ติดอาวุธ ความรู้ ส่งต่อ อบต.โพนทองและภาคี 15 อปท. จ.ชัยภูมิ ผนึกกำลังร่วมแก้ปัญหา “น้ำท่วม”เตรียมแผนรับมือเข้มข้น ใช้เทคโนโลยีกำหนดจุดพักน้ำผ่านดาวเทียม และกำหนดเส้นทางน้ำด้วยแผนที่สามมิติ พัฒนาทักษะอาสาสมัครและทีมกู้ชีพ
ที่มา: สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.
เหตุน้ำท่วมในเขตอำเภอเมือง จ.ชัยภูมิ เมื่อปี 2564-2565 อันเนื่องมาจากอิทธิพลพายุและมรสุมตามฤดูกาลเป็นสาเหตุให้น้ำป่าไหลหลากจากป่าต้นน้ำลำปะทาวท่วมสูงในเขตพื้นที่จำนวน 6 ตำบล ได้แก่ ต.บ้านค่าย ต.หนองนาแซง ต.บุ่งคล้า ต.นาเสียว ต.กุดตุ้ม และต.โพนทอง 4 หมู่บ้าน ท่วมพื้นที่การเกษตรจำนวน 1,198.25 ไร่ พื้นที่พืชไร่จำนวน 17 ไร่ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจำนวน 197 ราย
จากสถานการณ์ดังกล่าวจังหวัดชัยภูมิมีนโยบายในการผันน้ำออกจากเมือง สร้างระบบบายพาสน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถระบายน้ำได้ 150 ลบ.ม.ต่อวินาที และอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลองเชื่อมลำปะทาว-ห้วยดินแดง เพื่อช่วยผันน้ำอีกประมาณ 50 ลบ.ม.ต่อวินาที จะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำหลากและสามารถรองรับการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศานิต กล้าแท้ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลโพนทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น อบต.โพนทอง ได้ช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติไปทั้งสิ้น 1,639,315 บาทพร้อมกับเตรียมแผนรับมือกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นแผนที่สอดรับกับนนโยบายของจังหวัดด้วย
อบต.โพนทอง ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ 3 ระยะ คือ ก่อน ขณะประสบปัญหา และหลัง ซึ่งในระยะเตรียมความพร้อมนั้น ได้กำหนดจุดพักน้ำผ่านดาวเทียม การกำหนดเส้นทางน้ำด้วยแผนที่สามมิติ จัดทำแผนและฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ จัดทำชุดข้อมูลแผนที่ทำมือที่เกิดจากการบูรณาการจากทุกภาคส่วน และร่วมจัดทำแผนที่การบริหารจัดการน้ำกับเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำจังหวัดชัยภูมิ เพื่อวางแผนการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม และออกแบบแนวทางป้องกันน้ำท่วมใหญ่ร่วมกัน
นอกจากนั้นยังได้พัฒนาทักษะอาสาสมัคร แกนนำชุมชน ประชาชนในการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติโดยอบต.โพนทอง สนับสนุนชุดอาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือน (อปพร.) และหน่วยกู้ชีพกู้ภัยในตำบลโพนทอง พร้อมกับพัฒนาศักยภาพในหลักสูตรเฉพาะสำหรับอาสาสมัครป้องกันภัย ได้แก่ การกู้ภัยทางน้ำ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (CPR) และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การกู้ภัยด้านอัคคีภัย หลักการสื่อสารในยามฉุกเฉิน หลักการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง และสนับสนุนการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินลดปริมาณน้ำท่วมและน้ำเสียทุกครัวเรือนโดยบรรจุในแผนท้องถิ่นปี 2566 อีกด้วย
นายศานิต กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาจะสำเร็จลุล่วงเป็นรูปธรรม ต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย อบต.โพนทอง จึงได้ชักชวนเพื่อนภาคีเครือข่ายอีก 15 อปท. ที่มีปัญหาคล้ายกัน มาขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาให้พี่น้องในพื้นที่และในชุมชน
ดังนั้นจึงได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกิดขึ้น ประกอบไปด้วย สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. องค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง ในฐานะ “ศูนย์การจัดการเครือข่าย” และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย 15 อปท. เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567
การทำงานร่วมกันครั้งนี้ นอกจากการขับเคลื่อนร่วมกันในประเด็นแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ เรื่องของน้ำท่วมแล้ว อปท.ทั้ง 16 แห่ง ยังมีเป้าหมายหลักที่ขับเคลื่อนร่วมกันอีกหลายประเด็น ได้แก่ การจัดการภัยพิบัติภัยแล้ง ปัญหามลพิษทางอากาศ การพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการจัดการระบบสุขภาพชุมชนโดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มี รพ.สต. ถ่ายโอน
“ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นเร่งด่วนที่เราและภาคีเครือข่ายอีก 15 อปท.จะแก้ไขร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและชาวบ้านให้มากที่สุด” นายกอบต.โพนทอง กล่าว
ด้าน ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ทำหน้าที่เข้ามาหนุนเสริม นำหลักการและองค์ความรู้เข้ามาเป็นเครื่องมือให้ชุมชนท้องถิ่นที่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน หนุนเสริมให้รู้จักวิธีการนำเครื่องมือไปใช้ เพื่อสำรวจดูต้นทุนในชุมชนของตนเองว่า มีอะไรอยู่บ้าง มีปัญหาอะไร เพื่อจะได้ช่วยกันจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันก็หนุนเสริมให้รู้จักการนำเครื่องมือมาใช้เพื่อสานพลังให้เกิดร่วมมือกับภาคีหลัก ๆ ในพื้นที่ หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเป้าหมายและทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้เกิดการแก้ไขอย่างสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม
ส่วน สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ จะช่วยสร้างให้ทั้ง 15+1 อปท. เข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อม รับมือและจัดการกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยให้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาร่วมมือกัน พยามยามแก้ไขกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ชี้ให้เห็นถึงการร่วมแรง หนุนเสริม เกิดเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่ มีชุมชนที่เข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย ชุมชนที่สามารถจัดการตนเองได้ก็สามารถใช้พลังองค์ความรู้ต่าง ๆ และนำพลังของคนในพื้นที่มาพัฒนา เมื่อมีปัญหาเข้ามากระทบก็จะสามารถเอาความรู้ที่มีมาใช้ สู้กับทุกปัญหาที่เข้ามาได้ เพราะเรามีความรู้ มีวิธีที่จะจัดการดูแลตนเอง ครอบครัวและชุมชนของเราได้อย่างยั่งยืน