ปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำต่างถิ่น ตอนนี้อยู่ที่ไหน ?

ปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำต่างถิ่น ตอนนี้อยู่ที่ไหน ?

ช่วงปีที่ผ่านมา สภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสาครได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำที่กระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรการผู้เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง วันที่ 19 สิงหาคม 2566 จึงลงพื้นที่สำรวจ เนื่องจากปลาหมอสีคางดำ (ชื่อตามเอกสารราชการของกรมประมง กันทั่วไปว่าปลาหมอคางดำ) เข้าไปในบ่อเลี้ยงและแย่งกินอาหาร ทำให้ไม่ได้รับผลผลิตหรือได้ผลผลิตน้อยลง และจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่จะมีจำนวนลดลงและหายไปในอนาคต 

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่สำรวจการระบาดของปลาหมอคางดำ
หมุด C-Site
ปลาหมอคางดำช่วงวัยเด็กจนถึงโตเต็มวัยที่พบในบริเวณอ่าวมหาชัย

ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia)

ลักษณะคล้ายปลาหมอเทศโดยเฉพาะในปลาระยะวัยอ่อน เมื่อโตเต็มวัยจะสังเกตได้ชัดขึ้น จัดอยู่ในครอบครัว Cichlidae เช่นเดียวกับปลาหมอเทศ ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา พบแพร่กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีการนำเข้าพันธุ์ปลาหมอคางดำในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีรายงานเข้ามาตั้งแต่ปี 2553 ถือเป็นปลาจำพวกเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำท้องถิ่น

ปลาหมอคางดำส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่บริเวณปากน้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน จนถึงบริเวณชายฝั่งทะเล สามารถทนความเค็มได้สูงและทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มในวงกว้าง นอกจากนี้ยังพบปลาชนิดนี้ในพื้นที่น้ำจืด แม่น้ำ และทะเลสาบน้ำจืด ในบริเวณที่มีกระแสน้ำไม่ไหลแรง กล่าวคือปลาชนิดนี้สามารถอยู่ได้ในน้ำเกือบทุกประเภท

ปลาชนิดนี้สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยกิจกรรมการผสมพันธุ์อาจจะลดลงในช่วงที่มีฝนตกหนัก มีกระแสน้ำแรง และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรวดเร็ว ปลาหมอคางดำสมบูรณ์เพศและวางไข่ได้รวดเร็ว แม่ปลา 1 ตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 50 – 300 ฟอง หรือมากกว่าโดยขึ้นกับขนาดของแม่ปลา การฟักไข่ของปลาหมอคางดำใช้เวลาฟักประมาณ 4 – 6 วัน และพ่อปลาจะดูแลลูกปลาโดยการอมไว้ในปากนานประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ 

ปลาหมอคางดำกินทั้งพืช สัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร นอกจากนี้ปลาหมอคางดำยังชอบกินลูกกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย รวมถึงลูกปลาวัยอ่อน ปลาหมอคางดำมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า มีระบบย่อยอาหารที่ดี สามารถย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที เป็นสาเหตุว่าทำไมปลาหมอคางดำถึงมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยค่อนข้างดุร้ายถ้าเทียบกับปลาหมอเทศ

ภาพพิกัดการสำรวจการพบปลาหมอคางดำจาก C-Site

ทีมงานสำนักเครือข่ายฯ ไทยพีบีเอส ได้ทำแบบสำรวจการระบาดของปลาหมอคางดำ (ปลาหมอสีคางดำ) ในประเทศไทยโดยให้คนในพื้นที่ที่พบเจอปลาหมอคางดำในน่านน้ำใกล้บ้านปักหมุดรายงานเข้ามาใน C-Site พบว่า ตั้งแต่พื้นที่ระยอง จันทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไปจนถึงราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พบปลาหมอคางดำเข้ามาบุกรุกในพื้นที่น่านน้ำใกล้บ้านใกล้ที่ทำกินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอ่าวไทยและอ่าวตัว ก 

จากการสำรวจพื้นที่บริเวณอ่าวมหาชัยพบว่าประมงชายฝั่งพบปลาหมอคางดำเข้ามาในพื้นที่เยอะมาก ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และปลาท้องถิ่นจะค่อย ๆ สูญพันธุ์หากไม่มีการแก้ปัญหานี้

เรือประมงพื้นบ้านกำลังออกไปจับปลาในละแวกอ่าวมหาชัย

ชาวประมงเล่าว่า ปลาหมอคางดำระบาดหนักเต็มทุกพื้นที่ในทะเลรวมไปถึงพื้นที่ทำกิน ปลาหมอคางดำกินปลาที่เป็นปลาพื้นถิ่นเกลี้ยงหมด ไม่ว่าจะเป็นกุ้งหรือปลา ตัวเล็กตัวใหญ่ไม่เหลือเลย 

นิค ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวมหาชัย

ปกติล้อมอวนเพื่อจะจับปลากระบอกซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นที่เคยจับมาตลอด แต่ช่วงหลัง ๆ ปีที่ผ่านมา จับปลากระบอกได้น้อยลงแต่สิ่งที่ได้กลับมาแทนคือปลาหมอคางดำที่นับวันก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว

นิค ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวมหาชัย

นอกเหนือจากการที่จับได้แต่ปลาหมอคางดำแล้ว ปลาหมอคางดำยังทำให้อวนของชาวประมงขาดรุ่ยเละเทะ เนื่องจากอวนของประมงพื้นที่มีความบางและไม่ได้เหนียวถ้าเทียบกับประมงเรือใหญ่ เนื่องจากประมงพื้นบ้านจับปลาในน่านน้ำใกล้ตัวเองเท่านั้นและอวนชนิดนี้มีความสามารถจับปลาได้เพียงตัวไม่ใหญ่มากเนื่องจากอวนชนิดนี้ชาวประมงเอาไว้จับปลากระบอกเท่านั้น แต่ปลาหมอคางดำมีตัวใหญ่  เกินกว่าขนาดของอวน เมื่อได้ปลาหมอคางดำติดอวนมาก็จะทำให้อวนชำรุด

ถ้าปลาหมอคางดำติดอวนมา อวนก็จะขาดรุ่ย ทำให้วันถัดไปต้องหยุดออกเรือเพื่อซ่อมอวนใหม่ วนไปแบบนี้ ออกไปจับสัตว์น้ำก็ไม่มา รายได้ก็ไม่ได้ บางวันออกไปยังไม่สามารถคืนทุนค่าน้ำมันได้เลย

นิค ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวมหาชัย
ปลาหมอคางดำที่ติดอวนมากับปลากระบอก แต่มีจำนวนเยอะกว่าปลากระบอก

พื้นที่บริเวณมหาชัยไม่นิยมกินปลาหมอคางดำ ถึงแม้จะมีลักษณะคล้ายปลาหมอ ปลานิลก็ตาม เนื่องจาก เนื้อน้อย ไม่อร่อย ตัวเล็กกว่า และภายนอกมีลักษณะแตกต่างจากปลาชนิดอื่นคือมีสีสันแปลก ๆ ชาวบ้านจึงไม่นิยม เมื่อจับมาได้ชาวบ้านก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร บางคนก็โยนทิ้งน้ำกลับไป บางคนส่งให้แพปลา แพปลาก็ไม่เอา ให้ฟรี ๆ ก็ไม่เอาเพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไรต่อ

ถ้าตัวใหญ่หน่อย (ก็ไม่ใหญ่เท่าปลาหมอปลานิล) สามารถเอาไปทำปลาเค็มได้ในราคาถูกมาก ๆ แต่คนส่วนมากจะนำไปส่งในโรงปลาป่น ทำอาหารสัตว์ ได้แค่โลละ 8-9 บาทเท่านั้น เทียบกันคือปลานิล โลละร้อยกว่าบาท

มงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร เล่าว่า พื้นที่สมุทรสาครเจอปลาหมอคางดำมาระยะนึงแล้ว 3 – 4 ปีโดยประมาณ แต่ได้รับผลกระทบจริง ๆ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มสร้างผลกระทบให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามริมฝั่งชายทะเล ไม่ว่าจะเป็น อ.บ้านแพ้ว ที่เพาะเลี้ยงปลาสลิด ปลาหมอคางดำหลุดเข้าไปในบ่อเพาะเลี้ยงปลาสลิดและกินปลาสลิดรวมทั้งยังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลผลิตที่เกษตรกรควรจะได้ กลับไม่ได้ผลตามที่ลงทุนไป แต่กลับได้ปลาหมอคางดำมาแทนและยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย

ปัจจุบันปลาหมอคางดำแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ทะเลชายฝั่ง ไม่ใช่แค่จังหวัดสมุทรสาครแล้ว ลามไปหลายจังหวัด ปลาหมอคางดำเป็นเอเลี่ยนสปีชี่ส์ที่อยู่ทนได้ทุกน้ำ ทั้งน้ำกร่อย น้ำจืดและน้ำเค็ม อีกทั้งยังมีความแข็งแรงกว่าสัตว์น้ำพื้นถิ่นอีกด้วย ขนาดแม่น้ำท่าจีนที่สภาพน้ำไม่ค่อยสู้ดีนัก ปลาหมอคางดำยังสามารถเติบโตแพร่พันธุ์ได้อย่างดี ฉะนั้นการที่จะควบคุมปลาชนิดนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก

มงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร

นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร เสนอว่า การแก้ปัญหาเรื่องการระบาดของปลาหมอคางดำควรเป็นการแก้ปัญหาที่ร่วมมือกันทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ภาคเอกชน แต่ภาครัฐ กรมประมง ประมงจังหวัด ประมงอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งหมดควรเข้ามาจัดการเรื่องนี้ด้วยกันอย่างจริงจังที่รัดกุม และรอบคอบ และต้องเร่งดำเนินการอย่างยิ่ง เพราะเรื่องปลาหมอคางดำสร้างผลกระทบโดยตรงให้ทรัพยากรท้องถิ่นและประชาชนเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกันสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรในพื้นที่จึงมีแนวทางการแก้ไขปัญหาและที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบให้ดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องปลาหมอคางดำ และได้ประสานไปยังสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติและสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำร่วมกัน 

อ่านรายละเอียดการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ เพิ่มเติมที่
หมุด C-Site

อย่างไรก็ตามจากการสืบค้นมาตรการและแนวทางดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า กรมประมงมีแนวทางการแก้ปัญหาลดจำนวนปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยประกาศเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560  คือ

  • พบว่าปลาบางตัวมีลักษณะคล้ายลูกผสมระหว่างปลาหมอเทศและปลาหมอคางดำ จึงการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ปลาจึงมีความเป็นไปได้ เพื่อลดความดุร้าย และเพิ่มคุณค่าทางอาการรวมถึงคุณภาพของเนื้อปลา การแปรรูป เพื่อให้ตลาดมีความต้องการและมีราคาสูงขึ้นเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของปลาเป็นการลดจำนวนปลาในธรรมชาติทางหนึ่ง
  • การปล่อยปลากินเนื้อ เช่น ปลากะพงขาว ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรทำด้วยความระมัดระวัง เพราะปลากะพงขาวอาจเลือกกินสัตว์น้ำหรือปลาชนิดอื่น ๆ ที่จับกินได้ง่าย จากในแหล่งน้ำธรรมชาติก่อนที่จะเลือกจับปลาหมอคางดำกิน และปลาหมอคางดำวัยอ่อนก็หลบอยู่ในปากของพ่อปลา ทำให้ยากที่ปลากะพงขาวจะจับกินได้โดยง่าย ซึ่งแตกต่างจากปลาหมอคางดำที่พบในบ่อ ปลากะพงขาวจึงจำเป็นที่จะต้องกินปลาหมอคางดำ เพราะไม่มีปลาเหยื่อหรือสัตว์น้ำชนิดอื่นให้กิน ดังนั้นการปล่อยปลากะพงขาวลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติต้องมีการตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าแหล่งน้ำนั้นถูกปลาหมอคางดำบุกรุกจนแทบไม่มีสัตว์น้ำชนิดอื่นอยู่เลย จึงเหมาะสมที่จะปล่อยปลากะพงขาวลงไปเพื่อควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำ
  • การกำจัดปลาหมอคางดำออกจากบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติและแหล่งน้ำธรรมชาติยังมีความยุ่งยากและอาจไม่ได้ผลดีเพราะปลาชนิดนี้สืบพันธุ์และโตเร็ว การศึกษาวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่า เป็นแนวทางที่ดีในการควบคุมประชากรของปลาหมอคางดำไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นโดยปราศจากการควบคุม จนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำท้องถิ่น
  • เป็นบทเรียนที่สำคัญของการนำสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยโดยขาดการรับผิดชอบและการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ

อีกทั้งกรมประมงยังออกประกาศจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 บังคับใช้เมื่อ 19 มีนาคม 2562 เพื่อคุมเข้มพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นเพื่อตัดวงจรการแพร่พันธุ์และคุ้มครองสัตว์น้ำพื้นถิ่น และป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของไทยไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยมีสัตว์น้ำ 13 ชนิด ซึ่งปลาหมอคางดำ คือ 1 ในนั้น

อย่างไรก็ตามยังไม่มีการแก้ปัญหาหรือออกนโยบายเพื่อเร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำระบาดในน่านน้ำไทยโดยตรง ซึ่งถ้าหากภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ที่เป็นชายฝั่งทะเลทุกจังหวัดที่พบเจอและได้รับผลกระทบโดยตรงจากปลาหมอคางดำต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อยับยั้งการเกิดใหม่ และไม่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำพื้นถิ่นให้สูญพันธุ์

ทีมงานสำนักเครือข่ายฯ ไทยพีบีเอส ชวนผู้ที่พบเจอปลาหมอคางดำในพื้นที่ใกล้บ้านร่วมกัน ผ่านการปักหมุดรายงานเข้ามาใน C-Site เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ร่วมกัน

https://www.csitereport.com/nexusans?token=d3b7318a627f1cf9649ddfbfb4868860

อ้างอิง

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์์น้ำชายฝั่ง เขต 2 (สมุทรสาคร) กรมประมง

งานที่เกี่ยวข้อง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ