ความจริงภาคเหนือในกระแสความเปลี่ยนแปลง

ความจริงภาคเหนือในกระแสความเปลี่ยนแปลง

รายละเอียดเกี่ยวกับ “ความจริงภาคเหนือในกระแสความเปลี่ยนแปลง” ที่ท่านจะได้อ่านและชมคลิปในที่นี้  เรียบเรียงโดยทีมฟังเสียงประเทศไทย ไทยพีบีเอส เมื่อมีนาคม พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นปีที่โลกผ่านพ้นโควิด และกำลังจะมีการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566  

ข้อมูลในมิติต่าง ๆ มาจากการสืบค้น การลงพื้นที่ในระดับภาค และสนับสนุนจากการวิจัยเชิงพื้นที่ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) เพื่อเป็น “ข้อมูล” “ข้อสังเกต” ที่ปราศจาก “ข้อคิดเห็น” ใช้เป็น “สารตั้งต้น” ในการรับฟังในกระบวนการ “ฟังเสียงประเทศไทย” และหวังให้เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่ทุกท่านได้มีเข้าใจภาคเหนือของไทยเรามากขึ้น

ภาคเหนือ”

ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ป่าไม้  เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำสำคัญของประเทศ

ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คนทั้งจากชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม จากพรมแดนติดประเทศ เพื่อนบ้านทั้งลาว เมียนมา  และเชื่อมไปในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง   

พื้นที่กว่า 100 ล้านไร่ของภาคเหนือ  กว่าครึ่ง หรือร้อยละ 53 เป็นป่าไม้  ที่เหลือเป็นพื้นที่ทำการเกษตรร้อยละ 30 และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นร้อยละ 16  ซึ่งมีผลต่อชีวิตของผู้คน   สังคมและเศรษฐกิจของคนภาคเหนือ อย่างมีนัยยะสำคัญ

เศรษฐกิจเล็ก พึ่งภาคบริการ

เศรษฐกิจของภาคเหนือมีขนาดเล็กที่สุดในประเทศ และขยายตัวช้า เนื่องจาก การลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยังกระจายสู่ภาคเหนือไม่มากนัก  ภาคบริการมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของ ภาคเหนืออย่างต่อเนื่องโดยมีสัดส่วนกว่าครึ่งในโครงสร้างเศรษฐกิจของภาค   รองลงมาเป็นภาคเกษตรและ ภาคอุตสาหกรรม

ภาคเหนือมีความพร้อมต่อการพัฒนาเชื่อมโยงด้านการค้าและบริการกับนานาชาติ และกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและมีเมืองสำคัญที่เป็น ฐานการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับนานาชาติ อย่างเช่น เชียงใหม่ เชียงราย และตากและการเส้นทางคมนาคม ส่งผลให้เกิดโอกาสในการขยายตัวของตลาดการค้า การท่องเที่ยว ทำให้ภาคเหนือเป็นประตูเชื่อมโยง การขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น และมีโอกาสในการขยายธุรกิจบริการด้านต่าง ๆ เช่น บริการทางการแพทย์ การศึกษา การประชุมและ แสดงสินค้านานาชาติ การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ โดดเด่นด้านวัฒนธรรม และธรรมชาติ และเริ่มเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม มากขึ้น  แต่รายได้ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก และ ปัญหาฝุ่นควันเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

เกษตรมีศักยภาพแต่เจอโจทย์ที่ดิน

พื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของคนเหนือส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือตอนล่างผลิตพืชสำคัญ คือ ข้าว อ้อยโรงงาน และมันส่าปะหลัง  ขณะที่ภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่สำคัญในผลิตพืชผัก ผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ แต่มีโจทย์ใหญ่คือสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรโดยเฉพาะเรื่องที่ดินเนื่องจากเป็นพื้นที่ป่า และเกษตรกรภาคเหนือตอนล่างเป็นผู้เช่าพื้นที่ ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน

กระบวนการผลิตของเกษตรกรภาคเหนือเริ่มปรับเปลี่ยนสู่การเกษตรสร้างมูลค่าเช่น เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ และมีการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตมากขึ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพ ภูมิอากาศความผันผวนของราคาผลผลิตในตลาดโลก และการไหลเข้าของสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่า อาจส่งผลกระทบต่อระบบ การผลิตของภาค    ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทในเศรษฐกิจภาคเหนือน้อย แต่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้โดย

การใช้อัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อยอด  ส่วนการค้าชายแดน แม้จะมีความพยายาม พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคเหนือ และมีการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อไปยังจีนตอนใต้ แต่ยังไม่สามารถ ดึงดูดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังคงเป็นเพียงทางผ่านของสินค้า

คนเหนือรายได้น้อย คนสูงวัยเพิ่ม

ภาคเหนือมีประชากรประมาณ 12 ล้านคน  คนเหนือรายได้น้อย จำนวนคนสูงอายุเพิ่มขึ้น ความยากจนลดลงแต่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด ถึงร้อยละ 25.26 รองลงมา เป็นจังหวัดตาก และจังหวัดน่าน ร้อยละ 21.13 และ ร้อยละ 9.48 ตามลำดับ

โครงสร้างประชากรของภาคเหนือเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เมื่อปี 2562 โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ กว่าร้อยละ 21.79 ซึ่งทำให้วัยแรงงานต้องดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น จากประชากรวัยแรงงาน 2.6 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน การเตรียมความพร้อมของรัฐเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุยังมีน้อย แม้ว่าในระดับชุมชน จะมีอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นความตื่นตัวและเข้ามามีบทบาทในการจัดสวัสดิการและการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในรูปของชมรมผู้สูงอายุ

การศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ไม่ตอบสนองท้องถิ่น

ภาคเหนือมีสถาบันอุดมศึกษา 29 แห่ง เกือบครบทุกจังหวัด ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ยกเว้นพื้นที่ห่างไกลยังมีปัญหาในการเข้าถึงการศึกษา โดยพบว่าระบบการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ไม่ตอบสนองท้องถิ่น และไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง  ระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีรูปแบบการจัดการศึกษาหลายลักษณะ เกิดขึ้นในภาคเหนือ ทั้งบ้านเรียน ศูนย์การเรียน หรือการศึกษาทางเลือก เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้ผู้เรียน และการศึกษาที่พยายามเน้นการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ ให้ผู้เรียนเป็น ฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

ระบบสาธารณสุขเหลื่อมล้ำกระจุกตัวเมืองหลัก

การให้บริการสาธารณสุขในภาคเหนือมีความครอบคลุมมากขึ้น แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ ระหว่างพื้นที่ โดยสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรกระจุกตัวในจังหวัดที่เป็นเมืองศูนย์กลางและเมืองหลัก

มีจำนวนโรงพยาบาล 195 แห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2,227 แห่ง และมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของภาคเหนือมี แนวโน้มดีขึ้น โดยในปี 2562 มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 1,843 คน ซึ่ง WHO กำหนดอัตราที่เหมาะสมไว้ คือแพทย์ 1 ต่อ 1000 คน

และเป็นที่น่าสนใจว่าการฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มเป็น ปัญหาเพิ่มขึ้น ภาคเหนือ มีอัตตราการฆ่าตัวตายสูง 3 จังหวัดแรก คือ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ซึ่งมีอัตรา การฆ่าตัวตายสูงกว่าภาพรวมของ ประเทศถึงเกือบ 2 เท่า ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

ฝุ่นหนักแต่ขาดมาตรการจัดการที่ตอบโจทย์

ภาคเหนือมีความโดดเด่นด้านป่าไม้ที่มีความหลากหลาก แต่เริ่มลดลง อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมลงมาก ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับคนภาคเหนือที่จริงแล้วไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพพื้นที่ วิถีชีวิตทางการเกษตรซึ่งพึ่งพาการ เผา  สภาพของพื้นที่ป่าเต็งรังและ ป่าเบญจพรรณที่มีเศษใบไม้ร่วงสะสม ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ

ปัญหาการถือครองที่ดินและสิทธิการเข้าถึง  บวกกับฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่พัดเข้ามามากขึ้นจากการขยายพื้นที่เกษตรข้ามพรมแดน  ขณะที่มาตรการการจัดการกับปัญหายังขาดระบบการจัดการร่วม โดยเฉพาะในการพัฒนาพื้นที่ป่าและแก้ปัญหาไฟป่า แม้จะมีวาระแห่งชาติ  

โอกาสและข้อท้าทายของภาคเหนือ

ภายใต้ความท้าทาย ภาคเหนือยังมีโอกาสการพัฒนา อยู่ไม่น้อย ภาคเหนือตอนบนมีศักยภาพ ด้านเกษตรประณีต เกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะพืชผักและดอกไม้เมืองหนาวสำหรับตลาดเฉพาะที่มีกำลังซื้อสูง ภาคเหนือตอนล่างมีศักยภาพด้านการผลิต ข้าว มีฐานทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งท่องเที่ยวเชิง ประวัติศาสตร์ เชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน เชิงนิเวศน์ และเชิงสุขภาพ มีสถานบันการศึกษาเป็นศูนย์กลาง ทางการศึกษา มีผลงานวิจัยและพัฒนา และสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพ และยังเป็นหนึ่งในจุดหมาย ปลายทางของการท่องเที่ยวหลายด้านจากการเปิดเส้นทางเชื่อมโลก

แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โลกที่ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี ทำให้หลายส่วน ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ความสําคัญกับการใช้ เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่แรงงานเอง ควรต้องพัฒนาทักษะทั้ง reskill upskill และnewskill เพื่อให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศึกษาพบภาพรวมโจทย์ที่ท้าทาย ของภาคเหนือตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เรื่อง คือ

1.สิทธิการเข้าถึงทรัพยากร

2.การพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับภูมินิเวศ

3.ระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง

4.ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน และ

5.การบริหารบ้านเมืองขาดผู้นำที่ทำงานอย่างเข้าใจต่อเนื่อง และขาดหลักธรรมาภิบาล

ชวนคิดกับความเป็นจริงของพื้นที่เหนือ

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าทีมวิจัยภาคเหนือ สกสว. มาร่วมเติมข้อมูลโดยบอกว่า

“จากการวิจัยลงพื้นที่ภาคเหนือ พบจุดเจ็บปวดของคนเหนือที่หนักหนาสาหัส เรื่องแรกคือฝุ่นควัน ที่เป็นมานานและยังไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรดี     เศรษฐกิจไม่เป็นธรรม เป็นการผูกขาดจากกลุ่มทุน มีปัญหาหนี้สิน ปัญหาการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ และ เรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นสาเหตุสำคัญคือการบริหารจัดการที่ไม่ได้เรื่องได้ราว  บริหารโดยผู้ที่ไม่เข้าใจ ผู้กุมขบวนเป็นคนจรเข้ามา ไม่ใช่คนพื้นที่ ทำให้ไม่เข้าใจ ไม่ต่อเนื่อง ทำไปเช่นนั้นแหละ  ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องระบบการจัดการบ้านเมืองซึ่งสำคัญมาก”

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ หัวหน้าทีมวิจัยภาคเหนือ สกสว.

นอกจากนั้น  ข้อมูลหรือภาพรวมที่คนรับรู้ของภาคเหนือบางข้อสรุป ก็เป็นภาพลวงตา เป็นมายาคติหรือไม่ เช่น ข้อมูลของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีระบุว่าเป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุด ขณะที่ข้อเท็จจริงพบว่ายากจนที่สุด คนฆ่าตัวตายมากที่สุด ซึ่งถ้าเราเข้าไปในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจริงๆ แล้วจะเห็นว่า พื้นที่ห่างไกลบางแห่ง มีเสาไฟฟ้า แต่ไม่มีสายไฟ  เด็กไม่มีอาหารเช้า โรงเรียนไม่มีน้ำสะอาดดื่มกิน คุณภาพการศึกษาพบเด็กหลุดออกนอกระบบมาก มีครูที่หลุดจากระบบอีกเป็นจำนวนมากเพราะอยู่ไม่ได้

ซึ่งถ้าเราย้อนโจทย์เชิงระบบหรือโครงสร้าง โดยกลับไปมากว่า 20 ปีพบว่า ทุนเดิมของภาคเหนือที่มีระบบการวิจัยท้องถิ่น ชุมชนเป็นฐาน ในการสร้างความรู้และการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในอดีตดีกว่าปัจจุบัน แต่ปัจจุบันกลับเป็นความก้าวหน้าขาลง แม้จะมีความพยายามเคลื่อนตัวของการลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของกลุ่มต่าง ๆ ในรูปแบบต่างๆ แต่ยังไม่ค่อยเข้มแข็ง ยังนิ่ง ๆ ยังขาดการสร้างขบวนให้แรงเคลื่อน มีเป้าหมายและทิศทางร่วม โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไร องค์กรภาคีของท้องถิ่นจะสร้างพลังร่วม สร้างความเคลื่อนไหวให้เชื่อมโยงหากัน เพื่อตอบโจทย์ใหญ่ ๆ ของภาคเหนือ สร้างพลังร่วม จัดการเรียนรู้ร่วม เพื่อให้การพัฒนาความสามารถ ในการคิดอ่านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเห็นภาพรวมอย่างเข้าใจร่วมกัน มีระบบการเรียนรู้ที่สร้างใหม่ การลุกขึ้นมาจัดการศึกษาของท้องถิ่นด้วยตัวเอง สร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ      

คุณอาคม สุวรรณกันทา ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีภาคเหนือ เติมข้อมูลโดยมองอนาคตภาคเหนือ 5 ด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และสิ่งที่ท้าทาย    

เราได้ยินว่าภาคเหนือมีความเหลื่อมล้ำสูง มีรายได้น้อยที่สุดในประเทศ มีคนยากจนสูงเช่นแม่ฮ่องสอน รองลงมาคือตาก เป็นจุดเจ็บปวด  ดังนั้นอัตราการเติบโตของภาคเหนือคือปัญหาใหญ่ แต่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและภาคเอกชนศึกษามาแล้วว่า  จุดขายของภาคเหนือคือ 4 C  คือ Creative ความสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ที่จะเพิ่มคุณค่าสินค้าหัตถกรรม  Connection การเชื่อมระหว่างประเทศ  มีไฟล์ทบิน  มีการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างประเทศ  Care คุณภาพสุขภาพ โดยเฉพาะของผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพสูงวัย และ Clean อาหาร สิ่งแวดล้อม พลังงาน  ถ้าเราผลักดัน 4 ด้านให้ครบภาคเหนือจะไปได้ 

คุณอาคม สุวรรณกันทา ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีภาคเหนือ

แต่เนื่องจากเรามีความเหลื่อมล้ำสูง รายได้ต่ำ ธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนคิดรูปแบบ 5 รูปแบบ คือ

1.เกษตรอัฉริยะ 

2.อาหารแห่งอนาคตที่มาจากผลิตผลของท้องถิ่นเพื่อยกระดับด้วยนวัตกรรม

3.ความยั่งยืนของเศรษฐกิจการใช้พลังงานสะอาดยั่งยืน

4.การดูแลผู้สูงอายุ wellnes

5.การท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีหลากหลาย     

แผนงานคนไทย 4.0 ได้ศึกษาเสาหลัก 4 ด้านที่จะขับเคลื่อนภาคเหนือได้

1.การผลักดันเชียงใหม่มรดกโลก ให้มีการท่องเที่ยวเชิงเทศกาล  การประชุมระดับโลก 

2. จุดหมายปลายทางศิลปด้านอาหารท้องถิ่นที่สร้างมูลค่าระดับโลก

3.ส่งเสริมเชียงใหม่เป็นเมืองสุขภาพ พำนักระยะยาว  

4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสันทนาการและครอบครัว        

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรค  การรุกเข้ามาของทุนจีนและทุนข้ามชาติเป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังจะเป็นจุดที่ทำลายหรือเอื้อต่อการเติบโตของเรา เพราะเป็นตัวอย่างกรณีประเทศเพื่อนบ้านมาแล้ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ