที่น้ำท่วมได้ แต่อย่าง จ.ชัยนาท ก็จะเป็นนาข้าว อ้อย โยงกับอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นฐานสำคัญในภาคกลาง

ภาคบริการ ในเชิงเศรษฐกิจ มีมูลค่ารองลงมาจากภาคอุตสาหกรรม ก็อาศัยฐานความหลากหลายของภาคกลาง อย่างเช่น เรื่องอาหาร ภาคกลางมีอาหารที่หลากหลายมาก คนที่มาท่องเที่ยวภาคกลางส่วนหนึ่งมาด้วยอาหารที่หลากหลาย ให้เกิดภาคบริการ เกิดการซื้อขายต่าง ๆ

รองลงมา คือภาคเกษตร มีความหลากหลายก็จริง แต่มีจุดอ่อน มูลค่าต่ำ สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งภาค ภาคเกษตรมีมูลค่ารวมร้อยละ 6 แต่แรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรมีร้อยละ 15 ถือเป็นจุดอ่อน ซึ่งถ้าภาคกลางจะยกระดับเกษตรขึ้นไปให้โยงกับเรื่องบริการ และอุตสาหกรรม ที่ต้องทำร่วมกัน เพื่อยกระดับศักยภาพแรงงานภาคเกษตรที่สูงขึ้นไป

เด่นศิริ ทองนพคุณ สมัชชาสุขภาพ จ.นครปฐม เสริมในประเด็นเดียวกันว่า เมื่อก่อนเราเคยภาคภูมิใจที่เป็นคนนครปฐม เราเป็นคนภาคกลาง เป็นครัวโลก แต่พอย้อนดู ยิ่งใกล้การเลือกตั้ง ครัวโลกของเรากำลังแปรปรวนไป แม้แต่พื้นที่การผลิต เรากำลังถูกแย่งชิงอาหารกัน

พื้นที่เกษตรเรากำลังหายไป เพราะใกล้กรุงเทพฯ และปริมณฑล ความเจริญเข้ามาครอบครอง บ้านจัดสรรกำลังเกิดขึ้น ถนนหนทางเกิดขึ้นเยอะ คลองถูกถมมากมาย เมื่อความเจริญเข้ามา ความเสื่อมโทรมก็เข้ามาด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผังเมืองยังไม่ชัดเจน แต่อีกส่วนสถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้แม่น้ำท่าจีนกลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำหนักทั้งที่พื้นที่แคบนิดเดียว

ขณะเดียวกันคลองถูกถม ถนนเกิดขึ้น แม่น้ำท่าจีนเคยรองรับน้ำได้ 2,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบัน 1,500 ลูกบาศก์เมตร จะรองรับได้หรือเปล่ายังไม่รู้ อันนี้เรามองในภาคของประชาชน และคนลุ่มน้ำท่าจีนเอง ตอนนี้ก็กำลังย้ายถิ่นฐาน แต่จะมีบ้านเรือนใหม่ ๆ รีสอร์ท ร้านอาหารเกิดขึ้นมาแทน

บ้านเรือนเก่า ๆ กำลังหายไป เพราะเขาทนต่อสภาวะน้ำท่วมไม่ไหว พืชผักเขาตายหมด แล้วก็เริ่มจนลง บ้านไม่มีที่ซ่อม บ้านเรือนไม่เหลือ เขาต้องยอมขายที่ให้กับนายทุน เพราะแบกรับไม่ไหว ในฐานะคนภาคกลางเราเสียดาย

เรากำลังดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับภาคเรา อย่างอากาศ ทุกวันนี้พอมองขึ้นไป ในช่วงเดือนนี้ เจอผลกระทบกับตัวเองเลย แสบตา แสบคอ พอ ๆ กับโควิด ที่เป็นมา 2-3 ครั้ง มันทำให้เราเริ่มหายใจไม่ออก เสียงเริ่มแหบลง น้ำลายเริ่มข้นขึ้น สภาวะนี้เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลง ความปรวนแปร ค่า PM ที่เข้ามา เราต้องสู้แบบที่เราอยู่ได้ เพื่อนเราอยู่ได้

ที่ผ่านมา ปี 64 – 65 เราเจอวิกฤตค่อนข้างหนัก ท่าจีนไม่ได้มีแค่ที่นครปฐมที่เดียว เรามีชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร แต่ท่าจีนที่อยู่นครปฐม 97 กิโลเมตร เป็นช่วงที่สวย แต่ก็เป็นช่วงที่รองรับปัญหามากมาย โรงงานอุตสาหกรรมรอบแม่น้ำท่าจีนที่เกิดขึ้นก่อนปี 2540 มีประมาณ 40 กว่าโรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานฟอกย้อม สารเคมี อาหารแปรรูป ด้านหนึ่งโรงงานเหล่านี้พร้อมที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม

ด้านที่สองสิ่งที่รุกล้ำแม่น้ำท่าจีน โดยไม่มีใครไปควบคุม ดูแลบางที่ แต่บางที่เราควบคุมเขาไม่ได้ การบุกรุกแม่น้ำท่าจีน มีทั้งแบบธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์

ด้านธรรมชาติ คือ ปลูกชายเฟื่อยให้มันเรื่อยออกมาให้มันลุกล้ำพื้นที่มากยิ่งขึ้น แล้วรากของชายเฟื่อยมันก็ดูดซึมโคลนเข้าไป ในที่สุดก็จะกลายเป็นเนินดินสูง และถือการครอบครอง ออกโฉนดไม่ได้ แต่อยู่ได้ ใครจะมาไล่ ส่วนที่บุกรุกโดยมนุษย์ พวกเขื่อน พื้นที่ก็แคบลง ต่อไปน้ำท่วม ก็จะท่วมหนักขึ้น เพราะน้ำทะเลสูงขึ้น โลกร้อน แปรปรวน เราเรียนรู้ แต่ต้องตั้งรับ สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดวันนี้คือ พื้นที่เกษตรลดลง ปลูกอะไรก็ตายหมด

พิรัลรัตน์ รุจิวรพัฒน์ ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน จ.นครปฐม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในฐานะที่ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับ พอช. ในชุมชน ว่า จากประสบการที่เห็น การพัฒนาที่ส่งต่อมาจากภาครัฐแล้วมากำหนดให้พื้นที่ทำ การพัฒนานั้นจะไม่มีทางเข้มแข็งและยั่งยืน ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องให้เกิดจากชุมชนอยากทำ อยากจัดการตนเอง จะทำให้การพัฒนานั้นเข้มแข็งและยั่งยืน

การพัฒนาปฏิเสธไม่ได้ว่ายังอิงกับภาครัฐอยู่ แต่ภาครัฐต้องมองเห็นการทำงานของภาคประชาชนว่ามันเป็นการเข้าถึงภาคประชาชนจริง ๆ และอีกไม่นานจะเข้าสู่ภาวะการเลือกตั้ง เรายังไม่เห็นเลยว่า พรรคการเมืองไหน พูดถึงเรื่องการจัดสวัสดิการให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและเข้าถึงจริง ๆ

ในการทำงานกับ อพช. เราจะเข้าไปทำงานกับชุมชน ในด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ส่งเสริมประเด็นคุณภาพชีวิต การสร้างที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคง และเรื่องของการจัดสวัสดิการให้ทั่วถึง เพราะสวัสดิการเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องสวัสดิการแห่งรัฐ เราพูดถึงสวัสดิการของพี่น้องที่อยู่ในระดับฐานราก หมู่บ้าน และชุมชน สามารถเข้าถึงได้ อยากให้รัฐได้มองประเด็นนี้ จัดสรรให้พี่น้องอยู่ดีมีสุข

ไม่ต้องไปมองไกล นครปฐมเป็นจุดที่เราอยู่ใกล้และมองเห็นว่า ที่ดินหลาย ๆ แปลง ถูกเปลี่ยนเป็นปลูกมะพร้าวกับกล้วย ดูเหมือนจะมีพื้นที่สีเขียวเยอะขึ้น แต่ถ้าไปถามจะพบว่า ส่วนใหญ่จะถูกขายเปลี่ยนมือให้นายทุนใหญ่ ๆ และเราในฐานะเกษตรกรก็ต้องไปเช่าที่ดินของตัวเองที่ถูกขายไป มันสะท้อนว่า ที่ดินกำลังหลุดมือไป เกษตรกรกำลังต้องไปเช่าที่ดิน เพื่อทำการเกษตร มันดูย้อนแย้ง เพราะเราบอกว่า ประเทศไทยกำลังเป็นครัวโลก แต่ที่ดินถูกเปลี่ยนมือไปเป็นเกษตรนายทุน แต่การสร้างแหล่งอาหารให้กับชุมชนก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ

00 งานวิจัยชี้ปัญหาที่คนภาคกลางกังวล 00

นาวิน เสริมต่อว่า ข้อมูลจากงานวิจัย เนื่องจากภาคกลางมีความแตกต่างเยอะ เหมือนจะเป็นภาคร่วมแต่มีความแตกต่างเยอะ กลางตอนบนเป็นอีกแบบ กลางตอนล่างเป็นอีกแบบ ซึ่งล่าง 2 จะเป็นโซนติดทะเล กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเข้มข้น เพราะอยู่กับกรุงเทพฯ พอเราไปสำรวจ เพื่อจะหลอมความคิดเห็นที่เป็นของภาค ดูจากคะแนนหลาย ๆ อย่าง

ปี 2563 สำรวจช่วงที่เป็นรอยต่อก่อนเกิดโควิด ประเด็นปัญหาสำคัญ 5 ประเด็น อันแรกคือ เรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว อันดับสอง ภาคเกษตรถดถอย อันที่สาม คือ เรื่องของความยากจน อันที่สี่ คือ เรื่องเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และอันที่ห้า คือ เรื่องภัยธรรมชาติ

ปี 2564 เป็นปีที่โควิดระบาดหนัก ปัญหาสำคัญ 5 ประเด็น อันแรก คือ เรื่องความถดถอยของการท่องเที่ยว ขึ้นมาชัดเจน โดดเด่นมาก อันดับสอง คือ เรื่องอาชญากรรมและยาเสพติด อันดับสาม คือ เรื่องภาระหนี้สินครัวเรือน อันที่สี่ เรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว และอันที่ห้า คือ โรคอุบัติใหม่

ปี 2565 หลังจากโควิดเริ่มซา พบว่า อันดับหนึ่ง คือ เรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว อันดับสอง คือ หนี้สินครัวเรือน อันดับสาม คือ โรคอุบัติใหม่ อันดับสี่ คือ เรื่องอาชญากรรมและยาเสพติด และอันดับห้า คือ มลพิษทางอากาศ

ถ้าดูจะเห็นว่า คนภาคกลางให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งถ้าดูแนวโน้มของสภาพัฒน์จะเห็นว่า แนวโน้มการเติมทางเศรษฐกิจของภาคกลาง ทั้งเรื่องอุตสาหกรรม บริการ และภาคเกษตร ติดลบมาตลอด ตั้งแต่ปี 2560 จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีหลายปัจจัย ตั้งแต่เราเลือกตั้งมา หลังปี 2560 ถ้าใครตามข่าวเรื่องการลงทุนในประเทศไทย จะเห็นว่า อุตสาหกรรมที่จะมาลงทุนในประเทศไทยน้อยลง กลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทยขยับตัวไปลงทุนที่อื่นในอาเซียน ไม่ลงทุนในภาคกลางแล้ว

อีกส่วนหนึ่งรัฐบาลเองก็ไปส่งเสริมพื้นที่ EEC อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้สิทธิพิเศษลดหย่อน ภาษีที่ดินต่าง ๆ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็เลยไปลงทุนฝั่งตะวันออก ภาคกลางก็เลยติดลบ ไม่มีเลย

ส่วนเรื่องบริการ พอเจอโควิดนักท่องเที่ยวก็หายไปหมด เรื่องเกษตรเอง ราคาข้าวเองก็ดิ่งมาตลอด และพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ของภาคกลางคือข้าว เป็นข้าวนึ่ง ข้าวแข็ง ไม่ได้เป็นข้าวคุณภาพสูง ราคาก็จะไม่ค่อยดีมาตลอด กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง เพราะชาวนาที่ทำนาจริง ๆ ส่วนใหญ่เป็นนาเช่า ต้นทุนการผลิตสูง กำไรไม่ค่อยมี ทำให้ภาคการเกษตรมันถอยมาตลอด ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง หากเราจะพัฒนาภาคกลาง เราจะยกระดับเรื่องนี้อย่างไร

ปัญหาต่อมาที่งานวิจัยพบ คือ เรื่องอาชญากรรมและยาเสพติด หลายพื้นที่สะท้อนว่ามีความรุนแรงอยู่จริง เรื่องยาเสพติด อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านมันเยอะมากขึ้น และไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร เพราะกลไกตำรวจ จับและพิจารณาคดี เดี๋ยวก็หลุดออกมา ชุมชนก็ไม่รู้จัดการยังไง ซึ่งก็น่าสนใจและต้องช่วยกันออกแบบในพื้นที่

เรื่องมลพิษทางอากาศ อีกปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปี 2563-2565 จะเป็นปีที่เกิดลานีญา ฝนเยอะ ปริมาณน้ำฝนมาก แต่มลพิษ PM 2.5 ก็ยังเยอะ เพราะแหล่งกำเนิดสำคัญของภาคกลาง เกิดจากการขนส่ง ไม่ใช่ภาคเกษตร ซึ่งภาคตะวันออกก็เจอปัญหาเดียวกัน ต่างกันที่แหล่งกำเนิด

00 สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อภาคกลางต้องไปต่อ 00

พิรัลรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่ทุกคนได้เจอไม่ว่าจะรอบตัว หรือในระดับจังหวัด ระดับประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย สิ่งสำคัญต้องเริ่มมาจากชุมชนที่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างเช่น เรื่องของแหล่งอาหาร ปัจจุบันเราเห็นว่ามีการทำการเกษตรแปลงใหญ่ โควิดที่ผ่านมาสอนเราหลายอย่าง ทำอย่างไรที่เราจะมีแหล่งอาหารที่ทำเองกับมือ ในระดับครัวเรือนและชุมชน

ซึ่งการทำงาน เราเน้นส่งเสริมการสร้างแหล่งอาหารครัวเรือน ระดับชุมชน หมู่บ้าน เพื่อให้เวลาที่เกิดวิกฤตขึ้น เรายังมีอาหารที่หล่อเลี้ยงได้ เป็นไปได้ไหมที่ชุมชนจะมีส่วนช่วยส่งเสริม เริ่มตั้งแต่ระดับโรงเรียน เด็ก ๆ เป็นส่วนสำคัญ เรื่องนี้เป็นนโยบาย แต่ไม่ถูกปฏิบัติอย่างชัดเจน

อีกเรื่องที่สำคัญ ถ้าวันนี้บ้านเราไฟดับ วันนี้ใครยังหุงข้าวด้วยเตาถ่านเป็นไหม เด็ก ๆ หุงข้าวเป็นไหม เราเคยเห็นตัวอย่างที่ญี่ปุ่นมาแล้ว เวลาเกิดภัยพิบัติ นิวเคลียร์ เด็กญี่ปุ่นใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้หมด แต่สุดท้ายแล้วถ้ามันกลับมาสู่จุดที่ไม่มีอะไรเลย เราจะยังเอาชีวิตรอดปลอดภัย สามารถดำเนินชีวิตต่อได้อยู่หรือเปล่า

ด้านเด่นศิริ มองประเด็นนี้ว่า ชุมชนต้องมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ไม่ต้องมีจำนวนเยอะ แต่ต้องมีหัวใจที่เข้มแข็งตรงกัน อย่างที่นครปฐม เราสามารถทำงานร่วยกันได้ทุกเครือข่าย ดึงมาเป็นเพื่อนกัน มีอะไรช่วยกัน อย่างน้อยเป็นองค์ความรู้ ที่เราจะได้มาเติมเต็มกัน แม้อายุจะมามากขึ้น แต่ภูมิปัญญาเราต้องก้าวไปอีกระดับ

อีกเรื่องที่เป็นห่วง คือการผูกขาดทางการค้า ส่งผลกระทบกับลูกหลานของเรา ทำให้คนไม่ทำมาหากิน นายทุนขายทุกอย่าง ชาวบ้านหมดสิทธิขาย ลูกหลานเราไม่ทำอะไร อนาคตประเทศเราก็จะเหมือนกับมีคนอื่นเข้ามาครอบครอง เราจะกลายเป็นขี้ข้าทั้งประเทศ

ฝากนักการเมืองที่จะเข้ามาว่า อย่ามองประชาชนเป็นแค่คนที่เอาเงินไปซื้อสิทธิขายเสียงกับเขา แล้วได้คะแนนมา เราไม่ใช่แค่ฐานเสียง คุณควรจะเคารพสิทธิของประชาชน ในเมื่อคุณอาสามาเป็นผู้แทนของประชาชน ขอให้มีหัวใจรักจังหวัดอย่างแท้จริง แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

00 ภาพอนาคตประเทศไทย 10 ปีข้างหน้า 00

หลังจากดูชุดข้อมูลที่ฉายให้เห็นศักยภาพ โอกาส และข้อท้าทายในภาคกลางแล้ว มีภาพอนาคตที่อาจจะเป็นไปได้ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ที่อยากชวนมาเลือกและเติมข้อมูลกันต่อ

ฉากทัศน์ที่ 1 สุริยุปราคา

ประเทศไทย ยังวนเวียนอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแบบสุดขั้ว แม้ภาคท่องเที่ยวจะกลับมาเฟื่องฟู แต่ยังเน้นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จนสภาพแวดล้อมทรุดโทรม

ภาคเกษตรตกไปอยู่ในมือทุนใหญ่จากต่างชาติ ขณะที่รัฐยังคงมีวิธีคิดแบบรวมศูนย์ไม่ยอมกระจายอำนาจ การทุจริตคอร์รัปชันฝังรากลึกเกินเยียวยา

ด้านการศึกษา ถือเป็นยุคล่มสลายของระบบท่องจำและการกำกับเนื้อหาจากส่วนกลาง ขณะที่ลูกหลานคนรวยมีทางเลือกไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เปราะบางถึงขั้นวิกฤต จากปัญหามลภาวะทั้งอากาศ ดิน และน้ำ รวมถึงปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร

ต้นทุนด้านสุขภาพคนไทยสูงลิ่ว จนคนจำนวนมากเข้าไม่ถึง และบุคลากรทางการแพทย์ยังขาดแคลน กลุ่มคนสูงวัยและอาชีพอิสระที่ขาดหลักประกันทางสังคม และไร้เงินออม กลายเป็นอีกปัญหาของสังคม

ฉากทัศน์ที่ 2 แสงแดดรำไร

ประเทศไทยประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอด ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ทุนใหญ่ใช้ฐานข้อมูล Big Data และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มครอบงำตลาด ขณะที่คนรุ่นใหม่ปรับตัว กลายเป็นแรงงานอิสระที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและกฎหมายแรงงาน แต่ขาดความมั่นคง

ด้านการศึกษาเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ในการเรียนรู้ที่เปิดกว้างกว่าในห้องเรียน โรงเรียนเล็กแต่ยังต้องเผชิญการยุบ-ควบรวม เพราะคนเรียนและงบประมาณน้อย ส่วนในระดับอุดมศึกษา กลายเป็นมหาวิทยาลัยแพลตฟอร์ม และเน้นการเปิดสาขาในพื้นที่ต่าง ๆ

สังคมและคุณภาพชีวิต แม้มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก แต่ก็ต้องจ่ายแพง ขณะที่ความสัมพันธ์กลับเหินห่าง กลายเป็นสังคมปัจเจกเต็มรูปแบบ คนสูงวัยมีแนวโน้มใช้ชีวิตตามลำพัง และต้องพบกับความเจ็บป่วยที่ได้รับจากช่วงวัยทำงาน สวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้เข้าถึงการรักษาที่ดีและทันท่วงที

ฉากทัศน์ที่ 3 พระอาทิตย์ทรงกลด

ประเทศไทยพุ่งทะยานไปข้างหน้า จากวิสัยทัศน์ของรัฐที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่มุ่งสร้างความแตกต่างในทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์

ประชาชนสามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาชุมชน เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างรายได้พึ่งพาตนเองในชุมชน มีการยกระดับความรู้จนเกิดเป็นปัญญารวมหมู่ ส่งผลให้คนในสังคมเท่าทันและใช้เทคโนโลยีเพื่อสมดุลของชีวิต ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม

ในมิติสุขภาพมีการใช้ระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยี เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียม ขณะที่ด้านการศึกษาเรียนรู้ของไทย คนทุกวัยสามารถใช้ฟอร์มและช่องทางออนไลน์ทั่วโลกได้ทุกที่ทุกเวลา ครูทำหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษา ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่า จะปรึกษากับคนหรือปัญญาประดิษฐ์

ส่วนการศึกษาในท้องถิ่นได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ ทำให้ความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมและภาษาที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น อย่างสร้างสรรค์

วิชัย สระทองโดย คณะทำงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครปฐม – ผมอยากให้ประเทศไทย ก้าวหน้าในอีก10 ปีข้างหน้า ไม่อยากให้ถดถอยลง เพราะตั้งแต่ผมก้าวเข้ามาสู่การเป็นผู้นำชุมชน เป็นตัวแทนมาเสนอสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่ให้คนได้รับรู้ มันยิ่งถดถอยลงเรื่อย ๆ ไม่พัฒนาอย่างที่คิด

ผมอยากเสนอให้รัฐบาลรุ่นใหม่ที่จะเข้ามา ได้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ เพราะทุกวันนี้ต้นทุนชีวิตของเราเริ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน สวนทางกับรายได้ที่ถดถอยลง ยิ่งภาคการเกษตรยิ่งแย่ ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมแปรปรวน ผลผลิตทางการเกษตรได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ราคายิ่งแย่ลงแต่ต้นทุนยิ่งเพิ่มขึ้น เพิ่มภาระให้กับกลุ่มพื้นที่การเกษตร

ถึงเราจะเอานวัตกรรม หรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เราก็ต้องใช้จ่ายต้นทุนแพงขึ้นไปอีก เป็นภาระที่อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลให้มาแก้ไขปัญหา ให้ประชาชนในประเทศไทยได้อยู่ดีกินดี

อยากได้ผู้แทนที่ช่วยให้ประเทศไทยอยู่รอด ไม่ถดถอย จริงใจในการพัฒนา เอาปัญหาจากพื้นที่ไปแก้ไขอย่างจริงจัง

รุ่งอรุณ แจ่มจันทร์ คณะทำงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครปฐม – วิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ ทั้งภายใน ระดับสังคมโลก และมองไปถึงอวกาศ สภาพของโลกที่ต้องได้รับผลกระทบ จาก 3 ฉากทัศน์ ผมมองว่า เราน่าจะอยู่ฉากทัศน์ที่ 2 อย่างแสงรำไร เอาตัวให้รอดจากทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะเราต้องเจอผลกระทบมากมาย ทั้งภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง สังคมที่เปลี่ยนไป และสภาพของโลกที่ต้องได้รับผลกระทบ เพราะทุกวันนี้เรารู้ว่าชั้นบรรยากาศของเราเปลี่ยนแปลง

คนที่ทำงานกลางแดดจะรู้ว่า ตอนนี้ความร้อนมันไม่ปกติ คนรุ่นเก่า ๆ จะรู้เลย เพราะเมื่อก่อนเราเจอแสงแดด แต่ไม่ร้อนไม่แสบเท่านี้ เป็นเพราะชั้นบรรยากาศที่กรองยูวี ลดน้อยลง แสงแดดถึงทำปฏิกิริยากับผิวหนังเราได้มากขนาดนี้ และในอีก 10 ปี ข้างหน้า เราก็ไม่รู้ว่าจะเจออะไรที่หนักกว่านี้หรือเปล่า ผมเลยอยากให้ผู้แทนที่เข้าไปทำหน้าที่มองมิติเหล่านี้ให้กว้าง และลึก เพื่อจะนำพาสังคมไทยให้อยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์ข้างหน้า

ถ้าเราได้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล มองความปลอดภัยของพี่น้องได้ครอบคลุม เราก็จะอยู่รอด นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นใน 10 ปี ข้างหน้า เอาแค่แสงแดดรำไรขอ พระอาทิตย์ทรงกลดเราคงมีต้นทุนไม่ถึงตรงนั้น

ชุติมา น้อยนารถ เครือข่ายชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนนครปฐม – เลือกสุริยุปราคาทั้ง 2 รอบ ด้วยเหตุผลเพราะมองว่า 10 ปี เราปรับตัวไม่ทันหรอก และในใจก็รู้สึกว่า ถ้าทุกคนเลือกสิ่งนี้จะอยากเปลี่ยนอนาคตมากขึ้น บางครั้งการเกิดอะไรที่สุดขั้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นจะยั่งยืนต้องรุนแรงมากขึ้นจริง ๆ คนถึงจะยอมลุกขึ้นมาเปลี่ยนและรักษามันอย่างมีคุณค่า

ภาพรวมประเทศไทยตอนนี้มันแย่ทุกเรื่อง รวมทั้งภาวะโลกรวนที่รุมเร้า การเมืองก็เหมือนคนเมา เดินหน้า 2 ก้าว ถอยหลัง 4 ก้าว ผู้คนไร้ความสุข แต่ยังไม่ถึงขั้นทุกข์หนัก บางครั้งสิ่งที่เรากำลังแก้ไขปัญหามันกำลังเดินวน ทำให้เรารู้สึกว่า มีช่องว่างในการหลีกหนีทุกข์ แต่ไม่ได้แก้ทุกข์

ไม่ได้มองว่าโลกเป็นสีดำ แต่รู้สึกว่ามันมีภาวะเครียดของแต่ละคนมากองรวมกัน อาจเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องมานั่งรวมกันตรงนี้ และจะต้องมีมากขึ้น กับการที่ผู้คนรวมหมู่ และมีการค้นหาทางออกร่วมกัน มันจะพบแสงสว่างที่ยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น 10 ปี ให้มันหนักหนาสาหัสไปเลย แต่ปีที่ 11 เราจะไม่ไปเทา เราจะไปขาวเลย คือไปพระอาทิตย์ทรงกลดเลย

ชุมพล แสงวรรณ เด็กแนวตะเข็บชายแดน อ.สังขบุรี จ.กาญจนบุรี – ตอนแรกเลือกแสงแดดรำไร เพราะผมมีความเชื่อมั่น จากการติดตามที่เห็นเด็ก ๆ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง จึงคิดว่าน่าจะเปลี่ยนแปลงได้ใน 10 ปี ข้างหน้า ถ้าเด็ก ๆ ทำสำเร็จ และผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนในทางที่ถูกต้อง

แต่ครั้งที่ 2 กลับมานั่งคิด ผมมองว่า ใน 10 ปีข้างหน้านี้ ไม่น่าจะเปลี่ยนได้ เพราะผมคิดว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีอะไรรับรองว่าจะไม่เกิดการรัฐประหาร ประเทศนี้ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนได้แน่นอน เพราะ 18 ครั้งที่ผ่านมา ไม่มีคนที่ทำการรัฐประหารคนใดรับโทษในฐานะกบฎแผ่นดินเลย

ผมเชื่อว่า ตราบใดที่เรายังไม่สามารถแก้เรื่องนี้ได้ อย่าหวังเรื่องการเมือง เพราะสุดท้ายเมื่อมันเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ อำนาจเก่าที่ไม่ยอมคลายอำนาจก็จะทำการรัฐประหารขึ้นมาโดยที่ไม่มีความผิดใด ๆ

อีกไม่ถึง 20 ปี ผมเข้าสู่สูงวัย ถ้าเด็ก ๆ ทำไม่สำเร็จ ไม่ลุกขึ้นมาดูบ้านเมืองของตัวเอง ประเทศไทยก็ยากที่จะเปลี่ยนได้ เพราะตั้งแต่ผมอายุ 5 ขวบ ตั้งแต่จำความได้ คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ยาวมาจนถึงผมอายุ 44 ปี ประเทศไทยก็ยังคงประเทศที่กำลังพัฒนา

และอีกสาเหตุที่ทำให้ผมเลือกถอยหลังกลับมา คือช่วงโควิด-19 ช่วงที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ เด็กในอำเภอผมหลุดออกจากระบบเยอะมาก สาเหตุเป็นเพราะเด็กในเมืองสามารถเรียนออนไลน์ได้ แต่เด็กบ้านผมต้องวิ่ง 2-3 ลูกเขาเพื่อหาคลื่น ขณะที่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า แต่ พ.ร.บ.นี้สามารถใช้กับนายทุนได้จริงหรอ การควบรวมในเรื่องของการสื่อสาร พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สามารถทำอะไรนายทุนได้เลย ความเหลื่อนล้ำเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

แม้แต่เด็กในเมืองก็หลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่แพ้เด็กชนบท เด็กชนบทพยายามที่จะเรียนรู้ แต่ขาดโอกาสเรื่องของทุนที่จะเรียนต่อ ขาดโอกาสเรื่องการสื่อสาร เทคโนโลยี กลายเป็นขยายความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ

พระครูสุธรรมนาถ เจ้าอาวาสวัดปลักไม้ลาย – คิดว่าอยากจะมีความหวัง จึงเลือกฉากทัศน์ที่ 2 แสงแดดรำไร แต่ความคิดเดิม ๆ ยังมีอยู่ ตอนประมาณ 2516 ที่เขาประท้วงกัน ดูเหมือนประเทศจะพัฒนาดี มายุค Newly industrialized country หรือ NIC เปลี่ยนเป็น NIS นรกอีสคัมมิ่งซูน ความคิดความฝันดูดี แต่ 50 ปี ยังย่ำอยู่กับที่

การศึกษาทำให้คนออกจากบ้านไปทำอะไร ทิ้งพื้นที่เกษตร ออกมาทำนาไม่เป็น เขาจะเก็บที่ไว้ทำไม เพราะเราเข้าโรงงาน ไปทำงานในโรงงานกัน การศึกษาเลยแยกคนออกจากครอบครัว ไม่ให้คนกลับไปทำงานในครอบครัวของตัวเอง ไม่สืบทอด ไม่พัฒนาชุมชนของตัวเองจริง ๆ คนที่เรียนออกมาทำบริษัทญี่ปุ่น เกาหลี เป็นลูกมือให้เขา ไม่เป็นหัว เป็นแต่มือกับเท้า ทุกวันนี้เราเรียนเพื่ออะไร ถ้าบอกว่าจะเรียนเพื่อสร้างบ้านสร้างเมือง เราเรียนอะไร ขณะที่เรียนเราสร้างอะไรขึ้นมาบ้าง สร้างคน หรือสร้างแรงงาน

ยิ่งเรียนความรู้ยิ่งแคบลง กลายเป็นแรงงานที่มีการศึกษากับไม่มีการศึกษา ถ้าหากคณะปกครองมีความคิดว่าเราเป็นเหมือนพ่อบ้าน แม่บ้าน จะทำยังไงให้ลูกเราเจริญ ลูกเราจะครอบครองสมบัติที่เรามีได้อย่างไร

ดังนั้นต้องมีใจให้กับประชาชน เหมือนประชาชนเป็นลูกของตน และบ้านทั้งหมดคือประเทศไทย ต้องคิดว่าจะต้องออกกฎหมายอะไรเพื่อมาพัฒนา สร้างรถยนต์ หรือเครื่องบิน เราก็ทำได้ แต่ตอนนี้กฎหมายเราไม่เอื้อ เอาออกมาเพื่ออะไร ถ้าออกมาเพื่อค้าขาย แล้วจะทำอย่างไรเขาถึงจะขายได้ แต่อันนี้ออกมาเพื่อไม่ให้ทำอะไร

ทรงพล พูลสวัสดิ์ สภาเกษตร จ.อ่างทอง – จังหวัดอ่างทอง ใคร ๆ ก็ว่าระบบชลประทาน 100% ดี แต่ปัญหามีเหมือนทุดคนพูด คือ ชาวนาเช่านาตัวเองทำ เป็นเพราะนโยบายของรัฐสั่งให้ทำแบบนั้นแบบนี้ พอเกษตรกรทำมา ขาดทุน เจ้ง

สมมุติให้เกษตรกรลดการทำนาไปทำสวน ทำไม้ผล พอเกษตรกรเลิกทำนาไปทำมะม่วงส่งออก พอทำเสร็จน้ำไม่มี มะม่วงตาย เอาน้ำบาดาลมารดมะม่วงก็ตาย เพราะน้ำเค็มเข้าไปถึง แล้วหนี้สินรัฐบาลช่วยไหม ก็ไม่ ต้องขายที่เพราะอยู่ไม่ได้

รัฐควบคุม กำกับ นโยบายภาคเกษตร เจ้าหน้าที่เกษตรไปแนะนำส่งเสริม แต่ตัวท่านเองยังใช้เคมี แล้วไปสอนให้คนอื่นทำ แล้วภาคประชาชนอย่าง พอช. เข้าไปช่วย ถามว่าพวกเขาเข้าไปช่วยแล้วได้อะไร ไม่มี แต่พวกเขาก็ยังจะช่วย ส่วนภาครัฐที่เข้าไป มีเบี้ยเลี้ยง มีเงินเดือน ถามว่าช่วยอะไรเราได้บ้าง มีแต่เข้าไปทำให้พวกเราแย่ลง เสียหายขึ้น

แม้แต่พังเมืองที่อาจารย์พูด ทำให้พังหมด อย่างอ่างทองเมื่อปีที่แล้วก็น้ำท่วม มันไม่ใช่อุทกภัย แต่เป็นอุบัติภัย ไทยพีบีเอสก็ไปทำข่าวมา ภายในหนึ่งชั่วโมงน้ำมา ตอนแรกก็คิดว่าไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ขึ้นวันละ 10-20 เซนติเมตร เป็นอุทกภัย ตามธรรมชาติ แต่ว่าปีนั้นน้ำมาภายใน 2 ชั่วโมง มิดหลังคา รถเอาออกไม่ทัน ชาวบ้านลงทุนทำโรงเห็ดไร่ละ 400,000 บาท ช่วยเขาแค่ 2,000-4,000 บาท จะไม่ให้เขาขายที่ ทำไมถึงไม่คิดว่า อุทกภัย กับอุบัติภัยมันคนละเรื่องกัน

เขตอ่างทองท่วมอุตสาหกรรม ทางประกันภัยไม่รับเขตอ่างทอง บอกว่าเป็นเขตลุ่มน้ำ เกิดความเสียหายอีก ตอนนี้มองใครไม่ออกก็มองพวกเรา เราต้องกำกับดูแลให้เขาทำตามนโยบาย ว่าเขาเข้าไปเขาได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ไหม เขาออกกฎหมายดูแลหรือควบคุม ขนาดควบคุม นายทุนยังควบคุมไม่ได้เลย ควบคุมแต่ภาคเกษตร ตอนนี้เกษตรตายอย่างเดียว เวลาให้ ให้แต่นาแปลงใหญ่ ๆ 100-1,000 ไร่ขึ้นไป เกษตรกรที่รวมตัว 5-10 คน แล้วทำ 20-30 ไร่ ไม่เคยจะประสบความสำเร็จ รัฐบาลชอบใหญ่ ๆ แล้วพอทำใหญ่ ๆ ใช้งบเยอะ ล้มละลาย ทั้ง ๆ ที่ทำจากเล็กไปใหญ่มีโอกาสจะประสบความสำเร็จมากกว่า

วันนี้ภาคประชาชนเข้มแข็ง แต่ไปไม่ถึง เพราะเจอนั่นเจอนี่ ทำให้ต้องหยุดอยู่แค่นั้น ไปต่อไม่ได้ จะไปได้พวกเราต้องช่วยกันเอง ถามว่าท้องถิ่นมีทุกหมู่บ้านไหม มี เขาทำอะไรให้ประชาชนบ้าง มีแต่สร้างถนน แล้วเกษตรกร คนจนไร้บ้าน ทำไมถึงไม่เห็น ต้องรอให้สื่อเอาไปลง จึงจะเข้ามาช่วยกัน นี่คือภาครัฐที่เขามีหน้าที่แต่ไม่ทำ ผมโหวตให้ฉากทัศน์ที่ 1 สุริยุปราคา เพราะผมมองว่ามันติดกับดักตรงนี้ยังไงก็ไปไม่ถึง

สงกรานต์ ชาติทรนงศักดิ์ คนรุ่นใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา – ผมเลือกพระอาทิตย์ทรงกลด ไม่รู้หวังสูงไปไหม แต่ผมไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความหวัง เลยหวังสูงในเรื่องนี้

ผมมองว่า ถ้าภาครัฐให้บทบาทแต่ละจังหวัดมีบทบาทมากขึ้น จะทำให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดการอะไรได้มากขึ้น และอย่างที่รู้ว่า ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนคนอื่น ผมคิดว่าการที่เราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาจจะมาจากการที่เราเอาวัฒนธรรมไทยมาเป็นตัวนำ อย่างที่ในฉากทัศน์บอกว่า วัฒนธรรมไทยอาจจะมีบทบาทมากขึ้น ช่วยในเรื่องเศรษฐกิจหรือความโดดเด่นในประเทศไทย ทำให้เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ เพราะมีจุดเด่นแตกต่างจากประเทศอื่น

ผมเลยคิดว่าทางเลือกของภาครัฐในการที่จะกระจายบทบาท ทำให้แต่ละจังหวัดมีบทบาทมากขึ้นในการทำหน้าที่ ดึงจุดเด่นของจังหวัดตัวเอง เพราะผมเชื่อว่าแต่ละจังหวัดมีจุดเด่น และอาจจะทำให้จุดเด่นเหล่านั้นสร้างกำไรกับประเทศไทยได้ นับเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศด้วย

โชติ สายยืนยง สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลคลองโยง – จากที่ฟังหลาย ๆ ท่าน ที่บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เรื่องเกี่ยวกับที่ดิน ผมขอส่งเสียงนี้ไปถึงคุณนาตยา ผู้ที่จุดประกาย ทำพื้นที่ของผม โดยอาศัยทีมงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของที่ดินที่คลองโยง จนได้มาซึ่งโฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย แต่วันนี้ผมอยากจะใช้เสียงของเวทีนี้สะท้อนอีกครั้งว่า ความมั่นคงทางอาหาร และที่ดินที่คลองโยงตอนนี้กำลังล่มสลาย นับตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปชุมชนผมเริ่มจะล่มสลายแล้ว ด้วยนโยบายของรัฐบาล

รัฐบาลให้เรารวมตัวเป็นระบบสหกรณ์ โดยมีพื้นที่ในการดูแลชุมชน 1,800 กว่าไร่ เราอาศัยนโยบายของรัฐบาลดำเนินการมาตลอด 12 ปี จนปี 2562 รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการเก็บภาษีที่ดินค่อนข้างโหด ปัญหาที่ตามมา คือเรากำลังถูกเรียกภาษีที่ค่อนข้างสูง ทำให้เรามาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนเราอยู่ได้ จนได้ข้อสรุปว่า เราต้องมอบโฉนดให้ชาวบ้านเป็นรายบุคคล เพื่อให้เขาไปเสียภาษีของตัวเอง นี่คือแววของการกำลังจะล่มสลาย ในเรื่องของความมั่นคงทางที่ดินและอาหาร จากนโยบายของรัฐบาล

แต่ก็โชคดีที่เขากำลังจะนำปัญหาเรื่องของคลองโยงเข้า ครม. อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับท่าน แต่ผมจะสะท้อนให้เห็นว่า การที่ชุมชนจะอยู่ได้ไม่ได้ ไม่ได้อยู่ที่ชุมชนจะเข้มแข็ง หรือไม่เข้มแข็ง แต่อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลและพรรคการเมือง

ตอนนี้ผมคิดว่าทุกคนที่สมัครเป็นนักการเมืองดีทุกคน ดีจนไม่รู้จะเลือกใครเวลาหาเสียง แต่สุดท้ายต้องดูว่าเราเข้าถึงเขาไหม เราได้รับการบริการจากเขาอย่างเด็มเม็ดเต็มหน่วยไหม นี่ทำให้ผมเลือกฉากทัศน์ที่ 1 สุริยุปราคา เพราะผมชอบอยู่คำหนึ่ง คือ ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นธรรม ที่เราไม่ค่อยได้เห็น และได้รับ

วิศรุต สมงาม เครือข่ายพลเมืองลิง จ.ลพบุรี – ผมเลือกฉากทัศน์พระอาทิตย์ทรงกลด ตอนแรกผมเลือกฉากทัศน์ที่ 2 เพราะเห็นว่ามีเรื่องไอทีเยอะ ในฉากทัศน์ที่ 3 พูดถึงเรื่องการพึ่งพาตัวเองและปัญญารวมหมู่ ผมเห็นด้วยกับสิ่งนี้

ผมยกตัวอย่าง เวลาเราพูดถึงความเจริญ เราจะนึกถึงความเจริญแบบเส้นตรง เรามักจะนึกถึงกรุงเทพฯ แต่ที่จริง ความเจริญที่แท้จริง อาจจะอยู่ที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ราชบุรี หรือที่สังขบุรีก็ได้ อันนี้เป็นความเจริญที่ไม่ใช่เส้นตรง เพราะคนกรุงเทพฯ ต้องการอากาศที่บริสุทธิ์ ผมจึงเลือกฉากทัศน์ที่ 3 เพราะมีคำว่าพึ่งพาตนเอง และเห็นด้วยที่บอกว่าหลายจังหวัดต้องจัดการตนเองได้ ผมจึงอยากเสนอผ่านเวทีนี้ว่า เราควรเริ่มต้นเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดกันเองได้แล้ว และเริ่มในจังหวัดที่มีความพร้อมในเรื่องเศรษฐกิจก่อน

ภัทรพงษ์ กิตติวิริยะพันธุ์ อาสาสมัครแรงงาน จ.สุพรรณบุรี – ผมเลือกฉากทัศน์ที่ 3 ทั้ง 2 รอบ ผมมองในแง่บวก คิดว่าในอนาคตช่วงที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ผมมองว่าโอกาสของคนไทย หรือสังคมไทยยังมีอยู่ ทั้งในเรื่องของจังหวะที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า ในเรื่องของการพัฒนา ซึ่งถ้าเรามองย้อนหลังไป เราจะเห็นบทเรียนจากหลายเรื่อง ทั้งเรื่องโรคอุบัติใหม่ สังคม ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาการเมืองต่าง ๆ

แต่ใน 5-10 ปีข้างหน้า ผมมองว่าจุดเปลี่ยนมันอยู่ที่ตัวเรา เพราะตอนนี้เขาคืนอำนาจสู่ภาคประชาชนทั้งหมด การที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายที่เรามองไว้ จะมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ภาคประชาชน

ประชาชนเป็นผู้ที่กำหนดคนที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศชาติของเรา ดูว่าเขามีความจริงใจมากน้อยขนาดไหน หรือมาแค่ตอนหาคะแนน และเราสามารถเข้าถึงเขาได้ขนาดไหน การเข้าถึงไม่ได้หมายถึงตอนที่เขาเอาพวงหรีดมาให้ หรือมาคล้องพวงมาลัยในงานแต่ง แต่หมายถึงการเข้าถึงปัญหาของชุมชน และพร้อมที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญ

ดังนั้นอยู่ที่ตัวเรา คือ 1.ต้องเลือกผู้นำของเรา 2.เลือกพรรคที่มีนโยบายที่สามารถจับต้องได้ พูดจริง ทำจริง และ 3.เมื่อเลือกได้แล้ว เข้าไปสู่การเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนได้ก็แล้วแต่ แต่ส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญ คือ ส.ว. ถ้าเกิดมีความจริงใจที่จะช่วยพัฒนาประเทศ

ในมุมมองผม คิดว่า ส.ว. ต้องดูแลเรื่องของกฎหมาย ซึ่งมันค้างอยู่เยอะมาก รวมถึงของภาคประชาชนที่มันค้างอยู่ หลาย ๆ กฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอแนะเข้าไป และดูเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง อย่างเช่น น้ำท่วม 2-3 ปีที่ผ่านมา มันสะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

เราอยากเห็นนโยบายการแก้ไขปัญหาแบบวันแพลน ในหลาย ๆ จังหวัดที่เจอปัญหาเดียวกัน และคาดหวังว่าอนาคตข้างหน้าจะมีนโยบายนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับหลาย ๆ จังหวัดที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ผมจึงมองว่า การเลือกคนมันสำคัญ เพราะเขาคือตัวแทนที่เข้าไปทำงานให้เรา ดังนั้น คนที่จะสามารถเปลี่ยนผ่านให้ไปถึงพระอาทิตย์ทรงกลดได้ หรือไม่ได้ ก็คือตัวเรา

นี่คือมุมมองจากตัวแทนคนภาคกลางและภาคตะวันตกบางส่วนที่วาดฝันต่อภาพอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า กับสิ่งที่พวกเขาอยากจะเห็นและอยากจะให้เป็น ซึ่งคุณเองก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการวาดภาพฉากทัศน์อนาคตประเทศไทยไปพร้อม ๆ กันกับเราได้ เพียงแค่โหวตฉากทัศน์ที่ขึ้นอยู่ด้านล่างนี้

000

หรือฟังเนื้อหาของวงเสวนาฟังเสียงประเทศไทย: เสียงประชาชนเลือกอนาคตภาคกลาง-ตะวันตกเต็มรูปแบบ สามารถรับฟังได้ที่นี่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ