ชีวะตะลุมบอน สำรวจนิเวศ ตามหาสัตว์ต่างถิ่นรุกราน ที่บางสะแก สมุทรสงคราม

ชีวะตะลุมบอน สำรวจนิเวศ ตามหาสัตว์ต่างถิ่นรุกราน ที่บางสะแก สมุทรสงคราม

ทุกสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกันยายนคือ วันแม่น้ำสากล (World Rivers Day) โดยในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2566 มีกิจกรรมสำรวจแม่น้ำใกล้บ้านกว่า 80 สายทั่วโลก หรือ The Home River Bioblitz รวมถึงประเทศไทยเองมีทั้งหมด 2 พื้นที่ คือ แม่น้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา และแม่กลอง สมุทรสงคราม

เป้าหมายของกิจกรรมนี้ เพื่อเชิญชวนพลเมืองประชาชนทั่วไปมาสำรวจศึกษา ทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายของระบบนิเวศที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ เพื่อสร้างฐานข้อมูลเปิด จับตาการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่เกิดขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ที่จะเข้ามารุกรานสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นอย่างปลาหมอคางดำ ที่กำลังแพร่กระจายในหลายพื้นที่ในตอนนี้

สำรวจสัตว์น้ำ บริเวณรีสอร์ทบ้านสวนลิ้นจี่

สำรวจดิน ฟ้า ป่า น้ำ ของผู้หลงใหลธรรมชาติ

ที่บางสะแก อำเภอบางคนที สมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศ มีระบบน้ำลักจืดลักเค็มคือ การผสมผสานระหว่างน้ำจืดจากแม่น้ำแม่กลอง น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยตอนใน และน้ำกร่อย พื้นที่นี้จึงอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยสัตว์และพันธุ์พืชหลากหลายชนิดสำคัญที่เหมาะกับการเป็นพื้นที่ในการสำรวจ

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 66 ห้องเรียนสุดขอบฟ้าและนักศึกษาจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจ และบันทึกข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำประจำถิ่นบริเวณคลองบางสะแก โดยใช้แนวคิดวิทยาศาสตร์พลเมือง และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์คือ iNaturalist แอพพลิเคชันบนมือถือ และแพลตฟอร์ม Anecdata ในการบันทึกข้อมูล รูปภาพ และตำแหน่งที่สำรวจ เพื่อเป็นฐานข้อมูล ดูการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ และนก ซึ่งได้จัดกิจกรรมนี้เป็นครั้งที่ 2

iNaturalist เครื่องมือในการบันทึกข้อมูลสำคัญจากการสำรวจพื้นที่

ผลจากการสำรวจในภาพรวมความหลากหลายของระบบนิเวศ พบสัตว์ประมาณ 10-15 ชนิด มีปลา เช่น ปลาซิว บริเวณรีสอร์ทบ้านสวนลิ้นจี่ มีแมลงทั่วไปเช่น แมงมุมกระโดด หนอนตัวปล่องที่บ่งชี้คุณภาพของน้ำว่ายังมีคุณภาพที่ดี

ส่วนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานหรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ซึ่งเป้าหมายในการสำรวจครั้งนี้คือ ปลาหมอคางดำ พบ 2 จุดคือ คลองบางสะแกใหญ่ บริเวณด้านหลังของวัดบางสะแก และคลองรอยต่อบางสะแกกับบางกุ้ง เป็นปลาหมอคางดำเพศเมีย ลักษณะอ้วนสมบูรณ์พร้อมกระจายพันธุ์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่พบมีลักษณะตัวเล็กอยู่ และคาดว่าจะสามารถแพร่กระจายสู่คลอง และเส้นทางน้ำอื่น ๆ ได้ เนื่องจากพื้นที่ระบาดตั้งต้นไม่สามารถรองรับปริมาณของปลาหมอคางดำได้แล้ว (over population)

เชาวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวว่า ในพื้นที่แม่กลอง ระบบนิเวศทั่วไปส่วนใหญ่เป็นระบบน้ำจืด มีพันธุ์ปลาหลายชนิดที่บ่งชี้ได้ว่าความหลากหลายชีวภาพดีอยู่ เช่น ปลาตะเพียน ปลาไส้ตัน ปลาบู่ เป็นต้น แต่สิ่งที่น่าวิตกกังวลคือ ปลาหมอคางดำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตถ้าไม่มีการจัดการก็จะเป็นเหมือนกับพื้นที่อื่น เช่น เพชรบุรี แม่น้ำหลายสายของต้นน้ำปากอ่าวไทยที่มีการแพร่ระบาดอย่างมากและสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสังคม

อีกประเด็นคือการเรียกชื่อปลาชนิดนี้ อาจารย์เชาวลิตเสนอว่า ควรเรียกว่าปลาหมอคางดำ ไม่ใช่ปลาหมอสีคางดำเพราะ ปลาหมอสีหมายถึงปลาสวยงามที่นำมาเพาะเลี้ยงในตู้ ส่วนปลาหมอคางดำถูกนำเข้ามาโดยบริษัทขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเหมือนกับปลานิล แต่การนำเข้ามาไม่ได้ผล

ส่วนทางกรมประมงมีการมาตรการจัดการที่ดีที่ มีกฎหมายรองรับการนำเข้าอนุญาตและแนะนำว่าถ้าเอาเข้ามาไม่ใช้ประโยชน์ควรกำจัดทิ้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทางบริษัทได้มีการกำจัดแต่เกิดการแพร่ระบาดออกจากพื้นที่เพาะพันธุ์ไป และยังไม่เห็นมาตรการรองรับที่ชัดเจนจากฝ่ายที่นำเข้ามา

อีกวิธีคือผู้ได้รับผลประโยชน์จากการนำเข้ามาควรจะลงทุน 100% ในการกำจัด ต้นทุนในการกำจัดส่วนใหญ่จะเป็นทางกายภาพคือ เครื่องมือ กำลังคน และพลังงานที่ใช้ในการกำจัดแหล่งน้ำ หาแนวทางพัฒนาเครื่องมือประมงที่จับได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ไม่กระทบปลาพื้นถิ่น สุดท้ายควรจะมีการประเมินความเสียหายจากหลาย ๆ ฟาร์ม

รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อธิบายภาพปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (invasive alien species) ว่าเป็นปัญหาระดับโลก โดยความเสียหายเพิ่มขึ้นตามเวลาที่ปล่อยไป หรือตามมาตรการการจัดการ กรณีการจัดการของต่างประเทศ เช่น การใช้สารเคมี การจัดการทางกายภาพ ใช้ไฟฟ้าช๊อต การจัดการทางชีวภาพ เช่น ใช้ปลากระพงขาว หรือจับมาขาย

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีองค์ความรู้ในการจัดการแต่ยังไม่ถูกประเมินว่าเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สามารถสนับสนุนกองทุนงานวิจัย สร้างระบบข้อมูล (AI) ปลาหมอคางดำ โดยใช้ Ecological Niche Models (ENMs) วิเคราะห์ว่า สามารถแพร่กระจายไปที่ไหน ในแหล่งน้ำเพื่อเตรียมการรองรับส่วนแนวทางการจัดการข้อมูล แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. ประเมินขอบเขตและอัตราการแพร่การจายของปัญหา โดยมีวิทยาศาสตร์ภาพประชาชนร่วมกับระบบสารสนเทศ
  2. คาดการณ์ เตือยภัยล่วงหน้าเพื่อการป้องกัน (AI)
  3. กำจัด/ควบคุมการแพร่กระจาย ด้วยวิธีทางเคมี/ชีวภาพ/กายภาพ/บริโภค
  4. ลดความเสียกายของชาวประมง/เพิ่มมูลค่าของปลาหมอคางดำ

เฝ้าระวัง จับตา บันทึกข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม นักวิจัย หน่วยงานและพลเมือง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่มีการนำเข้ามาตั้งแต่ปี 53 เพื่อทดลองขยายพันธุ์ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่ามีการหลุดออกจากศูนย์เพาะเลี้ยง กระจายพันธุ์คุกคามบ่อเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกและทำลายระบบนิเวศโดยรวม

ในสมุทรสงคราม ผู้แทนสำนักงานประมงจังหวัด จากกรมประมง กล่าวว่า จุดที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำคือ บริเวณน้ำกร่อยและน้ำเค็ม ส่วนอำเภอที่พบ 2 อำเภอคือ อำเภออำพะวาและอำเภอเมือง

นอกจากนี้แบ่งพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็น 2 ส่วน ได้แก่ บ่อเลี้ยงของเกษตรกร ซึ่งเลี้ยงกึ่งธรรมชาติน้ำจากข้างนอกเข้าบ่อเลี้ยง จึงมีโอกาสที่ปลาหมอคางดำจะเข้าไป และส่วนธรรมชาติ ในพื้นที่สมุทรสาครเป็นเมืองคลอง 300 กว่าแห่ง จึงง่ายต่อการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ

เบื้องต้นทางกรมประมงได้ดำเนินการเรื่องปลาหมอคางดำในหลายส่วน ดังนี้

  1. หาตลาดรับซื้อ ปลาหมอคางดำที่เกิดจากบ่อเพาะเลี้ยง ในราคา 7 บาทต่อกิโลกรัม มีการดีลกับโรงงานปลาป่นที่สมุทรสาคร แต่ถ้าราคาต่ำกว่านั้นทางผู้ว่าฯ จะสนับสนุนงบประมาณ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม แต่มีอุปสรรคคือ ยังไม่มีเกษตรกรเข้าร่วม เพราะลักษณะการจับของเกษตรจับปีทีหน และการจับระหว่างปีจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
  2. แนะนำเตรียมบ่อเลี้ยง ถุงกรองสัตว์น้ำที่จะเข้าบ่อ
  3. ตั้งกองทุนกากชา ซื้อกากชาในราคาตุ้น หมุนเวียนให้เกษตรกรซื้อไปใช้ประโยชน์
  4. ส่วนพื้นที่ธรรมชาติขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละคลอง ผนวกกับโครงการลงแขกลงคลองเดิมเพื่อกำจัดวัชพืช บำรุงให้น้ำดีอยู่ตลอด มาเพิ่มการจับปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศ
  5. วิจัยเรื่องสัตว์น้ำผู้ล่า ปล่อยพันธุ์ปลากระพงเพื่อกินปลาหมอคางดำทั้งหมด 2 ครั้ง ข้อสังเกตทุกครั้งในการปล่อยตัวอ่อนของปลาหมอคางดำลดลง และกำลังทดลองปล่อยปลาอีกง ซึ่งเป็นสัตว์พื้นถิ่นของที่นี่ รวมถึงปลาชะโดอาจต้องมีปรับความเค็มเนื่องจากปลาชะโดชอบน้ำจืด
  6. มีทดลองใช้เครื่องมือ เช่น แหหว่าน ได้ทั้งในบ่อเลี้ยงและแหล่งธรรมชาติ หรือเครื่องมือที่ไม่อนุญาตไอโง่ (เครื่องมือลอบพับได้) ในบ่อเลี้ยงได้แต่ในแหล่งธรรมชาติไม่ได้

ด้านกฎหมาย ชำนัญ ศิริลักษณ์ ทนายความและผู้เชี่ยวชาญกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน กล่าวว่า เรื่องที่ควรพูดคือ ความเสียหายและผลกระทบของระบบนิเวศที่เกิดขึ้น ไม่ได้แค่มีปลาปลาหมอคางดำแต่หมายถึงสัตว์ตัวอื่นหรือสัตว์ท้องถิ่นที่หายไป เพราะหน้าที่พื้นฐานของรัฐคือกำกับดูแล อนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบมีทั้งบ่อของเกษตรกรและพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งอย่างหลังสำคัญต่อทรัพยากรของคนรุ่นหลัง

ฉะนั้นต้องควบคุมห่วงโซ่อาหารของปลาหมอคางดำซึ่งปกติไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของเรา ในขั้นตอนการแก้ไขคิดว่าดีอยู่แล้ว แต่อาจต้องคิดต่อหรือไปการแก้ไขเฉพาะทางอย่างกฎหมายที่มีข้อจำกัด อาจต้องมีการปลดล๊อคเพื่อให้ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สมนึก ซันประสิทธิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิโลกสีเขียว วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองสำคัญ ขณะเดียวกันเรื่องปากท้องก็สำคัญเช่นกัน ตอนนี้ปัญหาเข้าใจตรงกันแล้วว่าต้องแก้ไข สิ่งที่เครือข่ายวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองร่วมกันทำคือ มีกระบวนการทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้ว่าสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ได้พูดถึงกันอย่างตัวอ่อนแมลงปอน้ำ ปูตัวเล็ก ๆ จะหายไปตามการมาของสิ่งมีชีวิตรุกรานชนิดนี้ แล้วจะมีชนิดใหม่ ๆ เพิ่มมาอีก

การใช้วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองและบันทึกข้อมูล จะเป็นพลังสำคัญมากในการบอกว่าที่นั้น ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร กิจกรรม The Home River Bioblitz ที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์สำรวจ 80 สายน้ำทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยก็ทำ 2 ที่คือบางสะแกและบางปะกง ทำให้เห็นว่าการทำข้อมูลอย่างต่อเนื่องสำคัญ

เครือข่ายวิทยาศาสตร์พลเมืองพร้อมสนับสนุน มีกระบวนการที่ทำให้เกิดความรู้เข้าใจ มีเด็กรุ่นใหม่ที่พร้อมจะรายงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

ระบบนิเวศปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน เพราะการพัฒนาต่าง ๆ ของอุตสาหกรรม หรือการใช้สารเคมีทำเกษตร รวมถึงปรากฏการณ์สัตว์ต่างถิ่นรุกรานอย่างปลาหมอคางดำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนสัตว์พื้นถิ่นหายไป อีกทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและระบบนิเวศ หน่วยงานและนักวิจัยก็มีการจัดการ ศึกษาวางแผนเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันกลุ่มภาคพลเมืองเองก็เข้ามามีส่วนร่วมซึ่งเป็นกำลังสำคัญ นอกจากสำรวจระบบนิเวศของพื้นที่แล้ว แต่ยังสังเกต จับตาสัตว์ต่างถิ่นหรือสัตว์พืชพันธุ์เดิมที่หายไป นำมาบันทึกเป็นฐานข้อมูลสำคัญไว้ศึกษาต่อเพื่อวางแผนรับมือในการจัดการ ป้องกันไม่ให้เกิดการรุกรานจนถึงขั้นสูงสุด

วันที่ 25 กันยายน 2566 จัดวงสาธารณะ “นิเวศลุ่มน้ำแม่กลอง กับปลาหมอคางดำ” ข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังและการรับมือแบบรวมหมู่ ร่วมจัดโดยประชาคม คนรักแม่กลอง, มนต์รักแม่กลอง, สมุทรสงครามอยู่ดี, มูลนิธิโลกสีเขียว, C-Site Thai PBS, นักข่าวพลเมือง และ PI Thai PBS สามารถชมไลฟ์ย้อนหลังได้ลิงก์ที่แนบไว้

https://web.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=337870312037115

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ