บ้านลอยน้ำ พื้นที่ปลอดภัย พลเมืองร่วมใจผ่านน้ำท่วม 65

บ้านลอยน้ำ พื้นที่ปลอดภัย พลเมืองร่วมใจผ่านน้ำท่วม 65

กว่า 1 เดือนที่สถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าน้ำจะลดลงและสามารถระบายน้ำจากเขื่อนแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงได้ต้องใช้ระยะเวลาอีก 1 เดือนจากนี้ ทั้งยังมีลมหนาวเริ่มพัดเข้ามาสมทบ และมีแนวโน้มที่อุณหภูมิจะลดลง สร้างผลกระทบซ้ำซ้อนให้คนในพื้นที่ นอกจากจะต้องอยู่กับมวลน้ำแล้วยังรับมือกับอากาศที่ลดลงเรื่อย ๆ

ในจังหวัดอุบลราชธานีมีเครือข่ายภาคประชาสังคมรวมตัวเข้ามาช่วยเหลือคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครกู้ภัยที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ การบริจาคเงิน บริจาคสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เรือท้องแบน อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการเข้าจัดการของภาครัฐและเอกชน แต่อาจไม่ครอบคลุมต่อคนทุกกลุ่ม หรือตอบสนองความต้องการทั้งหมด การรวบรวมข้อมูลความต้องการหรือการบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มที่มีความจำเป็นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

กิจกรรมช่วยเหลือชุมชน ท่าเรือเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัย จังหวัดอุบลราชธานี

มูลนิธิชุมชนไท เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เข้าไปช่วยเหลือในจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ในการจัดการผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทางให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด เน้นให้ชุมชนมีศักยภาพในการดูแลตัวเอง โดยใช้ประสบการณ์ในการรับมือกับภัยพิบัติสึนามิในปี 2547 ซึ่งพบว่าตัวชุมชนเองเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการแก้ปัญหา ดีกว่ารับความช่วยเหลือจากภายนอกที่อาจไม่ยั่งยืน รูปธรรมหนึ่งในนั้น คือ เรือไฟเบอร์เพื่อการเดินทางสัญจรของคนในพื้นที่ประสบภัย

การทำต่อเรือไฟเบอร์ เริ่มต้นจาการใช้เหล็กขึ้นโครงสร้างกระดูกเรือ

เรือไฟเบอร์ไม่ต้านน้ำ ใช้เหล็กเป็นโครงสร้างกระดูกเรือ กว้าง 1 เมตร ยาว 8 เมตร สามารถบรรทุกคนได้ 30 คน น้ำหนักบรรทุกว่า 1 ตัน เพราะชุมชนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล น้ำเชี่ยวมาก เรือต้องสู้กับความแรงของน้ำ เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ถนนทางเข้าหมู่บ้านน้ำท่วม ระยะทางจากหมู่บ้านกับศูนย์อพยพห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร คนในพื้นที่จะสัญจรด้วยเรือเท่านั้น จึงได้มีการทำเรือไฟเบอร์ขึ้นมาเพื่อรับส่งคนในพื้นที่ โดยใช้ช่างต่อเรือไฟเบอร์ในหมู่บ้านเป็นคนสร้างเรือ

นอกจากนั้นยังมี “แพชุมชนต้นแบบ” หลังแรก เริ่มที่ชุมชนหาดสวนสุข แพถูกออกแบบและก่อสร้าง นายช่างในชุมชน ใช้งบประมาณ 1 แสนบาท มีทั้งแพและเรือขนส่ง ทำจากเหล็ก 48 เส้น วางพื้นด้วยไม้อัดเคลือบ และลอยน้ำด้วยถังขนาด 200 ลิตร 30 ถัง ในแพมีห้องน้ำ มีแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าให้แสงสว่างได้เอง

บ้านลอยน้ำ พื้นที่ปลอดภัยของผู้ประสบภัย

บ้านคูสว่าง ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ เป็นอีกพื้นที่ที่เจอสถานการณ์น้ำท่วมอย่างหนัก ซึ่งระดับน้ำสูงกว่า 4 เมตร จึงได้มีการสร้าง “บ้านลอยน้ำ” หรือ “ศูนย์พักพิงลอยน้ำ” เนื่องจากระดับน้ำที่สูงทำให้คนในพื้นที่อาศัยอยู่ในบ้านไม่ได้ อีกทั้งยังมีข้าวของเสียหายจำนวนมาก การสร้างบ้านลอยน้ำถือเป็นที่เก็บของและเป็นที่พักพิงอีกด้วย

ลักษณะของบ้านลอยน้ำ ขนาด 4*6 เมตร สำหรับครอบครัวที่มีพื้นที่บริเวณรอบบ้าน และขนาด 3*3 เมตร สำหรับครอบครัวเล็กที่มีพื้นที่บริเวณบ้านอย่างจำกัด แต่ละบ้านจะใช้เหล็กแป๊ปน้ำเป็นพื้น เพราะทนทานต่อการกัดกร่อน และใช้ถังน้ำ 200 ลิตร เป็นทุ่น 15 ลูก ซึ่งจะสามารถรับน้ำหนักได้ และจะแบ่งพื้นที่บ้านเป็นแต่ละส่วน ได้แก่ ส่วนเก็บของ ส่วนที่นอน ครัว และห้องน้ำ

บ้านลอยน้ำทำให้ผู้ประสบภัยไม่ต้องอพยพ เคลื่อนย้ายไปที่อื่น สามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่อยากอยู่บ้านตัวเอง ดูแลทรัพย์สิน ทำให้อุ่นใจขึ้นและปลอดภัยจากมวลน้ำ ความไม่ปลอดภัยและความไม่น่าไว้ใจ ยกเว้นกลุ่มเปราะบางที่อาจต้องจัดตั้งศูนย์อพยพดูแลเป็นการเฉพาะขึ้นมา

ไมตรี จงไกรจักร มูลนิธิชุมชนไท และเครือข่ายภัยพิบัติชุมชน ให้ความเห็นว่า ภาครัฐสามารถส่งเสริม สนับสนุน หรือให้เงินอุดหนุนงบกลางเพิ่มไปที่กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน1,500 ล้านบาท นำร่องโครงการบ้านลอยน้ำ หลังละไม่เกิน 40,000 บาท สามารถทำบ้านลอยน้ำได้กว่า 40,000 หลัง ผ่านทาง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดกระบวนการรวมกลุ่มชุมชนและการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน และนำระเบียบวิธีการของบ้านมั่นคงให้ชุมชนมาใช้เป็นกรอบในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนที่สุด

บ้านลอยน้ำ บ้านคูสว่าง พื้นที่ปลอดภัยของคนในพื้นที่ ภาพจากหมุด C-Site คูสว่างท่วมหนักสร้างพื้นที่ปลอดภัยบ้านลอยน้ำ
บ้านลอยน้ำ บ้านคูสว่าง ใช้ถังน้ำ 200 ลิตร เป็นทุ่น 15 ลูกเพื่อให้ลอยน้ำได้ ภาพจากหมุด C-Site คูสว่างท่วมหนักสร้างพื้นที่ปลอดภัยบ้านลอยน้ำ

บ้านลอยน้ำ และการสร้างพื้นที่ปลอดภัย คือรูปแบบหนึ่งของการช่วยเหลือกันของภาคประชาชนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสภาวะที่ทุกคนเผชิญเหตุเพื่อให้ทุกคนสามารถมีชีวิตรอดได้แม้ว่าจะยังเผชิญสถานการณ์นั้นอยู่ การแก้ปัญหาฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะสามารถทำได้แค่ใครบางคน หากแต่จะสำเร็จลุล่วงไปได้ก็คงจะหนีไม่พ้นการร่วมแรงร่วมใจระดมความคิดเห็น เสนอทางออก และฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆของภาคประชาชน แต่การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จะสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้คงจะหนีไม่พ้นการยื่นมือเข้ามาช่วยของภาครัฐในฐานะที่เป็นที่พึ่งของประชาชน การยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายของไมตรีจะไม่สูญเปล่าถ้าหากได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอีกแรง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ชาวอุบลฯ สู้ภัยน้ำท่วมด้วยบ้านลอยน้ำ | C-Site Focus | วันใหม่ไทยพีบีเอส | 19 ต.ค. 65

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ