สถานการณ์ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติแบบใดก็ตาม ล้วนแล้วสร้างความเสียหายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์น้ำท่วมของภาคอีสานที่สร้างความเสียหายให้กับจังหวัดที่เป็นพื้นที่รับน้ำและท่วมซ้ำซากอย่างเช่น จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ปลายน้ำและพื้นที่รับน้ำสุดท้ายก่อนที่จะลงแม่น้ำมูล
ความเสียหายที่พื้นที่ภาคอีสานได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุบลฯ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สภาพกายและใจ ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมถึงโครงสร้างเศรษฐกิจมากมายที่เสียหายไประหว่างเผชิญเหตุ ซ้ำการท่วมแต่ละครั้งกินระยะเวลายาวนานไปกว่าหลายเดือนจนกระทั่งคนในพื้นที่ไม่สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อีกต่อไป
การเยียวยาจึงเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ควรได้รับในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่ก็ไม่สามารถรอคอยจนอดตายก่อนได้ ถึงจะได้รับการช่วยเหลือโลกภายนอกหรือแม้แต่รัฐ การพึ่งพากันเองในฐานะของเพื่อนมนุษย์จึงเริ่มต้นจากเครือข่ายภาคประชาชน ภาคเอกชน และมูลนิธิชุมชนไทก็เป็นอีก 1 เครือข่ายที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย
จากปี 45 ถึง ปี 54 ประสบการณ์ทำงานพื้นที่น้ำท่วมสู่โมเดลช่วยเหลือชุมชน
การเข้ามาช่วยเหลือของเครือข่ายมูลนิธิชุมชนไท (องค์กรพัฒนาเอกชน สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายชุมชน กลุ่มคนจน เปราะบางทั้งเมืองและชนบท) ไม่ใช่แค่เข้ามาบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง ข้าวของเครื่องใช้ หากแต่เข้ามาดำเนินกิจกรรมสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ในการจัดการผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องด้วยแนวทางที่ให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาและรับมือช่วยเหลือชุมชนด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องรอหน่วยงานภายนอก
จำนงค์ จิตนิรัตน์ กรรมการมูลนิธิชุมชนไท ที่นำองค์ความรู้จากเหตุการณ์สึนามิปี 47 มาต่อยอดและช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอย่าง จังหวัดอุบลฯ ได้เล่าถึงกระบวนการเข้าไปทำกิจกรรมช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแบบระยะยาวว่า
“เดิมมูลนิธิชุมชนไทเข้ามาทำงานกับพี่น้องในชุมชนเมืองและบริเวณชานเมืองจ.อุบลฯ ในประเด็นเรื่องความมั่นคงที่ดินที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นก็พบว่าพื้นที่มีน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ เพราะจ.อุบลฯ เป็นพื้นที่รับน้ำของภาคอีสานใต้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเลยเกิดน้ำท่วมในทุกปี มากบ้างน้อยบ้าง คราวนี้เมื่อปี 45 น้ำท่วมค่อนข้างสูง เราเลยมีการตั้งกลุ่มอาสาภัยพิบัติขึ้นเพื่อที่จะช่วยเหลือพี่น้องดูแลน้ำท่วม”
“ถัดมาปี 54 เราพยายามพัฒนายกระดับกลุ่มอาสาสมัครขึ้นมา เรียนรู้เรื่องภูมิอากาศ หาวิธีการรักษาและลดความสูญเสีย เพราะน้ำท่วมแต่ละครั้งมีการอพยพและสูญเสียค่อนข้างเยอะ ตอนนั้นเลยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่ทำภัยพิบัติทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ พอเห็นข่าวการทำงานกลุ่มอาสา เลยติดต่อผ่านมูลนิธิชุมชนไทว่าเข้ามาช่วยแบบไหนได้นอกจากการให้ข้าวสารอาหารแห้ง เราเลยเสนอทำเรือไฟเบอร์กับบ้านลอยน้ำ (เต็นท์พักพิง) เป็นโมเดลทดลองทำกับพื้นที่น้ำท่วม”
พี่จำนงค์อธิบายว่า การทำเรือไฟเบอร์ด้วยความรู้ของชาวบ้านคือ มีขนาดใหญ่กว่าเรือประมงชาวบ้านบรรทุกสิ่งของและคนได้น้อย เมื่อเจอคลื่นยิ่งอันตราย เรือไฟเบอร์มีทุ่นที่หัวและท้ายเรือช่วยต้านแรงของน้ำได้ ส่วนบ้านลอยน้ำ (พัฒนาจากข้อมูลสูญเสียชุมชน) ช่วยให้คนสามารถอพยพผู้สูงอายุหรือเด็กและสิ่งของไปยังที่ปลอดภัยไม่ห่างจากบ้านตนเองได้ ในปี 55 จึงมีเรือ 1 ลำ และบ้านลอยน้ำ 1 หลัง
เรือและบ้านลอยน้ำจึงมีความสำคัญในการอพยพและขนสิ่งของ ทางมูลนิธิได้เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะทำให้หน่วยงานภายนอกเห็นเช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้สมทบเงินเข้ามาและจากเงินบริจาคต่างๆ จึงเกิดโรงเรียนเรือขึ้นมา มีอาสาเครือข่ายตามหมู่บ้านเข้าไปเรียนและผลิตเรือมาได้ 28 ลำในปี 62 และกระจายไปตามชุมชนที่ทางมูลนิธิทำงานด้วยกัน (ชุมชนลับแล ชุมชนเกตุแก้ว ชุมชนวัดใต้ ชุมชนท่าบ้งมั้ง ชุมชนปูยาง ชุมชนดีงาม ชุมชนหนองกินเพล ชุมชนคูสว่าง ชุมชนห้องอ้อ ชุมชนหนองยาง ชุมชนวัดบูรพา ฯลฯ)
“ถือเป็นการเริ่มต้นของการเผชิญกับภาวะน้ำท่วมที่แตกต่างไปจากการรอรับข้าวกล่องหรือรองรับการช่วยเหลืออย่างเดียวนั่นคือ การพึ่งพาตนเอง”
ปัจจุบันนี้มีชุมชนที่ทำงานด้วยเพิ่มขึ้นเพราะบางชุมชนน้ำไม่เคยท่วมปีนี้ท่วมเลยมีการขยายออกไปเช่น ชุมชนวัดใต้บน เดิมท่วมริมตลิ่ง ปีนี้ 2565 ท่วมถึงกลางชุมชน หรือชุมชนหนองกินเพลเดิมอยู่พื้นสูงแต่พอปีนี้น้ำก็ท่วม มีการขยายพื้นที่ออกไป ซึ่งอยู่ใน 4 อำเภอมี วารินชำราบ, นครอุบล, สว่างวิรวงศ์ แล้วก็ดอยมดแดง
สิ่งที่เครือข่ายมูลนิธิชุมชนไทลงไปทำไม่ว่าจะเป็นเรือไฟเบอร์ที่ใช้สำหรับสัญจรในพื้นที่น้ำท่วม รวมไปถึงบ้านลอยน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนในชุมชนที่ต้องการอยู่ในบ้านตัวเองเพื่อดูแลทรัพย์สิน ไม่ต้องอพยพไปที่อื่น ทำให้ปลอดภัยจากมวลน้ำที่ท่วมสูง ทั้งหมดนี้เป็นการยืนระยะให้พื้นที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้และนำไปพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตัวเองต่อเพื่อชุมชนจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้แม้ว่าจะเกิดภัยพิบัติครั้งถัดไปซ้ำอีก
น้ำท่วมปี 65 ชุมชนร่วมกับองค์กร ตีโจทย์ใหม่เพื่อหาทางออก
น้ำท่วมในปีนี้ทุกคนคิดว่าจะไม่เหมือนกับปี 62 ที่ผ่านมา ทำให้การเตรียมความพร้อมรับมือไม่ทันการณ์ ความเสียหายที่เกิดจึงหนักขึ้นและยาวนานกินหลายเดือน แม้ปริมาณน้ำเริ่มลดลงแต่ในพื้นที่ 14 ชุมชนที่เครือข่ายมูลนิธิชุมชนไทเข้าไปสำรวจ พบว่ามีกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และครอบครัวที่ยากจนหรือรายได้น้อย
อาชีพส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่คือ เกษตรกรและรับจ้างทั่วไป ระยะเวลาน้ำที่ท่วมนานเกินเดือน ทำให้อาชีพ รายได้และที่อยู่อาศัยหายไปพร้อม ๆ กัน ความต้องการหลักของชุมชนตอนนี้คือ การพัฒนาระบบครัวกลางให้มีทรัพยากรและวัตถุดิบที่พร้อม เมื่อต้องเจอน้ำท่วมครั้งถัดไป เนื่องจากอุปกรณ์ในครัวไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เช่น หม้อ จาน ชาม เตาแก๊ส ฯลฯ รวมไปถึงพื้นที่อพยพที่ดีและปลอดภัย
หลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูสิ่งที่ตามมาคือ การเยียวยา เป็นปัญหามาตลอดระหว่างชาวบ้านกับรัฐเรื่องเกณฑ์การเยียวยา ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินฯ พ.ศ. 2562 บอกว่า ค่าอาหารวันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50/คน หรือค่าซ่อมแซมบ้าน 49,500 บาท/ครอบครัว ซึ่งเกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามคำบอกของคุณจำนงค์ว่า
“อันนี้เป็นข้อพิพาทมานานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานทุกปี ๆ ว่า บ้านนี้ทำไมได้ 3 พัน บ้านนี้เสียหายน้อยได้ไปหมื่นห้าแต่ฉันเสียหายเยอะได้น้อย ซึ่งบทบาทของมูลนิธิอีกเรื่องคือการเผยแพร่ข้อมูลการเยียวยาเพราะสิทธิของผู้ประสบภัยพิบัติยังไม่ได้รับการให้ความรู้ที่ชัดเจนว่าเขาควรได้อะไร เราเลยต้องมีการสำรวจความเสียหายของชุมชน”
มูลนิธิชุมชนไทเอง สามารถสนับสนุนการแก้ปัญหาในพื้นที่และนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกับอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งมีเครือข่ายชุมชนประมาณ 20 ชุมชน เช่นครัวกลาง เมื่อมีผู้บริจาคสิ่งของต่าง ๆ ให้ประสานงานมาที่เครือข่ายซึ่งจะมีระบบการกระจายที่ค่อนข้างดีกว่า การหาทรัพยากรมาทำเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อลดความสูญเสีย และการให้ความรู้เรื่องกู้ชีพกู้ภัย สิทธิการเยียวยาให้กับชุมชน
กว่า 14 ชุมชนที่เผชิญภาวะน้ำท่วมซ้ำซากในทุก ๆ ปี ไม่ได้นิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ลุกมาจัดตั้งเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปการสังคมและการเมือง (คปสม.) และการเข้ามาสนับสนุนของมูลนิธิชุมชนไททั้งเติมความรู้เรื่องการรับมือภัยพิบัติ นำโมเดลเรือและเต็นท์ให้กับชุมชน หากมีการสนับสนุนจากเทศบาลหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในเรื่องงบประมาณต่าง ๆ จะเกิดเป็นการทำงานของคนหลายกลุ่มที่ร่วมแก้ปัญหา และชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
สิ่งที่ชุมชนและมูลนิธิชุมชนไทกำลังทำต่อร่วมกัน ไม่ว่าจะเรื่องการประกาศภัยพิบัติ การจัดหาทรัพยากรทำเรือและเต็นท์เพื่อสร้างเครื่องมือลดความสูญเสีย รวมถึงการแก้ไขพ.ร.บ. เยียวยาภัยพิบัติ แสดงให้เห็นถึงการตั้งคำถามของชุมชนถึงโครงสร้างการจัดการเรื่องภัยพิบัติในเรื่องต่างๆ และนำไปสู่ความพยายามในการจัดการ แก้ไขปัญหาระหว่างคนในพื้นที่และองค์กรต่างๆ สามารถติดตามการทำงานของพวกเขาผ่านเพจมูลนิธิชุมชนไทและเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปการสังคมและการเมือง
งานที่เกี่ยวข้อง
พอช.อนุมัติงบ 6.1 ล้านบาท ทำครัวกลางช่วยพี่น้องประสบภัยน้ำท่วม 16 จังหวัด 85 จุด
บ้านลอยน้ำ พื้นที่ปลอดภัย พลเมืองร่วมใจผ่านน้ำท่วม 65
น้ำท่วมอีสานกระทบวัว-ควาย ขาดแคลนอาหาร