หละปูนบ่ใช่ “เมืองรอง” ชวนมองอนาคตเมืองน่าลองท่องเที่ยวตี้หละปูน

หละปูนบ่ใช่ “เมืองรอง” ชวนมองอนาคตเมืองน่าลองท่องเที่ยวตี้หละปูน

นึกถึงลำพูนทุกคน นึกถึงอะไร ?

ลำไย ภาษายอง โบราณสถาน วัดพระธาตุหริภูญชัย พระนางเจ้าจามเทวี พระรอดลำพูน การออกแบบเครื่องแต่งกาย ผ้าไหม ผ้าฝ้าย อาหารลำพูน ศิลปะการต่อสู้ วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม พหุวัฒนธรรม ชีวิตที่ไม่เร่งรีบ การแฟอาราบิก้าลำพูนป่าแป๋ ทางกลับบ้านของคนลำพูน บ้านหลังที่ 2 ของคนที่อยากจะมาอยู่ เมือง(น่า)ลองไม่ใช่เมืองรอง….

เสียงส่วนหนึ่งจากตัวแทนของคนลำพูนผ่านวงฟังเสียงประเทศไทย

ลำพูนเป็นเมืองเก่าแก่ของล้านนาที่มีประวัติศาสตร์มาหลายพันปี เป็นเมืองวัฒนธรรม ที่มีวิถีชีวิตอันเอกลักษณ์ของคนไทยอง ไทลื้อและอื่นๆ แถมยังอยู่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่เพียงประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร แต่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะให้ลำพูนเนเมืองผ่าน ไม่ใช่เมืองแวะ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องช่วยกันออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาเรียนรู้และเที่ยวลำพูนมากขึ้น

แม้ว่าลำพูนจะถูกจัดให้เป็นกลุ่มเมืองสำคัญกลุ่ม 1 ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ศูนย์กลางของอาณาจักรหริภุญชัย และมีความพยายามของคนรุ่นใหม่ รุ่นเดิมในหลายกลุ่มพยายามฟื้นเศรษฐกิจลำพูน แต่ยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากเท่าที่ควร

ชวนรู้จักลำพูน เมืองเล็ก ๆ ที่ไม่เป็นรองใคร

จังหวัดลำพูน เดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤาษีวาสุเทพ เป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตร หรือชนเชื้อชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวง และแม่น้ำปิง

จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของภาคเหนือ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ (4,500 ตร.กม.) หรือประมาณ 2,815,675 (กว่าสองล้านแปดแสนไร่)ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.85 ของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

จังหวัดลำพูนตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ มีระยะห่างกันเพียง 21 กิโลเมตร ด้วยความเป็นเมืองเล็กๆ จึงมีเอกลักษณเฉพาะตัว ภายในตัวเมือง มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จึงพบเห็น วัดวาอาราม ตึกเก่า เรือนแถวโบราณ รายเรียงอยู่สองขางทาง ถึงแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน

จังหวัดลำพูนมีภูมิศาสตร์ทำเลที่ตั้ง เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง ที่เชื่อมต่อทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และ เครื่องบิน กับจังหวัดต่าง ๆ เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ศูนย์อุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ทำให้เกิดการจ้างงาน และส่งผลให้รายได้ต่อประชากร อยู่ในระดับสูงของประเทศ

ภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นเมืองเกษตรกรรม ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองใหญ่ มีพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ลำไย มะม่วง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการทำปศุสัตว์ โคนม  มีแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความสำคัญ ต่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และมีผลผลิตทางการเกษตร ที่ได้การรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI. อย่าง ลำไยลำพูนมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

ผ้าฝ้ายลำพูน ถือเป็นหัตถกรรมมีอัตลักษณ์โดดเด่นด้านลวดลาย

ลำพูนเป็นจังหวัด ที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

ลำพูนมีวัดจำนวนทั้งสิ้น 458 แห่ง โบสถ์คริสต์ 37 แห่ง มัสยิด 1 แห่ง

จังหวัดลำพูนมีแหล่งข้อมูลและความรู้ด้านวัฒนธรรมสำคัญ เช่น  

2 พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย 1 แห่ง  

4 พิพิธภัณฑ์เอกชน 2 แห่ง

5 ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด 1แห่ง

6 ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอ  8 แห่ง

11 โบราณสถาน 17 แห่ง

14 ช่างฝีมือพื้นบ้าน 10 แห่ง

วิสัยทัศน์จังหวัดลำพูน เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนความพอเพียง เมืองเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมสร้างสรรค์ ชุมชนวิถีพอเพียงและยั่งยืน

ท่องเที่ยวลำพูน

โอกาสของลำพูนด้านการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน ถึงแม้จะมีสัดส่วนของรายได้ ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระดับประเทศ แต่ถ้าพิจารณาในภาพรวมของจังหวัดลำพูน จะพบว่าช่วงปี 2560- 2562การท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูนมีอัตราขยายตัวค่อนข้างสูงและมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดลำพูนมีภูมิศาสตร์ทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง ที่เชื่อมต่อทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และ เครื่องบินกับจังหวัดต่าง ๆ จังหวัดลำพูนเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,348ปี มีวัฒนธรรมแบบเมืองเก่าเมืองดั้งเดิม มีชุมชนประวัติศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ปราชญ์ที่สามารถนามาส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดที่จังหวัดลำพูนได้เปรียบทางการแข่งขัน เมื่อเปรียบเทียบกับ 4 จังหวัดภาคเหนือบน รวมทั้ง ระดับประเทศ จากการวิเคราะห์ขีดความสามารถ ทางการแข่งขันของจังหวัด นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจความเป็นเมืองเก่า/เมืองดั้งเดิมทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม โบราณสถาน

ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในจังหวัดลำพูนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ แนวโน้มความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจการท่องเที่ยวเมืองแบบดั้งเดิม เมืองที่มีเอกลักษณ์ความโดดเด่นทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์วิถี

จังหวัดลำพูนมีสนามกอล์ฟครบวงจรทำให้เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนันทนาการ และ กีฬาหลายอย่างแห่ง

สรุปสถิตินักท่องเที่ยวและรายได้

8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประจำปี 2564  ลำพูนมีสถิติการมาเยือนของนักท่องเที่ยวอยู่เป็นอันดับ 5 ซึ่งมีนักท่องเที่ยว ทั้งหมด : 441,561 คน ส่วนใหญ่ประคนไทย

อย่างไรก็ตาม กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดสถิตินักท่องเที่ยวและรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยว ช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังจังหวัดลำพูน จำนวน 890,931 คน สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวกว่า 1,071 ล้านบาท

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงงานเทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน

จุดแข็ง

จังหวัดลำพูนเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีวัฒนธรรมแบบเมืองเก่า/ เมืองดั้งเดิม มีชุมชนประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ที่สามารถนำมาส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว

จังหวัดลำพูน เป็นเมืองหัตถกรรมผ้าไหม ลายยกดอก ผ้าฝ้ายที่มีชื่อเสียง และ อัตลักษณ์โดดเด่น อีกทั้ง

เป็นแหล่งแกะสลักไม้ที่มีชื่อเสียงของประเทศ ร่วมถึงเป็นแหล่งร่วมองค์ความรู้แพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกที่ สามารถต่อยอดได้   

จุดอ่อน

จังหวัดลำพูนมีโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ มีปัญหาด้านประชากรแฝงจำนวนมาก

ส่งผลต่อโครงสร้างทางสังคม อีกทั้งสัดส่วนประชากรแฝงจำนวนมาก ส่งผลต่อโครงสร้างทางสังคม

การอพยพของคนรุ่นใหม่ออกนอกพื้นที่ ที่มีอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเพราะไม่มีการสร้างงาน ที่สร้างสรรค์ มากพอ

จังหวัดพูนไม่มีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รองรับสนับสนุนงานวิจัย การพัฒนานวัตกรรม องค์ความรู้ แบบต่อเนื่อง

สถานที่โรงแรมหรือที่พัก รองรับนักท่องเที่ยวในลำพูนมีน้อย อาจยังไม่เพียงพอ หรือแหล่งที่พักยังไม่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว และ โฮมสเตย์ที่ได้ มาตรฐานมีจำนวนไม่มาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ นิยมเลือกพักในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 

ภาพจาก Lamphun City Lab

ที่สำคัญ ยังขาดระบบขนส่งมวลชน ที่นำนักท่องเที่ยว ให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ เมือง เก่าชั้นใน และ เมืองท่องเที่ยววิถีเกษตร วิถีชาติพันธุ์

โอกาส

การพัฒนาสนามบินนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 ในพื้นที่เขตติดต่อกับจังหวัดลำพูน จะส่งผลต่อการเติบโตของระบบ เศรษฐกิจและการท่  องเที่ยวในจังหวัดลำพูน

นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ทำให้มี นักท่องเที่ยวสนใจความเป็นเมืองเก่า/เมืองดั้งเดิมทาง สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม โบราณสถาน ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อย่างเช่นจังหวัดลำพูน เพิ่มมากขึ้น

นี่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งต้นทุนของเมืองลำพูน รวมถึงโจทย์ที่สำคัญ ที่จะทำอย่างไรให้คนมาลองเที่ยวลำพูนและหลงติดใจ

ทำให้ locals voice X ฟังเสียงประเทศไทย เรากลับมาที่จังหวัดลำพูนหรือเมืองหริภุญไชยจังหวัดที่มีพื้นที่เล็กที่สุดในภาคเหนือแต่เก่าแก่ถึง 1,400 ปี ครั้งก่อนเราพูดคุยกับคนลำพูนถึง ความความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในใจกลางเมือง คนลำพูนกำลังคุยกันว่าจะเอายังไงกับศาลากลางจังหวัดหลังเดิมที่อยู่กลางเมือง เมื่อหน่วยราชการย้ายศูนย์ราชการออกไปแต่ต้นปี 2565

ครั้งนี้เราชวนคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก๋าที่กำลังร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน พร้อมทั้งเชื่อมเมืองให้เป็น learning space คนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ มาล้อมวงคุยกันถึงศักยภาพที่สามารถนำมาต่อยอดสร้างการเชื่อมโยงกับเมืองวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

แต่ก่อนอื่น เพื่อให้เห็นภาพในอนาคตของสถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดลำพูนในอนาคต 5 ปี ข้างหน้า ทางฟังเสียงประเทศไทยและภาคีเครือข่ายได้ประมวลภาคอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น มา 3 แบบ เพื่อเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่จะให้คุณผู้อ่าน

อ้างอิงข้อมูล ฉากทัศน์ โครงการวิจัยย่อยที่ 2 แนวทางการออกแบบและพัฒนาเมืองท่องเที่ยวสำหรับประเทศไทย 4.0 : กรณีศึกษาภูเก็ต เชียงราย และพัทลุง

ภาพอนาคตที่ 1 เมืองถูกลืม – ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป  
นักท่องเที่ยวในจังหวัดมีเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่ค่อยได้เดินทางเข้าเมือง มักจะขับรถแล่นผ่านสถานที่ท่องเที่ยวนอกเมือง ร่วมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญบางแห่งในเมือง เมืองนี้ ยังคงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภาคเหนือ แต่ในด้านการค้าและเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่มีการเติบโต และไม่มีฐานเศรษฐกิจใหม่ในเมือง การเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้มีงานในเมืองน้อยลง แม้แต่งานราชการ คนหนุ่มสาวยังคงย้ายออกไปหางานนอกจังหวัด ด้วยความเป็นเมืองอุตสาหกรรมทำให้ประชากรแฝงยังคงที่ แต่ประชากรของเมืองยังคงทรงตัวอยู่ระยะหนึ่ง แต่ลดลงและเสื่อมโทรมลงในระยะยาว  
ภาพอนาคตที่ 2 เมืองลอง แวะ – พักพอหายเหนื่อย
คนในพื้นที่พยายามสร้างเรื่องราว สตอรี่หรือแคมเปญชูเพื่อดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวในจังหวัดเพิ่มขึ้นมาก และบางส่วนแวะเข้ามาในเมืองเพื่อมาแหล่งท่องเที่ยวตอนกลางวันหรือกินข้าวร้านดังย่านสำคัญของเมือง แล้วพักในพื้นที่ในเขตเมือง นักท่องเที่ยวต่างชาติมีมาบ้าง แต่ส่วน ใหญ่พักตามรีสอร์ท นอกเมือง เศรษฐกิจในเมืองยังพอไปได้เรื่อย ๆ ไม่ หวือหวา หนุ่มสาวย้ายออกบ้าง ประชากรใน เมืองคงที่ การค้า การขายคงที่จากประชากรในเมืองและประชากรแฝง  
ภาพอนาคตที่ 3 เมืองต้องรัก – หมุดหมายปลายทาง
มีการทำงานเพื่อเชื่อมต่อกันของภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ ทำให้นักท่องเที่ยวในจังหวัดเพิ่มขึ้นมากขึ้นทั้งจาก กลุ่ม FIT (Free Individual Traveler) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยลำพัง และ Silver Ageหรือ นักท่องเที่ยวรุ่นใหญ่ หรือ”กลุ่มซิลเวอร์เอจ” เป็นวัยที่พร้อมทุกอย่าง เข้ามาแวะและ พักในเมืองมากขึ้น เกิดการขยายตัวของโรงแรมบูทีคและ Airbnb คนมาร่วมกิจกรรมเชิง วัฒนธรรม ทั้งไหว้พระ ถนนคนเดิน งานตามเทศกาล เช่น แควนโคม สลากย้อม และเทศกาลอาหารของท้องถิ่น พร้อมเดินทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในพื้นที่ต่างอำเภอ ที่ทำให้คนต้องแวะและพัก ค้างคืนภายในจังหวัดมากขึ้น ประชากรในเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ย้ายกลับจากเมืองใหญ่ สามารถประกอบอาชีพผ่านทาง อินเตอร์เน็ตได้ มีกิจกรรมทาง เศรษฐกิจให้คนรุ่นใหม่ทำมากยิ่งขึ้น

เพื่อให้เราได้รับรู้ถึงรายละเอียดของสถานการณ์ของสถานการณ์และศักยภาพของจังหวัดลำพูนด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ฟังเสียงประเทศไทยได้เชิญตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนภาคเอกชน และตัวแทนภาคประชาสังคม มาเติมเต็มให้คนทั้งวงและคุณผู้อ่าน

คุณ อัญมณี มาตยาบุญ Lamphun City Lab

ภายใต้ฉากทัศน์ที่ 1 เมืองที่ถูกลืมผ่านมาแล้วก็ผ่านไปฟังแล้วก็หดหู่แบบสุด ๆ

ในฉากทัศน์มีสองข้อย่อยอยู่ในนั้นคือหนึ่งเรื่องของการเป็นเมืองทางผ่าน สองคือเรื่องของเมืองหดตัว

เมืองทางผ่าน เนื่องจากที่เราเข้าถึงได้ด้วยรถยนต์เท่านั้นมันจึงเป็นการขับผ่านเมือง มีข้อมูลบอกว่านักท่องเที่ยวอยู่ในลำพูนเพียงแค่ 40 นาทีต่อคนต่อปี จะมาเยอะในช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึง 11 โมงเช้าเพราะการใช้รถคนมีจุดมุ่งหมายมาแวะวัดพระธาตุหริภุญชัยก่อนกินข้าวและไปกินข้าวกลางวันที่เชียงใหม่มันจะเป็นช่วงเวลานั้นพอดีที่นักท่องเที่ยวมาแวะ ซึ่งมองหาวิธีในการที่จะเก็บนักท่องเที่ยวอยู่ในจังหวัดลำพูนให้ได้นานที่สุดได้นานกว่านี้

สองคือเรื่องของเมืองหดตัว เด็กเกิดน้อยลงและมีผู้สูงอายุมากขึ้นดังนั้นเศรษฐกิจก็หดตัวเช่นกัน การจับจ่ายซื้อของในลำพูนเองไม่พอสำหรับการที่จะพัฒนาเมือง นี่จึงเป็นคำถามว่าทำอย่างไรให้ดึงนักท่องเที่ยวมาอยู่ใน จังหวัดลำพูนทั้งจังหวัดไทยได้นานมากขึ้น และใช้จ่ายซื้อของในลำพูนมากขึ้น

คุณ กุลวีร์ วัฒนกสิกรรม นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน

ภายใต้ฉากทัศน์ที่สอง ในอันดับแรกลำพูนผ่านความเจ็บปวดตรงนี้มา ในวงนี้เริ่มได้เห็นว่าอันดับแรกเราเห็นบริษัททัวร์ที่มาร่วมวง ภาพอนาคตที่สองพยาบาม ให้เห็นว่าลำพูนเป็นเมืองที่แวะ เราจะเห็นความตั้งใจของบริษัททัวร์คนรุ่นใหม่จากกลุ่มต่างๆที่มาไม่ว่าจะเป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ กลุ่มหอการค้านี่คือสิ่งที่ผ่านจากความเจ็บปวดมาพยายามจะทำให้ทุกอย่างดึงนักท่องเที่ยวให้แวะมากขึ้นได้ทดลองใช้มากขึ้นได้พักมากขึ้นได้พัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น มันจึงตรงกับข้อมูลของทางทีมงานที่ทำภาพอนาคตขึ้นมาว่าในเมื่อลำพูนผ่านเรื่องราวต่างๆมาได้แล้วเศรษฐกิจในทุกๆมิติหรือเรื่องของการท่องเที่ยวในจังหวัดลำพูนมันจะต้องถูกแวะมากขึ้นจาก 40 นาทีที่เป็นความเจ็บปวด

ทุกอย่างมีการต่อสู้วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มต่าง ๆ ได้ออกมาขยับในเรื่องของร้านอาหารเกษตร วัฒนธรรม มันก็จะไปเติม ก้าวต่อไปของฉากทัศน์ที่สาม ทุกอย่างเริ่ม 100 มาเป็นเส้นเดียวกันหมดตนจึงมีความคิดว่าสิ่งที่ทุกท่านได้พูดไปตั้งแต่แรกว่านึกถึงลำพูนนึกถึงอะไรนั่นคือส่วนที่เข้าไปเติมเต็ม ล่าสุดต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทีมอาจารย์เอ ที่เข้ามาเติมเต็มแผนงานด้านยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวที่จะต้องขยับให้คนได้เข้ามาแวะลำพูนนั่นคือภาพอนาคตที่สองที่เราพยายามทำกันอยู่ส่วนสมาคมท่องเที่ยวเองได้ทำในเรื่องของการลงไปในพื้นที่ที่เป็นโลคอลเราพยายามปรับพื้นที่โลโก้ให้เกิดความเลอค่า ให้คนเห็นสิ่งที่อยู่ใน Local ของจังหวัดลำพูนทั้ง 8 อำเภอมันยังมีอะไรอีกเยอะมากมาย ที่เราแบ่งเส้นทางจากสิ่งที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ทำการสนับสนุนเช่นเส้นทาง 106 เราเปิดหน้าต่างประตูส่วนนั้นเข้ามาเราต้องทำเส้นทางเส้นนั้นให้เป็นที่ยอมรับนั่นคือเส้นที่คนเคยใช้มาก่อนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขับเคลื่อนถนนเส้นนี้ให้นักท่องเที่ยวได้มีแหล่งพักแหล่งจอดมากขึ้นเมื่อก่อนเส้นนี้บริษัททัวร์ไม่ซื้อเค้าบอกว่าโลจิสติกส์มันไกลแต่พอได้ผ่านความเจ็บปวดกันมาได้ต่อสู้มาราว 10 ปีเส้นทางนี้ถูกได้ขายมากขึ้น ถนนมีการพัฒนาเรื่องของการขนส่งมากขึ้น ได้รับงบประมาณในการขยายถนน

เพราะฉะนั้นเรื่องการเดินทางคืออีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวจะตัดสินใจเข้าลำพูนหรือไม่ เดินทางลำบากไม่ไปและฉันขับซุปเปอร์ไฮเวย์ตรงเข้าเชียงใหม่ไปเลย แต่ถ้าระบบขนส่งมันทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวสะดวกขึ้นสิ่งที่ได้รับผลกระทบในด้านดีก็จะเป็นกาแฟป่าแป๋ที่คนในวงเข้ามาร่วมด้วยจุดมุ่งหมายของลำพูนไม่ใช่เพียงแค่ใจกลางเมือง แต่พื้นที่อื่น ๆ ทั้งแปดอำเภอของจังหวัดลำพูนมีการเข้าถึงมากขึ้นของนักท่องเที่ยว

ดร.กรวรรณ สังขกร หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภายใต้ฉากทัศน์ที่ 2 ตนเองทำงานด้านวิชาการกับจังหวัดลำพูนมานานเห็นตั้งแต่ภาพอนาคตที่หนึ่ง จากหนึ่งมาเป็นสอง และกำลังก้าวเข้าสู่ ภาพอนาคตที่สาม สิ่งที่รู้สึกดีใจและคิดว่าน่าจะเกิดได้เร็วเร็วนี้คือตอนนี้เราเห็นคนลำพูนหลายหลายภาคส่วน จริงๆเค้าอาจจะมีการจับกลุ่มรวมตัวกันมานานแล้วแต่ยังไม่ได้แสดงตัวตนขึ้นมาให้เห็น ก่อนนั้นจะเห็นว่ามีการรวมตัวกันทางเป็นทางการเช่นหอการค้า YEC ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ตอนนี้มีทุกภาคส่วนรวมถึงภาคประชาชนที่เริ่มจับมือกันและเริ่มพยายามจะให้เห็นว่าเรามีตรงนี้ในพื้นที่เมืองก็มีกลุ่มมรรคลำพูน ที่ป่าซางเองก็มีกลุ่มเหย๊าะลายดี และมีเรื่องของเยาวชนในลำพูนเรียนจบมาแล้วก็ไม่กลับมาทำงานที่ลำพูนออกไปทำงานที่นอกเมืองนอกจังหวัดลำพูน กรุงเทพบางเชียงใหม่บ้าง แต่ตอนนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จบมาแล้วเรื่องกลับมาอยู่ที่ลำพูนและเริ่มพยายามจะนำสิ่งดีดีเข้ามาในลำพูนฉันเรื่องความคิดสร้างสรรค์ไอเดียต่าง ๆ ที่เข้ามาในลำพูนเป็นสิ่งหนึ่งที่คิดว่า ภาพอนาคตที่เราจะเห็นในอนาคตว่ามาเมืองลำพูนที่อยากจะมาเที่ยวที่อยากจะมาแวะมีมากขึ้นและเป็นไปได้ในเร็ว ๆ นี้ด้วย

เมื่อเราเห็นว่าหลายหลายส่วนเริ่มขยับ จริง ๆ ตอนนี้แน่นอนว่าหากเราทำด้วยตัวเองมันจะไปได้ไม่นานและไม่ไกล ทำก็เหมือนว่าจะหมดแรง ทีมนักวิจัยเข้าไปทำงานร่วมกับทางชุมชนเข้าไปช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจเพื่อกระตุ้นให้ทำต่อบางทีหลายหลายงานชุมชนหรือคนที่พยายามทำเหมือนจะหมดแรงและท้อใจไม่อยากทำแต่ส่วนของวิชาการเข้าไปช่วยสะกิดและบันดาลใจและจูงมือกันไป จริงๆแล้วทางลำพูนเองทางภาครัฐภาคเอกชนเห็นกันอยู่ว่าใครทำงานอะไร พอเข้ามาแล้วช่วยกันประสานให้เชื่อมต่อเครือข่ายคิดว่าสามารถไปได้

ฟัง” ด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่ง “เสียง”และแลกเปลี่ยนกันด้วยข้อมูลที่รอบด้าน

ตอนนี้ผู้คุณผู้อ่านน่าจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม ถึงเงื่อนไข และโอกาสแต่ละฉากทัศน์แล้ว

อยากชวนคุณผู้อ่าน มองอนาคตการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน ที่จะทำให้เมืองเป็นเมืองน่ามาลอง

ร่วมโหวตฉากทัศน์ : คลิ๊กภาพ

เสียงของพี่น้องจังหวัดลำพูนในวันนี้สะท้องถึงความพยายามที่จะดึงดูดให้คนเข้ามาสัมผัสและสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวในเมืองลำพูนมากขึ้น แล้วจะรู้ว่าเมืองนี้เป็นเมืองลำพูนไม่ใช่เมืองรอง แต่เป็นเมืองที่ต้องมาลอง

ติดตาม รายการฟังเสียงประเทศไทย วันเสาร์ ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.30 นาที ทางช่องหมายเลข 3 ไทยพีบีเอส 

คุณผู้อ่านสามารถติดตาม รายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวกับแฟนเพจTheNorth องศาเหนือ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ