ไปต่อ! กับแผนจัดการปลาหมอคางดำ จนถึงชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่นในไทย

ไปต่อ! กับแผนจัดการปลาหมอคางดำ จนถึงชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่นในไทย

หากคุณอยู่ในกลุ่ม siamesis.org เป็นกลุ่มของคนที่รักและสนใจสิ่งแวดล้อม จะเห็นโพสต์ถามถึงปลาชนิดหนึ่งแพร่ะกระจายอยู่เต็มลำคลองหรือปากอ่าวแม่น้ำเต็มไปหมด เรียกได้ว่าเกือบทุกที่เจอปลาชนิดนี้มากกว่าปลานิลหรือกุ้งเสียแล้ว มันคือ”ปลาหมอคางดำ” (Blackchin tilapia) สัตว์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาในไทย แพร่กระจายไปหลายพื้นที่จนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ระบบนิเวศท้องถิ่น และวิถีชีวิตของคนจนขึ้นทะเบียนเป็นชนิดพันธุ์รุกราน (Invasive Alien species) ที่ห้ามนำเข้าและต้องกำจัดทิ้ง 

พูดถึงที่มาของปลาหมอคางดำสรุปสั้นๆ คือถูกนำเข้ามาโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ แต่ไม่สำเร็จเลยยกเลิกและกำจัดทิ้งไป แต่มีชาวบ้านเห็นปลาหมอคางดำตามลำคลองและแพร่พันธุ์ไปในบ่อเลี้ยงกุ้งปลาของเกษตรกร หน่วยงานรัฐโดยกรมประมง จึงได้ออกมาประกาศห้ามเพาะเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ ทั้งออกแนวทางปฏิบัติ ให้คำแนะนำวิธีการป้องกันและควบคุมปลาหมอคางดำ แต่ยังไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร (อ่านที่มาปลาหมอคางดำเพิ่ม)

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่มีการระบาดชาวบ้านมีปฏิบัติการป้องกัน และกำจัดในแต่ละพื้นที่ โดยสามารถแบ่งรูปแบบการจัดการตามลักษณะของช่วงวัยปลาหมอคางดำ จะแบ่งได้ดังนี้

ช่วงก่อนวางไข่หรือบำบัดบ่อเลี้ยง จะใช้กากชาในการป้องกัน ส่วนในช่วงที่ปลาหมอคางดำเป็นตัวอ่อน หรือมีขนาดไม่เกิน 7 เซนติเมตร จะใช้ปลานักล่าควบคุม เช่น ปลากระพงหรือปลาอีกงเพื่อกินปลาหมอคางดำ แต่อาจจะไปกินปลาชนิดอื่นแทนหรือพอมีก้ามที่แข็งปลานักล่าก็จะไม่กิน ยิ่งโตเต็มวัยวธีการจัดการที่ทำได้คือใช้อวนราก หรือแหล้อมจับเท่านั้น

เมื่อนำเอารูปแบบการจัดการมาแบ่งตามพื้นที่ระบาด 2 ประเภท คือ บ่อเลี้ยงเกษตรกร และแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ลำคลอง, ปากอ่าว จะพบว่า การจัดการในบ่อเลี้ยงเกษตรกรมามีมากกว่าแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นระบบเปิดและยากต่อการควบคุมหรือกำจัด และนี่คือสิ่งที่ชาวบ้าน และคนในพื้นที่ปฏิบัติกัน

แล้วทำอย่างไรถึงจะจัดการปลาหมอคางดำได้

ปัญหาปลาหมอคางดำมีมากว่า 10 ปี และหนักขึ้นทุกวัน การจัดการก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกันดี โครงการห้องทดลองปัญญารวมหมู่ จึงจัดกิจกรรม Policy Forum ปลาหมอคางดำ เพื่อหาแนวทางการจัดการสัตว์ต่างถิ่นรุกราน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 โดยเชิญคนที่ทำงานพื้นที่และผู้เชี่ยวชาญมาระดมความคิดเห็นร่วมกัน

สถานการณ์พื้นที่ในตอนนี้คือมีปลาหมอคางดำเต็มในหลายพื้นที่ ผมเห็นว่าเป็นวิกฤตต้องปรับเปลี่ยนอาชีพตอนนี้ก็มาทำร้านอาหารเพราะว่าอาชีพเดิมอยู่ไม่ได้สถานการณ์คนในพื้นที่ถ้าไม่ปรับตัวก็จะลำบาก เพราะฉะนั้นมันกระทบกับเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างแรงเลยและก็กระทบอีกหลายพื้นที่

ปัญญา โตกทอง คณะกรรมการลุ่มน้ำเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์  กล่าวถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดในพื้นที่จากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และขยายวงกว้างไปในหลายแห่ง ชาวบ้าน เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงต่างได้รับผลกระทบไปตามกัน

ปัญญา โตกทอง ชาวตำบลแพรกหนามแดง สมุทรสงคราม นักวิจัยชาวบ้านที่หาแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่ รวมถึงปัญหาปลาหมอคางดำที่ติดตามและหาร่วมแนวทางแก้ไขอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นและหารือแนวทางการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำจากตัวแทน 4 จังหวัด สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, เพชรบุรีและกรุงเทพมหานคร ที่บ้านไม้ชายเลน รีสอร์ท สมุทรสงคราม โดยมีข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาหลักๆ คือ รัฐต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับ ศึกษาวิจัยหาแนวทางในการควบคุมทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ เช่น ทำหมันปลาหมอคางดำ การใช้เครื่องมือพื้นถิ่นในการจับและที่สำคัญผู้นำเข้าต้องร่วมรับผิดชอบกับปัญหา (อ่านข้อเสนอฉบับเต็มได้ที่ข้างล่าง)

ถ้าพูดถึงเรื่องปลาแล้วก็ต้องนึกถึงอจ.ชวลิต เพราะทำงานวิจัยและออกเดินทางไปหลายที่เพื่อศึกษาและค้นหาปลาชนิดใหม่ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญสัตว์น้ำ ขยายต่อประเด็นการรับผิดชอบร่วมกันของปัญหา ไม่ใช่แค่ฝั่งรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ก่อปัญหาหรือก่อมลพิษต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เพราะภาครัฐพยายามทำดีที่สุดแล้วในการแก้ไข หางบประมาณมาทำซึ่งในแต่ละปีน้อยมาก มีภารกิจที่ต้องทำหลายอย่าง และได้ออกคำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรเมื่อเจอปลาหมอคางดำ

ส่วนการแก้ปัญหาเชิงนโยบายต้องให้ผู้ก่อปัญหา ลงทุน รับผิดชอบหรือเยียวยาในระยะยาว จนกว่าปัญหาจะหมดไปหรือไม่เหลือปลาชนิดนี้แล้ว ส่วนในพื้นที่ที่ยังเหลือปลาอยู่ ใช้คำว่ากำจัดอย่างบ้าคลั่ง ทำทุกวิถีทางให้มันหมดไป ตอนนี้ทางเทคนิคทางวิชาการมีเยอะแยะมากมาย เช่น ถ้าเป็นพื้นที่น้ำตื้นต้องใช้กากชาโรย เป็นวิธีที่กระทบกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ น้อยที่สุด

ฉะนั้นการกำจัดต้องมีเป้าหมายให้เหลือศูนย์ โดยเริ่มจากจุดที่ไกลสุดแล้วคอยกำจัดเข้ามายังพื้นที่มากสุด นึกภาพการหยดสีลงกระดาษตรงกลางจะเข้มสุดส่วนขอบจะจางสุด นั่นหมายถึงส่วนจางสุดจะเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย และแต่ละที่ก็ต้องกำจัดไปพร้อมๆ กันโดยมีเป้าหมายทำให้หมดไป

อาจารย์เพชร ทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกมาหลายแห่ง และขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติเรื่อยมา

อีกด้าน ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิชาการด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ขยายภาพรวมของปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน โดยมีกรณีปลาหมอคางดำเป็นตัวอย่างว่า ประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง พอมีสัตว์ต่างถิ่นเข้าอาจจะไม่เห็นผลกระทบมาก ยกเว้นตัวที่ดุและรุกราน ฉะนั้นคนที่ไม่ได้รับผลกระทบมากก็อาจจะไม่เข้าใจหรือมองเห็นว่าเป็นปัญหาอย่างไร และเห็นด้วยกับเรื่องผู้ก่อมลพิษจะเป็นคนร่วมรับผิดชอบ

เราต้องสรุปบทเรียนกรณีปลาหมอคางดำกับชนิดพันธุ์อื่นๆ ว่ามีผลกระทบ เสียหายอย่างไร จะต้องมีการจับตาชนิดอื่นที่หรือไม่ ซึ่งจะทำให้คนเห็นมีความรู้มากขึ้น ช่วยให้เขาสังเกตระบบนิเวศรอบตัวอย่างละเอียดขึ้นว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือชนิดไหนที่ผิดสังเกต การสร้างระบบชุมชนให้มีความรู้ก็จะเป็นหูเป็นตาที่สำคัญที่สุดเป็นเหมือนสัญญาณเตือนตั้งแต่มันยังไม่เกิดปัญหารุนแรง

ทำไมถึงต้องสนใจ เอเลี่ยนสปีชีส์ตัวอื่น

ปลาหมอคางดำ เป็นกรณีตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นภาพปัญหาและผลกระทบที่ตามมา หากเราไม่มีแผนการรับมือกับการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่นำเข้ามาในประเทศ ซึ่งหากมองไปรอบตัวแล้วจริง ๆ มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมากมายอยู่เต็มไปหมด ทั้งผัก ผลไม้ที่เรารับประทานแต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างผลกระทบอะไร

แต่ส่วนที่น่ากังวลคือ ชนิดรุกราน (Invasive Alien Species) ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของคนต่างหากที่เราจะต้องสังเกต จับตาร่วมกันเพื่อป้องกันแต่ต้น หากมีการพบชนิดพันธุ์รุกราน

ดร.เพชร ได้นำเอาข้อมูลจากรายงานของ ipbes มาเล่าให้ฟังว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเป็น 1 ใน 5 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรืออย่างปลาหมอคางดำเองที่ถูกนำเอาเข้ามาโดยมนุษย์หรืออาจจะติดกับมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่ทุกชนิดที่จะสร้างผลกระทบต่อสังคม แต่ชนิดรุกรานเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะสามารถขยายพันธุ์จนสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจและวิถีวิตของคน

ถ้าไม่มีการจัดการที่ดีขึ้นอัตราหรือแนวโน้มจำนวนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก 30% ภายใน 20 ปีข้างหน้า

นอกจากมนุษย์ที่เป็นปัจจัยหลักของการขยายตัวชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็เกี่ยวข้อง ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมทั้งหน่วยงานและชุมชนในการป้องกันตั้งแต่ระดับต้น ให้ความรู้ ศึกษามาตรการควบคุมที่ได้ผล และประชาสัมพันธ์ให้กับพื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาดให้ทั่วถึงก็เป็นกุญแจสำคัญเช่นกัน

นอกจากนี้ ประชาชนยังมีส่วนร่วมได้ โดยทำกิจกรรม วิทยาศาสตร์พลเมือง (citizen science) ร่วมกับนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ สำรวจสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ รวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อทำให้เห็นภาพว่า พื้นที่นั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร รวมไปถึงเรื่องของการตรวจชนิดพันธุ์ต่างถิ่นว่ามีเยอะมีน้อยขนาดไหนและมีตัวไหนที่จะต้องจับตาเป็นพิเศษ เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายจนไม่สามารถควบคุมได้เหมือนปลาหมอคางดำ

การตรวจสุขภาพสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ หรือแนวทางอย่างวิทยาศาสตร์พลเมือง การอ่านสิ่งแวดล้อม สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพเบื้องต้นก็สามารถสนับสนุนส่วนนี้ได้

ในข้างหน้าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนอย่างปลาหมอคางดำ ดร.ชวลิต เสนอขั้นตอนแผนป้องกันการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน โดยกระดุมเม็ดแรกถ้ามีการขออนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมายจะนำสัตว์พืชต่างถิ่นเข้ามา จะต้องมีการวิจัยชัดเจนว่าชนิดนั้นจะเป็นผลกระทบหรือรุกรานได้มากน้อยแค่ไหน สอง จะต้องมีกฎหมายกำกับ บทลงโทษชัดเจนหากนำเข้ามาแล้วสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และสาม แต่ละชนิดจะต้องมีข้อแนะนำในการจำกัดการเลี้ยงไม่ให้มีโอกาสหลุดออกไปได้

ปลาหมอคางดำ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานเป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า ชนิดพันธุ์พันธุ์ต่างถิ่น โดยเฉพาะชนิดรุกรานนั้นเป็นปัญหาและสร้างผลกระทบกับเราอย่างไร หากไม่มีมีแผนรับมืออย่างจริงจัง

ในอนาคตมีแนวโน้มการระบาดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานเพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะมนุษย์ จึงต้องมีแผนการจัดการ ป้องกันและควบคุมที่ชัดเจน ที่เกิดจากการทำร่วมกันกับหลายภาคส่วน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจนไม่สามารถควบคุมได้

ชมย้อนหลังได้ที่

งานที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

ชีวะตะลุมบอน สำรวจนิเวศ ตามหาสัตว์ต่างถิ่นรุกราน ที่บางสะแก สมุทรสงคราม

ฟังเสียงประเทศไทย : ภัยคุกคาม “ปลาหมอคางดำ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ