บทสนทนาว่าด้วยเรื่อง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานและแนวทางการรับมือ กับ นณณ์ ผาณิตวงศ์

บทสนทนาว่าด้วยเรื่อง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานและแนวทางการรับมือ กับ นณณ์ ผาณิตวงศ์

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกมีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของมันเอง เวลาพูดสัตวภูมิศาสตร์หรือการกระจายพันธุ์ของสัตว์ตามธรรมชาติ เวลาพูดถึงเอเลี่ยนสปีชีส์ไม่ได้พูดถึงพรมแดนของประเทศ ถ้าเอาปลาบึกที่อยู่ในแม่น้ำโขงมาปล่อยในแม่น้ำเจ้าพระยาก็นับว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์เหมือนกัน

ลักษณะภูมิประเทศแต่ละส่วนต่าง ๆ ของโลกซึ่งมีความแตกต่างกัน ทั้งสภาพภูมิอากาศ และพืชพรรณ ทำให้สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการ การกระจายตัวตามธรรมชาติหรือเรียกว่า สัตว์ภูมิศาสตร์ (zoogeographical range) จึงมีสัตว์และพันธุ์พืชหลากหลายชนิดให้เราเห็นในปัจจุบัน

โดยปกติแต่ละระบบนิเวศมีกลไกหรือวงจรทางธรรมชาติมันอยู่ เสมือนโปรแกรมหนึ่งที่ถูกตั้งค่าไว้อย่างดี แต่พอมีการรบกวนหรือสิ่งแปลกปลอมจากกิจกรรมของมนุษย์เข้าไปทำให้โปรแกรมนั้นรวนระบบนิเวศก็เช่นกัน

นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้หลงใหลในสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและปลาน้ำจืดไทย ยังเป็นผู้ก่อตั้ง siamensis.org กลุ่มสาธารณะที่แชร์ความรู้ ธรรมชาติวิทยา ภาพถ่ายข้อมูลของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ของคนสนที่ใจสิ่งแวดล้อมมารวมตัวกัน มาขยายความเข้าในเรื่องสัตว์ต่างถิ่นหรืออีกชื่อ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่แนวโน้มในอนาคตจะมีเพิ่มขึ้นมาก

อาจารย์นณณ์ ยกตัวอย่างปลาน้ำจืด จะถูกกำจัดขอบเขตด้วยทางไหลของน้ำ เช่น ปลาบึกจะเจอเฉพาะในแม่น้ำโขงที่เดียวในโลก หรือมีนกบางชนิดที่สามารถบินจากรัสเซียไปออสเตรเลียได้ ขณะเดียวกันก็มีนกบางชนิดที่เจอเฉพาะเขาหินปูนลูกเดียวเช่นแถวลาว หรือสระบุรี

ดังนั้น เอเลี่ยนสปีชีส์จึงเกิดจากการนำสัตว์หรือพืชจากระบบนิเวศหนึ่งไปอีกระบบนิเวศหนึ่งโดยมนุษย์ หรือง่าย ๆ คือ มนุษย์นำเข้ามานั่นเอง แล้วเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ว่ามันสร้างผลกระทบต่อสังคมเราหรือระบบนิเวศยังไง แล้วเมื่อมีตัวหนึ่งหลุดเข้ามาจะต้องรับมืออย่างไร

เอเลี่ยนสปีชีส์ชื่อฟังดูน่ากลัว สำหรับอาจารย์มองการรับรู้ของคนทั่วไปเป็นอย่างไรบ้าง

คุณชอบทานส้มตำหรือเปล่า รู้ไหม ส่วนประกอบทั้งหมดของเมนูส้มตำ พริก มะละกอ มะเขือเทศ กระเทียมทั้งหลายล้วนเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ทั้งหมด ทีนี้สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นไม่รุกรานกับสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกราน

สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นไม่รุกราน ยกตัวอย่างเช่น มะละกอ พริก อ้อย ต้นยูคาลิปตัส ปศุสัตว์ต่าง ๆ ที่นำเข้ามาเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งเพื่อเกษตรหรือการค้า พอนำเข้ามาในระบบนิเวศแล้วไม่เกิดการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติเองหรือหลุดออกไปในธรรมชาติ

ส่วนสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกราน หรือ invasive species จะเป็นเมื่อเข้ามาแล้วสามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติเองได้ เช่นที่คุ้นเคยกันอย่าง ผักตบชวา หอยเชอร์รี่ แมวบ้าน ล่าสุดปลาหมอคางดำ ที่ขยายพันธุ์เองได้แล้วสร้างปัญหาผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม

ผมว่าเราเข้าใจเรื่องเอเลี่ยนสปีชีส์กันมากขึ้น ตอนผมอายุ 20 ปีที่แล้ว บางทีก็เหมือนพูดอยู่คนเดียวแล้วต้องอธิบายเยอะมาก แต่ตอนนี้ทุกคนได้รับผลกระทบจากเอเลี่ยนสปีชีส์ ทุกคนก็เข้าใจว่าเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข และช่วยกันระแวดระวัง มีการออกข่าวเพิ่มขึ้นแล้วจะมีตัวเด็ดเข้ามาใหม่เรื่อย ๆ อย่างสองปีที่แล้ว มีหนอนตัวแบนนิวกินี ล่าสุดก็หมอคางดำ จากเดิมที่มีแค่ผักตบชวา ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี

แนวโน้มอนาคตโลกจะเผชิญพืชและสัตว์ต่างถิ่นเพิ่มขึ้น อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ปัญหาเอเลี่ยนสปีชีส์ ไม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เกี่ยวกับความมีระเบียบวินัยของมนุษย์มากกว่า คือเราปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีการนำเอาชนิดต่างถิ่นเข้ามาในประเทศ ทั้งเพื่อเอามากิน เลี้ยงสวยงาม ทำวิจัยเพื่อทำเศรษฐกิจ แต่อยู่ที่ความมีวินัยของคนที่เอามาและคนที่ควบคุมกฎ ว่าเราทำอย่างถูกต้องและรัดกุมแค่ไหน

ยกตัวอย่างประเทศออสเตรเลียที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะ ระบบนิเวศค่อนข้างเปราะบาง คุมเรื่องการนำเข้าอย่างเข้มงวด การจะนำปลานำเข้าหนึ่งตัวจะต้องมีการรีวิวว่า ควรจะเอาเข้ามาไหม ถ้าเอาเข้ามามีผลกระทบอย่างไร มีความเสี่ยงที่จะเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์มากน้อยแค่ไหน

“ต้องมีกฎหมายที่รัดกุมยิ่งขึ้น มี 2 อย่างคือมีกฎหมายที่ต้องบังคับใช้ และมีการให้ความรู้กับประชาชนกับเอเลี่ยนสปีชีส์ที่มีมากขึ้น”

ประเทศไทยค่อนข้างอ่อนเรื่องเอเลี่ยนสปีชีส์ โดยเฉพาะตัวกฎหมาย เช่นกรมประมงเองก็ยังปล่อยเอเลี่ยนสปีชีส์ลงแม่น้ำเลย หรือตามวัดมีการปล่อยขายปลาเอเลี่ยนสปีชีส์อยู่ ซึ่งควรจะมีกฎหมายมาบังคับตรงนี้แต่เราไม่มี เช่น เต่าไทยผิดกฎหมายก็เอาตะพาบไต้หวันมาขายไทย แล้วก็ยังมีคนซื้อเอาปลาดุกบิ้กอุยมาเทปล่อยลงน้ำได้อย่างไม่มีกฎหมายข้อไหนห้ามได้ มันทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งรับรู้ว่าไม่ควร กับอีกลุ่มที่จะปล่อยหรือจะปลูก

กรณีปลาหมอคางดำ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจารย์เสนอวิธีรับมือแบบไหน

ปลาหมอคางดำ เป็นสัตว์ที่มีความพิเศษสามารถปรับตัวอาศัยอยู่ได้ทั้ง 3 น้ำ คือน้ำกร่อย ป่าชายเลน และน้ำเค็ม บริเวณที่กระแสน้ำไหลไม่แรง มีความยืดหยุ่นสูงกินทั้งพืช และสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงกุ้งตัวเล็ก ๆ แถมยังกระจายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วอีก นับว่าถ้าได้หลุดไปอยู่ในพื้นที่ไหนแล้วก็อยู่ได้สบาย

แต่เพราะความสามารถพิเศษนี้อาจจะทำให้สัตว์ท้องถิ่นเดิมไม่สามารถอยู่ได้ และยังสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสังคม กรมประมงฯ จึงออกประกาศห้ามเพาะสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ 13 ชนิด เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 64 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือปลาหมอคางดำ

อาจารย์นณณ์กล่าวว่า ทำไรไม่ได้แล้วกรณีปลาหมอคางดำ ไม่สามารถห้ามการกระจายพันธุ์ของปลาได้อีกแล้วเพราะมันหลุดไปในระบบเปิด ทำได้แค่ผ่อนหนักเป็นเบา เช่น อาจจะทำแข่งขันตกปลาหรือเจอเป็นฝูงต้องล้อมจับมา มีการเอามาใช้ประโยชน์รับซื้อเป็นเรื่องราว แต่จะห้ามไม่ให้แพร่กระจายเป็นไปไม่ได้แล้ว

การเก็บเอเลี่ยนสปีชีส์ที่หลุดออกจากพื้นที่แล้วยากมาก มีตัวอย่างทำได้ไม่กี่ที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่จำกัด พื้นที่ปิด เช่น หนูที่ไปแพร่พันธุ์บนเกาะแล้วก็ไปไล่กินไข่นก เขาก็ปล่อยยาเบื่อทั้งเกาะ แต่อย่างไทยไม่ได้ ปลาหมอคางดำหลุดไปในระบบเปิดหมดปากอ่าวหมดแล้ว

จากข้อมูลรายงานของประชาชนที่พบปลาหมอคางดำผ่านเครื่องมือ Inaturalist แพร่ระบาดหลายพื้นที่ เช่น ที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ระยอง ไปจนถึงภาคใต้ ภาคอีสาน และจากการรวบรวมพิกัดการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำลงในแผนที่ดิจิตอลของ ครอบครัวห้องเรียนสุดขอบฟ้า พบว่ามีผู้พบเห็นปลาหมอสีคางดำ ซึ่งเดิมระบาดในแหล่งน้ำภาคกลาง ได้เริ่มกระจายตัวอยู่บริเวณจังหวัดชุมพร และสงขลา เพิ่มขึ้น

ปลาหมอคางดำเป็นตัวที่โหดมากที่สุดที่เคยเห็นมา ไม่ใช่ว่าประเทศไม่มีปลากลุ่มชนิดนี้อยู่ เรามีปลานิล ตามเขตน้ำกร่อย มีปลาหมอเทศ ถ้าป่าชายเลนตอนในมีปลาหมอมายัน แต่ปลาหมอคางดำสามารถชนะปลาหมอเทศจนแถบจะสูญพันธุ์เลย แล้วก็กระจายพันธุ์เร็วมาก

อย่างปลานิลก็มีอยู่ทั่วประเทศ และไม่ใช่ปลาที่ขยายพันธุ์จนครอบครองพื้นที่เต็มไปหมด คืออยู่ร่วมไปกับปลาท้องถิ่นได้ แต่หมอคางดำคืออยู่ตัวเดียวเต็มไปหมด ซึ่งไม่เคยเห็นเหมือนกัน

ในระบบนิเวศที่สมบูรณ์เอเลี่ยนสปีชีส์จะเข้าไปอยู่ได้ยากมาก ยกตัวอย่างป่าเขาใหญ่ที่สมบูรณ์หรือว่าแหล่งน้ำลำธารที่ดี ๆ จะไม่ค่อยมีเอเลี่ยนสปีชีส์ เพราะว่าจะมีเจ้าถิ่นค่อยจัดการอยู่ แต่ปากแม่น้ำบ้านเราไม่ค่อยสมบูรณ์ ปลาถูกจับจนจำนวนลดลง ปลาที่เป็นผู้ล่าขนาดใหญ่ เช่น ปลากระพงขาว ปลากระพงแดง ซึ่งอาจะจะมาช่วยเราได้ถูกจับจนจะสูญพันธุ์ ดังนั้นพอมีกลุ่มปลาอย่างหมอคางดำที่กินทุกอย่าง ยืดหยุ่นมาก กินพืชก็ได้ สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ หรือซากก็ดี แล้วอยู่ที่ไหนก็ได้และยังเพิ่มจำนวนเร็วอีก เพราะว่าไม่ได้มีข้อจำกัดในการกินอยู่ของมัน เด็ดตรงที่อยู่สามน้ำได้อีกเลยไปกันใหญ่เลย

ส่วนตัวมองว่าธรรมชาติมันไม่ได้ชอบน้ำทะเลหรอก ชอบน้ำกร่อยมากกว่า ผมใส่หมุดไว้ที่พัทยาเจอที่โอเชียนมารีน่า ซึ่งมองดูมันก็ไม่ชอบเท่าไหร่ ดูเซ็งๆ แต่อยู่ก็ได้ ยกตัวอย่างน้ำเสียที่บางแสน กลายเป็นพื้นที่ว่างหมดละ ถ้าปลาท้องถิ่นกลับมาไม่ทันมีเอเลี่ยนพวกนี้เต็มไปหมดก็ยากละ

ยกตัวอย่างเอเลี่ยนสปีชีส์ สัตว์ท้องถิ่นมีการวิวัฒนาการการอยู่ร่วมกันมานาน เหมือนทีมกีฬาที่ฝึกกันมานาน ก็จะรู้ทางที่จะหลบหลีก เกิดบาลานซ์ แต่พอมีแปลก ๆ เข้ามาอย่างเอเลี่ยนสปีชีส์เข้ามา ใส่เข้าไปในระบบนิเวศ ซึ่งมันไม่เคยมี ประเทศไทยยังโชคดีที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เรามีความยืดหยุ่นในการรองรับ ในการโยนเอาสัตว์บางชนิดเข้าไปก็ไม่เดือดร้อนอะไร นานทีถึงจะมีแปลก ๆ แบบนี้มา

ปิดท้าย ในอนาคตเราจะเตรียมพร้อมอย่างไรเมื่อเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก

กว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2553 ที่กรมประมงอนุญาตให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง นำเข้าเข้าปลาหมอสีคางดำจากประเทศกานามาทดลองเลี้ยง พบว่าปลาได้ทยอยตายและแจ้งว่าได้ทำการกำจัดไปแล้ว แต่ต่อมาปี 2555 พบการระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรกในอ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามจนล่าสุดปี 2566 พบเจอเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ปากอ่าวไทย

วิธีเดียวที่จะป้องกันการรุกกล้ำปลาหมอคางดำหรือเอเลี่ยนสปีชีส์คือ ต้องสร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์ สามารถที่จะปกป้องตัวเองได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องช่วยจับมันออกไปในระดับหนึ่ง

รวมถึงกรมประมงกับบริษัทเอกชนที่ว่า และหน่วยงานท้องถิ่น ต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ จัดกิจกรรมช่วยกันจับก็ได้ หรือเจอเข้าบ่อของใครก็ช่วยกันทำลายก็ว่าไป จัดแข่งเมนูปลาหมอคางดำ โปรโมทเพราะที่ผ่านมาชาวบ้านบอกมันไม่อร่อย จะเอามาเป็นอาหารสัตว์ยังไงก็ได้ หาวิธีผ่อนหนักเป็นเบา หรือใช้ประโยชน์จากมันแทน

ส่วนชาวบ้านเป็นผู้เดือดร้อน เข้าใจปัญหาแต่ทุกคนไม่รู้ว่าจะแก้ยังไงมากกว่า เพราะปัญหาตอนนี้ใหญ่เกินที่จะแก้เองได้แล้ว

การอนุรักษ์สัตว์น้ำที่ดีสุดคือ เขตอภัยทาน ห้ามจับ ลำธารในภาคเหนือตามเขตอนุรักษ์ จะเห็นเลยว่าปลามีความหลากหลายสูง เทียบกับเขตที่ถูกจับ เวลาไปที่ไหนพยายามบอกชาวบ้านว่าจะต้องมีเขตแบบนี้ มีธนาคารปลา เก็บดอกจากปลาที่ล้นเกินออกมาข้างนอกเขตอนุรักษ์แทน

สำหรับปลาหมอที่อยู่ปากอ่าวไม่แน่ใจว่าถ้าสร้างขอบเขตจำกัดขึ้นมา แล้วมันจะเอื้อกับปลาหมอคางดำหรือจะทำให้ระบบนิเวศสามารถฟื้นกลับมาเองมีปลากระพงขาว ปลากระพงแดงมากินก็ไม่รู้จะยังไง

พอเป็นทรัพยากรของส่วนรวม ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ตราบใดที่ไม่มีกฎระเบียบมาควบคุม เหมือนปลาเล็กที่จับขึ้นคนก็รู้ว่าปล่อยไปเดี๋ยวก็โต แต่สิ่งที่คนคิดคือแต่ถ้าปล่อยไปก็มีคนอื่นมาจับอยู่ดี ดังนั้นก็จับดีกว่า มันกลายเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีใครมาดูแล เป็นเจ้าของ กลายเป็นหายนะของทรัพย์สินรวม

ฉะนั้นตราบใดที่ทรัพยากรถูกใช้โดยไม่มีกฎบังคับ เป็นกฎที่ยอมรับร่วมกัน จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำชุมชน หน่วยงานที่จะต้องคุยกับชาวบ้านให้เข้าใจว่า ทรัพยากรถ้าเราต่างคนต่างใช้ในที่สุดก็จะหมดไปไม่เหลือ อย่างที่เสนอถ้ามีขอบเขตหรือธนาคารที่ว่า อย่างน้อยก็จะยังมีทรัพยากรเหลือให้รุ่นต่อ ๆ ไป

การทำงานวิจัยเป็นอีกวิธีที่ช่วยได้ เพื่อจะดูว่าผลกระทบเป็นยังไง เช่น ลองจับปลาหมอคางดำขึ้นแล้วผ่าดูว่ามันกินสัตว์อะไรบ้าง หรือกั้นพื้นที่เพื่อดูองค์ประกอบส่วนต่าง ๆ ที่เกิดผลกระทบ ยกตัวอย่าง มีคนตกปลาดุกบิ้กอุยขึ้นมาแล้วผ่าดูก็พบกุ้งอยู่ในท้อง 2 ตัว ก็แสดงให้เห็นว่ามันกินอาหารของคน กินไปเท่าไหร่ก็จะประมาณการได้ เหมือนงาน ปลาดุกบิ้กอุย ก็จะได้ข้อมูลออกมาแล้วหาทางรับมือกัน

ในระบบนิเวศหนึ่ง ๆ มีโครงสร้างและกลไกถูกออกแบบมาให้เข้ากับสภาพอากาศ พืชพรรณและสัตว์ต่างห่วงโซ่ที่บทบาทสำคัญต่างกันไป แต่เมื่อสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยจากการแปลงพื้นที่เพื่อผลประโยชน์ต่าง ๆ

รวมถึงภาวะโลกรวน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอาจเปิดโอกาสให้สัตว์ต่างถิ่นรุกรานซึ่งเข้ามาโดยมนุษย์มีเพิ่มมากขึ้น จนสัตว์ท้องถิ่นไม่สามารถอยู่จนสูญพันธุ์ไป อย่างกรณีปลาหมอคางดำ

เมื่อระบบนิเวศสูญเสียความสามารถในการฟื้นตัวกลับมา สิ่งที่ทำได้ตอนนี้การวางแผนและเตรียมความพร้อมเพื่อให้ในอนาคตเรายังมีทรัพยากรธรรมชาติต่อไป เหมือนอย่างคำที่อาจารย์นณณ์กล่าว “ตอนนี้คือ หาประโยชน์และเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับมัน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ