เลือกได้ไหม ? คนภาคตะวันออกบอกความต้องการนโยบายของพื้นที่

เลือกได้ไหม ? คนภาคตะวันออกบอกความต้องการนโยบายของพื้นที่

หากพูดถึงภาคตะวันออกของประเทศไทย หลาย ๆ คนคงรู้จักกันดีในฐานะภูมิภาคที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและมีชื่อเสียงระดับนานาชาติอย่าง ชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี หรือจังหวัดระยองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางการประมง และมหานครผลไม้อย่างจังหวัดจันทบุรี เป็นต้น

นอกจากการเป็นภูมิภาคที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ที่น่าสนใจแล้ว ภาคตะวันออกยังถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ภาคตะวันออกมีขนาดของ GDP คิดเป็นร้อยละ 18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ ถือเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากกรุงเทพฯและภาคกลาง

หากพิจารณาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ช่วง 3 ปีแรก จะเห็นว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออก มีการพึ่งพาอุตสาหกรรมมากที่สุด เห็นได้จากการเร่งตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของที่ดินสำหรับเกษตรกรรมหลายพื้นที่ โดยมีการปลดล็อกที่ดินให้สามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้เกือบทุกชนิด มีอาณาเขตรวมกันกว่าครึ่งของ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มีโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ขณะเดียวกันถึงแม้ภาคการเกษตรจะมีบทบาทน้อยเพียงร้อยละ 6.1 แต่ก็มีศักยภาพในการพัฒนาด้านการเกษตรและส่งออกผลผลิตเกรดพรีเมียมไปยังต่างประเทศ ทั้งการผลิตพืช เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ทุเรียน และผลไม้แปรรูป รวมท้ังยังมีศักยภาพในด้านการทำประมงชายฝั่งและน้ำลึก

ความท้าทายที่สำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เพื่อรองรับการลงทุนแห่งอนาคต เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์นั้น ต้องเตรียมการรองรับด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม เช่น ปัญหาน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ขยะ การแย่งน้ำและการจราจรติดขัด

ความต้องการเชิงพื้นที่ภูมิภาคตะวันออก

จากข้อมูลโครงการจัดทําแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน (Area Need) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) แบ่งออกเป็น 3 มิติสำคัญ

มิติด้านสังคม

ภาคตะวันออกมีอัตราการเจ็บป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดของคนไทย และยังมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนซึ่งมีผู้เสียชีวิตร้อนละ 26 ของทั้งประเทศในปี 2562 และปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่สูงใกล้ค่าเฉลี่ยของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งและความเครียดภายในครอบครัว สภาพทางการเงินจากปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งนำไปสู่การเกิดคดีอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน

มิติด้านเศรษฐกิจ

จากการศึกษาของสกสว.พบว่าปัญหาสำคัญทางด้านเศรษฐกิจในภาคตะวันออกคือ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ เนื่องจากปัญหาการมีงานที่ดีและกำลังแรงงานขาดทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้เกิดการว่างงานของแรงงานเป็นจำนวนมาก และมีทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรม การขาดรายได้ของเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารรายเล็กลดลง และการเข้าถึงทรัพยากรปัจจัยการผลิตและทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากสังคมชนบทเข้าสู่สังคมเมือง

นอกจากนี้ในพื้นที่ภาคตะวันออกยังประสบปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูง อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับประเทศที่ทำให้ค่าครองชีพสวนทางกับรายได้

มิติด้านสิ่งแวดล้อม

จากโครงการการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) ส่งผลให้เกิดปัญหาปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก การขาดแคลนน้ำและคุณภาพน้ำไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานเนื่องจากการดึงน้ำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และการพัฒนาพื้นที่ที่ทำให้ป่าชายเลนกำลังสูญหายไป นอกจากนี้ในพื้นที่ระยองที่กำลังประสบกับภาวะน้ำมันรั่วไหลในทะเล ปัญหาขยะทะเล และจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดพื้นที่ภัยแล้งและอุทกภัย ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังอีกด้วย

ข้อมูลจากโครงการจัดทําแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน (Area Need)

ความต้องการที่แท้จริง ฟังเสียงคนตะวันออก

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสจัดกิจกรรม Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง 66 โดยได้เชิญชวนประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ร่วมระดมข้อคิดเห็นและความต้องการของคนภาคตะวันออก ส่วนหนึ่งของกิจกรรมได้มีการสำรวจความคิดเห็นโดยจำลองให้ผู้เข้าร่วมนำลูกบอลซึ่งแทนด้วยภาษีนั้นควรจะนำไปใช้กับประเด็นไหนมากที่สุด

จากผลการสำรวจผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 245 คน พบว่าประเด็นการพัฒนาที่คนในพื้นที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ประเด็นด้านการศึกษา รองลงมาคือระบบสุขภาพและการกระจายอำนาจ

ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่คนตะวันออกต้องแบกรับ

การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่อย่างโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) แม้จะสร้างเม็ดเงินจากการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ เป็นจำนวนมหาศาล หรือสร้างความเจริญในพื้นที่อย่างไรก็ตาม แต่การเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก กลับก่อให้เกิดต้นทุนแก่ประชาชนที่ต้องแบกรับความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและมลพิษ

นายโชติชัย บัวดิษ นายกสมาคมท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า มลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรม อย่าง pm2.5 ส่งผลกระทบทั้งชุมชนใกล้โรงงานและคนในพื้นที่ทั้งจังหวัดระยอง แต่กลับไม่มีวิธีการป้องกันหรือแผนการรับมือให้กับประชาชน อีกทั้งระบบน้ำที่เกิดจากการดึงน้ำในจังหวัดเข้าไปใช้เพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ยังส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค จนต้องมีการซื้อน้ำจากเอกชนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของนายสุนทร คงสุนทรกิจกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง ที่มีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับระบบน้ำ โดยในปี 2563 ที่เกิดสภาวะน้ำขาดแคลน ถึงแม้จะมีการลดใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและนำน้ำจากนอกพื้นที่มาใช้แล้วก็ตาม แต่น้ำจากอ่างน้ำ 4 อ่างสำคัญได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ นั้น ไม่ได้ใช้แค่ในระยองแต่ยังส่งไปชลบุรี บางปะกง และฉะเชิงเทรา

นอกจากความกังวลเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้อุปโภคและบริโภคแล้ว จากคำสัมภาษณ์ของเครือข่าย ทสม.กลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน จ.ระยอง ยังเผยข้อกังวลเกี่ยวกับการกำจัดและการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนจำนวนมหาศาลอีกด้วย

นอกจากนี้ กรณีน้ำมันรั่วกลางทะเลระยอง ยังเป็นอีกประเด็นใหญ่ทางสิ่งแวดล้อมประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเครือข่าย ทสม.กลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน จ.ระยอง ให้ความเห็นว่า จังหวัดระยองยังขาดแผนการป้องกันที่ดี จนทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหล ขณะเดียวกันก็ไม่มีแผนรับมือจนทำให้น้ำมันที่รั่วไหลจากกลางทะเลพัดเข้าสู่ฝั่งในที่สุด ส่งผลกระทบทั้งการประมงและการท่องเที่ยวเป็นวงกว้าง

นอกจากการเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมทำให้เกิดขยะมลพิษเป็นจำนวนมหาศาล กลุ่มคนรักเกาะสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า พื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม การเกิดขึ้นของโรงงานเผาขยะทำให้สภาพแวดล้อมของปราจีนบุรีไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรมอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้พื้นที่ กลิ่นรบกวน น้ำเสียที่ไหลเข้าสู่ชุมชน และยังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงเผาขยะอีกด้วย

ไม่ใช่เพียงพื้นที่ในจังหวัดปราจีนบุรีเท่านั้น จากการลงพื้นที่ตลาดลานโพธิ์ นาเกลือ จังหวัดชลบุรีเอง ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับ ปัญหาการทิ้งขยะลงทะเลของชุมชนเช่นกัน ผู้ค้ากล่าวว่า อยากให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูข้างในให้ทั่วถึงทุกบ้านกระจายข่าวเรื่องทิ้งขยะ กลุ่มหัวหน้าชุมชนก็ไม่มีอำนาจพอให้คนทุกคนทำเลยอยากให้ผู้ใหญ่ของเมืองเดินเข้าไปหาชุมชน ช่วยบอกให้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมกันให้ดีสมกับเป็นเมืองพัทยา เมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ควรจะสะอาดกว่านี้

สิ่งแวดล้อมคือเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมคือปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทุกคนในพื้นที่ หากปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการแก้ไข ย่อมไม่นำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆได้เลย

โชติชัย บัวดิษ นายกสมาคมท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพ

การศึกษานอกระบบ ศักยภาพที่สำคัญกับคนตะวันออก

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า

การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญและไม่ใช่แค่เฉพาะการศึกษาในระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการศึกษาที่เรียกว่าทำอย่างไรให้คนมีความเข้าใจ หรือความตระหนัก การใช้ความรู้ในการขับเคลื่อนสังคม “

สอดคล้องกับอาจารย์ศศิธร ศิลป์วุฒยา อาจารย์ภาคมานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่กล่าวว่า

การศึกษาเป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจในหลาย ๆ ประเด็น เช่น เรื่องการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม หรือความแตกต่างทางสังคม ถ้าสามารถสร้างพื้นฐานที่ดีได้ ในประเด็นอื่น ๆ ก็จะสามารถจัดการได้ต่อไป “

ภาพอนาคตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก

การเข้ามาลุงทุนของต่างชาติในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จำเป็นต้องมีมาตรการรองรับเพื่อให้โครงสร้างทางอุตสาหกรรมมีการเตรียมพร้อมมากที่สุด โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำได้เขียนแผนก็ต้องให้ทางรัฐบาลรองรับ โดยจำเป็นต้องได้รับการตอบสนองทันที เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเรื้อรังในระยะยาว

สุนทร คงสุนทรกิจกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรม

ภาพอนาคตสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก

การจัดทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ การปกป้องและอนุรักษ์ โดยเฉพาะการออกกฎระเบียบ มาตรการ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อที่จะปกป้องและป้องกันการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐควรต้องเพิ่มมาตรการการเข้าไปตรวจสอบดูแลอยู่เสมอ

มานพ เจริญมหาบารมี เครือข่าย ทสม.กลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน จ.ระยอง

ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรมที่สร้างขยะและของเสียเป็นจำนวนมาก ควรมีมาตรการให้พื้นที่ที่เป็นจุดกำเนิดของขยะนั้น บริหารจัดการขยะด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดการส่งออกขยะไปกำจัดในพื้นที่อื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้น อย่างปราจีนบุรีที่กำลังมีโครงการสร้างโรงเผาขยะในพื้นที่ ทั้งๆที่จังหวัดปราจีนบุรีเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญ แต่กลับต้องแบกรับผลเสียทางสิ่งแวดล้อมที่พื้นที่อื่นเป็นผู้ผลิตและคนปราจีนบุรีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมนั้นๆ

สุเมธ เดชผลงาม กลุ่มคนรักเกาะสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี

นอกจากนี้การทำธรรมมาภิบาล หรือการสร้างการมีส่วนร่วมและการรับรู้ของภาคประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ประชาชนจำเป็นต้องรู้ว่าในพื้นที่ของตนกำลังจะมีความเปลี่ยนแปลงเช่นไร หรือพัฒนาไปในรูปแบบไหน เพื่อสร้างการตัดสินใจและหาข้อตกลงร่วมกัน

ภาพอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก

“ในอนาคตอยากให้ภาครัฐ หรือองค์เอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหนุนเสริมในเรื่องของวิสาหกิจชุมชนให้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนยังจำเป็นต้องให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับชุมชนด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการออกแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และมาตรฐาน อย. ต่าง ๆ และในเรื่องของระบบการทำบัญชี วิสาหกิจชุมชนยังมีจุดอ่อนเรื่องนี้อยู่เยอะพอสมควร”

“อีกประเด็นคืออยากให้ภาครัฐสนับสนุนศูนย์รวมหรือศูนย์กลางในการรวบรวมผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือของวิสาหกิจต่าง ๆ ภาครัฐมีสถานที่จัดจำหน่ายให้อย่างชัดเจน ไม่ใช่ว่าส่งเสริมการทำการตลาดให้กับชุมชนแล้วก็เหมือนกับส่งเสริมแต่หลังจากนั้นชาวบ้านกลับทำเองไม่ได้ ซึ่งถ้ามีตลาดกลางให้ชุมชน ก็น่าจะตอบโจทย์ภาควิสาหกิจชุมชนได้”

รสสุคนธ์ ชูสุวรรณ กลุ่มพัฒนาวิถีชีวิตชุมชน วิสาหกิจชุมชนระยอง

คุณภาพชีวิต คน ช้าง ป่า

นอกจากประเด็นสำคัญข้างต้นแล้ว นายพีระพัฒน์ สนองสุข กลุ่มแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ได้ถ่ายทอดอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นเป็นปัญหาเฉพาะของคนในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้ง ๆ ที่เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งนั่นก็คือ ‘ปัญหาช้างป่า’

ภาพจากฟังเสียงประเทศไทย: อนาคต ‘คน ช้าง ป่า’ ภาคตะวันออก

เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีช้างป่าที่ออกมาในเขตชุมชน ออกมาในพื้นที่ของชาวบ้านจนเกิดการกระทบกระทั่งและมีการทำร้ายและบาดเจ็บเสียชีวิตทั้งช้างและคนหลายราย ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังสะสมมาหลายปี

จากข้อมูลกรมอุทยานพบว่าพื้นที่ป่าในภาคตะวันออกรองรับช้างได้ประมาณ 325 ตัว แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ตอนนี้มีช้างประมาณ 600 กว่าตัวแล้ว ซึ่งมีจำนวนที่มากเกินครึ่ง

นายตาล วรรณกูล ผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้ช้างป่าฟันน้ำนม จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ศูนย์เราพยายามศึกษาและพัฒนาศักยพภาพของเครือข่ายในพื้นที่ 5 ด้าน เพื่อนำไปสู่การจัดการพื้นที่ชุมชนตนเอง ได้แก่

  • ความรู้ ชาวบ้านอาจจะต้องเรียนนิเวศวิทยาของช้างป่ามากขึ้น ผลกระทบ เส้นทางหรือพฤติกรรมช้างที่จะเกิดอันตรายกับเรา
  • ความเสี่ยง ต้องย้อนกลับไปดูว่าตลอดทั้งปีในแต่ละฤดูช้างผ่านเข้ามาในพื้นที่ชุมชนเท่าไหร่ ด้วยลักษณะแบบไหน และต้องการอะไร
  • เทคโนโลยี ปัจจุบันพยายามนำเทคโนโลยี AI เข้ามาเพื่อเป็นระบบแจ้งเตือนช้างป่าล่วงหน้า
  • เฝ้าระวัง ชุมชนเมื่อมีความรู้ เทคโนโลยีแล้วอาจจะต้องรวมกลุ่มเฝ้าระวังตนเองหรือเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยป้องกันช้างไม่ให้เข้ามาในพื้นที่หรือออกจากป่าเลย
  • การจัดการนโยบาย เมื่อชุมชนควรจะได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบาย แสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจใดๆ ควรจะเปิดโอกาสให้พื้นที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในลักษณะของล่างขึ้นบน bottom up ขึ้นไปไม่ใช่ top down ลงมาส่วนกลางอย่างเดียว
ฟังเสียงประเทศไทย: อนาคต ‘คน ช้าง ป่า’ ภาคตะวันออก

นายพีระพัฒน์ สนองสุข กลุ่มแก่งหางแมว จันทบุรี ให้ความเห็นว่า การทำงานของระบบราชการไทยที่ผูกขาด ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเรียกร้องการเยียว ความรับผิดชอบหรือการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ร่วมกับหน่วยงานราชการได้ ไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานหรือกรมป่าไม้ ที่ถึงแม้ช้างจะอยู่ในเขตอุทยานแต่นอกจากเขตป่าก็เป็นพื้นที่ชาวบ้านเช่นกัน

ดังนั้น ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมกับนโยบายทางภาครัฐมากขึ้น รวมทั้งการติดอาวุธทางปัญญาเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะทำให้เรามองเห็นภาพรวมของภาคตะวันออกและความต้องการของคนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งความเชื่อมโยงของประเด็นสำคัญที่มีความเกี่ยวพันกันไปมา สุดท้ายแล้ว สิ่งที่คนภาคตะวันออกต้องการมากที่สุด ล้วนแต่เป็นความต้องการในการมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ เพื่อหาทางออกร่วมกันให้กับปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตาม ข้างต้นยังเป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่ภาคตะวันออก ถึงความต้องการในการแก้ไขเพื่อให้ภูมิภาคพัฒนาต่อไปข้างหน้าร่วมกัน ร่วมฟังเสียงคนในภูมิภาคถัดไปได้ที่แอพพลิเคชั่น C-Site หรือเข้ามาร่วมเสนอไอเดียและร่วมสนุกไปกับ My Tax My Future ออนไลน์ได้ตาม QR Code ด้านล่าง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

ฟังเสียงคนตะวันออก มองอนาคตก่อนเลือกตั้งครั้งใหม่

ตัวตึงระยอง ภาพอนาคตกับนโยบายที่คนภาคตะวันออกอยากให้เห็น

ฟังเสียงประเทศไทย: อนาคต ‘คน ช้าง ป่า’ ภาคตะวันออก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ