น้ำท่วมซ้ำซากฉบับคนหัวเวียง เป็นอยู่อย่างไร หัวไม่เหวี่ยง

น้ำท่วมซ้ำซากฉบับคนหัวเวียง เป็นอยู่อย่างไร หัวไม่เหวี่ยง

เปิดคู่มือชีวิต อ่านประสบการณ์ของคนจากพื้นที่รับน้ำท่วมซ้ำซาก ริมแม่น้ำน้อย ลำน้ำสำคัญสายหนึ่ง ในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่รับน้ำใต้เขื่อนเจ้าพระยา รับน้ำแทนพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในจังหวัดอยุธยาและกรุงเทพมหานคร น้ำท่วมทุก ๆ ปี 2 เดือน

นางปทุมพร สัญญะชิต หรือที่คนพื้นที่เรียกว่า “ผู้ใหญ่เบียร์” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุทธยา หนึ่งในผู้นำชุมชนและผู้ร่วมผลักดันรักเล่าว่า ปัญหาหลักของหัวเวียง คือ น้ำล้นตลิ่ง มวลน้ำที่เข้ามาในพื้นที่มีปริมาณสูงมาก การบริหารจัดการน้ำที่สื่อสารให้ชัดเจนกับชาวบ้าน เราก็จะอุ่นใจในการระบายน้ำมา บางทีเราไม่รู้ว่าน้ำจะมาในปริมาณไหน จะมากี่ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที

ระบบติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา แสดงค่าการระบายปริมาณน้ำบริเวณทั้งเหนือและท้ายประตู

“คนหัวเวียงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หรือการระบายน้ำอยู่ทุกปี มันเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ความเสียหายไม่ใช่แค่บ้านเรือนเสียหาย แต่ยังลดรายได้ คนทำงาน ทำอาชีพไม่ได้ เวลาน้ำท่วมก็ยังต้องมีรายจ่ายอยู่ดี การบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญกับชาวบ้านที่นี่ ถ้าแจ้งข่าวสารที่ชัดเจน บอกเรื่องจริงมาให้เรา มีการบริหารจัดการน้ำให้อย่างชัดเจน เราก็จะเตรียมรับมือน้ำได้”

ข่าวสาร แจ้งเตือน กระจายข่าวอย่างไร? ให้ทันกับการไหลของมวลน้ำ

ผู้ใหญ่เบียร์ เล่าว่า ก่อนที่น้ำจะมาได้รับข่าวสารจากทางชลประทานที่จะแจ้งผ่านมาทางนายอำเภอ นายกเทศมนตรี แล้วก็ส่งตรงมาถึงผู้ใหญ่บ้านผ่านทางไลน์กลุ่ม จากนั้นก็เป็นหอกระจายข่าวแจ้งลูกบ้าน ว่าวันนี้มีมวลน้ำมาปริมาณเท่านี้ บ้านไหนบ้างที่จะท่วมก่อนก็จะขนของขึ้นที่สูง แต่เรื่องน้ำท่วมก็เบาบางไปบ้าง เพราะก็มีการดีดบ้านให้สูงขึ้นไป ก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก ถ้าบ้านไหนไม่มีเงิน ฐานะไม่ดีก็จะจมอยู่กับน้ำ ถ้าน้ำท่วมถึงพื้นบ้าน เขาก็จะวิธีการเอาไม้มาพาดหน้าต่าง ทำเหมือนเป็นนั่งร้าน ก็หนุนนอนกันไป ถ้าน้ำท่วม 3 เดือนก็อยู่กันไปแบบนี้ แต่เรื่องสุขอนามัยมันไม่ได้

ส่วนพวกรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ แต่ละหมู่บ้านก็ทำจุดจอดรถ ตามระดับน้ำที่ต่างกันออกไป ผู้นำชุมชนก็ต้องคอยจัดเวรยามให้กับการดูแลทรัพย์สินของคนในชุมชน แต่มันก็ไม่เพียงพอ บางบ้านก็ไปจอดไว้ที่บ้านญาติหรือเอาไปไว้พื้นที่อื่น บางบ้านงดใช้เอามาจอดไว้บนสะพานหัวเวียง เรื่องหลัก ๆ จะใช้จัดการผ่านผู้นำชุมชน ถ้าช่วงที่น้ำมาผู้นำชุมชนก็จะไปช่วยเหลือ ไปยกของทรัพยสินขึ้นที่สูงให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ หรือคนที่เดือดร้อน ก็ชักชวนพาวัยรุ่นที่มีจิตอาสาไปช่วยกันยกเตียง ยกข้าวของให้พ้นน้ำ

ชาวบ้านหัวเวียงหมู่ 2 ช่วยกันทำความสะอาดอาคารในบวิเวณโรงเรียนวัดหัวเวียง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ภาพจากเฟซบุ๊กของผู้ใหญ่เบียร์

“ถามว่าเราอยู่ได้ไหม ก็อยู่กันได้ จะบอกว่าเป็นความเคยชินไหม มันก็เป็นความเคยชิน ที่อาศัยบนความสามัคคีส่วนหนึ่ง บางบ้านที่มีคนเฒ่าคนแก่แล้วไม่มีญาติพี่น้องอยู่ ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือกันส่วนนี้ ผู้นำชุมชนต้องเสียสละให้กับชาวบ้าน หรือจัดการความช่วยเหลือที่เข้ามาในช่วงเผชิญเหตุ ถ้าชุมชนไหนไม่ช่วยเหลือกันมันก็จบเลย” ผู้ใหญ่เบียร์ ย้ำ

แผนที่แสดงความถี่ของน้ำท่วมขัง (น้ำท่วมซ้ำซาก) ในรอบ 11 ปี จากจิสด้า

รับมือน้ำท่วมซ้ำซากอย่างไร อ่านประสบการณ์คนใน “พื้นที่รับน้ำ”

“เมื่อก่อนก็น้ำก็ท่วมประจำ แต่ทำไมเดี๋ยวนี้ต้องมีของมาแจกโน่นนี่นั่น เพราะตอนนี้คนแก่อยู่บ้านคนเดียวมากขึ้นซึ่ง เราต้องพึ่งคนในชุมชน การจัดการด้วยกำลังของชุมชน ให้คนที่เขามีจิตอาสามารับของไปช่วยแจก ไม่งั้นก็จะเหมือนคนกรุงเทพฯ ที่บ้านใครบ้านมัน ไม่รู้จักคนข้างบ้าน” 

ผู้ใหญ่เบียร์บอกว่าชุมชนมีข้อมูลผู้สูงอายุ และยังมีหัวหน้าคุ้ม หรือหัวหน้าโซนที่จะเป็นคนรับส่งข่าวสาร กระจายเรื่องราว หัวหน้าคุ้มก็เป็นคนที่มีจิตอาสาพายเรือออกมารับของช่วยแจก แต่บางทีก็มีเสียงมากระทบว่าน้ำท่วมแค่นี้ ทำไมมีของแจกเยอะจัง

“ไม่ได้อยากรับของแจก แต่อยากให้เข้าใจชาวไม่ได้อยู่กับน้ำท่วมวันสองวัน หรือ 1 อาทิตย์ บางปีอยู่กับมันถึง 3 เดือน และศักยภาพของพื้นที่รับมือน้ำท่วม สำหรับคนตัวเล็กที่สุด ลำบากที่อยู่เขาอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน”

ผู้ใหญ่เบียร์ ย้ำว่า ระบบในการรับมือการจัดการที่ดีของชุมชนเอง เราต้องมีกำลังคน  มีจิตอาสาที่รักชุมชนจริง ๆ มาช่วยกัน ส่วนความช่วยเหลือจากข้างนอกที่เข้ามาก็ต้องมีการจัดการ ท้องที่กับท้องถิ่นต้องทำงานร่วมกัน ท้องที่จะประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนมาช่วยกัน ส่วนท้องถิ่นเทศบาลเข้ามาช่วยเหลือให้กับรายที่อยู่ที่บ้านไม่ได้ เขาก็จะเตรียมเต็นท์ให้อยู่กันริมถนน และจัดการเรื่องสาธารณสุขดูแลคนป่วยเจ็บไข้ 

มีคนถามเหมือนกันทำไมรับมือกันไหว เพราะว่ามันท่วมทุกปีก็เป็นความเคยชินของชาวบ้าน ของผู้นำที่จะมาช่วยกันบริหารจัดการสถานการณ์ไป ยกตัวอย่าง ถ้าน้ำมาแล้วแต่ยังมีเกษตรกรที่เขายังไม่ได้เก็บเกี่ยว ชาวบ้านตามริมตลิ่งจะรับน้ำไว้ก่อน พอชาวนาเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็จะระบายน้ำเข้าทุ่ง เพื่อลดปริมาณน้ำริมตลิ่ง ถ้าไม่มีการระบายน้ำเข้าทุ่งเลย คนริมตลิ่งก็เดือดร้อนหนักและกินเวลานานขึ้น

“ในพื้นที่หมู่ 2 ของผู้ใหญ่ ไม่ได้มีเกษตรกรเยอะเลยไม่มีปัญหาความขัดแย้ง แต่บางที่ที่มีเกษตรเยอะ ก็เคยมีกรณีที่ทะเลาะกันเลย ฝั่งนึงมีแต่น้ำล้นตลิ่งมาเกือบเดือน แต่อีกฝั่งหนึ่งเป็นทุ่งแห้งสนิทเลย”

น้ำขึ้นให้รีบตัก ทำมาค้าขายเหนือน้ำสไตล์หัวเวียง

“ผู้ใหญ่เดียว” หรือนายอัครเดช สุขษาสุณี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เล่าว่า กลุ่มอาชีพที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจในชุมชน เช่น กลุ่มดอกไม้จันทน์ กลุ่มจักสานตะกร้า แม้จะเจอน้ำท่วมแต่ยังพอทำงานกันต่อได้ ก็ทำผลิตภัณฑ์ตุนเอาไว้ แต่จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขนส่ง ปกติจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่ พอน้ำท่วมหรือเริ่มลด ก็นัดต้องวันเวลาและสถานที่กัน แล้วก็ไปส่งตามที่นัดกันไว้

“อย่างกลุ่มดอกไม้จันทน์ ถ้าพื้นที่วัดน้ำยังไม่ท่วม ยังจัดงานศพได้ ก็ทำได้หรือถ้าวัดในพื้นที่ท่วมก็ยังทำออเดอร์ในพื้นที่อื่นได้ ส่วนจักสานตะกร้าช่วงน้ำท่วมจะมีคนมารับของอยู่แล้ว ผลกระทบมีเรื่องที่เก็บของวัสดุของต่างๆ ก็จะเอาขึ้นที่สูงไว้ แล้วก็ตะกร้าเราสามารถสานตุนเก็บเอาไว้จนถึงเวลาน้ำแห้งได้”

บ้านเรือนในช่วงน้ำท่วม ณ ชุมชนหมู่ 11 เมื่อวันที่ 22-23 ส.ค.

ในช่วงน้ำท่วมคือ สิ่งที่เปลี่ยนไปหลักๆ จะเป็นเรื่องการเดินทางในชีวิตประจำวัน ต้องพายเรือจากบ้าน ซึ่งบ้านทุกหลังมีเรือเป็นของตัวเอง เป็นเรือไม้บ้าง เรือไฟเบอร์หรือเรือเหล็กบ้าง พายไปยังพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมถึงจะจอดรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์เอาไว้

“เวลาจะไปซื้อของก็ใช้การพายเรือ บางบ้านที่น้ำยังไม่ท่วมเขาก็ขายของในบ้านตัวเองหรือใต้ถุนบ้านกัน ถ้าอยากได้ของอย่างอื่นก็จะฝากลูกหลานซื้อมาจากในตัวเมืองมาเก็บตุนเอาไว้ ไม่ก็หาปลาทั่วไปตามแม่น้ำ การขายของบนเรือมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นขายพวกกับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกงถุง”

ภาพหมุดสถานการณ์การเฝ้าระวังและการเตรียมรับมือของคนในชุมชนหัวเวียงที่สื่อสารคนในพื้นที่ผ่านทาง C-Site อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผสมผสานการเดินทาง ทั้งทางบกและทางน้ำ

ท่วมแล้วยังไง นักเรียนไม่ห่างไกลการเรียนรู้ 

พิม พิมพ์ชนก รุ่งแจ้ง ประธานนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดหัวเวียง เล่าว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหัวเวียงไม่ค่อยกระทบเป็นปัญหากับการเรียนหนังสือ ส่วนที่กระทบคือการเดินทางไปโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนเป็นพื้นที่สูง เวลาน้ำท่วมจะเข้าไม่ถึง กิจกรรมทุกอย่างในโรงเรียนก็จะเป็นไปตามเดิมปกติทุกอย่าง หรือแม้ว่าน้ำจะท่วมถึงก็มักจะเป็นช่วงโรงเรียนปิดเทอม 

“ปีล่าสุดมีสถานการณ์โควิด ก็เรียนออนไลน์แทน แต่จะเจอปัญหาอินเทอร์เน็ตที่มีไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ก็ยังพอจะใช้ได้ ครูจะใช้วิธีการสอนออนไลน์คือสอนออนไลน์ผ่านการวิดีโอคอลทางไลน์ หรืออัดคลิปสอนแล้วส่งให้ในไลน์กลุ่มโดยเวลาเรียนเท่าตอนที่เรียนในโรงเรียนคือ 1 ชั่วโมง แต่สิ่งที่มีเพิ่มคือการบ้านที่ต่อยอดจากการเรียนออนไลน์ให้เข้าใจมากขึ้น”

จูน อภิญญา เชื้อมาก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดหัวเวียง เล่าว่า ช่วงเวลาที่ยากสำหรับสถานการณ์น้ำท่วมคือระหว่างการเดินทางไปโรงเรียน เนื่องด้วยบริเวณบ้านของจูนเป็นพื้นที่ต่ำ ตอนนี้น้ำจะท่วมถึงเอวและมีท่าทีว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การเดินทางไปโรงเรียนของจูนจะต้องพายเรือไป ถ้าช่วงปกติหากเดินจากบ้านไปโรงเรียนจะใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที แต่เมื่อต้องพายเรือไปโรงเรียนมักจะใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิมคืออย่างต่ำ 30 นาที ทำให้กิจวัตรประจำก่อนไปโรงเรียนจะต้องเปลี่ยนไป ตื่น อาบน้ำ กินข้าว แต่งตัวให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 15 นาที และพายเรือออกจากบ้านเพื่อที่จะไปเข้าโรงเรียนให้ทันเวลา

พิม เล่าเสริมว่า บริเวณบ้านพิมน้ำยังท่วมไม่สูงมาก แต่ระดับน้ำก็เพิ่มขึ้นเร็วมากเช่นกัน เมื่อวานอยู่เท่าข้อเท้า วันนี้น้ำท่วมขึ้นมาเท่าเข่าแล้ว การเดินทางไปโรงเรียนของพิมต่างกับจูน พิมไม่ต้องใช้เรือพายไปโรงเรียน แต่ก่อนออกจากบ้านพิมต้องใส่กางเกงขาสั้นกับรองเท้าแตะ เพื่อเดินลุยน้ำไปโรงเรียนทุกวัน พอถึงโรงเรียนก็จะเช็ดขาเช็ดเท้าและเปลี่ยนเป็นกระโปรง หรือถ้าวันไหนต้องใส่ชุดพละก็เปลี่ยนเป็นกางเกงวอร์ม และเปลี่ยนจากรองเท้าแตะเป็นรองเท้านักเรียน ทำแบบนี้ทุกวัน เท้าเปื่อยถือเป็นเรื่องปกติมากสำหรับในพื้นที่ แต่ไม่เคยเจอโรคที่มากับน้ำ 

“หนูเกิดมา 15 ปี หนูก็เห็นว่าน้ำท่วมมาตลอด ต้องอยู่กับความเคยชินนี้ ทุกคนเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำท่วม จนตอนนี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันลำบากขนาดนั้นแล้ว” 

สำหรับหนูอนาคตไม่ได้คิดว่าจะออกไปจากหัวเวียง เพียงแค่ต้องเรียนที่อื่นที่รองรับระดับชั้นที่สูงขึ้น โรงเรียนที่เรียนอยู่เป็นที่เดียวที่มีระดับชั้นถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีหน้าขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 คิดไว้แล้วว่าจะไปเรียนโรงเรียนที่คนในพื้นที่เรียกกันว่าเป็นโรงเรียนประจำอำเภอเสนา แต่อนาคตที่ไกลกว่านั้นยังไม่ได้คิด ถือว่าเป็นเรื่องของอนาคต

ภาพน้ำล้นตลิ่ง ถ่ายโดย พิม พิมพ์ชนก รุ่งแจ้งเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 65 เวลาประมาณ 4 โมงเย็น ชมคลิปรายงานสถานการณ์จากพื้นที่ได้ที่หมุด C-Site การดำเนินชีวิตที่ต้องทำให้ชินกับการเป็นเมืองรับน้ำ

โอกาสในวิกฤต วงจรการจัดการของทุ่งรับน้ำแทนกทม.

นางจันทร์จ้าว โพธิ์สุทธิ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.หัวเวียง อ.เสนา และผู้จัดการกลุ่มนาแปลงใหญ่ เล่าว่า หัวเวียงเป็นหนึ่งในพื้นที่รับน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของทุ่งรับน้ำหัวเวียง ผักไห่ และบางส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี รวมพื้นที่ประมาณแสนกว่าไร่ ที่จะมีการระบายน้ำเข้าไป หลัง 15 กันยายน หลังพ้นกำหนดการเก็บเกี่ยว เมื่อนำน้ำเข้าไปทุ่งรับน้ำก็ขังอยู่อย่างนั้น 2-3 เดือน บางจุดก็ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ เป็นทะเลน้ำจืด เพราะช่วงนั้นเป็นก็จะมีลมหนาวพัดลงมา น้ำมันก็จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับคลื่น ก็เป็นโอกาสในวิกฤตอย่างหนึ่ง

รอบการผลิตที่นี่จะได้ทำได้สองครั้งต่อปีรอบแรกทำนาช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม แล้วไปเก็บเกี่ยวเดือนเมษายน รอบที่สองคือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงการเก็บเกี่ยวในช่วงกันยายน ซึ่งมันมีข้อตกลงว่าทุ่งที่หัวเวียงจะไม่มีการทำเกษตรหลัง 15 กันยายน เพื่อระบายน้ำเข้าทุ่งและลดความเสียหายของเกษตรกรและการสูญเสียการชดเชยในทุ่งนี้

“มีอยู่ยุคหนึ่งที่เกษตรกรเราขายที่นาของตัวเองให้กับนายทุน แล้วเช่านาทำเอง หรือบางคนก็จ้างคนให้ทำนา ทุ่งนาที่ยังอยู่ในมือของชาวนาจริง ๆ มีเป็นส่วนน้อย”

ผู้ใหญ่จันทร์จ้าว เล่าอีกว่า ในช่วงที่ท่วมน้ำชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำน้อย น้ำจะท่วมถึงระดับพื้นบ้านที่นอนกันเลย ถ้าทุ่งรับน้ำทั้ง 7 แห่งในจ.พระนครศรีอยุธยารับน้ำเข้าไปก็แบ่งเบาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านหัวเวียง บางกระทุ่ม หรือกระทั่งบางบาล ที่เขาต้องใช้ชีวิตบนแผ่นไม้กระดานที่ยกสูงขึ้นเป็นนั่งร้าน ทั้งนอน ทำกับข้าวและขับถ่ายในที่เดียวกัน

“ช่วงน้ำท่วมบ้านที่มีเรือก็จะออกหาปลา ส่วนคนที่ยังต้องทำงานในโรงงานตามพื้นที่เศรษฐกิจที่ถูกปกป้องไม่ให้ท่วม ก็จะอาศัยถนนหลักออกไปทำงาน ก็อาจจะต้องปรับชีวิตและวางแผนการเดินทาง เพราะต้องใช้เวลามากขึ้น”

น้ำกองรวมที่นี้แล้วศักยภาพของพื้นที่รวมอยู่ตรงไหน?

ผู้ใหญ่จันทร์จ้าว ขยายความว่า พื้นที่ต.หัวเวียง เป็นส่วนหนึ่งของอ.เสนา พื้นที่ราบลุ่มที่สุดในประเทศไทย จะมีน้ำมากองรวมกันที่ต.หัวเวียง ต.บ้านกระทุ่มหรือกระทั่งอ.บางบาล ถ้าบริหารจัดการดี ๆ ก็สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งในหน้าแล้งเราก็ยังมีน้ำตลอด สามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำแล้วขึ้นมาไหว้พระวัดเก่าแก่ทั้ง 7 แห่งได้ เช่น วัดหัวเวียงมีหลวงพ่ออ้วน วัดบางกระทิงมีหลวงพ่อโต วัดบันไดช้างมีหลวงพ่อเทียบ หลวงพ่อลับ

หัวเวียงเป็นพื้นที่เดินทัพ พม่าจะตีกรุงศรีอยุธยาทั้งไปและกลับก็จะผ่านต.หัวเวียง วัดบันไดช้างก็จะมีประวัติศาสตร์เรื่องกองทัพช้าง กองทัพม้า หรือวัดหัวเวียงก็เพี้ยนมาจากประวัติศาสตร์บอกเล่าที่ว่ากันว่าพอพม่าชนะกรุงศรีฯ ก็กวาดต้อนครัวเรือนและเกิดการแข็งขืนจะมีการตัดหัวเชลยศึกและเหวี่ยงหัวลงแม่น้ำน้อย จนเรียกเพี้ยนกันในที่สุด บางคนก็บอกว่าตรงบริเวณนี้เป็นสามแยก น้ำไหลจะแรง พายเรือผ่านมาตรงหัวจะเหวี่ยงไปมา

ภาพมุมสูงบริเวณสามแยกหัวเวียงแม่น้ำน้อย วัดหัวเวียง วัดสุวรรณเจดีย์ วัดบางกระทิง และบ้านเรือนริมแม่น้ำร้อยโดยรอบ จากช่อง มหานครออนทีวี เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564

ส่วนทุ่งนารับน้ำระหว่างที่ท่วมก็นอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทางรัฐก็มีโครงการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง พอ 3 เดือน ปลาโตได้ที่ ชาวบ้านก็จะหาปลามากินมาขายกัน ที่ไหนไม่มีน้ำ แต่พื้นที่หัวเวียงเราในน้ำมีปลาในมีข้าวอย่างที่โบราณพูดกัน ก็ถือว่าในวิกฤตก็ยังมีโอกาสให้ชาวบ้านอยู่

“พอน้ำไปเราก็ต้องระดมกันทำความสะอาดดินโคลนในพื้นที่ หมุนเวียนสลับกันช่วยเหลือทำความสะอาดที่ส่วนกลาง หรือซ่อมแซมบ้าน สำหรับคนในอยากให้ช่วยดูแลบ้างก็โอเค”

คุณคิดว่าศักยภาพของผู้คนนี้ในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนได้ไหม ร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอข้อคิดร่วมกับคนหัวเวียงได้ที่

เขื่อนเจ้าพระยาส่งสัญญาณเตรียมระบายน้ำ ท้ายเขื่อนเตรียมรับมวลน้ำภายใน วัน

นายชวลิต ฉลอม ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท แถลงข่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่ามีร่องความกดอากาศพาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักในบริเวณภาคเหนือ และมีปริมาณน้ำจากตอนบนไหลลงมาสู่พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่สถานีวัดน้ำ C2 อัตราประมาณ 1,589 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้กรมชลประทานประกาศแจ้งเตือนพื้นที่ท้ายน้ำว่าจะมีการระบายน้ำเพิ่ม จากอัตรา 1,400 เป็น 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม เป็นต้นมา

ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยา ยังคงระบายอยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำหรับเกณฑ์ที่ประกาศไปว่า จะมีการระบายถึง 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทางกรมชลประทานได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ตอนบน ที่ไหลลงมารวมที่จังหวัดนครสวรรค์ ในเกณฑ์อัตรา 1,800-1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งแม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำสาขาที่จะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะมีการปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำหรับพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากเกณฑ์การระบายน้ำดังกล่าว ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ในจุดที่ได้รับผลกระทบจุดแรกคือ บริเวณอำเภอผักไห่ หัวเวียง เสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะประชาชนริมแม่น้ำน้อย และคลองโผงเผงที่ได้รับผลกระทบ น้ำยกตัวสูงขึ้นประมาณ 25 เซนติเมตร จะทำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่นอกเขตคันกั้นน้ำ

จากต้นน้ำถึงพื้นที่รับน้ำ มองไปข้างหน้า โจทย์อยู่ตรงไหน ถ้าบ้านเรือนประชาชนไม่ใช่ที่รับน้ำ

นายภัทรชัย นกพลับ หนึ่งในว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองหนึ่ง กล่าวว่า เดิมทีตนเป็นคนหัวเวียงแต่ปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่อ.บางบาล ในเบื้องต้นได้เตรียมแผนงานจัดตั้งศูนย์ชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านไว้ทุกตำบลของอำเภอบางบาลและใกล้เคียง เพื่อประสานงานประชาสัมพันธ์ขอความช่วยเหลือ จะดำเนินการแชร์ข้อมูลไปตามเพจต่าง ๆ รวมถึงมูลนิธิและติดต่อหน่วยงานเอกชนหรือพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องถุงยังชีพ 

นอกจากนั้นจัดเดินหน้าแคมเปญที่เกี่ยวข้องกับน้ำทั่ว อุทกภัย เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเล็งเห็นถึงความทุกข์ของประชาชนริมน้ำและพื้นที่การเกษตรโดยใช้ชื่อแคมเปญว่า #พื้นที่ที่รับน้ำต้องไม่ใช่พื้นที่บ้านเรือนประชาชน

ส่วนเรื่องการเยียวยาปีนี้จะให้ทางพรรคประสานไปยังรัฐบาลหรือทางจังหวัดเพื่อพิจารณาเงินเยียวยาที่เป็นธรรมและเสนอให้พื้นที่เสี่ยงภัยเป็นพื้นที่เปราะบางหรือเป็นพื้นที่พิเศษที่ต้องดูแลสวัสดิการเป็นพิเศษ อาทิเ เงินค่าครองชีพช่วงน้ำท่วมขัง เสนอให้ลดหรือเลิกจัดเก็บค่ากระแสไฟฟ้า และสุดท้ายขอให้รัฐบาลมีการบริหารจัดการน้ำที่เป็นธรรม

หากยังเพิกเฉยเหมือนปีก่อน ๆ จะร่วมตัวกันฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล รวมถึงฟ้องร้องหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อเรื่องนี้อีกด้วย

ส่วนการลดผลกระทบของน้ำท่วมที่เกี่ยวข้องการคึกษา ว่าที่ผู้สมัครส.ส.รายเดิม กล่าวว่า ควรร่วมมือไปกับสถานศึกษา จัดให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อลดภาระการเดินทางของนักเรียน รวมถึงการสนับสนุนอุปกรณ์และอินเตอร์เน็ตให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม หรืออาจจะเป็นรูปแบบของการจัดครูอาสาออกไปจัดกลุ่มสอนตามความเหมาะสมของพื้นที่ต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและรักษาเยาวชนให้คงอยู่ในระบบการศึกษาต่อไป

บ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อยที่กำลังดีดบ้าน หรือยกบ้านให้สูงขึ้น 120 เซนติเมตร บ้านหลังนี้ใช้ช่างจากจ.สิงหบุรี เนื่องจากช่างในพื้นที่กำลังดีดบ้านหลังอื่นอยู่ เจ้าของบ้านเล่าว่าเขาใช้เงินที่เก็บออมมาตั้งแต่ปี 2554 จำนวน 1 แสนกว่าบาทเพื่อยกพื้นบ้านให้สูงกว่าหน้าน้ำหลาก

คุณลุงพายเรือออกมาหาปลาตั้งแต่ช่วงเที่ยง แต่บ่ายสองยังไม่ได้ปลาสักตัว

ทั้งนี้ ต.หัวเวียง มีภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึง เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม และมีเส้นทางน้ำสำคัญคือ แม่น้ำน้อย เป็นแม่น้ำที่แยกออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านมาตั้งแต่จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทาง และพระนครศรีอยุธยา 

ในอดีตวิถีชีวิตของคนในชุมชนจึงสัมพันธ์กับแม่น้ำ สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมบ้านเรือนแบบใต้ถุนสูง การเดินทางโดยเรือ และการค้าขาย ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงภายในพื้นที่หลักๆ สำคัญ 3 ประการคือ  

  1. การขุดคลองชลประทานเจ้าเจ็ด-ผักไห่เพื่อจัดสรรน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมในอำเภอผักไห่ และอำเภอเสนา ตามแผนพัฒนาพัฒนาระบบชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเกษตรภายในพื้นที่ มีการสนับสนุนให้ทำนาปรังแทนการทำนาปี  
  2. การขยายโครงข่ายทางบกตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 และ 2 เกิดถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 3454 และโครงข่ายทางบกในพื้นที่อำเภอเสนา การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือบทบาททางเรือลดลง โครงข่ายทางน้ำไม่สามารถเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบเนื่องจากการสร้างถนนตัดผ่านทางน้ำเพื่อสร้างถนนภายในชุมชน และ  
  3. การกำหนดให้พื้นที่อำเภอเสนา เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ส่วนภูมิภาค ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 6 มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ระบบเกษตรกรรมเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม

ต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิมที่ในพื้นที่หัวเวียงที่โดดเด่นคือ เรื่องเล่าประวัติศาสตร์บนเส้นแม่น้ำน้อย วิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ การล่องแพพายเรือ วัดโบราณสถาน และภูมิปัญญาดั้งเดิม วิสาหกิจชุมชนซึ่ง คนในชุมชนร่วมกันทำโดยใช้ทุนเดิมที่มี มาสร้างผลงานหัตถกรรมและรายได้ให้กับคนหมู่บ้าน ชุมชนวิสาหกิจที่โดดเด่น เช่น 

  • รักษ์นะวัดหัดเวียง เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์รวมตัวทำกิจกรรมของชุมชน และเป็นสถานที่ให้คนมาท่องเที่ยว 
  • กลุ่มจักสาน ที่มีลายเอกลักษณ์ของหัวเวียงโดยเฉพาะ และมีรูปแบบของผลิตภัณฑ์หวายหลากหลายรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในปัจจุบัน แต่ยังคงความละเอียดอ่อนและประณีตแบบดั้งเดิมไว้อยู่ 
  • เมรุลอยอยุธยา วิธีการและเอกลักษณ์ทางลวดลายเฉพาะ และยังเป็นเศรษฐกิจอีกหนึ่งทางที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนี้ยังเห็นเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน เช่น ดอกไม้จันทน์ การแทงหยวกกล้วย การทำประทัด เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามหัวเวียงยังมีความท้าทายในหลายด้าน อาทิ ในช่วง 10 ปีพบตัวเลขคนย้ายถิ่นออกจากพื้นที่ จากประชากรประมาณ 8,000 คน ปัจจุบันมีประชากรเพียง 6,000 คน นักเรียนในพื้นที่นิยมออกไปเรียนในตัวจังหวัดอยุธยามากกว่าจะเรียนใน อ.เสนา ประชาชนส่วนใหญ่ทำเกษตร แต่ประสบภาวะที่ดินหลุดมือ การกว้านซื้อที่ดินของนายทุนทำให้เกษตรกรเจ้าของที่ดินเดิมกลายมาเป็นผู้เช่าทำนาแปลงใหญ่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ