ตัวตึงระยอง ภาพอนาคตกับนโยบายที่คนภาคตะวันออกอยากให้เห็น

ตัวตึงระยอง ภาพอนาคตกับนโยบายที่คนภาคตะวันออกอยากให้เห็น

ภาคตะวันออก แม้จะเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่น้อยที่สุด แต่ก็เป็นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม แหล่งปลูกผลไม้ส่งออก รวมถึงการบริการการท่องเที่ยว ท่ามกลางทิศทางการพัฒนาที่คนขีดเส้น กำหนดให้ ผู้คนที่นั่นเขาคิดเห็นอย่างไร มองภาพอนาคตพื้นที่แบบไหน และเลือกให้ความสำคัญการพัฒนาพื้นที่กับเรื่องอะไร ?

ล้อมกรอบบริบทภาคตะวันออก

ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2561 เศรษฐกิจของภาคตะวันออกเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0% ซึ่งมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 4.5% และในปี 2561 ภาคตะวันออก มีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 18% ของมูลค่า GDP ของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม พื้นที่เศรษฐกิจหลักของภาคตะวันออกกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ ดังจะเห็นจากสัดส่วนของ GDP ต่อภาคคือชลบุรี ร้อยละ 34.8 ระยอง ร้อยละ 32.7 และฉะเชิงเทรา ร้อยละ 12.7 ขณะที่จังหวัดที่มี GDP จังหวัดต่อภาคต่ำที่สุดคือ จังหวัดนครนายก ร้อยละ 1 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การกระจายการพัฒนาในภาคตะวันออกยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกมี 3 เรื่องหลักๆ คือ การลงทุนขนาดใหญ่อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน(แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะเชื่อมระบบการขนส่งระหว่าง EEC กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

การใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนกฎหมายผังเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของเขตเมืองในอีก 20 ปี เปลี่ยนพื้นที่เกษตรเป็นอุตสาหกรรมการเกิดขึ้นของโรงงาน การกำหนดพื้นที่เมืองต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำใน 3 จังหวัด ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นจังหวัดที่ถูกผลักดันให้เป็น “มหานครผลไม้” โครงการจัดการน้ำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ดังกล่าวในระยะยาว จนอาจได้รับความเสียหายอย่างไม่สามารถนำกลับคืนมาได้อีก

sound เสียงคนตะวันออก ภาพอนาคตที่มุ่งหวังและอนาคตที่กังวลในพื้นที่

หลายเรื่องราว หลากเรื่องเล่า จากมุมมองคนตะวันออก

นายโชติชัย บัวดิษ นายกสมาคมส่วนท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพจ.ระยอง เสนอว่า ปัญหาระยองหลายอย่างกำลังเกินเลย จะแก้ที่ต้นปัญหา ทำอย่างไรให้คนผลิตและคนบริโภคปลอดภัย ทั้ง supply chain ทุกคนสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ตอนนี้กำลังผลิตกล่องผลไม้เพื่อช่วยเหลือสมาชิกสมาคมส่วนท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะผลไม้กำลังออกผล

ปัญหาระยองที่เห็นกันเป็นอย่างแรก คือ มลพิษ เกิดจากความเจริญที่เข้ามา โรงงานอุตสาหกรรม PM2.5 ที่สูงมาก รองลงมาคือระบบน้ำ จะเห็นว่าปีที่ภาวะน้ำขาดแคลนระยองก็จะเจอปัญหานี้อย่างหนัก เช่นปี 2563 ต้องซื้อน้ำจากเอกชน แต่การช่วยเหลือจากภาครัฐก็ค่อนข้างน้อย

นายกสมาคมส่วนท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพจ.ระยอง เสริมว่า สิ่งเราทำคือเรื่องสุขภาพ จะทำยังไงให้ชุมชนทั้งอยู่ใกล้โรงงานหรือทั้งจังหวัดระยองที่เจอปัญหามลพิษจากโรงงานมีวิธีการป้องกันหรือรับมือกับมัน หาจุดต้นเหตุ ร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์กับชุมชนที่เสียประโยชน์

ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไวจะทำอย่างไรให้การศึกษาเกิดความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด ต้องมองให้ครบ 3 ด้าน สุขภาพ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืน ลูกหลานอยู่ในประเทศได้

สำหรับข้อเสนอแนะ นายโชติชัย ระบุว่า นโยบายไหนที่ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุดก็ควรมีการทำอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ 30 บาท ไม่ใช่ไปยกเลิกมันดี แต่จะปรับปรุงยังไงให้ดีกว่าเดิม การศึกษาเรียนฟรีทำอย่างไรให้เรียนฟรีจริงๆ อยากให้ทำนโยบายที่ทำอย่างยั่งยืนและมองเห็นภาพชัดเจนว่าใครต้องทำอะไร

นายพีระพัฒน์ สนองสุข แก่งหางแมว จันทบุรี และนายตาล วรรณกูล ผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้ช้างป่าฟันน้ำนมจ.ฉะเชิงเทรา เล่าปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรและช้างป่าในพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบนส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ ความขัดแย้งสังคมเมืองและสังคมชนบท และความมั่นคงของมนุษย์จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากช้างป่า

นายพีระพัฒน์ เสนอว่า เปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับนโยบายทางภาครัฐมากขึ้น กับการแก้ปัญหาของหน่วยงานราชการและคงต้องใช้ความรู้มากขึ้นอย่าแก้ปัญหาแบบคิดง่าย ๆ เช่น การสร้างคูกั้นช้าง ไม่ได้ศึกษากันอย่างดีพอทำให้ประสิทธิภาพไม่ดี สิ่งต่าง ๆ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยึดโยงกับชาวบ้านมากพอ

ส่วน ตาล วรรณกูล เสนอการจัดการทั้ง 5 ด้านคือ 1. ความรู้เรื่องนิเวศ ผลกระทบ เส้นทางการเคลื่อนที่และพฤติกรรมของช้าง 2. จัดการความเสี่ยง ดูลักษณะและความต้องการของช้างในแต่ละฤดูของปีเพื่อปรับเปลี่ยนรับมือทัน 3. นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแจ้งเตือนช้างป่าล่วงหน้ากับชุมชนผ่านไลน์ชุมชน 4. การเฝ้าระวัง โดยรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยป้องกันช้างไม่ให้เข้ามาในพื้นที่หรือออกจากป่าทำให้เกิดการจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วม และ 5. การจัดการนโยบายอย่างมีส่วนร่วม

ชุมชนหรือคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา รับรู้และพยายามแก้ไขมาตลอดมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบาย แสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจใดๆ ซึ่งนโยบายเหล่านี้มันจะอยู่ในลักษณะของล่างขึ้นบน botton up ขึ้นไปไม่ใช่ top down ลงมาส่วนกลางอย่างเดียว

ตาล วรรณกูล กล่าว

เสนอทิ้งท้ายว่า ควรจัดการพื้นที่รองรับที่เหมาะสมกับจำนวนประชากรของช้าง รวมถึงเรื่องการคุ้มครองคนในมิติการชดเชย เยียวยาและปกป้องชีวิต เพราะมีหลักเกณฑ์หลายอย่างกำหนดไว้แต่ยังไม่เป็นธรรมกับคนในพื้นที่ เช่น นาข้าว 1 ไร่เสียหายได้ค่าเยียวยา 1300 กว่าบาทแต่เกณฑ์กำหนดไว้ว่าเป็นลักษณะเสียหายอย่างสิ้นเชิง เป็นต้น

นายเสนาะ รอดระหงษ์ รองประธานสภาอุสาหกรรม จ.ระยอง ในฐานะรองบริษัทประชารักษ์สามัคคี ดูแลวิสาหกิจชุมชนระยองทั้งแปรรูปและผลไม้สดซึ่งมีปัญหาเรื่องตลาด นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องน้ำที่ค่อนข้างอันตรายมาก

ถ้าในอนาตคต EEC เข้ามาเต็มรูปแบบ น้ำในอ่างหลักๆ ของระยองมีอยู่ที่ดอกกาย หน่องป่าไหล คลองใหญ่และประแส 4 สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าปลายฤดูฝนไม่ตกน้ำไม่พอจะเป็นปัญาในช่วงปีถัดไป

ปี 63 น้ำขาดแคลนมากต้องเอาน้ำมาใช้ เราแย่สุดคือต้นเดือนพ.ค. น้ำกำลังจะหมดพยายามทำทุกทาง เราช่วยลดการใช้ในภาคอุตสาหกรรมและนำน้ำจากนอกพื้นที่มาใช้ น้ำ 4 อ่างสำคัญที่ไม่ได้ใช้แค่ที่ระยองแต่ยังส่งไปชลบุรี บางปะกง ฉะเชิงเทราบางส่วนด้วย

การส่งเสริม EEC ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถ้าโครงสร้างพื้นฐาน เราไม่พร้อมจะเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมไทยแน่ๆ ต้องเตรียมตั้งรับให้ดีอย่างคณะกรรมการลุ่มน้ำเองเขียนแผนก็ต้องให้ทางรัฐบาลรองรับแผนนี้ ตอบสนองทันทีถ้าไม่แก้มันจะเป็นปัญหาระยะยาว

ส่วนหนึ่งในงานเวทีฟังเสียงประเทศไทย ผลสำรวจผ่านกิจกรรม Where’s my tax ภาษีของฉันไปไหน เพื่อสำรวจความต้องการคนภาคตะวันออก และประเด็นสำคัญที่อยากให้เกิดการพัฒนาขึ้นในพื้นที่ พบว่าเรื่อง การศึกษา มีจำนวนคนโหวตมากที่สุด 19 คน รองลงมาคือ สิ่งแวดล้อม 18 คน การกระจายอำนาจ 11 คน ระบบสุขภาพ 9 คน เศรษฐกิจทั่วถึง 5 คน และสังคมสูงวัย 3 คน

ผลสำรวจชาวระยอง ประเด็นที่อยากให้พัฒนาและเกิดขึ้นจริงในพื้นที่

ข้างต้นเป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากคนในพื้นที่ภาคตะวันออก ถึงปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น ความต้องการในการแก้ไขเพื่อให้ภูมิภาคพัฒนาต่อไปข้างหน้าร่วมกัน และนอกจากนี้ยังสามารถติดตาม ฟังเสียงคนในภูมิภาคถัดไปได้ที่ C-Site หรือเข้ามาร่วมเสนอไอเดีย นโยบายในฉบับตนเองได้ที่ https://better-bangkok.yrpri.org/community/4306

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ