ทักทายแดนอีสานริมฝั่งโขง ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นอีกหนึ่งอำเภอที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น โดยเฉพาะประเพณีและความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นที่พามาสัมผัส ก็คือ “ผาสาดลอยเคราะห์” ซึ่งเป็นพิธีกรรมสืบทอดกันมานาน ที่ชาวเชียงคานเชื่อว่าสามารถชำระล้างสิ่งไม่ดีออกจากชีวิตได้
ในอดีตชาวเชียงคานเชื่อว่า หากผู้ใดได้พบเห็นสิ่งไม่ดี สิ่งที่ไม่เป็นมงคล หรือมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ได้รับประสบเคราะห์ร้าย หรือมีลางบอกเหตุว่าจะเกิดเหตุร้ายกับชีวิตและครอบครัว จะต้องทำการลอยผาสาดเพื่อเป็นการลอยสิ่งไม่ดีทิ้งไป เพื่อให้ชีวิตดีขึ้นและมีแต่สิ่งดีเข้ามาสู่ชีวิต
ผาสาดที่เชียงคานมี 2 ขนาด คือ “ผาสาดลอยเคราะห์” ซึ่งเป็น ผาสาดขนาดเล็ก และผาสาดขนาดใหญ่ เรียกว่า “ผาสาดสะเดาะเคราะห์” โดยพิธีกรรมผาสาดลอยเคราะห์ จะจัดงานใหญ่ในช่วงออกพรรษาของทุกปี โดยชาวบ้านจะนำข้าวเหนียว ข้าวสาร ดอกไม้ ธูป เทียน ผ้าห่ม และสิ่งของอื่นๆ ใส่ลงในผาสาดหรือกระทงขนาดใหญ่ จากนั้นจะนำผาสาดไปลอยในแม่น้ำโขงหรือลำน้ำต่างๆ เชื่อว่าเมื่อน้ำพัดเอาผาสาดลอยไปกับสายน้ำ สิ่งไม่ดีต่างๆ ก็จะไหลไปกับผาสาดไปด้วย
ผาสาดสะเดาะเคราะห์ จะทำเป็นกระทง 9 ห้อง มีอาหารคาวหวาน และเชิญตัวเคราะห์ ที่อยู่ 8 ทิศ คือ บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อีสาน อุดร ให้มารับเอาไป ข้างในก็ต้องมีอาหารให้ครบ ทิศอีสาน อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร และบูรพา มีของเช่นไหว้ทั้ง 9 ประกอบด้วย ข้าวดำ ข้าวแดง แกงส้ม แกงหวาน หมาก พลู บุหรี่ เนื้อย่าง และปลาตาย
ศูนย์ข้อมูลเมืองเชียงคาน โดยเทศบาลตำบลเชียงคาน ถือเป็นอีกแหล่งที่บริการนักท่องเที่ยว สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลและทำพิธีกรรมผาสาดลอยเคราะห์ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งทางผมเองนั้นก็ได้เจอ คุณไพรินทร์ แก้วกัญญา หรือพี่ติ๋ม วิสาหกิจชุมชนบ้านต้นหล้าเชียงคาน และกลุ่มจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดป่าใต้ ได้เล่าเรื่องราวของผาสาดเพิ่มเติมให้ฟังว่า การทำผาสาดลอยเคราะห์นั้น วัสดุส่วนใหญ่ มาจากกาบกล้วย ซึ่งใช้วัสดุธรรมชาติ โดยการนำกาบกล้วยมาทำฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตกแต่งด้วยกรวยจากใบตองและดอกไม้
ในส่วนดอกไม้ที่ใช้ตกแต่งนั้น ทำมาจากขี้ผึ้ง หรือเทียน โดยในสมัยก่อนการตกแต่งด้วยดอกไม้นั้น จะไม่มีดอกไม้ที่มีสีสันสวยงาม คนโบราณจะนํามะละกอมาแกะสลักเป็นดอกไม้ แล้วนําไปชุบน้ำเทียน
จากนั้นนําไปชุบน้ำปกติสลับกันไปมา จนกว่าเทียนจะหลุดออกจากกัน และนํามาตกแต่งในตัวผาสาดลอยเคราะห์ และการนำไปลอยเคราะห์ ก็จะทำพิธีกรรมก่อน และมักจะใส่เส้นผมลงไปหรือใส่เศษเล็บของตัวเองลงไป เพื่อให้ลอย เคราะห์ ลอยโศกออกไป จากนั้นก็นำไปลอยที่ท่าน้ำบริเวณแม่น้ำโขง
ปัจจุบัน ประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ยังคงสืบทอดกันมาอย่างเหนียวแน่น โดยชาวเชียงคานทุกเพศทุกวัยต่างก็ร่วมใจกันจัดงานประเพณีนี้ขึ้น เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป ผู้ที่สนใจการศึกษาทำผาสาดลอยเคราะห์ หรือศึกษาดูงาน ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ลอยผาสาดได้ตลอดทั้งปี สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านต้นหล้าเชียงคาน ชุมชนวัดป่าใต้ ที่เบอร์โทร. 097-3215321 (คุณไพรินทร์) หรือ 093-1053611 (คุณสุริยัน)
ภาพประกอบ เทศบาลตำบลเชียงคาน, ศุภกิตติ์ คุณา