ฟังเสียงประเทศไทย : ภัยคุกคาม “ปลาหมอคางดำ”

ฟังเสียงประเทศไทย : ภัยคุกคาม “ปลาหมอคางดำ”

“ปลาหมอคางดำ” ปลาต้องห้าม แต่พบว่ามีการแพร่กระจายอยู่ในกว่า 13 จังหวัดของไทยขณะนี้ นี่คือ Alien Species หรือสายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น ที่มีทั้งความอึด ทนทาน โตเร็ว และที่สำคัญยังอยู่ได้ในทุกแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม นั่นทำให้มันสามารถกระจายตัวไปในแหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว

ความเสียหายที่ตามมาคือ ปลาชนิดนี้กินทั้งลูกปลา ลูกกุ้ง และลูกหอย เป็นอาหาร กินเกลี้ยงแทบไม่เหลือ ยิ่งตอนเล็ดลอดเข้าไปในบ่อเพาะเลี้ยง ประมงหลายรายบอกว่า จับกุ้งขึ้นมาเจอแต่ปลาหมอคางดำ พอเอาไปขายก็ไม่ได้ราคา ทำให้ต้นทุนหายเกลี้ยงตามไปด้วย

ท่ามกลางคราบน้ำตา หลายภาคส่วนได้พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เช่น การปล่อยปลากินเนื้อ อย่างปลากะพงขาวลงไปในบ่อ เพื่อให้มันไปกินปลาหมอคางดำ หรือการช่วยกันจับไปทำอาหาร และคิดวิธีการแปรรูปสร้างมูลค่า แต่ก็ยังติดเงื่อนไขการห้ามโฆษณาสินค้าจากปลาหมอคางดำ รวมทั้งยังมีความกังวลว่านั่นจะเป็นการส่งเสริมให้มีสิ่งมีชีวิตนี้ยังคงอยู่ในลำน้ำ

ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในปัจจุบัน นำมาสู่การเปิดเวทีสนทนา “ฟังเสียงประเทศไทย: ภัยคุกคามปลาหมอคางดำ ที่วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) จ.สมุทรสาคร เพื่อพูดคุยกันถึงสาเหตุต้นตอของปัญหา และร่วมกันหาทางออกกับตัวแทนประมงพื้นบ้าน กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากกรมประมง นักวิชาการ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร และสภาเกษตรจากหลายจังหวัด กว่า 50 คน

เริ่มต้นด้วยการชวนคิด “ขอ 3 คำ ให้คนรู้จักปลาหมอคางดำ” เพื่อทำความรู้จักกับ เอเลียนสปีชีส์ อย่างปลาหมอคางดำ จากมุมมองของคนในพื้นที่และผู้เกี่ยวข้อง 

ฟังเสียงประชาชน มุมมองต่อปลาหมอคางดำ

“ตั้งแต่มีปลาหมอคางดำ ชาวประมงเรือเล็กมีผลกระทบมาก หนึ่งตามคลองเล็กคลองน้อยเคยมีเคยโก่ง มีเคยฝูง เคยมีลูกปลาหมอ ลูกปลากระบอก แม้กระทั้งกุ้งกระต่อม แต่พอมี Alien Species มาปลาอื่นหมดเกลี้ยง และมันแพร่พันธุ์เร็วมาก จากเมื่อก่อนตัวเท่าฝ่ามือประมาณ 3 นิ้ววางไข่ แต่ตอนนี้มันพัฒนาตัวเองเร็วมาก และทนต่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายมาก น้ำเสียก็ไม่ตาย บางวัง(บ่อเลี้ยง)เอากากชาโรยมันยังไม่อยากจะตาย หรือถ้ามันจะตายก็จะเอาหัวไปเกยแห้งคายไข่ออก นี่คือสภาพสิ่งแวดล้อมของมันที่ปรับตัวได้เร็วมาก” ประมงพื้นบ้านสมุทรสาคร

000

“สมุทรสาครเดือดร้อนมาก สมุทรปราการไกลนิดเราไม่รู้ แต่สมุทรสงครามเราก็ไม่เบา เพราะฉะนั้นถ้าตั้งชื่อจริงๆ คำว่าปลาหมอคางดำมันไม่น่ากลัวหรอก มันรู้แค่พี่น้องชาวประมงว่ามันทำลายมหาศาล เอาว่าถ้าไม่รีบกำจัดให้หายไปจาก 5 จังหวัดนี้ อาชีพประมงอยู่ไม่ได้ ผมต้องใช้คำว่าไอ้ตัววายร้าย ถ้าเปลี่ยนชื่อ ให้เปลี่ยนไปเลยว่าไอ้ตัววายร้ายให้รู้ว่าตัวเอเลี่ยนมันคืออะไร ชื่อคางดำแถวบ้านผมที่อยู่อัมพวาคนมองว่าปลามันกินได้” สมาชิกสภาเกษตร สมุทรสงคราม

000

“ช่วงที่มันระบาดอย่างหนัก เราคิดว่าเป็นปลาหมอเทศเผือก หรือปลาสลิดเผือก เกษตรกรก็จับไว้ ๆ แต่อยู่ ๆ มาพอเปิดบ่อได้ปลาหมอคางดำ 1 เข่ง ปลาหมอเทศเหลือ 3 เข่ง พออยู่ ๆ ไปเป็นปลาหมอคางดำทั้งนั้นเลย ตัวอย่างบ่อเลี้ยงของผมได้เชิญผู้ว่าฯ มาดูในบ่อและถามว่าจะแก้ไขอย่างไร ในราคากิโลกรัมละ 4 บาท ขายไปทำปลาร้า แต่ความจริงเขาให้ราคากิโลกรัมละ 3 บาท มันแก้ไม่ได้ อย่างบ่อของผมมีขนาด 70 ไร่ ขึ้นมา 15 ตัน ปล่อยลูกกุ้งขาวไป 7 แสนตัวไม่เหลือ และพบว่าอยู่ในลำคลองปลาหมอคางดำก็ลอยขึ้นมาเต็ม ที่ทางกรมประมงไปรับซื้อตอนนั้น มีการรับซื้อเพียงช่วงเดียว เกษตรกรก็ไปเอาขึ้นมา แต่ที่ตัวเล็กเท่าใบกระถินมันก็ยังอยู่” สุนทร รอดบุชัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 แพรกหนามแดง สมุทรสงคราม

000

“บ้านผมติดอ่าวคุ้งกระเบน มีปลาหมอคางดำคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ จากเกษตรกรที่ลงไปงมกุ้ง งมปูม้า ปกติลงไปช่วงเช้าจะได้คนละประมาณ 4-5 กิโลกรัม ตอนนี้ได้แค่ประมาณครึ่งกิโลเท่านั้น เอาอวนไปดักก็เจอกับปลาหมอคางดำจริง ตอนนี้รู้สึกกังวลเพราะในหมู่บ้านมีธนาคารปูม้า ตอนนี้ผมเพาะปูม้าให้ปลาหมอคางดำกิน ความสาหัสสากรรจ์ของผมคือ ตอนนี้ราคาปูม้านึ่งแล้วขนาดกลางกิโลกรัมละ 450 บาท ไม่มีของขาย ปลาหมึกปีนี้ก็ราคาดี เกษตรกรรวยเริ่มใส่ทองกันแล้ว แต่ปลาหมอคางดำที่อยู่ในน้ำเค็มได้ ภายในอ่าวคุ้งกระเบนตอนนี้ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่แล้ว” วันชัย กิจจาภา สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี

000

“ถ้ามันขายได้ มีหน่วยงานมารับซื้อมันก็จะแก้จนให้เราได้ แต่ถ้ามันอยู่อย่างนี้ไม่มีใครมารับซื้อให้เรามันก็จนอยู่อย่างนี้ ขอให้มีคนมารับซื้อ เสนอราคาที่เราพอจะสู้ได้ เพราะตอนนี้เราเอาไปขายแพ แพก็กดราคา ถ้าไม่มีคนซื้อมันก็จนอยู่อย่างนี้และมันก็ยิ่งเยอะขึ้น ๆ เราก็จนไปเรื่อย ๆ” ชาวประมงสมุทรสาคร

000

“ปลาตัวนี้บางคนเขาบอกว่ามันเป็นปลาเอเลี่ยน ทำให้คนที่จะซื้อไปรับประทานไม่กล้าซื้อ เรารู้ว่าปลาตัวนี้เป็นปลาทำลายล้างที่กินทุกอย่าง แต่ถ้ามันมีผู้บริโภคมากขึ้น มันก็จะทำให้เรากระจายสินค้าตัวนี้ออกไปได้ ถ้าไม่มีคนกินเราจับมาก็ขายไม่ได้อยู่ดี” ชาวประมงสมุทรสาคร

สำหรับคุณ ร่วมให้นิยาม “3 คำที่อยากให้รู้จักปลาหมอคางดำ”  ไปด้วยกัน ได้ที่นี่

ทำความรู้จัก “ปลาหมอคางดำ” 

พันธุ์สัตว์น้ำรุกรานจากต่างถิ่น

ปลาหมอคางดํา หรือ Blackchin tilapia จัดอยู่ในวงศ์ Cichlidae (ซิคลิเด) เช่นเดียวกับปลาหมอเทศ และปลาหมอสี ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่น้ำกร่อยปากแม่น้ำ สามารถทนทานความเค็มได้สูง พวกมันจึงพบแพร่กระจายตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป

ที่ผ่านมา พบการนําเข้าพันธุ์ปลาหมอคางดําในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย และพบมีรายงานการเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และฟิลิปปินส์

ในระดับโลก “สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างถิ่น” คือปัญหาสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม จากรายงาน “Report on Invasive Alien Species” (พ.ศ. 2566) ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ในหลายพื้นที่ทั่วโลกเกิดความโกลาหลด้านสิ่งแวดล้อมจากการรุกรานของพืชและสัตว์ต่างถิ่น 

จากการศึกษาประมวลผลกระทบทั่วโลกของพืชและสัตว์ต่างถิ่นประเภทรุกราน จำนวน 3,500 ชนิด ในระยะเวลา 4 ปี ประเมินว่าเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจ 15.6 ล้านล้านบาทต่อปี และการรุกรานนี้ยังเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์พื้นถิ่นถึง 60% และความรุนแรงจะยกระดับเพิ่มขึ้น 4 เท่าในทุก ๆ รอบ 10 ปี

000

เส้นทางของปลาหมอคางดำในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุ เมื่อปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข

ต่อมาปี 2553 มีการนำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว มาเพาะเลี้ยงในศูนย์ทดลอง ในพื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 

และในวันนี้ ปลาหมอคางดำ  ได้กลายเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ หรือ สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น สร้างปัญหาในกว่า 13 จังหวัดของไทย

รายงานการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำพบครั้งแรก ในปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง และ ต.คลองโคลน จ.สุมทรสงคราม ได้พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

จากนั้นพบแพร่ระบาดไปยังแม่น้ำประแสร์ จ.ระยอง และในเขตภาคใต้คือ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์  และ จ.ชุมพร  ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำพื้นถิ่นและระบบนิเวศแหล่งน้ำ

ล่าสุด พบการระบาดของปลาหมอคางดำไกลไปถึงพื้นที่ จ.สงขลา บริเวณคลองแดน อ.ระโนด ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า เริ่มเจอครั้งแรกเมื่อราว ๆ 2 ปีก่อน แต่เรียกกันว่าปลานิลแก้มดำ ในช่วงปีที่พบมาก ๆ แต่ละวันจะจับได้ คนละ 20-30 กิโลกรัม

000

ปลานักกินที่นำมาซึ่งหายนะ

ปลาหมอคางดำเป็นนักกิน ที่กินทั้งพืช สัตว์ และแพงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิต  ที่สำคัญยังมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า และยังมีระบบย่อยอาหารที่ดี ทำให้มีความต้องการอาหารตลอดเวลา บวกกับนิสัยที่ค่อนข้างดุร้าย การมีอยู่ของปลาหมอคางดำจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ร่วมลำน้ำ

ลักษณะของปลาหมอคางดำ คือ ทนต่อความเค็มได้สูง จึงพบได้ทั้งในน้ำจืด บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน และในทะเล

ขนาดตัวโตเต็มวัย ลําตัวยาวถึง 8 นิ้ว เพศผู้จะมีสีดําบริเวณหัวและบริเวณแผ่นปิดเหงือก มากกว่าเพศเมีย สามารถผสมพันธุ์ทุก ๆ 22 วัน วางไข่ได้ทั้งปี

แม่ปลา 1 ตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 150 – 300 ฟอง การฟักไข่และดูแลตัวอ่อนจะอยู่ในปากปลาเพศผู โดยไข่จะใช้เวลาฟักประมาณ 4 – 6 วัน และพ่อปลาจะดูแลลูกปลา โดยการอมไว้ในปากนาน ประมาณ 2-3 สัปดาห์

ปลาหมอคางดำ กลายเป็นภัยคุกคามสัตว์น้ำพื้นถิ่น ทำให้ความหลากหลายของสัตว์น้ำวัยอ่อนลดลง อีกทั้งยังขาดขาดผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งนั่นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในภาพรวม

ปัจจุบัน ในหลายพื้นที่แม้จะมีปลาหมอคางดำจะมีจำนวนมากในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่คนไม่นิยมนำไปรับประทาน เพราะเนื้อบาง ก้างเยอะและกินไม่อร่อย จึงมักขายไม่ได้ราคา

000

จากลำคลองสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ในสายตาของเกษตรกร ปลาหมอคางดำคือผู้ร้ายที่รุกรานผลผลิตด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นั่นเพราะรายได้จากการลงทุนลงแรงต้องสูญหายไป

หากเทียบราคาสัตว์น้ำที่ปลาหมอทำลาย

  • กุ้งขาว 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 120 – 170 บาท (แล้วแต่ขนาด)
  • กุ้งก้ามกราม 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 160 – 350 บาท (แล้วแต่ขนาด)
  • ปลานิล 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 60 บาท

ขณะที่ปลาหมอคางดำ ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 – 5 บาท

ส่วนการป้องกันและกำจัดปลาหมอคางดำออกจากบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำยังมีความยุ่งยาก และยังส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นมาก แต่อาจไม่ได้ผลดี เพราะปลาชนิดนี้ขยายพันธ์ุและโตเร็ว

000

มาตรการกำจัดปลาหมอคางดำของภาครัฐ

หน่วยงานรัฐของไทยพยายามวางแนวทางในการรับมือปัญหา โดยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมติให้ ปลาหอมคางดำ ขึ้นบัญชีเป็น 1 ใน 12 ชนิดพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นที่มีความสำคัญลำดับสูงสุด เพื่อจัดทำแนวทางการป้องกัน ควบคุม จำกัด รวบรวมวิเคราะห์เส้นทางการระบาด

ด้านกรมประมงออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง มีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 มีนาคม 2561 สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ที่อธิบดีกรมประมงมอบหมายได้แก่

  • 1.ปลาหมอคางดำ
  • 2.ปลาหมอมายัน
  • 3.ปลาหมอบัตเตอร์

มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีทำความผิดแล้วนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์ มีข้อเสนอ ทั้งการป้องกัน การควบคุม การตรวจจับในช่วงต้นและการกำจัด รวมทั้งการส่งเสริมให้นำปลาหมอคางดำมาบริโภค และแปรรูปเป็นอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่า 

นอกจากนั้น การศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ปลาให้ลดการเป็นผู้ล่า และเพิ่มคุณค่าทางอาหาร รวมถึงคุณภาพของเนื้อปลาเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ ก็เป็นอีกข้อเสนอในการลดจํานวนปลาหมอคางดำในธรรมชาติ

3 ฉากทัศน์การจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ

หลังจากอ่านชุดข้อมูลสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปลาหมอคางดำแล้ว รายการฟังเสียงประเทศไทย มี 3 ฉากทัศน์สำหรับอนาคตการจัดการปัญหา เพื่อให้เลือกเดินหน้าต่อ

000

ฉากทัศน์ที่ 1 เกินต้าน

การเคลื่อนย้ายและกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะภายใต้ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ สภาวะโลกรวนส่งผลให้การรับมือและการเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายเป็นไปได้ยาก รัฐทำได้เพียงแก้ปัญหาเป็นจุด ๆ แต่ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นจะค่อย ๆ ถูกยอมรับเป็นสิ่งมีชีวิตประจำถิ่น แต่ในช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนนั้น ความเสียหายต่อผู้คน ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ต้องได้รับการจัดการดูแล เพื่อบรรเทาผลกระทบ

รัฐส่วนกลางร่วมกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่นทำหน้าที่เฝ้าระวังและจัดทำบัญชีรายชื่อและข้อมูลของสิ่งมีชีวิตทั้งในพื้นถิ่นและต่างถิ่นให้เป็นปัจจุบัน เพื่อจัดทำมาตรการสนับสนุนให้ท้องถิ่นปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกำหนดกรอบในการพิสูจน์ความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือ ชดเชย และเยียวยา แต่การฟื้นฟูนิเวศธรรมชาติอาจทำได้ยาก

ประชาชน ประชาสังคมและสถาบันการศึกษา ต้องลุกขึ้นมาร่วมรับมือปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น ด้วยการติดตามความเปลี่ยนแปลงโดยร่วมสร้างฐานข้อมูลของชุมชน ทรัพยากรที่เปราะบางและสำคัญของท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เพื่อรับมือปัญหา ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือเทียบเคียงคู่ขนานกับของหน่วยงานรัฐ สามารถใช้เพื่อยืนยันความเสียหายและเรียกร้องการชดเชยเยียวยา ต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากบริษัทเอกชนและรัฐได้

000

ฉากทัศน์ที่ 2 เผื่อใจ

การควบคุมการรุกรานและขยายตัวของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นอย่างทั่วถึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะ อีกทั้งการกำจัดให้สิ้นซากก็ต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรของประเทศจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงเน้นไปที่การปกป้องแหล่งทรัพยากรที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงระบบนิเวศเฉพาะ หรือพื้นที่เปราะบางพิเศษ ส่วนพื้นที่สำคัญรองลงมามีการใช้มาตรการเพื่อควบคุมจำนวนและศึกษาหาวิธีการเพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างถิ่น 

รัฐส่วนกลางมีหน้าที่และบทบาทหลักในการควบคุม ดูแลและบริหารความเสี่ยง รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตจากต่างถิ่นที่เป็นภัยคุกคามทั้งต่อคน ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ โดยร่วมทุนกับสถาบันวิชาการ เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อการป้องกัน ควบคุม และจัดการ

รวมทั้งแสวงหาแนวปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินให้ชุมชน และจัดตั้งกองทุนโดยนำรายได้มาจัดสรร เพื่อการชดเชย เยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น

ด้านท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนสำคัญในการร่วมมือกับรัฐส่วนกลาง และสถาบันวิชาการ ในการรวบรวมข้อมูลพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อส่งมอบต่อไปยังคนในชุมชนที่ต้องได้รับผลกระทบ ให้พร้อมกับการรับมือความเปลี่ยนแปลง

000

ฉากทัศน์ที่ 3 เลิกรา

ทรัพยากรทางชีวภาพ ความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ของท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม การประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของผู้คน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ทุกภาคส่วนในสังคมจึงให้ความสำคัญในการคุ้มครอง ปกป้อง เพราะตระหนักว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น จะนำมาซึ่งความเสียหายที่ประเมินคุณค่าไม่ได้ และยากต่อการฟื้นฟูให้กลับมาคงสภาพเดิม

รัฐส่วนกลางมีบทบาทนำในการออกกฎระเบียบ กฎหมายเพื่อควบคุมและจัดการการตั้งแต่ต้นทางของการนำเข้าและส่งออก การเคลื่อนย้าย ตลอดจนการหยุดยั้งการกระจายของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น โดยมีบทลงโทษที่ชัดเจน และการควบคุมที่เข้มงวด รัดกุม

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบข้อมูลอย่างครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน สนับสนุนเทคโนโลยีสมัยใหม่ และจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่น ประชาสังคม และสถานบันการศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมปกป้องพันธุ์ท้องถิ่น และความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม หากเกิดความเสียหายหรือผลกระทบต่อวิถีชีวิต การประกอบอาชีพและสภาพแวดล้อม รัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อให้ผู้ก่อผลกระทบต้องเป็นผู้ชดเชย เยียวยา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 

ด้านประชาชนพัฒนาองค์ความรู้และร่วมเป็นกำลังหลักในการเฝ้าระวัง

ร่วมโหวตฉากทัศน์ ผ่านลิงก์

ฟังเสียงผู้เกี่ยวข้อง การจัดการที่ต้องเกิด

ชวนทุกคนอ่านมุมมองจากวิทยากร 4  คน ที่มีส่งนเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหา 

  • ประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง
  • กุณสมบัติ ศิริสมบัติ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร
  • มงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมง
  • พิชญา ชัยนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

000

ประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า วันนี้ปลาหมอคางดำระบาดไป 11 จังหวัด แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน บางแห่งมาก ปานกลางและน้อย ในพื้นที่ระบาดมากต้องกำจัดทุกวิถีทาง เป็นเรื่องเร่งด่วนไม่ว่าเครื่องมือชนิดไหน วันนี้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อนุญาติให้ใช้เครื่องมืออย่างมีเงื่อนไขกำลังจะประกาศเร็ว ๆ นี้ หรือการใช้ปลาที่เป็นล่าเข้ามาที่ได้ผลที่สมุทรสงครามซึ่งมีการปล่อยเป็นระยะ

ช่วงต้นปี 2561-2562 ดูเหมือนว่าควบคุมได้บ้าง จากการนำปลากะพงขาวและปลาอื่น ๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีนิสัยการล่า เช่น ปลากะพงทอง มาปล่อยในที่ระบบบนิเวศ ซึ่งกำลังทดสอบใกล้เสร็จแล้ว สำหรับในส่วนที่หนาแน่นน้อยก็ใช้แนวทางนี้เช่นเดียวกัน ส่วนของพื้นที่ไม่มีการแพร่ระบาดเช่นจังหวัดทางอันดามันหรือใต้สงขลาลงไป จัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ทั้งหมดนี้คือภาพกว้าง

กรมประมงวันนี้กรมเดียวคงเอาไม่อยู่ เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วน ตั้งแต่ทางจังหวัด ไม่ว่าจะ อบต. เทศบาล อบต. รวมถึงฝ่ายปกครองต้องช่วยกัน กรมประมงไม่สามารถเข้าไปได้ทุกพื้นที่ แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านมีทุกพื้นที่ สามารถแจ้งส่งข้อมูลให้กรมประมงเข้ามาได้ว่า ตรงไหนเริ่มมีการระบาดหนาแน่นแล้วต้องเร่งกำจัด เพื่อลงไปจัดการ ทั้งในช่วงที่มีการระบาดแล้วและติดตามหลังระบาด

ประพันธ์ เน้นย้ำว่า จะใช้ทุกวิธีการในการกำจัด ควบคุมและเฝ้าระวังทุกช่องทาง แต่การกำจัดจับทิ้งเพียงอย่างเดียวอาจเป็นการจำกัดกรอบ เพราะการแปรรูปหรือการนำมาประกอบการอาหารนับเป็นหนึ่งในแรงจูงใจในการนำปลาหมอคางดำขึ้นจากแหล่งน้ำธรรมชาติ บ่อเลี้ยงหรือร่องสวน และสามารถสร้างเงินได้

000

พิชญา ชัยนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กล่าวถึงการปล่อยปลานักล่าว่า กรมประมงทำการวิจัยทดลองว่าสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดไหนเหมาะสมที่จะนำลงไปปล่อย เพื่อที่จะกินปลาหมอคางดำ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นที่ ทางกรมไม่ได้มีเพียงปลากระพงขาว แต่ยังมีปลาเก๋า ปลากระพงทอง จากการวิจัยพบว่าถ้าเราสามารถกำจัดปลาหมอคางดำตัวผู้ที่อมไข่ได้ คือตัวขนาด 6-7 เซนติเมตร จะสามารถลดจำนวนปลาหมอคางดำได้ในหลักพัน ในสิ่งที่กรมประมงพยายามทำ คือเราจะปล่อยให้ถูกหลักการและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากที่สุด และไม่ส่งกระทบต่อบ่เลี้ยงของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ในการแก้ปัญหาในระบบปิดง่ายกว่าอยู่แล้ว แต่ในระบบเปิดก็กว่าไม่ได้ยากกว่า ในการป้องกันปลาหมอคางดำเพราะทางกรมประมงเคยให้คำแนะนำแล้วว่า ให้มีการวางระบบกรองไว้คือการวางอวนไว้ที่ระบบของท่อส่งน้ำเข้าสู่บ่อ ชั้นแรกสุดคือเพื่อให้กันปลาหมอคางดำเข้าบ่อ ส่วนที่ลอดตาข่ายเข้าไปก็จะให้ปลาเศรษฐกิจอื่นเข้าไปกินในบ่อ จากการวิจัยของกรมประมงสามารถป้องกันปลาหมอคางดำและสร้างรายได้ให้กับชาวประมงได้

000

กุณสมบัติ ศิริสมบัติ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ให้ข้อมูลว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาทางจังหวัดมีการปล่อยปลานักล่าไปบ้างแล้ว ประมาณเดือน ส.ค. – พ.ย. 2564 โดยปล่อยปลากระพงขาวไปส่วนหนึ่ง ช่วงนั้นเพิ่งเริ่มระบาด แต่ผลที่ได้รับอาจยังไม่เห็นชัดเจน เพราะพันธุ์ปลาที่ปล่อยไปประมาณแสนกว่าตัว ไม่ได้เยอะมาก ต่อมาทางจังหวัดสมุทรสาครได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพราะเห็นความสำคัญของผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน ประมงจังหวัดเป็นเลขา

การกำจัดปลาหมอคางดำมีหลายกิจกรรม ที่ได้ทำไปแล้วก็ในเรื่องการแข่งขันใช้เครื่องมือในการจับปลาหมอคางดำ ขณะเดียวกันก็มีการจัดแข่งขันการกินปลาหมอคางดำเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา และมีแผนที่จะจัดการต่อไป

000

มงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า ในวันนี้ต้องมองว่าปลาหมอคางดำเป็นปัญหาระดับชาติ การจะกำจัดแค่เพียงในจังหวัด หรือจังหวัดข้างเคียงไม่เพียงพอ มันระบาดไปทั่ว 1.ต้องตั้งเป็นปัญหาระดับชาติ 2.การให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนโดยทั่วก่อนว่าปลาหมอคางดำเป็นเอเลียนสปีชีส์ เป็นปัญหาต่อสัตว์ท้องถิ่น เพราะวันนี้หน้าวัดยังให้อาหารปลาหมอคางดำกันอยู่เลย ร้านกาแฟริมน้ำยังขายอาหารปลาเลี้ยงมันอยู่ เพราะมองว่าเป็นของสวยงาม เป็นสันทนาการ

3.ใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูงในการจัดการครั้งแรกเป็นสิ่งสำคัญ โดยใช้อย่างถูกต้อง ใช้เฉพาะจุด กรมประมงต้องสนับสนุน เดิมอาจเป็นเครืองมือที่ถูกประกาศห้ามใช้ในแหล่งน้ำสาธารณะ แต่วันนี้ควรต้องปลดล็อกให้นำกลับมาใช้ กรมประมงไม่ต้องทำอะไรเพียงอำนวยความสะดวก ภาคประชาชนก็พร้อมกันจัดการ 4.วันนี้ราคารับซื้อปลาหมอคางดำเป็นปัญหา จับไปเจอแต่ปลาหมอคางดำ ชาวประมงอยู่ไม่ได้ ดังนั้นมาตรการอุดหนุนและรับซื้อจากภาครัฐต้องเข้ามา เพื่อให้ทำการประมงได้และนำปลาพวกนี้ออกจากลำน้ำ และ 5.การให้องค์ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงในบ่อ และต้องจัดการทั้งระบบทั้งแหล่งน้ำสาธารณะและบ่อเลี้ยง

ในมุมมองภาคเอกชน วันนี้เราไม่ต้องการอยู่ร่วมกับปลาหมอคางดำ ถ้าวันนี้ภาครัฐใช้นโยบายวิธีการรับซื้อ 100% อาจทำให้เกิดการใช้งบประมาณมหาศาล แต่ถ้าปรับมาใช้วิธีกำจัดแล้วนำไปใช้ประโยชน์ตนเห็นด้วย มีเงื่อนไขว่าต้องไม่ส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงต่อในทุกกรณี การนำมาแปรรูปสร้างรายได้ ในปัจจุบันใครประกอบการแปรรูปอยู่สามารถทำต่อได้ตามบริบทของพื้นที่ แต่เพื่อกำจัดให้หมดไปเท่านั้น 

เราต้องกำจัดออกไม่ใช่การอยู่ร่วมกัน เข้าใจว่าการกำจัดจนแหลือตัวสุดท้ายเกิดขึ้นได้ยากและต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรสูงแต่นี่คือเป้าหมายที่จำเป็นต้องตั้งแบบนั้น เรื่องระยะเวลาหากตั้งเป้าสูงแบบนี้ภายใน 5-10 ปีอาจได้ควบคุมสถานการณ์ได้ หากตั้งเป้าไว้แค่ควบคุม 10 ปีอาจสำเสร็จไม่ได้ด้วยซ้ำ การจัดการปลาหมอคางดำครั้งนี้ต้องลงมือสนับสนุนและปฏิบัติอย่างจริงจัง

เวทีสนทนาฟังเสียงประเทศไทย: ภัยคุกคามปลาหมอคางดำ

รับชมเนื้อหาฉบับเต็ม เวทีสนทนา “ฟังเสียงประเทศไทย: ภัยคุกคามปลาหมอคางดำ” ที่วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) จ.สมุทรสาคร ย้อนหลังได้ทางเฟซบุ๊กนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส และเฟซบุ๊กไทยพีบีเอส หรือ คลิกลิงก์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ