บ้านโล่ง แต่ต้องรอด สร้างพื้นที่ปลอดภัยด้วยมุ้งกรองฝุ่น

บ้านโล่ง แต่ต้องรอด สร้างพื้นที่ปลอดภัยด้วยมุ้งกรองฝุ่น

ท่ามกลางฝุ่นควันที่ปกคลุมโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ค่าฝุ่นยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต เช่นจังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ซึ่งเป็นผลจากการระบายอากาศไม่ดี ลมมีกำลังอ่อน การระบายอยู่ในระดับแย่ที่สุด และด้วยอิทธิพลลมลมตะวันตกพัดส่งเข้ามาทางซ้าย ซึ่งมีแหล่งกำเนิดฝุ่นภายในและภายนอกประเทศทำให้ค่าคุณภาพอากาศยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต

นี่เป็นอีกครั้งที่เรา รวมถึงใครหลาย ๆ คนต้องปรับวิถีชีวิตเพื่อเอาตัวรอดในฤดูฝุ่น แต่ทำยังไงก็หาวิธีที่จะอยู่ดูแลจมูก ปอด และร่างกายให้อยู่รอดปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ซึ่งทุกวันนี้แม้จะมีนวัตกรรมหลายอย่างที่ช่วยบรรเทาให้คนเหนือยังอยู่ได้ในวิกฤติฝุ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าไม่ถึงนวัตกรรมเหล่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ เด็ก ที่กลุ่มเหล่านี้หากประสบกับฝุ่นควันตามมาตรฐานไทยแล้ว ย่อมมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ

ซึ่งบ้านคนเหนือส่วนใหญ่ มีลักษณะที่ออกแบบเป็นทรงใต้ถุน มีโครงสร้างที่ทำจากไม้ ผสมปูน เป็นไม้ที่มีรูรั้ว บ้านที่มีช่องลม และมีรูระบายอากาศ ส่วนมากเครื่องฟอกจะช่วยได้น้อยมากฝุ่นลดไม่ลง

เมื่อการเปิดเครื่องฟอกอากาศใช้ไม่ได้กับบ้านทุกหลัง “มุ้งกรองฝุ่น PM2.5” อุปกรณ์ DIY อย่างง่าย

ทีมองศาเหนือ ได้ช่วยประสานงานกับ ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาอาสาวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ สิงห์อาสา และเจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลสันทรายหลวง จังหวัดเชียงใหม่ หลังก่อนหน้านี้ ได้ข้อมูลจากผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่ง ขอความช่วยเหลือให้คุณยายวัย 97 ปี ได้มีอากาศสะอาดหายใจในช่วงวิกฤติฝุ่นควันสูงหนา ต่อเนื่องหลายวัน โดยลูกสาวคุณยายไม่รู้จะทำอย่างไร ให้บ้านที่โปร่งโล่งปลอดฝุ่นได้ วันนี้ เราพาลงพื้นที่บ้านหลังนั้นที่ตำบลสันทรายน้อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามปฏิบัติการ คืนอากาศสะอาดให้คุณยายในยามวิฤติกัน

“มุ้งกรองฝุ่น เหมาะสำหรับอาคารบ้านเรือนที่กั้นอากาศได้ยาก บ้านไม้ เพดานฝ้า หน้าต่างบานเกร็ด เพราะใช้เครื่องกรองอากาศอย่างเดียวลดค่าฝุ่นไม่ได้เพราะมลพิษ PM2.5 รั่วเข้ามาในอัตราที่มากกว่า”

ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า วันนี้เรามาบรรเทาให้มลพิษทางอากาศภายในบ้านลดลงให้กับผู้ป่วยติดเตียง ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ แนะนำนวัตกรรมมุ้งกรองฝุ่น Pm 2.5 ซึ่งจริง ๆ แล้วให้เครดิตผู้คิดค้นกับ ผศ.ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทางเรานำมาดัดแปลง และเพื่อให้ตรงกับบริบทแต่ละพื้นที่ แต่ละบ้าน ที่มีผู้ป่วยติดเตียง ผู้เปราะบางอาศัยอยู่ จึงนำอุปกรณ์มาช่วย พร้อมทั้งมีผู้สนับสนุนโครงการ คือ สิงห์อาสามาช่วยสนับสนุนในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่ได้เตรียมมา มีทั้ง มุ้งผ้าฝ้าย เครื่องฟอกอากาศ และวัสดุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องนำมาประกอบหน้างาน เพราะแต่ละพื้นที่ต่างกัน

ขั้นตอนการทำและอุปกรณ์ที่ต้องมี

1.มุ้งต้องเป็นผ้าฝ้าย เท่านั้น เพราะมุ้งไนลอนไม่สามารถกันฝุ่นได้ นำมาประกบกัน 2 ชั้น 2 ตัว เพราะค่าคุณภาพอากาศที่สูง 100  ไมโครกรัมขึ้นไป ซึ่งมุ้งจะเป็นตัวกักอากาศบริสุทธิ์ ที่เรากรองแล้วเข้าไป

2. เครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นได้ เพื่อส่งอากาศที่กรองแล้วเข้ามุ้ง ดังรูป (ในภาพคือเครื่องกรองฝุ่นของทาง ศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มช)

นำเครื่องกรองติดไว้ด้านนอกมุ้ง ทำการเจาะรูมัดปาก ปิดช่องรูระบายอากาศเหน็บชายมุ้งไว้ที่เตียง

เพื่อดันนำเอาอากาศที่สะอาดเข้าไปในมุ้ง เหมือนเราทำห้องความดันบวกขนาดย่อมให้กับผู้ป่วยติดเตียง

3.พยายามให้การส่งอากาศเข้ามุ้งอย่างเหมาะสมห้ามแรงและช้าเกิดไป โดยพยายามบังคับโดยใช้ผ้าคลุมบริเวณทางออกของลมบริสุทธิ์

นอกจากนั้นเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ทั้งเครื่องฟอกอากาศ และมุ้งสามารถปะติดปะต่อกันได้อย่างไม่มีรอยรั่ว

ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำในการลงแต่ละพื้นที่เราต้องดูก่อนว่าพื้นที่บ้านสามารถปิดสนิทได้หรือไม่ ถ้าปิดสนิทได้สามารถบรรเทาโดยการนำเอาอุปกรณ์อย่างเช่น ฟิลเตอร์ ฟิวเจอร์บอร์ด พลาสติก ปิดรูรั่วตามจุดต่าง ๆสิ่งนี้จะลดฝุ่นได้ประมาณ10-20 % แล้วแต่ขนาดของห้อง

แต่หากพื้นที่ไหนปิดไม่ได้เลย เป็นพื้นที่โล่ง มีรูระบายอากาศทั่วบ้าน ซึ่งไม่คุ้มต่อการปิด ในกรณีนี้สามารถใช้มุ้งสู้ฝุ่นหรือมุ้งที่สามารถลดฝุ่นได้เป็นตัวหนึ่งที่สามารถที่จะทำได้แต่เราต้องดูพื้นที่นั้นเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมเราจะต้องทำอย่างไรต้องดูพื้นที่จริงหน้างาน

สิ่งประดิษฐ์ เหล่านี้ออกแบบเพื่อลดค่าใช้จ่ายในช่วงฤดูฝุ่น เพื่อผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีวัสดุอุปกรณ์หรือบ้านไม่เหมาะสมที่จะทำห้องปลอดฝุ่นหรือห้องลดฝุ่น สามารถใช้นวัตกรรมอย่างง่ายนี้ได้ ซึ่งสามารถลดบรรเทาฝุ่นได้ ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นที่หน้าพอใจในงบประมาณเท่านี้ ซึ่งงบประมาณขึ้นอยู่กับบ้านแต่ละหลังอย่างครั้งนี้ 2000-3000 บาท

การดูแลอุปกรณ์มุ้งกันฝุ่น

แยกกัน 2 อย่าง คือ เครื่องฟอกอากาศหากมีฟิลเตอร์คลุมรอบ เครื่องกรองควรนำฟิลเตอร์ทิ้ง และใส่ฟิลเตอร์ใหม่ แต่หากไม่ทีฟิลเตอร์ นำไปดูดฝุ่นให้ฝุ่นออกแต่ไม่ควรล้าง ส่วนตัวมุ้ง 1 อาทิตย์ ควรจะต้องซักทำความสะอาด 1 ครั้งเพราะจะต้องนำฝุ่นออก

ดังนั้นคือ 1. มุ้งจะต้องซักหนึ่งอาทิตย์ครั้ง 2. เครื่องฟอกอากาศหนึ่งอาทิตย์หนึ่งอาทิตย์ต่อครั้งนำมาปัดกวาดดูดฝุ่น

ช่วงเวลาที่ฝุ่นพีคหนัก ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละจังหวัดเพราะพื้นที่แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละพื้นที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่เหมือนกัน แต่ในจังหวัดเชียงใหม่หรือภาคเหนือ ช่วงที่ฝนพีคหนักจะเป็นเวลา 09.00-10.00-11.00 และจะลดลงเวลา 12.00 น. เพราะฉะนั้นต้องดูช่วงฝุ่นที่เยอะประมาณช่วงไหน และอีกหนึ่งช่วงจะเป็นช่วง 19.00-20.00-21.00-22.00 จะสูงเช่นกัน 2 ช่วงหลัก เป็นเนิน 2 เนิน ซึ่งเป็นแพตเทิร์นที่เราเห็นบ่อยและเดาได้ในจังหวัดเชียงใหม่แทบจะทุกวันในช่วงฤดูฝน

สำหรับพื้นที่ไหนที่ต้องการลงสำรวจพื้นที่

  1. ต้องสำรวจก่อนว่าบ้านหลังไหน มีพื้นที่เป็นแบบไหนประตูเปิดหรือไม่มีรูระบายอากาศหรือหน้าต่างที่มากหรือไม่ บ้านเป็นใต้ถุนโล่งหรือเปล่า หากเปิดโล่งมากก็จำเป็นที่จะต้องใช้มุ้ง หากบ้านไหนที่สามารถปิดได้ก็สามารถใช้ฟิลเตอร์ ฟิวเจอร์บอร์ด หรือพลาสติกใส ในการคุมเพื่อไม่ให้มีมลพิษทางอากาศเข้ามาในบ้าน
  2. ผู้ป่วยป่วยติดเตียงระดับไหน หรือสามารถลุกเดิน ดูแลตนเองได้หรือไม่ เพราะจะเกี่ยวข้องกับบางทีการทำมุ้งสู้ฝุ่นอาจจะดูทึบ แล้วผู้ป่วยอาจไม่ค่อยชอบ ดังนั้นเราต้องดูก่อนว่า เค้าโอเคกับสิ่งที่เราจะสร้างให้เขาหรือเปล่า

สรุปเรื่องของการดูแล คือ บ้านหลังนั้นมีใครที่ดูแลบ้าง และผู้ป่วยอยู่ในระดับไหน และพื้นที่บ้านเป็นอย่างไรเป็นเรื่องหลัก

ภาพเปรียบเทียบ ภายนอกมุ้งกรองฝุ่น (ด้านซ้ายมือ) และภายในมุ้งกรองฝุ่น (ด้านขวามือ)

หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม เกี่ยวกับการลดฝุ่นหรือการลดปริมาณฝุ่นในอาคารสามารถสอบถามได้หนึ่งคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใกล้บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน สาธารณสุขจังหวัด กรมอนามัย เช่นกรมอนามัยที่หนึ่ง จะมีจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งจะมีผู้ที่ประสานงานเรื่องนี้โดยตรง ทั้งเรื่องของมุ้งปลอดฝุ่น ห้องปลอดฝุ่น ห้องลดฝุ่น หรือแม้แต่สาธารณสุขจังหวัด หรือติดต่อมาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะทำงานสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 053-943479

นายนที ดำรงค์ นายกเทศมนตรีตำบลสันทรายหลวง กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลตำบลสันทรายหลวง ได้ดำเนินการมาในเรื่องของการลดฝุ่น Pm 2.5 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง มีการให้ยืมเครื่องฟอกอากาศ 100 เครื่อง ที่นอกจากเครื่องผลิตออกซิเจนแล้ว แต่อย่างไรก็ตามห้องที่ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางอยู่ควรจะเป็นห้องที่เป็นระบบปิด เพื่อที่จะไม่ให้ฝุ่นละอองเข้าไปได้ และเพื่อทำให้เครื่องฟอกอากาศมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งวันนี้เห็นทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเรื่องของนวัตกรรมมุ่งกรองฝุ่นเข้ามาช่วย ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะต้องมาช่วยกัน

เทศบาลมองเห็นว่ามีหลากหลายวิธีที่เราจะทำอย่างไรให้คนหลายกลุ่มเข้าถึงการช่วยเหลือ ต้องสกัดออกมาหลากหลายวิธี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีความซับซ้อน นี่เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยกันทำและนำไปปรับใช้

และอีกกลุ่มนึงที่มองเห็นความสำคัญคือกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชนจากที่เคยมีเครื่องเล่นกลางสนาม ทางเทศบาลมีความจำเป็นที่จะต้องนำเครื่องเล่นเข้าไปสู่ห้องปรับอากาศห้องปลอดฝุ่นเพื่อให้เด็กสามารถออกกำลังกายเล่นตามวัยของเค้าได้ในช่วงภาวะวิกฤตฝุ่น

แผนของทางเทศบาลสันทรายหลวง มีระเบียบในการช่วยเหลือนอกจากกลุ่มเปราะบางให้ยืมเครื่องฟอกอากาศ 100 เครื่องเริ่มต้นแล้ว ยังมีม่านสู้ฝุ่น ที่จะช่วยในการปิดอุดรูบ้านที่ไม่มีรูระบายเยอะ แต่ในบ้านที่โปร่งอาจจะต้องใช้วิธีการเดียวกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มาช่วย หรือโมงที่ใช้แม่เหล็กติดกันบ้าน เทศบาลหาวิธีและนวัตกรรมที่หลากหลายเพราะบ้านแต่ละหลังไม่ได้เป็นบล็อกแบบเดียวกัน และต้องลงไปแก้เป็น case by case และอยู่ในช่วงระหว่างลงสำรวจต่อสำหรับแต่ละกลุ่มที่รองลงมาจากกลุ่มเปราะบาง ซึ่งปกติแล้วกลุ่มเปาะบางที่มีโรคทางเดินหายใจทางเทศบาลมีเครื่องผลิตออกซิเจนให้ยืม

สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถมาใช้บริการห้องปลอดฝุ่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้หน่วยบริการสาธารณสุขจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นให้บริการเพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 จำนวนทั้งหมด 2,690 ห้อง ใน 41 จังหวัด สนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษาและสถานที่เอกชนจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นอีกกว่า 1,000 ห้องทั่วประเทศโดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ หรือ ค้นหาห้องปลอดฝุ่นใกล้บ้าน 

สามารถดูข้อมูลห้องปลอดฝุ่นและมุ้งสู่ฝุ่นได้ที่เว็ปไซต์ https://podfoon.anamai.moph.go.th  

อ่านเพิ่มเติม

สร้างอากาศสะอาดให้ผู้ป่วยติดเตียงด้วย “มุ้งกรองฝุ่น PM2.5”

ในวันที่ค่าฝุ่นสูง บริการให้ยืมเพื่อลมหายใจ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ