เรียบเรียง : นาตยา สิมภา
C-site Special ร่วมกับนักข่าวพลเมืองยังเกาะติดรายงานสถานการณ์น้ำท่วมจากทุกภูมิภาค ซึ่งผ่านมานับเดือนหลัง “พายุโนรู” เคลื่อนผ่านและกระทบประเทศไทยในหลายจังหวัด นับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมและน้ำท่วมในหลายพื้นที่
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เผยข้อมูลจากดาวเทียม Radarsat-2 และ Sentinel-1 อธิบายให้เห็นถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 จนถึง 11 ตุลาคม 2565 พบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล มีน้ำท่วมขัง รวมทั้งสิ้น 2,634,800 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 858,077 ไร่ (สีเขียว) หรือ คิดเป็นร้อยละ 33 ของพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด และยังท่วมขังอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมและอื่น ๆ อีก 1,776,723 ไร่ (สีแดง) คิดเป็นร้อยละ 67 ของพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด
นอกจากผลกระทบความเสียหายต่อวิถีชีวิตการดำรงชีพ อาหารการกิน และทรัพย์สินบ้านเรือนของประชาชนแล้ว พื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ของเกษตรกร เป็นอีกความเดือดร้อนที่นักข่าวพลเมือง C-site Special ร่วมรายงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนอาหารของวัว-ควาย ซึ่งเป็นเหมือนเงินเก็บก้อนโตของเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก
ภาคอีสานมีสัดส่วนการเลี้ยงโคเนื้อสูงสุด 5 อันดับของประเทศ
ข้อมูลการเลี้ยงปศุสัตว์ทั่วประเทศ เมื่อปี 2563 ของกรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าภาคอีสานมีสัดส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ โคเนื้อ โคนม กระบือ สุกร ไก่ เป็ด แพะ และ แกะ รวมกันมากที่สุด ถึงร้อยละ 47.75 ของทั้งประเทศ จำนวน 1,471,482 ราย ซึ่งจะมี โคเนื้อ 3,056,486 ตัว โคนม 224,511 ตัว และกระบือ 898,522 ตัว และในจำนวนนี้เป็นผู้เลี้ยงโคเนื้อ 5 อันดับแรกที่ จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา ซึ่งมีความหนาแน่นในแต่ละจังหวัดกว่า 100,000 – 150,000 ตัว
จากแผนที่จะเห็นว่าในพื้นที่ 5 จังหวัด ทั้ง สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา ต่างได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จากลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี ซึ่งนอกจากความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต ความเสียหายของบ้านเรือนที่พักอาศัย เส้นทางสัญจรที่ถูกน้ำท่วม และพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ในพื้นที่ก็หืดขึ้นคอ เพราะตอนนี้ขาดแคลนอาหารสัตว์ โดยเฉพาะหญ้าแห้ง-ฟางแห้ง จะไปหาเกี่ยวหญ้ามาให้ก็แทบไม่มี หายากมาก เพราะถูกน้ำท่วมหมด เนื่องจากชุมชนอยู่ในพื้นที่ลุ่มมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ รองรับน้ำมูลที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ
เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ เดือดร้อนหนัก ขาดแคลนหญ้าแห้ง-ฟางแห้ง อาหารสัตว์
ผลกระทบความเสียหาย ความเดือดร้อน มีรายงานมากับ C-site Special อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา นักข่าวพลเมืองหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นทั้งผู้ประสบภัย และผู้รายงานปักหมุดจุดช่วยเหลือ บอกเล่าวิถีชีวิตและการพยายามหาทางออกร่วมกันของเกษตรกรเพื่อให้โค-กระบือได้มีอาหารพอประทังชีวิตและอพยพเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ปลอดภัย
ปักหมุดจุดช่วยเหลือ แจ้งพิกัดเดือดร้อน ส่งมอบอาหารสัตว์
พิกัดจังหวัดสุรินทร์ มี 16 อำเภอ 121 ตำบล 1,074 หมู่บ้าน รวม 47,352 ครัวเรือน คุณธงชัย พูดเพราะ นักข่าวพลเมืองสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ ร่วมรายงานสถานการณ์และสำรวจผลกระทบที่ ต.ดอนแรด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ พบว่าเส้นทางสัญจรที่ถูกน้ำท่วมหลายจุดไม่สามารถสัญจรได้ ซึ่งถูกน้ำท่วมนานนับเดือน หลายพื้นที่ระดับน้ำเข้าสู่ภาวะปกติแล้วแต่อำเภอที่ได้รับผลกระทบมาที่สุดคือ อ.รัตนบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำหลากและล้นจากลำน้ำมูลที่ไหลมาจาก จ.นครราชสีมา และชัยภูมิ ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ปัจจุบันยังมีพื้นที่น้ำทว่มขังเป็นจำนวนมาก คาดว่าน่าจะใช้เวลา 4-6 เดือนกว่าระดับน้ำในพื้นที่จะลดลงสู่ภาวะปกติ และในชุมชนที่นี่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือก็ขาดแคลนอาหารสัตว์ ซึ่งเบื้องต้นหน่วยงานในพื้นที่ช่วยระดมหญ้าแห้งอาหารสัตว์ช่วยเหลือระยะสั้น
พิกัดจังหวัดร้อยเอ็ด นักข่าวพลเมือง คุณพิรเศรษฐ์ เพชรดี ที่บ้านดอนโมง ต.ท่าหาดยาว อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด รายงานว่าหญ้าเนเปียร์และต้นข้าวโพดบด 1 คันรถเดินทางข้ามจังหวัดระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร จาก จ.มหาสารคาม ถึง จ.ร้อยเอ็ด ที่เกษตรกรสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์เพื่อนำมาเป็นอาหารให้โค-กระบือที่ถูกอพยพหนีน้ำมาที่ปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านก็ได้ไปขอเก็บเกี่ยวหญ้าจากตำบลใกล้เคียงแต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นจะต้องซื้อมาเพิ่มเนื่องจากมีโค-กระบือมากถึงกว่า 1,000 ตัว ซึ่งพิกัดนี้ถูกน้ำมูลเอ่อเข้าท่วมนานนับเดือนเช่นกัน
พิกัดจังหวัดศรีสะเกษ นักข่าวพลเมืองสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ คุณภัทรภร วิไลมงคล รายงานความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงโค-กระบือในลุ่มน้ำมูลที่บ้านขวาว ต.ทุ่งไชย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ที่ขาดแคลนหญ้าแห้ง-ฟางแห้ง อาหารสัตว์ ชาวบ้านต้องลุยน้ำที่ท่วมเท่าเอว ลงไปเกี่ยวเพราะตอนนี้หญ้าแห้ง-ฟางแห้งขาดแคลนจริง ๆ มีเงินก็หาซื้อได้ยากเพราะเดิมก็เลี้ยงปล่อยตามทุ่งนาให้เขาหากินเองได้ แต่ตอนนี้น้ำท่วมไปหมด เบื้องต้นหน่วยงานในท้องถิ่นก็กำลังเร่งประสานความช่วยเหลือ
เพราะพลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ
นอกจากการรายงานพิกัดจุดเดือดร้อน เพื่อให้เห็นสถานการณ์เชิงพื้นที่กับนักข่าวพลเมืองที่ได้รับผลกระทบในหลายจังหวัดภาคอีสาน นักข่าวพลเมืองสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ คุณภัทรภร วิไลมงคล ยังรายงานความคืบหน้า หลังการสื่อสารสาธารณะผ่านรายกา C-site Special ได้มีการระดมน้ำใจเอาหญ้าแห้ง-ฟางแห้ง มาแบ่งปันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ต.ขะยูง อ.อุทุมพรพิสัย ได้รับเสบียงสัตว์พระราชทานฯ (หญ้าแห้งอัดฟ่อน) ซึ่งสนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ยโสธร 5,000 กก. (250 ฟ่อน) ในกิจกรรม ปศุสัตว์ศรีสะเกษ kickoff ปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมน้ำหลาก พร้อมหัวหน้ากลุ่ม ฝ่ายสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ปศุสัตว์อำเภออุทุมพรพิสัย นายอำเภออุทุมพรพิสัย สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมกัน ณ บ้านโพนเมือง ต.ขะยูง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ พร้อมมอบกระเป๋าอุปกรณ์เพื่อใส่เวชภัณฑ์เคลื่อนที่ให้กับอาสาปศุสัตว์ และมอบเวชภัณฑ์แร่ธาตุให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ยังได้การสนับสนุนสินค้าอุปโภคบริโภคให้จังหวัดศรีสะเกษ เป็น ไข่ไก่ จำนวน 1,500 ฟอง เนื้อสุกร จำนวน 200 กิโลกรัม และเนื้อไก่ จำนวน 150 กิโลกรัม
ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมที่ปีนี้ 2565 ภาคอีสานได้รับผลกระทบอย่างหนัก ด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสยืนยันถึงพลังการสื่อสารของพลเมืองที่หลายคนเป็นผู้ประสบภัย แต่ก็ยังแสดงพลังสื่อมือสมัครใจ ร่วมปักหมุดรายงานสถานการณ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราว แจ้งพิกัดหมุดจุดช่วยเหลือและส่งต่อแบ่งปันสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์ร่วมกันอย่างเต็มกำลัง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพลังการสื่อสารในสถานการณ์พิเศษจากคนธรรมดา เพราะพลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ เพราะพลังการสื่อสารอยู่ในมือทุกคน