ฟังเสียงประเทศไทย: อนาคต ‘คน ช้าง ป่า’ ภาคตะวันออก

ฟังเสียงประเทศไทย: อนาคต ‘คน ช้าง ป่า’ ภาคตะวันออก

ถ้าพูดถึง “ช้าง” หลายคนอาจจะนึกถึงความน่ารัก น่าเอ็นดู แต่รู้หรือไม่ ในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทย ช้างป่ากับคนกำลังเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าภาคตะวันออก คนกับช้างป่าที่นั่นมีปัญหาขัดแย้งกันรุนแรงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย 

ปมความขัดแย้งตั้งต้น คือการจัดการพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกและที่อยู่อาศัยของคน กับพื้นที่หากินของช้างป่า ซึ่งขยับมาซ้อนทับกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยขาดความรู้ความเข้าในในการรับมือ ทำให้การเผชิญหน้า กลายเป็นการปะทะที่นำไปสู่ความสูญเสียทั้งชีวิตของคนและชีวิตของช้าง 

จากปัญหาที่ยังไม่มีบทสรุปของการแก้ไข รายการฟังเสียงประเทศไทยจึงอยากชวนทุกคนมาร่วมรับฟังเสียงของคนในพื้นที่รอบผืนป่าภาคตะวันออก ที่กำลังเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าอย่างรุนแรง เพื่อช่วยกันหาทางออกของเรื่องนี้ให้กับทั้งคนและช้าง

ชาวบ้าน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี

ช้างเริ่มเข้ามาทำลายทรัพย์สิน และทำร้ายช้าวบ้านที่ออกไปประกอบอาชีพ และปริมาณของช้างนับวันยิ่งมากขึ้น มากเกินกว่าที่ชาวบ้านจะจัดการไหว ถ้ามาแบบไม่เยอะ 2-3 ตัว เป็นช้างประจำถิ่น ช้าวบ้านก็จะช่วยกันผลักดัน ดูแลได้ แต่พอตอนนี้มันเยอะมาก ๆ เกินกว่ากำลังชาวบ้านจะช่วยกันได้  ทำให้ในพื้นที่ประสบปัญหาเยอะ

ชาวบ้านแถวนั้นส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน ปลูกทุเรียน ลำไย ลองกอง มะม่วง น้อยหน่า มังคุด ซึ่งพืชสวนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของ จ.จันทบุรี มีมูลค่าสูง ปกติถ้าช้างมากินแค่ผลไม้ก็จะไม่เครียดมาก แต่เวลาช้างมาแล้วทำลายต้นทุเรียน ต้นลำไย อุปกรณ์การเกษตร อย่างต้นทุเรียนกว่าจะปลูกได้ลูกออกมา ต้องใช้เวลาหลายปี ตีเป็นมูลค่าค่อนข้างสูง

ชาวบ้าน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี

“ได้รับผลกระทบคล้าย ๆ อ.สอยดาว เพราะเขตนั้นเป็นเขตปลูกพืช ผลไม้ เป็นการลงทุนระยะยาว และค่อนข้างสูง เมื่อช้างลงมากินผลผลิต ทำให้ขาดโอกาส เพราะพืชผลไม้ ไม่ได้เหมือนพืชล้มลุก ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู และใช้เงินลงทุนค่อยข้างสูง  

คนในท้องถิ่นก็พยายามช่วยกันผลักดันให้ช้างเข้าไปอยู่ในจุดที่ไม่กระทบกับพวกเรามาก เช่นป่าชุมชน ป่าของอุทยานเป็นต้น โดยชาวบ้านจะจัดตั้งกลุ่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ส่วนใหญ่จะออกช่วงเวลากลางคืน ถ้าเขามาในสวนของพวกเรา ชาวบ้านก็จะรวมกลุ่มกันไปผลักดัน ไม่มีค่าจ้าง พวกเราต้องลงทุนกันเอง เพื่อความอยู่รอด”

ชาวบ้าน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา

“แถบ อ.ท่าตะเกียบ จะทำนาข้าว ยางพารา ช้างที่มากินใบยางพารา หักต้นยางพาราที่อยู่มา 10-20 ปี เป็นจำนวนกว่า 20 ไร่บางแปลง และก็ข้าว ก็เข้าไปกินรวง ชาวนามีรายได้เหลือน้อย 1 ปี เขาได้รายได้แค่ครั้งเดียว ไม่เหมือนพืชสวน ลำบากมาก หาวิธีแก้ไข หลายปีก็ยังไม่จบ มีแต่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เราจะมีคูกันช้าง และก็รั้วเป็นระยะ แต่ไม่ตลอด ซึ่งเขาทำแค่ครั้วเดียวแล้วก็หายไปเลย ไม่มีการซ่อมแซม บางทีใช้เล็กเส้น ช้างจะดันดินใต้ล่าง เสาร์ก็จะเอน มาตรฐานไม่ดีเท่าไหร่ คูกันช้างเองก็ตั้งแต่ทำมา ก็ไม่มีการซ่อมแซม ช้างขึ้นลงได้ปกติ ผลักดันเข้าไป ไม่เกิน 2-3 วัน ก็กลับออกมา ก็หาแนวคิดอยู่ว่าจะเอายังไงดี เจอปัญหาแบบนี้หนักมาประมาณ 5 ปีแล้ว”

ชาวบ้าน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา

“เราเป็นชุดที่เพิ่งเข้ามาผลักดันได้ 10 เดือน ต้องบอกว่าสาหัส แต่ยังดีกว่าหลายตำบล แต่ถึงอย่างนั้น ไม่ว่าจะเล็กหรือจะน้อยก็คือปัญหาที่เอาความตายมาสู่พวกเราทั้งหมด 

พวกผมปะทะกันแทบจะทุกอาทิตย์ บางทีบุกถึงบ้าน เราไม่ได้โลกสวย ช้างเราก็รักแต่คนก็ต้องอยู่ เพื่อความปลอดภัยของชาวบ้าน มีอยู่เคสหนึ่งที่ไป ช้างเข้ามาทำลายต้นมะพร้าวไป 1 ต้น เด็กยืนร้องไห้อยู่ไม่ไกล จังหวะที่เราเข้าไปเป็นโอกาสดี เข้าไปผลักได้ทัน”

 

ท่ามกลางเสียงสะท้อน ความเดือนร้อน ความสูญเสีย ทั้งทรัพย์สินและชีวิตจากคนในพื้นที่ที่ส่งเสียงออกมา ในโลกออกไลน์เองก็ได้สะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อช้างป่าด้วยเช่นเดียวกัน

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณรู้สึกอย่างไรกับ “ช้างป่า” ส่งความคิดเห็นมาด้านล่างนี้ได้เลย 

เพื่อร่วมกันมองภาพอนาคต “คน ช้าง ป่า ภาคตะวันออก” ให้ชัดมากยิ่งขึ้น ทางรายการฟังเสียงประเทศไทยเรามีฉากทัศน์ 3 ฉากทัศน์ที่เชื่อมโยงแนวทางการแก้ไขปัญหามาให้ร่วมโหวตกัน

ฉากทัศน์ที่ 1 : บ้านใครบ้านมัน แบริเออร์กั้นคน กันช้าง

รัฐออกแบบ ศึกษา และก่อสร้างโครงสร้างแข็งขนาดใหญ่ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ รอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ความยาวหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อกันพื้นที่ของคนและช้างออกจากกัน แก้ปัญหาการเผชิญหน้าและความสูญเสีย โดยสนับสนุบงบประมาณนับพันล้าน 

เนื่องจากเป็นโครงการที่ยังไม่มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมทั้งในและต่างประเทศ จึงต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบอย่างครบถ้านรอบด้าน ทั้งต่อคน ชุมชน สัตว์ป่า และระบบนิเวศ รวมทั้งมีมาตรการรับมือผลกระทบในอนาคต

กระบวนการอนุมัติอนุญาตต้องมีการยินยอมจากหน่วยงานด้านการดูแลป่า ท้องถิ่น ท้องที่ และประชาชนในพื้นที่ โดยมีผู้รับผิดรับชอบชัดเจน ไม่ทิ้งปัญหาให้ประชาชนในภายหลัง

ช้างในป่าต้องได้รับการดูแลในฐานะ “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ในกลุ่ม “ใกล้สูญพันธุ์” ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมของโลก สามารถคงรักษาและดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ตามธรรมชาติ

ขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งคนและช้าง ต้องมีหลักเกณฑ์การเยียวยาบนฐานความเป็นจริงและเป็นธรรม

ฉากทัศน์ที่ 2 : บ้านใกล้เรือนเคียง คนอยู่บ้าน ช้างอยู่ป่า

รัฐมีนโยบายดูแลช้างป่าให้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ในการพัฒนาแหล่งพืชอาหารและแหล่งน้ำให้เหมาะสม เพียงพอต่อจำนวนประชากรช้างป่า เพื่อให้ช้างไม่ออกมาหากินนอกเขตป่า ควบคู่กับการควบคุมจำนวนประชากร มีพื้นที่กันชนกั้นระหว่างพื้นที่คนและพื้นที่ช้าง

เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการติดตาม เฝ้าระวัง และเตือนภัยช้างป่า โดยอาศัยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ท้องถิ่น และอาสาสมัครของชุมชนในการร่วมเฝ้าระวัง ทั้งนี้จะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ และมีงบประมาณดูแล สนับสนุน เพื่อให้การปฎิบัติงานมีประสิทธิภาพ

มีกลไกการจัดการปัญหาช้างป่าในระดับจังหวัด เพื่อกำหนดนโยบายรายพื้นที่ โดยมีตัวแทนประชาชน ภาคประชาสังคม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตรวจสอบถ่วงดุลในการจัดการปัญหาช้างป่าร่วมกับภาครัฐ

การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยการมีส่วนร่วม และเป็นธรรมต้องเกิดขึ้นก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และความรุนแรงในการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง

ฉากทัศน์ที่ 3 : บ้านของฉัน บ้านของเธอ คนกับช้างปรับตัว อยู่ร่วมกัน

ชุมชนคนอยู่ใกล้ช้าง เจ้าหน้าผู้ปฏิบัติการ และท้องถิ่นในพื้นที่คือหัวใจในการร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อการปรับตัวและบรรเทาความรุนแรงของการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง ให้ความปลอดภัยทั้งคนและช้างคือสิ่งสำคัญ

เพราะผืนป่าและแหล่งน้ำเพื่อการอยู่อาศัยของช้างลดน้อยลง ยากเกินกว่าจะเพิ่มจำนวนเพื่อรองรับจำนวนช้างที่เพิ่มขึ้นทุกปีได้ บ้านของช้างป่าอาจไม่ได้อยู่เพียงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ขณะที่ช้างป่าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต การนำช้างคืนสู่ป่า ให้หากินด้วยตัวเองเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น

งบประมาณถูกนำไปใช้ส่งสริมความเข้าใจให้คนในพื้น พร้อมๆ กับการชดเชยเยียวยาอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อการอยู่ร่วมกับช้าง โดยพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ ให้ประชาชนยินดีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก และปรับช่วงเวลาในการดำเนินชีวิต

มีระบบการเตือนภัยในชุมชน ลดการใช้ความรุนแรงในการเผชิญหน้า เพราะยิ่งทำให้ช้างบาดเจ็บ หรือหวาดระแวง ช้างจะยิ่งดุร้าย

มีกองทุนดูแลคนดูแลช้าง และกำหนดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ ชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม สมเหตุสมผล และทันท่วงที ครอบคลุมทั้งในพื้นที่อยู่ร่วมและพื้นที่โดยรอบ


ความสัมพันธ์ของ คน ช้าง และป่า

“ช้างป่า” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งหมายถึงการห้ามล่า ทั้งในและนอกพื้นที่เขตอนุรักษ์ ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามทำการค้า เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

ท่ามกลางกระแสการรณรงค์ อนุรักษ์และปกป้องช้าง จากประชากรช้างทั่วโลกที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ช้างเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าลดลง

จากสถิติที่มีการสำรวจไว้ เมื่อปี 2534 ประเทศไทยมีช้างป่าประมาณ 1,975 ตัว ปี 2558  มีช้างป่าประมาณ 2,500 – 3,200 ตัว และปี 2563  มีช้างป่าประมาณ 3,168 – 3,440 ตัว

ข้อมูลจากการสำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปี 2564 พบว่า ในพื้นที่ป่าภาคตะวันออก มีจำนวนประชากรช้างเพิ่มขึ้นถึง 8.2% ทำให้ ปี 2565 คาดการณ์ว่ามีช้างป่าประมาณ 3,500 – 3,600 ตัว

ช้างป่าในไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ 69 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 38 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 31 แห่ง จากทั้งหมด 189 แห่ง และมีพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตารางกิโลเมตร 

จำนวนช้างป่าที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับจำนวนพื้นที่ป่าที่ลดลง ข้อมูลจากกรมป่าไม้ ระบุว่า เมื่อปี 2516 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 138,566,875 ไร่ หรือร้อยละ 43.21 ของพื้นที่ประเทศ และในปี 2563 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 102,353,484.76 ไร่ หรือร้อยละ 31.64 ของประเทศเท่านั้น

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างป่า

ช้างป่ามีอายุเฉลี่ยประมาณ 60-70 ปี ตัวหนึ่งจะกินอาหารมากถึงวันละ 150-200 กิโลกรัม และดื่มน้ำประมาณวันละ 200-250 ลิตร ซึ่งในแต่ละวันช้างป่าจะใช้เวลาไปกับการกินอาหารถึง 20-22 ชั่วโมง

ช้างป่าโขลงมีพื้นที่หากินประมาณ 105 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่หากินของช้างป่าเพศผู้ประมาณ 320 ตารางกิโลเมตร รูปแบบการเคลื่อนที่ในแต่ละปีแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม

เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ขาดแคลนพืช อาหาร แหล่งน้ำ รวมถึงสภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่ามีขนาดลดลง การขยายพื้นที่เพื่อหาแหล่งอาหารใหม่จึงเกิดขึ้น 

ในจำนวนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ 69 แห่ง พบปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า จำนวน 49 แห่ง โดยกรมอุทยานแห่งชาติได้จำแนกพื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่ารุนแรงและต้องเร่งแก้ปัญหา มีอยู่ 5 กลุ่มป่า 27 พื้นที่อนุรักษ์

พื้นที่เฝ้าระวังความขัดแย้ง คนกับช้าง 

กลุ่มป่าตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ารุนแรงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่จำนวนประชากรของช้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ช้างจะออกจากพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นทุกปี

ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ทั้งหมด 1.3 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่เขตอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 7 แห่ง มีศักยภาพรองรับช้างได้ 323 ตัว 

แต่ปัจจุบันคาดว่าน่าจะมีช้างป่า อยู่ในพื้นที่มากถึง 500 ตัว จึงทำให้พบช้างป่าออกนอกพื้นที่มากขึ้นร้อยละ 10-20 จากปี 2562

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมช้างเปลี่ยน

หลายพื้นที่มีคนถูกช้างป่าทำร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิต ขณะเดียวกันช้างป่าจำนวนไม่น้อยเองก็ถูกทำร้ายถึงขั้นเสียชีวิตจากวิธีป้องกันตัวของมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเผชิญหน้ากันระหว่างคนกับช้าง คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากผืนป่าใหญ่ในอดีตที่ถูกแบ่งแยกออกจากกัน 

เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน การขยายพื้นที่เกษตร และการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ เข่น เส้นทางคมนาคม และการก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของช้างป่า 

อีกปัญหาสำคัญ นั่นก็คือ มาตรการชดเชยเยียวยาความเสียหาย ที่ต้องพยายามปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถตอบสนองกับความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ไม่สอดคล้องกับรูปแบบพฤติกรรมการทำลายของช้างป่า

เศรษฐกิจโต ส่งผลกระทบชีวิตช้าง ชีวิตคน ในพื้นที่ภาคตะวันออก

นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นอีกปัจจัยที่กระทบทั้งชีวิตคนและช้างในภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออก มีประชากร 5 ล้านคน ซึ่งยังไม่นับรวมประชากรแฝง ในที่นี้มีพื้นที่เพียง 34,380 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 6% ของพื้นที่ประเทศไทย จึงนับเป็นภูมิภาคที่มีเนื้อที่เล็กที่สุดใน 6 ภูมิภาคของประเทศไทย แต่กลับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จากในอดีตที่ภาคเกษตรกรรมเคยมีบทบาทสำคัญ หลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) เกิดโครงการพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard พลิกโฉมภาคตะวันออกสู่เมืองอุตสาหกรรม ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมถึง 42 แห่ง จากจำนวน 59 แห่ง ที่กระจายอยู่ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการหลั่งไหลเข้ามาของผู้คน 

ส่วนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ที่จัดโดยมติคณะรัฐมนตรีในปี 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง นอกจากจะส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิต และการจัดการทรัพยากรของคนในภาคตะวันออก ยังส่งผลกระทบกับพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากหลายชนิด รวมถึงช้างป่าด้วย 

ยกตัวอย่าง โครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ที่ถึงแม้สันเขื่อนจะอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์ แต่จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเขาสิบห้าชั้นกว่า 7,500 ไร่ ซึ่งเป็นป่าที่ราบต่ำและเป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญของช้างป่า

‘ช้างป่า’ กับความสำคัญของธุรกิจสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ท่ามกลางวิกฤติภูมิอากาศ ทำให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาป่าต้นน้ำ เพื่อการเก็บกักคาร์บอน และรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก 

สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างช้าง ถือว่ามีความสำคัญมากในระบบนิเวศ จากผลงานวิจัยของ Fabio Berzaghi นักนิเวศวิทยาและคณะ ได้แสดงให้เห็นบทบาทที่สำคัญของช้างในระบบนิเวศป่าไม้ในเชิงการสร้างสมดุลต่อสภาพภูมิอากาศ

แต่ที่สำคัญในวงการธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก ไม่ได้ให้คาร์บอนเครดิตจากป่าเพียงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับช้างด้วย เพราะช้างจะช่วยแหวกพื้นที่ป่าทึบที่แสงเข้าไม่ถึงให้โปร่งขึ้น รวมถึงช้างจะดึงกินพันธุ์ไม้ ทำให้กระจายการปลูกเมล็ดพันธุ์ 

ซึ่งหากชีวิตของช้างป่าถูกนำไปคำนวณเป็นมูลค่า “คาร์บอนเครดิต” นี่น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ผลต่อการจัดการดูแลช้างในอนาคต


4 มุมมอง อนาคต “คน ช้าง ป่า ภาคตะวันออก”

เพื่อร่วมกันมองโจทย์อนาคต “คน ช้าง ป่า ภาคตะวันออก” ให้ชัดมากขึ้น วันนี้เรามีแขกรับเชิญทั้ง 4 ท่าน ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาควิชาการ หน่วยงานรัฐ และภาคประชาชน ที่ทำงานศึกษาและเข้าใจถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นอย่างดี มาร่วมขยายมุมมองให้ฟังกัน

เผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ในอดีตคนหักล้างถางพง คือ คนพัฒนาประเทศ รูปแบบการดำรงชีวิตมันเปลี่ยนไป ปัจจุบันพื้นที่ทุกตารางนิ้ว โอกาสที่จะมีการบุกลุกเป็นไปได้ยากแล้ว มันไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปกว่าอดีต เมื่อย้อนหลังไป 5 ปี มันไม่ได้น้อยลง แต่แค่รูปแบบการใช้ประโยชน์ของที่ดีมันแตกต่างกัน

พื้นที่ที่เป็นป่าอนุรักษ์ อย่างเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอนุรักษ์แห่งชาติ ไม่มีโอกาสที่จะลดน้อยถอยลง ส่วนพื้นที่ที่อยู่ด้านนอก บางส่วนออกไปเป็นสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. เป็นที่ดินทำกินของราษฎร บางส่วนรัฐบาลมีนโยบายของการให้สิทธิการเข้าไปทำกิน หรือ สทก. ก็ชัดเจนว่า รัฐบาลต้องมอบที่ดินเหล่านี้ให้รัฐบาลทำกิน โอกาสที่จะไปบุกรุก หรือลดน้อยถอยลง เป็นไปได้ยาก

เผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ

แต่ถามว่าสภาพของป่าเปลี่ยนไปไหม ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า เปลี่ยนไป โดยเฉพาะแนวทางของการที่เราจะอนุรักษ์ เรามองว่าทุ่งหญ้าบางแห่ง เป็นแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ ในพื้นที่ป่า สัตว์ป่าทุกชนิดไม่ชอบอยู่ในป่าดงดิบ เขาจะต้องมีแหล่งอาหาร มีทุ่งหญ้า ช้างเป็นสัตว์กินหญ้า กินทุกอย่าง เรียนรู้ที่จะกินไปเรื่อย ๆ แล้วสอนต่อกัน 

เขาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ดำรงเผ่าพันธุ์มา น่าจะมีวิวัฒนาการมาไม่น้อยกว่าคน จนมาถึงปัจจุบันเขายังสามารถรักษาเผ่าพันธุ์ของเขาได้ เนื่องจากเขามีระบบการดูแลกันเอง มีการแบ่งแยกหน้าที่ มีวิวัฒนาการ

เมื่อสภาพป่าเปลี่ยนไปเราไม่อยากให้เกิดไฟป่า ไม่อยากให้มีไฟอยู่ในพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำสูงขึ้นจริง แต่แหล่งอาหารของสัตว์ป่าลดลง เราต้องมาดูเรื่องของการจัดการในระบบนิเวศ สิ่งที่มันจะเกิดขึ้น พื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้า เราต้องระบุชัดเจนว่า ตรงไหนจะเป็นพื้นที่แหล่งอาหารของสัตว์ป่า ก็ไม่ควรที่จะยุ่งเกี่ยว ไม่ควรจะเข้าไปปลูกป่า เพื่อให้เป็นป่าขึ้นมา

พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย IUCN SSC กล่าวว่า ในพื้นที่ที่จะเป็นทุ่งหญ้า เป็นแหล่งน้ำที่สามารถดึงช้างกลับได้ ต้องมีการสำรวจและทดลองทำในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ถ้าข้างในยังไม่สามารถรองรับได้ ถึงแม้เราจะเอาช้างกลับบ้าน การที่จะให้เขาอยู่ในพื้นที่ น่าจะเป็นไปได้ยาก

ในงานศึกษาของผมที่ทดลองในพื้นที่ทองผาภูมิ เราพยายามทำแหล่งอาหารขนาดเล็ก ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งในการดึงประชากรช้างบางส่วน โดยเฉพาะช้างในกลุ่มฝูงเพศเมีย ที่เป็นจ่าฝูง ส่วนใหญ่เขาจะมาใช้พื้นที่ แต่ถ้าเป็นช้างตัวผู้ เขามีลักษณะที่เดินหากินไปเรื่อย ๆ และก็สำรวจพื้นที่หากินของเขา ก็ค่อนข้างที่จะยากในการจะใช้พื้นที่ดึงดูดเขา

ดังนั้นในเรื่องของแนวป้องกัน และการทำให้ข้างนอกลดพืชดึงดูดช้างให้ลดลง ถ้าเป็นไปได้ในพืชที่ที่มีการส่งเสริมการปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารช้าง หรือต้องทบทวนการส่งเสริมนโยบายเกษตรในพื้นที่ ส่วนแนวป้องกันต่าง ๆ อาจจะต้องมีการสำรวจปรับปรุงแนวป้องกันให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น บางพื้นที่อาจจะใช้รั้วกั้น หรือบางพื้นที่ที่เป็นเขตหมู่บ้าน อาจจะต้องมีรั้วที่มีความยืดหยุ่น หรือมีแนวทางธรรมชาติ เป็นรั้วรังผึ้งก็ได้ ในระดับครัวเรือน

ดังนั้นในเชิงการจัดการช้างข้างนอก ต้องมีความรู้ในการที่จะรับมือ โดยเฉพาะการติดอาวุธทางปัญญาให้กับทางอาสาสมัคร หรือเครื่องมือต่าง ๆ ให้มีความพร้อมกับเขาด้วย เพราะเขาเป็นผู้เสียสละ  ตัวของอุปกรณ์ เช่น รถยนต์ เสบียง ไฟที่มีกำลังมากกว่า 200 วัตต์ อันนี้มีการศึกษาที่ป่าตะวันตก การทดลองใช้ไฟต่าง  ๆ ที่จะช่วยหยุดช้างได้ในระดับหนึ่ง

พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย IUCN SSC

ตาล วรรณกูล คณะกรรมการประสานงาน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคตะวันออก กล่าวว่า มันอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของแนวกั้น แต่เรามองไปถึงกลไกการดึงทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งรัฐ ชุมชน และนักวิชาการ เรามองถึงกลไกการจัดการในระดับพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องถูกกระจายอำนาจลงมา และเป็นลักษณะของการเชื่อมโยงระหว่างรัฐและชุมชน ซึ่งต้องมีต้องกลางในการจัดการ เช่น ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการลงมาช่วยประสานให้เกิดความร่วมมือตรงนี้

ตาล วรรณกูล คณะกรรมการประสานงาน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคตะวันออก

ดิเรก จอมทอง ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า กล่าวว่า เครือข่ายพี่น้องประชาชนอยากจะผลักดันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาเป็นเจ้าภาพ จัดตั้งชุดอาสาเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าอย่างเป็นระบบ แทนที่จะเป็นบ้านนั้น บ้านนี้เข้ามาช่วยกันตามยถากรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เอางบมาบูรณาการมาทำให้ถูกต้อง

มันมีช่องให้ทำ แต่หลายคนกลัวว่าทำไปเลยโดนตรวจสอบ ชาวบ้านก็เลยต้องอยู่ในภาวะจำยอม ทำเท่าที่ทำได้ ตามยถากรรม

ดิเรก จอมทอง ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า

พิเชฐ นุ่นโต กล่าวทิ้งท้ายว่า เบื้องต้นเรื่องนี้อาจจะต้องหาภาคเอกชนมาสนับสนุนให้ทางกรมเป็นเจ้าภาพในพื้นที่ ส่วนช้างที่อยู่นอกพื้นที่ ผมคิดว่ากลไกระดับคณะกรรมการ ระดับอำเภอ หรือ เชื่อมต่อระดับจังหวัดน่าจะต้องเข้ามาดูแลตรงนี้ เพระาปัญหาช้างในพืนที่ชุมชนค่อนข้างจะซับซ้อน ต้องอาศัยการติดตามต่อเนื่องร่วมกัน

ดังนั้นตัวของชุมชน ชาวบ้านต้องเป็นกลไกหนึ่งในคณะทำงานระดับพื้นที่ ว่าตามแผนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรั้ว สร้างแหล่งน้ำในพื้นที่แล้ว ช้างออกมาลดลงไหม ซึ่งการติดตามแบบมีส่วนร่วมแบบนี้จะสร้างความรู้ให้กับชุมชนด้วย และเกิดผลของการจัดการร่วมกัน

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “คน ช้าง ป่า ภาคตะวันออก” จากชุดข้อมูลข้างต้น พร้อมกับมุมมองแนวทางการแก้ไขปัญหาจากนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชน และหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงกันทั้ง 4 ท่านไปแล้ว

คุณคิดว่า อนาคตของ คน ช้าง ป่า ภาคตะวันออก ควรเดินหน้าต่อไปทางไหน สามารถร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลย


อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ